ฉันเป็น “โรคซึมเศร้า” ไหมนะ มาเช็คอาการว่าคุณเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าหรือเปล่า

Share
Share

หลายคนคงรู้จักอาการของโรคซึมเศร้า ผู้ป่วยบางคนพอตกตอนเย็นอาจเริ่มรู้สึกไม่ดี น้ำตาไหลออกมาง่าย ๆ แม้จะมีเรื่องเพียงเล็กน้อยก็กังวลใจ เศร้าเสียใจ รู้สึกว่าร่างกายหนัก จนไม่อยากขยับตัวหรือออกไปไหน อยากนอนตลอดเวลา ทั้งที่นอนมาทั้งวันแล้ว กังวลว่าคนอื่นจะมองตัวเองด้วยสายตาแปลก ๆ จนรู้สึกไม่ชอบตัวเองขึ้นมา อาการเหล่านี้เป็นอาการของโรคซึมเศร้าหลัก Major Depression Disorder หรือ MDD

ปัจจุบันมีผู้ป่วยหลายคนที่มีอาการบางอย่างคล้ายผู้ป่วยซึมเศร้า อาจจะเผชิญอาการเพียงแค่อย่างเดียวหรือหลายอย่างพร้อมกัน ผู้ที่มีอาการบางอย่างของซึมเศร้ามีโอกาสป่วยเป็นโรคซึมเศร้าที่ไม่เป็นตามรูปแบบปกติ Atypical Depression หรือ AD ที่ปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคนี้มากกว่าโรคซึมเศร้าหลักถึง 1.6 เท่า หนังสือเล่มนี้จะช่วยให้คุณได้เช็คอาการตัวเองว่าเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรค AD หรือไม่


มาดูกันครับว่าคุณมีอาการตาม type เหล่านี้หรือเปล่า

Type A: อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย

จู่ ๆ ก็เศร้า แล้วจู่ ๆ ก็กลับมาร่าเริงได้อย่างรวดเร็ว

เหมือนสมองจะคอยเลือกว่าเรื่องไหนเป็นเรื่องดีที่ทำให้เราสนุกหรือมีความสุข และเรื่องไหนทำให้เราไม่ชอบหรือเสียใจ โดยอารมณ์จะขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมรอบตัว

โดยทั่วไปคนที่เป็นโรคซึมเศร้าจะบอกว่า แม้เขาจะรู้ว่าเรื่องนั้นเป็นเรื่องที่ดีต่อตัวเองหรือเป็นเรื่องที่ทำให้สนุกได้ แต่เขาก็ยังรู้สึกหดหู่ตลอดเวลาอยู่ดี ซึ่งเป็นอาการอย่างหนึ่งของโรคซึมเศร้าหลัก

แต่อาการของโรค AD จะแสดงอาการต่างออกไป คือเมื่อเจอเรื่องที่ตัวเองชอบ อาการซึมเศร้าจะหายไปเป็นปลิดทิ้ง อารมณ์จะดีขึ้น แต่พอเจอเรื่องที่ตัวเองไม่ชอบแม้เพียงเล็กน้อยก็จะหดหู่ขึ้นมาทันที

ผู้ที่เป็นโรค AD แม้จะไม่มีแรงออกไปทำงานนอกบ้านได้ แต่สามารถดูทีวีและหัวเราะได้อย่างร่าเริง และเมื่อมีเพื่อนชวนออกไปข้างนอกก็สามารถออกไปด้วยได้ ทำให้คนรอบตัวเข้าใจผิดว่าเป็นคนเอาแต่ใจที่ไม่อยากทำมาหากิน

คนรอบข้างที่เข้าใจผิดจะยิ่งทำให้อาการของผู้ป่วยนั้นแย่ลง ดังนั้นคนรอบข้างสามารถช่วยลดอาการซึมเศร้าลงได้ โดยการแนะนำหรือชวนผู้ป่วยทำเรื่องดี ๆ ที่เขาชอบหรือทำแล้วมีความสุข


Type B: นอนเยอะ กินเยอะกว่าปกติ

หิวตลอดเวลา นอนได้ทั้งวัน

อาการของโรคซึมเศร้าแบบปกติ ผู้ป่วยจะเบื่ออาหาร นอนไม่หลับ แต่ผู้ป่วยโรค AD เมื่อหดหู่จะอยากกินอาการขึ้นมาทันที และมักจะชอบกินของหวานครั้งละมาก ๆ เพื่อช่วยให้รู้สึกดีขึ้น รู้สึกว่านอนไม่พอทั้งที่เพิ่งตื่น และรู้สึกง่วงนอนตลอดเวลา

ผู้ป่วยโรค AD มักจะใช้ชีวิตอยู่แต่บนเตียง นอนหลับได้มากกว่า 10 ชม./วัน หรือใช้ชีวิตประจำวันอยู่บนเตียงตลอดเวลา มากกว่า 3 วัน/สัปดาห์ รู้สึกว่าร่างกายหนักอึ้ง ไม่มีเรี่ยวแรงที่ทำให้ลุกขึ้นมาได้

ผู้ป่วยมักมีพฤติกรรมการกินที่เปลี่ยนไป เมื่อกังวล ไม่สบายใจจะใช้การกินเพื่อสงบจิตใจทั้งที่ไม่หิว และกินปริมาณมากโดยเฉพาะของหวาน ซึ่งหากมีพฤติกรรมการกินที่เกินปกติกว่าคนทั่วไปมากกว่า 2 วัน/สัปดาห์ จะเรียกอาการนี้ว่า “การมีความอยากอาหารเพิ่มขึ้น”

โดยทั่วไปการกินอาหารมากเกินจะทำให้อยากอ้วก ท้องเสีย และกังวลต่อน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น แต่ผู้ป่วยโรค AD แม้กินเยอะก็ไม่แสดงอาการเหล่านี้ ส่งผลให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว


Type C: อ่อนไหวง่าย และไวต่อปฏิกิริยาของคนรอบข้าง

แค่ได้ยินคำพูดหรือสังเกตเห็นปฏิกิริยาของคนอื่นนิดหน่อยก็รู้สึกเหมือนถูกต่อว่า ถูกปฏิเสธอย่างรุนแรง

ผู้ป่วยโรค AD เมื่อได้ยินคำพูดของคนรอบข้างเพียงไม่กี่คำก็จะตีความในแง่ลบ ส่งผลให้เกิดอารมณ์หดหู่ เศร้า เสียใจ โกรธหรือโมโหอย่างรุนแรงได้ เราเรียกอาการนี้ว่า “ภาวะอารมณ์อ่อนไหวง่าย และไวต่อปฏิกิริยาของคนรอบข้าง”

เช่น เมื่อสามีบอกภรรยาว่า “วันนี้หุงข้าวแข็งไปหน่อยนะ” แค่นั้นภรรยาก็โมโหจนไม่หุงข้าวในวันต่อมาก หรือปกตินายเอและนายบีไปกินด้วยด้วยกัน แต่วันหนึ่งนายบีไปกินข้าวกับเพื่อนอีกคน นายเอเสียใจมากเพราะคิดว่าเพื่อนทอดทิ้ง

การมีอารมณ์อ่อนไหวง่าย และไวต่อปฏิกิริยาของคนรอบข้าง ทำให้ผู้ป่วยได้ยินคำวิจารณ์ คำแนะนำ หรือคำติชมจากคนอื่นแล้วมักจะคิดไปเองว่ากำลังถูกตัดสิน หรือโดนดูถูก ทั้งที่คนพูดไม่ได้มีเจตนาร้ายแรงแบบนั้น ทำให้ความสัมพันธ์ที่เคยมีมาสั่นคลอน จนอาจอยู่ในสังคมยาก

ผู้ป่วยโรค AD ส่วนมากกลัวหรือกังวลต่อสายตาที่คนอื่นมองมา ดังนั้นเมื่อคนขี้เกรงใจป่วยเป็นโรค AD จะแสดงอาการรุนแรง และชัดเจนจนนำไปสู่อารมณ์อ่อนไหวง่าย และกลัวการถูกปฏิเสธจากสังคม สาเหตุหลัก ๆ มาจากแคร์สายตาคนอื่นมากเกินไป ทั้งนี้ผู้เป็นโรคกลัวสังคมก็มีอาการเช่นนี้ได้เหมือนกัน


Type D: ร่ายกายหนัก ไร้เรี่ยวแรงจนแทบขยับตัวไม่ได้

รู้สึกแขนขาหนัก เหนื่อยล้าจนขยับตัวลำบาก

ผู้ป่วย AD บางคนอาจรู้สึกร่างกายหนัก ๆ ราวกับว่ามีเหล็กมาถ่วงร่างกายเอาไว้ ทำให้ขยับร่างกายได้ลำบาก แค่ลุกขึ้นนั่งก็ต้องใช้พลังงอย่างมาก ร่างกายที่หนักและไร้เรี่ยวแรงอย่างนี้ ไม่เหมือนกับความเหนื่อยล้าจากการเล่นกีฬาหรือทำงานหนัก

เมื่อไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาล หมอก็บอกว่าไม่มีปัญหาอะไร และนั่นยิ่งทำให้คนรอบข้างคิดไปว่า นี่เป็นแค่ข้ออ้างโดดงานเสียมากกว่า ส่งผลให้ถูกเข้าใจผิดไปอีก

แม้จะรู้สึกว่าร่างกายหนักอึ้ง แต่การนอนอย่างเดียวทั้งวันก็ไม่ได้ช่วยให้ร่ายกายดีขึ้น กลับยิ่งทำให้สมองทำงานช้าลง และนำไปสู่โรคซึมเศร้าหลักได้ง่าย ดังนั้นเมื่อรู้สึกว่าร่างกายเบาขึ้นมาสักนิดหนึ่ง ให้ลองขยับร่างกายบ้าง เพื่อป้องกันผลเสียต่อระบบในร่างกาย


Type E: วิตกกังวล เศร้าเสียใจ

กังวลไปเสียทุกอย่าง พอตกกลางคืนก็ร้องไห้ไม่หยุด

มนุษย์ทุกคนเกิดความกังวลได้ เมื่อเวลาผ่านไปความกังวลนี้อาจหายไปได้เอง แต่คนที่ป่วยโรค AD พวกเขาจะทนไม่ได้ และไม่สามารถก้าวข้ามความกังวลนี้ไปได้ จึงแสดงความกังวลออกมาชัดเรียกว่า “ภาวะวิตกกังวล เศร้าเสียใจ”

ความกังวลของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าแบบปกติมักแสดงออกในตอนเช้า เมื่อตกเย็นความรู้สึกเสียใจจะเบาลง แต่กับโรค AD มักเกิดความกังวล หดหู่ เศร้าเสียใจในช่วงดวงอาทิตย์ตกดิน ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษของโรคนี้

เมื่อมีเรื่องมากระทบจิตใจ เช่น ถูกทิ้งให้อยู่คนเดียว ผู้ป่วยอาจคิดว่าไม่มีใครรัก น่าสงสาร แล้วเกิดเป็นความอิจฉา สิ้นหวัง บางคนอาจน้ำตาไหลไม่หยุด เหงื่อออกมาก ใจสั่น กระวนกระวาย ลุกลี้ลุกลนจนไม่สามารถสงบตัวเองได้

การแสดงออกของผู้ป่วยโรค AD มีระดับแตกต่างกันออกไป บางคนอาจทำลายข้าวของ บางคนทำร้ายตัวเอง หากคนรอบข้างไม่เข้าใจความทรมานของผู้ป่วยก็มักจะต่อว่า ทำให้อาการหนักขึ้นไปอีก ดังนั้นสิ่งจำเป็นที่สุดคือการที่คนรอบข้างปรับตัว และทำความเข้าใจกับอาการของโรคนี้ให้ได้


Type F: หงุดหงิด โมโหง่าย

ฟิวส์ขาดง่ายมาก ไม่รู้จะควบคุมอารมณ์ตัวเองอย่างไร

ผู้ที่เป็น AD จะมีอารมณ์โมโห และแสดงออกอย่างรุนแรง ไม่ว่าจะพูดเสียงดัง มือไม้สั่น กล่าวหาคนอื่น หรืออาจขว้างปาข้าวของทั้งที่เป็นเรื่องเล็กน้อย ทั้งนี้อาจมีอาการหัวใจเต้นเร็ว หน้าแดง เจ็บหน้าอก หน้ามืด เหงื่อออก ตัวสั่น หายใจไม่อิ่ม มีอาการกลัวอย่างรุนแรง หากมีอาการเหล่านี้มากกว่า 4 อาการ และเคยเป็นมาแล้วมากกว่า 1ครั้ง แสดงว่าอาจเป็นคนขี้หงุดหงิด ถูกกระตุ้นได้ง่าย คนรอบข้างที่โดนหงุดหงิดใส่ควรจะรับฟังเงียบ ๆ ไม่โต้ตอบ

ผู้เป็นโรค AD มักไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ เมื่อมีอารมณ์โกรธ โมโห ทำให้แสดงอาการหรือพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมออกไป ทั้งที่รู้ตัวว่าไม่สมควร และรู้สึกผิดกับการกระทำของตัวเอง หลังจากแสดงพฤติกรรมผู้ป่วยมักจะโทษตัวเอง เกลียดตัวเอง ส่งผลให้อาการซึมเศร้าแย่ลงไปอีก คนที่มีอารมณ์หงุดหงิดโมโหง่าย เสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้าหลักได้สูง


Type G: คิดอยากทำร้ายตัวเอง หรือวางแผนฆ่าตัวตาย

ความรู้สึกอยากตายเป็นสัญญาณบอกว่าเขาต้องการความช่วยเหลือ

ผู้ที่เป็นโรค AD มักมีพฤติกรรมทำร้ายตัวเอง เช่น กรีดข้อมือ มักพูดติดปากว่าอยากตายบ่อย ๆ เพื่อต้องการสื่อสารกับคนรอบข้างว่า ภายในใจของพวกเขาเศร้า และขมขื่นมากแค่ไหน บางคนพยายามหาวิธีฆ่าตัวตาย เพราะต้องการหนีจากอาการแย่ ๆ ที่เผชิญอยู่

สิ่งสำคัญคือคนรอบข้างควรจะรับฟังความทรมานของผู้เป็นโรค AD ทำความเข้าใจเขาให้ได้มากที่สุด โดยไม่จำเป็นต้องพยายามเลี่ยงที่จะพูดเรื่องฆ่าตัวตาย แค่คนรอบข้างรับฟังอย่างตั้งใจ แค่นั้นก็ส่งผลต่อจิตใจของเขาได้


Type H: ความหลังฝังใจ

ภาพความทรงจำไม่ดีในอดีต ทำให้จิตตกลงไปอีก

คนเราย่อมเคยผ่านเหตุการณ์ในอดีตที่ทำร้ายจิตใจหรือเรื่องแย่ ๆ ในชีวิต บางครั้งเมื่อนึกถึง ความรู้สึกที่เคยเกิดขึ้นก็จะหวนกลับมา

โรคเครียดภายหลังภยันตราย หรือ PTSD เป็นอาการป่วยทางจิตหลังเผชิญเหตุการณ์ร้ายแรงที่ผู้ป่วยถูกคุกคาม ชีวิตตกอยู่ในอันตราย โดยผู้ป่วยจะมีอาการได้หลากหลาย เช่น รู้สึกเหมือนเหตุการณ์นั้นกลับมาฉายในหัวซ้ำ ๆ ฝันร้าย อยากหนีให้ไกลจากสถานการณ์นั้น ๆ ผวา ตื่นตระหนกได้ง่าย

ในกรณีของผู้ป่วย AD เหตุการณ์ที่ไม่รุนแรง เช่น พ่อแม่พูดสั่งสอน โดนหัวหน้าดูถูก แต่กลับทำให้ผู้ป่วยรู้สึกไม่ดีอย่างมาก เมื่อภาพเหล่านั้นผุดขึ้นมาในหัว อารมณ์ก็แย่ลงอย่างรวดเร็วจนควบคุมได้ยาก

โรค AD เป็นโรคที่แม้แต่จิตแพทย์เองก็มีโอกาสมองข้ามบางอาการไป หรืออาจวินิจฉัยเป็นอีกโรคหนึ่งได้ ซึ่งอาจทำให้อาการไม่ดีขึ้นเท่าที่ควร แม้ผู้ป่วยจะรักษาอย่างต่อเนื่องแล้ว อย่างโรคซึมเศร้าชนิด Melancholia ที่แพทย์วินิจฉัยได้อย่างถูกต้องถึง 74% แต่พอเป็นโรค AD แพทย์วินิจฉัยได้ถูกต้องเพียง 34% เท่านั้น

ความผิดปกติทางอารมณ์เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เมื่อเราเผชิญกับความเครียด จึงเป็นปัญหาในการวินิจฉัยว่าเมื่อมีอาการเหล่านี้จะเป็นโรคหรือไม่ โดยหลักการแพทย์จะลงความเห็นว่าเป็นโรคก็ต่อเมื่ออาการเหล่านั้นทำให้ผู้ป่วยทรมาน และมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมาก หรือทำให้ต้องหยุดงาน เสียสัมพันธ์กับคนรอบข้าง


สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคซึมเศร้า 1

ความเครียดที่เกิดในครอบครัว และสภาพแวดล้อมในที่ทำงาน

การมีความเครียดสะสม คือสาเหตุหลักในการเกิดโรคซึมเศร้า ปัจจุบันสภาพแวดล้อมล้วนส่งผลให้เกิดความเครียดได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการใช้โซเชียลเน็ตเวิร์ก การแข่งขันในสังคม การเลี้ยงดูเอาใจใส่ของแต่ละครอบครัว เพราะการไม่ได้รับความรักเพียงพอจากพ่อแม่หรือการเลี้ยงดูที่ใช้ความรุนแรง จะก่อให้เกิดความเครียด ซึ่งนำมาสู่อาการของโรคซึมเศร้า

ปัญหาใหญ่คือการรับมือกับควมเครียด ซึ่งแต่ละบุคคลก็ขึ้นอยู่กับอุปนิสัย ลักษณะนิสัยบางอย่างก็พอจะแยกแยะได้ว่าคนแบบไหนมีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้า เช่น คนขี้กังวล ขี้เหงา อารมณ์แปรปรวน รู้สึกผิดได้ง่าย

สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคซึมเศร้า 2

พยายามทำให้คนอื่นพอใจ เพราะไม่อยากโดนเกลียด

ผู้เป็นโรคซึมเศร้าแบบปกติมักเป็นคนมีระเบียบ ตั้งใจทำงานมาก ส่วนผู้ที่เป็นโรค AD จะมีนิสัยต่างออกไป คือปรับตัวเก่ง และชอบเอาใจผู้อื่น ตอนเป็นเด็กคนอื่นจะเห็นว่าเป็นเด็กดี โตขึ้นก็ยังใช้ชีวิตโดยแคร์สายตาผู้อื่น พยายามทำให้คนอื่นพอใจตลอดเวลา หรือมักเกรงใจผู้คนรอบข้างเพราะไม่อยากให้คนอื่นเกลียด นอกจากนี้ผู้ป่วยยังตีค่าตัวเองต่ำกว่าความเป็นจริง ซึ่งเมื่อเกิดปัญหา อาการของโรคจะแสดงออกมาทันที

อีกนิสัยที่ทำให้มีโอกาสเป็นโรค AD คือความไม่มั่นใจในตัวเอง จนสูญเสียความเป็นตัวของตัวเอง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโรคบุคลิกภาพผิดปกติ หรือ Personality Disorder การสูญเสียความเป็นตัวเองแสดงออกมาได้หลายรูปแบบ เช่น วิตกกังวลกับปฏิกิริยาของคนรอบข้าง อายจนต้องหลับตา ระแวงว่าจะโดนดูถูก เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็สะเทือนใจได้ง่าย หรือรู้สึกว่าโดนทำร้ายจิตใจอย่างมาก


การรักษา

ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาที่ถูกต้อง และเหมาะสม เมื่อได้พูดคุยกับจิตแพทย์ โดยแพทย์จะซักถามเพื่อประเมินอาการต่าง ๆ ก่อนจะตัดสินใจหาแนวทางการรักษาที่เหมาะสม เพราะโรคเหล่านี้ไม่สามารถตรวจได้จากผลเลือดเหมือนโรคทั่วไป เมื่อรักษาไปสักพัก หากยาที่ใช้ได้ผลไม่ค่อยดี แพทย์ก็จะเปลี่ยนยาตัวใหม่ให้ และแพทย์ที่ดีต้องอธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจได้ถึงอาการป่วยในปัจจุบัน รวมถึงหลังการรักษาว่าจะเป็นยังไง

การรักษาโรค AD ที่มีประสิทธิภาพสูงคือจิตบำบัด โดยการปรับความคิด และพฤติกรรม เป็นวิธีที่ช่วยให้ผู้ป่วยเข้าใจรูปแบบความคิด และการกระทำของตัวเอง ช่วยปรับพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดปัญหา โดยมี 7 ขั้นตอนดังนี้

1. อธิบายโปรแกรมการบำบัดจิตใจ

แพทย์จะอธิบาย และแนะนำข้อมูลเกี่ยวกับโรค AD ให้คนในครอบครัวผู้ป่วยได้เข้าใจอย่างถ่องแท้ และคอยช่วยเหลือให้การรักษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

2. จัดการกับความเครียด

แพทย์จะสอบถามพฤติกรรมที่ผู้ป่วยแสดงออก หรืออาการทางร่างกายที่เกิดขึ้นเมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่กระตุ้นความเครียด จากนั้นแพทย์จะแนะนำวิธีผ่อนคลาย และการจัดการกับความเครียดเบื้องต้น

3 จัดการความรู้สึก

แพทย์แนะนำให้ผู้ป่วยเขียนบันทึกพฤติกรรม ความคิด และความรู้สึกที่เกิดขึ้น เพื่อกลับมาทบทวนความคิดที่เป็นตัวกระตุ้น และหาวิธีจัดการกับความคิด อารมณ์ และพฤติกรรมที่เกิดขึ้น

4. ฝึกสติ ผ่อนคลาย

พยายามกำหนดลมหายใจ หรือทำสมาธิ หาเวลากลับมามองตัวเอง ดึงเวลาที่ตัวเองมีความสุขกลับมาสู่ตัวเอง

5. ปรับปรุงความสัมพันธ์ของตัวเองกับคนอื่น

  • สร้างทักษะในการรู้ทันอารมณ์ ความรู้สึก และความคิดของตัวเอง
  • สร้างทักษะในการเข้าในสถานการณ์ เห็นใจคนอื่น
  • สร้างทักษะในการบอกความต้องการของตัวเอง และแสดงออกอย่างเหมาะสม
  • ฝึกการใช้ภาษากาย

6. รับมือกับความวิตกกังวล หรืออารมณ์ซึมเศร้า

อาการวิตกกังวล เศร้าเสียใจเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้ง่าย อาจหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานการณ์ที่กระตุ้นให้เกิดอาการมากขึ้น

7. ปรับสมดุลในชีวิต

  • ทำร่างกายให้แข็งแรง ออกกำลังกายแบบแอโรบิก เช่น การเดิน
  • ปรับพฤติกรรมการกิน หลีกเลี่ยงการซื้ออาหารมาตุนไว้
  • ปรับพฤติกรรมการนอน พยายามเคลื่อนไหวร่างกายตนกลางวันให้มากที่สุด นอนให้เร็วขึ้น

อาการต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นร่วมกับโรคซึมเศร้า

โรควิตกกังวล

คนขี้กังวลยิ่งเพิ่มโอกาสการเป็นโรคซึมเศร้าได้มากขึ้น

ผู้ป่วยจะแสดงความกังวลออกมา ทั้งทางร่างกาย และจิตใจอย่างรุนแรง จนกระทบต่อการใช้ชีวิต หลายคนเรียกอาการนี้ว่า “โรคประสาท” โดยโรควิตกกังวลแบ่งเป็นโรคใหญ่ ๆ 5 โรค คือ

1. โรคย้ำคิดย้ำทำ

เป็นอาการที่ทำอะไรซ้ำแล้วซ้ำอีก เช่น ล้างมือซ้ำ ๆ กลับบ้านมาเช็คว่าล็อกกุญแจเรียบร้อยหรือยัง เพราะกังวลมากไปเลยต้องทำซ้ำ หรือตรวจสอบซ้ำ ๆ จนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

2. โรควิตกกังวล

กังวลหลายเรื่องจนควบคุมความคิดไม่ได้ เป็นมานานมากกว่า 6 เดือน ร่วมกับอาการอื่น เช่น หงุดหงิดง่าย กระสับกระส่าย ปวดตามตัว นอนไม่หลับ

3. โรคเครียดภายหลังภยันตราย

หรือ PTSD เป็นความเครียดภายหลังประสบเหตุการณ์ที่คุกคามชีวิต ทำให้มีความรู้สึกเหมือนเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นซ้ำ ๆ

4. โรคกลัว

ความกลัวที่เกิดขึ้นเมื่อต้องเผชิญเหตุการณ์ สถานที่ สัตว์ สิ่งของบางอย่าง เช่น โรคกลัวที่โล่งแจ้ง โรคกลัวที่แคบ โรคกลัวสังคม เป็นต้น

5. โรคตื่นตระหนก

หรือโรคแพนิก คือจู่ ๆ เกิดอาการหัวใจเต้นเร็ว หายใจไม่ทัน แน่นหน้าอก มือเท้าสั่น หน้ามืด เหงื่อออก ชาปลายมือปลายเท้า อาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นอย่างกระทันหัน ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเหมือนกำลังจะตาย เหมือนจะเป็นบ้า จึงทำให้ผู้ป่วยกลัวมากเป็นพิเศษ


นอกจากกลุ่มโรควิตกกังวลทั้ง 5 โรคแล้ว ผู้ป่วยโรค AD อาจพบอาการของโรคอารมณ์สองขั้ว หรือโรคไบโพลาร์ได้อักด้วย

โดยโรคอารมณ์สองขั้วจะแสดงช่วงอารมณ์ดีสลับกับช่วงอารมณ์ซึมเศร้า เมื่อผู้ป่วยเข้าสู่ช่วงอารมณ์ดีจะเป็นคนร่าเริง แจ่มใส รู้สึกว่าตัวเองจะทำอะไรก็ได้ มีความมั่นใจในตัวเอง พฤติกรรมที่แสดงออกมาอาจดูเหมือนคนปกติ แต่ถ้าผู้ป่วยเข้าสู่ช่วงซึมเศร้าก็จะห่อเหี่ยว รู้สึกเหนื่อยล้าอยู่ตลอดเวลา

สาเหตุของโรคอารมณ์สองขั้วยังไม่สามารถสรุปได้ว่ามาจากไหน แต่หลายงานวิจัยลงความเห็นว่าอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับความผิดปกติจากการทำงานของสมอง เนื่องจากร่างกายเผชิญความเครียดมาเป็นเวลานาน

โรคอารมณ์สองขั้วมี 2 ชนิดคือ

ชนิดที่ 1 ผู้ป่วยจะมีช่วงอารมณ์ดีผิดปกติ ติดต่อกันอย่างน้อย 1 สัปดาห์ ร่วมกับอาการอื่น ๆ เช่น มั่นใจในตัวเองมากขึ้น นอนน้อยลง พูดเก่ง ความคิดแล่น มีกิจกรรมเพิ่ม อาการที่เกิดขึ้นนี้ส่งผลกระทบในการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมาก โดยที่จะมีหรือไม่มีช่วงซึมเศร้าก็ได้

ชนิดที่ 2 ผู้ป่วยจะมีช่วงอารมณ์ดีติดต่อกันอย่างน้อย 4 วัน ร่วมกับอาการอื่น ๆ เหมือนชนิดที่ 1 แต่จะไม่รุนแรงจนมีผลกระทบกับการใช้ชีวิต โดยที่อาจมีหรือไม่มีช่วงซึมเศร้าก็ได้

ผู้ป่วยโรคอารมณ์สองขั้วชนิดที่ 1 จะเห็นพฤติกรรมหรืออารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน ต่างจากชนิดที่ 2 ที่อาการอาจเหมือนคนขยัน อารมณ์ดี จนเราอาจมองข้ามอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นได้ มีงานวิจัยแสดงให้เห็นว่าจำนวนผู้ป่วยโรคอารมณ์สองขั้วชนิดที่ 2 มากกว่าครึ่งนั้นเป็นโรค AD ด้วย

การรักษาโรคอารมณ์สองขั้วคือการใช้ยา โดยแพทย์จะให้ยาที่ทำให้อารมณ์คงที่เป็นหลัก ยาจะทำให้อารมณ์ที่แปรปรวนกลับมาสู่อารมณ์ปกติ และแพทย์จะหลีกเลี่ยงการใช้ยาแก้ซึมเศร้า

การรักษาโรคอารมณ์สองขั้วค่อนข้างยาก เพราะผู้ป่วยไม่รู้สึกถึงอารมณ์ที่ผิดปกติของตัวเองจึงไม่ได้รายงานแพทย์ ทำให้วินิจฉัยไม่ได้ แม้จะซักถามเท่าไหร่ก็ตาม และผู้ป่วยต้องกินยาติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจมีผลข้างเคียง จนทำให้ผู้ป่วยเลิกกินยาด้วยตัวเอง จึงยากต่อการรักษา


หากใครกำลังสงสัยว่าตัวเองอาจป่วยเป็นโรคซึมเศร้า สามารถเข้ารับคำปรึกษาจากจิตแพทย์เพื่อหาทางรักษาได้ที่โรงพยาบาลรัฐ และเอกชนทั่วประเทศที่มีจิตแพทย์ให้บริการ หากอายุตั้งแต่ 18 ปี ขึ้นไป จะได้พบกับจิตแพทย์ทั่วไป หากอายุน้อยกว่า 18 ปี จะได้พบกับจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น

ในการใช้บริการแนะนำให้สอบถามรายละเอียดล่วงหน้า ทั้งตารางออกตรวจ คิวนัด และค่ารักษา สำหรับคนที่ไม่แน่ใจว่าความกังวล และความเครียดที่ตัวเองเผชิญจะเข้าข่ายภาวะซึมเศร้าหรือไม่ แนะนำให้โทรหาสวยด่วยสุขภาพจิต 1323 เมื่อปรึกษาแล้วพบว่ามีความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า เจ้าหน้าที่จะแนะนำโรงพยาบาลตามสิทธิรักษาพยาบาลใกล้บ้าน หรือที่สะดวก สำหรับพนักงานออฟฟิศที่มีประกันสังคม สิทธิ์ประกันสังคมครอบคลุมการรักษาสุขภาพจิตด้วย

สนใจหนังสือ ฉันเป็น “โรคซึมเศร้า” ไหมนะ
สามารถสั่งซื้อได้ที่ Shopee: https://s.shopee.co.th/1g1ayuE0fD
ซื้อผ่านลิงค์เป็นการสนับสนุนช่องครับ

Share

Leave a comment

Leave a Reply

What's New

สรุปเนื้อหาและแนะนำหนังสือที่น่าสนใจ ชวนเพื่อน ๆ มาพัฒนาตัวเองให้ดียิ่งขึ้นในทุก ๆ วันไปด้วยกันครับ

Copyright 2025 Aitim and Co. All rights reserved

error: Content is protected !!