Siddhartha สิทธารถะ เรื่องราวของชายผู้ตามหาความหมายของชีวิต

Share
Share

สวัสดีครับ ต้อนรับเข้าสู่ Aitim Book Club รายการใหม่ของช่อง Aitim and Co นะครับ รายการนี้ผมจะมาสรุปหนังสือให้เพื่อน ๆ ฟังตั้งแต่ต้นจนจบนะครับ โดยหนังสือที่ผมเลือกมาเนี่ยจะเป็นวรรณกรรมคลาสสิกนะครับ ท้ายคลิปผมจะแชร์ข้อคิดที่ผมได้หลังจากอ่านหนังสือเล่มนั้นจบ เพื่อน ๆ คิดเห็นยังไง ตีความแตกต่างจากผมตรงไหน ช่วยคอมเมนต์พูดคุยกันหน่อยนะครับ

โดยหนังสือเล่มแรกผมเลือก สิทธารถะ ของเฮอร์มัน เฮสเส นักเขียนชาวเยอรมัน เล่มนี้เนี่ยตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1922 หลังจากนั้นก็ถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษและตีพิมพ์ในสหรัฐ เมื่อปี 1951 โดยช่วงปี 1960 หนังสือเรื่องสิทธารถะได้รับความนิยมมากในกลุ่มฮิปปี้ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่แหกกรอบสังคม เบื่อระบบทุนนิยม และแสวงหาแนวทางสู่ความสงบ พวกเขามีความสนใจในปรัชญาตะวันออก และเรื่องราวในหนังสือสิทธารถะเกิดขึ้นในอินเดีย เป็นช่วงเวลาที่คาบเกี่ยวกับตอนที่พระพุทธเจ้ายังมีชีวิตอยู่

ช่วงที่เฮอร์มัน เฮสเส แต่งเรื่องสิทธารถะ ช่วงนั้นเขากำลังเจอปัญหาชีวิตรุมเร้าครับ ทั้งปัญหาสุขภาพ ปัญหาป่วยโรคซึมเศร้า ปัญหาครอบครัว และถูกคนเยอรมันด้วยกันต่อต้าน เพราะเฮอร์มันไม่สนับสนุนพรรคนาซีที่เป็นผู้นำชาติในตอนนั้น สิ่งเหล่านี้ทำให้เฮอร์มันหันมาพึงปรัชญาตะวันออกเป็นที่พึ่ง เขาศึกษาปรัชญาต่าง ๆ มากมายเลยครับ ทั้งพราหมณ์ พุทธ และเต๋า จนได้ออกมาเป็นผลงานชื่อสิทธารถะเล่มนี้

ตัวละครเอกของเรื่องคือชายหนุ่มชื่อสิทธารถะ ชื่อนี้มาจากคำภาษาสันสกฤต 2 คำ คือคำว่า “สิทธา” ที่แปลว่า “ผู้ค้นพบ” และคำว่า “อัตถะ” ที่แปลว่า “ความหมายของชีวิต” รวมกันเป็น “สิทธารถะ” ที่แปลว่า “ผู้ค้นพบความหมายของชีวิต”

ชื่อสิทธารถะเนี่ยไปละม้ายคล้ายกับชื่อของพระพุทธเจ้าซึ่งคือสิทธัตถะ อันนี้น่าจะเป็นความตั้งใจของเฮอร์มัน และชีวิตของสิทธารถะก็คล้ายกับชีวิตของพระพุทธเจ้า ตรงที่ว่าเกิดมาในชนชั้นสูง มีชีวิตที่สมบูรณ์เพรียบพร้อม แต่อยากเข้าใจความหมายของชีวิต จึงละทิ้งทางโลกมาแสวงหาความหมายของชีวิตผ่านวิธีต่าง ๆ จนในที่สุดก็ค้นพบสัจธรรม

เอาละครับเพื่อน ๆ มาฟังเรื่องราวโดยสรุปของวรรณกรรมปรัชญาระดับโลกสิทธารถะกันเลยครับ

ตอนที่ 1: บุตรพราหมณ์

สิทธารถะเกิดในครอบครัวพราหมณ์ พ่อของเขาเป็นปราชญ์ศักดิ์สิทธิ์ที่ลูกศิษย์นับถือ สิทธารถะมีเพื่อนสนิทชื่อโควินทะ ทั้งสองเติบโตมาด้วยกัน เล่นกลางแดดด้วยกัน เล่นในแม่น้ำด้วยกัน พอโตขึ้นมาหน่อยก็เริ่มสนทนากับปราชญ์ผู้รู้ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของพ่อ และบ่อยครั้งสิทธารถะกับโควินทะก็ถกธรรมมะด้วยกัน ฝึกสงบจิต ฝึกบำเพ็ญสมาธิด้วยกัน

พ่อแม่ของสิทธารถะภูมิใจในตัวลูกชายมาก เขาเติบโตมาเป็นคนที่เฉลียวฉลาด แถมมีหน้าตาหล่อเหลา มีร่างกายแข็งแรง ท่าทางตอนนั่ง ตอนลุก ตอนเดินก็สง่างามสมบูรณ์แบบ ลูกสาวพราหมณ์ที่ได้พบเห็นต่างก็จิตใจไหวหวั่น

โควินทะไม่ได้อิจฉาเพื่อนคนนี้เลย ซ้ำยังชื่นชมและรักเพื่อนคนนี้มาก เขารักทุกสิ่งที่สิทธารถะพูดและทำ รักความคิดเฉียบคม รักศรัทธาที่เพื่อนผู้นี้ต้องการจะเป็นพราหมณ์ที่ดี โควินทะหวังตามรอยสิทธารถะ ถ้าสิทธารถะบรรลุแจ้งเห็นธรรม โควินทะก็หวังจะติดตามไปด้วยในฐานะเพื่อน ผู้ร่วมทาง คนรับใช้ หรือแม้กระทั่งเงาก็ได้

ไม่ว่าใครก็ต่างรักสิทธารถะ มีความสุขที่ได้เห็นเขา แต่ตัวสิทธารถะไม่ได้มีความสุขเช่นนั้นเลย เขาเริ่มสงสัยว่าพ่อและบรรดาปราชญ์ผู้เป็นลูกศิษย์ทั้งหลายได้สอนสุดยอดความรู้ให้เขาแล้วหรือยัง เขารู้สึกเหมือนตัวเองเป็นภาชนะที่รอรับความรู้ แต่ภาชนะนั้นยังไม่ได้ถูกเติมให้เต็ม การสวดอ้อนวอนและบูชาเทพเจ้าทำให้มนุษย์มีความสุดจริงหรือ เทพเจ้ารูปร่างเป็นยังไง มีทางอื่นอีกไหมที่เป็นการแสวงหาคุณค่า

วันหนึ่งสิทธารถะได้ข่าวว่ามีสมณะสามท่านเดินทางผ่านเมืองของสิทธารถะ สมณะผู้รักสันโดษ ร่างกายซูบผอม มีลักษณะท่าทางวางเฉย ดูสละแล้วซึ่งทุกสิ่ง สิทธารถะพูดกับโควินทะในเย็นวันนั้นว่า “เพื่อนรัก พรุ่งนี้เช้าผมจะไปหาสมณะ ผมจะไปเป็นสมณะแล้วนะ”

โควินทะเห็นสีหน้าก็รู้ว่าเพื่อนตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยว เขากำลังจะเดินไปในเส้นทางของตัวเอง จากนั้นสิทธารถะก็กลับบ้าน เข้าไปในห้องที่พ่อกำลังนั่งอยู่ แล้วบอกพ่อว่า “ลูกเข้ามาเพื่อจะมาเรียนท่านพ่อว่า พรุ่งนี้เช้าลูกจะไปจากบ้าน ไปอยู่กับสมณะ ลูกต้องการเป็นสมณะ ลูกเชื่อว่าท่านพ่อคงไม่ขัดข้อง”

พ่อได้ยินสิทธารถะพูดแบบนั้นก็อึ้งไม่พูดอะไรอยู่นาน จนในที่สุดก็เอ่ยปากว่า “ไม่สมควรที่พราหมณ์จะใช้คำพูดแรง ๆ และแสดงความโกรธ แต่พ่อไม่พอใจ และไม่ต้องการฟังคำร้องขอนี้เป็นครั้งที่สอง” จากนั้นพ่อก็เดินออกจากห้องไปอย่างไม่สบอารมณ์และรีบเข้านอน แต่ข่มตายังไงพ่อก็นอนไม่หลับ ลุกจากเตียงกลับเข้ามาในห้องก็พบสิทธารถะยังยืนอยู่ที่เดิมจึงกลับไปนอนต่อ พอกลับมาดูเป็นหนที่สองก็พบลูกชายยืนอยู่เหมือนเดิม พ่อรู้สึกโกรธ กังวล กลัว และเศร้าใจ

จนเวลาก่อนฟ้าสาง พ่อก็เข้ามาคุยกับสิทธารถะว่ายังยืนอยู่ทำไม ลูกจะยืนรออย่างนี้ไปจนถึงเช้า จนเที่ยง จนค่ำเลยเหรอ? ลูกจะเมื่อยนะ สิทธารถะตอบไปว่า “ลูกคงจะเมื่อย”

“ลูกจะตายนะสิทธารถะ”

“ลูกคงจะตาย”

“ลูกยอมตายมากกว่าเชื่อฟังพ่อหรือสิทธารถะ”

“ลูกเชื่อฟังท่านพ่อเสมอ”

พ่อตระหนักได้ตอนนั้นว่าสิทธารถะไม่อาจอยู่บ้านเดียวกับเขาได้อีกแล้ว ลูกชายของเขาจิตใจได้จากที่นี่ไปแล้ว เขาจึงมาจับที่ไหล่ลูกชาย ยอมอนุญาตให้ลูกชายจากไปได้ และอวยพรให้ลูกชายโชคดี สิทธารถะออกจากบ้านเพื่อไปเป็นสมณะ เขาพบโควินทะตามมาด้วย

ตอนที่ 2: อยู่กับสมณะ

ค่ำวันนั้นสิทธารถะและโควินทะตามเหล่าสมณะได้ทัน ได้ปฏิญาณตนและขอร่วมทางไปด้วย พวกเขาสละเสื้อผ้าให้พราหมณ์ยากจนที่พบระหว่างทาง แล้วห่มร่างกายด้วยผ้าสีดินมอ ๆ กินข้าววันละมื้อเดียว อดอาหารทีละสิบสี่วันติดต่อกัน จนร่างกายซูบผอม เมื่อเข้าไปในเมืองแล้วเห็นคนใส่เสื้อผ้าแพง ๆ เห็นพ่อค้าร่ำรวย เห็นคนทุกข์ยาก สิทธารถะคิดว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ควรค่าแก่การมอง ทุกสิ่งหลอกลวง ความสุขและความงามเป็นสิ่งไม่ยั่งยืน ทุกอย่างบนโลกต้องดับสลาย โลกนี้ขื่นขม ชีวิตคือความเจ็บปวด

สิทธารถะและโควินทะได้เรียนรู้หลายอย่างจากเหล่าสมณะ เป้าหมายของสิทธารถะคือการแสวงหาความว่างเปล่า เขาต้องการหลุดพ้นจากความกระหาย ความอยากได้ใคร่มี หลุดพ้นจากความสุขและความทุกข์ ต้องการละทิ้งตัวตน ทดลองหาความสงบจากจิตที่ว่าง เขายืนสงบอยู่กลางแดดแรง ยืนสงบอยู่กลางสายฝน ยืนจนร่างกายชินกับความหนาวและไม่สั่นอีกต่อไป

สิทธารถะฝึกหายใจ ฝึกสมาธิจนสามารถถอนจิตได้ เขารู้จักวิธีละตัวตนแล้ว แต่สุดท้ายจิตของเขาก็ต้องกลับมา ความมีตัวตนของเขาจะหวนคืนมาอีก วันหนึ่งสิทธารถะถามโควินทะว่า

“คุณคิดว่าเราจะไปได้ไกลกว่านี้ไหม เราถึงเป้าหมายแล้วหรือยัง?”

“เราเรียนกันมามากแล้ว และจะเรียนกันต่อไป คุณจะได้กลายเป็นสิทธารถะผู้ยิ่งใหญ่ คุณฝึกแต่ละสิ่งได้รวดเร็วมาก สมณะอาวุโสออกปากชมตลอด วันข้างหน้าคุณจะได้เป็นผู้วิเศษ”

“แต่ผมไม่คิดแบบนั้นเลย ผมเรียนรู้จากสมณะได้เร็วและง่าย การบำเพ็ญสมาธิคืออะไร การสละตัวตนคืออะไร เรากลั้นลมหายใจถอดจิตไปทำไม นั้นเป็นการหนีอัตตาแค่ชั่วคราว สุดท้ายเราก็กลับมาเหมือนเดิม คนต้อนวัวก็ใช้วิธีหนีอัตตาตัวเองเหมือนกับเรา เพียงแต่พวกเขาใช้เหล้าเป็นตัวช่วย พวกเขาดื่มเหล้าให้ลืมว่ามีตัวตน ให้ลืมความเจ็บปวดความทุกข์ แต่พอสร่างเหล้าพวกเขาก็กลับมาเจอความทุกข์เหมือนเดิม”

“เพื่อนรัก จริงอยู่ที่นักดื่มอาจพบทางหลีกทุกข์ เขาอาจพบทางบรรเทาจิตใจ แต่เขาไม่ได้ฉลาดขึ้นเลย ไม่ได้มีความรู้เพิ่ม ไม่ได้ยกตัวเองให้สูงขึ้นเลย”

“ไม่รู้สิ สิทธารถะคนนี้ได้พบทางบรรเทาขณะฝึกจิตทำสมาธิ แต่ถึงอย่างนั้นผมก็ยังอยู่ห่างจากคำว่าปัญญา ห่างจากความพ้นทุกข์ ผมมีความรู้เท่ากับตอนอยู่ในท้องแม่เอง”

วันต่อมาสองเพื่อนรักพูดคุยกันถึงสมณะผู้เป็นอาจารย์ สิทธารถะถามโควินทะว่า

“คุณคิดว่าสมณะผู้อาวุโสสูงสุด ผู้เป็นครูของเราท่านนี้มีอายุเท่าไหร่แล้ว?”

“ผมคิดว่าคงสักหกสิบได้มั้ง”

“ท่านอายุหกสิบแล้ว แต่ยังไปไม่ถึงนิพพานเลย ต่อไปท่านก็จะอายุเจ็ดสิบ แปดสิบ คุณกับผมก็คงจะแก่เฒ่าเหมือนท่าน เราฝึกอดอาหาร ฝึกสมาธิ แต่เราก็ยังไปไม่ถึงนิพพาน ทั้งสมณะและเราไปไม่ถึงจุดนั้น โควินทะ ผมคิดว่าบางทีคงไม่มีสมณะท่านไหนนิพพานได้เลย”

“อย่าพูดแบบนั้นสิสิทธารถะ จะเป็นไปได้ยังไงที่ในบรรดาผู้คงแก่เรียน ท่านผู้เคร่งครัด ผู้แสวงหา จะไม่มีใครพบเส้นทางที่ถูกต้องสักคนเลยหรือ?”

สิทธารถะพูดเสียงเศร้าว่า “อีกไม่นานแล้วนะโควินทะ ที่เพื่อนของคุณผู้นี้จะลาจากเส้นทางสมณะอันยาวไกลนี้ ความกระหายของผมไม่ได้ลดลงเลย ผมยังกระหายความรู้ ผมมีปัญหาที่ต้องการคำตอบมากมาย หลายปีแล้วที่ผมถามจากพราหมณ์ ศึกษาคัมภีร์พระเวทศักดิ์สิทธิ์ ผมใช้เวลานานมากหวังจะได้เรียนสิ่งนี้ แต่ผมก็ยังไม่บรรลุ ผมไม่ได้รู้อะไรมากขึ้นเลย”

หลังจากสองหนุ่มอยู่ในป่าฝึกกับสมณะมาเป็นเวลาสามปี พวกเขาก็ได้ยินข่าวว่ามีบุรุษผู้หนึ่งเป็นผู้พิชิตความทุกข์ หลุดพ้นแล้วจากการเวียนว่ายตายเกิด บุรุษผู้นั้นคือพระพุทธเจ้า พระองค์เสด็จไปแสดงพระธรรมคำสอนทั่วทุกเขต ไม่ครอบครองสมบัติใด ๆ พระองค์ผู้ประเสริฐมีเหล่าสาวกรายล้อม

โควินทะพูดกับสิทธารถะว่า “วันนี้ผมเข้าไปในหมู่บ้าน ได้พบกับบุตรพราหมณ์จากแคว้นมคธ พราหมณ์หนุ่มคนนี้เล่าให้ฟังว่าเคยเข้าเฝ้าและฟังธรรมจากพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้า เพื่อนรัก เราจะไม่ไปฟังธรรมจากพระองค์ท่านกันสักหน่อยหรือ?”

สิทธารถะตอบว่า “ตลอดเวลาที่ผ่านมา ผมคิดว่าเป้าหมายของโควินทะคืออยู่กับสมณะจนแก่อายุหกสิบเจ็ดสิบปี หมายความว่าคุณอยากจะเปลี่ยนเส้นทางใหม่งั้นหรือ?”

“คุณไม่อยากฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าหรือ ไม่ใช่ครั้งหนึ่งคุณเคยพูดกับผมว่าจะไม่เดินตามทางของสมณะอีกแล้วหรอกหรือ?”

สิทธารถะหัวเราะ “คุณนี่ความจำดี ผมไม่ศรัทธาคำพูดที่อาจารย์สอนเรานัก ผมอยากฟังคำสอนใหม่ที่คุณพูดถึง”

วันนั้นเองสิทธารถะและโควินทะบอกกับสมณะถึงการตัดสินใจของพวกเขา สิทธารถะพูดกับท่านอย่างสุภาพถ่อมตน อย่างที่ลูกศิษย์ควรจะพูดกับอาจารย์ แต่สมณะอาวุโสกลับโกรธที่ลูกศิษย์สองคนจะตีตัวออกห่าง ท่านพูดเสียงดังรุนแรง สิทธารถะไม่ใช้คำพูดโต้ตอบ เขาเพียงแค่จ้องเข้าไปในตาของสมณะอาวุโสก็ทำให้สมณะหงอ และอวยพรให้ศิษย์โชคดี

สองหนุ่มเดินทางมาถึงเชตวันวิหาร สถานที่ประทับของพระพุทธเจ้า และได้เห็นพระพุทธเจ้ากับตา เห็นพระองค์เดินอย่างสงบ เงียบเชียบสำรวม กิริยาไม่สุขไม่เศร้า มีรอยยิ้มดูลี้ลับ พระองค์ทรงจีวรแบบเดียวกับภิกษุรูปอื่น ๆ แต่พระองค์ดูแตกต่างออกไป ดูบ่งบอกความสมบูรณ์ แน่วแน่ ไม่แสวงหา มีแต่ความสันติและความโปร่งบาง

ตกเย็นเมื่ออากาศคลายร้อน สิทธารถะและโควินทะ พร้อมด้วยประชาชนคนอื่นก็ได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า ได้ยินเสียงอันสมบูรณ์ นุ่มนวล สงบ เปี่ยมด้วยสันติ พระพุทธเจ้าตรัสถึงทุกข์ ต้นเหตุแห่งทุกข์ และทางแห่งการดับทุกข์

เมื่อได้ฟังธรรมจนจบ โควินทะก็เกิดความเลื่อมใส อยากเดินไปบนเส้นทางแห่งการดับทุกข์นี้ จึงของบวชเป็นภิกษุ และพระพุทธเจ้าก็ทรงอนุญาต โควินทะชวนสิทธารถะบวชด้วยกัน แต่สิทธารถะยังคาใจคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่าโลกนี้ทุกชีวิตล้วนเวียนว่ายตายเกิดเป็นวัฏสงสาร เป็นวงกลมอันเป็นนิรันดร์ แล้วจุดเริ่มต้นของวงกลมอยู่ตรงไหน

แต่ถึงอย่างนั้นสิทธารถะก็ยกย่องพระพุทธเจ้าว่าพระองค์ทรงไปถึงเป้าหมายสูงสุดนั่นคือการตรัสรู้ พระพุทธเจ้าเป็นบุรุษเพียงคนเดียวที่อยู่ตรงหน้าแล้วสิทธารถะต้องหลบตาต่ำ สิทธารถะไม่เคยหลบตาใครเลย และคำสอนของพระองค์ก็เร้าความสนใจของสิทธารถะได้มากกว่าคำสอนใด ๆ ที่เขาเคยเรียน

ตอนที่ 3: นางกมลา

เมื่อสิทธารถะจากเชตวันวิหารออกมา ความคิดของเขาก็เปลี่ยนไป จากเดิมที่เขามองว่าทุกสิ่งรอบตัวเป็นมายา ทุกสิ่งหลอกลวง ความสุขและความงามเป็นสิ่งไม่ยั่งยืน โลกนี้ขื่นขม ชีวิตคือความเจ็บปวด กลายเป็นว่าเขามองว่าโลกนี้มีสีสัน ทุกสิ่งไม่ได้ไร้ความหมาย ที่ผ่านมาตอนอยู่ในป่า เขารู้สึกว่าตัวเองงมงาย แต่ตอนนี้เขารู้สึกว่าตัวเองเพิ่งตื่น เพิ่งเกิดใหม่อีกครั้ง เขาตัดสินใจว่าจะเข้าไปใช้ชีวิตในเมือง

การจะไปถึงในเมืองได้ต้องข้ามแม่น้ำ สิทธารถะขอให้คนแจวเรือไปส่งฝั่งตรงข้าม เขาพูดกับคนแจวเรือว่า

“แม่น้ำสวยดีนะครับ”

“จริงครับ แม่น้ำนี้สวยมาก ผมรักมันยิ่งกว่าสิ่งใด ผมชอบฟังเสียงจากแม่น้ำ ผมได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างจากแม่น้ำ คนเราเรียนรู้จากแม่น้ำได้มากมายเลย”

“ผมไม่มีเงินจ่ายค่าจ้างให้คุณนะครับ ผมไม่มีบ้าน เคยเป็นสมณะ”

“แค่มองก็รู้แล้วครับ ผมไม่ได้คาดหวังค่าจ้างจากคุณ คุณคงมีโอกาสเอามาให้ผมวันหลังครับ”

“คุณคิดอย่างนั้นหรือ?”

“ใช่ครับ แม่น้ำบอกกับผมแบบนั้น ทุกสิ่งหวนคืนเสมอ คุณเองก็เหมือนกัน คุณจะต้องกลับมา วันนี้ลาก่อน ขอให้ตอบแทนผมด้วยมิตรภาพละกัน”

สิทธารถะจากคนแจวเรือมาด้วยรอยยิ้ม เขาประทับใจความอัธยาศรัยดีของคนแจวเรือ สิทธารถะเดินเข้าไปในเมือง จากนั้นได้พบกับขบวนคนรับใช้แบกเกี้ยวหามผู้หญิงคนหนึ่งเข้าไปในสวน ผู้หญิงคนนั้นใบหน้าหวานแจ่มใส ดูเฉลียวฉลาด ปากสีแดงสด หัวใจสิทธารถะเต้นรัว หายใจสูดกลิ่นหอมที่ไม่รู้จัก

สิทธารถะถามคนรับใช้ว่าผู้หญิงคนนั้นคือใคร เธอชื่อว่ากมลา เป็นหญิงงามเมือง หรือก็คือโสเภณีครับ สิทธารถะขอเข้าไปคุยกับกมลา หลังแนะนำตัวกันเสร็จ สิทธารถะก็พูดกับกมลาว่า

“หากคุณไม่รังเกียจ ผมอยากให้คุณมาเป็นครูของผม มาสอนสิ่งที่ผมไม่รู้เกี่ยวกับศิลปะที่หญิงงามเมืองเช่นคุณช่ำชอง”

กมลาหัวเราะ แล้วบอกว่าถ้าเขาอยากเรียนกับเธอ เขาต้องมีเงินมาก ๆ มาเป็นของขวัญให้เธอ และได้แนะนำให้สิทธารถะไปทำงานเป็นผู้ช่วยพ่อค้าชื่อว่ากามสวามี วันรุ่งขึ้นสิทธารถะไปถึงบ้านของกามสวามี เพราะสิทธารถะอ่านออกเขียนได้ กามสวามีเลยจ้างให้มาเป็นผู้ช่วย

หลังจากทำงานอยู่บ้านกามสวามีได้ไม่นาน สิทธารถะก็มีเงินซื้อเสื้อผ้าสวยงาม รองเท้าดี ๆ และมีเงินไปเป็นของขวัญให้กมลา สิทธารถะได้เรียนรู้เรื่องรักจากกมลา จนกลายเป็นศิษย์ เป็นเพื่อน ตอนที่ได้อยู่กับกมลา สิทธารถะรู้สึกว่าชีวิตของตัวเองมีความหมาย ด้านการงานสิทธารถะก็ได้รับความไว้ใจจากกามสวามีมากขึ้น จนได้จัดการธุระสำคัญต่าง ๆ แทนให้

หลายปีผ่านไป สิทธารถะถูกสภาพแวดล้อมครอบงำ เขาฐานะดีขึ้น มีบ้านหลังใหญ่ มีคนรับใช้ สิทธารถะถูกโลกยึดตัวเอาไว้ เขาถูกความชั่วทั้งหลายที่เคยรังเกียจยึดตัวไว้อย่างเหนียวแน่น เขาอยากครอบครองความมั่งคั่ง อยากครอบครองเพชรพลอย เขาติดการพนันอย่างหนัก พอเสียพนันก็จะหัวเสียแล้วมาเร่งรัดลูกหนี้ให้รีบคืนเงิน เขามองคนที่ต่ำต้อยกว่าอย่างเย้ยหยั่น

คืนหนึ่งสิทธารถะดื่มเหล้าอยู่ที่บ้าน คืนนั้นเขารู้สึกอ่อนเพลีย จิตใจไม่สงบ เกิดความท้อแท้หมดหวังจนแทบจะร้องไห้ เขาเข้านอนหลังเที่ยงคืน แต่ข่มตาให้หลับไม่ได้ จิตใจเขาเศร้าหมอง สลดสังเวชใจ สิทธารถะรู้สึกว่าตัวเองใช้เวลาไปอย่างไร้แก่นสารไร้คุณค่า เขาค่อย ๆ คิดทบทวน หวนระลึกถึงชีวิตในอดีตตั้งแต่ยังจำความได้

ตอนที่เขาเป็นเด็ก เขาได้รับคำชมจากพราหมณ์ว่าเก่งเกินอายุ ในตอนนั้นเขาตั้งใจจะเดินตามรอยวิถีแห่งพราหมณ์ แต่พอศึกษาจนเข้าใจคำสอนของพราหมณ์ เขาก็กระหายความรู้อย่างใหม่ ในวัยหนุ่มเขาเข้าป่ามาเป็นสมณะ ฝึกสมาธิอยู่หลายปี จนสมณะอาวุโสไม่มีอะไรจะสอน เขาก็กระหายความรู้ใหม่ จึงมาใช้ชีวิตทางโลก เรียนรู้การทำธุรกิจและเรื่องโลกีย์ แต่ก็ยังขาดความพอใจ เขากำลังเล่นอยู่ในเกมที่ไม่มีวันจบหรือเปล่านะ คนเราจำเป็นต้องมีชีวิตอยู่เพื่อสิ่งเหล่านี้หรือ ในเกมที่เรียกว่าวัฏสงสาร

สิทธารถะตัดสินใจว่าเกมนี้สิ้นสุดแล้วสำหรับเขา เขาคิดถึงพ่อ คิดถึงโควินทะ คิดถึงพระพุทธเจ้า เขาละทิ้งคนเหล่านั้นมาเพื่อมีชีวิตแบบนี้หรือ ค่ำของอีกวันสิทธารถะตัดสินใจทิ้งเมืองไปแบบไม่หวนกลับ กามสวามีพยายามตามหาตัวเขา คิดว่าสิทธารถะอาจโดนโจรจับตัวไป แต่กมลาไม่แปลกใจที่สิทธารถะจากไป ตอนนี้เธอตั้งครรภ์ หลังจากที่หยุดรับแขกมานาน และเจอกับสิทธารถะเป็นคนสุดท้าย

ตอนที่ 5: บทเรียนจากแม่น้ำ

สิทธารถะเดินมาถึงแม่น้ำสายยาว แม่น้ำเดียวกับที่คนแจวเรือเคยพาเขาข้ามฟากมาตอนที่เขายังหนุ่ม สิทธารถะเพ่งมองแม่น้ำแล้วผล็อยหลับไป เขาหลับสนิทโดยไม่ฝัน หลับไปนานหลายชั่วโมง พอตื่นขึ้นมาก็เห็นภิกษุโกนหัวห่มจีวรเหลืองนั่งอยู่ตรงหน้า เขาจำภิกษุรูปนั้นได้ทันทีว่าคือโควินทะ แต่โควินทะจำสิทธารถะไม่ได้

“ไม่ดีนะมานอนในที่งูชุมอย่างนี้ อาตมาเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า อาตมากับภิกษุจำนวนหนึ่งกำลังเดินไปเผยแพร่ธรรมะ อาตมาเห็นคุณนอนอยู่ในสถานที่อันตรายแบบนี้ พยายามจะปลุกคุณ แต่เห็นคุณนอนหลับสนิท เลยให้ภิกษุรูปอื่นล่วงหน้าไปก่อน อาตมานั่งเฝ้าคุณ ตอนนี้คุณตื่นแล้ว อาตมาคงต้องไปก่อน”

“ขอบคุณท่านสมณะ ตอนนี้นิมนต์ท่านเถิดครับ”

“อาตมาไปละนะ เจริญพร”

“ลาก่อนโควินทะ”

“ขอโทษเถิด ท่านรู้จักชื่ออาตมาได้ยังไง”

สิทธารถะหัวเราะ “ผมรู้จักคุณโควินทะ ตั้งแต่ตอนคุณยังอยู่บ้านพ่อ อยู่ในอาศรมของพราหมณ์ ตอนเดินทางติดตามสมณะ ตอนคุณปฏิญาณตนต่อพระพุทธเจ้า”

“งั้นคุณคือสิทธารถะล่ะสิ ผมจำคุณได้แล้ว ดีใจที่ได้เจอกันอีก”

“ผมก็ดีใจที่ได้เจอคุณ คุณจะไปไหนหรือเพื่อนรัก”

“พวกเราภิกษุต้องเดินทางตลอดเวลา เว้นแต่ในฤดูฝน เราไปโน่นไปนี่เพื่อแสดงธรรม แล้วคุณล่ะสิทธารถะจะไปที่ไหน?”

“ผมก็เหมือนคุณ เดินทางจาริกไปเรื่อย ๆ”

“แต่น้อยคนนะที่จะจาริกด้วยเสื้อผ้าและรองเท้าราคาแพงแบบนั้น ผมเดินทางมาหลายปีแล้ว ยังไม่เคยเห็นผู้จาริกลักษณะแบบคุณ”

“คุณสังเกตได้ถูกต้อง ผมสวมเสื้อผ้าของคนมีเงิน ผมแต่งอย่างนี้เพราะผมเคยรวย แต่ตอนนี้ไม่แล้ว พรุ่งนี้จะเป็นยังไงผมก็ไม่ทราบ”

“คุณเเสียสมบัติทั้งหมดไปงั้นหรือสิทธารถะ”

“ผมเสียสมบัติ หรือสมบัติเสียผม ผมก็ไม่แน่ใจ กงล้อของสิ่งที่เห็นหมุนเร็วเหลือเกิน พราหมณ์สิทธารถะอยู่หนไหน สมณะสิทธารถะอยู่หนไหน สิทธารถะผู้มั่งคั่งอยู่หนไหน มีแต่ความเปลี่ยนแปลงไม่แน่นอน คุณก็รู้ดีโควินทะ”

จากนั้นเพื่อนเก่าทั้งสองคนก็แยกทางกัน สิทธารถะมองแม่น้ำ เขานึกถึงคนแจวเรือที่เคยมีน้ำใจพาเขาข้ามฝั่ง จึงไปหาคนแจวเรือ และขอให้พาเขาข้ามไปฝั่งโน้น สิทธารถะได้รู้จักชื่อของคนแจวเรือว่าชื่อ วาสุเทพ ครั้งนี้สิทธารถะตอบแทนวาสุเทพด้วยเสื้อผ้าราคาแพงที่เขาสวม และขอพักที่กระท่อมด้วย คืนนั้นสิทธารถะเล่าเรื่องราวชีวิตทั้งหมดของเขาให้วาสุเทพฟัง วาสุเทพเป็นผู้ฟังที่ดีมาก เขาไม่พูดแทรก ไม่ชื่นชม ไม่ตำหนิ เพียงแต่รับฟังอย่างตั้งใจ

หลังจากนั้นสิทธารถะอาศัยอยู่กับวาสุเทพ เขาเรียนรู้วิธีดูแลรักษาเรือ ช่วยหาฟืน ช่วยตัดเครือกล้วย และสานตะกร้า เขาพอใจทุกอย่างที่ได้ทำ พอใจทุกอย่างที่ได้เรียน สิทธารถะได้เรียนรู้จากแม่น้ำถึงวิธีฟัง การฟังด้วยใจสงบนิ่ง รู้จักรอ  ไม่มีอารมณ์ ไม่มีกิเลส ไม่ตัดสิน และไม่ใส่ความเห็น

สิทธารถะได้เรียนจากแม่น้ำอีกเรื่องว่าไม่มีกาลเวลา สิทธารถะวัยเด็ก สิทธารถะวัยหนุ่ม และสิทธารถะวัยชราไม่ได้แยกออกจากกัน ชีวิตเก่าก่อนของสิทธารถะไม่ได้อยู่ในอดีต และความตายก็ไม่ได้อยู่ในอนาคต ไม่มีอะไรอยู่ ไม่มีอะไรเป็น ทุกสิ่งคือความจริงและอยู่ในปัจจุบัน

วันคืนผ่านไปจนมีข่าวว่าพระพุทธเจ้ากำลังประชวร และกำลังจะเสด็จดับขันธปรินิพพานในอีกไม่ช้า ทั้งภิกษุและประชาชนจากทั่วสารทิศต่างพากันเดินทางไปเข้าเฝ้าพระองค์เป็นครั้งสุดท้าย และมาใช้บริการเรือข้ามฟากของสิทธารถะและวาสุเทพมากเป็นพิเศษ

สิทธารถะคิดถึงพระพุทธเจ้า รำลึกถึงเส้นทางการบรรลุธรรมของพระองค์ นึกถึงถ้อยคำที่เขาเคยพูดกับพระองค์ในตอนที่เขายังหนุ่ม เขารู้สึกว่าถ้อยคำเหล่านั้นช่างก้าวร้าวและชิงสุกก่อนห่าม

วันหนึ่งกมลาออกเดินทางไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า อดีตหญิงงามเมืองละทิ้งชีวิตแบบเดิมมานานแล้ว หันมายึดพุทธธรรมเป็นที่พึ่ง เธอมาพร้อมกับลูกชาย แต่ลูกชายตัวน้อยของเธอไม่ได้อยากมาด้วยเลย ไม่เข้าใจว่าแม่จะเดินทางลำบากไปสถานที่ที่ไม่รู้จัก เพื่อไปดูคนที่กำลังจะตายไปทำไม กมลาเลี้ยงลูกแบบตามใจ เมื่อลูกอยากพักเธอก็พาลูกไปนั่งพักข้างทาง

ระหว่างที่กำลังปอกกล้วยกินเติมพลัง กมลาก็ถูกงูพิษกัดเข้า สองแม่ลูกรีบวิ่งไปขอความช่วยเหลือ กมลาทนพิษไม่ไหว ล้มลงใกล้กับท่าเรือข้ามฟาก วาสุเทพมาเห็นเข้าก็พาสองแม่ลูกมาที่กระท่อม วาสุเทพและสิทธารถะช่วยล้างแผลให้กมลา ทั้งสิทธารถะและกมลาจำกันได้ทันที กมลาชี้ไปที่ลูกน้อยและบอกความจริงว่าสิทธารถะคือพ่อของเด็กคนนี้

กมลาที่หน้าซีดเซียวพูดกับสิทธารถะว่า “ตอนนี้ฉันเห็นแล้วค่ะว่าสายตาของคุณเปลี่ยนไป คุณพบกับความสงบแล้วใช่ไหมคะ ฉันก็กำลังจะพบแล้วเหมือนกันค่ะ”

“คุณได้พบแล้ว”

กมลาตั้งใจจะเดินทางไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า หวังได้รับความสงบสันติจากพระองค์ แต่เธอกลับพบสิทธารถะแทน แต่นั่นก็ดีไม่แพ้กัน ดีเท่ากับการได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า เธออยากจะบอกแบบนี้กับสิทธารถะ แต่พูดไม่ไหว สิทธารถะได้เห็นชีวิตเลือนลับไปจากดวงตาของกมลา เขาลูบปิดเปลือกตาให้เธอ

ตอนที่ 6: พบกับโควินทะอีกครั้ง

หลังจากกมลาเสียชีวิต เด็กชายจึงต้องอยู่กับสิทธารถะ เด็กชายไม่ยอมรับว่าสิทธารถะเป็นพ่อของตัวเอง เขาโตมาแบบที่แม่คอยเอาใจ เคยชินกับอาหารดี ๆ ที่นอนนุ่ม ๆ ตอนแรกสิทธารถะดีใจและมีความสุขที่ได้ลูกชาย แต่เวลาผ่านไปลูกชายกลับทำให้เขาเป็นทุกข์ ลูกชายเอาแต่ทำตัวก้าวร้าว ไม่เคารพผู้ใหญ่

ถึงลูกจะดื้อแค่ไหน แต่สิทธารถะก็ไม่เคยลงโทษลูก วันหนึ่งสิทธารถะปรึกษากับวาสุเทพว่าควรทำยังไงเรื่องลูกชายดี วาสุเทพให้คำแนะนำว่า “พาเขากลับเข้าเมือง พาไปอยู่กับคนใช้ของกมลา ให้เขาได้ไปเจอกับเด็กวัยเดียวกัน ให้เขาได้ไปอยู่ในโลกของเขา โลกที่เขามีส่วนร่วม”

ในใจของสิทธารถะก็คิดแบบเดียวกับวาสุเทพ แต่เขาไม่กล้าทำแบบนั้น เขาทนรับมือกับความดื้อรั้นของลูกชายต่อไป จนวันหนึ่งลูกชายของเขาหนีออกจากกระท่อม พร้อมกับขโมยเงินไปด้วย สิทธารถะพยายามไปตามลูกกลับมา แต่ใจก็นึกขัดแย้งกัน เขารักลูกชายมาก แต่ลูกชายคือบาดแผลที่สร้างความเจ็บปวดให้เขาด้วยเช่นกัน ในที่สุดสิทธารถะก็ตัดใจจากลูกชาย และกลับมาใช้ชีวิตริมน้ำเหมือนเดิม

ช่วงแรกที่กลับมา สิทธารถะยังคงเจ็บปวดใจที่สูญเสียลูกชาย วันหนึ่งเขาไปปรับทุกข์ให้วาสุเทพฟัง วาสุเทพยังเป็นผู้ฟังที่ดีเหมือนเดิม พอสิทธารถะระบายจนหมด วาสุเทพก็พาสิทธารถะมานั่งที่ขอนไม้ริมน้ำ สิทธารถะจ้องมองไปที่แม่น้ำ เขาเห็นภาพพ่อของตัวเองกำลังโศกเศร้าในตอนที่สิทธารถะขอละทิ้งบ้านเพื่อเข้าป่าเป็นสมณะ เห็นลูกชายที่หนีเขาไป ภาพของพ่อ ภาพของลูกชาย และภาพของตัวสิทธารถะเองไหลรวมเป็นภาพเดียวกัน

เขาเห็นภาพกมลา เห็นภาพโควินทะและคนอื่น ๆ แต่ละภาพไหลไปสู่เป้าหมายที่หลากหลาย ไหลไปสู่น้ำตก ไหลไปสู่ทะเล ไหลไปสู่มหาสมุทร น้ำระเหยเป็นไอ กลายเป็นเมฆ กลายเป็นฝน และตกลงสู่แม่น้ำอีกครั้ง เขาได้ยินเสียงหลากหลายจากแม่น้ำ ทั้งเสียงมีความสุข เสียงหัวเราะ เสียงแห่งความเศร้า เสียงร้องไห้ สิทธารถะฟังเสียงเหล่านั้นอย่างตั้งใจ ดูดซับทุกอย่างในชั่วขณะนั้น

ฉากนี้คนเขียนตั้งใจให้เป็นฉากที่สิทธารถะบรรลุธรรม ตรัสรู้เหมือนพระพุทธเจ้า ตั้งแต่นั้นมาสิทธารถะก็เลิกต่อสู้กับชะตาของตัวเอง ใบหน้าเขาฉายถึงความสงบ เปร่งประกาย เป็นใบหน้าของคนที่ละกิเลส คนที่ผสานไปกับกระแสแห่งชีวิต กลายเป็นส่วนหนึ่งกับกระแสนั้น

เมื่อวาสุเทพเห็นความสงบจากสิทธารถะ เขาก็แตะไหลสิทธารถะอย่างแผ่วเบา และพูดว่า “ผมรอเวลานี้เพื่อนรัก ตอนนี้ได้เวลาแล้ว ผมจะไปละนะ ผมเป็นวาสุเทพคนแจวเรือจ้างมานาน ตอนนี้ทุกอย่างเสร็จสมบูรณ์แล้ว ลาก่อนแม่น้ำ ลาก่อนสิทธารถะ” วาสุเทพพูดจบก็เดินเข้าป่า ทุกก้าวของเขามีแต่ความสงบ ใบหน้าเปล่งปลั่ง รัศมีฉายไปทั่วร่าง อ่านแล้วเราอาจตีความได้ว่าวาสุเทพเป็นอีกหนึ่งคนที่ผ่านการตรัสรู้มาแล้ว

สิทธารถะใช้ชีวิตต่อในฐานะคนแจวเรือจ้าง หลายคนที่เห็นความนิ่งสงบของเขาต่างเล่ากันไปว่าชายแจวเรือจ้างเป็นปราชญ์ เรื่องนี้ไปเข้าถึงหูของโควินทะ โควินทะรีบมาเพื่อเจอกับชายแจวเรือจ้าง แม้ตอนนี้เขาจะเป็นภิกษุที่พระวัยหนุ่มให้ความนับถือ แต่จิตใจของเขาก็ยังไม่สงบ การแสวงหาของเขายังไม่เป็นที่น่าพอใจสำหรับเจ้าตัว

เมื่อโควินทะได้พบกับสิทธารถะ เขาก็ได้ถามถึงการแสวงหา อยากให้สิทธารถะเล่าเรื่องนี้ให้ฟังหน่อย สิทธารถะตอบไปว่า “บางทีท่านอาจแสวงหามากเกินไป นั่นแหละคือผลของการแสวงหา ตราบใดที่ท่านยังหาอยู่ ท่านก็จะไม่พบอะไรเลย”

“มันเป็นยังไงกันนะ” โควินทะถามอย่างไม่เข้าใจ

“คนที่แสวงหาจะมัวคิดถึงแต่สิ่งที่กำลังแสวงหา จิตของเขาจะหมกมุ่นกับสิ่งนั้น แต่การจะพบหนทาง เราต้องเป็นอิสระ พร้อมที่จะรับ และไม่มีเป้าหมายใด หากเอาแต่มุ่งสู่เป้าหมาย ท่านอาจพลาดไม่ได้เห็นอะไรหลายอย่างที่อยู่ใต้จมูกของตัวเอง”

จากนั้นสิทธารถะก็เฉลยว่าตัวเองเป็นใคร ครั้งนี้โควินทะก็ยังจำสิทธารถะไม่ได้ โควินทะขอให้สิทธารถะสอนสิ่งที่สิทธารถะใช้ในการดำเนินชีวิตให้เขารู้หน่อย สิทธารถะตอบกลับมาว่า

“ความรู้อาจถ่ายทอดกันได้ แต่ไม่ใช่กับปัญญา ใครก็อาจพบกับปัญญาได้ แต่เขาไม่อาจถ่ายทอดหรือสอนปัญญานั้นได้”

แต่โควินทะก็ยังตื้อต่อ เขาบอกว่าทั้งเขาและสิทธารถะต่างก็แก่แล้ว สิทธารถะเจอความสงบแล้ว แต่เขายังไม่เจอ และในชีวิตนี้อาจจะไม่มีโอกาสได้เจอ โควินทะขอให้สิทธารถะช่วยให้เขาได้เจอความสงบหน่อย สิทธารถะจึงบอกให้โควินทะจูบหน้าผากของเขา

ทันทีที่โควินทะจูบที่หน้าผากของสิทธารถะ โควินทะก็เห็นภาพทุกวินาทีที่เกิดขึ้นในชีวิตของสิทธารถะไหลผ่านเข้ามาอย่างรวดเร็ว เมื่อถอนจูบออก โควินทะก็น้อมกายต่ำให้สิทธารถะจนหน้าผากถึงพื้น น้ำตาไหลอาบเต็มแก้ม เกิดความศรัทธาในตัวสิทธารถะ เรื่องราวในหนังสือเล่มนี้จบเพียงเท่านี้ครับ

ผมอ่านสิทธารถะจบมาแล้ว 2 รอบละครับ รอบแรกผมอ่านช่วงเรียนอยู่มหาลัย รอบสองก็เพิ่งไม่นานมานี้ ทั้งสองรอบห่างกันประมาณ 10 ปี ในรอบสองนี้ผมได้อะไรจากหนังสือเล่มนี้มากกว่ารอบแรกหลายอย่าง ข้อคิดแรกที่ผมได้คือ “อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด” ช่วงหลังที่สิทธารถะเรียนรู้จากแม่น้ำ เขาได้เข้าใจว่าชีวิตของคนเราก็เหมือนกระแสน้ำที่เคลื่อนที่ตลอดเวลา แต่ละคนมีกระแสชีวิตไม่เหมือนกัน ไม่มีใครขวางทางน้ำได้ และไม่มีใครขวางทางชีวิตได้เช่นกัน เราควรยอมรับทุกสิ่งที่เกิดขึ้น ถ้าเกิดปัญหาก็หาทางแก้กันไป ถ้ามีความสุขก็ดื่มด่ำกับช่วงเวลานั้น อยู่กับปัจจุบัน enjoy the moment and go with the flow.

ข้อคิดที่สองที่ผมได้จากการอ่านเล่มนี้คือ “อย่าเอาแต่ฟัง ให้ลงมือทำด้วย” ในตอนที่สิทธารถะฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าจบ และได้พูดคุยกับพระพุทธเจ้า เขาพูดว่าพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นความจริงที่ไม่อาจโต้แย้ง แต่ก็ใช่ว่าเดินตามคำสอนของพระองค์แล้วจะบรรลุสัจธรรมได้แบบพระองค์ พระพุทธเจ้าจะแสดงธรรมมากมายแค่ไหน ก็ไม่อาจเล่าสิ่งที่พระพุทธเจ้าพบในวินาทีที่พระองค์ตรัสรู้ได้

สิทธารถะมองว่าสัจธรรมคือประสบการณ์เฉพาะตัว ต้องเป็นคนที่เจอเองเท่านั้นจึงจะรู้ว่าช่วงเวลานั้นเป็นยังไง เหมือนกับเรากินของอร่อยมาแล้วพยายามบรรยายให้เพื่อนที่ไม่ได้กินฟังว่ามันอร่อยยังไง บรรยายยังไงเพื่อนเราก็ไม่มีทางรู้สึกแบบที่เรารู้สึกได้ 100% ครับ และพระพุทธเจ้าก็เคยตรัสเอาไว้ว่า “ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ” ซึ่งแปลว่า พระธรรมเป็นสิ่งที่ผู้บรรลุจะพึงรู้ได้เฉพาะตัว

นั่นหมายความว่าถ้าเราเอาแต่อ่าน เอาแต่ฟัง เอาแต่ดูคนอื่น เราก็ไม่มีทางรู้ซึ้งถึงสิ่งนั้นได้จริง ๆ ต้องลงมือทำด้วย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการอ่าน การฟัง และการดูคนอื่นจะเป็นสิ่งที่ไร้ค่านะครับ ก่อนลงมือทำเราต้องรู้พื้นฐานทางทฤษฎีบ้าง อย่างการขับรถ เราก็ต้องรู้ว่าอันไหนคันเร่ง อันไหนเบรก ไฟเลี้ยวเปิดยังไง เข้าเกียร์ยังไง บังคับพวงมาลัยยังไง เมื่อรู้พื้นฐานแล้วก็ลงมือหัดขับจริง ขับบ่อย ๆ เข้าก็จะขับเก่งในที่สุดครับ

สนใจหนังสือ สิทธารถะ
สามารถสั่งซื้อได้ที่ Shopee: https://s.shopee.co.th/60AVnlNgMi
ซื้อผ่านลิงค์เป็นการสนับสนุนช่องครับ

Share

Leave a comment

Leave a Reply

What's New

สรุปเนื้อหาและแนะนำหนังสือที่น่าสนใจ ชวนเพื่อน ๆ มาพัฒนาตัวเองให้ดียิ่งขึ้นในทุก ๆ วันไปด้วยกันครับ

Copyright 2025 Aitim and Co. All rights reserved

error: Content is protected !!