การตัดเค้กทำนายอาชญากร สำรวจเงื่อนงำทางจิตวิทยาที่ทำให้เด็กกลายเป็นอันตรายต่อสังคม

Share
Share

ไอติมอ่าน ep นี้ ผมมาแนะนำหนังสือ 2 เล่มครับ เล่มแรกชื่อว่า “ไม่มีใครเกิดมาเป็นปีศาจ” เขียนโดยคุณฟาโรห์ จากช่องยูทูป The Common Thread ช่องเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับคดีอาชญากรรมจากทั่วโลก ตอนผมเห็นหนังสือเล่มนี้ครั้งแรก ผมไม่เห็นด้วยกับชื่อหนังสือเท่าไหร่ เพราะผมมีชุดความคิดหนึ่งครับว่า หากเราเรียกคนที่ฉายแววมีความสามารถมาตั้งแต่เด็กซึ่งเก่งด้านดนตรี กีฬา การร้อง การเต้น การวาดรูป ว่าเป็นคนมีพรสวรรค์ เด็กเหล่านี้หากถูกมองเห็นและได้รับการสนับสนุนที่ดี พวกเขาก็จะสามารถต่อยอดพรสวรรค์นั้นได้

ตัวอย่างเช่น ลิซ่า ลลิษา มโนบาล ที่ตอนเด็กน้องชอบแสดงออก และคุณแม่ของน้องก็สนับสนุนโดยการส่งไปเรียนเต้น เดินสายประกวดตามเวทีเล็กใหญ่ต่าง ๆ มากมายในประเทศไทย จนในที่สุดได้คว้าโอกาสและเติบโตเป็นศิลปินระดับสากลอย่างทุกวันนี้

ถ้าเราเรียกสิ่งที่ขับเคลื่อนให้คนมุ่งไปสู่ด้านดีว่าคือพรสวรรค์ แล้วมันจะมีสิ่งที่เป็นด้านกลับของพรสวรรค์ไหม ด้านกลับที่เกิดมาพร้อมกับใครบางคน และผลักดันให้ใครคนนั้นทำเรื่องแย่ ๆ ทำเรื่องเลวร้าย หรือกลายเป็นอาชญากรที่โหดเหี้ยมอำมหิต

ด้วยชุดความคิดนี้ ทำให้ผมตั้งคำถามเมื่อเห็นหนังสือของคุณฟาโรห์ครั้งแรกว่า มันจะไม่มีใครเกิดมาเป็นปีศาจ ไม่มีใครเกิดมาเป็นอาชญากรจริง ๆ เลยเหรอ หนังสือเล่มนี้เขียนมาเพื่อแก้ต่างให้กับอาชญากรหรือเปล่า มีเหตุผลอะไรที่เราต้องไปเห็นใจคนร้ายที่ไม่เห็นคุณค่าของชีวิตผู้อื่นด้วย

แต่พอผมอ่านหนังสือของคุณฟาโรห์จบ ก็พบว่าไม่ใช่อย่างที่ผมคิดเอาไว้ตอนแรกครับ หนังสือเล่มนี้เล่าวีรกรรมคร่าว ๆ ของฆาตกรต่อเนื่องหลายคน ฆาตกรส่วนใหญ่ในเรื่องเกิดมาในครอบครัวที่ยากจน ไม่มีความพร้อม วัยเด็กพบเจอความรุนแรง เห็นคนใกล้ตัวใช้ยาเสพติด พวกเขาจึงเติบโตมาและมุ่งเข้าสู่เส้นทางอาชญากรรม

ฆาตกรที่หนังสือเล่มนี้นำเสนอ มีหลายคนเลยครับที่พวกเขาเคยเป็นเหยื่อของอาชญากรรมมาก่อน บางคนโดนผู้ใหญ่ในบ้างเลี้ยงดูมาด้วยความรุนแรง ทั้งความรุนแรงด้านร่างกายที่ถูกลงมือทำร้ายมาตั้งแต่เด็กหรือถูกล่วงละเมิดทางเพศ และความรุนแรงด้านจิตใจที่ถูกดูหมิ่นเหยียดหยามความเป็นมนุษย์ ก็อาจปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งเหล่านี้มีส่วนหล่อหลอมให้พวกเขาเติบโตมาในเส้นทางอาชญากรรม

แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนที่พบเจอความรุนแรงหรืออยู่ในสิ่งแวดล้อมแย่ ๆ มาตั้งแต่เกิด จะเติบโตมากลายเป็นอาชญากรกันทุกคน ผู้คนส่วนใหญ่ที่เกิดมามีชีวิตแบบนี้ก็ต่อสู้ดิ้นรนเพื่อใช้ชีวิตแบบปกติในสังคม บางคนอาจใฝ่ดี ตั้งใจเรียน ตั้งใจทำงาน ไขว่คว้าหาโอกาสจนประสบความสำเร็จก็มีให้เห็นมากมาย

ในทางตรงกันข้าม ฆาตกรต่อเนื่องหลายคนก็ประกอบอาชีพมีหน้ามีตาในสังคม เช่น เป็นหมอหรือตำรวจ ในเล่มเล่าถึงนายแพทย์แฮโรลด์ เฟรเดอริก ชิปแมน หมอผู้มีบุคลิกสุขุม สุภาพ ดูเป็นมิตรและดูน่าเชื่อถือตั้งแต่อายุยังน้อย อาชญากรรมที่แฮโรลด์ก่อคือการฉีดสารไดอะมอร์ฟีนเกินขนาดให้คนไข้หญิงชรา เจตนาให้เสียชีวิตไปอย่างสงบ แฮโรลด์ลอยนวลและก่ออาชญากรรมมาได้อย่างยาวนาน ไม่มีใครรู้ถึงตัวเลขที่แน่ชัดของเหยื่อที่แฮโรลด์สังหารไป ได้แต่คาดการณ์กันว่ามีเหยื่อมากกว่า 250 คน

แฮโรลด์ เฟรเดอริก ชิปแมน

อีกตัวอย่างคือ โจเซฟ เจมส์ ดีแอนเจโล จูเนียร์ ที่ทำอาชีพตำรวจและอาศัยช่องโหว่การทำงานของตำรวจที่เขารู้เพราะเป็นคนใน มาก่ออาชญากรรมมากมาย พฤติกรรมของโจเซฟคือ บุกรุกยามวิกาล มัดและข่มขืนเหยื่อนานหลายชั่วโมง จากนั้นปล้นทรัพย์ บางรายอาจถูกฆ่า โจเซฟสังหารเหยื่อไป 13 คน ข่มขืน 51 คน และปล้นทรัพย์ 120 ครั้ง

โจเซฟ เจมส์ ดีแอนเจโล จูเนียร์

ท้ายเล่มคุณฟาโรห์ได้สรุปว่าระบบความคิดของฆาตกรต่อเนื่องนั้นบิดเบี้ยวและซับซ้อนกว่าอาชญากรทั่วไป แต่เขาก็มองว่าคนเหล่านี้ที่พวกเรามองว่าเป็นปีศาจก็ไม่ได้คลอดออกมาจากท้องแม่แล้วเป็นปีศาจหรือเป็นฆาตกรเลย เขาคิดเห็นว่าฆาตกรถูกหล่อหลอมมาจากการเลี้ยงดู สภาวะทางจิต ไปจนถึงความเจ็บป่วย การเป็นฆาตกรใช้เวลาปลุกปั้น หล่อหลอม ปมที่เห็นชัดว่าฆาตกรต่อเนื่องเกือบทุกคนมีร่วมกันคือเรื่องของครอบครัว

ถือว่าสรุปปิดท้ายเล่มได้ดี โดยรวมหนังสือเล่มนี้เขียนออกมาดี เรียบเรียงเรื่องราวของแต่ละคนได้กระชับ อ่านง่าย หนังสือเล่มนี้เล่าเรื่องราวของฆาตกรต่อเนื่องไว้ 9 คน ใครสนใจสามารถไปตามอ่านต่อได้ในหนังสือ ไม่มีใครเกิดมาเป็นปีศาจ เขียนโดยฟาโรห์ จักรภัทรานน ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์โซเฟียในเครืออมรินทร์บุ๊ก ราคา 255 บาท


หนังสืออีกเล่มที่อ่านจบแล้วพอจะให้คำตอบเรื่องที่ผมสงสัยถึงด้านกลับของพรสวรรค์ได้ หนังสือเล่มนั้นชื่อว่า “การตัดเค้กที่ทำนายว่าใครจะกลายเป็นอาชญากร” หนังสือเขียนโดยมิยางุจิ โคจิ จิตแพทย์เด็กที่ทำงานอยู่สถานพินิจมานานมากกว่า 10 ปี เคยบำบัดเยาวชนมาแล้วมากมาย และจากประสบการณ์ทำให้เขาพอจะจับจุดที่เด็กในสถานพินิจมีร่วมกันได้

ถ้าพูดถึงสถานพินิจ เรามักคิดว่ามันคือสถานที่ให้การศึกษาพิเศษสำหรับเยาวชนที่ประพฤติตัวไม่ดี ถูกจับกุมเพราะลักทรัพย์ ทำร้ายร่างกาย ทำอนาจาร หรือแม้กระทั่งฆาตกรรม โดยหวังว่าเมื่อเยาวชนผู้เคยทำผิดเหล่านี้ออกมาจากสถานพินิจแล้วจะสำนึกผิด กลับตัวกลับใจกลายเป็นคนดี

แต่ผู้เขียนบอกว่าเราไม่สามารถคาดหวังการสำนึกผิดจากคนที่ไม่รู้จักผิดชอบชั่วดีได้ เด็กหลายคนในสถานพินิจเกิดมาโดยเห็นทุกอย่างบนโลกนี้บิดเบี้ยวไปหมด ไม่สามารถคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลเหมือนคนปกติได้ ผู้เขียนได้เล่าประสบการณ์การตรวจสภาพจิตของเด็กที่ดื้อที่สุดในสถานพินิจ โดยให้ทำแบบทดสอบ Rey-Osterrieth Complex Figure ซึ่งเป็นการให้ผู้ทดสอบวาดรูปตามตัวอย่าง เพื่อทดสอบการรับรู้ผ่านการมองเห็นและการวางแผน ผลคือเด็กคนนั้นวาดภาพออกมาแบบนี้ครับ

จากรูปแสดงให้เห็นว่าเด็กคนนี้มีปัญหาด้านการรับรู้ผ่านการมองเห็นและการวางแผน ไม่แน่ว่าทักษะการฟังของเขาอาจจะบกพร่องด้วย ทำให้ไม่เข้าใจคำพูดของผู้ใหญ่ จับใจความประโยคที่ได้ยินไม่ได้ เด็กเหล่านี้จะเรียนในห้องไม่รู้เรื่อง ถูกครูตำหนิ ถูกเพื่อนล้อ ส่งผลให้เกลียดการเรียน จนโดดเรียนและหันเหไปสู่เส้นทางอาชญากรรม

ผู้เขียนได้สัมภาษณ์และพูดคุยกับเด็กที่กระทำความผิดมามากมาย สำหรับกลุ่มเด็กที่ทำความผิดขั้นร้ายแรง ต่อให้ถามว่าทำไมถึงทำแบบนั้น ก็มีคนที่ตอบไม่ได้อยู่เป็นจำนวนมาก เพราะไม่มีความสามารถที่จะคิดถึงสิ่งที่ตัวเองทำผิด ไม่สามารถเห็นอกเห็นใจเหยื่อ ไม่สามารถสำนึกผิดหรือทบทวนตัวเองได้


ผู้เขียนบอกว่าตอนที่เพิ่งเข้าไปทำงานที่สถานพินิจใหม่ ๆ เขาเตรียมใจไว้แล้วว่าจู่ ๆ อาจจะโดนเด็กในนั้นต่อยแบบไม่ทันตั้งตัวเอาได้ แต่พอได้ไปทำงานจริง ๆ กลับพบว่าเด็กบางคนเป็นมิตรและขี้อ้อน จนอดคิดไม่ได้ว่าทำไมเด็กแบบนี้ถึงก่ออาชญากรรมได้ แต่สิ่งที่ทำเอาผู้เขียนช็อกคือการที่พวกเขา

  • บวกลบเลขง่าย ๆ ไม่ได้
  • อ่านหนังสือไม่ออก
  • วาดรูปง่าย ๆ ตามตัวอย่างไม่ได้
  • พูดทวนประโยคแม้แค่สั้น ๆ ไม่ได้
  • ท่องสูตรคูณไม่ได้ แม้จะอยู่มัธยมปลายแล้ว

ผู้เขียนได้สืบประวัติของเด็กเหล่านี้ดู แล้วพบว่าส่วนใหญ่พวกเขาเรียนไม่ทันเพื่อนตอนประมาณ ป.2 ช่วงนั้นพวกเขามักถูกเพื่อน ๆ ล้อ ถูกรังแก ถูกครูมองว่าเป็นเด็กที่ไม่ตั้งใจเรียน จากนั้นจะเริ่มไม่อยากไปโรงเรียน เด็กเหล่านี้ถูกมองว่าเป็นเด็กที่ยุ่งยาก ไม่ใช่เด็กที่มีความบกพร่อง ทำให้ไม่ได้รับการศึกษาที่เหมาะสมกับคนอย่างพวกเขา

สำหรับเด็กบางคนอาจโชคดีที่มีครูสังเกตเห็นความบกพร่องนั้น และให้ความช่วยเหลือโดยการสอนพิเศษหลังเลิกเรียนให้จนเข้าใจ แต่พอเรียนจบพ้นจากโรงเรียนไปก็ไม่มีใครมาใส่ใจพวกเขาอีกต่อไปแล้ว พวกเขาต้องใช้ชีวิตในสังคมโดยที่ไม่มีคนดูแล ถูกมอบหมายให้ทำงานที่ยากกว่าตอนเรียน พอทำไม่ได้ก็ถูกเจ้านายตำหนิ พอถูกตำหนิมาก ๆ เข้าก็ลาออกและย้ายงานไปเรื่อย ๆ จนความสัมพันธ์กับคนอื่นย่ำแย่ ส่งผลให้เป็นคนเก็บตัว ไม่อยากออกไปไหน


ระหว่างที่ผู้เขียนทำงานอยู่ในสถานพินิจ เขาพบเจอกับเรื่องน่าตกใจหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือการที่เด็กผู้เคยทำความผิดร้ายแรงตัดเค้กไม่เป็น ผู้เขียนทดสอบเด็กที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวคนหนึ่ง โดยวาดวงกลมลงบนกระดาษ แล้วสมมุติว่าวงกลมนี้คือเค้ก จากนั้นให้เด็กคนนั้นตัดแบ่งเค้กนี้ออกเป็น 3 ส่วนเท่า ๆ กัน ปรากฏว่าเด็กคนนี้ไม่สามารถแบ่งเค้กออกเป็น 3 ส่วนเท่ากันได้

นี่คือภาพที่เด็กคนนั้นวาดออกมาครับ แม้ผู้เขียนจะให้ลองใหม่อีกกี่ครั้ง เขาก็ยังทำไม่ได้ พอเปลี่ยนโจทย์ให้ตัดเค้กออกเป็น 5 ส่วนเท่า ๆ กันก็ทำไม่ได้อีกเช่นกัน เราอาจจะเห็นวิธีตัดแบ่งเค้กแบบนี้ได้ในเด็กชั้นประถมหรือเด็กที่บกพร่องด้านสติปัญญา แต่ไม่ใช่กับเด็กวัยมัธยมปลายที่เคยก่ออาชญากรรมร้ายแรงอย่างการชิงทรัพย์ ข่มขืน หรือฆาตกรรม

อาชญากรเด็กเหล่านี้ขาดทักษะการคิดเชิงบริหาร (Executive Functions) ส่งผลให้พวกเขาเป็นคนที่คิดอะไรแล้วทำเลย โดยไม่วางแผนและขาดความยับยั้งชั่งใจ ตัวอย่างจริงจากเด็กในสถานพินิจเช่น “ไม่มีเงินซื้อบัตรเติมเกม เลยแทงคนอื่นเพื่อขโมยเงิน”

สำหรับคนปกติโดยส่วนใหญ่ การขโมยเป็นตัวเลือกสุดท้ายที่จะทำ เพราะการขโมยส่งผลเสียตามมามากมาย คนปกติมักนึกถึงการหยิบยืมก่อน แต่สำหรับคนที่ขาดทักษะการวางแผนจะเลือกการขโมย เพราะไม่สามารถคาดคะเนผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นล่วงหน้าได้ เราอาจเคยเห็นหลาย ๆ คดีที่รู้สึกว่า “ทำไมถึงทำเรื่องโง่ ๆ แบบนั้นได้?” นั่นเป็นเพราะคนก่อคดีเป็นคนที่ไม่มีทักษะการคิดเชิงบริหารนั่นเองครับ


บทต่อมาผู้เขียนพูดถึงลักษณะเฉพาะที่อาชญากรเด็กมีร่วมกัน 5 ข้อ ซึ่งมีดังนี้ครับ

  1. การรู้คิดอ่อนด้อย
  2. การควบคุมอารมณ์ความรู้สึกอ่อนด้อย
  3. ไม่มีความยืดหยุ่น
  4. ประเมินตัวเองผิด
  5. ไม่มีทักษะด้านความสัมพันธ์กับคนอื่น

1. การรู้คิดอ่อนด้อย

หนึ่งในเหตุผลที่นำไปสู่คดีทำร้ายร่างกายที่ผู้เขียนได้ยินบ่อย ๆ คือ “ก็หมอนั่นมันมองหน้าผม” แต่พอไปถามคู่กรณีกลับพบว่าเขาไม่ได้จ้องมองและไม่รู้ด้วยซ้ำว่ากำลังพูดถึงเรื่องอะไร สาเหตุก็เพราะการรับรู้ทางการมองเห็นของเด็กเหล่านี้อยู่ในระดับต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ทำให้ไม่สามารถสังเกตและตีความสีหน้าของอีกฝ่ายได้อย่างถูกต้อง เลยคิดไปว่าตัวเองโดนจ้องหน้าหรือโดนดูถูกอยู่ หากมีทักษะการฟังอยู่ในระดับต่ำก็ให้ผลคล้าย ๆ กัน คือพอได้ยินใครพึมพำก็จะหลงคิดว่าตัวเองกำลังโดนนินทาว่าร้าย

การรู้คิดประกอบด้วยกลไกการทำงานของสมองที่หลากหลาย มนุษย์เราจะใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ในการรับข้อมูลจากสิ่งที่อยู่รอบตัว จากนั้นการรู้คิดจะนำข้อมูลที่ได้มาจัดระเบียบ, เรียบเรียง, วางแผน และลงมือทำจนเกิดเป็นผลลัพธ์ การรู้คิดจึงเป็นพื้นฐานของทุกพฤติกรรมทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจของมนุษย์ แต่หากข้อมูลที่ได้รับผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 ผิดเพี้ยน จัดระเบียบเรียบเรียงไม่ถูกต้อง หรือได้รับข้อมูลมาไม่ครบถ้วน ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นอาจนำไปสู่การก่ออาชญากรรมได้

การจินตนาการถึงสิ่งที่เป็นนามธรรมหรือสิ่งที่ตามองไม่เห็นเป็นเรื่องสำคัญมาก และหนึ่งในสิ่งที่เป็นนามธรรมที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตคือ “คอนเซปต์เรื่องเวลา” สำหรับเด็กที่ไม่เข้าใจคอนเซปต์เรื่องเวลา โลกของเขาจะมีอยู่แค่ 3 วัน คือ เมื่อวาน, วันนี้ และพรุ่งนี้ เด็กเหล่านี้ไม่สามารถตั้งเป้าหมายที่เป็นรูปธรรมได้อย่างเช่น “อนาคตอยากเป็นวิศวกร เพราะอย่างนั้นตอนนี้ต้องใจเรียนให้มาก ๆ” เมื่อพวกเขาตั้งเป้าหมายไม่ได้ก็จะกลายเป็นคนไม่มีความพยายาม

อาชญากรเด็กที่การรู้คิดอ่อนด้อยนั้น ต่อให้ได้รับการฝึกอบรมที่สถานพินิจ พวกเขาก็ไม่สามารถเก็บสะสมสิ่งที่เรียนรู้ไปได้ เมื่อครูผู้สอนหรือนักบำบัดบอกว่า “วันนี้สอนไปถึงตรงนี้แล้ว เดี๋ยวครั้งหน้าเรามาเริ่มบทต่อไปกัน” แต่พอเจอกันอีกทีเด็กกลับลืมเนื้อหาก่อนหน้าไปหมดแล้ว ทำให้การบำบัดฟื้นฟูไม่คืบหน้าสักที

2. การควบคุมอารมณ์ความรู้สึกอ่อนด้อย

การรู้คิดมีความสัมพันธ์กับอารมณ์ความรู้สึก หากควบคุมอารมณ์ความรู้สึกไม่ได้ก็จะส่งผลถึงการรับรู้ไปด้วย นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมแม้แต่ผู้ใหญ่อย่างเรา บางครั้งถึงโมโหจนขาดสติและทนอยู่นิ่งเฉยไม่ได้

อารมณ์ความรู้สึกที่รับมือได้ยากที่สุดคือความโกรธ เวลาที่คนเราโกรธจัดจะไม่สามารถตัดสินใจอย่างสุขุมเยือกเย็นได้ ทำให้เรามีแนวโน้มจะแสดงพฤติกรรมโต้ตอบโดยไม่คิดพิจารณาให้ดีก่อน แม้แต่ผู้ใหญ่อย่างเรา บางครั้งยังโกรธจนตัดสินใจผิดพลาด สำหรับเด็กยิ่งไม่ต้องพูดถึงครับ

3. ไม่มีความยืดหยุ่น

เวลาเจอปัญหาคนเราจะพยายามคิดหาวิธีแก้ปัญหาออกมาหลาย ๆ วิธี เป็นแผน 1, แผน 2, แผน 3 ไปเรื่อย ๆ เมื่อคิดได้แล้วก็จะพิจารณาอีกทีว่าวิธีการไหนน่าจะได้ผลที่สุด แล้วนำไปลงมือทำ หากทำแล้วไม่สำเร็จก็จะกลับมาเลือกวิธีอื่น และนำไปลงมือทำใหม่อีกรอบ จะเห็นได้ว่าสิ่งสำคัญของกระบวนการนี้คือความหลากหลายของวิธีแก้ปัญหากับความสามารถในการตัดสินใจเลือกให้เหมาะสมกับสถานการณ์ พูดอีกอย่างก็คือความยืนหยุ่นนั่นเองครับ

เด็กที่ไม่มีความยืดหยุ่นมักจะคิดวิธีแก้ปัญหาออกมาได้แค่ 1-2 วิธี ชีวิตประจำวันของพวกเขามักลงมือทำโดยไม่คิดให้รอบคอบก่อน มักถูกหลอกได้ง่าย ไม่สามารถเรียนรู้จากข้อผิดพลาดในอดีตได้ จึงมักทำผิดเรื่องเดิมซ้ำแล้วซ้ำอีก

4. ประเมินตัวเองผิด

เมื่อเด็กทำผิดแล้วเราต้องการให้เขารู้สึกอยากปรับปรุงตัว ขั้นแรกเราต้องทำให้เขารู้ตัวเองก่อนว่าเป็นคนยังไง มีปัญหาแบบไหน จากนั้นก็สร้างแรงจูงใจให้เขาอยากเป็นตัวเองที่ดีกว่าเดิม แต่หากเด็กที่มีปัญหาเชื่ออย่างสนิทใจว่าตัวเองไม่ได้มีปัญหา หรือคิดว่าตัวเองเป็นคนดีอยู่แล้วล่ะ เด็กคนนั้นก็ไม่มีทางปรับปรุงตัวได้เลย

ทำไมเด็กเหล่านี้ถึงไม่สามารถประเมินตัวเองอย่างถูกต้องได้ นั่นก็เพราะการประเมินตัวเองอย่างถูกต้องเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเรามีความสัมพันธ์ที่ดีและเหมาะสมกับคนอื่น ตัวอย่างเช่น

เวลาคุยกันคุณ A เขาชอบทำหน้าโกรธทุกที รู้สึกเหมือนคุณ A ไม่ชอบเรายังไงก็ไม่รู้ เป็นเพราะเรามีตรงไหนไม่ดีหรือเปล่านะ

คนในกลุ่มนั้นยิ้มแย้มเวลาคุยกับเราทุกครั้ง แสดงว่าพวกเขาน่าจะถูกชะตาเรา เราก็เป็นคนที่คนอื่นชอบมากกว่าที่คิดแฮะ

นี่คือตัวอย่างความคิดที่ไม่บิดเบี้ยวครับ มนุษย์เราจะจับสังเกตสัญญาณที่คนอื่นแสดงออก แล้วนำมาประกอบกันจนเกิดเป็นความตระหนักรู้ในตัวเองครับ ซึ่งการตระหนักรู้ในตัวเองที่ถูกต้องจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อได้ใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น มีการติดต่อสื่อสารซึ่งกันและกัน

มนุษย์จะดูปฏิกิริยาของคนอื่น เพื่อนำมาเป็นฟืดแบ็กให้กับตัวเองครับ แต่ถ้าไม่สามารถจับสังเกตสัญญาณที่คนอื่นแสดงออกมา จับได้แค่บางส่วน หรือจับได้แบบบิด ๆ เบี้ยว ๆ เช่น คนอื่นกำลังยิ้ม แต่กลับตีความว่าเขาโกรธ ฟีดแบ็กที่ให้กับตัวเองก็ย่อมบิดเบี้ยว ไม่ตรงกับความเป็นจริงไปด้วย การตระหนักรู้ในตัวเองที่ถูกต้องนั้นอาศัยทักษะในการรวบรวมข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ เช่น การอ่านสีหน้าของคู่สนทนา การฟังจับใจความ ซึ่งเด็กที่ก่ออาชญากรรมไม่มีทักษะเหล่านี้ครับ

5. ไม่มีทักษะด้านความสัมพันธ์กับคนอื่น

หนึ่งในเรื่องที่ทำให้คนส่วนใหญ่เครียดกันมากที่สุดคือเรื่องความสัมพันธ์กับคนอื่น หากความสัมพันธ์กับคนอื่นไม่ราบรื่น เราจะเครียดสะสมจนเป็นเหตุให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา ตรงนี้เด็กเองก็ไม่ต่างไปจากผู้ใหญ่ เด็กที่ไม่มีทักษะด้านความสัมพันธ์กับคนอื่นมักมีปัญหาหลัก ๆ อยู่ 2 เรื่อง ได้แก่

  1. ปฏิเสธเรื่องที่ไม่อยากทำไม่เป็น เช่น ถึงเพื่อนมาชวนไปทำเรื่องไม่ดีก็ไป เพราะปฏิเสธไม่เป็น
  2. ขอความช่วยเหลือไม่เป็น เช่น ต่อให้ถูกรังแกก็ไปขอให้คนอื่นช่วยไม่เป็น

เมื่อปฏิเสธไม่เป็นก็ตกกระไดพลอยโจน ก่ออาชญากรรมตามเพื่อนไปด้วย เด็กที่ก่ออาชญากรรมอยู่บ่อย ๆ เป็นคนที่พูดคุยสื่อสารกับเพื่อนไม่เก่ง กลัวว่าเพื่อนจะเกลียด และอยากได้รับการยอมรับ พวกเขาจึงพร้อมจะทำสิ่งที่เพื่อนชม โดยไม่เกี่ยงว่าจะเป็นเรื่องที่เหมาะสมหรือไม่

ตัวอย่างเช่น สมมุติว่าเด็กคนหนึ่งเล่นอะไรแผลง ๆ แล้วเพื่อนพากันชอบใจ เขาก็จะยิ่งเล่นอะไรแผลง ๆ หนักข้อขึ้นไปอีก จนในที่สุดก็มองว่าคุณค่าของตัวเองอยู่ที่การทำเรื่องแบบนี้ ดังนั้นเมื่อมีเพื่อนมาชวนไปทำเรื่องไม่ดี ต่อให้ไม่อยากทำก็กลัวโดนเพื่อนเกลียด จึงไม่กล้าปฏิเสธ สำหรับเด็กกลุ่มนี้ การก่ออาชญากรรมถือเป็นหนึ่งในวิธีเอาตัวรอดในสังคม พวกเขาเป็นคนขี้กลัวและโอนอ่อนผ่อนตามคนอื่น

จากหนังสือเล่มนี้พอจะสรุปได้ว่า ในบรรดาอาชญากรมีคนที่เกิดมาพร้อมกับความบกพร่องด้านการเรียนรู้ และถูกละเลยไม่ได้รับความช่วยเหลือ คุณโคจิซึ่งเป็นผู้เขียนได้บอกไว้ว่า เด็กมักจะเริ่มส่งสัญญาณถึงความบกพร่องช่วง ป.2 หากเด็กคนนั้นถูกสังเกตเห็น และได้รับการใส่ใจดูแลเรื่องพัฒนาการ ก็ลดความเสี่ยงการเพิ่มขึ้นของอาชญากรในอนาคต

สำหรับเพื่อน ๆ คนไหนสนใจอ่านเพิ่มเติม สามารถหาซื้อมาอ่านกันได้ครับกับหนังสือ การตัดเค้กที่ทำนายว่าใครจะกลายเป็นอาชญากร เขียนโดยมิยางุจิ โคจิ ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์วีเลิร์น ราคา 220 บาท และเล่มก่อนหน้าที่แนะนำคือ ไม่มีใครเกิดมาเป็นปีศาจ เขียนโดยฟาโรห์ จักรภัทรานน ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์โซเฟีย ราคา 255 บาทครับ

สนใจหนังสือ การตัดเค้กที่ทำนายว่าใครจะกลายเป็นอาชญากร
สามารถสั่งซื้อได้ที่ Shopee: https://s.shopee.co.th/60Dbx5SLvF

สนใจหนังสือ ไม่มีใครเกิดมาเป็นปีศาจ
สามารถสั่งซื้อได้ที่ Shopee: https://s.shopee.co.th/6KqSLkqPKg
ซื้อผ่านลิงค์เป็นการสนับสนุนช่องครับ

Share

Leave a comment

Leave a Reply

What's New

สรุปเนื้อหาและแนะนำหนังสือที่น่าสนใจ ชวนเพื่อน ๆ มาพัฒนาตัวเองให้ดียิ่งขึ้นในทุก ๆ วันไปด้วยกันครับ

Copyright 2025 Aitim and Co. All rights reserved

error: Content is protected !!