สุดยอดวิธีใช้สมองของคนอายุ 30+ สมองไม่มีวันแก่ แค่ทำตามนี้ แล้วสมองจะดีขึ้นไปตลอดชีวิต

Share
Share

เพื่อน ๆ หลายคนที่อยู่ในวัย 30+ น่าจะเคยคิดว่าพออายุมากขึ้นสมองก็เหมือนจะเสื่อมลง รู้สึกว่าความจำแย่ลงกว่าสมัยเรียน แถมยังใช้เวลานานกว่าจะเรียนรู้อะไรสักเรื่องให้เข้าใจ แต่มีหนังสือเล่มหนึ่งครับที่บอกว่าความคิดนี้ผิดมหันต์ สมองของคนวัยนี้อยู่ในสภาพที่ดีกว่าสมัยเป็นนักเรียนซะอีก

ไอติมอ่าน ep นี้มาแนะนำเนื้อหาจากหนังสือ สุดยอดวิธีใช้สมองของคนอายุ 30+ เขียนโดย นพ. คาโต โทชิโนริ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสมองที่วินิจฉัยภาพถ่ายสมองด้วยเครื่อง MRI ของผู้คนมาแล้วกว่า 10,000 คน คุณหมอคาโตบอกว่าวัยผู้ใหญ่นี่แหละคือวัยที่เหมาะสมที่สุดในการเรียนรู้ และสมองของคนเราสามารถพัฒนาต่อไปได้ตลอดชีวิต

แต่หลายคนน่าจะสงสัยเหมือนผมว่า ถ้างั้นทำไมถึงรู้สึกว่าตัวเองเรียนรู้ช้าลงและหลงลืมอะไรง่ายขึ้น ผิดกับสมัยเป็นนักเรียนลิบลับ คุณหมอบอกว่านั่นเป็นเพราะสมองของนักเรียนกับสมองของผู้ใหญ่นั้นมีกลไกการทำงานที่แตกต่างกัน การที่อายุมากขึ้น แต่ยังใช้วิธีการเรียนรู้แบบเดิมเหมือนตอนอยู่สมัยเรียน เราจะไม่ได้ผลลัพธ์แบบเดิม พูดง่าย ๆ คือ เราต้องเปลี่ยนวิธีเรียนรู้ให้เหมาะสมกับสมองของตัวเองที่เป็นผู้ใหญ่แล้วนั่นเองครับ

ในทางประสาทวิทยา สมองของนักเรียนที่อยู่ในช่วงอายุไม่เกิน 20 ปี ถือเป็นสมองที่ยังเติบโตและพัฒนาได้ไม่เต็มที่ ยังไม่ได้อยู่ในสภาวะที่จะแสดงศักยภาพที่แท้จริงออกมาได้ แต่สุดยอดเซลล์สมองอันเก่งกาจจะเริ่มทำงานเมื่อเราอายุเข้าสู่วัย 30 ปี ในระหว่างทางที่เติบโตเป็นผู้ใหญ่ สมองของแต่ละคนจะพัฒนาแตกต่างกันไปตามสภาพแวดล้อม หน้าที่การงาน ประสบการณ์ชีวิตและการใช้สมองที่แตกต่างกัน เอกลักษณ์ของสมองแต่ละคนจึงแตกต่างกัน และการพัฒนาของสมองนั้นไม่มีจุดสิ้นสุด สมองของเราสามารถพัฒนาไปได้ตลอดชีวิตครับ

แต่ถ้าพิจารณาเฉพาะโครงสร้างของสมอง เมื่อผ่านอายุ 20 ปีไปแล้ว เซลล์สมองจะลดจำนวนลง แต่เซลล์สมองที่ลดลงไม่ได้ทำให้สมองหยุดพัฒนาแต่อย่างใด และความจริงแล้วช่วงเวลาที่เรามีจำนวนเซลล์สมองมากที่สุดในชีวิตคือช่วงเป็นทารกที่อายุยังไม่ครบขวบครับ แต่ประสิทธิภาพของสมองไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนของเซลล์สมอง ต่อให้มีเซลล์สมองอยู่มากมายมหาศาล แต่พวกมันไม่ถูกเชื่อมต่อกันด้วยเครือข่ายใยประสาท สมองก็ทำหน้าที่ได้ไม่เต็มที่ครับ

การที่คนเราสะสมประสบการณ์มาพร้อมกับอายุที่เพิ่มขึ้นจะช่วยกระตุ้นการทำงานของสมอง ทำให้เครือข่ายใยประสาทแผ่ขยาย เซลล์สมองจึงทำงานประสานกันได้ดีขึ้น ประสิทธิภาพของสมองก็จะเพิ่มขึ้นครับ


สมอง 8 ส่วนที่ทำหน้าที่สำคัญ

คุณหมอคาโตได้แนะนำให้รู้จักกับสมอง 8 ส่วนที่ทำหน้าที่สำคัญ ความจริงแล้วผู้เชี่ยวชาญด้านสมองจะแบ่งพื้นที่สมองเป็นส่วนต่าง ๆ ซีกละ 60 ส่วน รวมสมองซีกซ้ายและซีกขวาจึงมี 120 ส่วน แต่ส่วนที่ทำหน้าที่สำคัญมี 8 ส่วนนี้ครับ คือ

1. สมองส่วนความคิด

ทำหน้าที่ควบคุมความคิด ความต้องการและจินตนาการ สมองส่วนนี้จะทำงานเมื่อเรา คิดอะไรบางอย่าง

2. สมองส่วนความเข้าใจ

ทำหน้าที่ทำความเข้าใจข้อมูลที่ได้รับผ่านทางตาและหู เมื่อเจอเรื่องที่ไม่เข้าใจก็จะพยายามคาดเดาเพื่อทำความเข้าใจเรื่องนั้น ๆ

3. สมองส่วนความจำ

จะทำงานเมื่อเราต้องการจำหรือนึกข้อมูลบางอย่าง มีหน้าที่สะสมข้อมูลและดึงมาใช้งาน สมองส่วนนี้จะอยู่รอบ ๆ ฮิปโปแคมปัสซึ่งทำหน้าที่จัดการความจำ

4. สมองส่วนอารมณ์

ทำหน้าที่รับรู้อารมณ์ความรู้สึกต่าง ๆ แล้วแสดงออกมา ลักษณะเด่นคือมันจะพัฒนาตลอดชีวิตและเสื่อมถอยช้า อีกทั้งกระจายอยู่หลายจุดในสมองของเรา

5. สมองส่วนการสื่อสาร

ทำหน้าที่ถ่ายทอดความคิดผ่านการสื่อสาร เช่น การพูด

6. สมองส่วนการเคลื่อนไหว

ทำหน้าที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น มือ เท้าและปาก สมองส่วนนี้เป็นส่วนที่เริ่มพัฒนาก่อนสมองส่วนอื่น ๆ

7. สมองส่วนการมองเห็น

ทำหน้าที่รวบรวมภาพที่มองเห็นด้วยตา รวมถึงข้อความที่อ่านไปเก็บไว้ในสมอง

8. สมองส่วนการได้ยิน

ทำหน้าที่รวบรวมคำพูดหรือเสียงที่ได้ยินผ่านหูไปเก็บไว้ในสมอง

สมองของเราก็เหมือนบริษัท ๆ หนึ่งที่แต่ละแผนกต้องทำงานประสานกัน ไม่มีแผนกไหนเป็นพระเอกอยู่แผนกเดียว สมองแต่ละส่วนของเราก็ทำงานประสานกันแบบนั้นเช่นกันครับ ตัวอย่างเช่น ถ้าสมองส่วนอารมณ์อยู่ในสถานการณ์ที่งานยุ่งก็จะเกิดอารมณ์แปรปรวน ความคิดจะยุ่งเหยิง ส่งผลให้ตัดสินใจอะไรไม่ได้ แต่ถ้าเราควบคุมอารมณ์ให้สงบ สมองส่วนอื่น ๆ ก็จะทำงานได้ราบรื่นครับ

หรือสมองส่วนการเคลื่อนไหวที่เมื่อสั่งให้เราลงมือทำอะไรสักอย่าง จะส่งผลให้สมองส่วนความคิด สมองส่วนการมองเห็นและสมองส่วนการได้ยินเริ่มทำงานมากขึ้น เวลาที่เรารู้สึกว่าหัวไม่แล่น การออกไปเดินเล่นจึงช่วยให้เกิดไอเดียใหม่ ๆ ได้ครับ


สมองวัยเด็ก vs สมองวัยผู้ใหญ่

อย่างที่เกริ่นข้างต้นไปว่าทำไมพอโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว เราถึงรู้สึกว่าความจำเริ่มแย่ลง นั่นเป็นเพราะว่ากลไกการทำงานของสมองที่เกี่ยวข้องกับความจำเปลี่ยนแปลงไปครับ สมองวัยนักเรียนสามารถซึบซับสิ่งที่ได้ยิน โดยไม่จำเป็นต้องรู้ความหมาย การที่พูดว่า “ตอนเด็ก ๆ เรียนเก่งมาก” จะตีความได้ว่า “ตอนเด็ก ๆ ถนัดจำข้อมูลที่ได้ยินมาแบบเป๊ะ ๆ”

ลักษณะเด่นของสมองวัยนักเรียนคือ เครือข่ายเส้นใยประสาทที่เชื่อมต่อสมองส่วนการได้ยินกับสมองส่วนความจำเข้าด้วยกันนั้นแข็งแกร่ง และการเรียนสมัยเป็นนักเรียนก็เน้นใช้การท่องจำเป็นหลัก ตัวอย่างเช่น ตอนฟังนิทานแล้วได้ยินคำว่ากตัญญู เด็กก็จะจำคำศัพท์มาแบบเป๊ะ ๆ แล้วเอามาถามพ่อแม่ทีหลังว่าคำว่ากตัญญูแปลว่าอะไร

สำหรับเด็กที่มีคลังคำศัพท์ในหัวน้อย พอได้ยินคำศัพท์ใหม่ที่ไม่รู้จัก เซลล์สมองจะตื่นตัวและให้ความสนใจ เด็กจึงจำคำศัพท์ใหม่ได้อย่างรวดเร็ว ถึงแม้จะไม่รู้ความหมายก็ตาม

แต่พอเป็นผู้ใหญ่แล้ว สมองส่วนความคิดและสมองส่วนทำความเข้าใจจะพัฒนากว่าตอนเป็นเด็ก เราจึงถนัดทำความเข้าใจก่อนแล้วค่อยจำใส่สมอง สำหรับสมองวัยผู้ใหญ่ เวลาที่อยากจะจำอะไรสักอย่าง วิธีที่ถูกต้องคือใช้สมองไปกับการทำความเข้าใจ ไม่ใช่ท่องจำ กุญแจสำคัญอยู่ที่การกระตุ้นให้สมองส่วนความเข้าใจทำงานครับ

ถ้าพูดถึงความจำ สมองที่ทำงานร่วมกับสมองส่วนความจำคือฮิปโปแคมปัส ทั้งสองส่วนนี้อยู่ติดกัน โดยฮิปโปแคมปัสจะทำหน้าที่เก็บข้อมูลที่เพิ่งได้มาเอาไว้ชั่วคราว เรียกว่าความจำระยะสั้น และเลือกว่าจะลืมความจำระยะสั้นอันไหนทิ้งไป หรืออันไหนที่จะเอาไปเก็บไว้ในสมองส่วนความทรงจำเพื่อให้เป็นความจำระยะยาว ดังนั้นการจะเพิ่มประสิทธิภาพความจำ เราต้องทำให้ฮิปโปแคมปัสยอมเปิดเส้นทางที่เชื่อมต่อไปสู่ความจำระยะยาวให้ได้นั่นเองครับ


เพิ่มประสิทธิภาพความจำด้วยอารมณ์ความรู้สึก

การเพิ่มประสิทธิภาพความจำที่คุณหมอคาโตแนะนำคือ การใช้อารมณ์ความรู้สึก ปกติแล้วความจำระยะสั้นจะคงอยู่ประมาณ 2-4 สัปดาห์ ข้อมูลอย่างอาหารที่เรากินซ้ำไปซ้ำมาในช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมานั้นเป็นข้อมูลที่ไม่ได้โดดเด่นอะไร ฮิปโปแคมปัสจึงตัดสินว่ามันไม่ใช่ข้อมูลสำคัญและลบมันทิ้งไป

แต่หากเป็นอาหารที่ออกไปกินกับแฟนหรือครอบครัวในวันพิเศษอย่างวันเกิดหรือวันครบรอบ ช่วงเวลาแบบนั้นเราจะรู้สึกมีความสุข สนุกสนาน หรือดีใจ ความจำที่มาพร้อมกับเหตุการณ์ที่เปี่ยมไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกแบบนี้ จัดว่าเป็นความจำที่มีเรื่องราว และจะถูกส่งไปเก็บไว้ยังความจำระยะยาวโดยอัตโนมัติ ดังนั้นหากเพื่อน ๆ อยากจำสิ่งที่กำลังเรียนรู้ให้ขึ้นใจ ต้องใส่อารมณ์ความรู้สึกสนุกสนานไปพร้อมกับการเรียนรู้ด้วยครับ


ข้อมูลที่ได้รับมาซ้ำ ๆ จะถูกส่งไปเก็บไว้ในความทรงจำระยะยาว

การจะทำให้ฮิปโปแคมปัสคิดว่า “นี่คือข้อมูลที่สำคัญ” ยังมีอยู่อีกวิธีครับ นั่นคือส่งข้อมูลเดิมย้ำ ๆ ใส่ฮิปโปแคมปัส ดังนั้นการทบทวนบ่อย ๆ จึงเป็นกุญแจสำคัญของการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังสำนวนที่ว่าตีเหล็กต้องตีตอนร้อน เมื่อได้ข้อมูลมาก็ต้องรีบทบทวนตอนที่ยังไม่ลืม

ถ้าเพื่อน ๆ อยากจำอะไรบางอย่างให้ขึ้นใจ ให้เพื่อน ๆ ตั้งใจดูหรือพูดสิ่งนั้นซ้ำ ๆ เป็นเวลา 1 นาที หรือสัก 30 วินาทีก็ยังดี เมื่อทำแบบนี้แล้ว สมองจะคิดว่าข้อมูลนั้นสำคัญ และย้ายจากความจำระยะสั้นไปเก็บไว้ในความจำระยะยาว


คนเรามักมองหรือฟังแต่สิ่งที่ชอบ

สมองมักจะเมินข้อมูลใหม่ครับ ถ้าสมองรับข้อมูลภาพผ่านการมองเห็นหรือข้อมูลเสียงจากการได้ยินเข้ามาทั้งหมด ไม่ทันไรข้อมูลก็จะเต็มสมอง ดังนั้นสมองจึงเลือกสนใจเฉพาะข้อมูลที่คิดว่าสำคัญ ตัวอย่างเช่น ตอนที่เพื่อน ๆ ไปซื้อของในซุปเปอร์มาร์เก็ต ระหว่างเลือกซื้อของ เพื่อน ๆ ไม่ได้สนใจว่าเพลงที่เปิดในซุปเปอร์มาร์เก็ตคือเพลงอะไร แต่พอเพลงของศิลปินคนโปรดดังขึ้นมา เพื่อน ๆ ก็จะหันมาสนใจเสียงเพลงนั้นทันที หรือท่ามกลางฝูงชนพลุกพล่าน เพื่อน ๆ จะสามารถมองเห็นคนรู้จักที่บังเอิญอยู่แถวนั้นได้ทันที ที่เป็นแบบนี้เพราะสมองส่วนการได้ยินและสมองส่วนการมองเห็นมีความสามารถในการเลือกรับข้อมูลครับ

เมื่อเข้าใจลักษณะเด่นเรื่องนี้ของสมองแล้ว เราสามารถนำมาใช้กับการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ได้ โดยทำความคุ้นเคยกับคำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้น ๆ ช่วงแรกสมองอาจจะยังไม่สนใจ แต่พอเจอข้อมูลเรื่องเดิมซ้ำ ๆ สมองจะเริ่มผูกพันธ์กับมันและรู้สึกว่า “เอ๊ะ เคยได้ยินเรื่องนี้มานี่นา” สมองจึงสามารถรวบรวมข้อมูลเหล่านั้นมาด้วยอารมณ์เชิงบวก

ถ้าเพื่อน ๆ อยากเรียนรู้เรื่องอะไรให้เริ่มทำความคุ้นเคยโดยการสร้างจุดเชื่อมโยงเล็ก ๆ จากการอ่านหนังสือสรุปเรื่องนั้นหรือคลิปยูทูปที่อธิบายเรื่องนั้นสั้น ๆ อย่าเริ่มจากหนังสือยาก ๆ เล่มหนา ๆ ที่มีตัวหนังสือเรียงติดกันเป็นพรืด หัวใจสำคัญคือยิ่งสนุกไปกับมันก็ยิ่งเรียนรู้ได้ดีครับ

หรือหากมีหนังสือยาก ๆ มาวางตรงหน้า ให้เพื่อน ๆ เริ่มจากพลิกดูหนังสือเล่มนั้นแบบผ่าน ๆ แล้วหาหน้าที่มีรูปภาพหรือคำศัพท์ที่ทำให้สะดุดตาและคิดขึ้นมาว่า “เอ๊ะ รู้จักคำนี้นี่นา” จากนั้นก็ลองอ่านเนื้อหาในหน้านั้นดูครับ

วินาทีที่เราเข้าใจแม้เพียงเล็กน้อยว่า “อ๋อ หนังสือเล่มนี้ต้องการสื่อเรื่องนี้นี่เอง” เราก็จะคุ้ยเคยกับเนื้อหาในหนังสือ และเริ่มคิดว่าอยากรู้เนื้อหาในหน้าอื่น ๆ บ้าง นี่คือการเรียนรู้ในแบบวัยผู้ใหญ่ครับ เป็นการลดช่องว่างระหว่างตัวเรากับเรื่องที่อยากเรียนรู้ด้วยการหาจุดเชื่อมโยงที่จะทำให้เราชอบเรื่องนั้น


เรียนรู้โดยการคำนึงถึงการส่งออกข้อมูลด้วย

เมื่อพูดถึงประสิทธิภาพความจำที่ดี แน่นอนว่าการจำได้แม่นคือสิ่งจำเป็น แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือการดึงเอาความจำออกมาใช้ในตอนที่ต้องการได้ สมองทั้ง 8 ส่วนแบ่งหน้าที่เป็นการรับข้อมูลและการส่งออกข้อมูล การจะใช้สมองให้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพต้องให้สมองทุกส่วนทำงานประสานกันครับ

หลังจากที่สมองรับข้อมูลบางอย่างมาแล้ว เมื่อนึกถึงข้อมูลนั้นเพื่อจะส่งออกไป จะทำให้จดจำได้แม่นยำขึ้น การส่งออกข้อมูลสามารถทำได้หลายวิธี เช่น โพสต์สิ่งที่ได้เรียนรู้มาลงในโซเชียลมีเดียหรือโพสต์ลงบล็อก เขียนสรุปลงในสมุด หรือเล่าให้คนที่ไม่รู้เรื่องนั้นได้ฟัง ยิ่งส่งออกข้อมูลซ้ำไปซ้ำมา สมองก็จะยิ่งทำงานได้ดี ประสิทธิภาพของความจำก็เพิ่มขึ้นด้วยครับ


เทคนิคเพิ่มประสิทธิภาพของสมองวัยผู้ใหญ่

ท้ายเล่มคุณหมอคาโตได้แนะนำเทคนิคที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของสมองวัยผู้ใหญ่ เช่น เราสามารถกระตุ้นสมองส่วนการเคลื่อนไหวได้โดยการออกไปเดินเล่น ไปฟิตเนส หรือทำงานอดิเรกที่มีการขยับนิ้วเยอะ ๆ

ถ้าอ่านหนังสือหรือทำงานหน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานจนสมาธิหลุด ให้พักสายตาโดยการหาที่เงียบ ๆ แล้วหลับตาโดยไม่ต้องทำอะไร การปิดกั้นการรับข้อมูลผ่านการมองเห็นคือวิธีคลายความเหนื่อยล้าที่ดีที่สุดครับ

ลองแปรงฟันด้วยมือข้างที่ไม่ถนัด เพื่อกระตุ้นให้สมองซีกที่ควบคุมมือข้างที่เราไม่ถนัดได้ทำงานบ้าง หรือการย้ายตำแหน่งของแอพพลิเคชั่นบนหน้าจอมือถือไปไว้ที่อื่น เพราะคนส่วนใหญ่มักจำตำแหน่งแอพฯที่ตัวเองใช้บ่อย ๆ ได้ จนนิ้วเลื่อนไปกดเองโดยที่สมองยังไม่ทันได้คิด การย้ายตำแหน่งแอพฯ ช่วยกระตุ้นการทำงานของสมองส่วนการมองเห็น สมองส่วนทำความเข้าใจและสมองส่วนความคิดได้เป็นอย่างดีเลยครับ


ทั้งหมดนี้คือเนื้อหาโดยสรุปจากหนังสือ สุดยอดวิธีใช้สมองของคนอายุ 30+ ในเล่มอธิบายการทำงานของสมองทั้ง 8 ส่วนได้ละเอียดกว่าที่ผมเอามาเล่าให้เพื่อน ๆ ฟัง และยังมีอีกหลายเทคนิคฝึกสมองที่ผมไม่ได้นำมาพูดถึง เพื่อน ๆ คนไหนสนใจสามารถหามาอ่านกันได้ครับ หนังสือเป็นเล่มเล็ก ๆ มีภาพการ์ตูนน่ารัก ๆ ประกอบ ตีพิมพ์เป็นภาษาไทยโดยสำนักพิมพ์วีเลิร์น ราคา 235 บาทครับ

สนใจหนังสือ สุดยอดวิธีใช้สมองของคนอายุ 30+
สามารถสั่งซื้อได้ที่ Shopee: https://s.shopee.co.th/9f5ut7hCoL
ซื้อผ่านลิงค์เป็นการสนับสนุนช่องครับ

Share

Leave a comment

Leave a Reply

What's New

สรุปเนื้อหาและแนะนำหนังสือที่น่าสนใจ ชวนเพื่อน ๆ มาพัฒนาตัวเองให้ดียิ่งขึ้นในทุก ๆ วันไปด้วยกันครับ

Copyright 2025 Aitim and Co. All rights reserved

error: Content is protected !!