เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด หนังสือเสริมกำลังใจ เยียวยาความรู้สึกวัยรุ่นที่หมดแรง

Share
Share

หนังสือเล่มนี้วางขายที่ร้านหนังสือมาต่อเนื่องยาวนานมาก ผมเคยอ่านสมัยพิมพ์ครั้งแรก ๆ ตอนเข้ามหาลัยปี 1 ตอนปี 2012 เป็นหนังสือเล่มแรก ๆ ที่ตีพิมพ์ในนามสำนักพิมพ์สปริงบุ๊ค สำนักพิมพ์ที่มักพิมพ์หนังสือให้กำลังใจแก่คนอ่าน ล่าสุดหนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ฉบับปกแข็งฉลองครบรอบ 10 ปี ผมกลับมาอ่านหนังสือเล่มนี้อีกครั้ง ในตอนที่อาจผ่านพ้นกลุ่มเป้าหมายที่ผู้เขียนต้องการสื่อสาร ใน ep นี้ผมสรุปข้อคิดและกำลังใจจากคุณคิมรันโด มาให้น้อง ๆ ที่กำลังเป็นวัยรุ่นซึ่งพบเจอปัญหาที่อาจยากต่อการตัดสินใจ มาฟังกันครับว่าหนังสือเล่มนี้มีดีอะไร ถึงวางแผนในร้านหนังสือมาได้อย่างยาวนานนับ 10 ปี

ชีวิตของคนเราผ่านไปเร็ว เผลอแป๊บเดียวคำนำหน้าชื่อจาก ด.ช. ด.ญ. ก็เปลี่ยนเป็นนายหรือนางสาวแล้ว ชีวิต ม.ปลาย 3 ปีก็ผ่านไปเร็ว ขณะที่ช่วงนี้ต้องตั้งใจอ่านตำราเพื่อสอบเข้ามหาลัยที่หวังไว้ และช่วง 4 ปีที่มหาลัยก็ผ่านไปเร็ว พออยู่ปี 4 ต้องปวดหัวกับการทำธีสิสและกังวลกับการหางานทำ นอกจากนี้ทักษะที่ได้จากในรั้วมหาลัย ในสมัยนี้อาจไม่เพียงพอต่อความต้องการของบริษัทหลาย ๆ ที่ ทุกคนจึงต้องเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ เพิ่มเติมเสมอ เวลาที่มีเท่าไหร่ก็เหมือนไม่พอ ทำอะไรที่อยากทำได้ไม่หมด จนบางครั้งก็รู้สึกท้อแท้ใจว่าเราเริ่มอะไรสายไปแล้วหรือเปล่านะ

คนเขียนตั้งคำถามว่า “ตอนนี้ชีวิตคุณกำลังอยู่ในช่วงกี่โมง?” หากให้นาฬิกาชีวิตของคนเรามี 24 ชั่วโมง และคาดเอาไว้ว่าคนเราสามารถอยู่ได้จนถึงอายุ 80 ปี เมื่อเราอายุเพิ่มขึ้น 1 ปี นาฬิกาชีวิตจะเดินหน้าไป 18 นาที หากเอาอายุของนักศึกษาจบใหม่มาคำนวนด้วยสูตรนี้ พวกเขาที่ตอนนี้อายุ 24 ปี นาฬิกาชีวิตจะตรงกับเวลา 7 โมง 12 นาที

เวลา 7 โมง 12 นาที บางคนอาจจะรู้สึกว่าเช้ามาก ๆ ยังนอนไม่ตื่นอยู่บนเตียง บางคนอาจตื่นนอนและเตรียมตัวออกไปข้างนอก คนเขียนในฐานะอาจารย์ได้เห็นหนุ่มสาวมากมายในวัย 24 ปี ซึ่งเป็นวัยที่มนุษย์ก้าวผ่านความเยาว์วัยไปสู่ชีวิตที่ต้องเป็นส่วนหนึ่งของสังคมอย่างจริงจัง ซึ่งเทียบได้กับช่วงเวลา 7 โมงเช้าที่ต้องออกบ้านไปทำงาน

สำหรับคนที่อายุ 60 ปีซึ่งเป็นวัยเกษียณ นาฬิกาชีวิตจะอยู่ที่ 6 โมงเย็น เป็นเวลาที่หลายคนกลับถึงบ้าน หรือไม่ก็กำลังรับประทานอาหารอย่างมีความสุข ช่วงอายุชีวิตที่คล้ายคลึงกับเวลาใน 1 วันแบบนี้ คนเขียนจึงชอบเทียบอายุขัยกับนาฬิกาของชีวิต

หลายครั้งที่คนเขียนรู้สึกว่าตัวเองยังไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเลย ทั้งที่อายุ 48 ปีแล้ว เขาก็คำนวนนาฬิกาชีวิตดู พบว่านาฬิกาชีวิตของเขาเพิ่งอยู่ที่ บ่าย 2 โมง 24 นาที เขารู้สึกว่ายังมีเวลาชีวิตเหลืออีกเยอะ จึงคลายความกังวลไปได้มาก คนเขียนยกคำพูดจากภาพยนตร์เรื่อง The Curious Case of Benjamin Button ที่กล่าวว่า “ในชีวิตหนึ่ง ไม่มีช่วงอายุใดที่เร็วเกินหรือสายเกินแก้”


คนเขียนเป็นอาจารย์อยู่ที่มหาลัยบนเชิงเขาที่เคยเป็นสนามกอล์ฟมาก่อน วิวของที่นี่จึงสวยงามและแตกต่างกันไปตามแต่ละฤดู ช่วงต้นฤดูใบไม้ผลิที่เป็นช่วงปฐมนิเทศของนักศึกษา ดอกบ๊วยจะคลี่กลีบก่อนดอกชนิดอื่น พอถึงช่วงเปิดเทอม ดอกแมกโนเลียและดอกอาซาเลียที่ปลูกตามทางเดินจะบานขึ้นพร้อม ๆ กัน พอถึงช่วงสอบกลางภาค ดอกซากุระจะค่อย ๆ แย้มกลีบออก จากนั้นสายฝนจะพัดกลีบซากุระร่วงจากกิ่งก้านจนหมด พอถึงเดือน พ.ค. ดอกกุหลาบจะชูช่อให้ทุกคนได้เห็น พอเข้าฤดูร้อนดอกทานตะวันจะบานต้อนรับช่วงปิดเทอม

คนเขียนเล่าเรื่องดอกไม้ที่ผลัดกันบาน เพื่อเปรียบเทียบว่าชีวิตของแต่ละคนก็เหมือนเป็นดอกไม้คนละชนิดที่มีช่วงเวลาบานตามฤดูกาลของตนเอง ตอนนี้อาจไม่ถึงช่วงเวลาของคุณ อาจสายไปหน่อยเมื่อเทียบกับคนอื่น แต่ถ้าฤดูนั้นมาถึง คุณจะงดงามไม่แพ้ดอกไม้ชนิดอื่น ดังนั้นในช่วงที่รอคอย จงเตรียมตัวให้พร้อม

คนเขียนเล่าว่าวันหนึ่งเขาไปเดินเล่นแล้วเห็นคนกำลังเลื่อยไม้อยู่ เขาคนนั้นเลื่อยไม้อย่างมุ่งมั่นจนเหงื่อท่วมตัว แต่ต้นไม้ก็ไม่ยอมโค่นลงเสียที คนเขียนดูแล้วก็รู้ว่าเพราะเลื่อยของชายคนนั้นทื่อเกินไป จึงตะโกนบอกให้ชายคนนั้นพักให้หายเหนื่อยแล้วลับใบเลื่อยให้คมเสียก่อน แต่ชายคนนั้นบอกกลับมาว่าเขาไม่อยากเสียเวลาแล้วกลับไปเลื่อยแบบเดิมต่อ

ถ้าสังเกตให้ดีมีคนรอบข้างเรามากมายที่กำลังดำเนินชีวิตแบบชายตัดไม้คนนั้น ที่ไม่ยอมสังเกตว่าเลื่อยตัวเองทื่อแล้ว จึงไม่รู้ว่าทำไมต้นไม้ไม่โค่นลงเสียที แล้วก็กลับมาตำหนิตัวเองว่าไม่พยายาม ไม่ตั้งใจ ก่อนจะลงมือเลื่อยไม้ต่อไป เอบราฮัม ลินคอล์น เคยกล่าวเอาไว้ว่า “ถ้าข้าพเจ้ามีเวลาแปดชั่วโมงในการตัดต้นไม้ ข้าพเจ้าจะใช้เวลาหกชั่วโมงในการลับขวานให้คม” คำกล่าวนี้สอนให้เรารู้จักเป้าหมายที่แน่ชัดว่าจะทำงานนั้น ๆ ไปทำไม ที่สำคัญต้องบ่มเพาะพลังสำหรับทำงานนั้น ๆ หลังจากนั้นให้ใช้เวลาค้นหาแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมกับตัวเอง


ถ้าไม่มีเป้าหมายและไม่รู้วิธีที่เหมาะสมกับตัวเอง จะเท่ากับว่าสูญเสียความพยายามและเวลาไปเปล่า ๆ คนเขียนให้ความเห็นว่าสิ่งที่จะทำให้ชีวิตประสบความสำเร็จมี 3 ประการ คือ มีเป้าหมายที่ตัวเองต้องการ รู้วิธีที่เหมาะสม และการลงมือปฏิบัติ แต่คนส่วนใหญ่มุ่งมั่นกับการปฏิบัติมากเกินไป จนลืมเป้าหมายและวิธีการ นี่เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ผลลัพธ์ออกมาล้มเหลว

ถ้าลองมองย้อนกลับไปหรือลองทบทวนตัวเองให้ดี เราอาจรู้ตัวว่ากำลังพุ่งไปผิดเป้าหมายหรือกำลังพยายามด้วยวิธีที่ผิด ๆ อยู่ การทบทวนตัวเองนอกจากต้องคิดให้รอบคอบแล้ว สิ่งสำคัญคือต้องมีประสบการณ์ซึ่งไม่มีสิ่งใดมีค่าเทียบได้กับสิ่งนี้ จงพยายามสะสมประสบการณ์ในวัยหนุ่มสาว เหมือนดั่งคำพูดที่ว่า “วัยหนุ่มสาวคือการเผชิญหน้ากับความยากลำบาก” แต่วัยนี้อาจลงมือทำทุกอย่างที่ใจคิดไม่ได้ทุกอย่าง เพราะเงื่อนไขเรื่องเวลาหรือสถานะทางการเงิน แต่วัยนี้สามารถสะสมประสบการณ์ได้จากการอ่านหนังสือ ดูสัมภาษณ์ของทั้งคนที่ประสบความสำเร็จและคนที่ล้มเหลว การอ่านหรือดูเรื่องราวเหล่านี้ทำให้เราสามารถสะสมประสบการณ์ทางอ้อมได้

การพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นก็เป็นอีกทางหนึ่ง อาจคุยกับเพื่อน รุ่นพี่ หรือถ้าได้คุยกับผู้ใหญ่ก็ยิ่งดีใหญ่ นอกจากนี้การท่องเที่ยวก็เป็นหนทางที่ดี เมื่อออกเดินทางลองมองวิวนอกหน้าต่าง ณ เวลานั้นเราอาจได้พบกับความคิดที่เปลือยเปล่าของตัวเอง ได้ค้นพบตัวตนที่แท้จริงของตัวเอง ยิ่งไปเที่ยวต่างประเทศยิ่งเห็นตัวเองแจ่มชัดที่สุด ช่วงเวลาที่เราได้เห็นการดำเนินชีวิตของคนอื่นด้วยวิถีชีวิตที่แตกต่าง ซึ่งช่วยทำลายอคติหรือเงื่อนไขต่าง ๆ ที่เคยครอบงำความคิดเราเอาไว้

คนเขียนย้ำว่าอย่างลืมเป้าหมาย วิธีทำและการลงมือปฏิบัติ หากไม่มีเป้าหมายก็ไม่มีความหมาย หากไม่รู้วิธีทำที่ถูกต้องก็ไม่มีค่า และถ้าไม่ลงมือปฏิบัติก็ไม่มีทางสำเร็จได้ หากขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปก็เหมือนขาตั้งกล้องที่ข้างหนึ่งสั้นกว่าอีกข้าง เพื่อให้สามสิ่งนี้สมดุลกัน ต้องหมั่นย้อนมองตัวเองบ่อย ๆ


หลายคนอาจคิดว่าคำว่า “อิจฉา” เป็นคำในแง่ลบ ไม่มีใครอยากเป็นคนที่อิจฉาคนอื่น แต่คนเขียนชวนให้เรามองคำนี้ด้วยมุมใหม่ เขาบอกว่าความรู้สึกที่มีต่อคนที่ได้ดีกว่าตนเองแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ อิจฉาและริษยา ความริษยาคือการไม่อยากเห็นคนอื่นได้ดีกว่าตัวเอง ส่วนความอิจฉาคือการเห็นคนอื่นได้ดีแล้วอยากได้ดีตามบ้าง โลกใบนี้เต็มไปด้วยการแข่งขัน เราแข่งขันกันทุกเรื่องในทุกวัย คนที่ชนะการแข่งขันหนึ่งอาจไม่ได้เป็นคนชนะตลอดไป หรืออาจพ่ายแพ้ในการแข่งขันอื่น สิ่งสำคัญคือเราจะโตขึ้นโดยใช้ประสบการณ์จากการชนะหรือแพ้จากการแข่งขันต่าง ๆ อย่างไร

หากเราแพ้แล้วเอาแต่ริษยาชัยชนะของคนอื่น การแข่งครั้งหน้าเราก็คงแพ้เช่นเดิม แต่เราควรนำเอาความต้อยต่ำใจ ความอยากชนะเหมือนเขาบ้างมาเป็นแรงกระตุ้นให้ตัวเองพุ่งไปข้างหน้า คนเขียนเปรียบเทียบความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจว่าเป็นสัมภาระบนเรือ เรือลำใดที่สัมภาระไม่เยอะจะเบาและแล่นไปได้เร็ว แต่พอเจอพายุก็อาจถูกพัดคว่ำไปได้ง่าย ๆ ส่วนเรื่อที่สัมภาระเยอะ อาจแล่นไปได้ช้า แต่หากเจอพายุสัมภาระจะช่วงถ่วงให้เรือทนจนพายุผ่านไปได้

จงอิจฉาแทนริษยา จงยอมรับความสำเร็จของผู้อื่น แม้ชีวิตจะดูเหมือนมีอุปสรรคครั้งแล้วครั้งเล่า จงค้นหาการดำรงอยู่ของตัวคุณจากมรสุมที่ผ่านเข้ามาในชีวิตให้พบ ค่อย ๆ เรียนรู้จากสิ่งนั้น จงอิจฉาและเอาชนะมัน


ความสัมพันธ์ของมนุษย์เป็นเรื่องที่ซับซ้อนมาก ผู้เขียนที่ผ่านช่วงเวลายากลำบากของชีวิตมาแล้วให้ความเห็นว่า สิ่งที่ทรมาณที่สุดในชีวิตคือเรื่องความขัดแย้งทางความสัมพันธ์ สมัยเด็กวัยอนุบาลหรือประถม หากเราทะเลาะกับเพื่อน ไม่นานก็หายโกรธกันและกลับมาเล่นกันได้เหมือนเดิม พอขึ้นชั้นมัธยมก็จะมีกลุ่มเพื่อนสนิท มีคนที่เราชอบ มีคนที่เราไม่ชอบ แต่พอเข้ามหาลัยกลุ่มเพื่อนแบบนั้นก็หายากขึ้นแล้ว

ชีวิตมหาลัยเป็นช่วงเวลาที่เราพบเจอกับความสัมพันธ์ที่ซับซ้อน เริ่มมีความรักแบบเป็นแฟนกัน มีเพื่อนต่างคณะ มีอาจารย์จากหลายสาขา ได้พบเจอเจ้านายหรือเพื่อนร่วมงานที่จบมาจากคนละที่ รูปแบบความสัมพันธ์มากมายเต็มไปหมด

อาจดูเหมือนว่าเราพบเจอคนมากกว่าแค่ในห้องเรียน แต่เป็นเรื่องยากที่จะสนิทกับใครอย่างจริงจัง คุณภาพความสัมพันธ์จึงลดลง หากผิดใจกันก็ยากที่จะกลับมาคืนดีกันเหมือนเดิม เราจึงได้ยินเสมอว่าเพื่อนสมัยประถม มัธยมนั้นตัดกันไม่ขาด

ปัจจุบันความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์เปราะบางกว่าในอดีต คนสมัยนี้มีความเป็นปัจเจกสูง ส่วนใหญ่เป็นลูกคนเดียว ไม่เหมือนคนสมัยก่อนที่มีพี่น้องหลายคน ต้องแบ่งปันห้องนอน ห้องนั่งเล่น แบ่งอาหารและขนมกัน และคนสมัยก่อนมักเล่นกันหลายคน เช่น กระโดดยาง ไล่จับ ซ่อนหา แต่คนสมัยนี้สามารถเล่นคนเดียวได้เพียงแค่มีเครื่องเกมหรือโทรศัพท์มือถือ แม้จะเล่นเกมออนไลน์ แต่ก็ไม่ใช่การเจอหน้ากัน

ความจริงคือมนุษย์เป็นสัตว์สังคม ไม่มีใครอยู่คนเดียวไปได้ตลอด ไม่มีใครเก็บปัญหาเอาไว้กับตัวเองได้ตลอด เราต้องมีคนที่ให้คำปรึกษาหรือระบายความในใจด้วยได้ ผู้เขียนมักแนะนำลูกศิษย์ว่าสิ่งที่ควรมีหลังจากเข้ามหาลัยและก่อนเรียนจบคือ “ความสัมพันธ์ที่ดี” ลองลดความคิดที่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง แล้วเข้าหาคนเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีดูครับ


โลกใบนี้มีวิชาเอกหลากหลาย เด็ก ม.6 จะถูกกำหนดให้ต้องเลือกคณะที่ตั้งใจจะสอบเข้า แล้วเลือกสาขาวิชาเอกในภายหลัง เด็กบางส่วนอาจไม่รู้มาก่อนว่าแต่ละคณะมีวิชาเอกแยกย่อยมากมาย และเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ทำให้ภาคที่ก่อตั้งมานานเปลี่ยนชื่อใหม่ หรือมีภาคใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย การจะทำงานหนึ่งให้สำเร็จต้องอาศัยความรู้จากหลายสาขามาก

เช่น หากอยากเป็นนักออกแบบแฟชั่น ต้องมีความรู้เรื่องสิ่งทอ ต้องรู้จักเส้นใยหลายประเภท เช่น ฝ้าย ไหม โพลิเอสเทอร์ ต้องมีหัวศิลปะในการออกแบบเสื้อผ้าสวย ๆ และการจะขายเสื้อผ้าที่ทำออกมาได้ ต้องมีความรู้เรื่องการตลาด คงเป็นเรื่องดีที่ได้เรียนวิชาเอก 2-3 วิชาควบกัน เพราะเมื่อเรียนจบมาแล้วจะได้มีความรู้ที่หลากหลาย

คนเรามักคิดว่าวิชาเอกที่ดีที่สุดวัดจากคะแนนสอบเข้าที่สูง แต่กลับไม่มีใครสนใจความต้องการของสายอาชีพนั้นในตลาดแรงงาน ถ้าอยากตัดสินว่าวิชาเอกไหนสำคัญต่อสังคมมากแค่ไหน เราต้องตัดสินจากอุปสงค์อุปทาน ถ้าวิชาเอกไหนกำลังขาดแคลนในสังคม แสดงว่าวิชาเอกนั้นกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น แต่ถ้าวิชาเอกนั้นมีคนจบมาแล้วหางานยาก คนตกงานเยอะ แสดงว่ากำลังอยู่ในช่วงขาลง

ในทุกเทอมผู้เขียนจะเจอนักศึกษาปี 2 หรือ 3 ทำเรื่องย้ายสาขาวิชา พวกเขามักอ้างว่าไม่ถนัดวิชาที่เรียนอยู่ แต่เหตุผลที่แท้จริงคือ อยากเปลี่ยนไปเรียนสาขาที่มีชื่อเสียงมากกว่า พวกเขาเชื่อว่าหากเรียนจบสาขาที่ดัง โอกาสในการหางานจะง่ายกว่า

ปัจจุบันความสำคัญของวิชาการไม่ได้อยู่ที่อันดับคะแนน แต่คือทักษะที่สามารถนำความรู้ของวิชาเอกตัวเองไปปรับใช้กับความต้องการของสังคมได้ต่างหาก ความเชื่อที่ว่าถ้าจบเอกไหนต้องทำงานเกี่ยวกับเอกนั้นเป็นความเชื่อที่ล้าหลัง เช่น ถ้าอยากเป็นนักข่าวต้องเรียนจบนิเทศศาสตร์ ถ้าอยากเป็นทนายต้องจบนิติศาสตร์ แต่ความจริงใช่ว่าทุกคนที่จบนิเทศศาสตร์จะได้เป็นนักข่าวกันทุกคน ไม่แน่ว่าคนที่จบคณะวิทยาศาสตร์อาจเป็นนักข่าวสายวิทยาศาสตร์ได้ง่ายกว่าด้วยซ้ำ เช่นเดี่ยวกับทนายที่ต้องมีความรู้ด้านกฏหมาย แต่ถ้าเรียนด้านสังคมศาสตร์และศึกษาด้านจิตวิทยาเพิ่มเติม ก็อาจจะเป็นทนายความเฉพาะทางในการให้คำปรึกษาด้านครอบครัว

ในยุคสมัยใหม่เราจำเป็นต้องมีความรู้กว้าง ๆ และนำมาปรับใช้ได้อย่างเหมาะสม อุปสงค์อุปทานในสังคมเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ความรู้สมัยใหม่ซับซ้อนยิ่งขึ้น สิ่งนี้ยืนยันได้ว่าแนวโน้มของโลกการศึกษายุคใหม่อิสระและกว้างขึ้น จงอยากได้ความรู้ที่หลากหลาย อย่าสนใจคะแนนสูงต่ำของคณะ ความรู้ไม่มีอันดับ เป็นเพียงความต้องการของสังคม


ผู้เขียนเปรียบเทียบชีวิตของมนุษย์เป็นจิ๊กซอว์ที่มีจำนวนชิ้นมากถึง 29,200 ชิ้น ตามจำนวนวันของอายุขัยมนุษย์ที่เฉลี่ยมีอายุ 80 ปี จิ๊กซอว์ชีวิตต่างจากจิ๊กซอว์ของเล่นตรงที่จิ๊กซอว์ของเล่นมีภาพตัวอย่างที่เสร็จสมบูรณ์ให้เราเห็นก่อนลงมือต่อแต่ละชิ้นส่วนเข้าด้วยกัน แต่จิ๊กซอว์ชีวิตเราไม่มีภาพที่สมบูรณ์ เราต้องต่อทีละชิ้นส่วนให้เป็นรูปเป็นร่างเองทีละนิดทีละหน่อย ผู้คนมากมายอยากจะประสบความสำเร็จเร็ว ๆ พวกเราดูนาฬิกาบ่อย ๆ เพื่อตรวจดูว่าตอนนี้สิ่งที่กำลังทำก้าวหน้าไปถึงไหน แต่เรากลับลืมว่าสิ่งที่จำเป็นกว่านาฬิกาคือเข็มทิศ สิ่งที่สำคัญกว่าการไปได้เร็วแค่ไหน คือไปถูกทางหรือไม่

นอกจากนี้ยังมีสิ่งที่สำคัญกว่าเข็มทิศคือกระจก เราต้องใช้กระจกส่องย้อนมองดูตัวเองเสมอว่าตอนนี้กำลังทำอะไรอยู่ แต่คนเรามักต้องการนาฬิกามากกว่าเข็มทิศ ต้องการเข็มทิศมากกว่ากระจก ความสำเร็จในชีวิตไม่ใช่ความสำเร็จยิ่งใหญ่เพียงครั้งเดียว แต่เป็นการถักทอชัยชนะขึ้นทุกวัน การเฝ้ารอชัยชนะแบบพลิกล็อกหรือรอจุดเปลี่ยน เป็นการเสียเวลาในชีวิตแต่ละวันไปโดยเปล่า ยิ่งเป็นคนไร้ความสามารถก็จะยิ่งชอบจินตนาการว่า “สมมุติว่าเป็นแบบนั้น… ถ้ามีโอกาสแบบนี้…” จงอย่าสมมุติ ให้ลงมือทำในตอนนี้ จงปลูกเมล็ดความฝันให้ผลิบานขึ้นจริงในทุก ๆ วัน เวลาเป็นวัตถุดิบสร้างวิญญาณให้มนุษย์

มีคนเคยกล่าไว้ว่า “ต่อให้เราย้อนเวลากลับไปในอดีตก็ไม่มีทางแก้ไขอดีตได้ แต่ถ้าเริ่มต้นใหม่ในตอนนี้จะสามารถเปลี่ยนแปลงผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้” จงสร้างภาพจิ๊กซอว์ของคุณตั้งแต่ตอนนี้

ผู้เขียนยกคำคมที่ตัวเองเคยเห็นอยู่บ่อย ๆ คำคมนั้นคือ “คาร์เพ เดียม” (Carpe diem) มีความหมายในภาษาอังกฤษว่า Seize the day แปลเป็นไทยได้ว่า “จงฉกฉวยวันนี้ไว้” แต่ก็มีหลายคนตีความหมายของคำว่า คาร์เพ เดียม ต่างออกไป ในบทกวีของฮอเรซมีความหมายว่า “เวลาคือสิ่งที่สูญเปล่า” ในภาพยนตร์ Dead Poets Society มึความหมายว่า “อย่าใช้ชีวิตอย่างคนธรรมดา” คนทั่วไปใช้ในความหมายว่า “จงสนุกกับปัจจุบัน”

ถ้อยคำที่ว่า “จงสนุกอยู่กับปัจจุบัน” สามารถตีความไปได้ถึงการมีความสุข เพราะมนุษย์ดำรงอยู่เพื่อแสวงหาความสุข เรามีชีวิตอยู่เพื่อความสุข ทำงาน หาเงิน คบเพื่อน เพื่อความสุข ในสมัยก่อนคนเกาหลีเชื่อว่าถ้าประสบความสำเร็จ ชีวิตจะมีความสุข จึงขยันทำงานโดยไม่หยุดพัก ทุกคนยอมลำบากในวันนี้ โดยหวังว่าวันหน้าจะสบาย

แต่ความสุขนั้นไม่ได้เกิดขึ้นเมื่อประสบความสำเร็จ แต่เกิดจากการเพลิดเพลินในการใช้ชีวิต ซึ่งการเพลิดเพลินในชีวิตนี้ไม่ได้หมายความว่าให้ใช้ชีวิตเสเพลไปวัน ๆ แต่เป็นการได้ทำงานที่ตัวเองรู้สึกมีคุณค่า นั่นล่ะคือความเพลิดเพลินในชีวิต

ผู้เขียนแปลความหมายของคำคม คาร์เพ เดียม เอาไว้ว่า “เราไม่ควรดำเนินชีวิตในวันนี้ด้วยความเสียใจจากวันวานที่ผ่านมาแล้ว” เราไม่ควรเป็นทุกข์กับอดีตที่แก้ไขไม่ได้ เราไม่ควรหวาดหวั่นกับอนาคตที่ยังมาไม่ถึง ต้องรู้สึกเพลิดเพลินกับปัจจุบันซึ่งกำลังก้าวเดินไปสู่เป้าหมายทีละนิด มีความเชื่อมั่นในตัวเอง แม้สิ่งที่วาดฝันยังไม่เป็นรูปเป็นร่างชัดเจน ความดื่มด่ำแบบนี้จะทำให้เราเพลิดเพลินกับปัจจุบัน นี่คือความหมายของคำคม คาร์เพ เดียม


เราอาจเคยได้ยินคำพูดค่อนแคะว่า “ถ้าคนหนุ่มสาวไม่เลือกงานมากนัก ก็หางานได้ไม่ยากหรอก” เพราะคนที่พูดประโยคนี้เคยเริ่มต้นจากจุดที่ต่ำสุดมาก่อน ผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับประโยคนี้นัก คนรุ่นเก่าเกิดในยุคที่รายได้ต่อหัวยังไม่มาก จึงต้องก้มหน้าก้มตาทำงานตามที่หาได้ แต่คนหนุ่มสาวในยุคสมัยนี้อยู่ในยุคที่รายได้ต่อหัวเพิ่มสูงขึ้น ความคาดหวังในชีวิตจึงต่างกับคนรุ่นก่อนมาก ไม่มีใครต้องทำงานเพราะกลัวอดตาย ทุกคนพยายามทำงานตามความฝันและความสุขของตัวเอง

ชีวิตของวัยรุ่นช่วงอายุ 20 ปี ล้วนหมดไปกับการเตรียมตัวเพื่อให้พร้อมหางาน ทั้งการเรียนให้ได้เกรดเฉลี่ยดี ๆ การเรียนภาษาที่ 2 ที่ 3 การฝึกงาน พยายามทุกวิถีทางเพื่อจะได้งานที่ใช้ได้ ทว่าปัจจุบันการหางานที่ใช้ได้เป็นไปอย่างดุเดือดเมื่อเทียบกับอดีต คนจบระดับมหาวิทยาลัยกันเยอะขึ้น ในทางตรงกันข้ามอัตราการจ้างงานลดลงอย่างต่อเนื่อง คนรุ่นก่อนได้ครอบครองตำแหน่งงานที่ดีในสังคมไว้หมดแล้ว จำนวนงานมีน้อยกว่าคนหางาน เป็นการแข่งขันที่ดุเดือดกว่าที่คิด

ในการจ้างงาน ผู้หางานอยากได้งานที่ผลตอบแทนดีเลิศเกินความสามารถของตน ส่วนบริษัทก็อยากได้พนักงานที่มีศักยภาพสูงกว่าขอบเขตที่กำหนดไว้ สถานการณ์ของทั้งสองฝ่ายเลยไม่สมดุลกัน ตลาดงานมองคนที่ประสบการณ์ทำงานที่ผ่านมา พวกเขาอยากได้คนที่ทำงานเป็นจริง ๆ ดังนั้นการสะสมประสบการณ์ทำงานจากบริษัทน้อยใหญ่จึงมีประโยชน์มาก

แม้บริษัทขนาดเล็กอาจไม่น่าเชื่อมั่นเท่าไหร่ เป็นไปได้ยากที่จะมีความก้าวหน้า แต่หากมองในแง่ดีการทำงานในบริษัทเล็กจะได้ทำงานมากมายที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานของตน เพราะคนในบริษัทมีน้อย เราจึงมีโอกาสได้ฝึกฝนฝีมือ ถ้าในอนาคตบริษัทเติบโต เราก็จะได้เลื่อนขั้นตามไปด้วย เผลอ ๆ อาจจะได้เลื่อนขั้นเร็วกว่าหรือได้ผลตอบแทนดีกว่าบริษัทใหญ่ ๆ ที่มีโครงสร้างองค์กรที่ซับซ้อน

ความจริงแล้วงานที่สำคัญที่สุดไม่ใช่งานแรก แต่เป็นงานสุดท้าย อย่ารีบร้อนตัดสินผลแพ้ชนะจากการประลองครั้งแรก การแข่งขันต้องดูนาน ๆ ถึงจะรู้ว่าท้ายที่สุดใครเป็นผู้ชนะ ดังนั้นเราจึงควรมีแผนการทำงาน หรือ career path เอาไว้คร่าว ๆ อย่าทุ่มกำลังหมดตัวตั้งแต่ยกแรก ทำเท่าที่ทำได้ สะสมประสบการณ์ไปเรื่อย ๆ


แม้ตอนนี้ความปรารถนายังไม่เป็นจริง จงย่ำเท้าอยู่ในสังคมอย่างอ่อนน้อม ลองขึ้นรถไฟชีวิตชั้น 3 ดูก่อน แล้วค่อยย้ายไปยังรถไฟชีวิตชั้น 1 อย่างแช่มช้า ซึ่งเป็นเรื่องง่ายมากกว่าที่จะตะเกียกตะกายแย่งชิงขึ้นรถไฟชั้น 1 ตั้งแต่ในตอนนี้

ท้ายเล่มผู้เขียนได้สรุปว่า แม้จะไม่รู้ว่าตัวเองเป็นใคร มีเป้าหมายอะไร จะไปที่ไหน แต่ก็อยากให้รู้สึกท้าทายอยู่เสมอ อยากให้โอบกอดความปรารถนาเอาไว้ มีฝันที่งดงามเป็นประกายไปตลอดทั้งชีวิต ผู้เขียนได้ยกบทพูดจากภาพยนตร์เรื่องอลิซในดินแดนมหัศจรรย์ที่กล่าวไว้ว่า “If you don’t know where you’re go, just go.” “ถ้าไม่รู้จะไปที่ไหน ก็แค่ไป” สิ่งเลวร้ายยิ่งกว่าการทำผิดพลาดคือการไม่ยอมทำอะไรเลย ถ้าเรือจอดอยู่ที่ท่าเรือ อาจจะปลอดภัยที่สุด แต่เรือไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อจอดไว้เฉย ๆ เรือจะมีคุณค่าเมื่อได้ออกผจญคลื่นทะเล เช่นเดียวกับประตูที่มีมากมาย แต่หากไม่ถูกเปิดก็ไม่ต่างอะไรกับการเป็นผนัง จงเปิดประตูเหล่านั้น จงใช้โอกาสแห่งวัยหนุ่มสาวลองผิดลองถูกดู

วัยรุ่นคือวัยที่เจ็บปวด ดังนั้นอย่าหวั่นไหว จงยอมรับความทรมานอย่างเข้มแข็ง ความเจ็บปวดนี้ในภายหลังจะกลายเป็นเชื้อเพลิงให้ชีวิตโชติช่วง ผู้เขียนหวังว่าหนังสือเล่มนี้จะช่วยให้ผู้อ่านประคับประคองชีวิตข้ามผ่านวัยที่งดงามนี้ไปได้อย่างกล้าหาญ

สำหรับใครที่กำลังอยู่ในวัยรุ่นและท้อแท้กับความยากลำบากในชีวิต รู้สึกว่าสังคมผู้ใหญ่เป็นเรื่องหนักหนา กำลังท้อแท้หมดกำลังใจ ผมอยากให้ลองหยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาอ่าน หลายสิ่งที่ผู้เขียนฝากไว้ แนะแนวทางในชีวิตได้อย่างดี แนวคิดของผู้เขียนเข้าอกเข้าใจวัยรุ่น การอ่านหนังสือเล่มนี้เหมือนมีคนที่เข้าใจเราคอยปลอบประโลมอยู่ข้าง ๆ แนะนำครับสำหรับหนังสือเล่มนี้

สนใจหนังสือ เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด
สามารถสั่งซื้อได้ที่ Shopee: https://s.shopee.co.th/BE2AdcsyZ
ซื้อผ่านลิงค์เป็นการสนับสนุนช่องครับ

Share

Leave a comment

Leave a Reply

What's New

สรุปเนื้อหาและแนะนำหนังสือที่น่าสนใจ ชวนเพื่อน ๆ มาพัฒนาตัวเองให้ดียิ่งขึ้นในทุก ๆ วันไปด้วยกันครับ

Copyright 2025 Aitim and Co. All rights reserved

error: Content is protected !!