วิทยาสัตว์ เรื่องวิทยาศาสตร์สนุก ๆ ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากสัตว์โลก

Share
Share

ผีเสื้อชอบกินน้ำตา มดมีนม แพนด้าชอบสปาขี้ แมลงสาบไซบอร์ก แบตเตอรี่จากกระดองปู ผมเพิ่งอ่านเรื่องแปลก ๆ เกี่ยวกับสัตว์เหล่านี้มาจากหนังสือ Ani-More วิทยาสัตว์ เขียนโดยป๋วย อุ่นใจ นักเขียนและนักวิจัยที่เขียนบทความแนว pop-sci มาแล้วกว่า 400 เรื่อง

ผมเพิ่งเคยอ่านงานของนักเขียนคนนี้เป็นครั้งแรกก็ชอบสไตล์การเขียนของเขาเลยครับ เขาเขียนได้กระชับ อธิบายเรื่องวิทยาศาสตร์ได้เข้าใจง่าย และเต็มไปด้วยอารมณ์ขัน หนังสือเล่มนี้รวบรวมบทความที่พูดถึงนวัตกรรมด้านวิทยาศาตร์หรือองค์ความรู้ใหม่ ๆ ที่ได้แรงบรรดาใจมาจากสัตว์โลก ผมหยิบเนื้อหาบางส่วนที่เห็นว่าน่าสนใจมาให้เพื่อน ๆ ได้ฟังกันครับ


ผีเสื้อกินน้ำตาเป็นอาหารว่าง

นักชีววิทยาจากประเทศบราซิลคนหนึ่งเป็นคนที่พบความลับนี้ครับ ชื่อของเขายาวนิดหนึ่งนะครับ ชื่อของเขาคือ ลีแอนโดร โฌอา คาร์เนโร เดอ ลิมา มอเรส์ เขาได้ถ่ายฟุตเทจผีเสื้อกลางคืนสีน้ำตาลตัวใหญ่ ขณะที่มันกำลังยื่นงวงยาวสอดเข้าไปในดวงตาของนกที่กำลังหลับ เพื่อดูดกินน้ำในดวงตาของนกตัวนั้นครับ

พฤติกรรมผีเสื้อแอบกินน้ำตาของสัตว์ตัวอื่น เราอาจคิดว่ามันคงพบเจอได้ยาก แต่คืนนั้นคืนเดียว มอเรส์เจอเหตุการณ์แบบนั้นถึง 2 รอบ เขาเคยคิดว่าพฤติกรรมผีเสื้อแอบกินน้ำตาอาจจะไม่ได้พบยากขนาดนั้นในธรรมชาติ แต่เป็นมนุษย์เองที่ไม่ค่อยสังเกตเห็น เพราะเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นแค่ตอนดึกในป่าลึกที่เงียบสงัด

พฤติกรรมของแมลงที่กินน้ำตาจากสัตว์อื่นมีศัพท์เฉพาะทางวิชาการเรียกว่า Lachryphagy (ลา-คริ-ฟิจี) พฤติกรรมนี้พบเห็นได้ทั่วไปตามธรรมชาติ เพราะในน้ำตาอุดมไปด้วยโปรตีนมากมายหลายชนิด เป็นแหล่งเกลือหรือโซเดียมที่จำเป็นมากต่อแมลงในการดำรงชีวิตและสืบพันธุ์ เพราะโซเดียมนั้นหายาก และไม่มีในแหล่งอาหารทั่วไปที่แมลงกิน เช่น ในน้ำหวานจากดอกไม้ต่าง ๆ ไม่มีโซเดียม

periergeia.org

ความจริงอย่างหนึ่งคือนกหลายชนิดกินแมลงเป็นอาหาร ผีเสือเป็นแมลงจึงอาจกลายเป็นอาหารของนกได้ ดังนั้นการที่ผีเสื้อแอบไปกินน้ำตาตอนที่นกกำลังหลับอยู่ ก็ถือว่าเป็นอะไรที่บ้าบิ่นอยู่พอสมควร ซึ่งการทำแบบนั้นแสดงว่าพวกมันไม่มีแหล่งโซเดียมอื่น ๆ แล้ว

นอกจากกินน้ำตาของนก ผีเสื้อยังกินน้ำตาจากสัตว์อื่น เช่น จระเข้ ซึ่งแน่นอนว่าจระเข้ไม่กินผีเสื้อ ดังนั้นผีเสื้อเลยไม่ต้องกลัวอะไร แล้วน้ำตาของมนุษย์ล่ะ ผีเสื้อมันกล้ากินไหม? จากการศึกษาในอดีตพบว่าผีเสื้อบางชนิดไม่ได้แค่ชอบ แต่พวกมันถึงขั้นพิศวาสน้ำตามนุษย์แบบสุด ๆ เลยครับ

ฮานส์ แบนซิเกอร์ นักกีฏวิทยาจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้ทดลองกับตัวเอง โดยนำผีเสื้อกลางคืน 3 ตัวที่อดอาหารและน้ำมาแล้ว 50 ชั่วโมง ไปใส่ไว้ในมุงที่เขานอนอยู่ พอถึงราว ๆ 6 โมงเช้า ผีเสื้อที่หิวโหยตัวหนึ่งก็พุ่งเข้าใส่เขา หาทางจะกินน้ำตาเขาให้ได้ แม้เขาจะปัดไล่ยังไงก็ตาม

สุดท้ายฮานส์ก็ยอมให้มันได้กินน้ำตาของเขา เขาเล่าว่าผีเสื้อชนิดนี้มีปากเหมือนฉมวก ความรู้สึกตอนที่โดนปากมันจะเจ็บแสบเหมือนโดนเข็มทิ่ม แค่โดนตรงเปลือกตาก็รู้สึกแสบไหม้แล้ว ถ้าโดนที่ผิวข้างในตาก็ถึงขั้นน้ำตาไหลอาบแก้มเลยทีเดียว

ปกติแล้วบรรดาผีเสื้อหรือแมลงมักหาโซเดียมกินจากโป่งดิน แต่ก็มีบางชนิดดูดกินจากเหงื่อของสัตว์ตัวอื่น บางชนิดดูดกินจากซากสัตว์เน่า หรือบางชนิดก็จัดมื้อใหญ่แบบบุฟเฟ่ต์จากกองอึที่สัตว์ตัวอื่นถ่ายทิ้งไว้ ได้ยินแบบนี้แล้ว การกินน้ำตาฟังดูมีรสนิยมดีไปเลย


มดมีนม

มดที่ว่านี้ไม่ได้หมายถึงคนที่ชื่อมดนะครับ แต่หมายถึงมดที่เป็นแมลง อ้าว… มดไม่ใช่สัตว์ที่เลี้ยงลูกด้วยนมนี่ แล้วพวกมันจะมีนมไว้ไปทำไมล่ะ? ทีมนักวิจัยจากสหรัฐอเมริกานำโดย แดเนียล โครเนอร์ (Daniel Kronauer) ทำการศึกษาฝูงมดแล้วพบว่าที่จริงแล้วมดมีน้ำนม และน้ำนมของมดเป็นอาหารอันโอชะของมดทุกวัย ไม่ว่าจะเป็นมดโตหรือมดระยะตัวอ่อน

น้ำนมมดไม่ได้มาจากเต้านม แต่มาจากดักแด้ซึ่งเป็นวงจรชีวิตขั้นที่ 3 ของมด ระยะดักแด้นี้พวกมันจะอยู่นิ่ง ๆ คอยให้มดงานโตเต็มวัยย้ายเปลี่ยนที่ไปเปลี่ยนที่มา รอเวลาที่จะลอกคราบออกมาเป็นมดโต งานวิจัยของแดเนียลพบว่าดักแด้ที่นอนนิ่งอยู่เฉย ๆ กลับผลิตน้ำนมมดที่ทั้งมดใหญ่และมดเล็กต่างนิยมมาปาร์ตี้ดูดกินกันจนเกลี้ยง

จากการวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีของน้ำนมมด พบว่าที่จริงแล้วมันคือของเหลวจากดักแด้ (moulting fluid) ซึ่งผสมกันระหว่างของเสียกับสารอาหารที่เป็นประโยชน์ มีคุณค่าทางโภชนาการ เช่น กรดอะมิโนจำเป็น คาร์โบไฮเดรต ฮอร์โมน รวมไปถึงวิตามินที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของตัวอ่อนมดอีกด้วย

หลังฟักออกมาจากไข่ในช่วง 2-3 วันแรก ตัวอ่อนมดต้องพึ่งพาสารอาหารจากน้ำนมมด ถ้าตัวอ่อนไม่ได้กินน้ำนม พวกมันจะแคระแกร็น กลายเป็นมดเด็กที่ขาดสารอาหาร หรือถ้าไม่ได้รับน้ำนมเลย พวกมันก็อาจขาดสารอาหารจนตายได้

ส่วนตัวดักแด้มดซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำนมก็ได้ประโยชน์จากการที่มดตัวอื่นมาดูดกินน้ำนมของมัน เพราะถ้าพวกมันสร้างน้ำนมออกมาแล้วไม่มีมดตัวไหนมากินเลย แบบนั้นไม่นานจะมีเชื้อจุลินทรีย์มาเจริญเติบโตและกลายเป็นราในที่สุด ดักแด้ตัวนั้นก็จะตายและไม่มีโอกาสได้ลอกคราบออกมาเป็นมดโตครับ


แพนด้าชอบสปาขี้

หลังจากผ่านวันที่ทำงานหนัก หลายคนเลือกผ่อนคลายร่างกายด้วยการสปา พอกหน้าพอกผิวด้วยโคลน สัตว์ก็ไม่ต่างจากเราครับ สัตว์หลายชนิดก็ชอบนอนชิลล์ ๆ ในปลัก ปล่อยให้โคลนเย็น ๆ พอกร่างกายให้สบาย ในปี 2020 มีงานวิจัยจากประเทศจีนพบว่าแพนด้าก็ชอบอะไรแบบนี้เหมือนกัน แต่พวกมันไม่ได้สปาโคลนน่ะสิครับ พวกมันสปาด้วยขี้กันครับ

แพนด้ามีพฤติกรรมประหลาดคือ เมื่อพวกมันเจอกองขี้สดใหม่จะลงไปกลิ้งทับให้ขี้พอกไปทั้งตัว จนขนเปลี่ยนเป็นสีกากี แต่ไม่ใช่จะเป็นขี้อะไรก็ได้นะครับ แพนด้าก็ช่างเลือกเหมือนกัน ขี้ที่ดีสำหรับการทำสปาของแพนด้าต้องเป็นขี้ม้าเท่านั้น

science.org

ด้วยความอยากรู้อยากเห็น นักวิจัยจึงติดกล้องบันทึกภาพแพนด้าในเขตสงวนธรรมชาติฝอผิง ในระยะเวลาเพียงแค่ 1 ปี นักวิจัยถ่ายคลิปลับที่แพนด้าจัดปาร์ตี้สปาขี้ม้าไว้ได้มากถึง 38 คลิป แล้วคำถามคือแพนด้าทำสปาขี้ไปทำไม?

ดร. ฟุเหวิน เหว่ย (Fuwen Wei) นักชีววิทยาชาวจีนเริ่มสังเกตพฤติกรรมแพนด้าอย่างใกล้ชิดและวิเคราะห์คลิปลับที่ถ่ายมาได้อย่างละเอียด เขาพบว่าพฤติกรรมทำสปาขี้ของแพนด้าจะพบเจอเมื่ออากาศเริ่มเย็นลงตั้งแต่ 15 องศาเซลเซียส ไปจนถึง -5 องศาเซลเซียส และแพนด้าจะให้ความสนใจเป็นพิเศษกับขี้ม้าสดที่มีอายุไม่เกิน 10 วันเท่านั้น

ทีมวิจัยของ ดร. ฟุเหวินได้วิเคราะห์องค์ประกอบของขี้ม้าสด จนได้เจอกับสารที่น่าสนใจในกลุ่มเซสควิเทอร์พีน (sesquiterpene) จำนวน 2 ชนิด คือ เบต้าแคริโอฟิลลีน (beta-caryophyllene) และเบต้าแคริโอฟิลลีนออกไซด์ (beta-caryophyllene oxide)

สารทั้ง 2 ชนิดนี้นอกจากพบในขี้ม้าสดแล้ว ยังพบในพืชหลายชนิดด้วย ทั้งสองเป็นสารที่สลายตัวไว ปริมาณของสารจะค่อย ๆ ลดลงเมื่อเวลาผ่านไป นั่นอาจเป็นสาเหตุที่แพนด้าไม่ค่อยให้ความสนใจกับขี้ม้าเก่าเท่าไหร่ครับ

แพนด้าเป็นสัตว์ที่ไม่จำศีลในฤดูหนาว และอาหารที่พวกมันกินก็มีแต่ใบไผ่ ทำให้มีไขมันสะสมไว้ไม่มากพอที่จะให้ความอบอุ่นในฤดูหนาว สารทั้ง 2 ในขี้ม้าสดที่พูดถึงข้างต้นมีคุณสมบัติช่วยปิดการทำงานของเซลล์ประสาทรับความรู้สึกหนาว แพนด้าจึงสามารถนั่งชิลล์ท่ามกลางอากาศติดลบ โดยที่ไม่รู้สึกถึงความหนาวเย็นนั่นเองครับ

กิจกรรมสปาขี้ก็มาพร้อมกับความเสี่ยงที่เหล่าแพนด้าต้องรับไว้ เพราะขึ้นชื่อว่าขี้ก็ย่อมมีเชื้อโรคปะปนอยู่ นอกจากนี้สารทั้ง 2 ตัวที่ว่านี้ยังมีคุณสมบัติช่วยลดการอักเสบและลดความเจ็บปวดได้เมื่อทา สารแคริโอฟิลลีนเป็นหนึ่งในสารที่พบได้ในน้ำมันกัญชา ไม่แน่ว่าในอนาคตอาจมีผลิตภัณฑ์ทางเลือก นอกเหนือจากน้ำมันกัญชาที่สกัดมาจากขี้ม้าสดก็เป็นได้ครับ


แมลงสาบไซบอร์ก

พูดถึงแมลงสาบ เราต้องยกอันดับหนึ่งให้มันเลยในด้านความอึด ถึก ทน ตายยาก บางครั้งแม้มันจะถูกกระทืบไปเต็ม ๆ แต่ก็ยังลุกขึ้นมาวิ่งต่อได้ นักวิจัยจากหลายสำนักทำการศึกษาเจ้าแมลงตัวจิ๋วนี้กันมากมายเลยครับ

โรเบิร์ต ฟูลล์ (Robert Full) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ (University of California Berkley) ได้ทำการทดลองเพื่อศึกษาว่าร่างกายของแมลงสาบสามารถทนต่อแรงกดทับได้มากแค่ไหน โดยพวกเขาได้ออกแบบเครื่องบี้แมลงสาบระบบไฮดรอลิกส์ขึ้นมา ผลคือแมลงสาบสายพันธุ์อเมริกันที่เอามาทดลองสามารถทนต่อแรงกดได้มากถึง 900 เท่าของน้ำหนักตัวของมันเอง โดยไม่มีอาการบาดเจ็บใด ๆ เลย

โรเบิร์ตได้บอกว่า “แมลงสาบคือสิ่งมีชีวิตที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดบนพื้นพิภพ พวกมันกระจายไปได้ทุกหนทุกแห่ง เราจึงควรใช้พวกมันเป็นต้นแบบในการสร้างหุ่นยนต์รุ่นใหม่ที่มีความสามารถเช่นเดียวกับที่พวกมันทำได้”

โรเบิร์ตได้ลงมือศึกษาโครงสร้างร่างกายของแมลงสาบ ถึงกลไกที่พวกมันใช้เดินและวิ่ง เขาได้รู้ว่าทำไมแมลงสาบถึงไถลผ่านช่องแคบ ๆ ที่มีความสูงไม่ถึง 1 ใน 4 ของตัวมันได้ ความลับอยู่ที่การที่พวกมันมีกลไกขาที่สามารถบิดออกมาไว้ข้างตัวได้ และแม้ขาจะอยู่ในท่าผิดรูปผิดร่าง แต่พวกมันยังเคลื่อนที่ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้บริเวณหน้าแข้งของมันยังเต็มไปด้วยขนเล็ก ๆ ที่ทำหน้าที่แทนขาเพื่อสร้างแรงผลักให้พวกมันเคลื่อนที่ไปข้างหน้าได้

จากนั้นโรเบิร์ตได้ประดิษฐ์หุ่นยนต์ที่เลียนแบบโครงสร้างของแมลงสาบ ที่แม้จะถูกบี้ให้แบนก็ยังสามารถบิดตัวเคลื่อนที่ได้รวดเร็วเหมือนเดิม โรเบิร์ตหวังว่าหุ่นยนต์แมลงสาบตัวนี้คือมิติใหม่ของหุ่นยนต์กู้ภัย ที่สามารถแทรกตัวเข้าไปในพื้นที่ภัยพิบัติเพื่อช่วยผู้ประสบภัยได้

แต่ปัญหาใหญ่ของหุ่นยนต์แมลงสาบตัวนี้คือมันกินแบตเตอรี่กระจุยกระจาย วิ่งกู้ภัยได้แปบเดียวก็แบตหมด ต้องรอคนไปเก็บมาชาร์จไฟ แทนที่จะเป็นประโยชน์ พวกมันกลับเป็นภาระ นักวิจัยจำนวนมากจึงมองหาลู่ทางอื่น ๆ ในการประดิษฐ์หุ่นยนต์แมลงสาบในเวอร์ชันที่ดีขึ้น

ฮิโรทากะ ซาโต้ ผู้เชี่ยวชาญด้านหุ่นยนต์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีหนานหยาง (Nanyang Technological University) มองว่า “ในเมื่อธรรมชาติสร้างระบบสุดเจ๋งมาให้เราแล้ว ทำไมเรายังต้องไปพยายามสร้างมันขึ้นมาใหม่” ซาโต้นำแมลงสาบสายพันธุ์มาดากัสการ์ (Madagascar hissing cockroach) ที่มีขนาดใหญ่และยาว ตัวโตเต็มวัยอาจยาวได้ถึง 7.6 ซม. อีกทั้งพวกมันยังทนรังสีได้มากกว่ามนุษย์ถึง 10 เท่า และอยู่ได้นานถึง 7 วันแม้จะไม่มีหัว

ทีมวิจัยของซาโต้ได้ออกแบบกระเป๋าติดหลังอันเล็กจิ๋ว สำหรับนำไปติดบนหลังของแมลงสาบ เพื่อเปลี่ยนแมลงสาบธรรมดาให้กลายเป็นแมลงสาบไซบอร์ก กระเป๋าอันนั้นน้ำหนักเพียง 5.5 กรัม ภายในมีอุปกรณ์มากมาย เช่น เซ็นเซอร์ตรวจจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ กล้องอินฟราเรดสำหรับสแกนหาสัญญาณสิ่งมีชีวิต ระบบควบคุมการเคลื่อนที่ และชิพส่งสัญญาณวิทยุกลับมาที่ศูนย์บัญชาการ

วิธีการคือปล่อยทีมแมลงสาบไซบอร์กเข้าไปลาดตระเวนบริเวณพื้นที่ประสบภัยก่อน พวกมันจะวิ่งวุ่นทั่วทั้งพื้นที่ ปีนป่ายหลบหลีกสิ่งกีดขวาง เข้าถึงได้ทุกซอกทุกมุม เมื่อพวกมันเจอสัญญาณของสิ่งมีชีวิตก็จะส่งข้อมูลระบุตำแหน่งไปให้ศูนย์บัญชาการ จากนั้นทีมกู้ชีพก็จะเข้าไปให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย

ซาโต้บอกว่าในพื้นที่ประสบภัยราว ๆ 5 ตารางกิโลเมตร ต้องใช้แมลงสาบไซบอร์กประมาณ 500 ตัว เพื่อให้ปฏิบัติการสำเร็จลุล่วงได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่มีข้อกังวลอย่างหนึ่งครับ คือซาโต้ไม่ได้บอกว่าหลังจากเสร็จภารกิจ พวกเขาตามไปเก็บแมลงสาบไซบอร์กเป็นร้อย ๆ ตัวยังไง ไม่แน่นะครับ ครั้งหน้าถ้าเพื่อน ๆ เจอแมลงสาบ อย่าลืมส่องดูดี ๆ ว่าบนหลังของมันมีกระเป๋าไฮเทคติดอยู่หรือเปล่า


แบตเตอรี่จากกระดองปู

แบตเตอรี่อยู่ในแทบทุกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ตั้งแต่สมาร์ทโฟน แท็ปเล็ต ไปจนถึงรถยนต์ไฟฟ้า ตลาดแบตเตอรี่ในปัจจุบันเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ว่าการผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนซึ่งเป็นชนิดที่นิยมมากที่สุดในเวลานี้ กลับไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเอามาก ๆ ตั้งแต่มลพิษที่ปนเปื้อนออกมาจากการขุดเหมือง การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมามากเกินไปจากขั้นตอนการผลิต

นอกจากนี้วัสดุที่นำมาผลิตอย่างลิเทียม โคบอลต์ ทองแดง และนิกเกิลก็เป็นโลหะหายาก ถ้าเรายังคิดค้นเทคโนโลยีแบตเตอรี่ชนิดใหม่ออกมาไม่สำเร็จ แบบนั้นอีกไม่นานมนุษยชาติอาจต้องเจอกับวิกฤตพลังงานครั้งใหญ่

ในเดือนกันยายน ปี 2022 มีการเปิดตัวนวัตกรรมแบตเตอรี่ชนิดใหม่ที่สั่นสะเทือนไปทั่วโลก เหลียงปิง หู่ (Liangbing Hu) ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยนวัตกรรมวัสดุจากมหาวิทยาลัยแมริแลนด์ (Center for Materials Innovation, University of Maryland) ได้เปิดตัวแบตเตอรี่จากกระดองปูที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยแบตเตอรี่ชนิดนี้สามารถชาร์จได้เป็นพันครั้ง และย่อยสลายได้ในระยะเวลาแค่ 5 เดือน

แบตเตอรี่ของเหลียงปิงสร้างขึ้นมาจากไคโตซานซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักของกระดองปู โดยไคโตซานเป็นพอลิเมอร์ชีวภาพ ปัจจุบันถูกนำไปประยุกต์ใช้ในหลายด้านเลยครับ ทั้งทางการแพทย์ที่นำไปทำกระจกตาเทียม ทางการเกษตรที่นำไปทำปุ๋ย หรือทางอุตสาหกรรมอาหารที่นำไปทำฟิล์มถนอมอาหาร รวมถึงมีคนนำมาใช้เป็นสารช่วยลดความอ้วนด้วย เรียกว่าไคโตซานนั้นสารพัดประโยชน์มาก ๆ ในหลายวงการ

แบตเตอรี่จากกระดองปูจะนำเอาไคโตซานมาผสมกับสังกะสี แล้วทำให้เป็นเจลเพื่อใช้เป็นสารอิเล็กโทรไลต์ ซึ่งคือตัวถ่ายทอดประจุไปมาระหว่างขั้วบวกกับขั้วลบเพื่อสร้างกระแสไฟฟ้า โดยใช้สังกะสีเป็นขั้วไฟฟ้าแทนลิเทียมหรือตะกั่วที่ใช้กันทั่วไปในแบตเตอรี่ตามท้องตลาด

เหลียงปิงบอกว่าสังกะสีพบได้มากมายในชั้นผิวโลก ต่างจากลิเทียมที่หายากกว่า และแบตเตอรี่ที่ทำจากสังกะสีนั้นจะมีราคาถูกกว่าและปลอดภัยกว่า แม้ตอนนี้แบตเตอรี่จากกระดองปูนี้จะอยู่ในขั้นโปรโตไทป์ แต่ก็ดูมีศักยภาพพอที่จะไปต่อ เพราะมันสามารถเก็บพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้จะผ่านการชาร์จไปแล้วถึงพันครั้ง ถือว่าเป็นเทคโนโลยีที่น่าจะตามองมาก ๆ เลยครับ

เมื่อแบตเตอรี่จากกระดองปูนี้หมดอายุการใช้งาน เวลาจะกำจัดมันก็สามารถทิ้งไปได้เลยโดยไม่ต้องกังวลครับ เพราะจุลินทรีย์ในธรรมชาติสามารถย่อยสลายไคโตซานซึ่งเป็นองค์ประกอบ 2 ใน 3 ส่วนของแบตเตอรี่ โดยใช้เวลาย่อยสลายภายใน 5 เดือน ส่วนที่ย่อยไม่ได้อย่างสังกะสีก็สามารถเอามารีไซเคิลเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ได้อีกครับ


นี่คือเนื้อหาบางส่วนจากหนังสือ Ani-More วิทยาสัตว์ ในเล่มยังมีเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจอีกเพียบ เช่น อึของวอมแบตทำไมถึงออกมาเป็นก้อนทรงลูกเต๋า นกมีพิษที่ถ้าจับโดนตัวมันเราจะเกิดแผลแสบไหม้ หมูสามารถฝึกให้เป็นเกมเมอร์ชั้นยอดได้ หรือแมลงที่สามารถนำมาใช้ตรวจหามะเร็งในร่างกายมนุษย์ เพื่อน ๆ คนไหนสนใจสามารถหามาอ่านกันได้ครับกับหนังสือ Ani-More วิทยาสัตว์ เขียนโดย ป๋วย อุ่นใจ ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ sundogs ในเครือมติชนบุ๊ค ราคา 220 บาท

สนใจหนังสือ Ani-More วิทยาสัตว์
สามารถสั่งซื้อได้ที่ Shopee: https://s.shopee.co.th/9f5OLf3jrV
ซื้อผ่านลิงค์เป็นการสนับสนุนช่องครับ

Share

Leave a comment

Leave a Reply

What's New

สรุปเนื้อหาและแนะนำหนังสือที่น่าสนใจ ชวนเพื่อน ๆ มาพัฒนาตัวเองให้ดียิ่งขึ้นในทุก ๆ วันไปด้วยกันครับ

Copyright 2025 Aitim and Co. All rights reserved

error: Content is protected !!