เรื่องที่แบกไว้เธอจะวางก็ได้นะ วิธีใช้ชีวิตให้สบายเหมือนกำลังนั่งจิบชา

Share
Share

คุณรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนที่เอาแต่คิดเรื่องไม่เป็นเรื่อง, ชอบเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น, กังวลกับสายตาของคนรอบข้าง, ฝืนยิ้มทั้ง ๆ ที่ไม่ได้มีความสุข รู้สึกว่าชีวิตนี้มีแต่เรื่องน่าเหนื่อยใจ คุณไม่ได้รู้สึกอย่างนี้อยู่คนเดียวครับ โลกเรายังมีคนที่เหนื่อยใจแบบเดียวกันคุณอีกหลายคน

ในหนังสือ “เรื่องที่แบกไว้เธอจะวางก็ได้นะ” ชวนให้ผู้อ่านมาสำรวจอุปนิสัยของตัวเอง และเสนอวิธีที่ช่วยบรรเทาความรู้สึกหนึกอึ้งเรานั้น หนังสือพูดถึงความเหนื่อยใจ 4 รูปแบบ มาเริ่มที่รูปแบบแรกกันเลยครับ


ความเหนื่อยใจรูปแบบที่ 1 – เหนื่อยใจกับนิสัยยึดติดกับความสมบูรณ์แบบ

การอยากยกระดับความสามารถหรือคุณภาพงานของตัวเองให้สูงขึ้น ถือเป็นความมุ่งมั่นอันแรงกล้า คนแบบนี้เป็นคนที่ไว้วางใจของคนอื่น และมักได้รับคำชมอย่างมาก ยิ่งอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีก็จะยิ่งดึงศักยภาพของตัวเองออกมาได้เต็มที่ แต่หากคนแบบนี้ทำอะไรสักอย่างแล้วไม่ได้ผลลัพธ์ที่สมบูรณ์แบบก็จะห่อเหี่ยวใจ ทั้งนี้ความรู้สึกที่อยากทำทุกอย่างให้ออกมาสมบูรณ์นั้น เป็นเพราะว่ากลัวที่จะถูกปฏิเสธ ลองมาเช็คดูว่าคุณเป็นคนที่ยึดติดกับความสมบูรณ์แบบหรือเปล่า คุณมีนิสัยแบบนี้หรือไม่

  • ไม่รู้จักความพอดี
  • แก้ไขจุดบกพร่องซ้ำแล้วซ้ำเล่า
  • ติดใจกับรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ
  • ไม่ชอบการมีจุดบกพร่อง
  • ไม่ทำ หากคิดว่าทำแล้วจะออกมาไม่สมบูรณ์แบบ
  • คาดหวังสูง
  • ตั้งเป้าเกินตัว
  • กลัวคำวิจารณ์แย่ ๆ
  • ไม่กล้าทำอะไรใหม่

หากคุณฟังลักษณะนิสัยที่ผมได้บอกไปแล้วรู้สึกว่าตรงกับที่ตัวเองเป็นอยู่ และรู้สึกว่าการเป็นแบบนี้นั้นมันเหนื่อย มาฟังวิธีการคลายความเหนื่อยใจกับนิสัยยึดติดความสมบูรณ์แบบกันครับ

สำหรับคนที่หงุดหงิดง่าย เคยหงุดหงิดกับคนอื่นประมาณว่า “ปกติแล้วต้องพูดขอบคุณสิ” “ปกติแล้วต้องทำแบบนั้นนะ” บางทีคำว่าปกตินี้ อาจหมายถึงปกติของตัวคุณเอง ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถทำตามปกติของคุณ หรือความคิดของคุณได้ คนที่หงุดหงิดง่ายคือคนที่ตีกรอบให้ตัวเอง คิดว่าตัวเองต้องทำแบบนี้ ห้ามทำแบบนั้น

เมื่อทำแบบนี้นาน ๆ เข้า คุณจะคอยจ้องจับผิดการกระทำของตัวเองและคนอื่นโดยไม่รู้ตัว การหงุดหงิดและตำหนิคนอื่นจะทำให้คุณพานเกลียดตัวเองและตำหนิตัวเอง จากนั้นก็จะทุกข์อยู่ในวังวงของการโทษตัวเองและคนอื่น ทำให้เสียเวลาชีวิตไปโดยเปล่าประโยชน์

คุณสามารถคิดมุมกลับได้ หากคุณทำอะไรให้ใครแล้วไม่ได้รับคำขอบคุณ ให้คุณคิดกับตัวเองว่า “ฉันจะพยายามกล่าวขอบคุณคนอื่นเสมอ เพราะอยากให้คนอื่นขอบคุณฉันเหมือนกัน” ตอนที่หงุดหงิด ถ้าเราเข้าใจตัวเองก็จะทำให้ใจเย็นลง และตัดสินใจได้ว่าจะปล่อยผ่าน หรือบอกอีกฝ่ายตรง ๆ ถึงเรื่องที่เขาทำให้คุณไม่สบายใจ

คนยึดติดความสมบูรณ์แบบมักเป็นคนไม่ยอมพึ่งพาคนอื่น มีนิสัยพยายามทำอะไรด้วยตัวเอง ต่อให้มีคนอยากช่วยเหลือหรือมีคนที่พึ่งพาได้ แต่ก็เลือกทำอะไร ๆ ด้วยตัวเองโดยไม่รู้ตัว ความจริงแล้วในหลายสถานการณ์คุณสามารถขอความช่วยเหลือจากคนอื่นได้ เมื่อคุณเชื่อใจและพึ่งพาคนอื่น คุณจะได้กล่าวคำว่าขอบคุณสำหรับความช่วยเหลือของคนอื่น

หลายคนมักจะพูดในสิ่งที่ตรงข้ามกับใจตัวเอง เช่น พูดว่า “เข้าใจแล้ว” ทั้งที่ยังไม่เข้าใจ “ตกลง” ทั้งที่ใจไม่อยากตกลง, “ทำได้” ทั้งที่มีความเป็นไปได้สูงว่าจะทำไม่สำเร็จ, “ไม่เป็นไร” ทั้งที่รู้สึกไม่โอเค” คนที่แสร้งทำเป็นเข้มแข็ง มักจะทำแบบนี้จนติดเป็นนิสัย เพราะเข้าใจว่าการทำอะไรสักอย่างไม่ได้ คือจุดอ่อนที่ไม่อยากเปิดเผยให้คนอื่นรู้ การแสร้งทำเป็นเข้มแข็ง หรือพยายามทำให้ตัวเองดูสมบูรณ์แบบ เป็นเพราะกลัวว่าจะถูกปฏิเสธนั่นเอง

คุณต้องระวังว่าการแสร้งทำเป็นเข้มแข็งอาจส่งผลให้ตัวเองลำบาก หรือทำให้ความสัมพันธ์กับคนอื่นแย่ลงได้ ถ้าทำอะไรสักอย่างไม่ได้เพราะศึกษามาไม่มากพอ คุณแค่ขอโทษแล้วพูดว่า “ขอโทษนะ ฉันยังศึกษามาไม่มากพอ” หรือถ้ารู้สึกแย่ก็บอกไปเลยว่า “ฉันรู้สึกไม่โอเค” ถ้าคุณอยู่ในสภาพแวดล้อมที่จำเป็นต้องทำตัวเข้มแข็งอยู่ตลอดเวลา ผู้เขียนแนะนำให้คุณหลีกหนีออกมา

บางคนชอบคิดราวกับว่าตัวเองทำอะไรไม่ได้เรื่องสักอย่าง ตัวอย่างเช่น “วันนี้สนุกมากเลย แต่ฉันพูดมากไปหรือเปล่านะ” “ลองทำดูแล้ว ถึงอย่างนั้นผลลัพธ์กลับไม่ค่อยน่าพอใจเท่าไหร่”

ความจริงแล้วหากมองอีกมุมคือเราทำได้แล้ว ถึงผลลัพธ์จะออกมาไม่ดี แต่เราได้ลองท้าทายอะไรใหม่ ๆ แล้ว ได้ค้นพบสิ่งที่ตัวเองไม่ชอบ และตระหนักว่าตัวเองสามารถผ่านมันมาได้ ให้คิดว่าชีวิตคือเกม ถ้าเจอเรื่องที่ทำได้ เราจะได้คะแนนเพิ่มและเลเวลอัพ

ถ้าคุณหาข้อดีของตัวเองไม่เจอ เพียงแค่เปลี่ยนมุมมอง ข้อเสียก็กลายเป็นพรสวรรค์ได้ เพื่อให้พิจารณาข้อเสียจากหลายมุมมองได้ คุณลองคิดว่าข้อเสียที่มีนั้นดีสำหรับตัวคุณอย่างไร

ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณเป็นคนอ่อนไหวง่ายและใส่ใจกับคนรอบข้างมากเกินไป หากมองจากอีกมุม นิสัยอ่อนไหวง่ายก็สามารถมองเป็นข้อดีได้ว่าเป็นคนละเอียดอ่อนได้เช่นกัน หรือการร้องไห้ก็สามารถมองเป็นข้อดีได้ว่าซื่อตรงต่อความรู้สึกของตัวเอง คนเรามีทั้งด้านดีและไม่ดีเหมือนเหรียญที่มีสองด้าน ด้านที่คุณไม่ชอบไม่ใช่สิ่งเลวร้ายหรือเป็นศัตรู ถ้าคุณลองพิจารณานิสัยนั้นในมุมกลับ คุณจะสามารถพบข้อดีของตัวเองได้

มนุษย์เรามักอยากได้รับความสบายใจเร็ว ๆ และอยากมีความสุขอยู่ตลอดเวลา จึงอยากได้คำตอบหรือผลลัพธ์ที่ดีที่สุดในระยะเวลาที่สั้นที่สุด อาจกล่าวได้ว่านี่เป็นความปรารถนาที่เกินความสามารถของมนุษย์

สุดท้ายคำตอบสำหรับแต่ละคนย่อมแตกต่างกันไป คนเราแต่ละคนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว คุณอาจร้อนรนว่าการทำแบบนี้มันดีแน่หรือ แต่คุณไม่มีทางรู้ได้หรอกว่าอะไรคือคำตอบที่ถูกต้อง เมื่อยิ่งโตขึ้นคุณจะยิ่งเจอปัญหาที่แก้ได้ยากมากขึ้น สิ่งสำคัญคือการค้นหาคำตอบหรือผลลัพธ์ที่ดีนั้นต้องใช้เวลาในการค้นหามัน ถ้าผิดก็แค่แก้ไขไปเรื่อย ๆ

บางคนร้อนรนว่า “เรื่องนั้นก็ต้องทำ เรื่องนี้ก็ต้องทำ” เมื่อคุณรู้สึกว่ามีภาระหน้าที่ที่ต้องทำ จะรู้สึกไม่สบายใจและมีความคิดแง่ลบ จนส่งผลให้คุณลงมือทำได้ยาก เมื่อคุณร้อนรน คิดกังวลเรื่องหนึ่งขึ้นมาแล้วก็จะคิดเรื่องอื่น ๆ ตามมาจนสับสนมายิ่งขึ้น

สิ่งจำเป็นที่ต้องทำเป็นอย่างแรกคือการมองภาพรวม ให้คุณเขียนสิ่งที่รบกวนจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใหญ่หรือเรื่องเล็ก จากนั้นเรียงลำดับความสำคัญว่าสิ่งไหนที่อยากทำ สิ่งไหนที่ทำได้ สิ่งไหนที่จะให้คนอื่นทำ และสิ่งที่ยังไม่ต้องทำตอนนี้ก็ได้ เมื่อคุณรู้ว่าสิ่งที่ต้องทำคืออะไร จากนั้นก็ปล่อยวางสิ่งที่ไม่อยากทำ แล้วเดินหน้าทำในสิ่งที่ตัวเองเลือก

คำแนะนำสำหรับคนที่เหนื่อยใจกับนิสัยยึดติดกับความสมบูรณ์แบบ

  1. เชื่อมั่นในตัวเอง คิดว่าตัวเองทำได้แน่นอน และเดินหน้าต่อไปโดยคิดว่าจะผ่านพ้นเรื่องราวต่าง ๆ ไปได้
  2. กล้าเผชิญกับความล้มเหลว ตระหนักถึงความไม่รู้และความผิดพลาดของตัวเอง คิดว่าความล้มเหลวเป็นทางผ่านไปสู่ความสำเร็จ รวมถึงคิดถึงเพื่อนที่สามารถหัวเราะและเดินหน้าไปด้วยกันได้
  3. กล้าเผชิญหน้ากับการถูกเกลียด ตระหนักว่าคนเราแตกต่างกัน จิตใจของคนเราจะได้รับการขัดเกลา เมื่อรู้สึกขอบคุณคนที่ยังอยู่ด้วยกัน
  4. พักผ่อนเมื่อรู้สึกล้า ถ้าพลังงานและความกล้าหาญถดถอยก็ควรพักผ่อนเติมพลังบ้าง
  5. คว้าโอกาสที่อยู่รอบตัว ไม่จำเป็นที่ต้องตั้งเป้าหมายไว้สูงตั้งแต่แรก ทำสิ่งที่ทำได้ในตอนนี้ต่อไปเรื่อย ๆ ก็สามารถก้าวไปข้างหน้าได้เหมือนกัน สิ่งสำคัญคือสนุกกับสิ่งที่ทำ ไม่มีคู่มือบอกชัดเจนว่าอะไรถูกหรือผิด

ความเหนื่อยใจรูปแบบที่ 2 – เหนื่อยใจกับการใส่ใจคนอื่น

การปรับตัวให้เข้ากับคนอื่นเป็นเรื่องดี แต่ถ้าทำแบบนั้นอยู่ตลอดเวลา เราอาจสูญเสียความเป็นตัวเองได้ นอกจากนี้เรายังจะเก็บซ่อนความรู้สึก ความคิด และเรื่องสำคัญของตัวเองเอาไว้ จนส่งผลให้ไม่รู้ตัวว่ากำลังรู้สึกแย่ ลองมาเช็คดูว่าคุณเป็นคนที่ยึดติดกับการใส่ใจคนอื่นหรือเปล่า หากคุณมีนิสัยแบบนี้

  • ปฏิเสธคนอื่นไม่เป็น
  • ตัดสินใจด้วยตัวเองไม่ได้
  • คิดถึงความสุขของคนอื่นมากกว่าตัวเอง
  • คิดว่าแค่อดทนก็หมดเรื่อง
  • ถูกคนอื่นปั่นหัว เพราะมีภาพลักษณ์เป็นคนหัวอ่อน
  • คิดว่าชีวิตคือแบบทดสอบที่แสนทรมาน

คุณใช้ชีวิตโดยการทำตามความคาดหวังหรือความต้องการของใครสักคนมากกว่าตัวเองโดยไม่รู้ตัวอยู่หรือเปล่า คุณอยากให้อีกฝ่ายดีใจ อยากมีความสัมพันธ์ที่ดี เลยทุ่มเทเพื่อคนอื่น และให้ความสำคัญกับคนอื่นมากกว่าตัวเอง

แต่คุณสามารถใส่ใจคนอื่นให้น้อยลง และทำให้ตัวเองมีความสุขมากขึ้นได้ ไม่จำเป็นต้องรู้สึกผิดที่ไม่สามารถให้ความสำคัญกับคนอื่นมากกว่าตัวเอง เพราะคุณคือตัวเอกในชีวิตของตัวเอง คุณเป็นเจ้าของความรู้สึกนึกคิดของตัวเอง มีคุณเพียงคนเดียวเท่านั้นที่ตัดสินใจได้ว่าจะทำอะไร

ไม่ว่าคนรอบข้างจะมองคุณอย่างไร คุณค่าของตัวคุณไม่ได้ลดลงเลย

คนที่เอาใจใส่คนอื่นอย่างมากจะรู้สึกกังวล หากตัวเองไม่ได้ทำตัวให้เกิดประโยชน์แก่คนอื่น คุณอาจตั้งกฎกับตัวเองอย่างเข้มงวดว่า “ต้องเอาใจใส่คนอื่น” และตำหนิตัวเองในเวลาที่ไม่ได้ใส่ใจมากพอ ความเอาใจใส่ที่แท้จริงคือความอ่อนโยนที่เกิดขึ้นเองจากความอยากรักษาสัมพันธ์ที่ดีเอาไว้ หากคุณพยายามเอาใจใส่คนอื่นโดยที่ไม่อยากทำจากใจจริง คุณย่อมรู้สึกเหนื่อยใจ

คนที่ไม่มั่นใจในตัวเองมักจะรู้สึกท้อแท้ เมื่อเอาตัวเองไปเทียบกับคนอื่น พวกเขาจะรู้สึกว่าตัวเองในตอนนี้ยังใช้ไม่ได้ หรือฉันต้องเก่งให้เหมือนคนนั้นคนนี้ คุณอาจคิดว่าหากไม่ได้เป็นคนเก่งก็จะไม่ได้รับการยอมรับ คุณจึงไม่ยอมรับตัวเองและคิดว่าตัวเองยังดีไม่พอ

ความจริงคุณไม่จำเป็นต้องเอาตัวเองไปเทียบกับคนอื่น แต่จงเรียนรู้จากคนอื่นแทน เมื่อย้อนมองตัวเองในอดีต คุณจะพบสิ่งที่ตัวเองทำได้และสิ่งที่ตัวเองก้าวผ่านมาได้

คนที่ไม่มีความคิดเป็นของตัวเอง ส่วนใหญ่พวกเขากลัวการเลือกคำตอบที่ผิด คิดในใจว่าเวลานี้คำตอบที่ถูกต้องคืออะไร พร้อมทั้งคอยสังเกตสีหน้าของคนอื่นและบรรยากาศ แล้วรอจังหวะที่เหมาะสมในการเลือก แต่ก็ไม่แน่ใจว่าสิ่งที่ตัวเองเลือกนั้นถูกต้องหรือไม่ จึงถูกปั่นหัวจากความลังเล

การทำตามคำพูดของคนอื่นเป็นเรื่องง่าย เพราะเราไม่ต้องคิดเอง อีกทั้งยังสบายใจที่ได้ทำเหมือนกับคนอื่น แต่การทำแบบนี้จะส่งผลให้สูญเสียความเป็นตัวเอง

ความจริงแล้วไม่มีใครที่ไม่มีความคิดเป็นของตัวเอง คุณอาจแค่มองข้ามความคิดของตัวเองไป คุณต้องคิดว่าสิ่งนี้สนุกไหม ไม่ใช่คิดว่าสิ่งนี้ถูกต้องหรือไม่ ต้องคิดว่าอยากทำแบบนี้ แทนที่จะคิดว่าควรทำแบบนี้ แม้จะได้รับคำแนะนำจากคนอื่น แต่คุณต้องเป็นคนตัดสินใจเอง และคิดว่าสิ่งที่ตัวเองเลือกคือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับตอนนี้แล้ว เพราะฉะนั้นไม่จำเป็นต้องนึกเสียใจในภายหลัง

เราเติบโตมาพร้อมกับคำสอนที่ว่าให้ทำตัวสนิทสนม และให้ความสำคัญกับทุกคน ถ้าใครทำตามคำสอนนี้อย่างเคร่งครัดก็จะไม่สามารถรักษาความเป็นตัวของตัวเองไว้ได้ ยิ่งคนที่คิดว่าต้องปรับตัวให้เป็นที่ชื่นชอบของทุกคนก็จะทำให้กังวลกับคำพูด และการกระทำของคนอื่น จนส่งผลให้กลัวการเข้าสังคมไปเลยก็ได้

คุณควรออกห่างจากคนที่หัวเราะเยาะคุณ คนที่ตำหนิความตั้งใจของคุณ คนที่ทำเหมือนคุณเป็นสิ่งของ ไม่ให้เกียรติคุณ คนที่ไม่ยินดีกับความสุขของคุณ และคนที่ทำให้คุณรู้สึกเหนื่อยล้า คุณควรเลี่ยงการพบเจอและเลิกคบกับคนเหล่านี้ เพราะคนเราไม่สามารถสนิทสนมกับทุกคนได้

การใจดีกับตัวเองคือการให้ความสำคัญกับตัวเอง หนังสือแนะนำ 3 วิธีใจดีกับตัวเองไว้ว่า

1. ไม่ตำหนิ

เลิกตำหนิตัวเองว่า “เป็นความผิดของฉันเอง” และไม่โทษคนอื่นว่า “นี่เป็นความผิดของคุณ”

2. ยอมรับ

ยอมรับคำชมและคำขอบคุณจากคนอื่นที่กล่าวถึงด้านดีของคุณ ซึ่งเปรียบเสมือนของขวัญ ในทางกลับกัน คำนินทาว่าร้ายก็เปรียบเสมือนก้อนหินที่คนอื่นขว้างใส่คุณ คุณไม่จำเป็นต้องรับเอาไว้

3. ทำสิ่งที่อยากทำ

เลิกทำสิ่งที่ไม่อยากทำและเลิกอดทน จากนั้นให้เลือกทำสิ่งที่ชอบและรู้สึกสนุก


ความเหนื่อยใจรูปแบบที่ 3 – เหนื่อยใจกับความคิดของตัวเอง

ถึงจะไม่มีปัญหากลุ้มใจที่หนักหนาสาหัส แต่คุณยังรู้สึกเหนื่อยใจกับเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ในชีวิตประจำวันใช่ไหมครับ เวลาคุยกับคนอื่นก็กังวลว่าเขาจะมองคุณยังไง จนทำให้รู้สึกเหนื่อยล้า ลองมาเช็คดีว่าคุณเป็นคนที่เหนื่อยใจกับความคิดของตัวเองหรือเปล่า คุณมีนิสัยเหล่านี้ไหม

  • ด่วนสรุปหรือมีความคิดแบบสุดโต่ง
  • ใจร้อนและขี้โมโห
  • คิดเองเออเอง และประเมินคุณค่าจากข้อดีข้อเสีย
  • ความคิดตีกันอยู่ในหัวตลอดเวลา
  • ตำหนิตัวเอง
  • ฝืนยิ้ม
  • รู้สึกท้อแท้เป็นเวลานาน
  • ยึดติดกับการแพ้ชนะ และความถูกต้อง
  • รู้สึกไม่สบายใจ และไม่พอใจ
  • เอาใจใส่เรื่องต่าง ๆ มากเกินไป
  • ขี้เกรงใจ
  • หลงไหลไปกับสิ่งที่ทำให้มีความสุขแค่ชั่วคราว

คนที่ไม่ปริปากบ่นหรือไม่ปรับทุกข์กับคนอื่นเลย คือคนที่ไม่กล้าพูดความรู้สึกออกมาตรง ๆ แม้คนอื่นจะบอกกับคุณว่า “เข้มแข็งจังเลย” แต่ในใจคุณกลับคิดว่าไม่ใช่อย่างนั้น อีกทั้งเมื่อคุณเอาความลำบากของตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่น คุณอาจเลือกที่จะอดทนต่อไป

จริง ๆ แล้วคุณไม่จำเป็นต้องอดทน และควรเผชิญหน้ากับความเจ็บปวดของตัวเอง ถ้าคุณแกล้งทำเป็นไม่เห็นความเจ็บปวดต่อไปเรื่อย ๆ คุณจะยิ่งเจ็บปวดมากขึ้น แต่หากคุณยอมรับมัน เล่าให้คนอื่นฟัง คุณก็จะก้าวไปข้างหน้าได้ พยายามพูดความรู้สึกของตัวเองออกมา

เมื่อมองย้อนกลับไปในอดีตก็รู้สึกเสียใจกับสิ่งที่ตัวเองเลือก แล้วนึกกลุ้มใจว่า “ถ้าย้อนเวลากลับไปได้จะทำแบบนี้ดีกว่า” ถึงคุณจะกลุ้มใจด้วยเรื่องแบบนี้ก็ไม่เป็นไร เพราะไม่มีใครไม่เคยนึกเสียใจในภายหลัง

ตราบใดที่ยังมีทางเลือกอื่นอยู่ด้วย เรามีโอกาสที่จะเสียใจภายหลังอยู่เรื่อย ๆ แต่อย่าลืมว่าตอนที่ตัดสินใจ เราล้วนเลือกสิ่งที่ดีที่สุดไปแล้ว ไม่มีอะไรรับประกันได้ในตอนนั้นว่าไม่ควรเลือก A แต่ควรเลือก B มากกว่า

เวลาที่เราเจ็บปวดกับผลลัพธ์ที่ไม่เป็นไปตามคาด เรามักตำหนิการตัดสินใจของตัวเอง นั่นเป็นพฤติกรรมที่ไม่ดีเท่าไหร่ ลองคิดว่า “ฉันพยายามบนเส้นทางที่เลือกไปแล้ว” คุณจะได้เรียนรู้อะไรมากมายอย่างแน่นอน เคารพการตัดสินใจของตัวเองว่าได้เลือกสิ่งที่เหมาะสม ณ ขณะนั้นแล้ว

ถ้าคุณคิดว่าตัวเองไม่ได้เรื่อง คุณจะคอยจ้องจับผิดตัวเอง เพื่อหาหลักฐานที่แสดงว่าตัวเองไม่ได้เรื่อง ความจริงแล้วคุณไม่ได้มีแต่ส่วนที่ไม่ได้เรื่อง อย่าลบส่วนดี ๆ ของตัวเองทิ้งไป ลองมองย้อนกลับไป คุณจะพบว่าตัวเองมีเรื่องที่ทำได้ และเรื่องที่น่าประทับใจ คุณมีคุณค่าในตัวเองอยู่แล้ว แค่นึกถึงคุณค่าที่ตัวเองมีอยู่ก็พอแล้วครับ


ความเหนื่อยใจรูปแบบที่ 4 – เหนื่อยใจกับความคิดที่มาจากความกังวลและความกลัว

ความกังวลทำให้เรารู้สึกแย่ก็จริง แต่มันไม่ใช่ความรู้สึกที่เลวร้ายอะไร เพราะมันทำให้เราระมัดระวังและเตรียมตัวอย่างรอบคอบ แต่ปัญหาคือ ความกังวลอาจทำให้เรามีความคิดหรือพฤติกรรมที่ทำให้เหนื่อยใจโดยไม่รู้ตัว ลองมาเช็คดูว่าคุณเป็นคนที่เหนื่อยใจกับความคิดที่มาจากความกังวลและความกลัวหรือเปล่า คุณมีนิสัยแบบนี้ไหม

  • ไม่ชอบการรอและการอยู่เฉย ๆ
  • ชอบวิจารณ์หรือประเมินคนอื่น
  • คิดมาก ทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่
  • โกรธง่าย
  • ตื่นตระหนกง่าย
  • เครียดอยู่ตลอดเวลา
  • คิดวนเวียนอยู่กับเรื่องบางอย่าง
  • จัดการความรู้สึกตัวเองไม่ได้
  • ระบายอารมณ์ในคนที่อ่อนแอกว่า

คุณเคยกังวลกับสายตาของคนรอบข้างไหม ความจริงแล้วคนที่กังวลกับสายตาคนอื่นคือคนที่ชอบมองและตัดสินคนอื่นนั่นเอง เรามักตัดสินคนอื่นด้วยกฏของตัวเองว่าต้องทำอย่างนั้น ห้ามทำอย่างนี้ ลองลดการมองและตัดสินคนอื่น และไม่จำเป็นต้องกังวลกับสายตาคนอื่นว่าจะมองคุณยังไง

ยิ่งคุณมีความกังวลมากเท่าไหร่ คุณจะยิ่งไม่มีอารมณ์ร่วม หรือไม่คิดถึงความรู้สึกของคนอื่น การมีอารมณ์ร่วมคือการสนใจสิ่งที่อีกฝ่ายสนใจ อย่ามองเพียงผิวเผิน ให้มองในมุมเดียวกับอีกฝ่าย มนุษย์เราจะรู้สึกสบายใจ เมื่อรู้ว่าคนอื่นยอมรับ ดังนั้นการทำให้อีกฝ่ายสบายใจจึงเป็นสิ่งสำคัญ

ความกลัวทำให้เรารู้สึกกังวล เวลาที่เรากลัวมักจะเกิดความไม่สบายใจและรู้สึกไม่ปลอดภัย แต่เราไม่สามารถทำให้ความกลัวหมดไปได้ ความกลัวเป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องมีเพื่อช่วยให้หนีได้เมื่อมีอันตราย

ความกังลกับความกลัวนั้นต่างกัน ความกังวลเป็นความรู้สึกที่คลุมเครือ ไม่รู้สาเหตุแน่ชัด ส่วนความกลัวเป็นความรู้สึกที่เรารู้แน่ชัดว่ามีสาเหตุมาจากอะไร คุณอาจตื่นตระหนกไม่รู้จะทำยังไงเมื่อรู้สึกกลัว แต่พอระบุได้ว่ากำลังกลัวอะไร ความสามารถในการตัดสินใจจะกลับคืนมา

ลองพิจารณาว่าคุณกลัวอะไร แทนที่จะเอาแต่กังวลจนไม่เป็นอันทำอะไร การยอมรับว่าตัวเองกลัวจะทำให้รับมือกับความรู้สึกของตัวเองได้ง่ายขึ้น ค้นหาว่าตัวเองกำลังกลัวอะไร จากนั้นตัดสินใจว่าจะเดินหน้าเอง หันไปขอความช่วยเหลือ หาเครื่องมือช่วย หรือถอนตัวออกมา

บางคนคิดว่า “ฉันไม่ได้เป็นที่ต้องการของที่นี่” จึงรู้สึกกังวลและโดดเดี่ยว ไม่ว่าจะอยู่ที่โรงเรียนหรือที่ทำงานก็รู้สึกอ้างว้าง ขมขื่น และรู้สึกว่าไม่มีที่สำหรับตัวเอง ถ้าตกอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ มาดูสาเหตุของปัญหา และวิธีการแก้ไข 3 ข้อกันครับ


สาเหตุข้อแรกคือ การคาดหวังไว้สูงว่าจะสามารถเข้ากับคนอื่นได้

คนเราไม่สามารถเข้าใจกันได้ทุกเรื่อง ดังนั้นถ้าคุณอยากให้คนอื่นเข้าใจคุณอย่างถ่องแท้ คุณจะรู้สึกทรมาน คุณสามารถแบ่งปันความรู้สึกและอารมณ์ร่วมไปกับคนอื่นได้ แต่ไม่สามารถเข้าใจกันทุกเรื่องได้ คนเราล้วนแตกต่างกัน อย่าเรียกร้องให้คนอื่นเข้าใจเรา

สาเหตุข้อที่ 2 คือการสื่อสารไม่ชัดเจนเนื่องจากขาดทักษะการสื่อสาร

ก่อนตัดสินใจออกจากความสัมพันธ์กับใครสักคน คุณลองคิดดูก่อนว่าได้แสดงความเป็นตัวเองออกมาแล้วหรือยัง และคุณได้มองโลกแบบเดียวกับที่อีกฝ่ายมองไหม ได้รับฟังอีกฝ่ายบ้างไหม

เพราะผู้คนมีความหลากหลาย การสื่อสารก็ไม่ได้มีวิธีตายตัว สิ่งสำคัญคือการขีดเส้นแบ่งระหว่างตัวเองกับคนอื่น พร้อมกับให้เกียรติกันทั้งสองฝ่าย จากนั้นหาข้อตกลงร่วมกันหรือไม่ก็แยกทางกัน เมื่อคิดว่าตัวเองไม่จำเป็นต้องเป็นคนสำคัญก็ได้ ความกดดันที่คุณมีจะหายไป ส่งผลให้จดจ่อเฉพาะกับเรื่องของตัวเองว่าอยากทำอะไร

สาเหตุข้อสุดท้าย การมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าว่าอยากได้รับการยอมรับและอยากถูกมองว่าเป็นคนสำคัญ

แม้คุณจะมีความสามารถติดตัว แต่กว่าคนอื่นจะรับรู้ได้ก็ต้องใช้เวลา คุณต้องพิสูจน์ตัวเองอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทำสิ่งต่าง ๆ โดยไม่กดดันตัวเอง

ตอนที่รู้สึกกังวล เราจะพะวงกันอนาคต ดังนั้นลองมองปัจจุบันและหันกลับไปมองอดีตดู คุณอาจเห็นว่าที่ผ่านมาได้พยายามอย่างเต็มที่ตามในแบบของตัวเองแล้ว คุณสามารถผ่านพ้นสิ่งต่าง ๆ มาได้ คุณมาได้ไกลขนาดนี้เพราะมีความสามารถมากพอ

เวลาที่กังวลคุณไม่ต้องทำอะไร แค่ขอบคุณตัวเองที่พยายามมาตลอดก็พอ ถ้ามีเรื่องที่ทำไม่ได้ก็ให้ยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่าฉันทำไม่ได้ ก่อนจะหาทางแก้ไข คุณควรทำจิตใจให้สงบก่อน ทำสิ่งที่ตัวเองทำได้ในตอนนี้อย่างค่อยเป็นค่อยไป

ผู้เขียนได้ทิ้งท้ายว่า “คนเราจะเป็นยังไงก็ขึ้นอยู่กับวิธีคิด” เราล้วนมีนิสัยเสียซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เรารู้สึกขมขื่น แต่การจะเลิกทำนิสัยเสียนั้นไปเลยทันทีเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก เราจำเป็นต้องใช้ทั้งเวลา ประสบการณ์ และการลงมือทำ

ผู้เขียนสรุปการฟื้นฟูจิตใจและทำจิตใจให้แข็งแกร่งเอาไว้ 3 ข้อ คือ 1. เข้าใจและยอมรับสิ่งที่ตัวเองเป็น 2. ขีดเส้นแบ่งระหว่างตัวเองกับคนอื่น 3. ทำตามสิ่งที่ตัวเองตัดสินใจ

ไม่จำเป็นต้องเป้าไว้สูงแต่แรกว่าจะเปลี่ยนตัวเองแบบหน้ามือเป็นหลังมือ ทางที่ดีควรตั้งเป้าว่าจะพยายาม โดยไม่คิดว่าต้องทำให้ได้สมบูรณ์แบบ เมื่อทำสำเร็จให้ชมตัวเอง เชื่อมั่นว่าตัวเองมีความสามารถในการแก้ปัญหา


ส่วนตัวผมว่าหนังสือเล่มนี้ชี้ให้ผมเห็นนิสัยบางข้อของตัวเองที่ไม่น่ารัก นิสัยที่คอยสร้างความกังวลใจให้ตัวเอง พอเรารู้จุดที่สามารถแก้ไขได้ เราก็จะสังเกตตัวเอง และขัดเกลานิสัยเหล่านั้นให้หายไปได้ เป็นหนังสือที่ค่อนข้างมีประโยชน์ แต่เนื้อหาในเล่มวนเวียนซ้ำไปซ้ำมา พูดถึงแล้วพูดถึงอีก ไม่ก้าวข้ามประเด็นไปสักที ทั้งที่เป็นหนังสือเล่มเล็ก ๆ หนาเพียง 180 หน้าเท่านั้นเอง แต่เนื้อหาที่เป็นเนื้อเน้น ๆ น้อยกว่านั้นมาก

ใครสนใจอยากหาหนังสือเล่มนี้ “เรื่องที่แบกไว้ เธอจะวางก็ได้นะ” สามารถหาซื้อได้ตามร้านหนังสือ ราคา 185 บาท จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ WeLearnเรื่องที่แบกไว้เธอจะวางก็ได้นะ วิธีใช้ชีวิตให้สบายเหมือนกำลังนั่งจิบชา

สนใจหนังสือ เรื่องที่แบกไว้เธอจะวางก็ได้นะ
สามารถสั่งซื้อได้ที่ Shopee: https://s.shopee.co.th/7fIo8ZAc1z
ซื้อผ่านลิงค์เป็นการสนับสนุนช่องครับ

Share

Leave a comment

Leave a Reply

What's New

สรุปเนื้อหาและแนะนำหนังสือที่น่าสนใจ ชวนเพื่อน ๆ มาพัฒนาตัวเองให้ดียิ่งขึ้นในทุก ๆ วันไปด้วยกันครับ

Copyright 2025 Aitim and Co. All rights reserved

error: Content is protected !!