โอชิ เขียนทุกอย่างให้กลายเป็น VIRAL เทคนิคการเขียนที่ใช้ได้กับทุกสิ่งบนโลก

Share
Share

โลกยุคนี้เป็นยุคที่อินเตอร์เน็ตเข้าถึงได้ทุกที่ คนทุกเพศทุกวัยล้วนใช้งานอินเตอร์เน็ตได้ง่าย ๆ เป็นยุคของข้อมูลข่าวสารที่ใครก็พิมพ์และแชร์ข้อมูลให้กันได้ ทำให้ชีวิตเราสะดวกสบายมากขึ้น แต่ถึงอย่างนั้นยุคนี้ก็เป็นยุคที่ข่าวปลอมแพร่กระจายได้ง่ายมากที่สุด เช่น เหตุการณ์ที่เมืองหนึ่งของเม็กซิโกในปี 2018 เกิดเหตุชาวบ้านรุมประชาทัณฑ์ชาย 2 คนจนเสียชีวิตเพราะมีข่าวปลอมว่า 2 คนนี้ลักพาตัวเด็กเพื่อเอาไปขายอวัยวะ

เราเห็นแล้วว่าอินเตอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียไม่ใช่เทคโนโลยีในฝันที่มีแต่ข้อดี เพราะมันสามารถนำความอ่อนแอของมนุษย์มาใช้ประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นการปั้นน้ำเป็นตัว สร้างความเกลียดชัง การหลอกเอาเงิน การรับจ้างเขียนรีวิวเกินจริง หรือนำข้อมูลส่วนตัวของเราไปใช้ในเชิงฉ้อโกง

แต่หากมองอีกมุม การที่ใคร ๆ ก็สามารถพิมพ์และส่งต่อข้อมูลอะไรก็ได้ ทำให้เราแบ่งปันสิ่งที่เราชอบให้ผู้อื่นได้รับรู้ ผู้เขียนยกคำว่า “โอชิ” มาใช้ คำนี้มีความหมายถึงการนิยมชมชอบอะไรบางอย่าง อาจจะเป็นภาพยนตร์ อนิเมะ ไอดอล ร้านอาหาร เกม จะเป็นอะไรก็ได้ทั้งนั้น โดยการบอกโซเชียลมีเดียว่าเราชอบสิ่งนี้เพื่อเผยแพร่มันออกไปให้กว้างขึ้น ซึ่งเราสามารถทำให้คนอื่น ๆ ประทับใจแบบเดียวกับที่เรารู้สึกได้

ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้เริ่มต้นเขียนบล็อกเกี่ยวกับเกมอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2014 จนมีผู้อ่านมากถึง 25 ล้านครั้ง ในหนังสือ “โอชิ เทคนิคเขียนทุกสิ่งให้กลายเป็น Viral” ผู้เขียนจะมาแชร์เทคนิคการถ่ายทอดข้อมูลสู่โลกอินเตอร์เน็ตเพื่อดึงดูดให้คนมาสนใจในสิ่งที่เราชอบ

คำว่า “โอชิ” มาจากคำเต็ม ๆ ว่า “โอชิเมมเบอร์” เป็นคำที่ใช้ในแวดวงแฟนคลับไอดอล หมายถึงสมาชิกวงที่เราชื่นชอบเป็นพิเศษ จากนั้นคำนี้ได้แพร่หลายไปในหมู่คนที่ชื่นชอบวัฒนธรรมป๊อบกลุ่มอื่น ๆ ด้วย

การเขียนถึงโอชิลงในอินเตอร์เน็ตผู้เขียนเรียกว่าเป็นการ “ดันโอชิ” ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไร การดันโอชิคือการบอกคนอื่น ๆ ว่าสิ่งที่เราชอบนั้นดียังไง เป็นการบอกปากต่อปาก แต่พอมาทำในโลกอินเตอร์เน็ตที่รวมคนเอาไว้มากมาย ผลลัพธ์ในการดันโอชิจึงส่งผลในวงกว้างมากกว่าการบอกเล่าแบบปากต่อปากเหมือนในอดีต

ในหนังสือเล่มนี้ผู้เขียนได้แนะนำ 18 เทคนิคในการเขียนดันโอชิ ให้เราสามารถดันสิ่งที่รักได้อย่างเต็มภาคภูมิและสร้างแฟนคลับหน้าใหม่ได้เป็นวงกว้าง ทุกวิธีผู้เขียนได้ลองใช้และประสบความสำเร็จมาแล้ว


1) ดันแบบอ้อม ๆ ด้วยเทคนิคดันแบบอุปมา

การบอกว่าโอชิเริ่ด เป็นการชมตรง ๆ ที่สื่อว่าโอชิของเราสุดยอดในระดับที่ไม่อาจหาคำใดมาอธิบายได้อีกแล้ว แต่สำหรับคนอื่นที่ไม่รู้จักโอชิ คำว่าเริ่ดไม่ได้สื่อสารเลยว่าโอชิของเรานั้นดียังไง ในการดันโอชิจึงต้องใช้วาทศิลป์ในการอุปมา ตัวอย่างเช่นการเขียนข้อความแนะนำร้านพิซซ่าว่า

ร้านพิซซ่าชื่อดังเจ้านี้ตั้งอยู่ในเขตหนึ่งของโตเกียว เจ้าของร้านเป็นคนเอาจริงเอาจังที่อบพิซซ่าโรยชีสเยอะ ๆ อย่างตั้งอกตั้งใจ พนักงานก็ยิ้มแย้มแจ่มใส ร้านเลยมีลูกค้าคึกคัดตลอด

เป็นข้อความที่ดูไม่เลว แต่ปัญหาคือมันให้ภาพลักษณ์เป็นร้านพิซซ่าทั่ว ๆ ไปที่หาที่ไหนก็ได้ ไม่ก่อให้เกิดความประทับใจหรือกระตุ้นให้อยากลองไปกินดู แต่หากลองใส่อุปมาเข้าไปดูล่ะ

ในเขตหนึ่งของโตเกียว ที่ร้านพิซซ่าแห่งหนึ่งที่คนเข้าคิวรอยาวเหยียด ที่ร้านนี้เจ้าของจะบรรจงอบพิซซ่าที่โรยชีสพูน ๆ เหมือนภูเขาให้ลูกค้าทีละถาด โดยที่ริมฝีปากเม้มแน่นจนเป็นเส้นตรง รอยยิ้มสดใสเปล่งประกายของพนักงานฉายแสงให้บรรยากาศในร้านดูอบอุ่น

คำว่า “ร้านพิซซ่าชื่อดัง” เปลี่ยนเป็น “ร้านพิซซ่าแห่งหนึ่งที่มีคนเข้าคิวรอยาวเหยียด” คำว่า “เอาจริงเอาจัง” เปลี่ยนเป็น “ริมฝีปากเม้มแน่นจนเป็นเส้นตรง” คำว่า “อบพิซซ่าโรยชีสเยอะ ๆ อย่างตั้งอกตั้งใจ” เปลี่ยนเป็น “บรรจงอบพิซซ่าที่โรยชีสพูน ๆ เหมือนภูเขาให้ลูกค้าทีละถาด” คำว่า “พนักงานยิ้มแย้มแจ่มใส” เปลี่ยนเป็น “รอยยิ้มสดใสจนเปล่งประกายของพนักงานฉายแสงให้บรรยากาศในร้านดูอบอุ่น”

เห็นได้ว่าความหมายที่ต้องการจะสื่อไม่ได้เปลี่ยนแปลง แต่สิ่งที่เพิ่มเข้ามาคือเอกลักษณ์และสีสันที่ทำให้คนอื่นนึกภาพตามได้ง่ายขึ้น นี่คือเทคนิคการดันแบบอุปมาที่ทำให้ผู้อ่านหรือผู้ฟังรู้สึกสนุกมากกว่าการบรรยายแบบตรง ๆ


2) “ดัน 3 เรื่อง” ที่เป็นจุดที่ชอบ

โอชิมีจุดที่ให้ชื่นชอบมากมายเต็มไปหมด สมมุติว่าโอชิของคุณคือภาพยนตร์ที่ดีมาก ๆ เรื่องหนึ่ง มีจุดที่อยากบอกคนอื่นมากมายหลายจุด ไม่ว่าจะเป็นนักแสดงที่เล่นได้สมบทบาท, บทที่มีจุดหักมุมที่คาดไม่ถึง, เพลงประกอบติดหู, ถ่ายภาพสวย หรือสามารถซื้อจาก iTune ได้ในราคาไม่ถึง 100 บาท

ผู้เขียนแนะนำให้เขียนจุดที่ชอบต่อโอชิออกมาเป็นข้อ ๆ ให้ครบถ้วน จากนั้นคัดสิ่งที่เขียนออกมาให้เหลือแค่ 3 เรื่อง เพราะการดันโดยใช้แค่ 3 เรื่อง มีประสิทธิภาพกว่าการดันแบบให้ข้อมูลเยอะ ๆ จำนวน 3 เรื่องคือปริมาณข้อมูลที่จะคงอยู่ในความทรงจำระยะสั้นของมนุษย์ได้ดีที่สุด


3) อะไรที่ไม่ควรเขียนก็อย่าเขียน ตัดชื่อเฉพาะกับคำคุณศัพท์ออกแล้ว “แทนที่”

ฝ่ายที่รับฟังการดันโอชินั้นไม่ได้มีใจรักและไม่ได้รู้จักเรื่องนั้นเท่ากับเรา นั่นคือช่องว่างระหว่างฝ่ายที่ดันโอชิกับฝ่ายที่รับฟัง การดันโอชิไม่สำเร็จก็เพราะตื้อพูดเรื่องที่ฟังไม่รู้เรื่องและไม่ได้สนใจให้ฟังอยู่นั่น ไม่ว่าใครโดนแบบนี้ก็คงเซ็ง

หน้าที่ของคนดันโอชิคือการถมช่องว่างระหว่าง 2 ฝ่าย โดยการตัดชื่อเฉพาะและคำคุณศัพท์ออกให้ได้มากที่สุด และแทนที่คำที่ถูกตัดด้วยคำที่เข้าใจง่าย ตัวอย่างเช่น สมมุติว่าเราจะดันเกม Call of Duty: Modern Warfare 3 ว่า

Call of Duty: Modern Warfare 3 เป็นเกมจากค่าย Activision ที่พัฒนาโดย Infinity Ward จัดเป็นภาคที่ 8 ของซีรีส์เกม FPS Call of Duty ที่โด่งดังระดับโลกด้วยความสมจริงและสนุกสุด ๆ ในเกมนี้สุดยอดหน่วยรบพิเศษนานาชาติ Task Force 41 ซึ่งมีสมาชิกอย่าง จอห์น ไพรซ์ และ จอห์น โซป แมคทาวิช จะต้องเอาชนะวลาดิเมียร์ มาคารอฟ ซึ่งเป็นพวกลัทธิคลั่งชาติของรัสเซียให้ได้

ทีนี้มาลองใช้เทคนิคตัดชื่อเฉพาะและคำคุณศัพท์ที่ไม่จำเป็นออกกันครับ จะได้ว่า

Call of Duty: Modern Warfare 3 เป็นเกมจากค่าย Activision ที่พัฒนาโดย Infinity Ward จัดเป็นภาคที่ 8 ของซีรีส์เกมยิง Call of Duty ในเกมนี้ตัวเอกอย่าง จอห์น ไพรซ์ และ จอห์น โซป แมคทาวิช แห่งหน่วยรบพิเศษนานาชาติต้องจัดการกับตัวร้ายที่เป็นผู้ก่อการร้ายให้ได้

พอตัดชื่อเฉพาะและคำคุณศัพท์ที่ไม่จำเป็นออกก็อ่านง่ายขึ้น แต่ถ้าตัดออกอย่างเดียวก็ทำให้เนื้อหาจืดชืด อ่านไม่สนุก ดังนั้นต้องแก้โดยการแทนที่ชื่อเฉพาะกับคำคุณศัพท์ทั้งหลายด้วยคำที่ฟังเข้าใจง่ายแทน ตัวอย่างเช่น

Call of Duty: Modern Warfare 3 เป็นเกมที่พัฒนาโดย Infinity Ward ทำยอดขายในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษได้สูงถึง 6.5 ล้านแผ่นภายในวันแรกที่วางจำหน่าย ในเกมนี้ตัวเอกจากหน่วยรบพิเศษนานาชาติอย่าง จอห์น ไพรซ์ และ จอห์น โซป แมคทาวิช ต้องเอาชนะผู้ก่อการร้ายให้ได้ เราจะได้สัมผัสกับประสบการณ์ในสนามรบผ่านมุมมองของทหารธรรมดาที่ไม่มีพลังพิเศษแบบสมจริง

เห็นได้ว่าข้อมูลที่ใส่เพิ่มเข้ามาคือยอดขายและความน่าสนุกของเกม หากอยากทำให้คนปกติที่ไม่ค่อยเล่นเกมหันมาสนใจ เราต้องตัดชื่อเฉพาะและคำคุณศัพท์ที่ไม่ช่วยสร้างความประทับใจทิ้ง แล้วแทนที่ด้วยข้อมูลที่แม้แต่คนที่ไม่ใช่แฟนคลับก็เข้าใจหรือจินตนาการตามได้ง่าย


4) เทคนิค “ดันด้วยการจัดอันดับ” ที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพ

เวลาจะซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าหรือหาโรงแรมทางออนไลน์ เรามักคลิกเข้าไปดูบทความประเภท “จัดอันดับมือถือที่ดีที่สุด” หรือ “แนะนำโรงแรมที่ดีที่สุด” การจัดอันดับเป็นอะไรที่คนชอบ บทความเหล่านี้ยอดผู้เข้าชมพุ่งสูงกว่าเดิมเป็น 10 เท่า วงการดนตรีก็มี Billboard Hot 100 แม้แต่มหาวิทยาลัยก็มีการจัดอันดับทางวิชาการ ทุกวงการมีการจัดอันดับ โลกเราเต็มไปด้วยการจัดอันดับอย่างแท้จริง

คนเราชอบการจัดอันดับเพราะมันสะดวก เนื่องจากเป็นการเอาข้อมูลมาเปรียบเทียบกันให้เห็นชัด ๆ เวลาที่เราหาข้อมูลอะไรสักอย่าง หากไม่มีอะไรมาเป็นตัวเปรียบเทียบก็ยากที่จะเข้าใจ ถ้าจะดันด้วยการจัดอันดับ อันดับแรกต้องกำหนดก่อนว่าจะใช้อะไรเป็นเกณฑ์หรือมาตรฐานในการพิจารณา เช่น ถ้าเงื่อนไขคือ “มือถือที่ถ่ายซูมได้ไกลและชัดที่สุด” อันดับ 1 อาจเป็น Galaxy S23 Ultra, ถ้าเงื่อนไขคือโทรศัพท์สำหรับเกมเมอร์ที่ดีที่สุด” อันดับ 1 อาจเป็น ASUS ROG Phone ทุกอย่างขึ้นกับเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่ตั้งไว้ว่าคืออะไร เมื่อเกณฑ์เปลี่ยน ผลหรืออันดับก็เปลี่ยนตามไปด้วย ดังนั้นหากอยากให้โอชิของเราอยู่ในอันดับดี ๆ ก็ต้องตั้งเงื่อนไขที่เอื้อให้กับโอชิของเรา


5) ยิ่งเร็วยิ่งดี หากอยากดันขึ้นมาก็ดันทันที อย่าลังเล

ถ้าอยากดันโอชิให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เคล็ดลับคือต้องรีบดันทันทีที่รู้สึกอยากดันขึ้นมา หลายคนคงมีประสบการณ์ทำนองนี้ ไปดูภาพยนตร์มาแล้วพบว่ามันยอดเยี่ยมมาก แล้วเอาไปคุยให้เพื่อนฟังอย่างออกรส ในตอนนั้นคุณหาจุดที่ชอบมาพูดดันได้เยอะแยะเต็มไปหมด แต่หลังจากนั้น 1 เดือน พอมีคนมาถามว่าหนังเรื่องนั้นดียังไง คุณอาจพูดดันได้แค่ครึ่งเดียวของที่เคยพูดตอนดูจบใหม่ ๆ ยิ่งถ้าผ่านไปสัก 1 ปี ก็คงจำได้ว่าเคยชอบมาก ๆ แต่ไม่รู้แล้วว่าทำไมถึงชอบ

ไม่มีประสบการณ์ไหนหอมหวานไปกว่าความรู้สึกตอนได้พบผลงานในอุดมคติเป็นครั้งแรก ความรู้สึกยินดีตอนได้พบกับโอชินั้นเจิดจรัสที่สุดในช่วงแรกสุด จากนั้นจะค่อย ๆ จืดจางลงตามกาลเวลา ดังนั้นควรดันโอชิทันทีเมื่อเจอสิ่งที่ชอบ ยิ่งเร็วเท่าไหร่ยิ่งดี


6) เทคนิคดันด้วยการทำให้เห็นภาพ

มนุษย์เราเป็นสิ่งมีชีวิตที่ให้ความสำคัญกับข้อมูลที่รับรู้ผ่านหูและตามากกว่าที่เราคิดไว้ หากไม่ได้ดันโอชิผ่านยูทูบหรืออินสตาแกรม เราก็ต้องพึ่งพาถ้อยคำอย่างเลี่ยงไม่ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะใส่ข้อมูลที่ช่วยให้เห็นภาพลงไปด้วยไม่ได้ ตัวอย่างเช่นการดันการท่องเที่ยวเกียวโต อาจเขียนได้ว่า

แหล่งท่องเที่ยวโปรดในเกียวโตของผมคือวัดกิโอจิที่โอคุซางะ มันเป็นวัดที่งดงามด้วยมอสสีเขียวเข้มซึ่งปกคลุมหนาแน่นราวกับเป็นพรมที่ปูไว้

แค่เพิ่มข้อมูลเรื่องสีลงไป ผู้อ่านก็เห็นภาพขึ้นมาทันที สิ่งสำคัญในการสื่อสารคือความเข้าใจง่าย หากคนอ่านแล้วนึกภาพตามไม่ออกก็ยากที่จะมีใครคล้อยตามเรา


7) เมื่อไม่เข้าใจความรู้สึกของทุกคนบนโลกโซเชียล ก็จงดันเพื่อคน 1 คน

ปัญหาใหญ่ในการดันโอชิผ่านอินเตอร์เน็ตคือเราไม่รู้เลยว่าผู้อ่านเป็นใคร จึงลังเลว่าควรเขียนออกมาแบบไหนดี เพราะนึกภาพคนที่จะเขียนให้อ่านไม่ออก เวลาดันโอชิในโซเชียลมีเดีย แทนที่จะคิดว่าทำยังไงถึงจะชนะใจมหาชน เราควรหันมาคิดว่าจะทำยังไงให้คน 1 คนคล้อยตามและรู้สึกร่วมไปกับเราได้

ผู้เขียนคิดว่าการดันโอชิด้วยแนวคิดแบบนี้ ทำให้เราเข้าถึงคนหมู่มากได้เองในที่สุด ผู้เขียนแชร์ว่าที่ผ่านมาเขาเขียนบทความดันเกมในแบบที่ถ้าเป็นตัวเองมาอ่านคงอดใจไม่ไหว จนต้องซื้อมาเล่น


8) ดันด้วยเสน่ห์ของคนมีชื่อเสียง

การดันด้วยวิธีนี้ไม่มีอะไรซับซ้อน แค่เชื่อมโยงโอชิของเราเข้ากับคนมีชื่อเสียก็เป็นอันเรียบร้อย ถ้าโอชิของเราเป็นภาพยนตร์ก็แค่บอกไปว่า “คนดังคนนั้นแสดงด้วยนะ” ก็กระตุ้นความสนใจของคนอื่นได้แล้ว

อย่างไรก็ตามการดันด้วยคนมีชื่อเสียง ไม่จำเป็นต้องใช้ชื่อเสียงของคนที่อยู่หน้าสื่อเสมอไป หากคนอ่านเป็นคนที่พอจะรู้เกี่ยวกับโอชิของคุณอยู่บ้าง คุณสามารถใช้ชื่อเสียงของผู้ที่อยู่เบื้องหลังได้ด้วยเช่นกัน

ตัวอย่างเช่นเกม Death Standing เกมที่เปิดตัวในปี 2016 คลิปเปิดตัวคลิปแรกเป็นเพียงภาพชายหาดที่เต็มไปด้วยซากสัตว์ทะเล มีชายในสภาพเปลือยเปล่ากอดเด็กทารกแนบอกแล้วร้องไห้เท่านั้น เรียกได้ว่ามันเป็นคลิปเปิดตัวเกมที่ดูไม่รู้เรื่องที่สุดคลิปหนึ่ง

ปกติคลิปเปิดตัวเกมต้องทำให้คนดูเห็นแล้วนึกออกว่าเป็นเกมแนวไหน มีวิธีเล่นยังไง แต่ Death Standing กลับเป็นนามธรรมสุด ๆ ดูแล้วเดาอะไรไม่ออกเลย ถ้าถูกรุมด่าในโซเชียลก็คงไม่แปลก แต่ปรากฏว่าเสียงตอบรับดีเกินคาด คนที่ดูไม่รู้เรื่องยังบอกว่าต้องสนุกแน่ ๆ

อะไรที่ทำให้คนดูรู้สึกเชื่อมั่นในเกมนี้ คำตอบคือในตอบจบของคลิปมีคำว่า KOJIMA PRODUCTIONS ปรากฏเด่นขึ้นมา ซึ่ง KOJIMA PRODUCTIONS เป็นสตูดิโอพัฒนาเกมที่ก่อตั้งโดย โคจิมะ ฮิเดโอะ ผู้กำกับเกมระดับตำนานของญี่ปุ่น เป็นผู้กำกับเกมที่มีผู้ติดตามในไอจีและทวิตเตอร์มากที่สุดในโลก เขามีผลงานเป็นที่ประจักษ์ในวงการเกม ทำให้แฟน ๆ เห็นชื่อก็เชื่อมั่นแล้วว่าเกมนี้ต้องออกมาดีแน่ ๆ


9) เล่าเรื่องราวของตัวเอง หากโอชิเป็นสิ่งที่ใคร ๆ ก็รู้จัก

ผู้เขียนบอกว่าการดันโอชิที่ใคร ๆ ก็รู้จัก ยากกว่าการดันโอชิที่ไม่มีใครรู้จัก เพราะการฟังเรื่องที่รู้อยู่แล้วน่าเบื่อพอกันกับการฟังเรื่องที่ตัวเองไม่ได้สนใจ การดันโอชิที่ใคร ๆ ก็รู้จักมักมีแต่ข้อมูลที่คนรู้อยู่แล้ว คนส่วนใหญ่จึงมีแนวโน้มจะมองว่าน่าเบื่อตั้งแต่ยังไม่ทันเริ่ม ตัวอย่างเช่นการดันโปเกมอนที่ใคร ๆ ก็รู้จัก

โปเกมอน เป็นเกมแนวผจญภัยที่เราต้องไล่จับสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าโปเกมอนด้วยมอนสเตอร์บอล จากนั้นฝึกโปเกมอนของตัวเองเพื่อไปสู้กับทีมอื่น โปเกมอนในเกมจะเติบโตขึ้นและเปลี่ยนรูปลักษณ์ไปเรื่อย ๆ ตามพัฒนาการ ทำให้เล่นแล้วรู้สึกผูกพันกันโปเกมอนของตัวเองมาก

สำหรับคนที่รู้จักโปเกมอนอยู่แล้วคงคิดว่า “เรื่องแบบนั้นน่ะรู้อยู่แล้ว” ต่อให้คนที่ไม่เคยเล่นเกมนี้ก็คงเคยได้ยินมาบ้าง ที่จริงมีวิธีการดันโอชิที่ทุกคนรู้อยู่แล้วมาใช้ได้อย่างเห็นผลมาก ๆ คือการใส่เรื่องราวของตัวเองเข้าไป

เรื่องราวของตัวเองคือเรื่องราวทุกอย่างของเราต่อโอชิ ไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์หรืออารมณ์ร่วม เรามักคิดว่าเรื่องราวของตัวเองนั้นน่าเบื่อและแสนธรรมดา แต่จริง ๆ แล้วมันไม่ธรรมดาเลยสักนิด เพราะเรื่องราวที่ไม่มีใครเคยได้ยินมาก่อน มีคุณค่าในตัวเองอยู่แล้ว ผู้เขียนยกตัวอย่างการดันโปเกมอนอีกครั้งโดยการใส่เรื่องราวของตัวเองลงไป

พ่อแม่ของผมทำงานกันทั้งคู่ พอถึงวันหยุดเมื่อไหร่ก็จะพาผมไปเที่ยวเสมอ ผมภูมิใจในตัวพ่อแม่ของผมมาก แต่ถึงอย่างนั้นก็ต้องยอมรับว่า สำหรับผมในตอนนั้นที่ยังเป็นแค่เด็กประถม การต้องอยู่บ้านคนเดียวในวันธรรมดาหลังเลิกเรียนจนดึกดื่นเป็นอะไรที่เหงามาก ๆ แต่แล้วในวันคริสต์มาสผมก็ได้ของขวัญเป็นเกมที่มีชื่อว่า “Pokémon Emerald” และผมก็ติดเกมนี้หนึบทันที

ตัวเอกของเกมต้องจากพ่อแม่เพื่อออกเดินทาง ความเหงาของเขาที่ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ เหมือนกับความเหงาของผมเวลาที่พ่อแม่ไม่อยู่บ้านเปี๊ยบ แต่สิ่งที่รออยู่ปลายทางของการเดินทางคือโปเกมอนที่ทั้งน่ารัก เท่ และแสนจะบันเทิง และนอกจากโปเกมอนแล้วก็ยังมีมนุษย์ที่ผูกพันกับโปเกมอนเหล่านั้นอยู่ด้วย

พอได้พบปะกับโปเกมอนและมนุษย์ในเกมไปสักพัก ผมก็เริ่มตระหนักขึ้นมาว่านอกบ้านของตัวเองก็มีเพื่อนอยู่ มันทำให้ผมมีความหวังขึ้นจนไม่รู้สึกเหงาเวลาที่พ่อแม่ไม่อยู่บ้านอีกต่อไป

และเพราะแบบนี้ สำหรับผมแล้ว โปเกมอนจึงเป็นเพื่อนที่ช่วยให้หายเหงาและพร้อมกันนั้นก็เป็นการผจญภัยสุดวิเศษที่จะตราตรึงในความทรงจำตลอดไป

เทคนิคการเขียนทั้ง 9 ข้อที่ผมยกมาเล่านี้ เป็นเพียงครึ่งเดียวของทั้งหมดในหนังสือ “โอชิ เทคนิคเขียนทุกสิ่งให้กลายเป็น Viral” ใครที่อยากรู้เทคนิคที่เหลือเพื่อนำมาปรับใช้กับงานเขียนของตัวเอง สามารถตามไปอ่านได้ในหนังสือเล่มนี้ หนังสือราคา 200 บาท จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์วีเลิร์น

สนใจหนังสือ โอชิ เทคนิคเขียนทุกสิ่งให้กลายเป็น VIRAL
สามารถสั่งซื้อได้ที่ Shopee: https://s.shopee.co.th/7zveWsUhMN
ซื้อผ่านลิงค์เป็นการสนับสนุนช่องครับ

Share

Leave a comment

Leave a Reply

What's New

สรุปเนื้อหาและแนะนำหนังสือที่น่าสนใจ ชวนเพื่อน ๆ มาพัฒนาตัวเองให้ดียิ่งขึ้นในทุก ๆ วันไปด้วยกันครับ

Copyright 2025 Aitim and Co. All rights reserved

error: Content is protected !!