ทักษะอันตรายของสายลับที่จะทำให้คุณฉลาดขึ้น เทคนิคลับที่พลิกให้คุณกลับมาเป็นต่อได้ทันที

Share
Share

เพื่อน ๆ นิยามความฉลาดเอาไว้ว่ายังไงครับ สำหรับบางคนอาจนิยามคนที่ฉลาดว่าต้องเก่งในการทำความเข้าใจบทสนทนา, ทำงานมีประสิทธิภาพ, อ่านใจคนออก ชักจูงคนเป็น, ประเมินสถานการณ์ล่วงหน้าได้, เยือกเย็นและตัดสินใจได้ดี หากใครมีทักษะเหล่านี้ย่อมประสบความสำเร็จในการทำงานและการทำธุรกิจ โดยไม่จำเป็นต้องมีครบทุกทักษะที่กล่าวมาทั้งหมดก็เรียกว่าเป็นคนเก่งได้แล้ว แต่มีอยู่อาชีพหนึ่งครับที่มีทักษะเหล่านี้ครบ อาชีพที่ว่าคือ อาชีพสายลับ

องค์กรสายลับที่เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกก็ตัวอย่างเช่น สำนักข่าวกรองกลางของอเมริกา (CIA), หน่วยข่าวกรองลับของอังกฤษ (MI6) หรือหน่วยข่าวกรองต่างประเทศของรัสเซีย (SVR) หน้าที่ของสายลับในองค์กรเหล่านี้คือการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล จนได้ออกมาเป็นข่าวกรอง พวกเขาต้องผ่านการทดสอบสุดโหด จนเรียกได้ว่าอาชีพสายลับถ้าไม่ฉลาดก็เป็นไม่ได้

ในบรรดาคนทำงานก็มีบางคนที่ทุ่มเทและตั้งใจกับงาน แต่กลับสร้างผลงานที่ดีออกมาไม่ได้ เป็นเพราะพวกเขาทำสิ่งที่ไม่ช่วยนำไปสู่ผลลัพธ์ มัวแต่ลงแรงไปกับเรื่องที่ไม่เกิดประโยชน์ และไม่รู้วิธีทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ แต่หากทำตามแนวทางการทำงานของสายลับ ไม่ว่าใครก็สามารถสร้างผลงานที่ดีออกมาได้ครับ

ไอติมอ่าน ep นี้จะมาแนะนำหนังสือ “ทักษะอันตรายของสายลับที่จะทำให้คุณฉลาดขึ้น” เขียนโดย อุเอดะ อัตสึโมริ ผู้ที่เคยเป็นนักวิเคราะห์ข้อมูลของหน่วยงานรัฐ, ครูฝึกประจำกองกำลังป้องกันตัวเองภาคพื้นดินญี่ปุ่น และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของสถานทูต ที่ปัจจุบันผันตัวเองมาทำธุรกิจและประสบความสำเร็จ เพราะนำทักษะของสายลับที่เคยศึกษามาประยุกต์ใช้


หนังสือเล่มนี้พูดถึง 5 ทักษะของสายลับที่ทุกคนสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการทำงานของตัวเองได้ โดยทั้ง 5 ทักษะนั้นได้แก่

  1. ทักษะการรวบรวมข้อมูล
  2. ทักษะการชักใยคน
  3. ทักษะการจำและดึงข้อมูลออกมาใช้
  4. ทักษะการวิเคราะห์ข้อมูล
  5. ทักษะที่ช่วยให้คิดและลงมือทำได้อย่างยืดหยุ่น

ผมสรุปทั้ง 5 ทักษะมาให้เพื่อน ๆ ได้ฟัง เรามาเริ่มที่ทักษะแรกกันเลยครับ

1. ทักษะการรวบรวมข้อมูล

ทุกวันนี้มีข้อมูลมากมายมหาศาล เราสามารถค้นหาข้อมูลต่าง ๆ ได้บนอินเตอร์เน็ต แต่ข้อมูลที่รวบรวมมาได้อาจไม่ใช่ข้อมูลที่มีประโยชน์ทั้งหมด บางครั้งอาจได้ข้อมูลที่เป็นข่าวลือ มีการบิดเบือน ทำให้สับสนในการวิเคราะห์ คนในแวดวงข่าวกรองจึงมีเทคนิคในการคัดเอาเฉพาะข้อมูลที่สำคัญจริง ๆ ออกจากข้อมูลปริมาณมหาศาล เทคนิคนั้นเรียกว่า HEAD ที่ย่อมาจาก High Efficiency Analytic Decision-making เทคนิคนี้นำไปใช้ตามขั้นตอนดังนี้ครับ

  1. ตั้งคำถาม
  2. กำหนดขอบเขตหรือตีกรอบให้กับคำถามนั้น เพื่อให้มีความชัดเจน
  3. รวบรวมข้อมูลที่อยู่ในกรอบนั้น และทำให้คำถามที่ตั้งได้รับคำตอบ

ตัวอย่างการใช้เทคนิค HEAD เช่น สมมุติว่าคุณกำลังจะหาซื้อบ้าน ถ้าคุณตระเวนไปดูบ้านตัวอย่างโดยไม่มีการเตรียมการใด ๆ คุณคงไม่ได้ข้อมูลสำหรับนำมาตัดสินใจเพื่อทำการซื้อบ้าน ทางที่ดีคุณควรตั้งคำถามกับตัวเองเรื่องบ้านก่อน เช่น “มีบ้านเดี่ยวมือหนึ่งที่ห่างจากที่ทำงาน 1 ชม. หรือไม่?” จากนั้นตีกรอบเรื่องบ้านให้แคบลง เช่น กำหนดทำเล, ช่วงราคาที่ซื้อไหว, พื้นที่ใช้สอยของบ้าน และสิ่งอำนวยความสะดวก สุดท้ายสิ่งที่คุณต้องทำคือการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับบ้านที่ตรงตามกรอบที่กำหนดไว้ เมื่อทำเช่นนี้ คุณก็ไม่ต้องเสียเวลาไปกับข้อมูลที่ไม่จำเป็น แถมยังวิเคราะห์และตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย

ข้อมูลที่รวบรวมมาได้ ไม่ใช่จู่ ๆ จะเอาไปใช้ได้เลย การจัดการข้อมูลก็เหมือนการปรุงปลาปักเป้าที่ต้องแยกส่วนที่มีพิษออกเสียก่อน พอแยกส่วนที่กินได้ออกมาแล้วก็ดูต่อว่าแต่ละส่วนจะนำไปใช้ปรุงเป็นเมนูอะไร ส่วนไหนที่ยังไม่ได้ใช้ก็เก็บรักษาเอาไว้ก่อน การจัดการข้อมูลก็เหมือนการเตรียมวัตถุดิบปรุงอาหาร โดยขั้นตอนการจัดการข้อมูลแบ่งได้ 4 ขั้นตอนใหญ่ ๆ ได้แก่

  1. การคัดเลือก
  2. การจำแนก
  3. การประเมิน
  4. การเก็บรักษา

การคัดเลือก คือการแยกข้อมูลส่วนที่ไม่สำคัญหรือไม่มีประโยชน์ออกไป

การจำแนก คือการแยกข้อมูลออกเป็นหมวดหมู่ เพื่อให้สะดวกต่อการนำไปวิเคราะห์ต่อ โดยปกติจะจำแนกเป็นข้อมูลที่นำไปใช้ได้เลย, ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง, ข้อมูลที่ถูกต้อง และข้อมูลที่ยังไม่แน่ใจในความถูกต้อง

การประเมิน คือการตรวจสอบว่าข้อมูลนั้นเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์หรือไม่ โดยพิจารณาจากความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูลและความถูกต้องของข้อมูล ขั้นตอนนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นการตัดเกรด โดยความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูลแบ่งได้ 6 เกรด คือ

  • A เชื่อถือได้
  • B เชื่อถือได้เป็นส่วนใหญ่
  • C เชื่อถือได้ระดับหนึ่ง
  • D เชื่อถือไม่ได้เป็นส่วนใหญ่
  • E เชื่อถือไม่ได้
  • F ไม่สามารถตัดสินได้

ส่วนความถูกต้องของข้อมูลแบ่งได้ 6 ระดับ คือ

  1. ตรวจสอบได้ว่าถูกต้อง
  2. เป็นไปได้สูงว่าถูกต้อง
  3. อาจจะถูกต้อง
  4. น่าสงสัยในความถูกต้อง
  5. ไม่น่าจะถูกต้อง
  6.  ไม่สามารถตัดสินได้

โดยข้อมูลที่ควรค่าแก่การนำมาใช้งานคือ ข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือเกรด A-C และมีความถูกต้องอยู่ในระดับ 1-3 แต่สำหรับคนทั่วไปสามารถจัดกลุ่มข้อมูลได้ง่าย ๆ โดยแบ่งออกเป็น 3 สี คือ สีเขียว มีความน่าเชื่อถือสูง, สีเหลือง ต้องระวังเมื่อนำไปใช้ และ สีแดง ไม่น่าเชื่อถือ

เมื่อจัดกลุ่มข้อมูลออกมาสำหรับนำไปใช้งานแล้ว แต่อาจมีบางส่วนที่ยังไม่ได้ใช้ ขั้นตอนสุดท้ายของการจัดการข้อมูลคือ การเก็บรักษา ที่หมายถึงการเก็บข้อมูลที่จำแนกแล้วตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ นอกจากนี้ต้องกำหนดระยะเวลาที่จะเก็บรักษาเอาไว้ด้วยว่าจะเก็บไว้ตลอดไป หรือทำลายทิ้งเมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง

ในอินเตอร์เน็ตเต็มไปด้วยข้อมูลเท็จที่ไม่รู้แหล่งที่มา บางข้อมูลเป็นข่าวปลอม หรือ fake news ที่เป็นข้อมูลที่ไม่จริงซึ่งปล่อยออกมาเพื่อสร้างความสับสนแก่สังคมหรือหาผลประโยชน์บางอย่าง fake news ไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งมามี เพียงแต่เห็นได้มากขึ้นเมื่ออินเตอร์เน็ตเข้าถึงคนมากขึ้น คำที่กลายเป็นที่รู้จักพร้อมกับคำว่า fake news คือ fact-checking ที่แปลว่าการตรวจสอบข้อเท็จจริงของข่าว

ในการ fact-checking สามารถทำได้โดยพิจารณาว่าแหล่งที่มาหรือผู้ให้ข้อมูลมีความน่าเชื่อถือหรือไม่ อยู่ในสถานะที่รู้ข้อมูลนั้นจริงหรือเปล่า และถึงแม้จะเป็นข้อมูลที่มาจากคนมีชื่อเสียงหรือคนที่อ้างว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องนั้น ก็ต้องตรวจสอบให้แน่ใจก่อนว่ามีเจตนาแอบแฝงหรือไม่ สืบประวัติว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญสาขาไหน มีแนวคิดยังไง และมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับใคร

อีกอย่างคือต้องระบุช่วงเวลาที่เกิดขึ้นให้ได้ ช่วงเวลาที่เกิดกับช่วงเวลาที่ได้รับข้อมูลเป็นคนละเรื่องกัน หลายครั้งจะพบว่าข้อมูลที่คิดว่าใหม่ จริง ๆ แล้วเป็นข้อมูลเก่าที่ถูกเอามาเล่าใหม่ หากระบุช่วงเวลาที่เกิดขึ้นได้ เราจะสามารถนำไปเปรียบเทียบกับข้อมูลที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน เพื่อดูว่ามีจุดที่ขัดแย้งกันหรือไม่ ถ้าพบจุดที่ย้อนแย้ง ให้สงสัยความถูกต้องของข้อมูลนั้นไว้ก่อน

ในทางกลับกัน หากเปรียบเทียบแล้วข้อมูลสอดคล้องกัน ก็เป็นไปได้ว่าข้อมูลนั้นจะเป็นข้อมูลจริง แต่ต้องระวังเอาไว้ด้วย เพราะบางครั้งหลาย ๆ ข้อมูลก็มาจากแหล่งเดียวกัน จึงไม่ใช่ว่าจะเชื่อถือได้เสมอไป


2. ทักษะการชักใยคน

ต่อให้มีเทคโนโลยีอย่างดาวเทียมสอดแนมหรือการดักฟังทางโทรศัพท์ ข้อมูลที่ได้ก็ยังไม่สู้ข้อมูลที่ลวงมาได้จากคนวงใน สายลับต้องมีทักษะในการสื่อสารเพื่อล้วงข้อมูลจากคนอื่น และการสื่อสารจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อต่างฝ่ายต่างมีความไว้ใจซึ่งกันและกัน พูดง่าย ๆ ก็คือ ถ้าอยากเป็นมืออาชีพด้านการสื่อสาร อันดับแรกต้องได้รับความไว้วางใจจากคนอื่นเสียก่อน

สายลับมีเทคนิคหนึ่งที่ใช้สำหรับเข้าหาคน เทคนิคนั้นเรียกว่า “เทคนิคการสนทนาแบบนาฬิกาทราย” ที่เริ่มจากการพูดคุยเรื่องสัพเพเหระทั่วไป จากนั้นจึงค่อย ๆ พาเข้าเรื่องที่เราต้องการล้วงข้อมูล แล้ววกกลับมาคุยเรื่องสัพเพเหระอีกครั้ง

ตัวอย่างเช่น ในตอนแรกคุณอาจถามถึงเรื่องลูกของอีกฝ่ายก่อน จากนั้นค่อยเปลี่ยนมาคุยเรื่องงานของเขาหรือเรื่องที่คุณอยากล้วงข้อมูล แล้วเปลี่ยนกลับมาคุยเรื่องทั่วไปอย่างเรื่องวันหยุดหรืออาหารที่ชอบแทน

คนเรามักจำเรื่องที่พูดตอนแรกและตอนที่จบบทสนทนาได้ แต่กลับจำท่อนกลางของการสนทนาไม่ค่อยได้ สายลับจึงนำหลักการสนทนาแบบนี้มาใช้ประโยชน์ในการล้วงข้อมูล

สายลับที่ล้วงข้อมูลเก่ง ไม่ใช่คนที่พูดเก่ง แต่เป็นผู้ฟังที่ดีต่างหาก คนส่วนใหญ่มักอยากเล่าเรื่องราวของตัวเอง มากกว่าอยากฟังเรื่องราวของคนอื่น สายลับจึงถือคติเป็นผู้ฟังที่ดี จึงมีคนแห่เข้ามารายล้อม จนทำให้ได้ข้อมูลสำคัญมาแบบไม่ต้องขวนขวาย แต่การเป็นผู้ฟังที่ดีเป็นเรื่องยาก สายลับจึงนำเทคนิค LOVE มาใช้เพื่อให้ฟังได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเทคนิค LOVE ประกอบไปด้วย

  • L – Listen การฟัง
  • O – Observe การสังเกต
  • V – Vocalize การส่งเสียง
  • E – Empathize การแสดงความเข้าอกเข้าใจ

การใช้เทคนิค LOVE อันดับแรกให้เริ่มจากตั้งใจฟัง แล้วสบตาอีกฝ่ายในระดับที่เหมาะสม ไม่บ่อยเกินไปและไม่น้อยเกินไป โดยระหว่างที่ฟังให้สังเกตสีหน้าและอากัปกิริยาของอีกฝ่ายไปด้วย สุดท้ายให้พูดทวนสิ่งที่อีกฝ่ายพูด นี่คือเทคนิคการฟังในแบบของสายลับครับ

สายลับเก่งในเรื่องของการสร้างมิตรภาพ ยิ่งมีโอกาสได้เจอกันบ่อย ยิ่งมีปฏิสัมพันธ์กันนาน ยิ่งใกล้ชิดกันเท่าไหร่ มนุษย์จะยิ่งชอบและมีความรู้สึกดี ๆ ให้กันมาเท่านั้น แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายที่คนเราจะสนิทกันตั้งแต่ตอนเจอกันครั้งแรก เพราะฉะนั้นคุณไม่จำเป็นต้องตั้งเป้าว่าจะสนิทกับอีกฝ่ายให้ได้ตั้งแต่ครั้งแรกที่เจอ แต่ควรตั้งเป้าว่าจะให้มีการนัดเจอกันครั้งต่อไปให้ได้ คุณต้องสร้างความประทับใจ และทำให้อีกฝ่ายอยากเจอคุณอีกครั้ง

ในการเจอกันครั้งแรก คุณอาจไม่มีเรื่องที่จะคุยกับอีกฝ่าย หรืออาจคุยกันได้ไม่ต่อเนื่อง แต่ก็ไม่ต้องกังวลครับ เพียงแค่แสดงท่าทีตอบรับอย่างการพยักหน้าและสบตาตอนที่อีกฝ่ายพูด ก็จะช่วยชดเชยบทสนทนาที่ติดขัดและสร้างบรรยากาศให้ดีขึ้นได้

ท่าทีของคู่สนทนาก็เป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะมันบอกให้คุณรู้ได้ว่าเขากำลังรู้สึกยังไงตอนที่คุยกับคุณอยู่ สัญญาณที่แสดงว่าอีกฝ่ายรู้สึกดี เช่น ดูผ่อนคลาย, หันหน้ามาทางคุณ, ปลายเท้าชี้มาที่คุณ, โน้มตัวมาหาคุณเล็กน้อย, ทำไม้ทำมือตอนที่พูด, สบตาคุณอยู่เสมอ, พยักหน้าเห็นด้วย, หัวเราะ, จับมือกระชับแต่ไม่บีบแรงเกินไป

ในทางกลับกัน สัญญาณที่แสดงว่าอีกฝ่ายรู้สึกไม่ดี เช่น ดูกระวนกระวาย, อ้ำอึ้ง, เงียบเป็นพัก ๆ หรือสายตาเหม่อลอย และสัญญาณของความเป็นศัตรูจะแสดงออกมา เช่น จ้องเขม็งนานเกิน 1 วินาทีขึ้นไป, มองตั้งแต่หัวจรดเท้า, เหลือบมองหรือมองเฉียง ๆ โดยไม่ขยับศีรษะ, ยืนกางขาเอามือเท้าเอว, กำมือแน่น หรือหายใจฟืดฟาด

ในการทำงานคุณต้องให้ความสำคัญกับการแสดงท่าทีของตัวเอง และหมั่นสังเกตท่าทีของคนอื่น เพราะการแสดงท่าทีออกมาดี จะทำให้อีกฝ่ายคิดว่าอยากเจอคุณอีกครั้ง และการสังเกตและแสดงท่าที ไม่ได้มีประโยชน์แค่ในแง่ของการสร้างความสัมพันธ์ แต่ยังใช้ช่วยตัดสัมพันธ์ได้ด้วย เช่น ถ้าอยากไล่คนที่คุณไม่ชอบหน้าไปให้พ้น ก็ให้มองอีกฝ่ายตั้งแต่หัวจรดเท้า หรือถ้าใครส่งสัญญาณเป็นศัตรูมา ก็มองให้ออกแล้วรีบตัดความสัมพันธ์โดยเร็ว

ในวงการสายลับมีคำศัพท์ที่เรียกว่า MICE ซึ่งแปลว่าหนู ที่ใช้เรียกคนในที่พยายามสืบข้อมูลในองค์กรแบบน่าสงสัย คนในที่กลายเป็นหนูถูกใช้เป็นเครื่องมือและถูกชักใยให้ยอมร่วมมือ ซึ่งสิ่งที่มีอำนาจเปลี่ยนคนในให้กลายเป็นหนูมีอยู่ 4 อย่าง คือ MICE โดยแต่ละตัวอักษรย่อมาจาก

  • M – Money เงิน
  • I – Ideology ความเชื่อหรืออุดมการณ์
  • C – Compromise จุดอ่อน / Coercion การข่มขู่
  • E – Ego อัตตา

1. เงิน ตัวอย่างเช่น อัลดริช เอมส์ อดีตเจ้าหน้าที่ CIA ที่แปรพักตร์มาเป็นสายลับให้กับ KGB เพราะเห็นแก่เงิน

2. ความเชื่อหรืออุดมการณ์ ตัวอย่างเช่น คิม ฟิลบี้ สายลับของอังกฤษสมัยสงครามเย็นที่ยอมเป็นสายลับให้โซเวียต เพราะฝักใฝ่คอมมิวนิสต์

3. จุดอ่อนและการข่มขู่ ตัวอย่างเช่น คนที่ถูกผู้หญิงล่อลวงด้วยเสน่ห์ จนต้องยอมถูกชักใย เพราะกลัวถูกแฉว่าบ้าผู้หญิง

4. อัตตา ส่วนใหญ่เป็นคนที่ไม่ค่อยเติบโตในองค์กร เมื่อได้รับคำชมจากฝ่ายศัตรูว่าเป็นคนมีความสามารถ ก็หลงมั่นใจในตัวเองและกลายไปเป็นสายลับให้กับฝ่ายศัตรู

องค์ประกอบทั้ง 4 อย่างของ MICE อาจถูกคู่แข่งทางธุรกิจนำมาใช้กับพนักงานของเรา เพื่อบังคับให้เปิดเผยความลับของบริษัท ผู้เขียนบอกว่าความลับของบริษัทที่หลุดออกไป ส่วนใหญ่หลุดมาจากคนในปล่อยข้อมูล มากกว่าโดนคนนอกมาขโมยข้อมูล ถ้าคุณเป็นเจ้าของบริษัท ต้องนำหลักการ MICE มาพิจารณาตรวจสอบว่ามีพนักงานของตัวเองคนไหนที่ถูกบริษัทคู่แข่งกุมจุดอ่อนเอาไว้หรือไม่


3. ทักษะการจำและดึงข้อมูลออกมาใช้

แม้ทุกวันนี้เราจะจดบันทึกกันลืมเก็บไว้ในสมาร์ตโฟนได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการจำจะไม่จำเป็นอีกต่อไป การจำทำให้เราคิดและสนทนาได้อย่างลื่นไหล ทักษะในการเรียกความจำที่เป็นประโยชน์ออกมาใช้ได้ทันท่วงทีจะสร้างความแตกต่างที่ยิ่งใหญ่แก่การทำงานและธุรกิจของคุณได้

สายลับจำเป็นต้องมีเทคนิคการจำติดตัวไว้ เพราะตอนออกปฏิบัติภารกิจ หากถูกค้นตัวหรือค้นในมือถือแล้วเจอโน้ตที่จดเอาไว้ก็อาจเกิดเรื่องใหญ่ขึ้นมาได้ มาดูกันครับว่าในหนังสือได้บอกเทคนิคการจำแบบไหนบ้าง

เทคนิคการจำ 3 แบบที่ KGB ใช้ ได้แก่

  1. สร้างความเชื่อมโยง
  2. จินตนาการข้อมูลให้เป็นภาพ
  3. ใส่อารมณ์

การจำแบบสร้างความเชื่อมโยง คือการนำสิ่งที่เราต้องการจะจำไปเชื่อมโยงกับสิ่งที่เรารู้อยู่แล้ว แบบนี้จะทำให้จำและเรียกออกมาใช้ได้ง่ายขึ้น ผู้เขียนยกตัวอย่างของตัวเองที่นำวิธีนี้ไปใช้ว่า สมัยเรียกเขาจำคำว่า lamentable ที่แปลว่าน่าเศร้าใจ โดยการเอาคำนี้ไปเชื่อมโยงกับราเม็งเพราะเสียงคล้ายกัน และนึกภาพตัวเองใส่เกลือและพริกไทยลงไปในราเม็งเยอะจนกินไม่ได้ เลยรู้สึกน่าเศร้าใจ

การจินตนาการข้อมูลให้เป็นภาพ คือการเปลี่ยนข้อมูลในสมองให้อยู่ในรูปแบบของภาพแล้วจำแทน เพราะมนุษย์มักจำรูปภาพได้ดีกว่าเนื้อหา ถ้าให้นึกดูว่าคุณซื้ออะไรมาจากซุปเปอร์มาร์เก็ตบ้าง หากให้บอกออกมาเป็นคำ ๆ อาจนึกออกมาได้ยาก แต่ถ้าลองนึกภาพตอนที่คุณหยิบสินค้าลงตะกร้า ความจำจะผุดออกมาได้ง่ายกว่า หากฝึกจินตนาการข้อมูลให้เป็นภาพจนเป็นนิสัย ทักษะความจำของคุณจะดีขึ้นแบบก้าวกระโดดเลยทีเดียวครับ

การใส่อารมณ์ คือการใส่อารมณ์ร่วมเข้าไปในข้อมูลเพื่อให้จำได้ดีขึ้น สมองมนุษย์จำสิ่งที่มาพร้อมกับอารมณ์ความรู้สึกที่รุนแรงได้แม่น เราเลยจำเรื่องที่สนุก, ตื่นเต้น หรือสะเทือนใจได้ไม่ลืม คุณจึงควรพยายามใส่อารมณ์ลงไปในข้อมูลที่ต้องการจะจำด้วย

เทคนิคการจำชื่อและหน้าคน

หากนึกชื่อนักแสดงไม่ออกคงไม่เป็นปัญหาอะไร แต่ถ้านึกชื่อเพื่อนร่วมงานไม่ออก คงไม่ใช่เรื่องดีสำหรับคนทำงานแน่นอน ผู้เขียนได้เทคนิคการจำชื่อและหน้าคนมาจากสมัยเรียนอยู่โรงเรียนเตรียมฯ โดยเทคนิคนี้ให้มองหาจุดเด่นแล้วสร้างเรื่องราวที่เชื่อมโยงจุดเด่นนั้นและชื่อของอีกฝ่ายเข้าด้วยกัน เช่น คุณได้พบกับคน ๆ หนึ่งที่มีรูปหน้ายาวจนชวนให้นึกถึงม้า ก็ให้นึกถึงภาพครูฝึกม้าแล้วจำพร้อมกับชื่ออีกฝ่ายว่า “คุณแบงค์ที่เป็นครูฝึกม้า”

หรือหากอีกฝ่ายมีชื่อคล้ายกับคนดัง ก็ให้คุณนึกภาพว่าอีกฝ่ายยืนคู่กับคนดังคนนั้น เช่น คุณเจอคนที่ชื่อเบิร์ด ก็ให้นึกภาพอีกฝ่ายยืนคู่กับพี่เบิร์ด ธงชัย แบบนี้จะทำให้นึกชื่ออีกฝ่ายได้ง่ายขึ้น


4. ทักษะการวิเคราะห์ข้อมูล

ข้อมูลที่รวบรวมมาได้ หากไม่มีการนำไปวิเคราะห์, ประมวลผล หรือตีความ ก็ถือว่าข้อมูลนั้นไม่มีความหมาย ผลลัพธ์ที่ได้จากการวิเคราะห์ข้อมูล คือสิ่งที่ช่วยให้ตัดสินใจและลงมือทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในหนังสือได้แนะนำเฟรมเวิร์กพื้นฐานสำหรับการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่

3C

เฟรมเวิร์กที่มีประโยชน์อย่างยิ่งที่คนทำงานควรรู้จักเป็นอันดับแรก ซึ่ง 3C นั้นประกอบไปด้วย

  • Customer
  • Competitor
  • Company

Customer คือตลาดและลูกค้า หมายถึงขนาดและการเติบโตของความต้องการในตลาด, ความต้องการของลูกค้า, กลุ่มผู้ซื้อคือใคร

Competitor คือคู่แข่ง รู้จำนวนคู่แข่งและส่วนแบ่งการตลาดของแต่ละราย ศึกษากลยุทธ์, โครงสร้างองค์กร, ทรัพยากรและความสามารถของคู่แข่ง

Company คือบริษัทของตัวเอง รู้ทรัพยากรและความสามารถที่บริษัทตัวเองมี รู้จุดแข็งจุดอ่อนของตัวเอง

เฟรมเวิร์กนี้ช่วยในการสร้างกลยุทธ์ที่จะทำให้ตัวเองหรือบริษัทประสบความสำเร็จ โดย 3C จะวิเคราะห์ทั้งสภาพแวดล้อมภายนอก ซึ่งคือตลาด, ลูกค้าและคู่แข่ง วิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายใน ซึ่งคือบริษัทตัวเอง เฟรมเวิร์กนี้จะช่วยให้คุณเข้าใจสถานการณ์ตลาด ความต้องการของลูกค้า รู้ว่าคู่แข่งมีบทบาทยังไงในตลาด และจะสนองความต้องการของลูกค้าได้ยังไง

4P

เฟรมเวิร์กสำหรับคิดแผนงานหรือวางแผนขายสินค้าและบริการ โดย 4P ประกอบด้วย

  • Product
  • Price
  • Place
  • Promotion

Product คือสินค้าหรือบริการที่ต้องการขาย

Price คือราคา ว่าจะขายสินค้านั้นที่ราคาเท่าไหร่

Place คือการกระจายสินค้า ว่าจะส่งมอบสินค้าให้ลูกค้ายังไง จะวางขายที่ไหน วิธีขายเป็นยังไง

Promotion คือการส่งเสริมการขาย ว่าจะสื่อสารจุดแข็งของสินค้าให้ลูกค้ารู้ได้ยังไง

เฟรมเวิร์ก 4P ช่วยให้คุณสามารถวิเคราะห์ปัจจัยเหล่านี้ในสินค้าหรือบริการของบริษัทได้ง่ายขึ้น คุณจะรู้ว่าจุดแข็งของตัวเองอยู่ตรงไหน จึงสามารถนำมาช่วยตัดสินใจในการดำเนินงานและส่งเสริมการขายได้ครับ

PEST

เฟรมเวิร์กสุดท้ายที่ผู้เขียนนำมาแนะนำ โดยเป็นเฟรมเวิร์กที่ช่วยในการวิเคราะห์แนวโน้มและการเปลี่ยนแปลงของสังคม ทำให้คาดการณ์ได้ว่าจะมีผลกระทบต่อเรายังไงบ้าง โดย PEST ประกอบไปด้วย

  • P – Politics ปัจจัยทางการเมือง
  • E – Economy ปัจจัยทางเศรษฐกิจ
  • S – Society ปัจจัยทางสังคม
  • T – Technology ปัจจัยทางเทคโนโลยี

เมื่อรู้ปัจจัยภายนอกที่ไม่อาจควบคุมได้ เราจะสามารถคิดหรือปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ได้ เฟรมเวิร์กนี้จะช่วยให้คุณรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมและธุรกิจได้ครับ


5. ทักษะที่ช่วยให้คิดและลงมือทำได้อย่างยืดหยุ่น

สายลับต้องปฏิบัติภารกิจภายใต้สถานการณ์ที่กดดัน จึงต้องควบคุมตัวเองให้มีความสงบสุขุมอยู่เสมอ เพราะหากไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้อย่างเยือกเย็น ก็ไม่สามารถปฏิบัติภารกิจให้สำเร็จลุล่วงได้ นี่เป็นสิ่งที่คนทำงานควรเรียนรู้ไว้ด้วยเช่นกัน

เพื่อให้ตัวเองรอดพ้นจากอันตราย สายลับต้องประเมินสถานการณ์และความเสี่ยงของแต่ละวันให้ถูกต้อง จากนั้นตัดสินใจว่าจะรับมืออย่างไร แล้วลงมือทำอย่างรวดเร็ว ผู้เขียนบอกว่าสมัยที่เขาไปประจำการที่ประเทศบังกลาเทศ สถานการณ์ในตอนนั้นถือว่ายังไม่สงบ แต่เขาก็สามารถอยู่รอดปลอดภัยมาได้ตลอดระยะเวลา 3 ปี โดยไม่เคยเกิดอะไรขึ้นเลย นั่นเป็นเพราะเขาสามารถหลบหลีกความเสี่ยงได้ ตั้งแต่ก่อนที่มันจะกลายเป็นสถานการณ์อันตรายนั่นเอง

สิ่งนี้สามารถปรับใช้ในการทำงานได้ด้วยเช่นกัน ก่อนจะลงมือทำอะไรก็ตาม คนทำงานควรประเมินสถานการณ์ คำนึงถึงความเสี่ยงและเหตุไม่คาดฝันที่อาจเกิดขึ้น และวางแผนหลบหลีกเอาไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ

เพื่อน ๆ คงเคยได้ยินคำว่า “การจัดการภาวะวิกฤติ” หรือ Crisis Management คำนี้สามารถสื่อได้ถึงการจัดการสองประเภทคือ การจัดการกับเหตุร้ายและการจัดการกับความเสี่ยง

การจัดการกับเหตุร้ายคือ การสร้างมาตรการรับมือเมื่อเกิดวิกฤตขึ้นมาแล้ว ส่วนการบริหารความเสี่ยงจะเป็นการลดต้นเหตุของความเสี่ยง เพื่อไม่ให้เกิดเหตุร้ายหรือวิกฤติขึ้นตั้งแต่แรก สำหรับคนทำงานทั่วไปจึงควรให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยง

ผู้เขียนบอกว่าหากเลือกทักษะติดตัวได้เพียงแค่ทักษะเดียว ทักษะนั้นจะเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจาก “ทักษะการประเมินสถานการณ์” ซึ่งหมายถึงการระแวดระวังและใส่ใจกับสิ่งรอบข้างอยู่เสมอ สำหรับสายลับ เมื่อต้องปฏิบัติภารกิจที่อันตราย พวกเขาจะต้องมีความตระหนักในความสามารถของตัวเอง, ศักยภาพของศัตรู รวมถึงสภาพแวดล้อมรอบข้าง เพื่อให้สามารถประเมินได้ว่าอีกฝ่ายจะเคลื่อนไหวในรูปแบบไหน และหากสัมผัสได้ว่ามีความเสี่ยงสูงเกินไป สายลับก็จะถอนตัว

ทักษะการประเมินสถานการณ์มีความสำคัญอย่างยิ่งเวลาที่สายลับต้องหลบหลีกภาวะวิกฤติ คนทำงานเองก็เช่นกัน ต้องรู้จักประเมินว่าสถานการณ์ไหนควรจะถอนตัว เพราะหากถอนตัวผิดจังหวะก็อาจจะเกิดความเสียหายได้

นอกจากต้องประเมินสถานการณ์เป็นแล้ว สายลับต้องมองคนให้ออก เกณฑ์ในการตัดสินคนที่สำคัญที่สุดคือมีความซื่อสัตย์และจริงใจ ต่อให้เป้าหมายมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ หรืออยู่ในสถานะที่สำคัญ แต่ถ้าพบว่าเป็นคนที่ไม่ซื่อสัตย์หรือไม่จริงใจสายลับจะตัดความสัมพันธ์ด้วยทันที

ในโลกของการทำงานก็ไม่ต่างกัน หากพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจหรือลูกค้าเป็นคนไม่ซื่อสัตย์ ก็ควรหลีกเลี่ยงไม่เข้าไปเกี่ยวข้องเกินจำเป็น เพราะหากต้องกลุ้มใจกับปัญหาเรื่องความสัมพันธ์กับคนอื่น ไม่ว่าใครก็คงทำงานได้ไม่ราบรื่นแน่ ๆ


คนเรามีแนวโน้มจะประเมินสถานการณ์ด้วยอารมณ์ความรู้สึก เมื่อถูกอารมณ์ความรู้สึกครอบงำ เราจะไม่สามารถตัดสินใจอย่างสุขุมเยือกเย็นหรือมีเหตุผลได้ พฤติกรรมนี้มีชื่อเรียกว่า “อคติทางความคิด” หรือ Cognitive Bias

แม้บางครั้งอคติเหล่านี้อาจเป็นสัญชาตญาณที่ช่วยให้เรารอดพ้นจากความเสี่ยงได้ แต่ก็อาจนำไปสู่ความล้มเหลวที่ไม่คาดคิดได้เช่นกัน ดังนั้นจึงต้องระวังเอาไว้ให้ดี ตัวอย่างอคติที่มักพบเห็น เช่น

เวลาที่เห็นขอทานแล้วสงสารจนให้เงิน นั่นแสดงว่าคุณทำไปด้วย “อคติทางอารมณ์” หรือ Emotional Bias

ถ้าเห็นสินค้าที่มีขนาดเล็ก,กลาง, ใหญ่ แล้วคุณเลือกขนาดกลาง แสดงว่าคุณติดกับดัก “ปรากฏการณ์ตัวล่อ” หรือ Decoy Effect

ถ้าคุณปิดหูปิดตาต่อสิ่งผิดปกติที่กำลังเกิดขึ้น นั่นเรียกว่า “อคติเชื่อว่าปกติ” หรือ Normalcy Bias

ถ้าใครให้ของขวัญหรือช่วยงานคุณเล็ก ๆ น้อย ๆ และคุณรู้สึกว่าต้องตอบแทน นั่นแสดงว่าคุณตกอยู่ภายใต้ “อิทธิพลของบรรทัดฐานต่างตอบแทน” หรือ Norm of Reciprocity

หากคุณตระหนักถึงอคติต่าง ๆ ที่อาจส่งผลต่อความรู้สึกนึกคิดของตัวเอง คุณก็จะรักษาความสงบเยือกเย็นเอาไว้ได้ในแทบทุกสถานการณ์

คนทั่วไปน่าจะเคยมีประสบการณ์โมโหหรือรู้สึกแย่จนควบคุมอารมณ์ไม่อยู่ แต่สายลับกลับสามารถเยือกเย็นได้แม้ในภาวะที่หมิ่นเหม่ต่อความตาย สายลับทำยังไงถึงสามารถสงบสติอารมณ์ได้ขนาดนั้น

นั่นเป็นเพราะสายลับมาทำงานนี้ด้วยความรู้สึกที่รักชาติหรือทำเพื่ออุดมการของตัวเอง พวกเขาจึงไม่หวั่นไหวกับเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ และมีความกล้าที่จะเผชิญหน้ากับความยากลำบาก เรื่องนี้ใช้ได้กับคนทำงานด้วยเช่นกัน ถ้ามีวิสัยทัศน์และเป้าหมายให้ยึดมั่น คุณจะอดทนกับสถานการณ์ที่ยากลำบากได้ดีกว่าเวลาที่ไม่รู้ว่าจะอดทนทำไปเพื่ออะไร หากคุณรู้สึกว่างเปล่า ลองหาเป้าหมายในการทำงานให้ตัวเองดูครับ

ทั้งหมดนี้คือหลักของสายลับทั้ง 5 ข้อ จากในหนังสือ “ทักษะอันตรายของสายลับที่จะทำให้คุณฉลาดขึ้น” เขียนโดย อุเอดะ อัตสึโมริ ใครสนใจอยากรู้เนื้อหาเพิ่มเติมสามารถหามาอ่านกันได้ครับ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์วีเลิร์น ราคา 240 บาท

สนใจหนังสือ ทักษะอันตรายของสายลับ ที่จะช่วยให้คุณฉลาดขึ้น
สามารถสั่งซื้อได้ที่ Shopee: https://s.shopee.co.th/50DhTXIOtx
ซื้อผ่านลิงค์เป็นการสนับสนุนช่องครับ

Share

Leave a comment

Leave a Reply

What's New

สรุปเนื้อหาและแนะนำหนังสือที่น่าสนใจ ชวนเพื่อน ๆ มาพัฒนาตัวเองให้ดียิ่งขึ้นในทุก ๆ วันไปด้วยกันครับ

Copyright 2025 Aitim and Co. All rights reserved

error: Content is protected !!