ใส่ใจไว้ในเมือง เบื้องหลังหัวใจของการออกแบบเมืองของคนญี่ปุ่นที่ใครก็ตกหลุมรัก

Share
Share

ประเทศญี่ปุ่นในความคิดของนักท่องเที่ยวมีภาพลักษณ์ที่เป็นระเบียบ บ้านเมืองสะอาดสะอ้าน ผู้คนมีวินัย ผู้เขียนบอกว่าส่วนหนึ่งที่ทำให้ญี่ปุ่นเป็นแบบนี้เพราะการออกแบบเมือง ถนนที่มีเส้นตีเลนให้รถวิ่งอย่างชัดเจน ถังขยะที่ใช้สีและสัญลักษณ์ทำให้คนแยกขยะง่ายขึ้น หรือเส้นต่อคิวที่หน้าเคาน์เตอร์ที่ช่วยให้ลูกค้าต่อแถวจ่ายเงินอย่างเป็นระเบียบ สิ่งเหล่านี้เองที่ทำให้ประเทศญี่ปุ่นมีระเบียบ ในทางกลับกันการออกแบบเหล่านี้เหมือนเป็นการสร้างกรอบกติกาในการใช้ชีวิตในสังคมแก่คนญี่ปุ่น ซึ่งคนญี่ปุ่นหลายคนที่คนเขียนได้พูดคุยด้วยมักบอกว่าเวลาอยู่ในที่สาธารณะ มักเป็นตัวของตัวเองไม่ได้

การออกแบบเมืองในความหมายของญี่ปุ่นไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพียงการออกแบบสิ่งก่อสร้างให้สวยงาม แต่รวมถึงการออกแบบนโยบายการพัฒนาที่ดิน ออกแบบกฏหมายที่ทำให้คนอยู่ร่วมในเมืองด้วยกันอย่างมีความสุข รวมถึงการใช้ material design การนำวัสดุใหม่ ๆ มาแก้ปัญหาที่ทีอยู่เดิม มาดูกันครับว่าญี่ปุ่นใส่การออกแบบอะไรเอาไว้ในเมืองบ้าง


TOD จักรวาลอันกว้างใหญ่รอบสถานีรถไฟ

TOD ย่อมาจาก Transit-Oriented Development ในกรณีของญี่ปุ่นหมายถึงการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟให้ใช้ได้คุ้มค่าและมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงสุด หัวใจหลักของ TOD คือมีสถานีรถไฟเป็นศูนย์กลาง รายล้อมด้วยตึกออฟฟิศ คอนโด ห้างสรรพสินค้า สวนสาธารณะ จุดเชื่อมต่อการเดินทาง ลานกิจกรรมต่าง ๆ ที่ทำให้บริเวณนั้นกลายเป็นเมืองย่อม ๆ

ฟังแล้วอาจปกติที่ถ้าสถานีรถไฟมาถึงก็จะนำพาความเจริญมาสู่พื้นที่รอบข้างด้วย แต่ TOD นั้นต่างตรงที่มีการวางแผนระยะยาว โดยความร่วมมือของรัฐและเอกชน ไม่ใช่การเติบโตของเมืองตามธรรมชาติ ตามใจใครอยาก ใครอยากจะสร้างอะไรก็สร้าง แต่เติบโตโดยวางกลยุทธการพัฒนาเมืองไว้ตั้งแต่แรก

ปกติแล้วเมืองจะมาก่อน พอมีคนอยู่ย่านนั้นเยอะ ๆ จึงจะมีการสร้างขนส่งมวลชนตามมา แต่ญี่ปุ่นคิดรวบพร้อมกันไปเลย หรือให้มีระบบขนส่งก่อนเมืองจะเจริญได้เลยยิ่งดี ที่ญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับระบบขนส่งสาธารณะเพราะมีพื้นที่ใช้สอยน้อย ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขา มีพื้นที่ราบเพียง 27% เท่านั้น และประชากรกว่า 3 ใน 10 หรือประมาณ 38 ล้านคนกระจุกอยู่ในโตเกียว

เมื่อเมืองหนาแน่นทำให้ไม่สามารถรองรับการใช้งานรถยนต์จำนวนมหาศาลได้ ที่จอดรถไม่พอ ถนนไม่พอ จึงต้องให้คนหันมาใช้ระบบขนส่งมวลชน TOD ช่วยให้ทุกอย่างมาบรรจบกันที่สถานีรถไฟ องค์กรต่าง ๆ ในญี่ปุ่นก็ตอบรับแนวคิดนี้โดยการออกค่าเดินทางมาทำงานให้แก่พนักงาน และเงินจำนวนนี้ที่พนักงานได้รับจะไม่ถูกนำมาคิดภาษีอีกด้วย

นอกจากนี้ TOD ยังเป็นกลยุทธ์ในการกระจายความเจริญสู่เมืองโดยรอบ เกิดเป็นย่านใหญ่ ๆ มากมายทุกทิศทาง ทำให้คนย่านนั้นออกมาใช้ชีวิตละแวกนั้นได้อย่างสะดวกสบาย ไม่จำเป็นต้องเดินทางเข้าไปแออัดกันในเมือง

แต่ TOD ก็มีข้อเสียเหมือนกัน เนื่องจากเป็นการพัฒนาสเกลใหญ่ ทำให้ที่ดินบริเวณนั้นมีมูลค่าสูงขึ้น ค่าครองชีพสูงขึ้นตาม คนท้องถิ่นที่อยู่อาศัยมาก่อนบางคนก็รับกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นไม่ไหว จึงอยู่ย่านเดิมต่อไปไม่ได้ ความเจริญที่พุ่งเข้ามาได้ผลักคนบางกลุ่มออกห่างจากความเจริญด้วยเช่นกัน


เครื่องตรวจตั๋วที่เป็นมากกว่าเครื่องตรวจตั๋วอัตโนมัติ

เครื่องตรวจตั๋วของญี่ปุ่นมีขนาดยาวกว่าของประเทศอื่น ๆ จุดสอดตั๋วและรับตั๋วอยู่ห่างกันพอสมควร เพราะต้องการให้ผู้โดยสารสามารถเดินได้อย่างต่อเนื่อง ไม่จำเป็นต้องหยุดเพื่อสอดและรอรับตั๋วคืน ทำให้ประหยัดเวลาได้แม้จะเพียงเสี้ยววินาที แต่เวลาเพียงเสี้ยววิของหลาย ๆ คนรวมกันก็ประหยัดเวลาไปได้มาก ทำให้ระบายผู้โดยสารเข้าออกสถานีได้อย่างไม่มีสะดุด ผู้โดยสารไม่กระจุกเป็นคอขวดอยู่หน้าเครื่องตรวจตั๋ว

นอกจากจะใช้ระบบสอดตั๋วเข้าเครื่องแบบดั้งเดิมแล้ว สถานีรถไฟที่ญี่ปุ่นยังมีระบบตั๋วแบบสแกนที่ยิ่งทำเวลาได้เร็วยิ่งขึ้นไปอีก โดยเครื่องตรวจตั๋วสามารถสแกนตั๋วได้ด้วยความเร็ว 0.2 วินาที/คน เซนเซอร์ที่ใช้สแกนตั๋วถูกติดตั้งทำมุม 13.5 องศา ซึ่งเป็นมุมที่วิจัยมาแล้วว่าคนสามารถหยิบตั๋วออกมายื่นแตะได้สะดวกกว่าการติดตั้งเซนเซอร์แบบแนวราบ

และเครื่องตรวจตั๋วบางเครื่องไม่ได้กางที่กั้นออกมาขวางผู้โดยสาร ทำให้ผู้โดยสารแตะสแกนแล้วเดินผ่านเข้าช่องไปได้เลย โดยไม่ต้องรอให้ที่กั้นเปิด แต่กลับกันที่กั้นจะปิดเข้ามาก็ต่อเมื่อมีผู้โดยสารใช้ตั๋วผิด เป็นวิธีคิดแบบกลับด้านว่าคนส่วนใหญ่มักจะใช้ตั๋วถูก การออกแบบนี้จึงโฟกัสไปที่คนส่วนใหญ่และมอบความสะดวกสบายให้แก่คนกลุ่มนั้น

นอกจากเครื่องตรวจตั๋วที่ยาวเป็นพิเศษ บางสถานีเครื่องตรวจตั๋วมีความกว้างมากกว่าปกติด้วย เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้วีลแชร์หรือผู้ที่ลากกระเป๋าเดินทาง สามารถเข้าสถานีได้อย่างสะดวก


อากาศดีสร้างได้

หลายคนที่ไปเที่ยวญี่ปุ่นคงรู้สึกได้ว่าประเทศนี้อากาศดี แทบทุกพื้นที่ในประเทศดัชนีค่า AQI เป็นสีเขียว จะแซมสีเหลืองอยู่บ้างในบางพื้นที่ ตามหัวเมืองใหญ่และพื้นที่อุตสาหกรรม แต่ญี่ปุ่นก็เคยผ่านช่วงเวลาที่บ้านเมืองปกคลุมไปด้วยมลพิษ ซึ่งแลกมากับการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดด ในช่วงปี 1930 โอซาก้าได้รับสมญานามว่า “เมืองหลวงแห่งหมอกควัน” บนฟ้าเต็มไปด้วยควันที่มาจากโรงงานรอบ ๆ เมือง แต่คนพื้นที่สมัยนั้นไม่ตระหนักว่าควันเหล่านี้จะส่งผลเสียต่อสุขภาพ ซ้ำยังคิดว่าควันคือสัญลักษณ์แห่งความโมเดิร์นเสียอีก

หลังจากญี่ปุ่นพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศย่อยยับและต้องเริ่มสร้างกันใหม่ตั้งแต่ศูนย์ ญี่ปุ่นยุคนั้นมีเศรษฐกิจที่ก้าวกระโดด จนได้รับสมญานามว่า “Ecomonic Miracle” จากสากลโลก ญี่ปุ่นฟื้นตัวได้ด้วยอุตสาหกรรมผลิตยานยนต์ รถไฟ เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น

จนช่วงปี 1959 ชาวเมืองยกกะอิจิหลายคนมีอาการของโรคหืด เพราะที่นั่นเป็นที่ตั้งของโรงงานปิโตรเคมีที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย ในอากาศมีสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์และไนโตรเจนออกไซด์เจือปนอยู่ หมอกควันพื้นที่นั้นบดบังรัศมีการมองเห็นให้เหลือระยะแค่ 50 เมตรเท่านั้น จนปี 1969 ชาวเมืองยกกะอิจิรวมตัวกันฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายด้านสุขภาพจากโรงงานอุตสาหกรรม

ชาวเมืองยกกะอิจิเป็นแรงกระเพื่อมที่ส่งผลให้ชุมชนอื่นที่ได้รับผลกระทบแบบเดียวกันออกมาเรียกร้องเพิ่มมากขึ้น มีการยื่นหนังสือเรียกร้องและเข้าประชุมกับหน่วยงานท้องถิ่นเพื่อแก้ปัญหา กลุ่มคนเหล่านี้ไม่ได้เรียกร้องให้แค่ตัวเองเท่านั้น แต่เพื่อคนรุ่นหลังด้วย เพราะพวกเขามองขึ้นไปบนฟ้าแล้วท้องฟ้าไม่เป็นสีฟ้า จึงอยากให้คนรุ่นหลังได้มองท้องฟ้าเป็นสีฟ้าอย่างที่มันควรจะเป็น

สิ่งนี้สะท้อนถึงความเป็นประชาธิปไตย ประชาชนตระหนักถึงสิทธิและเสียงที่จะตั้งคำถามและรวมกลุ่มเพื่อเสนอการแก้ไข มีสิทธิออกมาประท้วงร้องเรียน อันที่จริงพวกเขาเลือกที่จะเงียบแล้วก้มหน้าก้มตาทำงานต่อไปก็ได้ แต่พวกเขาตระหนักว่าสุดท้ายความเงียบจะกลับมาทำลายพวกเขาและคนอื่น ถ้าไม่ลุกขึ้นมาทำอะไรเลย ของบางอย่างต้องสู้จึงจะได้มา

ญี่ปุ่นได้ผ่านร่างกฏหมายควบคุมมลพิษทางอากาศเพื่อวางรากฐานอากาศที่ดี ควบคุมการปล่อยการซัลเฟอร์ไดออกไซด์จากโรงงานและไนโตรเจนออกไซด์จากยานยนต์ โรงงานอุตสาหกรรมถูกตรวจสอบมาตรฐานสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง ขั้นตอนการตรวจสอบโปร่งใส มีสื่อมวลชนช่วยกันจับจ้อง ฝั่งผู้ประกอบการก็เริ่มมีทัศนคติอยากให้กิจการของตนมีภาพลักษณ์ด้านสิ่งแวดล้อมที่ดี จึงรักษาระดับมลภาวะให้อยู่ในเกณฑ์ ด้วยความตระหนักและร่วมมือกันของทุกภาคส่วน ทั้งภาคประชาชน สื่อสารมวลชน รัฐบาลและผู้ประกอบการ ทุกอย่างจึงผลิดอกออกผลเป็นอากาศบริสุทธิ์ในศตวรรษที่ 21 นี้

เรื่องปอดของเมืองก็สำคัญ แม้แต่โตเกียวที่เป็นมหานครที่มีผู้คนแออัดก็ยังมีพื้นที่สีเขียวในอัตราเฉลี่ย 12 ตรม./คน ซึ่งสูงกว่าที่องค์กรอนามัยโลกกำหนดเอาไว้ที่ 9 ตรม./คน ขณะที่กรุงเทพของเรามีพื้นที่สีเขียวเพียง 3.3 ตรม./คน เท่านั้น

แม้ปัญหาภายในประเทศจะสามารถจัดการและควบคุมได้ แต่หลายปัญหาก็มาจากปัจจัยภายนอก เช่น ในปี 2013 เมืองฟุกุโอกะเผชิญกับฝุ่น PM 2.5 ในระดับที่เป็นอันตรายต่อร่างกายเกิน 3 เท่า ซึ่งฝุ่นเหล่านี้พัดมาจากจีน เรื่องนี้จะแก้ปัญหาได้ต้องพึงประชาคมโลกเข้าช่วย

คุณภาพอากาศของญี่ปุ่นสะท้อนให้เห็นว่าเมืองนั้นเปลี่ยนแปลงได้ หากทุกภาคส่วนร่วมมือกัน ซึ่งสุดท้ายประโยชน์จะตกไปถึงทุกคน


ถนนไม่มีหลุม ไม่มีบ่อ มีแต่รูพรุน

ยุคหลังมานี้ญี่ปุ่นเริ่มนำวัสดุใหม่มาปูถนนในถนนสำคัญ วัสดุใหม่นี้มีชื่อว่า Porous Asphalt Pavement หรือถนนยางมะตอยแบบมีรูพรุน ที่ผิวถนนจะมีช่องว่างที่เล็กมาก ๆ ในระดับมิลลิเมตร โดยวัสดุนี้เริ่มใช้ที่ญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 1987 เริ่มใช้บนทางด่วนข้ามจังหวัด และพัฒนามาเรื่อย ๆ จนปัจจุบันใช้บนถนนสายหลักหลายสายของประเทศ

เดิมทีผิวถนนปกติจะมีปัญหาเรื่องน้ำที่ซึมลงไปใต้ดินได้ยาก เมื่อฝนตกจึงเกิดน้ำขัง วิธีแก้คือต้องทำให้ถนนเอียงเพื่อให้น้ำไหลระบายลงข้างทาง แต่ถนนที่เอียงก็ขับลำบากและเสี่ยงเกิดอันตราย ถนนรูพรุนจึงเป็นทางออกด้วยวัสดุที่มีลักษณะเป็นรูพรุนให้น้ำฝนไหลผ่านลงไปได้ ลดโอกาสการเกิดน้ำขัง ช่วยไม่ให้ถนนลื่น ไม่เกิดแหล่งน้ำขัง เมื่อรถวิ่งผ่านจึงไม่มีน้ำกระเซ็นไปโดนคนเดินถนน และเมื่อพื้นถนนไม่เปียก คนก็สามารถเดินข้ามได้ง่าย ไม่ต้องหลบแอ่งน้ำ

แต่ถนนรูพรุนนี้มีค่าก่อสร้างที่แพงกว่าปกติ ต้องพิจารณาให้ดีว่าสร้างไปแล้วจะคุ้มค่ากับมูลค่าเศรษฐกิจย่านนั้นไหน ปัญหาของถนนรูพรุนคือรูของมันที่เล็กมากระดับมิลลิเมตรที่เสี่ยงต่อการอุดตัน จึงต้องดูแลรักษาถนนอย่างสม่ำเสมอและถูกวิธี


ทางเท้าญี่ปุ่นเดินสนุก

หนึ่งในพื้นฐานที่สุดของทางเท้าคือมันต้องกว้างพอที่จะให้เดิน ที่ญี่ปุ่นมีการกำหนดความกว้างขั้นต่ำของทางเท้าเอาไว้ด้วยอยู่ที่ 2 เมตร เพื่อให้เดินสวนกันได้และสะดวกต่อผู้ใช้วีลแชร์ โดยญี่ปุ่นมีแนวคิดในการออกแบบทางเท้าโดยคำนึงถึงผู้บกพร่องด้านการเคลื่อนไหวมาก่อนเสมอ วิศวกรต้องถามตัวเองว่า “ถ้าเป็นทางเท้าแบบนี้ คนนั่งวีลแชร์จะสามารถผ่านทางได้ไหม?”

ผิวทางเท้าที่ญี่ปุ่นเรียบสนิท สม่ำเสมอ เดินไม่สะดุด ไม่ขรุขระ นอกจากนี้ปัจจัยที่ทำให้ทางเท้าญี่ปุ่นน่าเดินคือเรื่องของความสะอาด สาเหตุมาจากการก่อสร้างที่รัดกุม เก็บกวาดงานได้เนี้ยบ และทางการทำความสะอาดเป็นประจำ อีกหนึ่งอย่างคือประชาชนญี่ปุ่นช่วยกันดูแลความสะอาดด้วย แทบไม่มีการทิ้งขยะข้างทาง และวัฒนธรรมไม่เดินไปกินไปของคนญี่ปุ่น ช่วยให้ไม่มีอาหารหกเลอะพื้น

นอกจากทางเท้าที่ญี่ปุ่นจะเดินสนุกแล้ว ทางม้าลายในญี่ปุ่นยังข้ามง่ายอีกด้วย โดยขนาดความกว้างของทางม้าลายจะแปรผันให้เหมาะกับการใช้งานตามพื้นที่ ถ้าเป็นหน้าสถานีรถไฟที่คนเยอะ ทางม้าลายก็จะกว้างตามไปด้วย

นอกจากนี้แทบทุกแยกจะมีสัญญาณไฟคนข้ามเป็นไฟเขียวไฟแดง พร้อมเลขนับถอยหลังบอกให้คนรู้ว่าควรข้ามดีไหม เช่น ถ้าเป็นแยกใหญ่แล้วเหลือเวลา 5 วิ คนก็จะรู้ว่าข้ามไม่ทันแน่ ควบคู่ไปกับเสียงที่ใช้บอกผู้พิการทางสายตาให้รับรู้ถึงสัญญาณไฟคนข้ามนี้ไปด้วย

ในประเทศไทยหลายคนคงเคยเห็นบล็อกสีเหลืองที่มีแถบนูนสำหรับใช้นำทางผู้พิการทางสายตา  รู้ไหมครับว่าบล็อกสีเหลืองนี้มีต้นกำเนิดมาจากประเทศญี่ปุ่น ชื่อว่า “เท็นจิบล็อก” คิดค้นโดยคุณเซอิชิ มิยาเกะ เมื่อปี 1965 ทดลองใช้ครั้งแรกที่โรงเรียนสอนคนตาบอดแห่งหนึ่งในเมืองโอกายาม่า ผลลัพธ์ออกมาน่าพอใจ คนตาบอดสามารถเดินตามบล็อกนี้ได้โดยไม่ต้องมีคนช่วย จากนั้นจึงนำเท็นจิบล็อกมาใช้ตรงสี่แยกแถวโรงเรียนคนตาบอก และขยายไปหลายแห่ง จนกลายเป็นมาตรฐานที่ต้องมี

เท็นจิบล็อกสะท้อนถึงความเท่าเทียมกันในสังคม บอกถึงวิสัยทัศน์และทัศนคติของรัฐที่มองประชาชนทุกคนว่าพวกเขาล้วนเป็นประชาชนผู้เสียภาษี มีศักดิ์ศรีและสิทธิ์ที่จะได้รับคุณภาพชีวิตที่ดี แม้แต้ผู้ใช้วีลแชร์หรือคนตาบอดก็สามารถออกมาใช้ชีวิตในที่สาธารณะได้ นี่คืออิสรภาพพื้นฐานในชีวิตอย่างหนึ่ง อิสรภาพในการไปไหนมาไหนด้วยตัวเอง

สุดท้ายผู้เขียนสรุปเอาไว้ว่าเรารู้เรื่องการพัฒนาเมืองหรือทางเท้าของญี่ปุ่น เป็นจุดเริ่มต้นให้เราสงสัยและตั้งคำถามกับสิ่งแวดล้อมในเมืองที่เราอาศัยอยู่ ทำให้เราเป็นพลเมืองที่ตื่นรู้ คิดถึงส่วนรวมมากขึ้น และอยากจะทำให้รอบตัวเราดีขึ้น ผู้เขียนเชื่อว่าเมืองต้องการคนที่คิดแบบนี้ และคนเองก็ต้องการอยู่ในเมืองแบบนั้นด้วยเช่นกัน

สนใจหนังสือ LIVABLE JAPAN ใส่ใจไว้ในเมือง
สามารถสั่งซื้อได้ที่ Shopee: https://s.shopee.co.th/8pUhC7oHRd
ซื้อผ่านลิงค์เป็นการสนับสนุนช่องครับ

Share

Leave a comment

Leave a Reply

What's New

สรุปเนื้อหาและแนะนำหนังสือที่น่าสนใจ ชวนเพื่อน ๆ มาพัฒนาตัวเองให้ดียิ่งขึ้นในทุก ๆ วันไปด้วยกันครับ

Copyright 2025 Aitim and Co. All rights reserved

error: Content is protected !!