จิตวิทยาไม่เป็นคนหัวร้อน เทคนิคจัดการอารมณ์ที่ช่วยให้กลายเป็นคนอารมณ์ดีในทุก ๆ วัน

Share
Share

ในแต่ละวันเราต้องเจอกับความโกรธในสถานการณ์ต่าง ๆ อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นตอนที่ต้องเจอกับคนที่ไม่ชอบในที่ทำงาน ตอนที่ถูกคนอื่นทำให้เดือดร้อน หรือตอนที่อะไรต่าง ๆ ไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง เมื่อนานวันเข้าความโกรธที่สะสมไว้ก็จะกลายเป็นความทุกข์ที่ทำให้ชีวิตหาความสุขไม่ได้

แต่ความโกรธเป็นอารมณ์ปกติตามธรรมชาติของมนุษย์ครับ ไม่ว่าใครก็มีความโกรธได้ โดยไม่เกี่ยวกับเพศกับวัยแต่อย่างใด แม้จะเลี่ยงไม่ให้โกรธไม่ได้ แต่เราสามารถจัดการกับความโกรธที่ปะทุขึ้นมาได้ครับ ไอติมฮีลใจ ep นี้ มาแนะนำเนื้อหาจากหนังสือ 100 วิธีไม่เป็นคนหัวร้อน เขียนโดยโทดะ คุมิ วิทยากรผู้อบรบด้านวิธีการสื่อสารให้กับผู้คนมาแล้วกว่า 200,000 คน

หนังสือเล่มนี้พูดถึงเทคนิคทางจิตวิทยาในการจัดการกับความโกรธที่จะเปลี่ยนให้เรากลายเป็นคนที่โกรธยากขึ้น หนังสือนำเสนอ 100 วิธี ซึ่งแต่ละวิธีมีเนื้อหาสั้น ๆ โดยแบ่งออกเป็น 5 ด้าน ซึ่งผมจะสรุปเนื้อหาแต่ละด้านแบบรวบให้เพื่อนกันครับ


บทที่ 1 – นิสัยที่ใช้รับมือกับความโกรธได้อย่างฉลาด

เวลาที่เพื่อน ๆ โกรธขึ้นมาเมื่อไหร่ให้รอ 6 วินาทีครับ เมื่อเวลาผ่านไป 6 วินาที ความมีเหตุผลจะเริ่มทำงาน และเพื่อน ๆ จะไม่ถูกความโกรธครอบงำจนขาดสติ การปล่อยให้ตัวเองขาดสติจนอาละวาดทำลายข้าวของ ใช้ความรุนแรง หรือใช้คำพูดที่ทำให้อีกฝ่ายเจ็บช้ำใจ เราจะถูกคนอื่น ๆ มองว่าเป็นคนไม่น่าคบ ส่งผลให้ความสัมพันธ์กับคนอื่นย่ำแย่ ถ้าไม่อยากให้ตัวเองติดนิสัยวู่วาม ลองฝึกรอ 6 วินาทีดูนะครับ

ถึงอย่างนั้นเราต้องเข้าใจว่าความโกรธเป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เราไม่จำเป็นต้องฝืนปฏิเสธมันครับ และคนส่วนใหญ่คิดว่าความโกรธเป็นสิ่งไม่ดี แต่จริง ๆ แล้วการรู้สึกโกรธแต่แสดงออกไปไม่ได้ต่างหากที่เป็นเรื่องที่ไม่ดีครับ ดังนั้นเพื่อน ๆ ต้องรู้จักแสดงความโกรธในเวลาที่เหมาะสม หากเอาแต่เก็บไว้ สักวันหนึ่งมันจะระเบิดออกมา หรือไม่มันอาจทำให้เพื่อน ๆ รู้สึกเกลียดตัวเองขึ้นมาได้ครับ

ทางที่ดีเราควรสื่อสารให้อีกฝ่ายเข้าใจว่าเรากำลังรู้สึกยังไง หรือต้องการให้ทำอะไร โดยที่ไม่ใช้อารมณ์มากจนเกินไป หากรู้สึกโกรธขึ้นมาให้คิดว่ามันเป็นเรื่องธรรมชาติ และแสดงออกไปอย่างเหมาะสมดูนะครับ

ผู้เขียนบอกว่าความโกรธมีพลังมหาศาลซ่อนอยู่ภายใน เราสามารถเปลี่ยนความโกรธเป็นแรงจูงใจได้ เช่น ถูกทักว่าอ้วนเลยพยายามลดน้ำหนัก ถูกติว่าทำผลงานออกมาได้ไม่ดีเลยมุ่งมั่นตั้งใจทำงานให้มากขึ้น ถ้าเปลี่ยนมุมมองความคิดได้ เราก็จะสามารถเปลี่ยนความโกรธให้กลายมาเป็นแรงกระตุ้นไปสู่การลงมือทำได้ครับ

อารมณ์ของคนเราส่งต่อกันได้ ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์โกรธ ดีใจ หรือเสียใจสามารถส่งต่อไปยังคนรอบข้างได้ โดยเฉพาะอารมณ์ที่มีพลังรุนแรงอย่างความโกรธหรือความหงิดหงิด มักส่งต่อได้ง่ายกว่าอารมณ์อื่น ๆ มาก ดังนั้นเมื่อมีคนที่กำลังหงุดหงิดอยู่ใกล้ ๆ เพื่อน ๆ ควรหาทางปลีกตัวออกมาจะดีกว่าครับ

ผู้เขียนบอกว่ายิ่งเป็นคนใกล้ตัวมากเท่าไหร่ เราจะยิ่งแสดงความโกรธออกมารุนแรงมากตามไปด้วย หากอีกฝ่ายเป็นคนที่เราไม่ได้สนิทด้วยมาก เราจะมีความเกรงใจอยู่บ้าง เวลาโกรธเลยไม่กล้าแสดงออกไปตรง ๆ เท่าไหร่ ในทางกลับกันหากอีกฝ่ายเป็นคนรัก คนในครอบครัว หรือเพื่อนในที่ทำงานที่สนิทกันมานาน เราจะเผลอคิดไปว่าพวกเขาต้องรู้ใจเรา ถึงไม่บอกไปเขาก็ต้องรู้อยู่แล้ว พอเวลาที่อีกฝ่ายไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง เราจึงรู้สึกโกรธมากกว่าปกติ แถมยังกล้าอาละวาดอย่างเต็มที่เพราะสนิทกันอีกด้วย

ถ้าเพื่อน ๆ ไม่อยากทำร้ายจิตใจคนสำคัญในชีวิต เวลาที่รู้สึกโกรธให้เพื่อน ๆ หยุดคิดว่าตัวเองกำลังคาดหวังแล้วผิดหวังไปเองอยู่คนเดียวหรือเปล่า การฝึกแบบนี้ช่วยให้มีสติและรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับคนใกล้ตัวเอาไว้ได้ครับ


บทที่ 2 – นิสัยที่ทำให้ความโกรธสงบลง

ความโกรธเป็นสิ่งที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า เราจึงจัดการกับมันได้ยากและเผลอปล่อยให้มันครอบงำ ผู้เขียนแนะนำให้เราลองให้คะแนนความโกรธดู โดยอ้างอิงตามเกณฑ์นี้ครับ

  • 0 คะแนน คือไม่รู้สึกโกรธ
  • 1-3 คะแนน คือรู้สึกหงุดหงิดหรือโกรธเพียงเล็กน้อย ไม่นานก็หาย
  • 4-6 คะแนน คือโกรธเล็กน้อย แต่ก็ใช้เวลาระยะหนึ่งกว่าจะหาย
  • 7-9 คะแนน คือโกรธมาก แต่ยังมีสติอยู่
  • 10 คะแนน คือโกรธจนขาดสติ

วิธีการให้คะแนนความโกรธเป็นวิธีที่ช่วยให้เรารู้จักตัวเองว่ารู้สึกโกรธได้ง่ายกับเรื่องอะไรครับ

เพื่อน ๆ เคยเถียงกับใครจนโกรธจัดบ้างไหมครับ ในเวลาแบบนี้ผู้เขียนแนะนำให้พาตัวเองออกมาจากสถานการณ์นั้น เพื่อรีเซตอารมณ์ของตัวเอง เวลาที่เพื่อน ๆ กำลังเถียงกับใครให้บอกอีกฝ่ายว่าเดี๋ยวค่อยกลับมาคุยกันใหม่ แล้วไปพักโดยทำอะไรสักอย่าง เช่น หายใจเข้าลึก ๆ ยืดเส้นยืดสาย หรือดื่มน้ำเย็น ๆ เพื่อช่วยให้ใจเย็นลง

ผู้เขียนแนะนำให้ฝึกยิ้มหน้ากระจกครับ การฝึกยิ้มเป็นวิธีที่ช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบประสาทพาราซิมพาเทติกซึ่งมีหน้าที่ผ่อนคลายร่างกาย ผู้เขียนได้ยกเรื่องเล่าว่ามีชายคนหนึ่งถูกลูกสาวทักว่าทำไมคุณพ่อทำหน้าตาบึงตึงดูน่ากลัวจัง เขาไปส่องกระจกและพบว่าตัวเองอารมณ์เสียบ่อยจนหน้าตาดูน่ากลัวแบบที่ลูกสาวบอกจริง ๆ

หลังจากนั้นเขาจึงฝึกยิ้ม เวลาอยู่ในที่ทำงานก็พยายามยิ้มให้มากขึ้น ผลปรากฏว่าลูกน้องกล้าเข้าหาเขามากขึ้น และมีสีหน้าผ่อนคลายมากขึ้นเมื่อคุยกับเขา การยิ้มทำให้ก่อเกิดสิ่งดี ๆ ดังนั้นเวลาที่เพื่อน ๆ รู้สึกหงุดหงิดให้ลองเปลี่ยนอารมณ์ด้วยการยิ้มดูนะครับ

เพื่อน ๆ เคยหงุดหงิดเวลาเกิดเรื่องไม่คาดฝันหรือเรื่องแย่ ๆ ขึ้นไหมครับ เวลาแบบนั้นพอยิ่งคิดว่า “จะทำยังไงดีเนี่ย!” หรือ “ทำไมถึงเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นได้นะ!” เราก็จะยิ่งหงุดหงิด ยิ่งกระวนกระวายใจและคิดไม่ออกว่าควรทำยังไงต่อไป เวลาแบบนี้ผู้เขียนแนะนำให้ถือคติ “เดี๋ยวมันก็ดีเอง” พร้อมกับสูดหายใจเข้าประมาณ 4 วินาที และหายใจออกประมาณ 8 วินาที ทำแบบนี้สัก 2-3 รอบ จะช่วยให้ความคิดไม่พลุ่งพล่านครับ

ผู้เขียนบอกว่าโดยส่วนใหญ่คนที่มักหงุดหงิดตัวเองจะเป็นคนที่คาดหวังกับตัวเองเอาไว้สูง และเคยถูกพ่อแม่หรือครูนำไปเปรียบเทียบกับคนอื่น คนแบบนี้มักให้ความสนใจกับเรื่องที่ตัวเองทำไม่ได้ เลยชอบหงุดหงิดว่าทำไมตัวเองถึงทำไม่ได้แบบคนอื่น ทั้งที่ความจริงแล้วทุกคนมีเรื่องที่ทำไม่ได้กันทั้งนั้น หากเพื่อน ๆ เป็นคนที่เอาแต่หงุดหงิดตัวเองเพราะมีเรื่องที่ทำไม่ได้ ให้ลองเปลี่ยนไปมองเรื่องที่ตัวเองทำได้ดี หรือเรื่องที่แม้จะทำได้ไม่เต็มร้อย แต่อย่างน้อยก็ทำได้ดีในระดับหนึ่งแทนครับ

หลายคนคิดว่าการถอนหายใจเป็นเรื่องไม่ดี แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่อย่างนั้นเสมอไป เวลาที่คนเราสะสมความเหนื่อยหรือความกังวลจากการใช้ชีวิตเอาไว้มากเกินไป ร่างกายจะแสดงความผิดปกติ เช่น รู้สึกหงุดหงิดง่าย กล้ามเนื้อเกร็ง หรือหายใจถี่ขึ้นครับ

เวลาแบบนี้สิ่งที่ควรทำคือการถอนหายใจ เพราะนอกจากจะช่วยให้ร่างกายผ่อนคลายและหายเกร็งแล้ว ยังส่งเสริมการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติอีกด้วย สำหรับใครที่กลัวว่าถอนหายใจในที่ทำงานแล้วจะโดนมองไม่ดี ให้หลบไปถอนหายใจในมุมลับอย่างทางหนีไฟหรือในห้องน้ำแทนครับ


บทที่ 3 – นิสัยที่ช่วยให้โกรธยากขึ้น

ผู้เขียนบอกว่าการมีที่พักใจเป็นสิ่งที่สำคัญมาก การมีสถานที่ที่สามารถเป็นตัวของตัวเองได้ การมีครอบครัวหรือเพื่อนที่ยอมรับในสิ่งที่เราเป็น การมีงานอดิเรกที่ช่วยให้เราลืมความวุ่นวายในแต่ละวัน สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องน่ายินดีทั้งนั้นครับ แม้จะมีเรื่องให้รู้สึกเครียดหรือหงุดหงิด แต่อย่างน้อยถ้ามีที่พักใจ เราก็จะรู้สึกผ่อนคลายและสบายใจขึ้นครับ

การออกกำลังกายอย่างเหมาะสม ช่วยรักษาจิตใจให้สงบได้ครับ ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกายแบบแอโรบิกหรือยืดกล้ามเนื้อก็ช่วยจัดการกับความเครียด ซึ่งเป็นต้นเหตุของความโกรธได้ ผู้เขียนบอกว่าการออกกำลังกายหนัก ๆ ไม่ได้ช่วยให้หายเครียด แต่การออกกำลังการเบา ๆ อย่างเดินการหรือว่ายน้ำต่างหากที่ช่วยให้สมองหลั่งสารเอ็นดอร์ฟินและเซโรโทนินซึ่งช่วยบรรเทาความเครียด เราจึงหงุดหงิดได้ยากขึ้นครับ

ผู้เขียนแนะนำให้หากิจกรรมสำหรับเปลี่ยนอารมณ์เตรียมเอาไว้ ตัวอย่างเช่น ขับรถเล่น ไปนวด ไปดูแข่งกีฬา ดูหนัง เดินเล่น ทำอาหาร ชงกาแฟ ลองเตรียมเอาไว้หลาย ๆ กิจกรรม และทางที่ดีควรแบ่งออกเป็นกิจกรรมที่ใช้เวลา 10 นาที กิจกรรมที่ใช้เวลาครึ่งชั่วโมง กิจกรรมที่ใช้เวลาหนึ่งชั่วโมง กิจกรรมที่ใช้เวลาครึ่งวัน และกิจกรรมที่ใช้เวลาทั้งวัน เมื่อไหร่ที่รู้สึกเศร้า จมอยู่กับความเหงา หรือเหนื่อยล้า ให้เลือกกิจกรรมที่เตรียมไว้มาทำ ตามความเหมาะสมของตารางชีวิตครับ

การนอนหลับอย่างเพียงพอเป็นเวลา 6-7 ชั่วโมง ช่วยให้ไม่เกิดความเครียดสะสม แต่หากนอนหลับไม่เพียงพอจะทำให้อารมณ์แปรปรวนและหงุดหงิดง่ายครับ ถ้าอยากจัดการอารมณ์ของตัวเองได้ เพื่อน ๆ ก็ต้องนอนหลับให้เพียงพอ

เคล็ดลับที่ช่วยให้หลับสบายก็เช่น เลือกผ้าปูที่ไม่สากไม่ระคายผิว ใส่ชุดนอนคุณภาพดี เพิ่มกลิ่นอโรม่าไว้ในห้องนอน และช่วงก่อนเข้านอนให้งดเล่นโทรศัพท์มือถือหรือคอมพิวเตอร์ เพราะแสงจากหน้าจอจะไปกระตุ้นให้สมองตื่นตัว พอถึงเวลาเข้านอนจะทำให้นอนหลับได้ยากครับ

หลายคนอาจรู้สึกว่าชีวิตนี้มีแต่เรื่องน่าหงุดหงิด แต่จริง ๆ แล้วเราล้วนพบเจอเรื่องที่พอจะทำให้มีความสุขอยู่บ้างกันทั้งนั้น แทนที่จะสนใจแต่เรื่องแย่ ๆ เราหันมาสนใจเรื่องดี ๆ แล้วจดบันทึกมันดีกว่าครับ ผู้เขียนเรียกว่าเป็นการบันทึกความสำเร็จ ซึ่งความสำเร็จนั้นไม่จำเป็นต้องยิ่งใหญ่เลยครับ เป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เพื่อน ๆ มีความสุขก็ได้ อย่างเช่น ทักคนที่ไม่เคยคุยกันในที่ทำงานแล้วเขายิ้มกลับ ตื่นเช้าแล้วแสงแดดทำให้รู้สึกดี ทอดไข่ดาวออกมาได้สวย การจดบันทึกความสำเร็จจะทำให้เรามองเห็นความสุขในชีวิตและกลายเป็นคนที่โกรธได้ยากขึ้นครับ

สมองของคนเราเกลียดการเปลี่ยนแปลง เวลาที่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่าง เราอาจเกิดความคิดเชิงลบทำนองว่า “อาจจะทำได้ไม่ดี” หรือ “ต้องทำพลาดแน่ ๆ” ในเวลาแบบนี้ผู้เขียนแนะนำว่าให้เอาคำว่า “ช่างเรื่องนั้นไปก่อน” มาบอกกับตัวเองครับ เช่น “อาจจะทำได้ไม่ดี แต่ช่างเรื่องนั้นไปก่อน” “ต้องทำพลาดแน่ ๆ แต่อาจจะไม่เป็นอย่างนั้นก็ได้ ช่างเรื่องนั้นไปก่อน”

เพื่อน ๆ เคยมีประสบการณ์โทษตัวเองทีหลังว่า “ทำไมตอนนั้นไม่ปฏิเสธไปนะ” บ้างไหมครับ? พอถูกขอร้อง ทั้งที่ใจอยากปฏิเสธ แต่ก็เผลอตอบตกลงทุกที ที่หลายคนไม่กล้าปฏิเสธเป็นเพราะว่ากลัวอีกฝ่ายจะมองไม่ดี หรือกลัวความสัมพันธ์จะแย่ลงครับ เพื่อเป็นการรักษาภาพลักษณ์ตัวเอง หลายคนจึงต้องฝืนจำใจตอบตกลง แล้วมาลำบากตัวเองในตอนหลัง

จริง ๆ ก็ไม่มีอะไรมายืนยันว่าถ้าเราปฏิเสธไปแล้วความสัมพันธ์จะแย่ลง เรื่องราวอาจจะไม่เป็นไปอย่างที่คิดเลยก็ได้ ดังนั้นถ้าต้องฝืนตัวเองจนเสียสุขภาพจิต สู้ปฏิเสธไปแต่แรกเลยดีกว่าครับ การให้ความช่วยเหลืออย่างจริงใจ ต่างกับการยอมถูกใช้งานอย่างไม่มีทางเลือกครับ

การเก็บความเศร้าไว้เรื่อย ๆ ไม่ต่างอะไรจากการสะสมความเครียดเลย หากไม่ปลดปล่อยมันออกมาบ้าง สักวันหนึ่งมันก็จะระเบิดออกมา ไม่ว่าจะเป็นความเศร้า ความเหงา หรือความทรมานใจ ล้วนแต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เราไม่จำเป็นต้องฝืนอดกลั้นมันเอาไว้ การแสร้งทำเป็นไม่เห็นความรู้สึกที่แท้จริงจะทำให้เราจมอยู่กับความเศร้าไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ดังนั้นหากรู้สึกเศร้าขึ้นมาเมื่อไหร่ก็อย่าอดกลั้นมันเอาไว้ การร้องไห้ไม่ใช่เรื่องผิดหรือเรื่องน่าสมเพชเลยสักนิดครับ


บทที่ 4 – นิสัยที่ช่วยให้โกรธคนอื่นเบาลง

ในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง การถ่ายทอดสิ่งที่อยากให้อีกฝ่ายเข้าใจเป็นเรื่องที่สำคัญมาก แต่น่าเสียดายที่หลายครั้งเราปล่อยให้ความโกรธครอบงำ จนลืมนึกถึงจุดนี้ไป เมื่อใช้อารมณ์เป็นใหญ่ เราจะไม่สามารถถ่ายทอดสิ่งที่อยากให้อีกฝ่ายเข้าใจจริง ๆ ได้ เช่น เมื่อพูดว่า “ทำไมถึงไม่รักษาสัญญา ไม่อยากจะเชื่อเลย” หรือ “ทำไมถึงพูดอย่างนั้น แย่ที่สุดเลย”

การพูดแบบนี้อีกฝ่ายจะเข้าใจแค่ว่าเพื่อน ๆ กำลังโกรธ แต่หากเปลี่ยนมาเป็นคำพูดว่า “เพราะตั้งตารอมาตลอด ฉันเลยเสียใจมากที่เธอทำตามสัญญาไม่ได้” หรือ “ตกใจมากที่เธอพูดว่า…” แบบนี้อีกฝ่ายจะรับรู้ถึงความรู้สึกที่แท้จริงและเข้าใจสิ่งที่เพื่อน ๆ ต้องการสื่อครับ

บางคนคิดว่าการมีคนที่ไม่ชอบเป็นเรื่องไม่ดี เลยพยายามฝืนคบกับคนที่ไม่ชอบ จนรู้สึกเครียดและหงุดหงิด แต่ความจริงการมีคนที่เราไม่ชอบเป็นเรื่องปกติครับ เราไม่จำเป็นต้องฝืนคบคนที่ไม่ชอบ ถ้าหากคนที่ไม่ชอบเป็นเพื่อนในที่ทำงาน ให้เพื่อน ๆ คุยกับอีกฝ่ายเท่าที่จำเป็น เอาให้ไม่กระทบกับการทำงานก็พอ การยุ่งเกี่ยวกันมากไปกว่านี้มีแต่จะทำให้ยุ่งยากใจ และขอให้บอกกับตัวเองว่าแม้จะมีคนที่รู้สึกไม่ชอบก็ไม่เป็นไรครับ

เรามักได้ยินคนพูดถึงข้อเสียมากกว่าข้อดีว่าไหมครับ การสนใจแต่ข้อเสียของคนอื่น ไม่เพียงแต่จะทำให้เราหงุดหงิด แต่ยังขัดขวางไม่ให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่น ดังนั้นเรามาสนใจเฉพาะข้อดีของคนอื่นกันดีกว่าครับ โดยการเขียนข้อดีหรือสิ่งที่อีกฝ่ายทำสำเร็จโดยไม่ต้องเอาไปปรียบเทียบกับใคร จากนั้นนำสิ่งที่เขียนไปบอกอีกฝ่ายเพื่อเน้นย้ำข้อดีให้เจ้าตัวรู้ พอทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ เพื่อน ๆ จะกลายเป็นคนที่สนใจแต่ข้อดีของคนอื่นจนเป็นนิสัยครับ

การพูดจาล้ำเส้นเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องระวัง แต่ในกรณีที่สนิทกันมาก ๆ บางคนอาจคิดว่า “พูดอะไรกับคนนี้ก็ได้ ไม่เป็นไรหรอก” และพูดจาล้ำเส้นอย่างไม่เกรงใจ กรณีที่เพื่อน ๆ โดนพูดจากล้ำเส้น อย่าเอาแต่ปิดปากเงียบ เพราะอีกฝ่ายจะไม่รู้ตัวและทำอย่างนั้นต่อไปเรื่อย ๆ ทางที่ดีให้เพื่อน ๆ บอกเขาไปให้ชัดเจนเลยว่าไม่อยากให้ล้ำเส้นเรื่องนี้นะ ถ้าสื่อสารออกไปอย่างสุภาพ อีกฝ่ายต้องเข้าใจเราแน่นอนครับ

ตราบใดที่ยังต้องคบค้าสมาคมกับคนอื่น เราไม่มีทางหนีปัญหาเรื่องความเห็นไม่ตรงกันได้ครับ เวลาที่เพื่อน ๆ เสนออะไรไปแล้วมีคนปฏิเสธมาว่า “วิธีแบบนั้นไปไม่รอดแน่” เพื่อน ๆ อย่าใช้อารมณ์ตอบกลับแบบรุนแรงเด็ดขาดนะครับ แต่ควรทำให้อีกฝ่ายเข้าใจและยอมรับสิ่งที่เพื่อน ๆ เสนอ โดยการถามเขากลับว่า “ช่วยบอกหน่อยได้ไหมว่าจุดไหนที่คิดว่าจะไปไม่รอด?” หรือตอบคำถามในจุดที่เขาสงสัย ไม่ว่าอีกฝ่ายจะใช้คำพูดแบบไหน เพื่อน ๆ ก็อย่าใช้อารมณ์ตอบกลับครับ

หลายคนคิดว่าการพึ่งพาหรือขอร้องคนอื่นเป็นการแสดงความอ่อนแอ บางคนคิดว่าถ้าพึ่งพาคนอื่นก็จะกลายเป็นคนไม่มีคุณค่า แต่โดยปกติแล้วการเปิดใจคุยกันอย่างตรงไปตรงมา มนุษย์จะรู้สึกสนิทสนมกับอีกฝ่ายมากขึ้น หรือพูดได้ว่าการขอร้องหรือพึ่งพาคนอื่นคือการกระชับความสัมพันธ์แบบหนึ่ง ลองเอ่ยปากขอความช่วยเหลือบ้าง แล้วเพื่อน ๆ จะสนิทสนมกับคนรอบข้างมากขึ้น แถมยังไม่ต้องแบกภาระไว้มากเกินไป จนตัวเองรู้สึกเครียดและหงุดหงิดอีกด้วยครับ

บางคนไม่กล้าตำหนิคนอื่นเพราะกังวลว่าจะทำให้อีกฝ่ายจิตตก หรือกลัวถูกมองว่าเป็นคนบ้าอำนาจ ผู้เขียนบอกว่ามีพนักงานระดับหัวหน้ามาปรึกษาบ่อย ๆ เพราะไม่รู้จะตำหนิลูกน้องยังไงดีเวลาที่ลูกน้องส่งงานช้า ในสถานการณ์แบบนี้ผู้เขียนแนะนำให้ตำหนิออกไปตรง ๆ เลยครับ เช่น “อยากให้ส่งงานตรงเวลา เพราะไม่อย่างนั้นจะส่งผลกระทบต่อฝ่ายอื่น” ถ้าพูดได้อย่างตรงจุดและชัดเจน อีกฝ่ายก็จะเข้าใจว่าเขาต้องปรับปรุงตัวในเรื่องอะไรได้นั่นเองครับ

เวลาอยากโน้มน้าวใครให้ทำตามที่เราต้องการ สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญคือการบอกเหตุผลครับ ตัวอย่างเช่น ถ้าเปลี่ยนจากการพูดธุระเพียงอย่างเดียวว่า “ช่วยทำเอกสารเรื่องนี้ให่เสร็จภายในวันพรุ่งนี้ด้วยครับ” มาเป็นการพูดพร้อมบอกเหตุผลว่า “ลูกค้าจะเปิดสาขาใหม่เลยต้องการเอกสารเรื่องนี้ภายในวันพรุ่งนี้ รบกวนด้วยนะครับ” ถ้าอยากกระตุ้นการกระทำของอีกฝ่ายต้องระบุเหตุผลไปด้วยครับ เพราะมนุษย์จะลงมือทำอะไรสักอย่างก็ต่อเมื่อรู้ว่าทำไมถึงต้องทำครับ

เวลาที่เพื่อน ๆ รู้สึกโกรธ เคยพูดแบบนี้กับอีกฝ่ายบ้างหรือเปล่าครับ “ทำอะไรก็พลาดตลอด” “แก้ตัวไปซะทุกเรื่อง” หรือ “ไม่เคยฟังที่พูดเลยสักครั้ง” ทั้งที่เรื่องพวกนี้ไม่ใช่ความจริง 100% และเมื่อถูกตัดสินแบบนี้ อีกฝ่ายก็จะไม่พอใจและไม่ยอมรับฟัง หรือบางคนอาจสวนกลับมาด้วยอารมณ์ที่รุนแรงไม่แพ้กัน ดังนั้นถ้ามีเรื่องที่อยากให้อีกฝ่ายปรับปรุงก็ให้พูดออกไปตามจริงจะดีกว่า เช่น “คุณทำพลาดเรื่องเดิมมา 3 ครั้งแล้ว อยากให้ปรับปรุงเรื่องนี้หน่อยครับ”

เวลาที่อีกฝ่ายไม่ยอมหายโกรธสักที หลายคนจะพยายามพูดเพื่อให้หายโกรธว่า “ไม่เห็นต้องโกรธขนาดนั้นเลย ไม่ใช่เรื่องใหญ่โตสักหน่อย” แต่บางครั้งคำพูดแบบนี้อาจทำให้อีกฝ่ายคิดว่า “นี่ไม่เข้าใจที่ฉันโกรธเลยใช่ไหมเนี่ย?” แล้วยิ่งโกรธมากขึ้นไปอีกครับ

แต่ละคนมีเรื่องที่จะโกรธแตกต่างกัน เรื่องเล็กน้อยสำหรับเรา อาจจะเป็นเรื่องใหญ่สำหรับคนอื่นก็ได้ ดังนั้นเวลาที่อีกฝ่ายโกรธให้มารับมือไปพร้อมกับพูดปลอบโยนว่า “เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับคุณใช่ไหมครับ”


บทที่ 5 – นิสัยที่ช่วยให้ตัวเองอารมณ์ดี

ไม่ว่าใครก็มีความโกรธที่ไม่สามารถจัดการด้วยตัวเองได้ ในเวลาแบบนี้หากได้รับคำแนะนำหรือมีที่ปรึกษา เราอาจจะใจเย็นลงและสามารถจัดระเบียบความคิดของตัวเองได้ สำหรับใครที่หาคนรอบตัวมาเป็นที่ปรึกษาไม่ได้ อีกทางเลือกคือไปใช้บริการจากผู้ให้คำปรึกษามืออาชีพหรือนักจิตบำบัดครับ แต่ก่อนคนอาจคิดว่านักจิตบำบัดมีไว้สำหรับผู้ป่วยทางจิต แต่ปัจจุบันนี้ไม่ใช่แบบนั้นแล้วครับ ไม่ว่าใครก็สามารถไปขอรับคำปรึกษาจากนักจิตบำบัดได้ครับ

เซโรโทนินคือสารสื่อประสาทในสมองที่ทำหน้าที่ควบคุมอารมณ์และรักษาสภาพจิตใจให้มั่นคง เวลาที่นอนดึก สารเซโรโทนินจะหลั่งออกมาน้อยลง ส่งผลให้รู้สึกเครียด หงุดหงิด หมดกำลังใจ หรือมีอาการซึมเศร้าได้ครับ สำหรับคนที่เลิกนอนดึกไม่ได้สักที ให้ลองอาบแดดยามเช้าสัก 15-30 นาที วิธีนี้ช่วยกระตุ้นให้ร่างกายผลิตสารเมลาโทนินในช่วงกลางคืน ซึ่งเมลาโทนินคือสารที่ช่วยให้นอนหลับได้ง่ายขึ้นครับ

วิธีง่าย ๆ ที่ช่วยเพิ่มสารเซโรโทนินคือการกินกล้วยครับ ในกล้วยมีสารอาหารทุกอย่างที่จำเป็นสำหรับให้ร่างกายเอาไปผลิตเซโรโทนิน นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง เช่น เต้าหู้ ซุปมิโสะ หรือซอสโชยุก็มีสารอาหารจำเป็นจำนวนมากเช่นกัน ส่วนใครที่ไม่กินทั้งกล้วยและไม่กินถั่วเหลือง ให้กินเนื้อสัตว์จำพวกเนื้อแดงหรือไข่ก็ได้ครับ

เวลาที่รู้สึกหัวร้อนขึ้นมาหน่อย ๆ การได้ไปพักดื่มชาสักหน่อยก็ช่วยให้หงุดหงิดน้อยลงได้ครับ มีงานวิจัยบอกว่า กลิ่นหอมของชาทำให้สมองเกิดคลื่นแอลฟาที่ช่วยให้เกิดความผ่อนคลาย คนเราจำเป็นต้องพักผ่อนสมองบ้างในเวลาที่จดจ่อกับอะไรนาน ๆ แค่ได้ดื่มชาหอม ๆ หรือชาอร่อย ๆ ก็ช่วยให้เรากลับมาทำงานต่ออย่างมีประสิทธิภาพได้แล้วครับ

สีของเสื้อผ้ามีอิทธิพลมากกว่าที่คิด การใส่เสื้อผ้าสีทึม ๆ หม่น ๆ จะทำให้เพื่อน ๆ และคนรอบข้างรู้สึกหม่นหมองได้ง่าย เวลาที่รู้สึกไม่สบายใจ การใส่เสื้อผ้าสีสันสดใสคือวิธีที่จะช่วยเปลี่ยนอารมณ์ของเราได้ อย่างที่จิตวิทยาเรื่องสีได้บอกไว้ว่า สีแเดงทำให้อารมณ์ร้อนขึ้น สีส้มทำให้รู้สึกร่าเริงสดใส สีเหลืองทำให้อารมณ์ดีหรือมองโลกในแง่บวก สีฟ้าทำให้อารมณ์เย็นลง วันไหนที่เพื่อน ๆ อารมณ์หม่นหมองให้ลองใส่เสื้อผ้าที่มีสีสันสดใสขึ้นดูนะครับ

ห้องที่รกระเกะระกะทำให้เรารู้สึกหงุดหงิดได้เวลาหาของไม่เจอ ดังนั้นมาจัดห้องเพื่อสร้างบรรยากาศที่ดี โดยการจัดระเบียบสิ่งของและทิ้งเอกสารทุก 6 เดือนกันครับ หรือหากเกิดหงุดหงิดขึ้นมา เพื่อน ๆ จะเลือกจัดห้องเป็นกิจกรรมคลายเครียดก็ได้ เมื่อจดจ่ออยู่กับการจัดห้องแล้ว อารมณ์ของเราจะค่อย ๆ สงบลงจนหายหงุดหงิดไปเองครับ

มีคนกล่าวว่าสีเขียวคือสีที่เป็นตัวแทนของพลังแห่งชีวิต แค่ได้มองสีเขียวหรือพาตัวเองไปอยู่ท่ามกลางสีเขียวก็ช่วยให้จิตใจแจ่มใสแล้ว เมื่อไหร่ที่รู้สึกหงุดหงิด ลองออกไปเดินเล่นดูต้นไม้ที่สวนสาธารณะดูนะครับ หรือจะปลูกต้นไม้ไว้ดูเองก็ได้

มื้ออาหารคือช่วงเวลาที่ทำให้มนุษย์มีความสุข ดังนั้นเวลาที่หงุดหงิดแล้วอยากให้ตัวเองอารมณ์ดี ลองออกไปกินอาหารนอกบ้าน ไปร้านอาหารที่ชอบ สั่งเมนูที่อยากกิน เลือกกินของที่ทำให้ร่างกายมีความสุข ค่อย ๆ ลิ้มรสชาติและเพลิดเพลินไปกับอาหาร เพียงแค่นี้ก็ทำให้เราหงุดหงิดน้อยลงแล้วครับ

เวลาที่หงุดหงิดหรือเครียดขึ้นมา ให้ลองดมกลิ่นที่ชอบดูครับ มันจะกระตุ้นการทำงานของอมิกดาลาซึ่งเป็นสมองส่วนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับอารมณ์ เพื่อน ๆ จะใช้วิธีจุดเทียนหอม ทาครีมทามือกลิ่นที่ชอบ หรือฉีดสเปรย์ปรับอากาศกลิ่นที่ชอบก็ได้ กลิ่นหอมที่แนะนำก็เช่น ลาเวนเดอร์หรือมะกรูดซึ่งมีฤทธิ์ช่วยบรรเทาความหงุดหงิดได้ครับ


ทั้งหมดนี้คือเนื้อหาบางส่วนจากหนังสือ 100 วิธีไม่เป็นคนหัวร้อน ผมคัดบางส่วนมาให้เพื่อน ๆ ได้ฟัง ในเล่มยังมีวิธีจัดการกับความโกรธและความเครียดอีกหลายวิธี แต่ละวิธีสั้น ๆ ทำตามได้ง่าย ๆ มีภาพประกอบลายเส้นน่ารัก ๆ ตลอดทั้งเล่มครับ บางทีแค่ได้ดูภาพพวกนี้ก็ทำให้สบายใจได้แล้วครับ ใครสนใจหาซื้อมาอ่านกันได้ครับ แปลไทยโดยสำนักพิมพ์วีเลิร์น ราคา 235 บาท

สนใจหนังสือ 100 นิสัยไม่เป็นคนหัวร้อน
สามารถสั่งซื้อได้ที่ Shopee: https://s.shopee.co.th/7KhwuD1kdE
ซื้อผ่านลิงค์เป็นการสนับสนุนช่องครับ

Share

Leave a comment

Leave a Reply

What's New

สรุปเนื้อหาและแนะนำหนังสือที่น่าสนใจ ชวนเพื่อน ๆ มาพัฒนาตัวเองให้ดียิ่งขึ้นในทุก ๆ วันไปด้วยกันครับ

Copyright 2025 Aitim and Co. All rights reserved

error: Content is protected !!