The Art of War ข้อคิดพิชิตศึก ยุทธศาสตร์สู่ชัยชนะแบบซุนวู

Share
Share

ไอติมอ่าน ep นี้จะมาสรุปข้อคิดจากหนังสือ The Art of War ซึ่งเป็นตำรายุทธศาสตร์ทางทหารเล่มแรกของโลก เขียนโดน ซุนวู นักการทหารและนักปกครองผู้เชี่ยวชาญ ซุนวูมีชีวิตอยู่ในสมัยชุนชิว หรือประมาณ 400 ปีก่อนคริสตกาล แม้ในหนังสือ The Art of War จะพูดถึงการทำสงคราม แต่ปัจจุบันยุทธศาสตร์ที่เขียนไว้ในหนังสือถูกนำมาประยุกต์ใช้อย่างกว้างขวางในวงการธุรกิจและการเมือง มาฟังสรุปข้อคิดที่คุณอาจนำไปใช้กับชีวิตได้กันครับ


1. รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง

ประโยคนี้คือประโยคคลาสสิกที่ทุกคนน่าจะเคยได้ยินกันมาบ้าง ประโยคนี้สะท้อนถึงการวางแผน การคำนวนปัจจัยต่าง ๆ และเปรียบเทียบหลาย ๆ ด้านของทั้งฝ่ายศัตรูและฝ่ายของเรา นักวางกลยุทธที่เก่งจะเข้าสู้ในสงครามที่รู้ว่าฝ่ายตนเองจะชนะแน่นอน กลับกันนักกลยุทธที่ไม่ค่อยเก่งจะลุยก่อนแล้วค่อยมาคิดทีหลังว่าต้องทำยังไงถึงจะชนะ

นักรบที่เก่งจะไม่สู้ในการรบที่รู้ว่าว่าตนเองอาจจะแพ้ คุณต้องรู้ว่าเมื่อไหร่ควรสู้ เมื่อไหร่ไม่ควรสู้ ต้องรู้วิธีการต่อสู้กับทั้งกองกำลังที่อ่อนแอกว่า และกองกำลังแข็งแกร่งกว่า ต้องสู้ในตอนที่กองกำลังของตัวเองพร้อม ในขณะที่กองกำลังของศัตรูไม่พร้อม โจมตีตอนที่ได้เปรียบ อย่าโจมตีในตอนที่ศัตรูแข็งแกร่ง มีกำลังใจเข้มแข็ง หรือศัตรูอยู่ในภูมิศาสตร์ที่ได้เปรียบ

อย่าบุกโจมตีเพราะถูกศัตรูยั่วยุให้โกรธ ทุกครั้งที่ทำการโจมตีคุณจะต้องได้บางอย่างกลับมา ความโกรธแค้นปล่อยไว้ให้ใจเย็นเดี๋ยวก็หาย แต่หากเสียดินแดน เสียประเทศ หรือผู้คนล้มตายเพราะไฟโกรธ คุณจะไม่ได้อะไรเลย

เช่นเดียวกับการทำธุรกิจ หากอยากชนะคู่แข่ง คุณต้องรู้จักคู่แข่งของคุณให้ดี ต้องศึกษาว่าคู่แข่งเป็นใคร ใช้กลยุทธ์อะไร เมื่อได้ศึกษาแล้วคุณก็จะรู้ว่าจุดอ่อนของคู่แข่งคืออะไร คุณสามารถนำจุดอ่อนนั้นไปพัฒนาเป็นจุดแข็งของธุรกิจคุณได้


2. การใช้กลอุบายและเล่ห์เหลี่ยม ช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการทำสงครามได้

ซุนวูกล่าวเอาไว้ว่าการดูแลกองกำลังที่มีทหารมากถึง 100,000 นาย อาจมีค่าใช้จ่ายถึง 1,000 ตำลึงต่อวัน สำหรับในการจัดหาทรัพยากรต่าง ๆ ทั้ง อาหาร รถม้า หอก ธนู ชุดเกราะ เป็นต้น ยิ่งสงครามยืดเยื้อเท่าไหร่ ก็ยิ่งใช้ทรัพยากรเยอะขึ้นเท่านั้น อาจทำให้เงินในคลังของรัฐหมดลงได้ กลายเป็นประเทศที่สถานะทางการเงินอ่อนแอ ดังนั้นจงพยายามทำให้สงครามจบเร็วที่สุดเท่าที่จะได้

พยายามหลีกเลี่ยงการโจมตีเมืองที่มีป้อมปราการหนาแน่น เพราะมักต้องใช้เวลาเตรียมการนาน และหากนายพลไม่มีความอดทน อาจจะพากองพลของตัวเองไปตายอย่างไม่มีเหตุผล

วิธีที่ดีที่สุดในการทำสงครามอย่างประหยัดคือการยึดประเทศ ยึดเมือง หรือยึดกองกำลังของศัตรู ดีกว่าทำลายให้สิ้นซาก การจะบรรลุเป้าหมายนี้ได้ คุณต้องมีกองกำลังที่ใหญ่กว่าของศัตรูมาก

อีกวิธีในการประหยัดทรัพยากรของประเทศคือ ปล้นทรัพยากรทั้งเสบียงและอาวุธของศัตรูในพื้นที่สงคราม แล้วเอามาเสริมความแข็งแกร่งให้กองทัพของตัวเอง วิธีนี้ช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการขนเสบียงและอาวุธจากบ้านมาส่งที่สนามรบ แถมไม่ต้องรบกวนชาวบ้านตาดำ ๆ มาทำงานให้กองทัพอีกด้วย

ข้อมูลสำคัญบางอย่างอาจพลิกสงครามได้ การใช้สายลับเข้าไปขโมยความลับ หรือนำความเท็จไปส่งให้ศัตรูเข้าใจผิด อาจทำให้สงครามจบได้ โดยมีการรบกันเพียงแค่ครั้งเดียวก็ตัดสินแพ้ชนะแบบไม่ยืดเยื้อ

เช่นเดียวกับการทำธุรกิจ หากคุณพบวิธีในการเพิ่มกำไรหรือลดต้นทุนลงโดยไม่ต้องเสียอะไรเลย ให้ลงมือทำทันที อย่าช้า เพราะโอกาสมาถึงมือคุณแล้ว


3. หมั่นหลอกศัตรู บงการวิธีการเดินเกมของศัตรูให้ได้

คุณต้องหลอกให้ศัตรูคิดว่ากองทัพของคุณอ่อนแอ ในตอนที่กองทัพของคุณแข็งแกร่ง หลอกให้ศัตรูคิดว่ากองทัพของคุณขี้ขลาด ในตอนที่กองทัพของคุณกำลังหึกเหิม หลอกให้ศัตรูคิดว่ากองทัพของคุณไร้ระเบียบ ทั้งที่ทหารมีวินัยยอดเยี่ยม หากกำลังเข้าใกล้ศัตรู จงหลอกให้ศัตรูเข้าใจว่าคุณยังอยู่อีกไกล

ปั่นหัวศัตรูให้เหมือนกับแมวกำลังเล่นไล่จับหนู หากศัตรูกำลังมีอารมณ์โกรธ จงยั่วยุให้โกรธยิ่งขึ้นไปอีก หากศัตรูกำลังอารมณ์สงบ จงกวนใจเขาให้ว้าวุ่นเล่น หากศัตรูกำลังตั้งฐานที่มั่นได้ จงทำให้เขาต้องเคลื่อนทัพ หากอยากให้ศัตรูเคลื่อนทัพ จงสร้างความเสียหายแก่เขา

โจมตีศัตรูในจุดที่เขาอ่อนแอที่สุด แล้วศัตรูจะต้องเป็นฝ่ายตั้งรับ จงบีบบังคับให้ศัตรูออกมาจากที่ซ่อน ทำให้ศัตรูต้องเดาอยู่เสมอว่าคุณจะโจมตีจุดไหน บีบบังคับให้ศัตรูต้องแบ่งกองกำลังออกเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ให้มีความเสียเปรียบด้านจำนวนพล

เช่นเดียวกับการทำธุรกิจ ไม่ใช่คุณฝ่ายเดียวที่จะศึกษาคู่แข่งได้เท่านั้น ฝ่ายคู่แข่งก็สามารถศึกษาคุณได้เหมือนกัน ดังนั้นเพื่อก้าวนำคู่แข่งให้ได้ก้าวหนึ่งเสมอ จงหลอกคู่แข่งให้ตายใจ หรือชะล่าใจให้ได้


4. สังเกตสภาพแวดล้อมแล้วปรับตัว

แม่ทัพที่ดีรู้ว่ามีจุดยุทธศาสตร์บางแห่งที่ไม่สามารถป้องกันได้ ต้องปล่อยเลยตามเลยให้มันแตกไป เหมือนสายน้ำที่ไหลตามลักษณะของพื้นดิน คุณต้องปรับตัวตามสถานการณ์ ตามสภาพแวดล้อม และตามเกมศัตรูให้เป็น

ซุนวูแนะนำให้สังเกตภูมิศาสตร์สภาพแวดล้อม หาจุดที่ได้เปรียบทางธรรมชาติ และเลี่ยงเข้าไปอยู่ในจุดที่เสียเปรียบ อย่าต่อสู้ในเส้นทางที่ต้องสูงที่ขึ้น ห้ามสวนกระแสน้ำ ห้ามอยู่ห่างจากแหล่งน้ำ หรือจุดที่สามารถตั้งค่ายได้ หลีกเลี่ยงบริเวณรบที่มีผาชัน เข้าไปอยู่ในที่แคบที่กองพลขนาดเล็กสามารถแอบซุ่ม เพื่อทำลายกองทัพขนาดใหญ่ของศัตรู

นอกจากสังเกตสภาพแวดล้อมแล้ว คุณต้องสังเกตท่าทีทหารของศัตรูด้วย เวลาที่ทหารยืนพิงหอกของตนเอง แสดงว่าพวกเขากำลังเหนื่อยจากการอดอาหาร หากเห็นทหารกำลังดื่มน้ำที่พวกเขาถูกสั่งให้ตักกลับไปที่ค่าย แสดงว่ากองทัพศัตรูกำลังขาดน้ำ เป็นโอกาสดีที่จะโจมตีตอนที่ทหารของฝ่ายศัตรูกำลังอ่อนแอ หรือหากทหารเลิกแขวนหม้อข้าวไว้เหนือกองไฟ และทำตัวเหมือนว่าจะไม่กลับมาที่ค่ายแล้ว แสดงว่าพวกเขาพร้อมสู้จนตายไปข้าง

จงปรับยุทธวิธีให้ตรงกับสถานการณ์ จงรู้จักใช้โอกาสให้เป็น

เช่นเดียวกับธุรกิจ แม้คุณจะทำตามแผนธุรกิจหรือกลยุทธ์ที่ได้วางเอาไว้ บางครั้งผลลัพธ์ก็ไม่ได้ออกมาตามที่วางไว้เสมอไป คุณต้องคิดและแก้ไขแผนนั้นอยู่เสมอ ไม่ยึดติดกับความสำเร็จเดิม ๆ


5. จะทำสงครามให้สำเร็จต้องจัดการกองทัพให้เข้มงวด

ขนาดของกองทัพไม่ใช่ปัญหาในการจัดการ การจัดการกองทัพที่มหึมา ไม่ต่างจากการจัดการกองทัพเล็ก ๆ เท่าไหร่นัก คุณเพียงจัดการการออกคำสั่งเป็นทอด ๆ ให้เป็นกลุ่มที่เล็กลง ๆ แล้วใช้สัญญาณต่าง ๆ เช่น ฆ้อง กลอง ธง หรือสัญญาณไฟในการสั่งการ

พวกทหารจะเคลื่อนพลเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทหารที่ขี้ขลาดจะไม่กล้าถอย ทหารที่กล้าหาญจะไม่ถูกทิ้งให้รบคนเดียว แม่ทัพที่เก่งสามารถนำทหารทั้งกองทัพได้ง่ายเหมือนกับการเดินจูงมือคน ๆ เดียว

วินัยที่เข้มงวดมักการันตีชัยชนะ หากอยากให้ทหารในกองทัพของคุณมีวินัย ต้องทำให้พวกเขาเคารพรักและเทิดทูนคุณ ฉะนั้นคุณต้องดูแลเหล่าทหารเหมือนเป็นลูก แต่ให้กวดขันวินัยอย่างหนัก ลงโทษหากจำเป็นและสมควร

ในฐานะแม่ทัพ คุณต้องทำตัวลึกลับพอสมควร อย่าบอกทุกอย่างกับทหารของคุณ จงเปลี่ยนแผนบ่อย ๆ เพื่อให้ทั้งทหารของคุณและทหารของศัตรูต้องเดาทางของคุณอยู่เสมอ หากสถานการณ์กำลังไปได้ดี จงบอกทหารของคุณให้มีกำลังใจ แต่หากสถานการณ์กำลังแย่ ให้เก็บไว้ในใจก่อน

ยิ่งคุณบุกเข้าไปในแดนศัตรูได้ลึกเท่าไหร่ ทหารของคุณจะยิ่งรู้สึกเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันมากขึ้น

หากอยากให้ทหารฮึดสู้จนตัวตาย จงนำพาทหารของคุณไปเจอสถานการณ์คับขันที่พวกเขาหนีไม่ได้ แล้วพวกเขาจะทิ้งความกลัว และสู้ด้วยความแข็งแกร่งที่คุณไม่เคยเห็นมาก่อน

เช่นเดียวกับการทำธุรกิจ นอกจากต้องบริหารตัวธุรกิจแล้ว การบริหารทรัพยากรบุคคลก็สำคัญไม่แพ้กัน ไม่มีใครอยากโดนเอาเปรียบ หากคุณรีดคั้นพนักงานมากจนเกินไป โดยหวังว่าต้องได้ผลลัพธ์หรือผลกำไรที่มากขึ้น แต่ไม่ยอมตอบแทนอะไรพนักงานเลย อย่างนี้ไม่มีใครยอมอยู่ทำงานให้คุณนาน ๆ แน่ อัตรา turn over ของบริษัทคุณจะสูงลิ่ว

ไม่มีใครกลัวการทำงานจนเหนื่อย หากความเหนื่อยนั้นได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่า ทุกคนยอมเหนื่อยเพื่อแลกกับมัน หากคุณอยากให้พนักงานทำงานให้คุณอย่างเต็มที่ คุณต้องตอบแทนพนักงานอย่างเต็มที่เช่นกัน


ทั้งหมดนี้คือข้อคิดบางส่วนจากหนังสือ The Art of War ตำรายุทธศาสตร์ทางทหารเล่มแรกของโลกที่มีอายุกว่า 2,000 ปี ที่ข้อคิดข้อเขียนหลาย ๆ ข้อยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับชีวิตคนในปัจจุบันได้อยู่ เหมาะสำหรับคนที่เป็นหัวหน้างานหรือเจ้าของธุรกิจที่ต้องดูแลคนทำงานจำนวนมาก

หนังสือเล่มนี้เป็นเล่มเล็ก ๆ แต่อ่านยากอยู่พอสมควร ต้นฉบับเป็นภาษาจีน แต่มีทั้งแปลไทยและอังกฤษ ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มากมายเพราะหนังสือเล่มนี้กลายเป็นสมบัติสาธารณะแล้ว ใครอยากประหยัดสามารถซื้อได้บน Amazon Kindle ผมซื้อมาในราคา $0.99 หรือประมาณ 36 บาทเท่านั้นเองครับ

สนใจหนังสือ ตำราพิชัยสงครามซุนวู
สามารถสั่งซื้อได้ที่ Shopee: https://s.shopee.co.th/6KnQY4YyoF
ซื้อผ่านลิงค์เป็นการสนับสนุนช่องครับ

Share

Leave a comment

Leave a Reply

What's New

สรุปเนื้อหาและแนะนำหนังสือที่น่าสนใจ ชวนเพื่อน ๆ มาพัฒนาตัวเองให้ดียิ่งขึ้นในทุก ๆ วันไปด้วยกันครับ

Copyright 2025 Aitim and Co. All rights reserved

error: Content is protected !!