ไอติมอ่าน ep นี้มาแนะนำหนังสือ “จิตวิทยาตีเนียน เพื่อจัดการคนน่ารำคาญ” หนังสือที่จะมาสอนเทคนิคจิตวิทยาร้ายเงียบที่ใช้จัดการปัญหาในที่ทำงานแบบบัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น ครอบคลุมเทคนิคที่ใช้ได้กับทั้งหัวหน้า, ลูกน้อง, เพื่อนร่วมงาน และลูกค้า
จากการสำรวจพบว่าสามารถแบ่งความตึงเครียดในการทำงานออกเป็น 3 เรื่องใหญ่ ๆ ได้แก่ ปริมาณงาน, คุณภาพงาน และความสัมพันธ์กับผู้อื่น คุณอิโนะอุเอะ โทโมะสุเกะ จิตแพทย์ชาวญี่ปุ่นผู้เขียนหนังสือเล่มนี้กล่าวว่า ตลอดชีวิตการทำงาน มีคนมาขอคำปรึกษาจากเขากว่า 10,000 คน มีน้อยคนมากที่มาปรึกษาเขาด้วยเรื่องปริมาณงานหรือคุณภาพงาน เพราะสองเรื่องนี้สามารถเอาไปปรึกษากับเพื่อนร่วมงานหรือคนรอบตัวได้ แต่เรื่องความสัมพันธ์กับคนอื่นเป็นปัญหาที่แก้ไขได้ยาก และหลายคนทนทุกข์กับเรื่องนี้เป็นเวลานาน
เหตุผลที่คนจำนวนมากทุกข์ใจเรื่องความสัมพันธ์กับคนในที่ทำงานมีอยู่ 2 เหตุผลคือ
- เพราะเราไม่สามารถเปลี่ยนคนอื่นได้ง่าย ๆ
- เพราะความสัมพันธ์กับผู้อื่นเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้
ปัญหาเรื่องความสัมพันธ์กับผู้อื่นเป็นสิ่งที่มองไม่เห็นด้วยตา ต่างจากปริมาณและคุณภาพงาน ส่วนใหญ่จึงถูกมองว่าเป็นปัญหาส่วนตัว แม้จะนำเรื่องนี้ไปปรึกษากับหัวหน้าแล้วก็ตาม ซึ่งปัญหาความสัมพันธ์เหล่านี้อาจเกิดจากคนน่ารำคาญในที่ทำงาน มาลองเช็กดูว่าในที่ทำงานของคุณมีคน 5 แบบต่อไปนี้หรือเปล่า
1. คนขี้นินทา
ไม่ว่าใครต่างก็เคยพูดเรื่องคนอื่น แต่คนขี้นินทามักจะนินทาให้ร้าย และพูดลับหลังถึงใครบางคนอยู่เสมอ แม้คุณจะไม่ใช่คนที่ถูกนินทา แต่การเจอคนแบบนี้ทุกวันก็เหมือนโดนสูบพลัง ดังนั้นต้องระวังคนแบบนี้ให้ดี
2. คนชอบอวดเบ่ง
คนแบบนี้มักพูดโอ้อวดตัวเองให้ฟัง และในทางกลับกันจะชอบพูดกดคนอื่นให้คุณฟัง หรือขัดจังหวะเวลาคุณพูด แล้วเกทับด้วยว่า “แค่นั้นไม่เท่าไหร่หรอก ฉันน่ะเจอมายิ่งกว่านั้น” การเจอคนแบบนี้ทุกวัน ทำให้อึดอัดไม่ใช่น้อย
3. คนชอบล่วงละเมิด
แม้ยุคนี้จะให้ความสำคัญเรื่องการล่วงละเมิดมากขึ้น แต่ยังมีอีกหลายคนที่ทำพฤติกรรมแบบนี้จนติดเป็นนิสัย โดยที่พวกเขาไม่รู้ว่าตัวเองกำลังทำร้ายจิตใจผู้อื่น หรือกำลังทำให้ผู้อื่นไม่สบายใจ คนประเภทนี้จึงเป็นคนที่กดดันให้คนรอบข้างทุกข์ทรมานมากที่สุด
4. คนชอบบงการ
คนประเภทนี้ชอบใช้อำนาจละเมิดลูกน้อง หรือผู้ที่มีตำแหน่งต่ำกว่า ส่วนใหญ่มักเรียกร้องให้อีกฝ่ายทำในสิ่งที่เกินรับไหว เมื่อพิจารณาแล้วคุณอาจพบว่ารอบตัวคุณมีคนประเภทนี้เยอะเลย
5. คนชอบปัดความรับผิดชอบ
คนประเภทนี้อาจพบเห็นได้ทั่วไป อาจเป็นเพื่อนร่วมงานที่ชอบผลักความรับผิดชอบให้คนอื่นที่ไม่มีปากมีเสียง ดังนั้นคุณต้องปกป้องตัวเอง เพื่อที่เขาจะได้ไม่ปัดความรับผิดชอบมาให้
ถ้ามีคนเหล่านี้อยู่ในที่ทำงาน ไม่ใช่แค่คนรอบข้างที่จะรู้สึกไม่ชอบใจ แต่ยังทำให้บรรยากาศในที่ทำงานย่ำแย่ด้วย วิธีที่ง่ายและได้ผลดีที่สุดในการรับมือกับคนเหล่านี้คือ การเว้นระยะห่าง ตามคำโบราณที่ว่า “อย่าแกว่งเท้าหาเสี้ยน” แต่ในความเป็นจริงเราไม่อาจเว้นระยะห่างกับทุกคนได้ ในหนังสือจิตวิทยาตีเนียนเล่มนี้ได้แนะนำเคล็ดลับเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ช่วยให้เข้าใจภูมิหลังทางจิตวิทยาของคนเหล่านี้ บวกกับเทคนิคการเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมของคุณสักหน่อย เท่านี้คุณก็จะรู้สึกสบายใจมากขึ้นและไม่เจ็บปวดอีกต่อไป
ถ้าต้องอยู่กับคนน่ารำคาญต้องทำยังไง เรามักจะคิดว่าอยากเปลี่ยนแปลงคนน่ารำคาญ อยากแก้ไขนิสัยไม่ดีของเขา แต่คนเหล่านี้คงเปลี่ยนอะไรไม่ได้ ไม่เพียงแค่คุณจะเสียทั้งเวลาและพลังงานเท่านั้น ในกรณีเลวร้ายที่สุดยังอาจทำให้เกิดรอยร้าวในความสัมพันธ์โดยไม่จำเป็น สิ่งสำคัญในการอยู่ร่วมกับคนน่ารำคาญคือ การเข้าใจว่าอีกฝ่ายเป็นคนแบบไหน เพื่อให้รับมือกับพวกเขาได้อย่างราบรื่น เรามาวิเคราะห์คนน่ารำคาญทั้ง 5 แบบอย่างทะลุปรุโปร่งกันครับ
1. คนขี้นินทา
คนเหล่านี้จะไม่ยอมให้ใครโดดเด่นกว่าตัวเอง ทั้งเรื่องการทำงานไปจนถึงรูปลักษณ์ภายนอก และจะแสดงออกอย่างสุดโต่งกับคนที่พวกเขามองว่าแย่กว่าตัวเอง พวกเขาจะพยายามดึงคนที่ตัวเองสู้ไม่ได้ให้ตกต่ำลงมาโดยการพูดลับหลัง
2. คนชอบอวดเบ่ง
คนเหล่านี้ยับยั้งใจไม่ให้เรียกร้องความสนใจไม่ได้ พวกเขาอยากให้คนอื่นคิดว่าตัวเองเป็นคนยอดเยี่ยมหรือเป็นคนพิเศษ จริง ๆ แล้วพวกเขาหลงตัวเองเป็นทุนเดิม ประเมินตัวเองและมองความสามารถของตัวเองสูงเกินไป พวกเขามีปมด้อยและกังวลอย่างมาก จึงพยายามทำให้คนรอบข้างยอมรับว่าตัวเองดีเลิศเกินความจำเป็น
3. คนชอบล่วงละเมิด
ในที่นี้การล่วงละเมิดคือ การทำสิ่งที่อีกฝ่ายไม่ชอบ คนประเภทนี้คล้ายกับคนชอบอวดเบ่ง แม้ปัจจุบันจะตระหนักถึงปัญหาการล่วงละเมิด แต่ก็มีคนหัวเก่าที่รู้สึกว่าตัวเองก็ทำแบบนี้เป็นปกติมาตลอด หรือพูดว่าแค่หยอก ๆ ไม่ได้ตั้งใจ คนประเภทนี้นอกจากต้องการเรียกร้องความสนใจหรือหลงตัวเองแล้ว ยังเป็นพวกที่ขาดความเห็นอกเห็นใจและขาดความสามารถในการคาดเดาความรู้สึกของคนอื่นอีกด้วย
4. คนชอบบงการ
คนเหล่านี้คิดว่าโลกหมุนรอบตัวเอง เชื่อว่าคนรอบข้างต้องเสียสละเพื่อเขา
5. คนชอบปัดความรับผิดชอบ
คนเหล่านี้กลัวว่าตัวเองจะถูกโกรธ จึงผลักความรับผิดชอบให้คนอื่นแทน บางคนเป็นคนที่มีอัตตาสูง เคยประสบความสำเร็จมาเพียงเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่คิดไปเองว่า “ฉันไม่มีทางทำผิดพลาดหรอก” คนเหล่านี้จึงผลักภาระให้ผู้อื่น เพราะคิดว่าความสำเร็จต้องมาจากฉัน ส่วนความล้มเหลวนั้นมาจากคนอื่น
รู้ไหมครับว่าเป้าหมายของคนน่ารำคาญเหล่านี้ไม่ใช่จะเป็นใครก็ได้ พวกเขาจะเลือกคนที่ใช้งานได้สะดวก หรืออาจเป็นคนที่ไม่มีปากมีเสียง รวมทั้งคนที่ไม่ก่อให้เกิดปัญหาตามมาทีหลัง ซึ่งคนที่ถูกเลือกเป็นเป้าหมายมักมีจุดร่วมเหมือนกันคือ คนที่คิดว่าต้องรักษาความราบรื่นในความสัมพันธ์กับผู้อื่น แม้ต้องเสียสละตัวเองก็ตาม จึงไม่อยากมีปากมีเสียงไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร
คนที่ทุกข์ใจเรื่องความสัมพันธ์มักเป็นคนจิตใจดี มักคิดว่าแม้ตัวเองจะโดนทำร้ายบ้างก็ไม่เป็นไร ดังนั้นเวลาที่ตกเป็นเหยื่อของคนน่ารำคาญ จึงถูกทำร้ายจิตใจอย่างเต็มที่ คุณไม่จำเป็นต้องฝืนทำตัวสนิทสนมกับใคร หรือไม่ต้องพยายามทำตัวไม่ให้มีใครเกลียด สิ่งที่ผู้เขียนอยากบอกคือ เราไม่สามารถเป็นที่รักของทุกคนได้
หนังสือได้แนะนำวิธีรับมือกับคนน่ารำคาญที่อยู่ในสถานะต่าง ๆ ทั้งหัวหน้าที่น่ารำคาญ, ลูกน้องที่น่ารำคาญ, เพื่อนร่วมงานที่น่ารำคาญ และลูกค้าที่น่ารำคาญ เรามาดูวิธีรับมือกับคนน่ารำคาญทีละแบบ เริ่มจากหัวหน้าที่น่ารำคาญครับ
ที่ทำงานไม่ใช่พื้นที่ส่วนตัว ดังนั้นถึงไม่อยากเจอคนที่ไม่ชอบ แต่ก็เลี่ยงได้ยาก ผู้เขียนได้แนะนำตั้งแต่ต้นว่าวิธีรับมือกับคนน่ารำคาญที่ดีที่สุดคือ การเว้นระยะห่าง หากคุณมีหัวหน้าที่น่ารำคาญ จ้องเอาเปรียบและโยนความผิดให้คุณ ก่อนอื่นลองปรึกษาผู้บริหารที่ตำแหน่งสูงกว่าหัวหน้าคนนั้นดู หรือปรึกษาฝ่ายบุคคลเพื่อลองขอยื่นเรื่องย้ายแผนกดู
แต่ถึงขอคำปรึกษาไปแล้ว อาจใช้เวลานานกว่าจะได้รับการแก้ไข ผู้เขียนได้แนะนำเทคนิคป้องกันตัวจากหัวหน้าที่ทำได้ง่าย ๆ เทคนิคแรกคือ ระหว่างที่สนทนาด้วย ควรตอบโต้ให้น้อยที่สุด ไม่ทำตามความต้องการของอีกฝ่ายอย่างว่าง่าย ถ้าคุณยอมตอบรับเป็นประจำ อีกฝ่ายจะใช้ประโยชน์จากความใจอ่อนของคุณ แล้วเรียกร้องจากคุณมากขึ้นเรื่อย ๆ
เทคนิคต่อมาเป็นการสร้างภาพลักษณ์ให้เป็นคนมีจิตใจเข้มแข็ง ไม่ทำตัวให้ดูรู้ว่าเราเป็นคนขาดความมั่นใจ โดยสามารถเริ่มต้นได้ง่าย ๆ จากการเปลี่ยนน้ำเสียงที่ใช้พูดให้ทุ่มต่ำและพูดช้า ๆ ซึ่งไม่เพียงแค่ให้ภาพลักษณ์ที่ดูสุขุมใจเย็น แต่ยังให้ความรู้สึกน่าเกรงขามที่ทำให้คนอื่นไม่กล้ามายุ่มย่าม
นอกจากนี้ระหว่างที่คุยกันควรสบตาอีกฝ่าย เพราะถ้าไม่ยอมสบตา อีกฝ่ายจะคิดว่าเรากลัวและขาดความมั่นใจ บางคนอาจคิดว่าหากสบตาอีกฝ่ายอยู่ตลอดอาจถูกเข้าใจผิด จะใช้วิธีละสายตาทุก ๆ 10 วินาทีก็ได้ หรือหากกลัวอีกฝ่ายจนไม่กล้ามองตา ให้มองที่หว่างคิ้วของเขาแทน
หากหัวหน้าโยนงานที่นอกเหนือความรับผิดชอบของคุณมาให้ ในเวลาแบบนี้คุณควรพูดว่า “อาจไม่ค่อยสะดวกนะครับ” หรือให้บอกถึงความตั้งใจว่าอยากทำ แต่คงทำให้เสร็จภายในวันที่อีกฝ่ายต้องการไม่ได้ เช่น “ผมก็อยากรับปากนะครับ แต่กำลังติดงานอื่นอยู่ คงทำให้เสร็จได้ภายในวันจันทร์หน้าครับ”
คุณไม่จำเป็นต้องสร้างความประทับใจที่ดีแก่หัวหน้าที่ชอบเอาเปรียบ แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องสร้างความประทับใจที่แล้วร้ายแทน สิ่งที่คุณควรทำคือรักษามารยาทเพื่อเป็นพื้นฐานในการเข้าสังคม เพื่อไม่เปิดช่องให้อีกฝ่ายจับผิดเราได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรักษาเวลาและกล่าวทักทาย ถือว่าเป็นมารยาทพื้นฐานที่สุด หากละเลยคุณอาจตกเป็นประเด็นในวงสนทนา และสูญเสียความไว้วางใจจากเพื่อนร่วมงานได้
วิธีรับมือกับลูกน้องที่เป็นปัญหา
เรื่องนี้อาจพบได้ไม่บ่อยเท่าลูกน้องที่ทุกข์ใจเพราะหัวหน้า แต่ก็มีหัวหน้าอยู่จำนวนไม่น้อยที่รู้สึกลึก ๆ ว่าความสัมพันธ์ของตัวเองกับลูกน้องไม่ราบรื่น หากเทียบกันแล้วหัวหน้าถือว่าอยู่ในตำแหน่งที่ได้เปรียบกว่าลูกน้อง ดังนั้นคนจึงคิดว่าถึงมีปัญหาจะไม่แก้ก็ได้ แต่หากคนเป็นหัวหน้าปิดหูปิดตา ลูกน้องที่คับข้องใจอาจระเบิดอารมณ์ออกมาในที่สุด เมื่อคุณรู้สึกว่าเข้ากับลูกน้องไม่ได้ หรือรู้สึกรำคาญลูกน้อง ก็จำเป็นต้องหามาตรการรับมือแล้ว
ก่อนอื่นคุณต้องดูให้แน่ใจก่อนว่าลูกน้องคนนั้นเป็นคนน่ารำคาญจริงหรือเปล่า บางทีคุณอาจไม่รู้ว่าลูกน้องต้องการอะไร ตัวอย่างเช่นคุณอาจเป็นคนที่ต้องการบรรลุเป้าหมายสูงสุดในชีวิตด้วยการทำงาน และคิดว่าลูกน้องต้องคิดแบบเดียวกับคุณ แต่ลูกน้องอาจไม่ได้คิดอย่างนั้นเสมอไป
เมื่อเป็นพนักงานบริษัท ความรับผิดชอบที่ต้องทำอยู่แล้วคือการสร้างผลงานผ่านการทำงาน การบังคับคนที่ทำหน้าที่ของตัวเองได้ดีอยู่แล้ว ให้อุทิศตนและทำเกินหน้าที่ ถือเป็นการใช้อำนาจล่วงละเมิด ดังนั้นคุณต้องรู้ว่าสิ่งที่ตัวเองปรารถนา ไม่ใช่สิ่งที่ลูกน้องปรารถนาเสมอไป บางคนมองว่าการทำงานเป็นแค่ส่วนหนึ่งของชีวิต ไม่ใช่ทั้งหมดของชีวิต
เมื่อคุณพิจารณาดูแล้วว่าลูกน้องคนนั้นเป็นปัญหาจริง ๆ ลองมาดูวิธีการจัดการที่ผู้เขียนแนะนำกันครับ
วิธีรับมือกับลูกน้องที่ไม่ฟังสิ่งที่คนอื่นพูด
บางคนยึดติดกับวิธีการของตัวเอง โดยไม่ฟังคำแนะนำของหัวหน้าและเพื่อนร่วมงาน ทั้งที่ตัวเองก็ไม่มีประสบการณ์ คนประเภทนี้มีความเย่อหยิ่งสูง และมักทำงานแบบดันทุรัง ถ้าคุณปล่อยให้เขาทำตามใจตัวเองจะถือเป็นการให้ความสำคัญผิด จนทำให้คนรอบข้างเดือดร้อน
วิธีรับมือกับลูกน้องประเภทนี้คือ ให้เขารายงานความคืบหน้าเป็นระยะ และอธิบายเหตุผลให้เขาเข้าใจด้วย ตัวอย่างคำพูดเช่น
“ในกรณีที่เกิดปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อองค์กร ผมที่เป็นหัวหน้าต้องอธิบายสถานการณ์และเป็นผู้รับผิดชอบ ดังนั้นจึงอยากให้คุณรายงานความคืบหน้าเป็นระยะ เพื่อที่จะได้รู้ว่าเราเข้าใจตรงกัน”
แทนที่จะบังคับให้เขาทำตาม คุณควรแนะนำทิศทางการทำงาน พร้อมกับให้เกียรติลูกน้องไปพร้อมกันด้วย
วิธีรับมือเมื่อลูกน้องพูดเรื่องไม่ดี หรือเรื่องที่ทำให้หมดอารมณ์ทำงาน
คนที่ทำให้คนรอบข้างหมดกำลังใจ มักไม่รู้ว่าพฤติกรรมของตัวเองส่งผลเสียต่อคนรอบข้าง เขาคิดว่า “ฉันแค่พูดเรื่องจริงเท่านั้นเอง” ดังนั้นต้องทำให้เขาเข้าใจก่อนว่า ตราบใดที่ยังทำให้คนอื่นรู้สึกไม่ดี การกระทำของเขาที่ส่งผลเสียต่อคนทั้งทีมนั้นถือว่าเป็นปัญหา
การจะสอนลูกน้องประเภทนี้ คุณจะถูกต่อต้านอยู่ดี ดังนั้นควรพยายามกระตุ้นให้พวกเขาปรับปรุงตัวด้วยการทำให้รู้ว่าคนที่เสียประโยชน์คือตัวเขาเอง จงบอกเขาว่า ไม่ใช่แค่คนที่ฟังเท่านั้นที่จะเสียความรู้สึก แต่เขายังทำให้บรรยากาศการทำงานแย่ลง และถึงแม้เขาจะพยายามทำงานอย่างหนัก แต่ภาพลักษณ์ของเขาในสายตาคนรอบข้างก็จะแย่ลงอยู่ดี
วิธีรับมือกับลูกน้องที่ไม่ยอมทำตามคำสั่ง
คนเป็นหัวหน้าอาจคิดว่าคำสั่งของหัวหน้าถือเป็นคำขาด แต่คนทำงานในยุคนี้ถ้าไม่รู้เหตุผลของงานที่ตัวเองทำ หรือมองไม่เห็นเป้าหมาย บางคนก็จะไม่เกิดแรงจูงใจ ไม่อยากทำงาน หรือทำงานไม่ได้
ลูกน้องอาจไม่ได้ตั้งใจขัดคำสั่ง แค่ลูกน้องอาจไม่เข้าใจจุดประสงค์ของหัวหน้า ดังนั้นหัวหน้าต้องอธิบายจุดประสงค์ของงานอย่างรอบคอบเพื่ออุดช่องว่างนี้
เวลาคุณออกคำสั่งต้องอธิบายภาพรวมของงาน บอกให้รู้ว่าทำไมต้องสั่งแบบนี้ ทำไมต้องเป็นเขาที่เป็นคนทำ จุดประสงค์ที่เป็นรูปธรรมคืออะไร และในอนาคตเขาจะได้อะไรจากการทำงานนี้ วิธีเหล่านี้ช่วยให้ลูกน้องทำงานได้อย่างสบายใจ
ทำยังไงจึงจะไม่ถูกเพื่อนร่วมงานเอาเปรียบ
เมื่อคนจำนวนหนึ่งมารวมตัวกันเพื่อทำอะไรบางอย่าง จะเกิดพลังงานที่เรียกว่า “แรงกดดันจากคนหมู่มาก” ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มความสามัคคีในหมู่คณะ เช่น “เมื่อไหร่ที่บริษัทลำบาก พวกเรามาลำบากด้วยกันเถอะ” แต่ถ้ามีมากเกินไป อาจเป็นสาเหตุให้เกิดความอึดอัด
บางคนทำงานหนักจนอ่อนล้าและป่วย แต่ก็ไม่กล้าลาหยุด เพราะคิดว่า “ขณะที่ทุกคนกำลังลำบาก หากฉันลาหยุด คนอื่นจะคิดว่าฉันเอาเปรียบหรือเปล่านะ” นี่เป็นตัวอย่างที่พบได้ทั่วไปของการถูกแรงกดดันจากคนหมู่มากควบคุม หากคุณปรับตัวและยอมทำทุกอย่างโดยไม่กล้าปฏิเสธ คุณจะเริ่มถูกเพื่อนน่ารำคาญเรียกใช้wfhอย่างสะดวก
ผู้เขียนแนะนำให้รักษาระยะห่างที่เหมาะสมกับเพื่อนร่วมงาน โดยระยะห่างที่ว่านี้ไม่จำเป็นต้องทำให้เท่ากันสำหรับทุกคน ระยะห่างที่เหมาะสมสำหรับคนในที่ทำงานคือระยะห่างที่ไม่ใกล้หรือไกลเกินไป เป็นระยะห่างที่ไม่ก่อให้เกิดความตึงเครียด ทั้งกับเราและอีกฝ่าย
สำหรับคนในที่ทำงาน การคุยด้วยแค่เรื่องงานตามบทบาทหน้าที่ของกันและกันก็เพียงพอแล้ว ถ้าอยากสนิทสนมกับอีกฝ่ายมากขึ้น คุณสามารถเข้าหาเขานอกเหนือจากหน้าที่การงานได้ ด้วยการไปกินมื้อเที่ยง หรือเล่าเรื่องเกี่ยวกับตัวเองให้เขาฟัง
กับคนที่น่ารำคาญหรือคนที่เข้ากับเราไม่ได้ ผู้เขียนแนะนำให้ใช้วิธีคิดว่า “เขาจะเกลียดเราและไม่เข้ามาชวนคุยก็ไม่เป็นไร” ทางลัดในการหลีกเลี่ยงการยุ่งเกี่ยวกับคนน่ารำคาญคือ ทำให้เขาคิดว่า “ไอ้นี่ไม่เป็นมิตรเลยแฮะ” ถ้าคุณลดโอกาสในการพูดคุยกับคนน่ารำคาญได้ ความตึงเครียดจากการสื่อสารก็จะลดน้อยลงไปด้วย
ถ้าคุณรู้สึกว่าคนน่ารำคาญล้ำเส้นเข้ามาเกิดจุดที่คุณสะดวกใจแล้ว ให้ลองเปลี่ยนท่าที โดยระหว่างที่เขาพูดให้แสดงท่าทีว่าเราไม่ได้สนิทกัน และไม่อยากให้เขาเข้ามาใกล้ เช่น เบนสายตาไปทางอื่น กอดอก หรือไม่สบตา เป็นต้น
วิธีปฏิเสธโดยไม่ทำให้อีกฝ่ายเสียน้ำใจ
ผู้เขียนได้แนะนำ 3 ขั้นตอนดังนี้
- แสดงความขอบคุณ
- บอกเหตุผลและกล่าวขอโทษ
- บอกว่าไว้โอกาสหน้า
สมมุติว่ามีเพื่อนร่วมงานมาขอให้คุณช่วยทำงาน ทั้งที่ใกล้จะถึงเวลาเลิกงานแล้ว คุณอาจปฏิเสธด้วยประโยคที่ว่า
“ขอบคุณที่มาขอให้ผมช่วยนะครับ แต่ผมมีนัดกับเพื่อนสนิทที่ไม่ได้เจอกันนาน ต้องขอโทษจริง ๆ ไว้คราวหน้าลองมาถามใหม่นะครับ”
เมื่อปฏิเสธผู้อื่นด้วย 3 ขั้นตอนตามนี้ แม้คุณจะไม่ได้ให้ความร่วมมือช่วยเหลือ แต่คุณยังมีภาพลักษณ์เป็นคนอ่อนน้อม และอีกฝ่ายสามารถยอมรับคำปฏิเสธด้วยความรู้สึกว่า “ถ้างั้นก็ไม่เป็นไรแล้วกัน”
วิธีรับมือกับเพื่อนร่วมงานที่ชอบอวดเบ่ง
คนที่ชอบอวดเบ่งคือ คนที่ขาดความมั่นใจในตัวเองและมีความกังวลอยู่ในใจ คนแบบนี้มีทั้งแบบที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว ส่วนใหญ่พยายามรักษาความภาคภูมิใจ ด้วยการเล่าเรื่องอวดเบ่ง และกลบปมด้อยตัวเองโดยการดูถูกคนอื่น
ถ้าคนประเภทนี้มองว่าคุณเป็นคู่แข่ง เขาจะพยายามอวดสรรพคุณว่าตัวเองเหนือกว่า ถ้าคุณตอบโต้เขาตรง ๆ เขาก็จะตอบโต้กลับมาหนักขึ้นเรื่อย ๆ ยิ่งสู้คุณยิ่งเสียพลังโดยใช่เหตุ ดังนั้นคุณแค่ทำเป็นรับฟัง ฟังแบบปล่อยผ่าน แล้วรอให้เขาเลิกไปเอง
ช่วงแรกอาจรู้สึกยากที่ต้องฟังแบบปล่อยผ่าน เป้าหมายของคนที่ชอบอวดเบ่งคือ พูดจายั่วยุกวนประสาทเพื่อให้คุณรำคาญและตอบโต้ เพราะพวกเขาสนุกกับการโต้เถียงกับคุณ เมื่อไหร่ที่เขาเริ่มพูดอวดเบ่ง ให้พยายามตั้งสติ อย่าสนใจคำพูดเหล่านั้น
วิธีรับมือกับเพื่อนร่วมงานที่ชอบโยนความผิด
คนแบบนี้ต้องระวัง เพราะการอดทนช่วยแก้ปัญหาไม่ได้ คนที่ชอบโยนความผิดจะคิดว่าการขอโทษเป็นการยอมรับความผิดพลาด และการยอมรับความผิดพลาดทำให้คุณค่าความเป็นมนุษย์ลดต่ำลง จึงจะไม่ยอมขอโทษใครเด็ดขาด ทั้งที่ความผิดพลาดด้านการทำงาน ไม่เกี่ยวข้องกับคุณค่าความเป็นมนุษย์เลยก็ตาม
วิธีรับมือไม่ให้ตกเป็นเหยื่อที่จะโดนโยนความผิดให้ ต้องเริ่มจากป้องกันไว้ตั้งแต่แรก โดยการไม่รับคำสั่งปากเปล่า ต้องสั่งงานกันแบบมีลายลักษณ์อักษร ไม่ว่าจะผ่านอีเมลหรือโปรแกรมแชตก็ได้ เมื่อเราทิ้งหลักฐานว่าขอบเขตความรับผิดชอบของเรามีอะไรบ้างก็หายห่วงแล้ว
นอกจากนี้พยายามหลีกเลี่ยงการสื่อสารกันแบบตัวต่อตัวเพียงสองคน ถ้าจะพูดคุยกับเขาให้หาบุคคลที่สามเข้ามาเอี่ยว หากมีปัญหาเกิดขึ้นภายหลัง เราจะได้มีพยานบุคคล
วิธีรับมือกับเพื่อนร่วมงานที่เลือกทำแค่สิ่งที่ตัวเองถนัด แล้วโยนงานอื่นให้เราทำ
แต่ละคนมีงานที่ตัวเองถนัดและไม่ถนัด งานที่ชอบและไม่ชอบ แต่คนประเภทนี้จะเลือกทำแค่งานที่ตัวเองอยากทำ แล้วให้คนอื่นทำสิ่งที่เหลือ กรณีนี้ให้ปรึกษาหัวหน้างานอย่างไม่ต้องลังเล เพราะหัวหน้ามีหน้าที่กระจายงานอยู่แล้ว
คนที่เลือกทำแต่งานที่ตัวเองอยากทำนั้นมีจุดประสงค์บางอย่าง อาจเพราะเป็นงานที่สะดวกสบายสำหรับเขา หรือเป็นงานที่ทำแล้วส่งผลให้การประเมินออกมาดี ไม่ว่าจะอย่างไหนคุณไม่ควรให้เขาทำเฉพาะสิ่งที่อยากทำ แล้วโยนงานอื่นให้คนอื่น
วิธีรับมือกับลูกค้าที่เรียกร้องอย่างไม่สิ้นสุด
หลายคนทุกข์ใจเพราะลูกค้าเจ้าปัญหา สาเหตุมาจากแนวคิด “ลูกค้าคือพระเจ้า” และ “คนจ่ายเงินคือคนถูกเสมอ” ยิ่งยุคนี้เป็นยุคโซเชียลที่ทุกอย่างแพร่เร็วมาก แม้จะเป็นเรื่องเล็ก ๆ ก็อาจถูกลูกค้าขู่ว่าจะเอาไปประจานในโซเชียล เมื่อปล่อยให้เป็นแบบนี้ ลูกค้าคนอื่นจะพากันทำตาม
สิ่งที่ผู้เขียนแนะนำคือ ควรใช้เวลาโต้ตอบกับลูกค้าแบบตัวต่อตัวเพียง 10 นาทีเท่านั้น ลูกค้าประเภทเจ้าปัญหาจะเรียกร้องต่อไป จนกว่าเราจะทำตามความต้องการของเขา ซึ่งการมองไม่เห็นจุดจบของสถานการณ์ที่น่าปวดหัว ค่อนข้างสร้างความทุกข์ทรมานทางจิตใจมากทีเดียว
เมื่อคุณรับมือกับลูกค้าเจ้าปัญหาครบ 10 นาทีแล้ว ให้บอกลูกค้าว่า “ขออนุญาตเปลี่ยนให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงมาเจรจานะครับ” แล้วให้หัวหน้าเข้ามาคุย ถ้าหัวหน้าเจรจาเป็นเวลา 10 นาทีแล้ว ให้เสนอแนะไปว่า “ผมขอนำความเห็นของคุณลูกค้าส่งต่อไปให้สำนักงานใหญ่ ขอความกรุณาคุณลูกค้ามาติดต่อใหม่วันหลังได้ไหมครับ”
ลูกค้าเจ้าปัญหาเหล่านี้เป็นคนที่ใช้อารมณ์เป็นหลัก ดังนั้นในสถานการณ์ที่เขาหัวร้อน ถึงคุณพูดอะไรไปเขาก็ไม่รับฟัง คุณควรบอกให้เขาเลือกวันอื่น เป็นการรอให้เขาใจเย็นลงโดยใช้เวลาเป็นตัวช่วย
สิ่งที่ไม่ควรทำเมื่อรับมือกับลูกค้าเจ้าปัญหาคือ ไม่ว่าจะกลัวแค่ไหนก็อย่าตื่นตระหนกหรือทำตัวลนลานเด็ดขาด ให้พยายามแสดงท่าทีเด็ดเดี่ยวกล้าหาญ ถ้าอีกฝ่ายเห็นว่าคุณดูอ่อนแอ เขาจะพูดสั่งสอนไม่หยุด
อีกสิ่งที่ไม่ควรทำคือ การพยายามทำให้ลูกค้าที่กำลังโกรธใจเย็นลง เพราะการทำอะไรที่เป็นการพยายามปลอบใจ จะยิ่งทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าคุณกำลังควบคุมความโกรธของเขา ดังนั้นทางที่ดีคุณควรตั้งใจฟังสิ่งที่อีกฝ่ายพูด ให้อีกฝ่ายระบายออกมาให้หมดว่าทำไมถึงโกรธ แม้จะรู้สึกว่าไม่สมเหตุสมผลก็อย่าโต้เถียง
ถ้าลูกค้าโกรธจัดจนพูดด้วยไม่รู้เรื่อง แม้คุณจะพยายามทำความเข้าใจ และเปลี่ยนคนมารับมือแทนแล้ว แต่ถูกค้าก็ยังโกรธไม่หยุด ให้พูดประโยคหนึ่งที่ใช้ได้ผลทันทีในสถานการณ์แบบนี้ นั่นคือ “ทางเราต้องขอปรึกษากับทนายของบริษัทก่อนนะครับ”
แม้บริษัทของคุณจะไม่มีทนาย แต่ก็ไม่เป็นไร เพราะจุดประสงค์คือการตัดบทสนทนาด้วยการทำให้อีกฝ่ายชะงักกับคำว่าทนาย และถ้าแกล้งทำเป็นขอข้อมูลส่วนตัวของอีกฝ่ายว่า “หากได้เรื่องจากทนายแล้ว ผมจะติดต่อกลับไปนะครับ รบกวนขอข้อมูลติดต่อของคุณลูกค้าไว้ได้ไหมครับ” แบบนี้จะเป็นการสร้างแรงกดดันให้เขาได้มากยิ่งขึ้น
ความสัมพันธ์กับคนในที่ทำงานเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ง่าย ๆ แต่อย่างไรก็ตาม คุณไม่จำเป็นต้องอดทนกับปัญหาหรือเรื่องยุ่งยากอยู่คนเดียว จนสภาพจิตใจทรุดโทรม ลองนำเทคนิคจากในหนังสือเล่มนี้ไปใช้ดู เพื่อรับมือกับปัญหาด้วยความพอดี โดยไม่จำเป็นต้องเผชิญหน้ากับปัญหาอย่างเต็มร้อยเสมอไป
ใครที่สนใจอยากรู้เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้เพิ่มเติม สามารถหามาอ่านได้ครับ กับหนังสือ “จิตวิทยาตีเนียน เพื่อจัดการคนน่ารำคาญ” หนังสือเขียนโดย อิโนะอุเอะ โทโมะสุเกะ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์วีเลิร์น ราคา 255 บาท
Leave a comment