ประวัติศาสตร์ยูนิฟอร์ม เครื่องแต่งกายภายนอก บอกอะไรได้มากกว่าที่คิด

Share
Share

เครื่องแต่งกายบอกอะไรได้มากกว่าที่คุณคิด ไอติมอ่าน ep นี้จะพาไปรู้จักประวัติศาสตร์ผ่านชุดยูนิฟอร์มและเครื่องแต่งกายต่าง ๆ โดยสรุปมาจากหนังสือ ชุดนี้ท่านได้แต่ใดมา โดยสำนักพิมพ์บันลือ พร้อมแล้วไปเริ่มต้นกันที่ชุดแรก

ชุดนักโทษ

แต่ละประเทศมีชุดนักโทษที่แตกต่างกันไป อย่างของไทยชุดนักโทษจะเป็นเสื้อแขนสั้น กางเกงขาสั้น สีของชุดต่างกันไปตามโอกาสและสถานะของนักโทษ เช่น นักโทษที่ผ่านการตัดสินอย่างถึงที่สุดแล้วจะสวมเสื้อสีฟ้า ถ้ายังอยู่ในกระบวนการตัดสินจะสวมเสื้อสีน้ำตาล ถ้าออกไปบำเพ็ญประโยชน์นอกเรือนจำจะสวมเสื้อสีน้ำเงินเข้ม ถ้าวันพบญาติจะสวมเสื้อสีเหลือง

หากพูดถึงชุดนักโทษที่หลายคนนึกถึงเพราะเคยเห็นผ่านตามสื่อต่าง ๆ คือชุดลายทางสีขาวสลับดำ เหตุผลที่ชุดนักโทษเป็นสีนี้เพราะเป็นสีที่เด่นสะดุดตา หากมีการหลบหนีเจ้าหน้าที่สามารถตามตัวได้ง่าย เพราะไม่มีใคฤรสวมเสื้อและกางเกงลายทางขาวสลับดำตลอดทั้งตัวอย่างแน่นอน

ว่ากันว่าอีกเหตุผลหนึ่งที่ลายทางขาวสลับดำถูกนำมาใช้เพราะเมื่อนักโทษเดินเรียงกันเป็นแถวยาว มองมาแล้วจะเหมือนซี่ลูกกรง เท่ากับว่าพวกเขาถูกจองจำอยู่ตลอดเวลา บนหน้าอกของเสื้อมีตัวเลขระบุตัวนักโทษ แทนที่ชื่อของพวกเขา เป็นการลงโทษทางจิตวิทยาไปด้วย

ความกดดันเหล่านี้เองที่ทำให้มีการหยิบสิทธิมนุษยชนมาพิจารณาในศตวรรษที่ 20 ว่าการให้นักโทษใส่ชุดลายทางขาวสลับดำทำให้รู้สึกหดหู่ไร้ค่า จึงมีการปรับชุดนักโทษเป็นแบบอื่น สอดรับกับนโยบายที่อยากให้นักโทษรู้สึกว่าเรือนจำไม่ได้กักขังคุณ แต่เป็นสถานที่บำบัดคุณมากกว่า

สีที่เราเห็นกันได้บ่อยในชุดนักโทษยุคหลังคือสีส้มตามสื่อต่าง ๆ เช่นซีรีส์ Netflix เรื่องดังอย่าง Orange is the new black ที่สะท้อนถึงปัญหาจำนวนผู้กระทำผิดที่เป็นผู้หญิงเพิ่มมากขึ้นในสหรัฐ ทำให้ชุดนักโทษสีส้มไม่ได้เป็นที่น่ารังเกียจ แต่ดูเท่และดูแข็งแรง จนผู้ไม่ได้กระทำผิดก็อยากใส่เป็นแฟชั่น

ด้วยเหตุนี้ชุดนักโทษจึงกลับมาเป็นลายทางสีขาวสลับดำอีกครั้งเพื่อความปลอดภัยของสังคม เพราะชุดสีส้มคนธรรมดาใส่กันเต็มไปหมด


ชุดแพทย์ผ่าตัด

แพทย์ยุคก่อนศตวรรษที่ 19 นั้นสวมชุดสีดำทำงาน บ้างว่าเพราะเป็นสีทางการ บ้างก็ว่ายุคนั้นการแพทย์ยังไม่เจริญ กว่าคนไข้จะมาถึงมือหมอก็ใกล้ลาโลกแล้ว ชุดสีดำจึงเข้ากับสถานการณ์ที่สุด ก่อนที่ภายหลังบุคคลากรทางการแพทย์เปลี่ยนมาสวมชุดสีขาวที่แสดงถึงความสะอาด ยกเว้นบุคคลากรที่ทำงานในห้องผ่าตัด

เหตุผลเพราะชุดสีขาวนั้นจ้าเกินไป ขณะทำการผ่าตัด แพทย์ต้องใช้สายตาจ้องเลือดและอวัยวะของคนไข้เป็นเวลานาน หากเงยหน้ามาเห็นชุดสีขาวอาจทำให้แสบตาจนประสิทธิภาพในการมองเห็นลดลงและอาจทำงานพลาดได้ แต่หากเป็นชุดสีเขียวหรือสีฟ้าแพทย์จะได้พักสายตาจากการจ้องสีแดงเป็นเวลานาน สายตาจึงไม่ล้าเกินไป

ชุดผ่าตัดแบบนี้ในภาษาอังกฤษเรียกว่า scrub เพราะเป็นชุดที่ใส่แล้วต้องเจอกับเลือดที่แห้งเป็นคราบ หลังจากใช้งานต้องทำความสะอาดชุดใหญ่ ทั้งขัด ทั้งขยี้ เป็นที่มาของ scrub ที่แปลว่าขัดนั่นเอง


จีวร

ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าสมัยพุทธกาลที่พระพุทธเจ้ายังมีชีวิตอยู่ พระภิกษุในสมัยนั้นนุ่งห่มอย่างไร แต่พอจะเดาที่มาที่ไปได้จากคำว่า ผ้าบังสุกุล ซึ่งเป็นคำบาลีว่า ปํสุ แปลว่า ฝุ่น และ กูล แปลว่าเปื้อน รวมกันจึงแปลว่าเปื้อนฝุ่น ใช้เรีกกผ้าที่ใช้ห่อศพ ซึ่งการจะได้มาพระต้องดึงผ้าออกมาจากศพ เพราะยุคนั้นพระพุทธเจ้าไม่อนุญาตให้พระรับเครื่องนุ่งห่มจากฆราวาส อีกนัยหนึ่งคาดว่าการนุ่งผ้าที่มาจากร่างไร้ชีวิตจะทำให้ลดกิเลสได้และมองความไม่เที่ยงของสังขารได้

สภาพแรกของผ้าห่อศพมักมีคราบน้ำเหลืองเป็นดวง ๆ พระสมัยนั้นจึงมีการย้อมผ้าก่อนนำมาห่มโดยเปลือกไม้ สีของจีวรสมัยนั้นจึงออกมาไม่สม่ำเสมอกัน เพราะมาจากเปลือกได้คนละพันธุ์ หรือแม้แต่พันธุ์เดียวกันก็ให้สีที่ต่างกันได้ นอกจากนี้การย้อมด้วยเปลือกไม้ที่เรียกว่าย้อมฝาดนี้ ยังช่วยรักษาผ้าที่ทำจากฝ้ายไม่ให้เปื่อยง่าย ไม่เปื้อนง่ายและยังช่วยลดเชื้อราอีกด้วย


ชุดลิเก

จริง ๆ แล้วการแสดงลิเกไม่ใช่ศิลปะของไทยแท้ แต่ได้รับอิทธิพลมาจากการสวดสรรเสริญพระเจ้าของชาวอาหรับ ซึ่งประกอบพิธีนั่งล้อมกันสวดเป็นวงกลมพร้อมโยกตัวไปมา เรียกว่า ซิกร (Zikr) หรือ ซิกิร (Zikir) การสวดลักษณะนี้เข้ามาทางภาคใต้ของไทย ชื่อก็เพี้ยนกลายเป็น ดิเก หรือ จิเก ต่อมาชาวมุสลิมได้นำดิเกเข้ามาสู่งกรุงเทพในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น คำว่าดิเกก็เพี้ยนอีกกลายเป็น ยี่เก และ ลิเกอย่างในทุกวันนี้

ในยุคที่ยังเป็นดิเก เรียกกันอีกอย่างว่า สวดแขก ยังถือเป็นการแสดงที่ธรรมดาเอามาก ๆ ทั้งเรื่องเครื่องดนตรีและการแต่งกาย ในยุคต้นมีเพียงนักแสดงผู้ชายนั่งล้อมวงสวดพร้อมตีกลองรำมะนาด มีบทโต้ตอบกันบ้างแต่ไม่มาก พอถึงยุคถัดมาพัฒนาเป็นลิเกออกภาษาที่ดูแล้วเป็นการแสดงตลกซะมากกว่า เพราะเนื้อร้องเป็นการล้อเลียนสำเนียงภาษาของชาวต่างชาติในพระนคร ไม่มีเส้นเรื่องหรือการแต่งกายจริงจัง

หลังจากนั้นทุกอย่างเปลี่ยนไปเมื่อเข้าสู่ยุคลิเกทรงเครื่อง ที่พัฒนามาเป็นละครจริงจัง มีส่วนผสมของบทพูดและการร้องรำ ส่วนดนตรีมีวงปี่พาทย์มาบรรเลงเพลงประกอบ เนื้อเรื่องมีความเป็นละครมากขึ้น มีการชิงรักหักสวาท มีการแบ่งตัวละครเป็นพระเอก พระรอง นางเอก นางรอง ตัวอิจฉา ผู้ร้ายอย่างชัดเจน การแต่งกายก็ถอดแบบมาจากราชสำนักที่ตัวละครในเรื่อง ส่วนมากเป็นเจ้าชายเจ้าหญิง ส่วนการติดเพชรลงไปในชุดนั้นเพราะต้องการให้ดูหรูหราและเพชรเล่นกับแสงไฟตามธรรมชาติตอนแสดงในเวลากลางคืน ทำให้ดึงดูดสายตา


ผ้าขาวม้า

เป็นผ้ารูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีความกว้างประมาณ 2 ศอก ยาวประมาณ 3-4 ศอก ทอเป็นลายตารางหมากรุกที่คนไทยคุ้นเคยกันดี แต่ไม่มีหลักฐานยืนยันว่าคนไทยเป็นคนคิดค้นผ้าขาวม้า แม้จะใช้กันจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทยไปแล้ว แนวคิดเกี่ยวกับการริเริ่มใช้ผ้าขาวม้ามีหลายแนวคิด แต่เป็นการเล่ากันปากต่อปาก ซึ่งอาจจะคลาดเคลื่อนได้

บ้างสันนิษฐานว่าเพี้ยนมาจากผ้าคาดเอวของชาวอิหร่านที่เรียกว่า “คามาร์ บันด์” และเพราะสเปนติดต่อค้าขายกับอิหร่านเช่นกัน ทำให้ชาวสเปนรับเอาผ้าคามาร์ บันด์ มาคลุมบ่าหรือคาดเอวและเอามาใช้ในไทยด้วย ไทยก็รับมาใช้ต่ออีกที

บ้างสันนิษฐานว่ามาจากผ้านุ่งชั้นในของญี่ปุ่นที่เรียกว่า “ผ้ากาม่า” โดยมีการพบผ้าทอลายตารางหมากรุกที่เก่าแก่ในญี่ปุ่นจากสมัยยุคอยุธยาอีกด้วย

บ้างว่าผ้าขาวม้าเป็นของไทยแท้ โดยเพี้ยนมาจากคำว่า “ผ้าขอขมา” เป็นส่วนหนึ่งของประเพณีรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ เราต้องซื้อผ้าชนิดนี้มาให้ผู้ใหญ่ที่บ้านเพื่อขอโทษในสิ่งที่เราล่วงเกินท่านเอาไว้ รวมถึงใช้ในพิธีแต่งงาน แต่ในแต่ละภาคของไทยก็ไม่ได้เรียกผ้าชนิดนี้ว่าผ้าขอขมา ในภาคอีสานเรียกว่าผ้าแพรบ้าง ผ้าแพรวาบ้าง

ซึ่งแนวคิดผ้าขอขมาผู้ใหญ่นี้ไปคล้ายกับแนวคิดของผ้ากรรมาของชาวเขมรที่เอาไว้ใช้มอบให้ผู้ใหญ่เพื่อขอล้างกรรม แม้จะไม่รู้ต้นกำเนิดแน่ชัดและอาจไม่ได้เป็นของคนไทย แต่คุณสมบัติของผ้าขาวม้าที่สะดวกต่อการใช้งานและทำจากผ้าฝ้ายที่เหมาะกับอาการบ้านเรา ทำให้ผ้าขาวม้าได้รับความนิยมในหมู่คนไทยเสมอมา


ผ้าถุง

ผ้าถุงคล้ายกับผ้าซิ่นของลาวมาก สมัยก่อนไม่ได้เป็นที่เชิดหน้าชูตาของชาวไทย เช่น สมัยเจ้าดารารัศมีที่เป็นเจ้าหญิงจากล้านนามาถวายตัวเป็นสนมแก่รัชกาลที่ 5 เจ้าดารารัศมีทรงโปรดการนุ่งผ้าถุงและไม่ยอมสวมโจงกระเบน จนถูกคนในวังค่อนแคะว่าเป็น ลาวนุ่งซิ่น

ผ้าถุงเพิ่งจะได้รับการบัญญัติให้เป็นเอกลักษณ์ของไทยในสมัยของจอมพล ป. พิบูลย์สงคราม ที่มีประกาศชัดว่าการนุ่งโจงกระเบนนั้นล้าสมัย ไม่เป็นอารยะ และแนะนำว่าการจะเป็นอารยะนั้นผู้ชายต้องนุ่งกางเกง ผู้หญิงต้องนุ่งผ้าถุง ผ้าถุงจึงได้รับการยอมรับและมีคนใช้มากมายมาจนถึงทุกวันนี้


มัมมี่

ต้นกำเนิดมัมมี่ในอียิปต์มาจากการเสียชีวิตของเทพเจ้าโอซิริส ที่เมื่อโอซิริสยังครองบัลลังก์อยู่ทรงถูกทรยศโดย เซต น้องชายของพระองค์ เซตสังหารโอซิริสแล้วฉีกร่างพระองค์ออกเป็นชิ้น ๆ ทำให้ไอซิสพระชายาและอะนูบิสข้าราชบริพารต้องพยายามรวบรวมชิ้นส่วนร่างกายของโอซิริสเท่าที่จะหาได้มาห่อไว้ด้วยผ้าลินิน ตำนานนี้เองที่ถูกเล่าต่อกันมาจนเป็นที่มาให้ชาวไอยคุปต์เริ่มถนอมร่างผู้เสียชีวิตด้วยวิธีนี้

กระบวนการทำมัมมี่แบ่งเป็น 2 ขั้นตอนใหญ่ ๆ คือส่วนของการดองศพและส่วนของการพันศพ ขั้นตอนการดองศพจะทำบนแท่นที่เรียกว่า “อีบู” ซึ่งแปลว่าชำระล้าง แล้วเริ่มล้างศพด้วยไวน์ที่ทำมาจากปาล์มและสมุนไพรที่ให้กลิ่นหอม ล้างอีกรอบด้วยน้ำจากแม่น้ำไนล์ ผ่าท้องข้างซ้ายเอาอวัยวะภายในออกมาเพื่อไม่ให้ศพเน่าเสียเร็ว เหลือเพียงหัวใจเอาไว้เพราะเชื่อว่าเป็นสิ่งที่มนุษย์จำเป็นต้องใช้ในโลกหลังความตาย

ศพที่ถูกเอาเครื่องในออกหมดแล้วจะถูกหมักไว้ด้วยเกลือ “นาตรอน” ส่วนเครื่องในที่ควักออกมาจะถูกทำความสะอาดด้วยเกลือนาตรอนแล้วเก็บไว้ใน “โถคาโนปิก” จากนั้นรอให้ศพแห้งสนิท เนื้อสมองฟีบเล็กลงแล้วนำเหล็กตีเนื้อสมองให้กลายเป็นของเหลวจึงนำออกมาได้ ก่อนจะถูกห่อด้วยผ้าลินินและกลบเอาไว้ด้วยเกลือนาตรอนนาน 70 วัน เคลือบร่างด้วยน้ำยาอาบศพเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียจนร่างดำปี๋สมกับชื่อมัมมี่ที่แปลว่า ศพที่ถูกดองจนเป็นสีดำ

จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนของการพันศพ ผู้ทำมัมมี่จะเริ่มพันผ้าจากศีรษะและคอ ไล่ไปถึงแขน ขา นิ้วมือ นิ้วเท้า ซึ่งทุกชิ้นส่วนถูกทาด้วยเรซิ่นยึดติดเหมือนกาว และวางเครื่องรางเอาไว้ให้ผู้ตายเดินทางไปยังปรโลกได้อย่างปลอดภัย การพันมัมมี่ด้วยผ้าลินินกลายมาเป็นชุดของมัมมี่ที่เราคุ้นตากันทุกวันนี้

การจะเป็นมัมมี่ได้ไม่ใช่แค่ตาย แต่ต้องเป็นผู้ที่มีฐานะด้วย เพราะกระบวนการทำมัมมี่นั้นยุ่งยากซับซ้อนและค่าใช้จ่ายสูง ในขณะที่กษัตริย์และชนชั้นสูงในอียิปต์มีสุสานสวยงามอลังการ ศพชาวอียิปต์ที่ยากไร้จะถูกฝังไว้กลางทะเลทรายแล้วอาศัยความร้อนทำให้ศพแห้งไปเองตามกาลเวลา


นักบินอวกาศ

ชุดนักบินอวกาศปรับแต่งมาจากชุดของนักขับเครื่องบินเจ็ตซึ่งส่วนมากจะบินกันที่ความสุงกว่า 15,000 ฟุต ซึ่งมีความดันบรรยากาศน้อย ปริมาณออกซิเจนที่ใช้ในการหายใจต่ำ ในชุดของนักบินจำเป็นต้องมีระบบจ่ายออกซิเจนเพื่อช่วยนักบินหายใจ และมีระบบปรับความดันในชุดเพื่อไม่ให้ของเหลวในร่างการเดือด

เริ่มแรกจากชุดนักขับเครื่องบินเจ็ตถูกดัดแปลงให้เป็นชุดนักบินอวกาศโดยใช้ผ้าชั้นนอกเป็นผ้าไนลอนเคลือบด้วยฟิล์มอะลูมิเนียม ผ้าชั้นในทำจากไนลอนเคลือบยางนีโอพรีน สามารถปรับความดันภายในชุดได้ถึง 5 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว แต่ยังไม่มีระบบทำความเย็น และต้องเชื่อมต่อท่อหายใจระหว่างชุดกับยานอวกาศ

ปัจจุบันชุดนักบินอวกาศได้เพิ่มรายละเอียดจนมีถึง 14 ชั้น มีกล่องติดหน้าอกเป็นแผงควบคุมแรงดัน ควบคุมระบบสื่อสารและระดับอากาศภายในชุด มีเป้ด้านหลังที่สามารถจ่ายออกซิเจนให้นักบินได้ 7 ชม. มีแบตเตอรีและน้ำสำหรับระบบหล่อเย็นของเสื้อ มีหมวกที่บรรจุหูฟังและไมโครโฟนไว้ด้านใน ด้านนอกสุดของหมวกติดกล้องและไฟฉาย

ชุดนักบินอวกาศเวอร์ชั่นล่าสุดผลิตโดยบริษัท ไอแอลซี โดเวอร์ ซึ่งผลิตและพัฒนาชุดนักบินอวกาศให้นาซ่ามาเป็นเวลานาน สนนราคาอยู่ที่ชุดละประมาณ 12 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ


แอร์โฮสเตส

ในอดีตหน้าที่ดูแลผู้โดยสารบนเครื่องบินเป็นหน้าที่ของผู้ชาย เพราะธุรกิจการบินตั้งต้นมาจากทหารอากาศ หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 พยาบาลสาวชาวอเมริกันชื่อ “เอลเลน เซิร์ซ” ตัดสินใจเรียนขับเครื่องบินและสมัครเป็นนักบินที่สายการบินโบอิ้ง แต่สมัยนั้นผู้หญิงยังไม่ได้รับความไว้วางใจให้ขับเครื่องบิน เธอจึงขอสมัครเป็นสจ๊วตแทนและยืนยันว่าเธอทำหน้าที่ได้ดีกว่าผู้ชายแน่นอน เพราะเคยเป็นพยาบาลมาก่อน

สายการบินโบอิ้งให้โอกาสเธอ ปรากฏว่าเธอทำหน้าที่ได้ดีกว่าจริง ๆ เพราะการบินสมัยนั้นไม่ได้ราบรื่น ผู้โดยสารจึงมักเมาเครื่อง ทำให้เอลเลนได้ใช้ทักษะด้านการพยาบาลมาดูแลผู้โดยสารจนเกิดความประทับใจ กลายเป็นอาชีพแอร์โฮสเตสตั้งแต่นั้นมา

ชุดแอร์โฮสเตสยุคแรกมีความเป็นทหารสูงมาก เป็นสูทกระดุมสองแถวสีเขียวและกระโปรงยาว ก่อนจะปรับให้กระโปรงสั้นลงเพื่อประหยัดวัตถุดิบตัดเย็บในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จนปัจจุบันแต่ละสายการบินปรับเปลี่ยนรูปแบบชุดแอร์โฮสเตสตามใจชอบ ขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์ของสายการบินนั้น และหมวกของแอร์โฮสเตสไม่ได้ใส่เพื่อความสวยงาม แต่ใส่เพื่อให้แยกแยะได้ว่าใครคือแอร์โฮสเตส เพราะผู้โดยสารเครื่องบินยุคแรกมักใส่สูทเหมือน ๆ กันนั่นเอง


ชุดสีกากี

รัฐบาลประเทศแรกที่ใช้สีกากีมาใช้เป็นชุดข้าราชการคือประเทศอินเดีย โดยสีกากีเป็นสีเครื่องแบบทหารแคว้นปัญจาบเมื่อร้อยกว่าปีก่อน ซึ่งเหมาะกับอากาศของอินเดียที่ค่อนข้างร้อนเพราะสีกากีเป็นสีที่ดูดความร้อนน้อย ต่อมาเมื่อทหารอังกฤษเข้าไปประจำการที่อินเดียก็ใส่ชุดสีกากีตามไปด้วย

เมื่อประเทศไทยติดต่อกับชาติตะวันตกมากขึ้นในช่วงล่าอาณานิคม ทำให้เราได้เห็นว่าทหารอังกฤษใส่ชุดสีกากี จึงปรับมาใช้เป็นชุดข้าราชการบ้านเราเพื่อสะท้อนให้เห็นว่า บ้านเราก็สวมเสื้อผ้าแบบเดียวกับข้าราชการชาวตะวันตก เราเท่าเทียมกับเขา เพื่อป้องกันการรุกรานนั่นเอง

นอกจากข้อดีด้านความมั่นคงแล้ว ข้าราชการบางหน่วยอาจต้องลงพื้นที่ด้วย เช่น การไปพบปะกับชาวบ้านในที่กันดารหรือท้องไร้ท้องนา สีกากีเป็นสีที่เหมาะสมเพราะไม่เลอะง่าย นอกจากนี้ตามรากศัพท์แล้ว สีกากี แปลว่า สีดิน สีฝุ่น การใส่ชุดที่มีสีเหมือนดินทำงานก็เหมาะสมกับการเป็น “ข้าของแผ่นดิน” อยู่เหมือนกัน

สนใจหนังสือ ชุดนี้ท่านได้แต่ใดมา
สามารถสั่งซื้อได้ที่ Shopee: https://s.shopee.co.th/4ff8EgXg00
ซื้อผ่านลิงค์เป็นการสนับสนุนช่องครับ

Share

Leave a comment

Leave a Reply

What's New

สรุปเนื้อหาและแนะนำหนังสือที่น่าสนใจ ชวนเพื่อน ๆ มาพัฒนาตัวเองให้ดียิ่งขึ้นในทุก ๆ วันไปด้วยกันครับ

Copyright 2025 Aitim and Co. All rights reserved

error: Content is protected !!