เทคนิคกระตุ้นทีมจนสำเร็จ คู่มือแนะแนวการสอนงานสำหรับคนเป็นหัวหน้าทีม

Share
Share

บทที่ 1 – สิ่งที่ต้องคำนึงในการโค้ช เพื่อเพิ่มความเป็นผู้นำ

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจหน้าที่ของหัวหน้าก่อน “หัวหน้า” คือคนที่เชื่อมต่อวงจรการสื่อสารของสมาชิกในทีมเข้าด้วยกัน เพื่อความเป็นหนึ่งเดียวและทำงานให้บรรลุเป้าหมาย หัวหน้ามีหน้าที่ 5 ข้อ ดังนี้

  1. คอยสังเกตสมาชิกอยู่เสมอและสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำงานของสมาชิกในทีม
  2. ดึงศักยภาพของแต่ละคนออกมา
  3. มีเป้าหมายร่วมกับสมาชิกในทีม
  4. พัฒนาศักยภาพของแต่ละคน
  5. สร้างผลงาน

คุณสมบัติของหัวหน้าในอุดมคติ

  1. แจ่มใสและคิดแง่บวกอยู่เสมอ
  2. แม้เจอเรื่องลำบากก็ไม่หนี
  3. สมองซีกซ้าย (การใช้เหตุผล) และสมองซีกขวา (อารมณ์) สมดุลกัน
  4. ไม่เอาแต่พูดอย่างเดียว แต่ลงมือทำด้วย
  5. มีความทะเยอทะยานอยู่เสมอ

การโค้ชเป็นทักษะที่คนเป็นหัวหน้าควรมี ซึ่งการโค้ชคือ “การดึงศักยภาพของสมาชิกในทีมออกมาและช่วยสนับสนุนให้บรรลุเป้าหมาย” รู้วิธีดึงสิ่งที่มีอยู่ในตัวของอีกฝ่ายออกมา เช่น ทักษะ ความถนัดที่ซ่อนอยู่ ไฟในการทำงาน ไอเดีย รวมถึงการคิดและลงมือทำด้วยตัวเองได้

กฏ 5 ข้อของการโค้ช

1. เคารพเพื่อนมนุษย์

มนุษย์มีศักยภาพอันไร้ขีดจำกัดซ่อนอยู่ การโค้ชมีพื้นฐานจากการยอมรับความงดงามของความแตกต่างในมนุษย์แต่ละคนและพยายามเข้าใจ จึงจะทำให้สมาชิกดึงศักยภาพของตนเองออกมาใช้ได้

2. เชื่อใจกันและกัน

เป็นพื้นฐานของทีมเวิร์กและการโค้ช ความเชื่อใจจะเกิดขึ้นเมื่อคำพูดและการกระทำไปในทางเดียวกันอย่างสม่ำเสมอเป็นเวลานาน

3. พัฒนาเป็นรายบุคคล

ทุกคนมีลักษณะเฉพาะและนิสัยที่ต่างกันออกไป อย่ายึดติดกับการสอนแบบเดิมๆ ให้ค้นหาวิธีการโค้ชแบบใหม่ๆ ที่เหมาะสมกับการกระตุ้นพรสวรรค์หรือทักษะของอีกฝ่ายเสมอ

4. มีเป้าหมายร่วมกัน

อย่าเพียงยัดเยียดเป้าหมายให้ทีม แต่จงหาวิธีที่จะช่วยให้ทีมถึงเป้าหมายและให้สัญญาว่าจะช่วยเหลือ การทำเช่นนี้จะทำให้เกิดความร่วมมือซึ่งกันและกัน

5. กล่าวชมและกล่าวขอบคุณ

การโค้ชคือการชมให้อีกฝ่ายนำไปใช้และชมให้อีกฝ่ายพัฒนา สังเกตเสน่ห์ ข้อดี ข้อด้อย และพัฒนาการของอีกฝ่าย รวมถึงกล่าวขอบคุณในจังหวะที่เหมาะสม

การเป็นหัวหน้าไม่ได้เริ่มตอนที่ได้รับตำแหน่ง แต่เป็นตอนที่ทำหน้าที่ คนหนึ่งคนจะเป็นหัวหน้าได้ก็ต่อเมื่อออกคำสั่งได้อย่างถูกต้อง ให้กำลังใจสมาชิกในทีม และทำงานเป็นทีมได้

ยังมีคนเข้าใจผิดว่าตัวเองเป็นผู้จัดการสาขา ทุกคนสมควรจะฟังเขา แต่คนเราไม่ได้เชื่อฟังกันที่ตำแหน่ง การจะให้คนยอมทำตามนั้น ต้องให้อีกฝ่ายคิดและลงมือทำด้วยตัวเอง

สิ่งที่ต้องยึดถือในการโค้ชมีอยู่ 3 ข้อ ได้แก่

  • เชื่อมั่น
  • ยอมรับ
  • ไว้วางใจ

เริ่มต้นที่ข้อแรก เชื่อมั่น การจะสร้างความเชื่อมั่นซึ่งกันและกัน คำพูดและการกระทำต้องไปในทิศทางเดียวกัน รวมถึงต้องทำให้มากกว่าพูด ต้องยอมรับข้อดีและไว้วางใจให้อีกฝ่ายทำงาน

ข้อที่ 2 การยอมรับคือการมองเห็นและนับถือข้อดีของอีกฝ่าย ทุกคนล้วนมีข้อดีหรือเอกลักษณ์ของตัวเอง และทุกวันทุกคนต่างเรียนรู้และพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ หัวหน้าต้องไม่มองข้ามความก้าวหน้าเล็กๆ น้อยๆ นี้

ข้อที่ 3 ต้องไว้วางใจให้อีกฝ่ายทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งจะทำเช่นนี้ได้ หัวหน้าต้องมองให้ออก ตัดสินใจและติดตามผลการทำงาน เพื่อสังเกตถึงความเหมาะสมกับงานและจุดแข็งของสมาชิกแต่ละคน จากนั้นพิจารณาว่าจะให้อีกฝ่ายทำอะไร เมื่อไหร่ ทำถึงขนาดไหน และเมื่อหัวหน้ามอบหมายงานไปแล้ว ต้องหมั่นติดตามความคืบหน้าและให้กำลังใจด้วย

เลือกวิธีโค้ชที่เหมาะสมกับสมาชิกในทีมแต่ละคน

การสอนในโรงเรียน ครู 1 คนสอนนักเรียนทุกคนด้วยเนื้อหาเดียวกัน วิธีการเดียวกัน และระยะเวลาเท่ากัน แต่การโค้ชเป็นการสอนรายบุคคลโดยเปลี่ยนแปลงเนื้อหา วิธีการ และระยะเวลาให้เหมาะสมกับอีกฝ่าย

สิ่งสำคัญในการสอนรายบุคคลมี 3 ข้อ คือ

1. ดึงจุดแข็งของอีกฝ่ายออกมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ

เช่น คุณ A เป็นคนสดใสแต่ทำงานพลาดบ่อย วิธีโค้ชที่เหมาะสมคือ ชมที่เป็นคนสดใส และคอยตรวจสอบความถูกต้องระหว่างทำงาน

คุณ B มีความรู้มาก แต่ไม่กล้าลงมือทำ วิธีโค้ชที่เหมาะสมคือ ชมที่มีความรู้มาก คอยสนับสนุนให้อีกฝ่ายลงมือทำ โดยเริ่มจากก้าวเล็กๆ

2. ปรับวิธีและเนื้อหาการสอนให้เหมาะกับแต่ละคน

ทุกคนมีบุคลิกแตกต่างกัน ดังนั้นต้องเลือกการสอนที่เหมาะกับอีกฝ่าย

3. ปรับเปลี่ยนวิธีอยู่เสมอ

แน่นอนว่าเราไม่รู้วิธีที่เหมาะสมตั้งแต่แรก หากลองโค้ชแล้วไม่ราบรื่นให้ลองเปลี่ยนวิธี การลองผิดลองถูกจะทำให้การโค้ชมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น

หากสมาชิกในทีมทำได้ตามที่โค้ช ให้ลองตั้งเป้าหมายให้ยากขึ้นตามทักษะของผู้เรียนรู้ และกล่าวชมเมื่อสมาชิกทำสำเร็จ เพื่อช่วยเสริมสร้างความมั่นใจ


บทที่ 2 – ทักษะการโค้ช 7 ประการที่จะช่วยหัวหน้าทีม

1. สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการโค้ช

ในการโค้ชจำเป็นต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่อีกฝ่ายกล้าพูดสิ่งที่ตัวเองคิดออกมาได้ง่าย หากต้องพูดคุยเรื่องละเอียดอ่อน ควรใส่ใจไม่พูดต่อหน้าคนอื่น

ควรหลีกเลี่ยงการนั่งตรงข้ามกัน เพราะแสดงถึงการปะทะ เป็นตำแหน่งที่ไม่แสดงถึงความเป็นมิตรนัก ควรนั่งทำมุม 90 องศาหรือ 120 องศา จะช่วยให้พูดคุยกันและหาตำแหน่งวางสายตาได้ง่าย

2. ฟังเพื่อให้อีกฝ่ายพูดออกมาได้ง่าย

การฟังในการโค้ชเป็นการฟังโดยให้ความสำคัญ ใส่ใจและยอมรับความรู้สึกของอีกฝ่าย เรียกว่า active listening หรือการรับฟังอย่างกระฉับกระเฉง

สิ่งสำคัญในการฟังอย่างมีประสิทธิภาพคือ การตอบรับ พยักหน้า และพูดทวน คำตอบรับส่วนใหญ่มักเป็นคำสั้นๆ เช่น อืม อ๋อ โห

การพยักหน้าขึ้นลงตาจังหวะการพูดของอีกฝ่าย ช่วยให้ฝ่ายนั้นรู้สึกว่าได้รับการยอมรับ จึงพูดคุยได้ง่ายขึ้น การพูดทวนเป็นสัญญาณที่บอกว่าเรากำลังตั้งใจฟังเรื่องของเขาอยู่

3. พลิกแพลงวิธีถามเพื่อดึงคำตอบออกมา

ทักษะการถามสำคัญมากในการโค้ช หากตั้งคำถามได้อย่างเหมาะสม จะช่วยดึงสิ่งที่อยู่ในตัวสมาชิกในทีมออกมาได้ เช่น ข้อมูล ไอเดีย วิธีแก้ปัญหา ไฟในการทำงาน

หัวหน้าต้องระวังวิธีตั้งคำถามด้วย การถามว่า ทำไมทำงานพลาด หรือ ทำไมยอดขายไม่ถึงเป้า แม้จะดูเป็นประโยคคำถาม แต่เมื่อพูดออกมาแล้วอาจเป็นการกล่าวโทษและคาดคั้นอีกฝ่ายได้

หนังสือเล่มนี้แนะนำวิธีการถามไว้ 2 ประเภท คือคำถาม Yes/No และคำถามปลายเปิด

คำถาม Yes/No เหมาะสำหรับสถานการณ์ที่ต้องการตรวจสอบความเข้าใจของเรื่องที่เกิดขึ้น เช่น “ทำงานเสร็จหรือยัง?” “ตอนนี้ว่างไหม?” “งานนี้ฝากคุณทำได้ใช่ไหม?” เป็นคำถามที่อีกฝ่ายจะตอบมาว่า ใช่ หรือ ไม่ใช่

คำถามปลายเปิด เป็นคำถามที่อีกฝ่ายตอบได้อย่างอิสระ เหมาะสำหรับใช้เมื่อต้องการรู้สถานการณ์ เช่น “ลูกค้าว่ายังไงบ้าง?” “อยากลองทำงานแบบไหนที่สุด?”

4. ค้นหาข้อดีของอีกฝ่ายแล้วกล่าวชม

เมื่อได้รับคำชม คนนเรามักดีใจ มีกำลังใจ มีแรงกระตุ้นในการทำงาน การชมคือการพูดข้อดีของอีกฝ่ายตามความจริงที่เห็น ต่างจากการยกยอที่กล่าวชมอีกฝ่ายในสิ่งที่ไม่ได้เป็นความจริง

มีกฏ 3 ข้อเพื่อการชมอย่างมีประสิทธิภาพ

4.1 ชมอย่างละเอียดและชัดเจน

ชมในข้อดีเล็กๆ น้อยๆ เช่น “วิธีคุยโทรศัพท์เมื่อครู่ฟังดูสดใสมากเลย” สมาชิกที่ได้รับคำชมจะคิดว่าหัวหน้าคนนี้คอยเฝ้ามองดูตนเองอย่างละเอียด

4.2 ชมในจังหวะเวลาที่ดี

อย่าทิ้งช่วงมากไป เช่น ชมว่าการประชุมสัปดาห์ที่แล้วทำได้ดีมากเลย เพราะจะทำให้ผู้ฟังรู้สึกว่าเป็นเรื่องไกลตัว จึงควรชมทันทีโดยไม่ปล่อยให้เวลาผ่านไป

4.3 กล่าวชมจากใจ

น้ำเสียงและสีหน้าก็เป็นสิ่งสำคัญ เวลาชมควรสบตาอีกฝ่ายและใช้น้ำเสียงที่สื่อความรู้สึกของเรา

5. อย่าโกรธ แต่จงดุ

การดุคือการชี้ให้เห็นถึงสิ่งที่ควรจะเป็น การดุอย่างเดียวอาจทำให้อีกฝ่ายหมดกำลังใจ ดังนั้นควรคุมสมดุลระหว่างการชมและการดุให้ดี

6. ดึงไฟในการทำงานของอีกฝ่ายด้วยการให้กำลังใจอย่างมีประสิทธิภาพ

ไม่ว่าใครก็มีช่วงที่ทำงานไม่ราบรื่น เจอเรื่องกลุ้มใจ หมดกำลังใจ การให้กำลังใจเป็นสิ่งสำคัญมากในฐานะหัวหน้างาน

เช่น หากสมาชิกหมดกำลังใจ หลายคนอาจพูดให้กำลังใจว่า “พยายามเข้า” แต่คำนี้อาจทำให้อีกฝ่ายรู้สึกกดดัน ลองเปลี่ยนมาพูดว่า “ที่พยายามอยู่ดีมากเลย” เป็นการยอมรับในตัวอีกฝ่าย

หรือเปลี่ยนวิธีมองอุปสรรค เช่น “เหลืออีกแค่ 3 ชม.” เป็น “ยังเหลืออีกตั้ง 3 ชม.” เป็นต้น

7. แสดงความรู้สึกขอบคุณในฐานะทีมคนหนึ่ง

การที่หัวหน้ารู้สึกขอบคุณสมาชิกในทีมเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เช่น ในทุกเช้าที่ทีมมาทำงาน ดูผิวเผินอาจเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ แต่วันนั้นบางคนอาจมาทำงานทั้งที่สภาพร่างกายไม่พร้อม รถไฟฟ้าคนแน่น จนรู้สึกไม่อยากมาทำงาน หัวหน้าทีมควรคิดว่าสมาชิกเอาชนะความรู้สึกเหล่านั้นแล้วมาทำงาน เป็นผลสำเร็จจากความพยายามของพวกเขา หากคิดเช่นนี้เราจะเกิดความรู้สึกว่า “ขอบคุณที่มาทำงานในวันนี้”

การขอบคุณเป็นสิ่งตอบแทนทางจิตใจ เพียงแค่พูดว่า “ขอบคุณที่พยายามนะ” “ขอบคุณที่สละเวลามาทำนะ” สมาชิกที่ได้รับคำขอบคุณจะเกิดความรู้สึกว่า “เอาล่ะ คราวหน้าจะพยายามอีกดีกว่า” ซึ่งส่งผลให้สมาชิกพัฒนาขึ้น


บทที่ 3 – 5 ขั้นตอนของการโค้ช

หนังสือนำเสนอ GROW Model วิธีโค้ชที่ใช้อย่างแพร่หลาย โดยย่อมาจาก

  • Goal กำหนดเป้าหมายให้ชัดเจน
  • Reality ทำความเข้าใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบัน
  • Options สร้างตัวเลือก
  • Will ปณิธานและกำลังใจในการทำเป้าหมายให้สำเร็จ

1. กำหนดเป้าหมายให้ชัดเจน

การทำให้เป้าหมายชัดเจนจะช่วยรักษาความมุ่งมั่นในการทำให้บรรลุเป้าหมายหรือแก้ไขปัญหาต่างๆ และทำให้ขั้นตอนในการไปถึงเป้าหมายเปลี่ยนไปด้วย

เป้าหมายมีทั้งระยะสั้นและเป้าหมายหลัก เป้าหมายหลักคือความตั้งใจที่จะทำให้คนที่ร่วมงานรู้สึกถึงคุณค่าในการทำงาน อาจเป็นสิ่งนามธรรม แต่ต้องเป็นสิ่งที่ทุกคนยึดถือร่วมกันได้ ขณะที่เป้าหมายระยะสั้น คือเป้าหมายรูปธรรมที่ลงมือทำได้ทันที

เช่นการประกาศว่า “เรามาทำยอดขายให้ถึงเป้ากันเถอะ” นั้นเป็นนามธรรมเกินไป อาจไม่สามารถกระตุ้นทีมได้ ต้องคิดเป้าหมายรูปธรรมด้วยว่าจะทำยังไงให้ยอดขายถึงเป้า โดยแยกย่อยเป้าหมายให้เล็กลงและสามารถลงมือทำได้

2. มองให้เห็นถึงปัญหาที่แท้จริง

ตอนที่เราเข้าใกล้เป้าหมาย เส้นทางต่อไปอาจไม่ราบรื่นเสมอไป ควรทำความเข้าใจว่าเราอยู่ในสถานการณ์เช่นใด อยู่ห่างจากเป้าหมายแค่ไหน จะช่วยให้เราคิดถึงวิธีไปยังที่ที่ต้องการได้ง่ายขึ้น

การถามสมาชิกในทีมจะสามารถเข้าใจสถานการณ์ปัจจุบันของตัวเองได้อย่างถูกต้อง ตัวอย่างคำถามเช่น ตอนนี้คิดว่าปัญหาใหญ่คืออะไร? ช่วยบอกจุดที่ทำแล้วไม่ค่อยได้ผลตามที่หวังมาหน่อย? หรือ หากให้คะแนนเต็ม 100 ตอนนี้น่าจะได้คะแนนอยู่ที่เท่าไหร่? สิ่งสำคัญคือเมื่อทีมตอบคำถาม ควรรับฟังโดยไม่คัดค้าน

3. หาสิ่งที่นำมาแก้ปัญหาได้

เช่นหากเคยผ่านช่วงเวลาที่งานเข้ามาหลายอย่างจนทำไม่ไหว สิ่งใดที่ช่วยแก้ปัญหานั้นได้ อาจจะเป็นทรัพยากรบุคคล เรียกแผนกอื่นมาช่วย, ใช้เงินจ้างทีมงานข้างนอกมาช่วยทำ หรือจ่ายโอทีเพิ่มเพื่อให้พนักงานมีเวลาทำงานมากขึ้น

หัวหน้าควรตั้งคำถามให้ทีมมองเห็นสิ่งที่ช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ จะทำให้ทีมค้นพบว่ามีวิธีแบบนี้ด้วย และหลุดจากการยึดติดกับวิธีแก้ปัญหาแบบเดิม ๆ และควรค้นหาว่ามีวิธีแก้ปัญหาแบบอื่นหรือไม่

บางครั้งวิธีเดิมที่เคยใช้อาจไม่ได้ผลเสมอไป หัวหน้าควรลองถามสมาชิกถึงวิธีที่ไม่เคยลอง พยายามให้ทีมคิดนอกกรอบ แล้วช่วยกันหาวิธีการที่ดีที่สุด โดยไม่คัดค้านตัวเลือกที่ทีมเสนอมา

4. ตรวจสอบปณิธานและกำลังใจเพื่อทำเป้าหมายให้สำเร็จ

บางครั้งเจ้าตัวอาจบอกว่ามีไฟเต็มร้อย แต่อาจไม่ยอมลงมือทำเสียที หัวหน้าควรช่วยสมาชิกวางแผนทำงานแล้วเขียนลงในปฏิทิน กำหนดให้ชัดว่าจะทำให้เสร็จเมื่อไหร่ และควรกำหนดจุด check point ที่หากเป้าหมายคืองานเสร็จ 100% ภายในครึ่งปี ควรกำหนดว่างานจะเสร็จ 50% ได้เมื่อไหร่ การวางแผนการทำงานอย่างละเอียด รวมถึงคอยตรวจสอบจะทำให้ไปสู่เป้าหมายมั่งคงยิ่งขึ้น


บทที่ 4- เทคนิคการโค้ชที่นำไปใช้ได้ทันที

1. เทคนิคการดึงศักยภาพของแต่ละคนออกมา

การจะดึงศักยภาพได้ หัวหน้าต้องรู้จักแต่ละคนก่อน โดยเขียนข้อดีหรือเอกลักษณ์ และความก้าวหน้าในช่วงนี้ของแต่ละคนออกมา การทำเช่นนี้จะทำให้เข้าใจเอกลักษณ์ของสมาชิกแต่ละคนและไม่มองข้ามความพยายามในแต่ละวันของสมาชิกในทีม

นี่คือ 3 วิธีในการมอบหมายงานตามศักยภาพของสมาชิกในทีม

1.1 ทำให้ก้าวแรกชัดเจน

การจะทำให้คนไม่มีความมั่นใจรู้สึกว่าตัวเองทำได้ ควรมอบหมายสิ่งที่ง่ายและเห็นชัดว่าทำสำเร็จแน่ให้คนนั้นเป็นเป้าหมายแรก จากนั้นจึงค่อยๆ เพิ่มความยาก

1.2 พยายามก้าวไปข้างหน้าอีกนิด

ตั้งเป้าหมายที่หากพยายามอีกนิดจะเอื้อมถึง การตั้งเป้าหมายที่เกินเอื้อมจะทำให้สมาชิกหมดกำลังใจได้

1.3 ท้าทายกับเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่

หากสมาชิกมีศักยภาพสูงแต่ไม่ได้นำออกมาใช้อย่างเต็มที่ การให้เขาท้าทายกับเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่เป็นวิธีหนึ่งในการดึงศักยภาพของอีกฝ่ายออกมาได้

2. เทคนิคการถ่ายทอดความคิดหรือคำสั่งให้อีกฝ่ายเข้าใจ

การบอกไม่ได้หมายความว่าอีกฝ่ายจะเข้าใจเสมอไป เมื่อถ่ายทอดข้อมูลแล้วต้องตรวจสอบว่าอีกฝ่ายได้รับข้อมูลนั้นอย่างถูกต้องหรือไม่ โดยใช้เคล็ดลับ 3 ข้อนี้

2.1 ออกคำสั่งที่ทำให้อีกฝ่ายนึกภาพได้อย่างเป็นรูปธรรม

โดยอธิบายให้ละเอียดที่สุดเท่าที่จะทำได้

2.2 อธิบายออกมา

หากทีมไม่เข้าใจเหตุผลของคำสั่งก็จะรู้สึกว่าทำไมต้องทำตามด้วย หัวหน้าควรอธิบายว่าคำสั่งนั้นสำคัญหรือจำเป็นอย่างไร มีประโยชน์ต่อคนนั้นยังไง

2.3 ทบทวนอีกครั้งและให้กำลังใจ

เช่น “ขอยืนยันอีกครั้งนะ วันนี้สถานการณ์เป็นแบบนี้ ดังนั้นให้ทุกคนทำแบบนี้ มาพยายามด้วยกันเถอะ” จะทำให้คำสั่งชัดเจน ทุกคนได้รับสารอย่างถูกต้องและรู้สึกสดชื่น

3. เทคนิคติดตามงานที่จะสร้างสมาชิกที่วางใจให้ทำงานได้

”ไว้วางใจแต่ไม่ละเลย” เป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาคน เนื่องจากการวางใจให้อีกฝ่ายทำงานด้วยตัวเองจะกระตุ้นความกระตือรือร้น มีความรับผิดชอบ มีทักษะพลิกแพลง แต่การปล่อยให้อีกฝ่ายทำโดยไม่เข้าไปยุ่งเลย อีกฝ่ายอาจเจอปัญหาที่ข้ามไปไม่ได้ หัวหน้าควรติดตามงานและให้ความช่วยเหลือที่เหมาะสมกับสถานการณ์ด้วย นี่คือ 3 วิธีในการติดตามงาน

3.1 สังเกต

สังเกตการกระทำและสถานการณ์ของสมาชิกในทีมว่าก้าวหน้าตามที่สั่งหรือไม่

3.2 ตั้งคำถามเพื่อตรวจสอบสถานการณ์และสภาพจิตใจของอีกฝ่าย

เช่น “เป็นไงบ้าง มีตรงไหนที่ทำไม่ได้ไหม”

3.3 ช่วยแก้ปัญหาและชมเมื่ออีกฝ่ายทำงานได้ดี

หากทีมเจออุปสรรคควรมาหาทางออกร่วมกัน หรือหากทำงานได้ราบรื่น หัวหน้าควรพูดให้กำลังใจ เช่น “ไปได้สวยนี่ พยายามต่อไปนะ”

4. เทคนิคเพิ่มไฟในการทำงานให้แก่สมาชิก

คำว่า “คนนั้นไม่เห็นมีไฟในการทำงานเลย” เป็นสิ่งที่ไม่ควรพูด เพราะทุกคนล้วนมีไฟในการทำงาน ซึ่งไฟในการทำงานเปลี่ยนแปลงได้จากหลายสาเหตุ หัวหน้าจำเป็นต้องมองสาเหตุให้ออก โดยลองนึกดูว่าคนนี้ดูมีชีวิตชีวาในสถานการณ์แบบไหน


บทที่ 5 – เทคนิคทำให้ทีมเป็นหนึ่งเดียวกัน

สิ่งสำคัญในการรวมใจทีมให้เป็นหนึ่งเดียวกันมี 4ข้อดังนี้

5.1 มีเป้าหมายร่วมกัน

ในทีมแข่งขันกีฬา ทุกคนมีเป้าหมายร่วมกันคือชนะหรือทำลายสถิติจึงเป็นหนึ่งเดียวกันได้ หัวหน้าจึงควรถ่ายทอดความตั้งใจของตัวเองให้แก่สมาชิกทีละคน หากเห็นว่ามีคนทำผิดไปจากความตั้งใจนี้ ควรชี้แจ้งให้คนนั้นเข้าใจอย่างละเอียด

5.2 ทำกิจกรรมร่วมกัน

ควรหากิจกรรมพักผ่อนใจร่วมกัน เช่น กินข้าว ร้องเพลง ไปเที่ยว จะยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ในทีมแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

5.3 ปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเท่าเทียม

ความเท่าเทียมไม่ใช่การแบ่งงานให้สมาชิกทุกคนคนละเท่าๆ กัน แต่ควรมอบงานที่แตกต่างกันไปให้เหมาะสมกับศักยภาพและความพึงพอใจของสมาชิกแต่ละคน

5.4 ทำให้สมาชิกในทีมยินดีในความสำเร็จหรือพัฒนาการ

หากสมาชิกในทีมทำอย่างเต็มที่แล้ว แต่ไม่ได้รับการกล่าวชมและไม่รู้สึกถึงความหมายในการทำงาน ไฟในการทำงานจะหมดลง

6. เทคนิคเรียนรู้จากความผิดพลาด

การลองทำแล้วแต่ไม่สำเร็จ ไม่ควรเรียกว่าเป็นความผิดพลาด แต่ควรมองว่ายังไม่สำเร็จ และสิ่งที่ได้เรียนรู้ครั้งนี้จะส่งผลให้ประสบความสำเร็จในอนาคต การจะเป็นผู้เรียนที่ดีต้องสามารถ “ทบทวนการกระทำของตนเองอย่างถูกต้อง” ได้ ไม่มัวจมกับความผิดหวัง แต่เรียนรู้จากความผิดพลาดในอดีตแล้วนำมาใช้ประโยชน์ได้ และวางแผนการกระทำครั้งต่อไปอย่างละเอียด จะช่วยให้ปรับปรุงตัวเองให้เก่งขึ้นได้


บทที่ 6 – วิธีเพิ่มทักษะที่ทำได้ทันที

1. จดบันทึกเพื่อติดตามพัฒนาการ

โดยสิ่งที่ควรจดบันทึกมีอยู่ 2 อย่างคือ

1.1 บันทึกการโค้ชสมาชิกแต่ละคน

ว่าได้โค้ชสมาชิกแต่ละคนอย่างไร ได้ผลลัพธ์ยังไงและใช้เวลาเท่าไหร่

1.2 บันทึกพัฒนาการของตัวเอง

จดบันทึกในฐานะหัวหน้าว่าได้เรียนรู้อะไรในการทำงานร่วมกับทีมบ้าง ใช้เวลาโค้ชตัวต่อตัวกับสมาชิกแต่ละคนไปเท่าไหร่ แล้วคำนวนเวลาออกมา โดยเขียนไว้ที่มุมของสมุดบันทึกการทำงานก็ได้

2. เพิ่มทักษะและประสบการณ์ด้วยการประชุมแลกเปลี่ยนความรู้

โดยอาจดูคลิปวิดีโอร่วมกันแล้วแสดงความคิดเห็นคนละ 1 นาที พูดคุยถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้จากคลิปวิดีโอหรือเลือกหนังสือคนละ 1 เล่ม หรือ 1 บท แล้วสรุปสั้น ๆ ให้ทุกคนฟัง จากนั้นเปิดให้มีการถามตอบ

สิ่งสำคัญสำหรับการโค้ชคือ เมื่อเห็นอีกฝ่ายกำลังพัฒนาขึ้น อย่าลืมให้กำลังใจเพื่อให้อีกฝ่ายมีกำลังใจมากขึ้น

สนใจหนังสือ COACHING เทคนิคกระตุ้นทีมจนสำเร็จ
สามารถสั่งซื้อได้ที่ Shopee: https://s.shopee.co.th/7zvaCKFzHe
ซื้อผ่านลิงค์เป็นการสนับสนุนช่องครับ

Share

Leave a comment

Leave a Reply

What's New

สรุปเนื้อหาและแนะนำหนังสือที่น่าสนใจ ชวนเพื่อน ๆ มาพัฒนาตัวเองให้ดียิ่งขึ้นในทุก ๆ วันไปด้วยกันครับ

Copyright 2025 Aitim and Co. All rights reserved

error: Content is protected !!