เขียนโดย Lisa Rowan คอลัมนิสต์ที่เขียนเรื่องเกี่ยวกับการเงินส่วนบุคคล หนังสือแนะนำสูตรเล็กกะทัดรัดเกี่ยวกับการจัดการเงิน การออมเงิน การหาเงิน การบริหารหนี้ รวม ๆ แล้วมีอยู่ 280 สูตร
จัดกระเป๋าทางการเงิน
ผู้เขียนแนะนำให้เราแบ่งเงินที่หาได้ออกเป็น 3 ก้อน ได้แก่ เงินสำหรับค่าใช้จ่ายที่จำเป็น 50%, เงินออม 20% และเงินสำหรับค่าใช้จ่ายอื่น ๆ 30%
ขั้นแรกให้กันเงิน 50% ไว้สำหรับรายจ่ายจำเป็น เช่น ค่าเช่าห้องหรือค่าผ่อนบ้าน ค่าผ่อนรถ ค่าของกินของใช้ ค่าเดินทาง ไปจนถึงค่ายา เงินก้อนนี้มีไว้สำหรับรายจ่ายที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต
ต่อมาแบ่งเงิน 20% ไว้สำหรับเป็นเงินออม จะฝากไว้บัญชีฝากประจำหรือบัญชีดิจิตอลดอกเบี้ยสูงก็ได้ รวมถึงเงินที่เอาไว้ใช้หนี้บัตรเครดิตและหนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษาก็รวมอยู่ในก้อนนี้ด้วยด้วย
สุดท้ายอีก 30% เป็นเงินสำหรับค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่ไม่ใช่รายจ่ายประจำ เช่น ค่าของฝากในเทศกาลต่าง ๆ ค่าตั๋วคอนเสิร์ต เป็นต้น และถ้าคุณไม่รู้ว่าจะเอาเงินที่ไหนไปใส่ไว้ในก้อนเงินออมอันก่อนหน้า ให้ดูว่าสามารถตัดเงินจากก้อนสุดท้ายนี้ไปใส่เป็นเงินออมแทนได้หรือไม่
อย่าเลิกแบบหักดิบ แต่ให้ลดแบบค่อยเป็นค่อยไป
ถ้าอยากจะลดค่าใช้จ่ายโดยการให้เลิกใช้เงินกับบางเรื่องไปเลย อาจทำให้รู้สึกไม่สบายใจ แทนที่จะบังคับตัวเองให้เลิกแบบเด็ดขาดก็ให้เสียเงินกับเรื่องนั้นน้อยลงสัก 10% ในทุก ๆ เดือน เราอาจไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงชัดเจนแบบทันทีทันใด แต่การปรับตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป ช่วยให้ทำใจยอมรับได้ง่ายกว่ามาก

เช่น ถ้าเดือนที่แล้วคุณซื้อกาแฟร้านโปรดไป 2,500 บาท เดือนนี้ลองท้าทายตัวเองโดยลดการซื้อลง 10% เท่ากับว่าต้องลดไป 250 บาท เดือนนี้จึงเหลือเงินซื้อกาแฟ 2,250 บาท เดือนหน้าก็ลดอีก 10% ให้เหลือเงินซื้อกาแฟราว ๆ 2,000 บาท การเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไปจะช่วยให้คุ้นเคยกับการลดรายจ่ายทีละนิด พอทำได้บ่อยเข้าก็จะติดเป็นนิสัยในที่สุด
เปลี่ยนรายการสั่งซื้อเป็นรายการรอซื้อ
เวลาที่คนเรารู้สึกเศร้า เครียดหรือเบื่อหน่าย สมองจะพยายามหาความสุข และการได้ของอะไรใหม่ ๆ ก็มักทำให้เรามีความสุข แต่ความสุขที่ผุดขึ้นมาชั่วคราวย่อมมีวันจางหาย ถ้าซื้อของโดยไม่คิดหน้าคิดหลัง เราอาจต้องมานั่งเสียใจทีหลังที่ซื้อมา
วิธีแก้ปัญหานี้คือเมื่อรู้สึกอยากซื้อของแก้เครียด ให้จดไว้เป็นรายการรอซื้อเอาไว้ก่อน หรือถ้าซื้อออนไลน์ให้กดลง wish list รอไว้ จากนั้นรอให้ผ่านไปสักหนึ่งสัปดาห์แล้วย้อนทบทวนว่าของที่เคยอยากซื้อ ตอนนี้ยังตื่นเต้นกับมันหรืออยากได้มันอยู่หรือเปล่า ถ้ายังอยากได้และมีเงินก็ซื้อได้เลย แต่ถ้าเริ่มหมดความสนใจมันแล้วก็เป็นสัญญาณบอกว่าจริง ๆ ของคุณรู้สึกว่าของสิ่งนั้นไม่คุ้มค่าเงิน
พกแบงก์ใหญ่
นักวิจัยพบว่าคุณมีแนวโน้มจะใช้แบงก์ใหญ่อย่างแบงก์พันหรือแบงก์ห้าร้อย น้อยกว่าแบงก์ย่อยที่มีมูลค่าเท่ากัน หลายคนจะรู้สึกเสียดายที่ต้องหยิบแบงก์ใหญ่ออกจากกระเป๋า แต่ถ้าเป็นแบงก์ย่อยจะรู้สึกว่าไม่ใช่เงินก้อนใหญ่อะไร ดังนั้นเมื่อคุณได้แตกแบงก์ไปแล้ว เงินก้อนนั้นก็มีโอกาสถูกใช้จนหมดอย่างรวดเร็ว คราวหลังถ้าคุณกดเงิน ลองเลือกรับแบงก์ใหญ่ คุณอาจพบว่าตัวเองอยากเก็บแบงก์เหล่านี้ให้อยู้ในกระเป๋านานขึ้นอีกหน่อยก็ได้

กรองทุกบริการที่เรียกเก็บเงิน
สมัยนี้มีบริการวิดีโอสตรีมมิ่งและมิวสิคสตรีมมิ่งมากมาย หลายรายราคาเพียงหลักร้อยกว่าบาท บางเจ้าทำโปรโมชั่นกับค่ายมือถือ ทำให้ราคาถูกจนเหลือหลักไม่กี่สิบบาท ตอนเราสมัครบริการพวกนี้ก็ไม่ได้คิดอะไรมาก เพราะมองว่าเป็นค่าใช้จ่ายเพียงเล็กน้อย แต่หากคิดว่าเราต้องจ่ายค่าบริการพวกนั้นปีละถึง 12 ครั้ง รวมกันก็เป็นเงินก้อนใหญ่ แถมบางคนไม่ได้สมัครสตรีมมิ่งเพียงแค่เจ้าเดียว
ลองทบทวนว่าบริการเหล่านั้นแต่ละเดือนเราได้ใช้งานมันมากแค่ไหน คุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไปไหม เราสามารถดองเรื่องที่อยากดูจากสตรีมมิ่งแต่ละเจ้าเอาไว้ดูรวดเดียวเจ้าละเดือนได้ไหม เมื่อกรองดูทุกบริการที่เราสมัครไว้ อาจพบว่าบางบริการไม่ได้คุ้มกับเงินขนาดนั้น เก็บเงินไว้กับเรื่องสำคัญของเราจะดีกว่า
ซื้อของโดยไม่ง้อรถเข็น
บางทีเราเข้าร้านสะดวกซื้อหรือซุปเปอร์มาร์เก็ตเพราะต้องการซื้อของเพียงแค่นิดหน่อย ลองท้าทายตัวเองดูโดยการซื้อของเท่าที่เราขนกลับไหว วิธีนี้จะช่วยให้เราซื้อเฉพาะของที่ตั้งใจมาซื้อจริง ๆ
ทันทีที่เราหยิบตะกร้าหรือหนักสุดคือรถเข็น เรามีแนวโน้มที่จะซื้อของนอกเหนือจากที่ตั้งใจไว้แต่แรก ถ้าเราขนของกลับบ้านด้วยสองมือไม่ได้ พวกมันก็จะยังคงอยู่ที่ร้าน
จดลงสมุด
หากอยากจับตาดูเงินของตัวเองให้ดียิ่งขึ้นให้ทำบัญชีรายรับรายจ่าย จะเขียนลงสมุดหรือใช้แอพบนมือถือก็ได้ คอยจดว่าเราใช้เงินไปเท่าไหร่ กับอะไรและที่ไหน พอถึงสิ้นเดือนให้บวกค่าใช้จ่ายแต่ละหมวดหมู่ หรือหากใช้แอพมันจะรวมและแยกให้เราเองอัตโนมัติ เราจะรู้ว่าเราใช้เงินไปกับอะไรมากเป็นพิเศษ ดูแล้วรู้สึกพอใจ เสียใจ หรือเฉย ๆ กับยอดเงินนั้น
การจดบันทึกรายจ่ายไม่ได้ช่วยให้เราใช้เงินน้อยลง แต่มันทำให้เรากลับมาทบทวนตัวเองได้ว่าใช้เงินไปกับอะไรบ้าง ช่วยให้มองเห็นแผนการใช้เงินในอนาคตได้ชัดเจนขึ้น จะได้วางแผนการเงินหรือจัดลำดับความสำคัญเสียใหม่

เทียบราคาที่ต้องจ่ายกับชั่วโมงการทำงาน
เวลาไปซื้อของลองตั้งคำถามดูว่าต้องทำงานกี่วันถึงจะซื้อของชิ้นนั้นได้ หากคุณอยากได้หนังสือเล่มใหม่ที่ราคา 250 บาท สมมุติว่าเงินเดือนคุณเฉลี่ยออกมาได้วันละ 500 บาท เท่ากับว่าคุณต้องทำงานครึ่งวันเพื่อให้ได้หนังสือเล่มนั้น
อยู่กับวันข้างหน้า
ทุกวันเงินเดือนออก อย่าแค่วางแผนการใช้เงินเฉพาะเดือนนั้น ๆ แต่ให้วางแผนล่วงหน้า 2-3 เดือน เพื่อเตรียมตัวสำหรับรายจ่ายที่ไม่คาดคิด เช่น งานวันเกิดของคนรู้จัก งานเทศกาลต่าง ๆ วิธีนี้จะช่วยให้เรารู้สถานการณ์การเงินของตัวเองและสามารถปรับเปลี่ยนแผนได้ทันท่วงที
อย่าลืมหมั่นตรวจสอบแผนการใช้เงิน แม้จะต้องปรับเปลี่ยนแผนแต่ไม่ได้หมายความว่าคุณวางแผนงบล้มเหลว คนที่มีประสบการณ์ด้านการเงินหลายคนก็ปรับแผนการเงินของตัวเองอยู่เป็นระยะ
ทำให้การซื้อของออนไลน์เป็นเรื่องยาก
คนเรามักหมดอารมณ์จะซื้อของออนไลน์ได้ง่าย ๆ ถ้าต้องลุกจากโซฟาไปหยิบกระเป๋าตังค์เพื่อดูเลขบัตรเครดิต ผลจากการสำรวจของบริษัท Bankrate พบว่าผู้คนกว่า 64% บันทึกเลขบัตรเครดิตไว้ในแอพช้อปปิ้ง และผู้ขายรู้ดีว่าวิธีนี้ทำให้คุณมีแนวโน้มกลับมาซื้อสินค้าอีกเพราะความสะดวกสบาย
หากอยากประหยัดเงิน จงทำให้การซื้อของออนไลน์เป็นเรื่องยากขึ้น โดยการไม่บันทึกเลขบัตรเครดิตไว้บนแอพช้อปปิ้ง นอกจากจะช่วยยับยั้งแรงกระตุ้นในการใช้จ่ายแล้ว ยังช่วยให้ข้อมูลทางการเงินของเราปลอดภัยมากขึ้นอีกด้วย เพราะบริษัทน้อยใหญ่ต่างเสี่ยงต่อการรั่วไหลของข้อมูลจากฝีมือของแฮกเกอร์

จ้างตัวเองให้ใช้เงิน
จะเป็นยังไงถ้าคุณสามารถออมเงินและใช้เงินไปพร้อม ๆ กันได้ กลยุทธ์นี้มีอยู่ว่าหากคุณต้องการซื้อของสักชิ้น นอกจากจะต้องจ่ายเงินกับค่าสินค้าแล้ว ต้องโอนเงินจำนวนเท่ากับค่าสินค้าเข้าบัญชีเงินเก็บด้วย
ถ้าอยากซื้อของเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างโดนัทไว้กินกับกาแฟในตอนเช้า อาจรู้สึกว่าทำได้สบาย ๆ เราแค่จ่ายเงินค่าโดนัทให้ร้าน 50 บาทและโอนเงินอีก 50 บาทเข้าบัญชีเงินเก็บ แต่พอของที่อยากซื้อมีราคาสูงขึ้น เช่น รองเท้าผ้าใบราคา 2,000 บาท นอกจากต้องจ่ายค่ารองเท้า 2,000 บาทแล้ว เรายังต้องโอนเงินอีก 2,000 เข้าบัญชีเงินเก็บ ถ้าคำนวนดูแล้วเห็นว่าเงินเหลือไม่พอใช้จ่ายถึงสิ้นเดือนแน่ ก็เป็นสัญญาณว่าคุณไม่ควรควักกระเป๋าจ่ายหนัก ๆ ในตอนนี้
ดูหนังในคืนวันพุธ
ทุกวันพุธโรงหนังจะจัดโปรโมชั่นดูหนังที่ราคาตั๋วถูกลง บางครั้งอาจถูกลงถึง 50% เลยทีเดียว นอกจากนี้ค่ายมือถือยังจัดโปรโมชั่นร่วมกับโรงหนัง ลองดูว่าคุณได้รับสิทธิพิเศษเหล่านี้บ้างหรือเปล่า
อย่าลืมสะสมแต้ม
ร้านค้าหลายร้านมีระบบสะสมแต้ม เช่น ห้างเครือเซ็นทรัลมีให้สะสมคะแนน The1 ห้างเครือ The Mall มีให้สะสมคะแนน M Point หรือปั๊มน้ำมัน ร้านชากาแฟต่าง ๆ ก็ล้วนมีระบบสะสมแต้ม ซึ่งแต้มที่ได้มาอาจสามารถแลกได้เป็นคูปองส่วนลดหรือได้รับสินค้าฟรี
ร้านเหล่านี้ให้สมัตรสมาชิกฟรี แถมสมัยนี้ไม่ต้องพกบัตรให้รกกระเป๋า เพียงแค่บอกเบอร์โทรก็สะสมคะแนนได้แล้ว อย่าดูถูกคะแนนเล็กน้อย เมื่อสะสมจนมีมากขึ้นก็สามารถช่วยคุณประหยัดเงินไปได้
ขอยกเว้นค่าธรรมเนียมบัตรเครดิต
ตลาดบัตรเครดิตแข่งขันกันสูงจนสมัยนี้ไม่น่ามีที่ไหนเก็บค่าธรรมเนียมรายปีแล้ว แต่ถ้าบัตรที่คุณถืออยู่คิดค่าธรรมเนียมรายปี ลองโทรไปหาธนาคารผู้ให้บัตรแล้วลองพูดว่า “ผมเป็นลูกค้าคุณมานานและชอบบัตรใบนี้มาก แต่น่าเสียดายที่บัตรนี้มีค่าธรรมเนียมรายปี คุณพอจะยกเว้นค่าธรรมเนียมให้ผมได้ไหม”
ผลการสำรวจจาก creditcards.com พบว่าคนที่ขอเว้นค่าธรรมเนียมรายปีบัตรเครดิตกว่า 80% ได้รับการยกเว้นการเก็บเงินค่าธรรมเนียม หรือถ้าทางธนาคารเว้นค่าธรรมเนียมให้ไม่ได้ ลองพิจารณาว่าสามารถยกเลิกบัตรนั้นได้ไหม หากสิทธิประโยชน์ไม่คุ้มค่ากับค่าธรรมเนียมรายปีที่จ่ายไป

อย่าชำระเงินล่าช้า
หากคุณจ่ายบัตรเครดิตช้าหรือจ่ายขั้นต่ำ คุณอาจโดนคิดดอกเบี้ยได้สูงสุดถึง 18% แถมถ้าเดือนต่อไปยังไม่จ่ายก็จะโดนคิดดอกเบี้ยแบบทบต้นทบดอก อีกอย่างหนึ่งคือทางธนาคารจะโทรมาติดตามทวงหนี้ ซึ่งจะคิดค่าทวงถามกับคุณอีกครั้งละ 250-300 บาท แถมพฤติกรรมแบบนี้จะทำให้ไม่ได้รับความเห็นใจเมื่อโทรไปขอเว้นค่าธรรมเนียมรายปี
กลยุทธ์การใช้หนี้แบบทลายภูเขาหิมะและกลิ้งก้อนหิมะ
มีสองวิธีในการจ่ายหนี้ให้เห็นผล
วิธีแรกคือทลายภูเขาหิมะ (Debt Avalanche Method) โดยให้คุณจ่ายหนี้ก่อนที่คิดเปอร์เซนต์ดอกเบี้ยสูงที่สุด พยายามจ่ายจนหนี้ก้อนนั้นหมด วิธีนี้จะช่วยให้จ่ายดอกเบี้ยถูกลงในระยะยาว ข้อสำคัญคือต้องจ่ายขั้นต่ำหนี้ก้อนอื่น ๆ ที่เหลือด้วย
เมื่อกำจัดหนี้ก้อนที่คิดเปอร์เซนต์ดอกเบี้ยสูงที่สุดหมดไปแล้ว ให้ลงมือทำแบบเดียวกันกับหนี้ก้อนที่คิดเปอร์เซนต์ดอกเบี้ยสูงรองลงมา ทะลายภูเขาหิมะแบบนี้ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะใช้หนี้ครบทุกก้อน
อีกวิธีคือกลิ้งก้อนหิมะ (Debt Snowball Method) โดยให้คุณจ่ายหนี้ก้อนที่มูลค่าน้อยที่สุดก่อน พอหมดแล้วค่อยขยับไปจ่ายหนี้ก้อนที่มูลค่าสูงขึ้นอีกขั้น การใช้หนี้หมดเป็นก้อน ๆ จะช่วยให้มีแรงจูงใจที่จะใช้หนี้ต่อไป เพราะเห็นความคืบหน้าจากการปลดหนี้ก้อนเล็กไล่ไปก้อนใหญ่ วิธีนี้ไม่สนเปอร์เซนต์ดอกเบี้ย ในระยะยาวคุณอาจเสียดอกเบี้ยมากกว่าวิธีแรก แต่คุณจะเห็นความคืบหน้าได้เร็วกว่า ถนัดวิธีไหนสามารถเลือกได้ตามความต้องการ
สนใจหนังสือ สูตรโกงของคนเก่งเงิน (MONEY HACKS)
สามารถสั่งซื้อได้ที่ Shopee: https://s.shopee.co.th/AA04mci3rg
ซื้อผ่านลิงค์เป็นการสนับสนุนช่องครับ
Leave a comment