Future Skills ทักษะอนาคตที่ AI ทำแทนคุณไม่ได้ ทักษะที่คุณควรมีในโลกยุคดิจิตอล

Share
Share

เราจะเตรียมตัวสำหรับการทำงานในยุคที่เทคโนโลยีเปลี่ยนโลกของเราไปอย่างรวดเร็วยังไงดี มีรายงานหนึ่งทำนายไว้ว่างานกว่า 85% ที่จะมีในปี 2030 เป็นงานที่ยังไม่ได้รับการคิดค้นขึ้นมาในปัจจุบัน คำทำนายนี้จะเป็นจริงได้มากแค่ไหน มันอาจจะไม่ได้น่าแปลกใจ หากลองนึกถึงช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โลกของเราเปลี่ยนแปลงไปเยอะมาก โดยเฉพาะด้านสื่อสังคมออนไลน์ ระบบทำงานอัติโนมัติ (automation) และปัญญาประดิษฐ์ (AI)

การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้มีแต่จะรวดเร็วยิ่งขึ้น งานหลายงานจะมีการพัฒนามากขึ้น บางงานอาจหายไป งานแบบใหม่จะเกิดขึ้น พูดอีกแง่คือในอนาคตทักษะของคนทำงานจะแตกต่างออกไปอย่างมาก งานหลายงานจะถูกแทนที่ด้วยระบบอัตโนมัติ

ไอติมอ่าน ep นี้พาเพื่อน ๆ มารู้จักกับหนังสือ ทักษะอนาคตที่ AI ทำแทนคุณไม่ได้ ตามที่เกริ่นในตอนต้นคลิป หลายคนฟังแล้วอาจรู้สึกกลัวว่าจะถูกหุ่นยนต์แย่งงาน แต่ผู้เขียนกลับคิดตรงข้าม เขาเชื่อว่าการงานในอนาคตจะมีแต่ความรุ่งโรจน์ งานไหนที่สามารถใช้ระบบอัตโนมัติทำได้ก็ให้ปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ทำแทน ส่วนมนุษย์ก็รับผิดชอบงานที่เหมาะสมกับเรามากกว่า นั่นคืองานจำพวกที่ต้องพึ่งพาทักษะความเป็นมนุษย์อย่างมาก เช่น ความคิดสร้างสรรค์ การทำความเข้าใจผู้อื่น ความฉลาดทางอารมณ์ การคิดเชิงวิพากษ์ รวมถึงการสื่อสาร สิ่งเหล่านี้คือลักษณะของทักษะที่มนุษย์ทำได้ดีกว่าหุ่นยนต์ นี่คืออนาคตของงานที่กำลังจะเกิดขึ้น งานที่มนุษย์จะมีบทบาทในการเติมเต็มความเป็นมนุษย์มากขึ้น

หากพูดถึงทักษะอนาคตที่จำเป็นสำหรับโลกยุคดิจิตอล หลายคนอาจเข้าใจว่าเรากำลังพูดถึงทักษะด้านเทคนิค เช่น การเขียนโค้ด ความจริงแล้วคนที่จะก้าวหน้าในโลกดิจิตอลไม่ใช่คนที่มีความรู้ด้านเทคนิคเชิงลึก แต่เป็นคนที่เข้าใจทั้งคนและเทคโนโลยีที่สัมพันธ์กัน ดังนั้นทักษะทางอารมณ์และสังคมจึงมีความสำคัญในโลกยุคใหม่มากกว่าที่เราคิด

หนังสือเล่มนี้จะพาเราไปสำรวจทักษะที่สำคัญสำหรับอนาคต เป็นการสรุปสาระสำคัญแบบไม่ได้ลงลึก แต่แนะแนวทางที่เป็นประโยชน์และเคล็ดลับที่ทำได้จริง มาเริ่มต้นที่ทักษะแรกกันเลยครับ


ทักษะความสามารถด้านข้อมูล

โลกดิจิตอลขับเคลื่อนด้วยข้อมูลจำนวนมหาศาล ทุกอย่างที่คุณทำบนอินเตอร์เน็ตล้วนกลายเป็นข้อมูล ทั้งข้อความหรือรูปภาพที่คุณโพส วิดีโอที่คุณกดถูกใจ ข้อมูลการซื้อสินค้าผ่านบัตรเครดิตของคุณ ดังนั้นข้อมูลจึงกลายเป็นสินทรัพย์ที่มีค่าทางธุรกิจ และหลายองค์กรต้องการจ้างคนที่สามารถสกัดข้อมูลที่มีประโยชน์ออกมาได้ ทักษะความสามารถด้านข้อมูลเป็นทักษะที่สำคัญอย่างยิ่งในอนาคต เทียบได้กับทักษะในการอ่านออกเขียนได้ในศตวรรษก่อนเลยทีเดียว

หากอธิบายพอสังเขป ทักษะความสามารถด้านข้อมูลคือ ความสามารถในการสร้างข้อมูล รวบรวมข้อมูล อัพเดตข้อมูลให้เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ รวมถึงการเก็บรักษาข้อมูลให้ปลอดภัย มีความเข้าใจว่าข้อมูลแสดงถึงอะไร วิเคราะห์ข้อมูลเพื่อหาโอกาสนำไปต่อยอดทางธุรกิจได้

การที่ทักษะความสามารถด้านข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญ เพราะในยุคดิจิตอลข้อมูลกลายเป็นทรัพยากรที่มีค่า บริษัทระดับโลกอย่าง Google, Facebook, Amazon ล้วนวางรากฐานทางธุรกิจมาจากข้อมูล นอกจากนี้ข้อมูลยังเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับนำไปฝึกฝนปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ซึ่งเป็นเทรนด์เทคโนโลยีในอนาคต ข้อมูลช่วยให้บริษัทตัดสินใจได้ดีขึ้น เข้าใจลูกค้ามากขึ้น ดังนั้นการเข้าใจเบื้องต้นด้านข้อมูลจะทำให้คุณมีพื้นฐานที่ดีสำหรับการเรียนรู้เทคโนโลยีอื่น ๆ

ทักษะความสามารถด้านข้อมูลไม่ใช่เรื่องของ data scientist เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ไม่ว่าคุณจะทำงานตำแหน่งอะไรก็สามารถนำทักษะด้านนี้ไปประยุกต์กับงานที่ทำได้ ตัวอย่างที่ทักษะความสามารถด้านข้อมูลจะช่วยให้คุณทำงานได้ดีขึ้น เช่น

  • สามารถระบุกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้อย่างแม่นยำ ทำการตลาดกับคนกลุ่มนั้นได้อย่างตรงจุด
  • สามารถทำงานด้วยตัวเองได้มากขึ้น โดยไม่ต้องรอทีมวิเคราะห์ทำรายงานข้อมูลมาให้
  • การมีข้อมูลสามารถช่วยยืนยันให้คำพูดของคุณมีน้ำหนักมากยิ่งขึ้น

ทักษะการคิดเชิงวิพากษ์

การคิดเชิงวิพากษ์ หรือ critical thinking คือ การคิดโดยยึดข้อเท็จจริง วิเคราะห์ประเด็นหรือสถานการณ์ต่าง ๆ จากหลักฐาน เพื่อให้เข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างถ่องแท้ และเราก็จะสามารถตัดสินใจและแก้ไขปัญหาได้ดีขึ้น

การคิดเชิงวิพากษ์ตรงข้ามกับการยอมรับข้อมูลทุกอย่างที่เห็นโดยไม่ศึกษาต่อ ทักษะนี้สามารถพัฒนาให้ดีขึ้นได้ตามกาลเวลา ซึ่งเราทุกคนควรมีทักษะนี้ติดตัว เพราะโลกดิจิตอลเต็มไปด้วยข้อมูลมากมาย การวิเคราะห์ได้ว่าข้อมูลไหนจริงไหนเท็จจึงสำคัญมาก

ทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ทำให้คุณแยกอคติทางความคิดออกจากความจริงได้ มนุษย์เรามีอคติกันมาตลอด ไม่ว่าเราจะคิดว่าตัวเองเป็นคนมีเหตุผลและมีตรรกะมากเพียงใด ความจริงแล้วเราล้วนตกอยู่ใต้อิทธิพลของอคติทางความคิด ตัวอย่างเช่น อคติทางเพศและการเหมารวม อคติทางวัฒนธรรมที่เราอาจมองวัฒนธรรมอื่นว่าแปลก การเทิดทูนใครคนหนึ่งจนเอนเอียง หรือการคิดโดยยึดแต่ข้อมูลแง่ลบ เป็นต้น

ทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ทำให้คุณแยกได้ว่าอันไหนข่าวจริง อันไหนข่าวปลอม มีการสำรวจพบว่าชาวอเมริกันจำนวน 2 ใน 3 บอกว่าพวกเขาเคยเจอข่าวปลอม หรือ fake news ในสื่อสังคมออนไลน์ และผู้ใช้งานเฟซบุ๊คจำนวน 56% ไม่สามารถแยกแยะข่าวปลอมได้

นอกจากข่าวปลอมที่บิดเบือนความจริงและสร้างความสับสนให้สังคมแล้ว อีกหนึ่งเทคโนโลยีที่คุณควรรู้เท่าทันคือ deepfake ที่นำเอา AI มาใช้สร้างภาพปลอม วิดีโอปลอม หรือเสียงปลอม ซึ่งผลลัพธ์ที่ออกมาดูเหมือนของจริงจนน่าตกใจ

deepfake ถูกนำมาสร้างสื่อลามก โดยนำใบหน้าของผู้หญิงที่มีชื่อเสียงมาใส่แทนใบหน้าของดาราหนังโป๊ เป้าหมายคือเพื่อสร้างความอับอาย นอกจากนี้ยังมีกรณีการใช้ deepfake เลียนแบบเสียงประธานบริษัทพลังงานในเยอรมนี เพื่อหลอกให้โอนเงินแก่คนร้ายจำนวน 200,000 ปอนด์

ในโลกยุคดิจิตอลเราจะแยกความจริงออกจากความไม่จริงได้ยากมากขึ้น การมีทักษะการคิดเชิงวิพากษ์กับเนื้อหาต่าง ๆ ที่เราเสพบนโลกออนไลน์จึงมีความสำคัญ เพื่อที่เราจะรู้ทันและไม่ตกเป็นเหยื่อของคนร้ายที่นำเทคโนโลยีมาใช้ในทางที่ผิด


ความฉลาดทางอารมณ์ และการเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น

ความฉลาดทางอารมณ์คือ ความสามารถในการรับรู้ แสดงออก และควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้ รวมถึงเข้าใจและตอบสนองอารมณ์ของผู้อื่นได้อย่างเหมาะสม บางคนสามารถมีอิทธิพลต่ออารมณ์ของผู้อื่นได้อีกด้วย

ความฉลาดทางอารมณ์สำคัญมากในทุกแง่มุมของชีวิต ไม่ว่าจะด้านการงาน หรือความสัมพันธ์ คนที่มีความฉลาดทางอารมณ์จะสามารถสร้างความสัมพันธ์ที่มีความหมาย ไม่ว่าจะกับเพื่อนฝูง เพื่อนร่วมงาน คนรัก สมาชิกในครอบครัว หรือคนอื่น ๆ และยังสามารถรักษาความสัมพันธ์เหล่านั้นไว้ได้อย่างดี

นอกจากนี้คนที่มีความฉลาดทางอารมณ์จะตระหนักรู้ตัวเอง เป็นผู้ฟังที่ดี สามารถจัดการอารมณ์ของตัวเองได้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงที่เครียด ทั้งยังบรรเทาอารมณ์ลบให้ผู้อื่นได้ คลี่คลายความขัดแย้งได้ คุยเรื่องที่ลำบากใจได้โดยไม่ทำร้ายความรู้สึกผู้อื่น เป็นผู้นำที่ดี เพราะคนที่มีความฉลาดทางอารมณ์จะคุ้นชินกับอารมณ์ของผู้อื่น สมาชิกในทีมจึงรู้สึกว่ามีตัวตนและมีคนรับฟัง ขณะที่งานวิจัยบอกว่าผู้นำที่ขาดความฉลาดทางอารมณ์จะก่อให้เกิดอัตราการลาออกจากงานของลูกจ้างสูงกว่า

คนเราสามารถพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ได้ โดยการเริ่มฟังคนอื่นเพื่อให้เข้าใจว่าเขารู้สึกยังไง ฝึกฝนการเข้าอกเข้าใจคนอื่น โดยการลองคิดว่า “ฉันจะรู้สึกยังไง หากอยู่ในสถานการณ์เดียวกับเขา”

คุณต้องระบุและวิเคราะห์อารมณ์ของตัวเอง การเข้าใจอารมณ์ของตัวเองคือหลักสำคัญของความฉลาดทางอารมณ์ ดังนั้นลองพยายามสังเกตว่าคุณรู้สึกอย่างไร เช่น โกรธหรือมีความสุข แล้วพิจารณาดูว่ามันส่งผลต่อพฤติกรรมและการตัดสินใจของคุณอย่างไร เมื่อฝึกฝนบ่อย ๆ คุณจะพบว่าสามารถหยุดคิดก่อนลงมือทำได้ง่ายขึ้น แทนที่จะปล่อยให้อารมณ์เข้ามาควบคุม


ทักษะการทำงานร่วมกัน

ในยุคที่โลกเปลี่ยนปลงไปเร็วมาก องค์กรต่าง ๆ ต้องเผชิญกับความท้าทายมากมายหลายอย่าง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องการคนที่มีความสามารถในการทำงานร่วมกับคนอื่น เพื่อเอาชนะความท้าทายเหล่านั้นและขับเคลื่อนให้บริษัทก้าวไปข้างหน้า

การทำงานร่วมกับผู้อื่นได้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะการทำงานร่วมกันนั้นช่วยให้แต่ละคนทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แก้ไขปัญหาได้อย่างสร้างสรรค์ขึ้น มีความคิดริเริ่ม การทำงานร่วมกันย่อมมีประสิทธิภาพมากกว่าการทำงานคนเดียวอยู่แล้ว แถมยังเปิดโอกาสให้ได้เรียนรู้จากคนอื่น ยิ่งทีมที่มีคนมาจากหลายภูมิหลัง ยิ่งทำให้ได้รับมุมมองใหม่ ๆ

การจะทำงานร่วมกันเป็นทีมได้ต้องอาศัยทักษะระหว่างบุคคล ทั้งทักษะการสื่อสาร ทักษะการเข้าสังคม และความฉลาดทางอารมณ์ มาลองดูว่าปัจจัยอะไรบ้างที่ผู้ร่วมงานที่ดีควรมีติดตัว

เป็นผู้ฟังเชิงรุก หรือ active listener คนที่ทำงานร่วมกับคนอื่นได้ดีจะคอยฟังอย่างตั้งใจว่าคนอื่นกำลังพูดอะไร

  • พร้อมมอบเวลา ความรู้ ประสบการณ์ และกำลังใจให้ผู้อื่น
  • ปรับตัวเก่ง มีความสามารถในการยืดหยุ่น ไหลไปตามสถานการณ์ได้ เมื่ออะไร ๆ ไม่เป็นไปตามแผน
  • เป็นคนไว้ใจคนอื่น และคนอื่นก็ไว้ใจ คนที่ทำงานร่วมกับคนอื่นได้ดีจะสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้คนอื่นแสดงความเห็นได้อย่างไม่ต้องกลัว
  • เป็นคนน่าเคารพนับถือ เพราะการทำงานร่วมกันจะไปได้ดีในสภาพแวดล้อมที่มีความเคารพต่อกัน
  • คำนึงถึงทีมเป็นสำคัญ
  • รับฟังข้อเสนอแนะ ไม่แสดงความรู้สึกต่อต้านเมื่อได้รับคำแนะนำ

ความสามารถในการปรับตัว และความยืดหยุ่น

นักปรัชญาชาวกรีกชื่อเฮอราไคลตัสเคยพูดเอาไว้ว่า “ความเปลี่ยนแปลงคือสิ่งแท้จริงที่แน่นอนที่สุด” มนุษยชาติอยู่มาอย่างยาวนาน พบเจอกับความเปลี่ยนแปลงอยู่บ่อยครั้ง แต่หลายคนยังต้องต่อสู้กับความเปลี่ยนแปลงอย่างยากลำบาก หรือรู้สึกหวาดหวั่น อึดอัดใจ เพราะความเปลี่ยนแปลงพาเราจากที่ที่คุ้นเคยและปลอดภัย ไปสู่ที่ที่เราไม่รู้จัก หลายคนจึงไม่อยากเจอกับความเปลี่ยนแปลง

แต่ในยุคอนาคตที่กำลังจะถึง ความเปลี่ยนแปลงจะยิ่งเป็นปัจจัยขับเคลื่อนโลกมากกว่าทุกวันนี้เสียอีก เทคโนโลยีใหม่ ๆ และระบบอัตโนมัติจะแพร่หลายมากขึ้น รูปแบบงานจะพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและการระบาดใหญ่ทั่วโลก

ลองคิดถึงช่วงที่เกิดการระบาดของเชื้อโควิด-19 มีหลายอย่างปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็วในเวลาสั้น ๆ เมื่อมองไปในอนาคตทุกการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นในอัตราเร่งที่เร็วขึ้น มีข้อมูลจากบริษัทแมกคินซีย์รายงานว่า คนมากกว่า 375 ล้านคนอาจต้องเปลี่ยนอาชีพและต้องเรียนรู้ทักษะใหม่ภายในปี 2030 ดังนั้นพวกเราทุกคนต้องพัฒนาความยืดหยุ่นทางจิตใจเพื่อยอมรับกับความเปลี่ยนแแปลง

ความสามารถในการปรับตัวและยืดหยุ่น คือ ความสามารถที่จะปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสภาวะใหม่ ๆ คนที่มีความสามารถในการปรับตัวมีลักษณะดังนี้

  • มองความเปลี่ยนแปลงเป็นโอกาส ไม่ใช่อุปสรรค
  • เป็นคนที่มีความคิดเปิดกว้าง เปิดรับความคิดใหม่ ๆ ในมุมมองของผู้อื่น
  • เป็นคนสงสัยใคร่รู้ เต็มใจเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ
  • ไม่ย่อท้อ แม้เจอความยากลำบาก

แล้วคนที่ไม่ยืดหยุ่นล่ะ มีลักษณะยังไง คนเหล่านี้มีลักษณะดังนี้

  • เป็นคนจำพวกปิดกั้น ปฏิเสธความคิดที่ไม่เป็นไปตามวิธีการหรือแนวทางของตัวเอง
  • เลือกเอาชนะมากกว่าประณีประนอม
  • ตั้งกำแพง ถ้าคิดว่าความเปลี่ยนแปลงจะสั่นคลอนวิธีการที่พวกเขาชอบทำ

คุณสามารถพัฒนาความสามารถในการปรับตัวเพื่อสร้างกรอบความคิดที่ยืดหยุ่นได้ด้วยวิธีดังนี้

ลองเปิดใจและเปิดกว้างต่อวิธีใหม่ ๆ ในการทำสิ่งต่าง ๆ รวมถึงเปิดใจรับฟังความเห็นของคนอื่นด้วย

  • ไม่กลัวที่จะละทิ้งวิธีการเดิม ๆ เพื่อเปิดพื้นที่ให้ข้อมูลและวิธีการใหม่ ๆ สิ่งที่เคยทำสำเร็จ ไม่ใช่ว่าจะใช้การได้อีกในอนาคต
  • คอยติดตามเทรนด์ล่าสุดในวงการที่คุณทำงานอยู่
  • พยายามสร้างความเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ ที่บ้านให้สำเร็จ เช่น จัดโรงรถใหม่ จัดห้องนั่งเล่นสไตล์ใหม่ เพื่อให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่าเมื่อเจอกับความเปลี่ยนแปลง
  • ถามคำถามว่า “ถ้าเกิด…” ก่อนที่มันจะเกิดขึ้นจริง
  • ยอมรับว่าการลองทำสิ่งใหม่ ๆ บางครั้งอาจพบกับความล้มเหลว แต่อย่ายอมแพ้ที่จะพยายาม
  • สังเกตการเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัวคุณ
  • ฝึกมองโลกในมุมบวก
  • สุดท้ายขอให้เชื่อในความสามารถของคุณว่าจะสามารถปรับตัวเพื่อแก้ไขปัญหาและประสบความสำเร็จได้ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม

ทักษะความเป็นผู้นำ

หลายคนอาจคิดว่าทักษะความเป็นผู้นำเป็นเรื่องของคนระดับบนเท่านั้นหรือเปล่า แต่ลักษณะการทำงานในศตวรรษที่ 21 ที่มีการทำงานจากที่บ้าน มีหลายคนเลือกทำงานเป็นฟรีแลนซ์ เลือกเป็นเจ้านายตัวเอง ดังนั้นทักษะความเป็นผู้นำไม่ใช่แค่เรื่องของคนที่เป็นหัวหน้าเพียงเท่านั้น

แจ็ก เวลช์ อดีตประธานบริหารบริษัทเจเนอรัลอิเล็กตริกได้กล่าวเอาไว้ว่า “ก่อนที่คุณจะเป็นผู้นำ ความสำเร็จของคุณคือการพัฒนาตัวเองให้เติบโตขึ้น เมื่อก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำแล้ว ความสำเร็จคือการพัฒนาผู้อื่นให้เติบโต” ความเป็นผู้นำที่ดีคือการให้การสนับสนุนผู้อื่นให้สามารถพัฒนาได้ ไม่เกี่ยวกับเรื่องอำนาจ

ไซมอน ซิเนก นักเขียนชื่อดังได้เปรียบเทียบว่าการเป็นผู้นำก็เหมือนการเป็นพ่อแม่คน คุณได้รับความไว้วางใจให้ดูแลผู้อื่น ช่วยให้พวกเขาเติบโตไปในแบบที่ดีที่สุด แม้ตอนที่คุณจะไม่อยู่แล้วก็ตาม ถ้าการกระทำของคุณเป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่นฝันไกลขึ้น เรียนรู้และลงมือทำมากขึ้น คุณคือผู้นำ ลืมเรื่องตำแหน่งไปซะ ผู้นำคือใครก็ได้ที่สร้างแรงบันดาลใจให้คนอื่นได้เติบโต

จริง ๆ แล้วผู้นำมีหลายแบบแตกต่างกัน แต่ผู้นำที่ดีมักมีลักษณะบางอย่างร่วมกันดังนี้

  • เป็นแรงจูงใจให้คนอื่น
  • รับรู้ถึงศักยภาพลูกทีมและส่งเสริม
  • สามารถให้และรับฟังความคิดเห็นได้
  • สร้างความสัมพันธ์ในทีม
  • มองแง่บวก
  • แสดงความจริงใจ

มาลองไล่เรียงกันดูทีละหัวข้อ ว่าลักษณะแต่ละอย่างของผู้นำที่ดีมีรายละเอียดยังไงบ้าง

เป็นแรงจูงใจให้คนอื่น

สิ่งที่คนเป็นผู้นำทำแล้วสร้าง impact ได้มากที่สุดคือ การเป็นแรงจูงใจให้ผู้อื่นพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพที่สุด แสดงความขอบคุณและชื่นชมความสำเร็จต่อหน้าสาธารณะ แนะนำติชมเป็นรายบุคคลแบบส่วนตัว และการฉลองด้วยกันเป็นทีม คือวิธีที่ดีในการสร้างแรงจูงใจให้ผู้อื่น

รับรู้ถึงศักยภาพลูกทีมและส่งเสริม

ผู้นำที่ดีจะมองหาศักยภาพ เปิดโอกาสให้ผู้อื่นพัฒนาจนเต็มศักยภาพ โดยการกระตุ้นให้พวกเขาคิดและทำในแบบของพวกเขา กระตุ้นให้ลองเสี่ยง ให้ก้าวออกมาจากความคุ้นเคยเดิม ๆ

สามารถให้และรับฟังความคิดเห็นได้

นอกจากการมองหาสิ่งไม่ดีเพื่อแก้ไข การสนใจสิ่งที่คนอื่นทำได้ดีและชื่นชมก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน หากคนในทีมพบข้อผิดพลาด ควรให้คำแนะนำทันทีโดยไม่ใส่อารมณ์ ขณะเดียวกันหากเป็นฝ่ายได้รับคำแนะนำบ้าง ก็อย่าแสดงปฏิกิริยาตอบกลับทันที แต่ให้ใช้เวลาคิดทบทวน แล้วประเมินตัวเองอย่างซื่อตรง

สร้างความสัมพันธ์ในทีม

คุณต้องเป็นแบบอย่างหากอยากให้คนอื่นทำแบบเดียวกัน แทนที่จะบังคับให้ทุกคนทำตัวเหมือนกัน ปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยความเคารพและให้เกียรติ ทีมที่แข็งแกร่งจะทำให้ผู้นำดูดี

มองแง่บวก

ทัศนคติของคุณส่งผลมหาศาลต่อคนรอบตัว หากคุณแสดงทัศนคติด้านลบ มันจะแพร่กระจายไปทั่วทั้งทีม โดยการเป็นคนมองโลกในแง่บวกเป็นเรื่องที่ฝึกกันได้ เริ่มต้นได้โดยการใช้คำพูดอย่างรอบคอบ, ชื่นชมความสำเร็จอยู่เป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่, ถ้าสิ่งต่าง ๆ ไม่เป็นไปตามแผนขอให้ใจเย็น, ถ้าอยากบ่น อย่าบ่นกับลูกทีม ให้ไปบนกับเบื้องบนที่ตำแหน่งสูงกว่าคุณ, เพิ่มความสนุกเข้าไปในสัปดาห์การทำงาน เช่น ไปกินอาหารกลางวันกับทีม ไปเที่ยววันหยุด เป็นต้น

แสดงความจริงใจ

เมื่อสร้างความสัมพันธ์กับคนอื่นอย่างมีมนุษยธรรม ผลที่ตามมาคือการได้รับความไว้วางใจ คุณควรเป็นผู้นำที่เข้าใจความรู้สึกของคนอื่น ซื่อสัตย์ เปิดเผย และโปร่งใส รู้จุดแข็งและจุดอ่อนของตัวเอง และกล้าเปิดเผยจุดอ่อนนั้น เป็นตัวของตัวเองในที่ทำงาน ไม่ใช่ตอนทำงานเป็นคนแบบหนึ่ง นอกเวลางานเป็นคนอีกแบบ


แบรนด์ส่วนบุคคล และเครือข่าย

แบรนด์ส่วนบุคคล หรือ personal branding คือสิ่งที่ผู้อื่นพูดถึงคุณ เวลาที่คุณไม่ได้อยู่ตรงนั้น personal branding ไม่ใช่เรื่องของคนที่มียอดผู้ติดตามบนโลกออนไลน์สูงเท่านั้น คุณเองก็มี personal branding อยู่แล้วด้วยเหมือนกัน

ลอง google ชื่อตัวเอง หรือเข้าหน้าโซเชียลมีเดียของคุณดู ทุกรูปหรือข้อความที่คุณโพสต์ ทุกคอมเมนต์ที่คุณเขียน นั่นคือ personal branding ของคุณ มีสถิติรายงานว่านายจ้าง 70% เข้าดูโปรไฟล์โซเชียลมีเดียของผู้สมัครงาน และนายจ้าง 57% เลือกที่จะไม่จ้างบางคนจากสิ่งที่พบทางออนไลน์ ดังนั้น personal branding ทางออนไลน์ของคุณมีความสำคัญมาก

ผู้เขียนได้แนะนำวิธีการใช้โซเชียลมีเดียให้มีประสิทธิภาพเอาไว้ดังนี้

  • ใช้ภาพปัจจุบันที่ดูเป็นมืออาชีพเป็นภาพโปรไฟล์ และใช้ภาพเดียวกันทุกแพลตฟอร์ม เพื่อสร้างความจดจำ
  • ทำความสะอาดหน้าโปรไฟล์ของคุณ โดยการลบเนื้อหาที่คุณไม่อยากให้เจ้านายในอนาคตเห็น
  • ถ้าอยากลงเรื่องส่วนตัวให้ใช้แอคฯหลุม
  • เป็นตัวของตัวเอง เขียนอย่างที่คุณพูดตามปกติ อย่าแสร้งเป็นคนอื่นที่ไม่ใช่คุณ

นอกจากนี้การใช้โซเชียลมีเดียก็ทำให้คุณสามารถสร้างเครือข่าย หรือ connection ขึ้นมาได้ การมี connection ที่ดี มีคนที่รู้จักหลากหลาย ช่วยให้คุณต่อยอดโอกาสในอนาคตได้ วิธีการสร้าง connection บนโลกออนไลน์มีดังนี้

  • แชร์เรื่องที่คุณได้เรียนรู้มา โดยต้องเป็นเนื้อหาจากแหล่งที่เชื่อถือได้
  • เข้ากลุ่มทางแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เช่น Facebook Group โดยเป็นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับอาชีพของคุณ ทำตัวเองให้เป็นที่รู้จัก โดยการมีส่วนร่วมกับโพสต์ของคนอื่น ตอบคำถาม แสดงความเห็น กดถูกใจ และแชร์เนื้อหาให้คนในกลุ่มได้อ่าน
  • แบ่งปันสิ่งที่คุณรู้เพื่อช่วยเหลือคนอื่นทางออนไลน์
  • Add friend คนใหม่ ๆ ที่อยู่สายงานเดียวกับคุณ
  • ลองเขียนบทความยาว ๆ เกี่ยวกับวงการในสายงานของคุณ แล้วแชร์ให้คนอื่นได้อ่าน
  • หากคุณเขียนบทความสะสมได้เยอะ ๆ ลองพิจารณาเปิดเว็บไซต์เป็นชื่อของตัวเอง จะช่วยให้คุณโดดเด่นในบรรดาคนสร้างคอนเทนต์ด้วยกัน

การบริหารเวลา

การระบาดของโควิด-19 ทำให้เราต้องทำงานจากที่บ้าน และพอสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย หลายบริษัทปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานมาเป็นแบบไฮบริด ที่ผสมผสานระหว่างการทำงานจากที่บ้านสลับกับเข้ามาทำงานที่ออฟฟิศ บางคนอาจรู้สึกว่าการทำงานจากที่บ้านนั้นเป็นอุปสรรค เนื่องจากมีสมาชิกในครอบครัวทำให้เสียสมาธิ ประสิทธิภาพการทำงานลดลง จนก่อให้เกิดความเครียด แต่สำหรับบางคนกลับรู้สึกว่าการทำงานจากที่บ้านคือพัฒนาการการทำงานครั้งใหญ่ ไม่ต้องเสียเวลาไปกับการเดินทางไปกลับจากออฟฟิศ ส่งผลให้ทำงานเสร็จได้มากขึ้น

แต่ไม่ว่าคุณจะทำงานจากที่บ้าน หรือเข้าออฟฟิศเพื่อมาทำงาน ทักษะด้านการบริหารเวลาล้วนเป็นสิ่งสำคัญ ทักษะการบริหารเวลาคือ ความสามารถในการใช้เวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล สามารถทำงานอย่างชาญฉลาดมากกว่าการทำงานหนักหรือนานกว่า

คนที่บริหารเวลาได้ดีจะรู้ว่าตัวเองมีช่วงเวลา productive ตอนไหน และใช้เวลาช่วงนั้นอย่างชาญฉลาด ส่วนช่วงเวลาที่ productive น้อยกว่าก็เอาไปทำงานอื่นหรือทำสิ่งที่ไม่เกี่ยวกับงาน ดังนั้นการบริหารเวลาคือ การสร้างสมดุลระหว่างงานและชีวิตส่วนตัว

มาดูกันว่าคุณสามารถพัฒนาทักษะการบริหารเวลาได้ยังไงบ้าง

ทำงานที่สำคัญก่อน

จัดลำดับความสำคัญของงานที่ต้องทำในแต่ละวัน โดยใช้เทคนิค ABC โดยที่งาน A คืองานที่มีความสำคัญมากที่สุดในวันนั้น ถ้ามีหลายงานที่สำคัญให้เรียกมันว่างาน A1, A2, A3 ไปตามลำดับ งาน B คืองานที่มีความสำคัญรองลงมาจากงาน A เราจะไม่เปลี่ยนไปทำงาน B ถ้ายังเคลียร์งาน A ไม่หมด และงาน C คืองานที่ทำให้เสร็จได้ก็ดี แต่ไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่ต้องทำภายในวันนั้น คุณอาจจัดลำดับความสำคัญในตอนเช้าก่อนเริ่มงาน หรือจัดตอนหลังเลิกงานเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับวันพรุ่งนี้ก็ได้

กำหนดเวลาสำหรับแต่ละงาน

เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีงานไหนกินเวลาเกินความจำเป็น และควรเพิ่มช่องว่างระหว่างแต่ละงาน ไม่ควรจัดตารางงานแน่นเกินไป เพราะคุณไม่มีทางรู้ว่าจะมีอะไรเข้ามาทำให้ใช้เวลาทำงานนั้นนานกว่าที่วางเอาไว้ หากคุณคิดว่างานควรใช้เวลาทำ 1 ชม. ให้เผื่อเวลาเป็น 1 ชม. 15 นาที

จัดช่วงพักสั้น ๆ

ทุกการทำงาน 1 ชม. คุณควรหยุดพักสัก 5 นาที ไว้หายใจหายคอ

ซอยงานใหญ่ให้เป็นงานย่อย

ถ้ารู้สึกว่างานไหนเป็นงานที่ใหญ่ ให้ซอยงานย่อยลงมาเป็นงานเล็กหลาย ๆ ชิ้น จากนั้นเรียงลำดับความสำคัญของงานด้วยเทคนิค ABC

หาช่วงเวลา productive ของคุณ

คนที่ productive ไม่ได้ทำงานอยู่ตลอดทั้งวัน พวกเขารู้ตัวเองว่าทำงานได้ดีที่สุดในตอนไหน และจะทำงานที่สำคัญในช่วงเวลานั้น พร้อมทั้งเลี่ยงไม่นัดประชุมในช่วงนั้น และไม่ทำงานที่สำคัญน้อยกว่า ซึ่งเหมาะเก็บเอาไว้ทำช่วงอื่นของวัน

อย่าทำหลายงานพร้อมกัน

การทำงานพร้อมกันหลายอย่างคือตัวขัดขวาง productive เพราะคุณอาจลงเอยด้วยการทำทุกอย่างผิดพลาดไปเสียหมด การบริหารเวลาไม่ใช่การทำตัวให้ยุ่งตลอดทั้งวัน แต่เป็นการทำทีละงาน ตั้งสมาธิไปกับมันอย่างเต็มที่

กำจัดสิ่งที่ทำให้เสียสมาธิ

เช่น ปิดเสียงแจ้งเตือนบนโทรศัพท์มือถือ

ให้รางวัลตัวเองเมื่อทำงานเสร็จ

อาจเป็นกาแฟอร่อย ๆ สักแก้ว

เข้าใจว่าบางครั้งการผัดวันประกันพรุ่งก็อาจจะเป็นเรื่องดี

แรงกระตุ้นที่ทำให้คุณอยากผัดวันประกันพรุ่ง อาจเป็นสัญญาณเตือนบางอย่างแก่คุณ เช่น งานนั้นอาจเป็นงานที่ไม่สำคัญ หรือร่างกายของคุณกำลังเหนื่อย และต้องการการพักผ่อน บางครั้งสมองของคนเราก็ต้องการเวลาสักเล็กน้อยเพื่อคิดเรื่อยเปื่อย

สุดท้ายถ้าคุณพบว่าตัวเองไม่อยากทำงานหลาย ๆ อย่างที่เกี่ยวข้องกับอาชีพของคุณ แบบนั้นก็อาจถึงเวลาต้องเปลี่ยนงานแล้ว ลองถามตัวเองว่างานที่ทำอยู่ตอนนี้ ยังเป็นงานที่ใช่สำหรับคุณอยู่หรือเปล่า เพราะมันไม่ใช่เรื่องปกติเลยที่จะไม่ชอบงานของตัวเอง และขาดแรงจูงใจอยู่บ่อย ๆ

สิ่งเหล่านี้ที่ผมเล่าให้เพื่อน ๆ ฟังใน ep นี้ เป็นแค่ทักษะบางส่วนที่หนังสือเล่มนี้ได้แนะนำเอาไว้ ในเล่มผู้เขียนได้แนะนำทักษะเอาไว้ 20 ทักษะ แต่ละทักษะล้วนสำคัญต่อโลกการทำงานยุคใหม่ ใครสนใจอยากรู้เนื้อหาเพิ่มเติม สามารถหาหนังสือมาอ่านได้กับ Future Skills ทักษะอนาคตที่ AI ทำแทนคุณไม่ได้ ราคา 295 บาท จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์

สนใจหนังสือ FUTURE SKILLS ทักษะอนาคตที่ AI ทำแทนคุณไม่ได้
สามารถสั่งซื้อได้ที่ Shopee: https://s.shopee.co.th/5VEJYuX7jA
ซื้อผ่านลิงค์เป็นการสนับสนุนช่องครับ

Share

Leave a comment

Leave a Reply

What's New

สรุปเนื้อหาและแนะนำหนังสือที่น่าสนใจ ชวนเพื่อน ๆ มาพัฒนาตัวเองให้ดียิ่งขึ้นในทุก ๆ วันไปด้วยกันครับ

Copyright 2025 Aitim and Co. All rights reserved

error: Content is protected !!