ปลดล็อกความเก่งในตัวคุณ Hidden Potential เมื่อคนธรรมดาจะคว้าสิ่งที่ยิ่งใหญ่

Share
Share

เรามักเทิดทูนคนเก่ง ไม่ว่าจะเป็นนักเรียนห้องคิงที่ได้รับการดูแลเรื่องเรียนดีกว่านักเรียนห้องอื่น, นักกีฬาเหรียญทองโอลิมปิกที่ได้รับฉายาว่าเป็นฮีโร่ของประเทศ, นักร้องชื่อดังที่เก่งทั้งเรื่องร้อง เต้น และเล่นดนตรีที่ได้รับความสนใจจากคนทั้งประเทศ เรามักคิดว่าบรรดาคนเหล่านี้ไปอยู่จุดนั้นได้เป็นเพราะพวกเขามีพรสวรรค์ติดตัวตั้งแต่เกิด แต่หนังสือที่ผมจะนำมาแนะนำเพื่อน ๆ ใน ep นี้ จะมาทำลายความเชื่อนั้นครับ

ไอติมอ่าน ep นี้จะมาแนะนำหนังสือ Hidden Potential เมื่อคนธรรมดาจะคว้าสิ่งที่ยิ่งใหญ่ เขียนโดย อดัม แกรนท์ ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาและนักเขียนที่มีหนังสือขายดีมาแล้วมากมาย หนังสือเล่มนี้นำเสนอแนวคิดที่ว่า “มนุษย์ทุกคนมีศักยภาพที่ซ่อนเร้นอยู่” ไม่ว่าจะเป็นใคร เกิดมาในพื้นเพแบบไหน หรือแม้จะไม่มีต้นทุนอะไรในชีวิตก็สามารถพัฒนาตัวเองให้ก้าวขึ้นมาอยู่ในแถวหน้าของสาขาอาชีพที่ตัวเองต้องการได้

ผู้เขียนได้นำเสนอแนวคิดการพัฒนาตัวเอง 3 ด้าน คือ

  1. พัฒนาทักษะของตัวเอง
  2. มองหาโค้ชมาช่วยสนับสนุน
  3. สร้างสังคมที่เปิดโอกาสให้ทุกคน

มาเริ่มกันที่การพัฒนาทักษะของตัวเองกันครับ ผู้เขียนบอกว่าทักษะที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตคนเราอย่างใหญ่หลวงคือทักษะด้านอุปนิสัย ซึ่งประกอบไปด้วยทักษะที่สำคัญอย่างการทำงานเชิงรุก, ความมีวินัย และความมุ่งมั่น

ผู้เขียนได้ยกตัวอย่างกลุ่มคนที่เรียกว่าโพลีกล็อต (Polyglot) ซึ่งหมายถึงคนที่พูดและคิดได้หลายภาษา โพลีกล็อตบางคนพูดได้คล่องถึงห้าภาษา และรู้อีกสี่ภาษาในระดับที่พอจะสื่อสารได้ โพลีกล็อตพิสูจน์ให้เห็นว่าการฝึกภาษาใหม่จนเชี่ยวชาญในวัยผู้ใหญ่นั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้จริง การที่พวกเขาทำแบบนั้นได้เป็นเพราะพวกเขายอมละทิ้งชีวิตที่ตัวเองคุ้นชิน และกระโดดไปสู้ความรู้สึกไม่สะดวกใจ

การรวบรวมความกล้าที่จะเผชิญกับความไม่สะดวกใจคือทักษะด้านอุปนิสัย เป็นรูปแบบหนึ่งของความมุ่งมั่น คนเราต้องมีความกล้าด้วยกัน 3 ประการ คือ กล้าที่จะละทิ้งวิธีเดิม ๆ ที่ได้ผลมาตลอด, กล้าที่จะเอาตัวเองลงสนามทั้งที่ตัวเองยังไม่พร้อม และกล้าที่จะทำผิดพลาดให้มากกว่าคนอื่น

ถ้าอยากพัฒนาความรู้ด้านใดด้านหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องศึกษาจนมีความมั่นใจก่อนแล้วค่อยลงมือทำ แต่ให้กล้าเผชิญกับความไม่สะดวกใจให้เร็วที่สุด ถ้าเพื่อน ๆ อยากพูดภาษาไหนได้ ก็ให้ออกไปพูดกับคนที่ใช้ภาษานั้น กล้าที่จะพูดออกไปแม้มันจะผิด ไม่ต้องอาย เพราะสุดท้ายเพื่อน ๆ จะได้รู้ว่าถ้าจะพูดให้ถูกต้องพูดยังไง ยิ่งผิดพลาดมากก็จะยิ่งรู้มากขึ้น และจะเชี่ยวชาญในความรู้นั้นได้เร็วที่สุดครับ


seub.or.th

ผู้เขียนได้ยกตัวอย่างฟองน้ำทะเล สัตว์ที่อยู่มาตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ พวกมันหากินโดยการปล่อยให้น้ำไหลผ่านผนังลำตัว มีเส้นขนเล็กจิ๋วที่เรียกว่าแฟลกเจลลา (Flagella) ทำหน้าที่คอยดักจับสารอาหารและขับแบคทีเรียออกไป ความสามารถในการดูดซับและคัดกรองนี้เองที่ทำให้พวกมันอยู่รอดมาจนถึงทุกวันนี้

ผู้เขียนบอกว่าแนวคิดการทำตัวเป็นฟองน้ำนั้นมีประโยชน์มาก มันคือทักษะด้านอุปนิสัย เป็นรูปแบบหนึ่งของการทำงานเชิงรุก เพราะการพัฒนาตัวเองไม่ได้ขึ้นอยู่กับปริมาณของข้อมูล แต่ขึ้นอยู่กับคุณภาพของข้อมูลต่างหากครับ

กุญแจสำคัญของการทำตัวเป็นฟองน้ำคือการพิจารณาว่าข้อมูลไหนควรดูดซับไว้ และข้อมูลไหนควรกรองทิ้ง แล้วคำแนะนำจากคนแบบไหนที่เราสามารถไว้วางใจได้ล่ะ? ผู้เขียนได้แบ่งความไว้วางใจออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ความใส่ใจ, ความน่าเชื่อถือ และความคุ้นเคย

หากใครคนนั้นไม่ได้ใส่ใจเรา คำพูดของพวกเขาก็ไม่ควรค่าแก่การใส่ใจกลับครับ หากพวกเขาไม่ได้มีความเชี่ยวชาญในเรื่องนั้น พวกเขาก็ไม่มีคุณสมบัติที่จะมาตัดสินผลงานของเรา หรือถ้าพวกเขาไม่ได้ใกล้ชิดพอที่จะรู้ถึงศักยภาพของเรา เราก็ลดค่าความเห็นเหล่านั้นและพิสูจน์ให้เห็นว่าพวกเขาคิดผิด

แต่หากใครที่แสดงให้เห็นว่าเรามีความหมายและรู้ถึงความสามารถของเราดี แถมยังเป็นคนที่น่าเชื่อถือและเชี่ยวชาญในเรื่องนั้น คน ๆ นั้นจะมอบคำแนะนำและข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาตัวเองของเราให้ได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราต้องยอมรับทุกเสียงวิจารณ์มาใส่ใจ


ต่อมาผู้เขียนได้พูดถึงแนวคิด perfectionist หรือผู้ที่นิยมความสมบูรณ์แบบ มีนักวิจัยชี้ว่าคนเหล่านี้มักหมกมุ่นอยู่กับรายละเอียดที่ไม่จำเป็น เอาแต่วุ่นหาคำตอบที่ใช่ให้กับปัญหาจิ๊บจ๊อย จนไม่รู้ว่าปัญหาไหนที่ควรใส่ใจจริง ๆ พวกเขามองไม่เห็นป่าทั้งผืนเพราะมัวแต่มองต้นไม้ต้นเดียว อีกทั้งมักหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ตัวเองไม่คุ้นเคยและงานยาก ๆ ที่อาจนำไปสู่ความล้มเหลว

ผลคือพวกเขาจะขัดเกลาเฉพาะทักษะแคบ ๆ ที่มีอยู่แล้ว แทนที่จะพัฒนาทักษะใหม่ ๆ นอกจากนี้พวกเขายังชอบตำหนิตัวเองเมื่อทำผิดพลาด จนยากที่จะเรียนรู้จากข้อผิดพลาดนั้น สุดท้ายคนแบบ perfectionist จะลดศักยภาพของตัวเองลงเรื่อย ๆ จนเหลือแค่สิ่งที่พวกเขามั่นใจว่าตัวเองทำได้อย่างสมบูรณ์แบบเท่านั้น

ถึงแม้เพื่อน ๆ จะไม่ได้นิยามตัวเองว่าเป็น perfectionist แต่เพื่อน ๆ อาจมีประสบการณ์คล้าย ๆ กัน ตอนที่ทำงานที่มีความสำคัญ หรืองานที่ส่งผลต่อเพื่อน ๆ เพื่อน ๆ จะรู้สึกอยากขัดเกลาแก้ไขงานนั้น จนกว่าจะรู้สึกว่าดีที่สุดแล้วจริง ๆ แต่การจะพัฒนาศักยภาพของตัวเองได้อย่างเต็มที่นั้น เราจำเป็นต้องยอมรับกับความไม่สมบูรณ์แบบอย่างเหมาะสม

การตำหนิตัวเองไม่ได้ทำให้เราแข็งแกร่งขึ้นครับ มีแต่จะทิ้งบาดแผลทางใจเอาไว้ และการใจดีกับตัวเองไม่ได้หมายความว่าเราละเลยจุดอ่อน แต่มันคือการอนุญาตให้ตัวเองเรียนรู้จากความผิดหวัง เราเติบโตขึ้นเพราะอ้าแขนรับความผิดพลาด ไม่ใช่ลงโทษตัวเองครับ


ชาวญี่ปุ่นมีแนวคิดที่เรียกว่าวะบิซะบิ (Wabi-Sabi) ซึ่งคือศิลปะการเชิดชูความงามของความไม่สมบูรณ์แบบ ซึ่งไม่ใช่การจงใจทำงานให้ออกมาแย่นะครับ แต่เป็นการยอมรับว่ารอยตำหนิคือสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และตระหนักว่ารอยตำหนิไม่ได้ลดคุณค่าความงามของสิ่งนั้น

แทนที่จะยึดติดกับความสมบูรณ์แบบ ผู้เขียนชวนให้เรามาโฟกัสกับเป้าหมายที่แจ่มชัดและท้าทาย พุ่งความสนใจไปยังการทำสิ่งที่สำคัญที่สุด และรู้จักพอเมื่อถึงเวลา สิ่งที่เราทำไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบเสมอไป แต่เป็นสิ่งที่เรายอมรับได้และภาคภูมิใจไปกับมัน ไม่ต้องหมกมุ่นอยู่กับการพยายามทำให้ได้ 10 คะแนนเต็ม การได้แค่ 8-9 คะแนนก็ยอดเยี่ยมมากแล้ว การยอมรับว่าเราไม่สามารถทำให้ทุกคนพอใจได้และรู้ว่าใครบ้างที่เราควรทำให้พวกเขาพึงพอใจนั้นสำคัญกว่าครับ


บทที่ 2 – มองหาโค้ชมาช่วยสนับสนุน

บทที่ 2 ของหนังสือพูดถึงการมองหาโค้ชมาช่วยสนับสนุน ผู้เขียนบอกว่าทักษะด้านอุปนิสัยอาจไม่ช่วยให้เราไปไกลได้เสมอไป ทักษะใหม่ ๆ หลายอย่างก็ไม่ได้มาพร้อมกับคู่มือที่เราจะเรียนรู้เองได้ บางครั้งการเดินทางไปให้สูงก็ต้องอาศัยลิฟต์ที่ช่วยพาเราไปยังความสูงที่เราไม่สามารถไปด้วยตัวเองได้

เมื่อเจอกับสถานการณ์ที่บีบบังคับให้เรายอมจำนน แทนที่จะจมอยู่กับตัวเอง เราสามารถหันไปหาที่ปรึกษา ครู โค้ช บุคคลต้นแบบหรือเพื่อนร่วมอาชีพได้ ซึ่งเป็นคนที่มีประสบการณ์และเคยผ่านสถานการณ์ที่เรากำลังเจออยู่

หากเพื่อน ๆ อยากเก่งอะไรสักเรื่อง เพื่อน ๆ ต้องฝึกฝนเพื่อให้เกิดความชำนาญ บรรดาโค้ชทั่วไปต่างชอบใช้วิธีการฝึกที่เรียกว่าการฝึกฝนอย่างตั้งใจ (Deliberate practice) ซึ่งคือการฝึกซ้อมอย่างเป็นระบบซ้ำ ๆ เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ วิธีฝึกซ้อมแบบนี้ทุ่มเทให้กับการฝึกหนักเป็นเวลานาน ทำให้เกิดความรู้สึกเบื่อ จนถึงขั้น burnout และล้มเลิกการฝึกสิ่งนั้นไปเลยก็มี

ผู้เขียนแนะนำแนวคิดใหม่ที่เรียกว่าการเล่นอย่างตั้งใจ (Deliberate play) วิธีนี้อาศัยการออกแบบกระบวนการฝึกฝนให้มีความสนุก มีความท้าทายและเปลี่ยนแปลงไปมาไม่ให้จำเจ โดยที่ยังรักษาเป้าหมายซึ่งคือการพัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้นเอาไว้

ตัวอย่างเช่น การฝึกของแบรนดอน เพย์น โค้ชกีฬาบาสเก็ตบอลที่ออกแบบการฝึกที่ชื่อว่า Twenty-One โดยนักกีฬาจะมีเวลา 1 นาที ในการชู้ตลูกบาสลงห่วงเพื่อให้ได้คะแนนครบ 21 แต้ม จะชูตท่าไหนก็ได้ แต่พอลูกลงห่วงแล้วต้องวิ่งมาที่กลางสนามแล้วกลับไปใหม่ การฝึกนี้ถูกทำให้เหมือนกับเล่นเกม นักกีฬาต้องเอาชนะทั้งเวลาและคะแนน ถ้าทำคะแนนถึง แต่เวลาเลย 1 นาที ก็ถือว่าแพ้ในตานี้ ทำให้นักกีฬาอยากแก้มือใหม่ และรู้สึกว่าการฝึกชู้ตลูกซ้ำ ๆ เป็นชั่วโมง ๆ ไม่ใช่เรื่องน่าเบื่อ แต่เป็นเกมที่ท้าทาย

อีกหนึ่งสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญคือการพัก มีผลวิจัยชี้ว่าการพักช่วงสั้น ๆ แค่ 5-10 นาที ก็เพียงพอแล้วที่จะลดความเหนื่อยล้าและชาร์จพลังให้กลับมาได้ การพักช่วยป้องกันไม่ให้เกิดอาการหมดไฟ ช่วยปลดล็อกไอเดียใหม่ ๆ ช่วยให้เราเรียนรู้ได้ลึกซึ้งขึ้น มีการทดลองพบว่าการพัก 10 นาทีหลังจากเรียนอะไรไปสักอย่างหนึ่ง ช่วยให้นักเรียนจดจำสิ่งที่เรียนไปได้ดีขึ้น 10-30 เปอร์เซ็นต์


คนส่วนใหญ่มีความคิดแบบผิด ๆ ว่าเส้นทางในการพัฒนาตัวเองนั้นยาวเป็นเส้นตรง เมื่อพวกเขาพบเจอกับอุปสรรคที่ยากเกินกว่าจะก้าวข้ามก็จะรู้สึกว่าพบเจอกับทางตัน แต่เส้นทางในการพัฒนาตัวเองนั้นที่จริงแล้วเป็นทางที่คดเคี้ยว และอาจมีทั้งขึ้นและลงครับ 

เมื่อเราติดแหง็ก พบเจอทางตัน รู้สึกเหมือนเป็นรถที่เร่งเครื่องขึ้นภูเขาที่สูงชันไม่ไหว เวลาแบบนี้เราอาจต้องถอยลงมาสักหน่อยครับ แล้วจะพบกับทางอ้อมภูเขาลูกนั้น การถอยหลังกลับแบบนี้หมายความว่าเราต้องโยนแผนการที่มีอยู่ทิ้ง แล้วกลับไปเริ่มต้นใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำใจลำบากครับ

นักวิจัยได้ศึกษาการแข่งขันบาสเก็ตบอลเอ็นบีเอกว่า 28,000 เกม พบว่าหลังจากผู้เล่นดาวเด่นของทีมได้รับบาดเจ็บและต้องพักฟื้น ช่วงนั้นทีมนั้นจะเล่นได้แย่ลง แต่เมื่อดาวเด่นหายดีและกลับเข้าสนาม ทีมนั้นกลับเล่นดีกว่าก่อนที่ผู้เล่นดาวเด่นคนนั้นจะบาดเจ็บเสียอีก

นั่นเป็นเพราะว่าเมื่อไม่มีดาวเด่นอยู่ในทีม สมาชิกทั้งทีมต้องกลับไปจุดเริ่มต้น ต้องหาเส้นทางใหม่ในการเอาชนะ พวกเขาจะจัดบทบาทการเล่นกันใหม่ ให้ผู้เล่นฝีมือปานกลางได้ลงสนามบ้าง และงัดเอาวิธีใหม่ ๆ มาเสริมความแข็งแกร่งของทีม เมื่อผู้เล่นดาวเด่นกลับมา ประสิทธิภาพของทีมก็จะสมดุลกว่าเดิม เพราะพวกเขาไม่ได้เอาแต่พึงดาวเด่นให้เป็นตัวแบกของทีมอยู่คนเดียวอีกต่อไป เรื่องนี้ทำให้เห็นว่าช่วงที่ต้องถอยหลัง ประสิทธิภาพลดลงไปก็จริง แต่สุดท้ายคนเราจะเก่งขึ้นหลังจากผ่านมาได้ครับ


หากถามใครต่อใครว่าอะไรคือสิ่งจำเป็นสำหรับการทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ให้สำเร็จ หนึ่งในคำตอบที่จะได้รับคือการมีสมาธิแน่วแน่ ใส่ใจและทุ่มเทให้กับสิ่งนั้นเพียงอย่างเดียว ต้องปิดกั้นสิ่งอื่นที่จะทำให้ไขว้เขวหรือดูดพลังงานไป หากต้องการเป็นเลิศในงานที่ทำ ก็ต้องใช้เวลาทำงานให้มากขึ้นอีก เรื่องงานอดิเรกเก็บเอาไว้ทีหลัง เพราะไม่อย่างนั้นเราจะเหนื่อยล้าเกินจำเป็น

แต่มีหลักฐานที่บอกในทางตรงกันข้ามครับ งานอดิเรกหรือเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับงานใช่ว่าจะทำให้เราไขว้เขวเสมอไป มันอาจเป็นแหล่งพลังงานชั้นยอดให้เราเลยก็เป็นได้ ในการศึกษาครั้งหนึ่งแสดงให้เห็นว่า เมื่อคนใช้เวลาช่วงค่ำไปกับงานอดิเรก เขาจะทำงานประจำได้ดียิ่งขึ้นในวันต่อมา จะเกิดความกระตือรือร้นเป็นพิเศษในวันรุ่งขึ้น สิ่งที่ได้กลับมานั้นมีประโยชน์คุ้มค่ากับเวลาที่เสียไปครับ

โดยเฉพาะในกรณีที่งานอดิเรกเป็นงานคนละชนิดกับงานประจำ คนที่ทำงานอดิเรกที่บ้านจะมีความมั่นใจที่สูงขึ้นในที่ทำงาน หากเพื่อน ๆ เป็นช่างปั้นเซรามิกและปั้นเซรามิกเป็นงานอดิเรก แบบนั้นคงไม่ได้ช่วยอะไร แต่หากเพื่อน ๆ ทำงานเกี่ยวกับบัญชี แล้วลองมาปั้นเซรามิกเป็นงานอดิเรก แบบนั้นเพื่อน ๆ อาจพบเส้นทางที่ทำให้ตัวเองเกิดความก้าวหน้าขึ้นก็เป็นได้ครับ


ผู้เขียนบอกว่าเราจะก้าวหน้าได้ นอกจากการพึ่งให้คนอื่นมาเป็นโค้ชให้ เรายังสามารถเก่งขึ้นได้โดยการเป็นโค้ชให้คนอื่น การสอนเป็นวิธีเรียนรู้ที่ทรงพลังเกิดคาด มีงานวิจัย 16 ครั้งชี้ให้เห็นว่านักเรียนที่สอนเพื่อนคนอื่นด้วย ทำคะแนนได้สูงเป็นพิเศษในวิชานั้น ยิ่งใช้เวลาสอนมากเท่าไหร่ พวกเขายิ่งได้เรียนรู้มากขึ้นเท่านั้น

นักวิจัยเรียกสิ่งนี้ว่า Tutor effect เราจะจำจดได้ดีขึ้นเมื่อต้องนึกทบทวน และจะเข้าใจได้ดีขึ้นเมื่อต้องอธิบายให้คนอื่นฟัง สิ่งที่เพื่อน ๆ ต้องทำคืออ้าแขนรับความไม่สะดวกใจในการเอาตัวเองไปอยู่ในบทบาทของครูผู้สอน นอกจากนี้การสอนคนอื่นยังช่วยยกระดับความมั่นใจให้กับเรา เมื่อเรากระตุ้นให้คนอื่นก้าวข้ามอุปสรรค มันก็ช่วยให้เราค้นพบแรงจูงใจของตัวเองด้วยเหมือนกัน

ผู้เขียนได้บอกถึงความสำคัญของคำชมและคำสบประมาท ทั้งสองอย่างนี้สามารถเป็นแรงจูงใจให้เราพัฒนาศักยภาพของตัวเองได้ คำชมที่เราได้รับจากคนที่มีประสบการณ์มักเป็นแรงจูงใจที่ช่วยเสริมความเชื่อมั่นว่าเรามาถูกทางแล้ว ส่วนคำสบประมาทจากคนที่ไร้ประสบการณ์ในด้านนั้น ถือเป็นฟืนในการจุดไฟให้เราพยายามพัฒนาศักยภาพ เพื่อพิสูจน์ให้คนเหล่านั้นเห็นว่าพวกเขาคิดผิด


บทที่ 3 – สร้างสังคมที่เปิดโอกาสให้ทุกคน

บทที่ 3 ของหนังสือพูดถึงสิ่งที่ยิ่งใหญ่ในระดับสังคม อย่างการสร้างสังคมที่เปิดโอกาสให้ทุกคน ซึ่งเป็นเรื่องยากที่พวกเราจะทำได้ในฐานะคนธรรมดา แต่หากหลาย ๆ คนช่วยกันผลักดันให้โครงสร้างทางสังคมเกิดการเปลี่ยนแปลง ผลักดันให้เกิดระบบที่ช่วยเอื้อให้คนที่ไม่มีต้นทุนได้เข้าถึงโอกาส แบบนั้นเราจะลดความเสี่ยงที่จะสูญเสียอัจฉริยะที่โลกลืมไปได้ไม่น้อย

ผู้เขียนได้ยกตัวอย่างการสอบ PISA (Programme for International Student Assessment) แปลเป็นไทยได้ว่าโปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล ที่จะนำนักเรียนกว่า 80 ประเทศ มาวัดผลด้านการอ่าน คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ในการสอบของปี 2000 ประเทศที่น่าจับตามองคือญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ซึ่งได้ชื่อว่ามีนักเรียนที่ฉลาดและขยันอยู่เยอะ แต่เมื่อผลคะแนนออกมา ผู้คนก็ต้องประหลาดใจ เพราะประเทศที่ทำคะแนนได้ดีที่สุดในปีนั้นคือประเทศที่ไม่ได้อยู่ในสายตาใครเลยอย่างฟินแลนด์

คนฟินแลนด์สร้างวัฒนธรรมที่เชื่อมั่นในศักยภาพของนักเรียนทุกคน แทนที่จะมัวค้นหานักเรียนที่เป็นเลิศที่สุด แต่โรงเรียนในฟินแลนด์ออกแบบมาเพื่อให้นักเรียนทุกคนมีโอกาสเติบโต ที่ฟินแลนด์มีความเหลื่อมล้ำระหว่างโรงเรียนน้อยที่สุดในโลก แต่ละโรงเรียนต้องมีมาตรฐานที่สูงเท่าเทียมกัน ระบบการศึกษาของฟินแลนด์มีหลายแนวคิดที่น่าสนใจครับ ตัวอย่างเช่น

  • ครูที่ฟินแลนด์ได้รับค่าตอบแทนที่สมน้ำสมเนื้อ และกำหนดให้ครูทุกคนต้องจบปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยชั้นนำ
  • มีการสอนที่เรียกว่า looping ซึ่งให้ครูคนเดิมสอนนักเรียนห้องเดิมตลอด 3 ปี เพื่อให้ครูเข้าใจปัญหาและรู้ถึงศักยภาพของนักเรียนแต่ละคนในเชิงลึก
  • ครูที่ฟินแลนด์จะจัดทำแผนการเรียนรู้แบบรายบุคคลให้นักเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาล การที่ครูมีเวลาทำแบบนั้นได้ เพราะครูที่ฟินแลนด์มีชั่วโมงพักที่มากกว่า ไม่ต้องเอาเวลาส่วนตัวมาทำหน้าที่นี้ เป็นการช่วยให้ครูไม่หมดไฟในการทำงาน
  • การเรียนที่ฟินแลนด์ถูกทำให้เป็นเรื่องสนุก ที่นั่นมีกิจกรรมให้เด็กอนุบาลเล่นเปิดร้านไอศกรีมในจินตนาการ เด็ก ๆ จะได้ลองทำหน้าที่รับออเดอร์ เป็นแคชเชียร์คิดเงิน พวกเขาจะได้เรียนรู้ทักษะทางสังคม ไปพร้อม ๆ กับคณิตศาสตร์พื้นฐาน

ช่วงท้ายเล่มผู้เขียนได้แนะนำวิธีรวบรวมไอเดียจากสมาชิกในทีมซึ่งผมถูกใจวิธีการนี้มาก วิธีการนั้นเรียกว่า Brainwriting เราอาจคุ้นเคยกับการระดมสมองด้วยวิธีการที่เรียกว่า Brainstorm ที่เรียกระดมสมาชิกมาในห้องประชุม แล้วให้แต่ละคนเสนอไอเดียออกมาตอนนั้นเลย วิธีการนี้เราอาจเคยเห็นคนที่เอาแต่เงียบตลอดการประชุม เพราะกลัวโดนคนอื่นมองว่าเสนอไอเดียที่ไม่ได้เรื่อง หรือเจอแรงกดดันที่ต้องยอมโอนอ่อนผ่อนตาม เช่น เอาไอเดียแบบที่เจ้านายบอกก็แล้วกัน

แต่วิธีการ Brainwriting จะเริ่มต้นโดยให้แต่ละคนคิดไอเดียตามลำพัง จากนั้นนำไอเดียของทุกคนมารวมกัน แล้วนำเสนอให้ทั้งกลุ่มฟังโดยไม่บอกว่าไอเดียไหนเป็นของใคร เพื่อป้องกันการตัดสินที่ตัวบุคคล สมาชิกในทีมแต่ละคนจะประเมินแต่ละไอเดียตามความรู้สึกของตัวเอง วิธีการนี้ทำให้ทีมได้ค้นพบความเป็นไปได้ต่าง ๆ ที่อาจไม่ได้รับความสนใจถ้าไม่ได้ใช้วิธีนี้

ทั้งหมดนี้คือเนื้อหาโดยสรุปของหนังสือ Hidden Potential เมื่อคนธรรมดาจะคว้าสิ่งที่ยิ่งใหญ่ เนื้อหาในหนังสือยังมีอีกเยอะ ผู้เขียนเล่าเรื่องราวได้สนุกและน่าติดตาม เป็นหนังสือที่น่าอ่านอีกหนึ่งเล่มครับ ใครสนใจสามารถหาซื้อมาอ่านกันได้ แปลไทยโดยสำนักพิมพ์วีเลิร์น ราคา 320 บาทครับ

สนใจหนังสือ HIDDEN POTENTIAL เมื่อคนธรรมดาจะคว้าสิ่งที่ยิ่งใหญ่
สามารถสั่งซื้อได้ที่ Shopee: https://s.shopee.co.th/AUeVL3DTyT
ซื้อผ่านลิงค์เป็นการสนับสนุนช่องครับ

Share

Leave a comment

Leave a Reply

What's New

สรุปเนื้อหาและแนะนำหนังสือที่น่าสนใจ ชวนเพื่อน ๆ มาพัฒนาตัวเองให้ดียิ่งขึ้นในทุก ๆ วันไปด้วยกันครับ

Copyright 2025 Aitim and Co. All rights reserved

error: Content is protected !!