“อยากให้วันนี้เป็นแบบไหน?” คุณเคยถามแบบนี้กับตัวเองตอนที่เพิ่งตอนนอนไหมครับ บางคนอาจคิดว่าการคุยกับตัวเองแบบนี้มันแปลก ๆ แต่การถามคำถามตัวเองในตอนเช้าเป็นเรื่องง่ายที่ใช้เวลาไม่ถึง 1 นาที แต่มีพลังพลิกชีวิตให้ดีขึ้นได้ครับ เพราะเวลาในยามเช้าถือเป็นจุดเริ่มต้นของวัน เป็นช่วงเวลาที่จะตัดสินว่าในวันนั้น ๆ เราจะมีชีวิตแบบไหน
ไอติมอ่าน ep นี้ มาแนะนำเนื้อหาในหนังสือ “1 นาที ปาฏิหาริย์หลังตื่นนอน” เขียนโดย มัตสึดะ มิฮิโระ หนังสือเล่มนี้นำเสนอ 30 กิจวัตรที่ทำได้ง่าย ๆ ในตอนเช้า และเพิ่มพูนความสุขของวันนั้น ๆ ได้ เมื่อคุณรู้ว่าต้องทำยังไงถึงจะมีความสุข ก็ให้ทำสิ่งนั้นจนเป็นนิสัย และนี่จะเป็นจุดเริ่มต้นในการยกประสิทธิภาพการใช้ชีวิตใน 1 วันของคุณ
30 กิจวัตรที่นำเสนอในหนังสือแบ่งเป็น 3 หมวดหมู่ ได้แก่ Question, Action และ Plan หมวดหมู่ละ 10 กิจวัตร ผู้เขียนบอกว่าไม่จำเป็นต้องทำทั้งหมด จะเริ่มจากกิจวัตรไหนก่อนก็ได้ และไม่จำเป็นต้องทำติดต่อกันทุกวัน แค่ทำด้วยความรู้สึกว่า “วันนี้ลองทำสิ่งนี้ดูหน่อยดีกว่า”
แม้หนังสือจะพูดถึงกิจวัตรหลังตื่นนอน แต่ไม่ได้บอกให้เราต้องตื่นนอนตอนเช้าตรู่ คุณจะตื่นตอนตี 4 หรือตื่น 10 โมงเช้าก็ไม่เป็นปัญหา เพียงแค่ตื่นมาแล้วเลือกทำกิจวัตรในหนังสือสักหนึ่งอย่างก็พอ มาดูกันครับว่าทั้ง 30 กิจวัตรนั้นมีอะไรบ้าง โดยเริ่มจาก 10 กิจวัตรแรกในหมวด Question กันก่อน
กิจวัตรที่ 1: ตั้งคำถามว่าตอนนี้รู้สึกยังไง
คุณเคยถามตัวเองตอนเพิ่งตื่นว่าตอนนี้รู้สึกยังไงบ้างไหมครับ คนส่วนใหญ่มองว่าไม่จำเป็นต้องถามหรอก เพราะเราย่อมรู้ความรู้สึกของตัวเองดี แต่รู้ไหมครับว่าในสมองคนเรามีอารมณ์ความรู้สึกหลากหลายกว่าที่คิด และไม่สามารถพูดออกมาได้ทั้งหมด
เมื่อถามตัวเองว่า “ตอนนี้รู้สึกยังไง?” คำตอบที่ได้นี่แหละคือความรู้สึกโดยรวมของตัวเราในตอนนี้ เมื่อคุณเข้าใจความรู้สึกนั้นก็จะกำหนดงานที่ต้องทำในวันนี้ และจัดลำดับความสำคัญของงานเหล่านั้นตามความรู้สึกของตัวเองได้
เมื่อคุณได้คำตอบแล้ว ให้ตั้งคำถามกับคำตอบนั้นอีกที แล้วคุณจะเจอวิธีแก้ปัญหานั้นได้ครับ เช่น ถ้าคุณตอบว่า “เช้านี้รู้สึกหงุดหงิดยังไงไม่รู้” ก็ให้คุณถามตัวเองต่อไปว่า “ทำไมถึงรู้สึกหงุดหงิด” การรู้ว่าตัวเองรู้สึกยังไง แล้วตั้งคำถามเกี่ยวกับประเด็นนั้นไปเรื่อย ๆ จะช่วยให้คุณจัดการกับสาเหตุที่ทำให้คุณรู้สึกแบบนั้นได้ครับ

กิจวัตรที่ 2: ตั้งคำถามว่าต้องเป็นวันแบบไหนถึงจะยอดเยี่ยม
การถามตัวเองหลังตื่นนอนว่า “วันนี้ต้องเป็นวันแบบไหนถึงจะยอดเยี่ยม” เป็นการตั้งโปรแกรมให้สมองออกคำสั่งให้คุณทำสิ่งต่าง ๆ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์นั้นครับ สมองของเรามีกลไกอย่างหนึ่งคือ เมื่อถูกตั้งคำถาม สมองจะพยายามค้นหาสิ่งที่ทำให้ไปสู่คำตอบโดยอัตโนมัติ วิธีใช้กลไกนี้ให้มีประสิทธิภาพคือ ต้องตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน
กิจวัตรที่ 3: ตั้งคำถามว่าสิ่งที่ตั้งตารอของวันนี้คืออะไร
ไม่ว่าใครก็คงอารมณ์ดีในวันที่มีแผนการสนุก ๆ แต่ก็ใช่ว่าเราจะมีเรื่องให้สนุกร่าเริงทุกวัน ดังนั้นคุณต้องสร้างความรู้สึกสนุกด้วยตัวเอง โดยการหาสิ่งที่คุณตั้งตารอที่จะทำในวันนี้สัก 1 อย่าง เช่น
- ดื่มกาแฟลาเต้
- ดูหนังหรือซีรีส์
- เล่นกับสัตว์เลี้ยง
- ร้องเพลง
- นอนกลางวัน
- ซื้อของออนไลน์
- กินขนม
กิจวัตรที่ 4: ตั้งคำถามว่าสิ่งที่ทำได้ในวันนี้ที่จะช่วยให้เข้าใกล้ความฝันคืออะไร
ชีวิตคนเราเกิดจากการสั่งสมเวลาในแต่ละวัน ดังนั้นการตระหนักอยู่เสมอว่า “เวลาของวันนี้จะส่งผลต่อชีวิตของตัวเอง” จึงเป็นสิ่งสำคัญ
หากถามคน 100 คนด้วยคำถามว่า “คุณอยากใช้ชีวิตแบบไหน?” คงได้คำตอบมา 100 แบบ แต่ไม่ว่าคำตอบของคุณจะเป็นแบบไหน หากไม่มุ่งหน้าไปสู่เป้าหมายนั้น คุณก็ไม่มีทางได้ใช้ชีวิตแบบที่ฝัน
เพื่อไม่ให้ลืมเป้าหมาย คุณลองถามตัวเองในตอนตื่นนอนดูนะครับว่า สิ่งที่ทำได้ในวันนี้ที่จะช่วยให้เข้าใกล้ความฝันมากขึ้นคืออะไร การก้าวเดินเล็ก ๆ ในวันนี้จะนำไปสู่ความฝันอันยิ่งใหญ่ ทำให้คุณกลายเป็นคนที่แตกต่างจากเดิมในอีก 1 เดือน, 1 ปี หรืออีก 10 ปีข้างหน้า
กิจวัตรที่ 5: ตั้งคำถามว่าสิ่งที่ต้องทำในวันนี้ให้ได้คืออะไร
การถามตัวเองว่า “สิ่งที่ต้องทำในวันนี้ให้ได้คืออะไร?” จะช่วยให้คุณตระหนักว่าในบรรดาสิ่งที่ต้องทำในวันนี้ อะไรคือสิ่งที่จำเป็นต้องทำมากที่สุด ทำให้คุณสามารถแบ่งสิ่งที่จำเป็นต้องทำกับสิ่งที่ยังไม่จำเป็นต้องทำออกจากกันได้ชัดเจน และทุ่มเทพลังให้กับเรื่องสำคัญได้อย่างเต็มที่

กิจวัตรที่ 6: ตั้งคำถามว่าใครคือคนสำคัญที่สุดสำหรับตัวเอง
เมื่อถูกถามว่า “ใครคือคนสำคัญที่สุดสำหรับตัวเอง?” ส่วนใหญ่อาจตอบว่าลูก, ครอบครัว, พ่อแม่ หรือสัตว์เลี้ยง แต่พอถามซ้ำอีกรอบว่า “ใครคือคนสำคัญที่สุดจริง ๆ สำหรับตัวเอง?” คนส่วนใหญ่อาจตอบว่า “คงเป็นตัวเองละมั้ง”
เมื่อคนตระหนักว่าตัวเองสำคัญที่สุด แต่พอโดนถามว่า “แล้วคุณได้ให้เวลากับตัวเองมากน้อยแค่ไหน?” คนส่วนใหญ่ก็จะตกใจว่า “เอ๊ะ ฉันก็อยู่กับตัวเองตลอดเวลาอยู่แล้วนี่”
การให้เวลากับตัวเอง คือเวลาที่เราจะได้เป็นตัวของตัวเอง ได้ทำอะไรที่ผ่อนคลาย เช่น พาสุนัขออกไปเดินเล่น, เล่นเกม, ไปช้อปปิ้ง หรือเข้าร้านเสริมสวย ให้คุณลงเวลานัดหมายกับตัวเองสำหรับทำสิ่งเหล่านี้ เหมือนกับลงเวลานัดหมายสำหรับเรื่องงานหรือการนัดกับเพื่อน
คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่า “เวลาว่าง = เวลาของตัวเอง” แต่ชีวิตปัจจุบันของพวกเรามีเวลาว่างแบบนั้นด้วยเหรอครับ ผู้เขียนบอกว่าเราจะมีเวลาว่างได้ก็ต่อเมื่อเราสร้างมันขึ้นมา
กิจวัตรที่ 7: ตั้งคำถามว่าวันนี้อยากขอบคุณใคร
สังคมปัจจุบันเต็มไปด้วยความเครียด บางวันเราก็ตื่นขึ้นมาด้วยความรู้สึก “หงุดหงิดยังไงบอกไม่ถูก” ผู้เขียนบอกว่าคำถามที่ทำให้อารมณ์หงุดหงิดหายไปโดยรวดเร็วที่สุดคือ “วันนี้อยากขอบคุณใคร?”
เหตุผลที่ทำให้คนเราหงุดหงิดนั้นมีหลากหลาย แต่ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลใดก็ล้วนมีจุดร่วมเดียวกันคือ “ไม่มีความรู้สึกขอบคุณ” ตัวอย่างเช่น ภรรยาหงุดหงิดที่สามีไม่ช่วยทำงานบ้าน บางทีอาจเป็นเพราะภรรยาลืมความรู้สึกขอบคุณที่มีต่อสามี ถ้ามองสามีด้วยมุมมองที่ต่างไป เช่น “เขาตั้งใจทำงานหาเงินเข้าบ้าน เลยไม่เหลือแรงทำงานบ้านสินะ” แบบนี้ภรรยาก็มีโอกาสหายหงุดหงิดสามีได้
เมื่อจดจ่อกับความรู้สึกขอบคุณ คุณก็จะไม่เบนสายตาไปมองเรื่องแย่ ๆ และเริ่มสัมผัสได้ว่าตัวเองมีความรู้สึกที่มั่นคงขึ้น ดังนั้นควรฝึกขอบคุณให้เป็นนิสัย แล้วโลกที่คุณมองเห็นอยู่จะเปลี่ยนไปจากเดิม

กิจวัตรที่ 8: ตั้งคำถามว่าวันนี้อยากทำให้ใครดีใจ
ตอนที่เราทำให้ใครสักคนดีใจ เราจะมีความสุขมากกว่าตอนที่คนอื่นทำให้เราดีใจ ลองนึกถึงความรู้สึกที่คุณสละที่นั่งบนรถไฟให้ใครสักคน คุณรู้สึกยังไงตอนที่อีกฝ่ายยิ้ม แล้วพูดว่า “ขอบคุณ” คุณคงจะมีความสุขและอิ่มเอมใจ มากกว่าตอนที่มีคนสละที่นั่งให้คุณใช่ไหมครับ
ถ้าคุณอยากมีความสุขก็ต้องใจดีกับคนอื่นก่อน ดังนั้นตอนที่เพิ่งตื่นลองตั้งคำถามกับตัวเองดูครับว่า “วันนี้อยากทำให้ใครดีใจ” ทั้งนี้คุณไม่จำเป็นต้องใช้เงินเพื่อทำให้คนอื่นดีใจหรอกนะครับ คุณเพียงแค่ทำเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างการส่งข้อความไปถามไถ่เพื่อนที่ไม่ได้เจอกันนานแล้ว, ทำเซอร์ไพร์สเล็ก ๆ ให้แฟนโดยไม่ต้องใช้เงินเยอะ เพราะสำหรับอีกฝ่าย การที่คุณใส่ใจและทำให้เขารู้สึกว่าคุณให้ความสำคัญกับเขา แค่นี้ก็เป็นเรื่องน่าดีใจแล้ว
กิจวัตรที่ 9: ตั้งคำถามว่าแบบนี้มันดีแล้วแน่เหรอ
มนุษย์เรามีการเคยชินกับสภาพแวดล้อม ตัวอย่างเช่น ตอนที่เพิ่งเข้าทำงานที่ใหม่ ไม่ว่าใครก็รู้สึกตื่นเต้นกันทั้งนั้น แต่พอทำงานที่เดิมไปได้สักพัก เราจะคุ้นชินและปรับตัวได้ในที่สุด นานวันเข้าก็จะรู้สึกสบายกับสภาพแวดล้อมนั้น
พอเรารู้สึกไม่เครียด เราจะทำสิ่งต่าง ๆ ที่เคยทำโดยไม่จำเป็นต้องใช้ความคิด ไม่ได้ใช้สมองคิดหาไอเดีย งานที่ไม่ต้องใช้ความคิด ในอนาคตจะถูก AI แทนที่ในที่สุดครับ คุณต้องฝึกสงสัยเรื่องที่ทำบ่อยจนกลายเป็นเรื่องปกติ
ทำแต่งานเดิม ๆ น่าเบื่อจังเลยนะ
ไม่มีเรื่องสนุก ๆ บ้างเลยหรือไงนะ
เบื่องานที่ทำอยู่ตอนนี้จัง
หากคุณมีความคิดแบบนี้ ลองถามตัวเองด้วยคำถามว่า “แบบนี้มันดีแล้วแน่เหรอ?” เช่น ตอนที่คุณทำเอกสารเสร็จโดยไม่คิดอะไร ให้ลองหยุดคิดสักนิดว่า “แบบนี้มันดีแล้วแน่เหรอ?” นั่นจะทำให้คุณได้พิจารณาเอกสารจากมุมมองใหม่ ๆ คุณอาจปิ๊งไอเดียใหม่ ๆ ที่ไม่เคยคิดมาก่อน ซึ่งทำให้สามารถทำเอกสารออกมาได้ดีกว่าเดิม
คุณสามารถนำวิธีการนี้มาใช้กับชีวิตประจำวันได้ อย่างการมองทิวทัศน์ที่ผ่านตาระหว่างเดินทางไปทำงานทุกวัน ถ้าคุณตั้งข้อสงสัยว่า ถนนเส้นนี้เชื่อมไปที่ไหนนะ?, ร้านนี้เห็นบ่อย เขาขายอะไรนะ?, ต้นไม้ต้นนี้ชื่ออะไรนะ? การสงสัยเรื่องต่าง ๆ จะทำให้ความรู้ของคุณเพิ่มพูนขึ้น ช่วยขยายความเป็นไปได้ของคุณให้มากขึ้นตามไปด้วย

กิจวัตรที่ 10: ตั้งคำถามว่าถ้าวันนี้คือวันสุดท้ายจะทำอะไร
การถามตัวเองว่า “ถ้าวันนี้คือวันสุดท้ายจะทำอะไร?” ไม่ใช่คำถามที่ทำให้คุณเกิดความรู้สึกในแง่ลบนะครับ แต่มันช่วยให้คุณระลึกถึงความรู้สึกต่อเรื่องราวและผู้คนที่อยู่รอบตัวคุณในตอนนี้
ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว, เพื่อน หรือคนในที่ทำงานที่เจอกันเป็นเรื่องปกติ ลองคิดว่า “ถ้าเราเจอกับคนคนนี้เป็นครั้งสุดท้ายจะทำอะไร?” จะช่วยให้คุณรู้สึกแตกต่างไปจากเดิม และตระหนักว่าตัวเองรู้สึกขอบคุณอีกฝ่าย
ถ้าวันนี้เป็นวันสุดท้ายของมนุษยชาติ คุณจะคิดถึงใครครับ คนที่สำคัญสำหรับคุณคือใคร? ใครที่คอยช่วยเหลือค้ำจุนคุณอยู่เสมอ? เมื่อหาคำตอบได้ คุณจะอยากอยู่กับคนเหล่านั้นแน่นอน
ต่อไปเป็นกิจวัตรที่ 11-20 ซึ่งผู้เขียนจัดให้อยู่หมวด Action การลงมือปฏิบัติเล็ก ๆ น้อย ๆ สามารถยกระดับความพึงพอใจในแต่ละวันได้อย่างน่าทึ่ง
กิจวัตรที่ 11: ลองอินพุตข้อมูลในตอนเช้าสัก 1 นาที
เวลาที่สมองว่างเปล่าผู้เขียนจะอ่านหนังสือ โดยเริ่มอ่านจากบทนำและสารบัญ จากนั้นก็พลิกดูเนื้อหาแบบผ่าน ๆ เพื่อหาคำสำคัญ เขาบอกว่าการทำแบบนี้ช่วยให้เข้าใจประเด็นที่หนังสือต้องการจะสื่อได้
หนังสือที่ผู้เขียนเลือกอ่าน มักเป็นหมวดหมู่ที่เขาไม่ได้สนใจเป็นพิเศษ ทำให้เขาค้นพบสิ่งที่คาดไม่ถึง ช่วยจุดประกายความคิดใหม่ ๆ คุณเองก็ลองอ่านหนังสือตอนตื่นนอนสัก 1 นาที เพื่ออินพุตข้อมูลดูนะครับ

กิจวัตรที่ 12: เขียนความรู้สึกของตัวเองออกมาแล้วอ่านออกเสียง
คนส่วนใหญ่มักเริ่มต้นวันใหม่โดยที่ไม่ตระหนักรู้ว่าอารมณ์ของตัวเองเป็นอย่างไร เราจะแค่รู้สึกว่า “วันนี้รู้สึกไม่ค่อยอยากทำอะไรเลย” หรือ “รู้สึกเบื่อยังไงไม่รู้” โดยที่ไม่ได้พยายามค้นหาสาเหตุที่ทำให้รู้สึกแบบนั้น
การทำความเข้าใจความรู้สึกของตัวเอง ไม่ใช่สิ่งที่ทำแค่ในหัวอย่างเดียวได้ เนื่องจากความคิดเป็นสิ่งที่มองไม่เห็นด้วยตา คุณควรเริ่มเขียนสิ่งที่ตัวเองคิดอยู่ตอนนี้ลงในสมุดหรือแอพบนมือถือ นั่นจะทำให้คุณพิจารณาความคิดของตัวเองด้วยสายตาที่เป็นกลางได้
นอกจากนี้คุณควรถามตอบกับตัวเองถึงความรู้สึกนั้นแบบออกเสียงด้วย เมื่อทำแบบนี้แล้วคุณจะค้นพบวิธีคิดใหม่ ๆ เช่น
ตอนนี้รู้สึกยังไง?
– รู้สึกสับสนวุ่นวายยังไงไม่รู้
แล้วคิดว่าต้องทำยังไงถึงจะใจเย็นขึ้น
– ถ้าสูดหายใจเข้าลึก ๆ ก็น่าจะใจเย็นลงได้นะ
ในช่วงแรกอาจทำได้ยากพอสมควร แต่เมื่อคุณพูดคุยโต้ตอบกับตัวเองซ้ำไปซ้ำมา คุณจะสัมผัสได้ว่าตัวเองตั้งคำถามได้เก่งขึ้น และหาคำตอบได้ง่ายขึ้น
กิจวัตรที่ 13: มองใบหน้าของตัวเอง
ลองตั้งใจมองใบหน้าของตัวเองดูนะครับ แล้วคุณจะรู้ระดับพลังงานของตัวเองในวันนั้น ๆ หากคุณมองใบหน้าของตัวเองจนเป็นนิสัย คุณจะสามารถเทียบใบหน้าของตัวเองในเมื่อวานกับวันนี้ได้ ตัวอย่างเช่น “วันนี้หน้าบวมจัง สงสัยเมื่อวานคงดื่มหนักเกินไป” สีหน้าในตอนเช้าเป็นสิ่งที่บ่งบอกสภาพร่างกายของเราอย่างตรงไปตรงมา ดังนั้นมามองใบหน้าของตัวเองอย่างพินิจพิเคราะห์ให้มากขึ้น เพื่อหาคำตอบกันครับ
กิจวัตรที่ 14: เปิดผ้าม่านเพื่ออาบแดดตอนเช้า
แสงแดดยามเช้าช่วยปรับสมดุลของนาฬิกาชีวิต ช่วยให้สารเซโรโทนินซึ่งเป็นฮอร์โมนแห่งความสุขหลั่งออกมามากขึ้น ทำให้คุณเริ่มต้นวันใหม่ได้อย่างมีความสุข นี่คือวิธีที่ทำให้ตัวเองอารมณ์ดีแบบง่าย ๆ แต่ได้ผลดีเยี่ยมครับ

กิจวัตรที่ 15: ทำบอดี้สแกน
การทำบอดี้สแกนในความหมายของผู้เขียนคือ เมื่อลืมตาตื่นแล้วจะยังคงนอนราบอยู่บนเตียง จากนั้นค่อย ๆ เพ่งความสนใจไปยังร่างกายทีละส่วน โดยเริ่มจากปลายเท้าไปถึงศีรษะ เพื่อดูว่าส่วนไหนมีปัญหาอะไรหรือเปล่า เช่น “วันนี้ปวดหัวเข่าแฮะ” หรือ “รู้สึกว่าคอตึง ๆ”
พอรู้อย่างนี้คุณจะสามารถวางแผนและรับมือกับปัญหาเหล่านั้นได้ ถ้าวันนี้ปวดเข่าก็ไม่ต้องใส่รองเท้าหนัง แต่ใส่รองเท้าผ้าใบที่ช่วยซับแรงกระแทกแทน ถ้าวันนี้คอตึง ๆ ก็จะได้นัดหมอนวดหลังเลิกงาน
การไม่สนใจกับความเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ น้อย ๆ ของร่างกายในตอนเช้าแล้วใช้ชีวิตตามปกติ อาจส่งผลให้อาการเจ็บป่วยเลวร้ายลง ดังนั้นหลังตื่นนอนลองทำบอดี้สแกนดูนะครับ
กิจวัตรที่ 16: จดจ่อ 1 นาที
การจดจ่อสามารถทำได้หลายวิธี ที่เห็นบ่อยคือการหลับตาแล้วทำสมองให้ว่าง พยายามหายใจเข้าออกช้า ๆ ไปด้วย การจดจ่อเพียง 1 นาทีจะทำให้คุณรู้สึกว่าช่วงเวลาที่เร่งรีบกลับผ่อนคลายและช้าลง
กิจวัตรที่ 17: ทำการยืนยันกับตัวเอง
คนญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับถ้อยคำมาก มีคนจำนวนไม่น้อยชอบเขียนเป้าหมายหรือความปรารถนาลงในกระดาษแล้วพกติดตัว เพื่อให้สามารถหยิบออกมาอ่านได้ตลอดเวลา ช่วยให้คำนั้นประทับและตราตรึงอยู่ในจิตใต้สำนึก วิธีการนี้มีชื่อเรียกว่า “การยืนยันกับตัวเอง” หรือ Affirmation ครับ
กิจวัตรที่ 18: อย่าเปิดโทรทัศน์แบบไร้จุดหมาย
ในโทรทัศน์มีบางข้อมูลที่ทำให้รู้สึกแย่ เช่น ข่าวอาชญากรรม หรือบางข้อมูลก็ดึงให้เราไปหมกมุ่นกับมัน แถมข้อมูลจากโทรทัศน์มาจากฝั่งเดียว ไม่รอบด้าน ถ้าคุณเปิดโทรทัศน์แบบไร้จุดหมาย นั่นแปลว่าคุณกำลังรับเอาข้อมูลที่ไม่มีประโยชน์เข้ามาในหัว
แต่ไม่ได้หมายความว่าโทรทัศน์จะไม่มีอะไรดีเลย หากคุณตั้งใจอยากดูรายการตลกเพื่อคลายเครียดก็สามารถเปิดดูได้ หรือถ้าศิลปินที่คุณติดตามมาออกรายการ คุณก็สามารถเปิดดูได้

กิจวัตรที่ 19: หาวิธีผ่อนคลายง่าย ๆ ในแบบของตัวเอง
หากอยากมีช่วงเวลาดี ๆ ในตอนเช้า ต้องหาวิธีผ่อนคลายที่ช่วยให้คุณแยกตัวเองเมื่อวานกับตัวเองในวันนี้ออกจากกัน ผู้เขียนใช้วิธีเผาใบเสจทุกเช้าหลังตื่นนอน ทำให้สมองของเขาจดจำไปแล้วว่ากลิ่นใบเสจ = วันใหม่
อีกตัวอย่างของวิธีผ่อนคลายง่าย ๆ คือการเปิดเพลงคลาสสิกฟัง มีงานวิจัยมากมายบอกว่าเพลงคลาสสิกช่วยให้ผ่อนคลายและมีสมาธิ หลายคนเลือกฟังเพลงคลาสสิกให้ตรงกับอารมณ์ความรู้สึกของวันนั้น ถ้าวันไหนอยากคึกคักให้ฟังเพลงของเบโธเฟน ถ้าอยากสงบจิตสงบใจให้ฟังเพลงของโมสาร์ท
กิจวัตรที่ 20: ลงมือทำโดยมองไปที่วันพรุ่งนี้
หากเราไม่ตรวจตารางงานของตัวเองล่วงหน้า แล้วมาทำในตอนเช้า อาจเกิดเหตุการณ์ทำนองว่า “แย่ละ อีก 5 นาทีมีนัดประชุม” เพื่อไม่ให้เกิดเรื่องแบบนั้น การเตรียมตัวให้พร้อมตั้งแต่คืนก่อนหน้าจึงเป็นเรื่องสำคัญ
ช่วงเวลาก่อนนอนให้คิดว่า “พรุ่งนี้ต้องเป็นแบบไหนถึงจะยอดเยี่ยม” หรือ “พรุ่งนี้ตื่นมาแล้วอยากรู้สึกแบบไหน” ผู้เขียนพบว่าการใช้เวลาก่อนนอนอย่างเหมาะสม ทำให้ประสิทธิภาพของเวลาในตอนเช้าดีขึ้น
ต่อไปเป็นกิจวัตรที่ 21-30 ซึ่งอยู่ในหมวด Plan การร่างแผนสร้างอนาคต
กิจวัตรที่ 21: ทำรายชื่อติดต่อ
หลัก ๆ งานที่เราทำแบ่งเป็นงานที่ต้องลงมือทำและงานที่ต้องติดต่อสื่อสารกับคนอื่น ผู้เขียนแนะนำว่าอย่าเอางานที่ต้องติดต่อสื่อสารไปปนกับตารางงานที่ต้องลงมือทำ แต่ให้เขียนแยกออกมาเป็นอีกหนึ่งรายการ
แม้งานติดต่อสื่อสารจะใช้เวลาไม่นาน แต่หากเอามารวมกันก็ทำให้งานอื่นไม่คืบหน้าได้ การแยกงานเหล่านี้ออกมาเป็นรายชื่อที่ต้องติดต่อทำให้ช่วยลดความสับสน ทำให้เราจดจ่อกับงานที่มีความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ ได้อย่างเต็มที่
กิจวัตรที่ 22: ตัดสินใจว่าอะไรคือสิ่งที่ไม่ต้องทำก็ได้
บางคนแพ้ให้กับคำขอของคนอื่น เช่น “ช่วยทำเอกสารให้เสร็จภายในวันนี้หน่อยนะ” ถ้าเป็นอย่างนั้นคุณก็ไม่สามารถใช้ชีวิตในแบบของตัวเองได้ คุณต้องฝึกจิตใจให้เข้มแข็ง โดยถามกับตัวเองว่า “มันเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องทำตอนนี้เลยหรือเปล่า” ถ้าไม่เร่งด่วนก็ให้คุณจดลงไปในรายการสิ่งที่ยังไม่ต้องทำครับ โดยจดลงกระดาษหรือโพสต์อิท แล้วนำไปแปะไว้ในที่ที่มองเห็นได้ง่าย

กิจวัตรที่ 23: รู้ว่าช่วงเวลาที่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพคือช่วงไหน
มีคำกล่าวว่า “มนุษย์ทำงานได้มีประสิทธิภาพในช่วงเช้า” แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะเป็นแบบนั้น บางคนหัวแล่นตอนกลางคืน คุณควรรู้ว่าตัวเองมีประสิทธิภาพสูงสุดช่วงไหน เมื่อรู้แล้วให้กำหนดงานสำคัญไปทำในเวลานั้น
กิจวัตรที่ 24: ใส่ช่วงนั่งเหม่อลงในตารางงานด้วย
เวลาไม่ได้คิดอะไรอย่างช่วงที่นั่งเหม่อ สมองจะเข้าสู่โหมด DMN หรือ Default Mode Network ซึ่งว่ากันว่าโหมดนี้สมองจะทำงานมากกว่าปกติถึง 15 เท่า นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงเกิดไอเดียดี ๆ ตอนที่นั่งเหม่อ
แน่นอนว่าคนที่งานยุ่งย่อมไม่อยากเสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ แต่ตารางงานที่แน่นจนเกินไปจะทำให้สมองจดจ่อกับอะไรได้ไม่นานและมีประสิทธิภาพลดลง ด้วยเหตุนี้เราจึงควรมีเวลาที่ได้เอาตัวออกจากงานเพื่อนั่งอยู่เฉย ๆ บ้าง
กิจวัตรที่ 25: รักษา “เวลาของฉัน” ที่เอาไว้ใช้ทำเรื่องที่รู้สึกดี
สำหรับคนที่ตารางงานแน่นตั้งแต่ 9 โมงเช้า ไปจนถึง 6 โมงเย็น การจะจดจ่อกับทุกงานเป็นเวลาติดต่อกันหลายชั่วโมงไม่ใช่เรื่องง่าย ผู้เขียนได้แนะนำวิธีจัดการกับเวลาที่เรียกว่า “เทคนิคโพโมโดโร” ที่จะแบ่งเวลาออกเป็น ทำงาน 25 นาที สลับกับหยุดพัก 5 นาที
การแบ่งเวลาออกเป็นช่วง ๆ โดยใช้นาฬิกาจับเวลา จะกระตุ้นให้เราพยายามทำงานให้เสร็จ ส่งผลให้จดจ่อได้ดีขึ้นโดยอัตโนมัติ ช่วยให้เราประเมินเวลาที่จะใช้ทำงานได้ง่าย จัดตางรางงานได้ง่าย ลดเวลาการนั่งแช่อยู่ที่โต๊ะอย่างไม่มีจุดหมาย ช่วงเวลาพัก 5 นาทีที่เป็นช่วงเวลาของฉัน คุณจะใช้เพื่อเล่นเกมสัก 1 ด่าน หรืออ่านการ์ตูนสัก 1 ตอนก็ได้ครับ
กิจวัตรที่ 26: ประเมินว่าต้องใช้เวลามากแค่ไหนในการทำงานสำคัญอันดับหนึ่งของวัน
หากมีงานมากมาย แต่ไม่รู้ว่างานที่สำคัญที่สุดคืออะไร ผลสุดท้ายทุกงานจะเสร็จแบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ การฝึกตัดสินใจว่าอะไรสำคัญเป็นอันดับหนึ่งให้เป็นนิสัยจะช่วยขัดเกลาทักษะการเลือก, ทักษะการตัดสินใจ และทักษะการลงมือทำให้มีประสิทธิภาพยิ่งกว่าเดิมได้
เมื่อตัดสินใจแล้วว่างานไหนสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง ให้พิจารณาต่อไปว่างานนั้นต้องใช้เวลามากแค่ไหนและจดบันทึกเอาไว้ เมื่อทำงานเสร็จให้เอาเวลาที่ใช้ทำจริงมาเทียบกับเวลาที่ประเมินว่าต่างกันมากน้อยแค่ไหน เช่น “คิดไว้ว่าจะเสร็จภายใน 2 ชม. แต่ทำจริงใช้เวลาตั้ง 3 ชม.” การรู้ระดับความเร็วในการทำงานของตัวเองจะช่วยให้จัดตารางงานได้ง่ายขึ้น และกระตุ้นให้คุณพยายามทำให้เสร็จภายในเวลาที่กำหนด จนมีสมาธิจดจ่อโดยไม่รู้ตัวครับ
กิจวัตรที่ 27: จดบันทึก
ผู้เขียนแนะนำให้จดบันทึกสิ่งต่าง ๆ ที่เราทำในชีวิตประจำวัน เช่น ดื่มกาแฟไปกี่แก้ว, ใช้เวลากินข้าวนานเท่าไหร่ การจดบันทึกแบบนี้ช่วยให้เรารู้เกี่ยวกับนิสัยของตัวเองอย่างเป็นรูปธรรม
หากคุณมีความคิดอยากเปลี่ยนแปลงตัวเอง สิ่งที่ควรรู้เป็นอย่างแรกคือนิสัยในปัจจุบันของตัวเอง เพราะไม่อย่างนั้นก็ไม่รู้ว่าควรเปลี่ยนแปลงอะไร การจดบันทึกเป็นทางลัดที่จะช่วยให้คุณรู้จักตัวเองมากขึ้นครับ

กิจวัตรที่ 28: กำหนดธีมของวันนี้
การกำหนดธีมจะช่วยให้คุณเห็นภาพตัวเองในหนึ่งวันได้ชัดเจนขึ้น ธีมของแต่ละวันจะเป็นอะไรก็ได้ อาจจะเกี่ยวข้องกับงาน, ชีวิตส่วนตัว หรืองานอดิเรกก็ได้ ตัวอย่างธีมที่ผู้เขียนยกตัวอย่างเช่น วันนี้จะให้ความสำคัญกับครอบครัว, วันนี้จะทำตัวสบาย ๆ, วันนี้จะอยู่เฉย ๆ
เมื่อกำหนดธีมได้แล้ว คุณจะพบว่าตัวเองมีพฤติกรรมสอดคล้องกับธีมนั้นไปเองโดยอัตโนมัติ คุณจะรู้ว่าสิ่งที่จำเป็นหรือไม่จำเป็นต้องทำสำหรับวันนี้คืออะไร
กิจวัตรที่ 29: แบ่งประเภทเรื่องที่ให้ความสำคัญออกเป็น 5 ด้าน
การแบ่งประเภทจะทำให้คุณเห็นตัวตนในอุดมคติของตัวเองได้ชัดเจนขึ้น โดย 5 ด้านที่ว่านั้นได้แก่
- Wellness (ความอยู่ดีมีสุข) เรื่องที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ
- Relationship (ความสัมพันธ์) เรื่องของครอบครัว, คู่ชีวิต, เพื่อนในที่ทำงาน
- Finance (การเงิน) ทัศนคติเกี่ยวกับเรื่องเงินและวิธีใช้เงิน
- Pleasure (ความรู้สึกยินดี) เรื่องที่ทำให้รู้สึกยินดี หรือมีความสุข
- Growth (การเติบโต) เรื่องที่ทำให้เราเติบโตขึ้น
ทุกวันนี้เราได้ยินคำว่า “ใช้ชีวิตให้สมกับเป็นตัวเอง” หรือ “ใช้ชีวิตอย่างที่ตัวเองต้องการ” แต่หลายคนไม่รู้ว่าอะไรคือสิ่งที่สมกับเป็นตัวเอง หรือไม่รู้ว่าตัวเองต้องการชีวิตแบบไหน การแบ่งประเภทเรื่องที่ให้ความสำคัญออกเป็น 5 ด้านจะช่วยนำทางไปสู่ชีวิตที่สมกับเป็นตัวเองครับ
กิจวัตรที่ 30: ทำรายการความหวัง
สิ่งสำคัญสำหรับชีวิตที่มีความสุขคือ “ความยินดี” และ “ความหวัง” ไม่ว่าจะมีเงินมากหรือประสบความสำเร็จมาก แต่หากไม่รู้สึกยินดีก็ไม่อาจเรียกชีวิตแบบนั้นว่าเป็นชีวิตที่มีความสุขได้ นอกจากนี้ อีกสิ่งที่จะเป็นพลังในการมีชีวิตอยู่คือความหวัง
หากมีความหวัง แม้จะเกิดเรื่องแย่ ๆ คุณก็ยังอยากใช้ชีวิตอยู่ต่อไป ลองเขียนรายการความหวังที่เป็นสิ่งที่คุณอยากได้หรืออยากเป็นในสักวัน เช่น
- อยากใช้ชีวิตในบ้านที่มีสวนใหญ่ ๆ ใกล้ชิดธรรมชาติ
- อยากมีเพื่อนจากทั่วโลก
- อยากใช้ชีวิตที่ได้เดินทางท่องโลกบ่อย ๆ
- อยากอยู่อย่างแข็งแรงไปจนอายุ 100 ปี
ไม่จำเป็นต้องเขียนแต่เรื่องที่มีโอกาสเป็นจริงได้ในตอนนี้ หากมีเรื่องที่อยากได้หรืออยากเป็นในสักวันหนึ่งก็เขียนออกมาได้เลยครับ การกลับมาทบทวนรายการความหวังจะช่วยให้เรารู้ว่าชีวิตกำลังเดินทางไปทิศใด และเราความปรับทิศทางยังไง

ทั้งหมดนี้คือ 30 กิจวัตรที่ทำได้ง่าย ๆ ในตอนเช้า โดยใช้เวลาเพียงแค่ 1 นาที เพื่อใช้สำหรับวางแผนของแต่วันให้คุณได้ใช้ชีวิตในแบบที่ตัวเองต้องการ “วันนี้” ที่คุณสร้างขึ้นจะสะสมจนกลายเป็น 1 สัปดาห์, 1 เดือน, 1 ปี และสุดท้ายจะกลายเป็นชีวิตที่คุณต้องการ ใครสนใจอยากอ่านเนื้อหาเพิ่มเติม สามารถหาซื้อมาได้ครับกับหนังสือ “1 นาที ปาฏิหาริย์หลังตื่นนอน” เขียนโดย มัตสึดะ มิฮิโระ ตีพิมพ์เป็นภาษาไทยโดยสำนักพิมพ์ WeLearn ราคา 220 บาทครับ
สนใจหนังสือ 1 นาทีปาฏิหาริย์หลังตื่นนอน
สามารถสั่งซื้อได้ที่ Shopee: https://s.shopee.co.th/9UhO7rOLiP
ซื้อผ่านลิงค์เป็นการสนับสนุนช่องครับ
Leave a comment