โลกนี้มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาอย่างยาวนาน มีกฏธรรมชาติที่ดำเนินซ้ำ ๆ ท่ามกลางการเกิดและตายหมุนเวียนไปมา กฏที่ว่านั้นคือ “สิ่งมีชีวิตทั้งมวล ถ้าไม่แข็งแกร่งก็อยู่ไม่รอด” แล้วคำว่าแข็งแกร่งนี้ เราจะนิยามอย่างไรดี บางคนอาจบอกว่าสัตว์ที่ชนะในการต่อสู้คือผู้ที่แข็งแกร่งที่สุด บางคนอาจบอกว่าแม้จะเป็นสัตว์ที่สู้เก่ง แต่ถ้าโดนสัตว์มีพิษเล่นงานก็เอาตัวไม่รอด บางคนอาจบอกว่าการหนีได้เร็วก็เป็นความแข็งแกร่งอย่างหนึ่ง ความฉลาดแกมโกงก็แสดงถึงความแข็งแกร่ง หรืออาจเป็นจิตใจที่ไม่ยอมแพ้คือความแข็งแกร่ง มาตรวัดความแข็งแกร่งไม่ได้มีเพียงอย่างเดียว ไอติมอ่าน ep นี้จะมาแนะนำหนังสือ “โลกแม่งโหดสัตว์” หนังสือเล่มนี้รวบรวมความแข็งแกร่งชนิดต่าง ๆ ของสัตว์หลากหลายพันธุ์มาให้เราได้รู้จัก
พละกำลัง
ถ้าถามว่าความแข็งแกร่งคืออะไร สิ่งที่จะถูกพูดถึงเป็นอย่างแรกคือพละกำลัง หากพูดถึงสัตว์ที่โดดเด่นในการใช้กำลังล่าอาหาร หลานคนต้องนึกถึงทีเร็กซ์หรือ ไทแรนโนซอรัส ราชาแห่งไดโนเสาร์ที่มีความสูง 12 เมตร หนักราว 7 ตัน อยู่ในจุดสูงสุดของห่วงโซ่อาหารสมัยยุคครีเทเชียส อาวุธที่ทรงพลังของมันคือขากรรไกรขนาดมหึมาและฟันที่คล้ายใบเลื่อย มันมีแรงบดเคี้ยวประมาณ 6 ตัน ทำให้เคี้ยวเหยื่อได้ทั้งกระดูก

แต่ก็มีสัตว์ที่มีพลังบดเคี้ยวมากกว่าทีเร็กซ์ นั่นคือ เมกาโลดอน สัตว์จำพวกเดียวกับฉลาม โดยมีขนาดใหญ่โตได้สูงสุดถึง 20 เมตร มีแรงบดเคี้ยวราว 20 ตัน แม้มันจะมีพละกำลังมหาศาล แต่กลับสูญพันธุ์ในเวลาไม่นาน
นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าเมกาโลดอนสูญพันธุ์เพราะวาฬเพชฌฏาต ซึ่งปัจจุบันอยู่สูงสุดในห่วงโซ่อาหารทางทะเล มีการสันนิษฐานว่าแต่ก่อนวาฬเพชฌฆาตเป็นสัตว์จำพวกวาฬที่เคยเป็นอาหารของเมกาโลดอน แล้ววิวัฒนาการตัวเองให้มีความเร็วเหนือชั้น มันจะใช้ลำตัวปะทะเมกาโลดอนหรือเหยื่อตัวอื่น ๆ จนเหยื่อหมดสติ นี่เองที่ทำให้เมกาโลดอนถูกสู้กลับจนสูญพันธุ์ แต่วาฬเพชฌฆาตก็มีคู่ปรับที่รับมือได้ยาก นั่นคือวาฬหัวทุยที่มีขนาดตัวมหึมาที่จะสวนกลับหากโดนวาฬเพชฌฆาตพุ่งเข้าใส่
กฏธรรมชาติสอนให้เรารู้ว่าชีวิตมีขึ้นมีลง สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา ทำให้เกิดคู่ต่อสู้หน้าใหม่มาล้มตำแหน่งราชา และยึดบัลลังก์ไป แต่ตำแหน่งที่ได้ก็ใช่ว่าจะคงทน หากมีนักสู้หน้าใหม่ที่แกร่งกว่าก็เป็นเรื่องยากที่ราชาตัวเดิมจะสามารถรักษาตำแหน่งเอาไว้ได้
หลอกลวงด้วยรูปลักษณ์ภายนอก
ในโลกธรรมชาติมีสิ่งมีชีวิตจำนวนมากที่มองเผิน ๆ ดูอ่อนแอ แต่ถ้าเราเผลอเพียงนิดเดียวก็อาจต้องเจ็บตัวได้ นากเป็นสัตว์ที่เหมือนตุ๊กตาเพราะมีใบหน้ากับจมูกกลม ๆ และดวงตากลมโตน่ารัก มันเป็นที่ชื่นชอบของผู้คน ที่พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำบางแห่งก็ให้จับมือกับมันด้วย

นากถือเป็นผู้ล่าลำดับกลาง ๆ ที่ล่าสัตว์เล็ก ๆ อย่างหนูและปลาเป็นอาหาร แต่นากยักษ์ที่อาศัยอยู่ในแม่น้ำอะเมซอนมีรูปร่างเหมือนนากทั่วไป แต่กลับมีความสูงถึง 2 เมตร และอยู่บนจุดสูงสุดของห่วงโซ่อาหารในลุ่มน้ำอะเมซอน
นากยักษ์มีพละกำลังอันน่าทึ่ง นอกจากปลาปิรันย่าแล้วมันยังล่าจระเข้ตัวใหญ่กินเป็นอาหารอีกด้วย พ่อแม่และลูก ๆ นากยักษ์จะล่าเหยื่อด้วยกันเป็นฝูง จึงถูกเรียกว่า “สุนัขจิ้งจอกแห่งแม่น้ำ” พูดได้ว่านากยักษ์ต่างจากนากทั่วไปอย่างสิ้นเชิง
แมลงที่ดูน่าจะอ่อนแออีกชนิดคือ ผีเสือปีกแก้ว มันอาศัยอยู่ในอเมริกากลาง เป็นผีเสื้อที่งดงามเพราะปีกใสเหมือนแผ่นแก้ว แม้จะมีรูปลักษณ์ดูเปราะบาง แต่ผีเสื้อปีกแก้วสามารถยกของที่หนักกว่าตัวเองได้ถึง 40 เท่า ถ้าเทียบเป็นสาวน้อยร่างบางน้ำหนัก 40 กก. จะสามารถยกบาร์เบลหนักถึง 1.6 ตันได้ แถมผีเสื้อปีกแก้วยังบินได้ด้วยความเร็ว 12 กม./ชม. ซึ่งเท่ากับความเร็วของจักรยานเลยทีเดียว
ความเร็ว
ความแข็งแกร่งอาจหมายถึง “การไม่มีใครตามทันได้” ถ้าเร็วกว่าเหยื่อย่อมล่าอาหารได้ ถ้าเร็วกว่าศัตรูก็ย่อมหนีรอดได้ หากพูดถึงสัญลักษณ์ของความเร็วก็ต้องนึกถึงเสือชีตาห์ ความเร็วสูงสุดของมันคือ 120 กม./ชม. ที่เสือชีตาห์เร็วได้ขนาดนั้น เพราะมีร่างกายที่พัฒนามาให้เหมาะกับการวิ่ง

กระดูกสันหลังที่ยาวและยืดหยุ่น ลำตัวเพรียวลมที่ขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ราวกับสปริง กรงเล็บที่หุบไม้ได้ทำหน้าที่ยึดเกาะพื้นดิน หางยาวทำหน้าที่ปรับสมดุลระหว่างตีทางโค้ง
แต่เสือชีตาห์มีจุดอ่อนนั่นคือความอึด เพราะมันถนัดวิ่งระยะสั้น วิ่งได้สูงสุดเพียง 500 เมตรเท่านั้น สำหรับทุ่งหญ้าสะวันนาอันกว้างใหญ่ ถือเป็นระยะทางที่สั้นมาก ดังนั้นเมื่อเห็นละมั่งที่วิ่งด้วยความเร็ว 80 กม./ชม. เสือชีตาห์จะย่องเข้าไปใกล้ ๆ จนระยะห่างเหลือประมาณ 30-50 เมตร และตัดสินแพ้ชนะภายในเวลา 20 วินาที ก่อนที่ร่างกายจะถึงขีดจำกัด ในโลกธรรมชาติ นอกจากความเร็วแล้ว ความอึดก็สำคัญไม่แพ้กัน
หากพูดถึงสัตว์ที่ทั้งเร็วและอึดคงหนีไม่พ้นละมั่งเขาแหลม มันเป็นสัตว์ที่ดูคล้ายกวางร่างอ้วนเตี้ย มองเผิน ๆ ไม่น่าจะเร็วขนาดนั้น แต่ถ้าเป็นระยะทาง 800 เมตร มันสามารถวิ่งด้วยความเร็ว 90 กม./ชม. ได้
หรือระยะทางที่ไกลถึง 6 กม. มันก็วิ่งโดยรักษาความเร็วไว้ที่ 56 กม./ชม. ได้อย่างต่อเนื่อง ในอดีตเสือชีตาห์ก็อาศัยอยู่ในถิ่นของละมั่งเขาแหลมเช่นกัน จึงมีทฤษฎีว่าละมั่งเขาแหลมพัฒนาความเร็วกับความอึดขึ้นมาเพื่อใช้หนีจากเสือชีตาห์
สิ่งมีชีวิตที่เคลื่อนที่ช้าที่สุดในโลกคืออะไร คำตอบคือม้าน้ำ มันเคลื่อนที่ในน้ำด้วยความเร็ว 0.001 กม./ชม. หรือ 2.4 ซม./นาที
ใช้เล่ห์เหลี่ยม
โลกมนุษย์มีการใช้เล่ห์เหลี่ยมเพทุบายแก่งแย่งอำนาจกัน ในโลกของสัตว์ก็มีการใช้เล่ห์เหลี่ยมเช่นกัน “วูลเวอรีน” สัตว์ที่อาศัยอยู่ในป่าเขตหนาวและทุ่งหิมะทุนดรา เป็นสัตว์ในวงศ์เพียงพอนที่มีความสูงราว 65-95 ซม. ถ้าเทียบกับเพียงพอนด้วยกันถือว่ามีขนาดใหญ่และดูคล้ายลูกหมี

มันได้รับการขนานนามว่า “ปีศาจน้อย” และ “สิ่งมีชีวิตที่ป่าเถื่อนที่สุดในโลก” ปกติมันจะกินสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมตัวเล็ก ๆ ไข่ และผลไม้เป็นอาหาร แต่เมื่อถึงฤดูหนาวที่หาอาหารไม่ได้ มันจะออกล่าแกะที่มีขนาดใหญ่กว่าตัวเองมาก หรือกวางมูสที่หนักเกือบ 1 ตันมากินเป็นอาหาร
วูลเวอรีนใช้วิธีกระโดดลงจากต้นไม้แล้วจู่โจมบนหลังของเหยื่อ มันจะเล็งที่จุดตายอย่างไขสันหลัง หรือก้านสมองส่วนท้าย ดูแล้วราวกับเป็นการจู่โจมของนินจา นอกจากนี้หากไปติดกับดักที่แข็งแรงเข้า มันก็มีแรงพอที่จะทำลายกับดักแล้วหนีไปได้
ในทางตรงกันข้าม หากมันเจอสัตว์ที่ติดกับดัก มันจะฉวยโอกาสเข้าจู่โจมทันที นอกจากนี้ยังแย่งอาหารจากหมี และฝูงหมาป่า เคยเกิดเหตุการณ์ที่วูลเวอรีนฆ่าหมีขั้วโลกในสวนสัตว์มาแล้วด้วย
สิ่งมีชีวิตบางชนิดก็ไม่ใช้ความรุนแรง แต่ใช้วิธีขี้โกงแทน นั่นคือนกบาวเวอร์ด่างที่อาศัยอยู่ในออสเตรเลีย นกตัวผู้จะทำซุ้มด้วยดอกไม้ และขนนก เพื่อดึงดูดนกตัวเมียให้มาจับคู่กับนกตัวผู้ที่ทำซุ้มสวยที่สุด
การวิจัยพบว่านกบาวเวอร์ด่างมีลำดับชั้นอยู่ โดยตัวผู้ที่มีสถานะสูงจะทำซุ้มได้อย่างสวยงาม ส่วนนกตัวผู้ที่สถานะต่ำกว่าจะทำซุ้มสวยน้อยกว่า นี่ไม่ได้หมายความว่าการทำซุ้มสวยจะยกระดับให้มีสถานะสูง แต่เป็นเพราะถ้าทำซุ้มสวยเกินแบบไม่เจียมตัว นกตัวผู้ที่มีสถานะสูงกว่าจะบินมาทำลายซุ้มของนกตัวที่สถานะต่ำกว่า ไม่ให้ซุ้มสวยข้ามหน้าข้ามตาตัวเอง
สัตว์จำพวกนกมีวิธีเกี้ยวพาราสีที่เป็นเอกลักษณ์อยู่มากมาย กลยุทธ์ของนกบาวเวอร์ด่างที่ทำลายซุ้มของตัวอื่นอาจดูขี้โกง แต่กลยุทธ์ของนกบางชนิดก็ดูยึดมั่นในคุณธรรมเกินเหตุ
เช่น นกมานาคินหางยาวที่มีถิ่นฐานอยู่ในป่าแถบอเมริกากลาง เป็นนกที่เล็กกว่านกกระจอก มีหลังสีฟ้า และมีขนหางที่ยาวเป็นพิเศษ 2 เส้น กลยุทธ์ในการเกี้ยวพาราสีของนกชนิดนี้คือการเต้น
เวลาเต้นนกมานาคินหางยาวจะพาลูกศิษย์มาวาดลีลาด้วยเสมอ มันจะร้องเพลงด้วยเสียงที่เป็นเอกลักษณ์ แล้วโยกตัวขึ้น ๆ ลง ๆ เพื่อขอความรัก นกมานาคินหางยาวตัวผู้จะโตเต็มวัยเมื่ออายุได้ 5 ปี แต่ไม่ได้หมายความว่ามันจะเต้นเป็นโดยอัตโนมัติ ตัวผู้จะใช้วิธีดูนกตัวอื่นเต้นแล้วเลียนแบบ มันจะฝึกฝนจนอายุประมาณ 8 ปี ถึงตอนนั้นนกตัวอื่นจะยอมรับมันเป็นศิษย์
เมื่อเป็นศิษย์มีครูแล้วเท่ากับว่าได้อยู่จุดสตาร์ทกับเขาสักที นกมานาคินหางยาวจะเริ่มเต้นเรียกร้องความสนใจจากตัวเมียพร้อมกับครูทุกวัน แต่ตอนนี้มันเป็นได้เพียงพระรองที่เสริมให้พระเอกดูเด่น ไม่สามารถผสมพันธุ์กับตัวเมียได้
นกตัวผู้จะฝึกฝีมือในฐานะศิษย์อยู่ประมาณ 2 ปี หรือคืออายุปาไป 10 ปีแล้ว ถึงจะออกไปเกี้ยวสาวในฐานะตัวผู้ได้อย่างเต็มตัว นกตัวผู้ที่แก่วิชาแล้วจะเริ่มรับศิษย์เพื่อให้ไปช่วยเต้นเกี้ยวตัวเมีย แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าการผสมพันธุ์จะเป็นเรื่องง่าย
นกมานาคินหางยาวตัวเมียมาตรฐานสูงมาก มันจริงจังกับลีลาของตัวผู้มาก ต่อให้ครูเต้นได้สมบูรณ์แบบ แต่ถ้าศิษย์เต้นผิด ตัวเมียจะบินหนีไป ไม่สนใจอีก การเต้นของนกมานาคินหางยาวนั้นยากมาก บางครั้งมันต้องกระโดดถึง 100 ครั้งโดยไม่ให้พลาดแม้แต่ครั้งเดียว
หลังจากผสมพันธุ์เสร็จ ตัวเมียจะบินออกไปสร้างรัง ออกไข่ กกไข่ และเลี้ยงลูกนกเองตัวเดียว ตัวผู้ที่เป็นครูจะบินกลับรังไปใช้ชีวิตกับศิษย์กันสองตัวอย่างสนิทสนมต่อไป ซึ่งเป็นเรื่องที่แปลก เพราะปกติตัวเมียจะให้ความสำคัญกับคุณสมบัติของตัวผู้ที่ติดตัวมาแต่กำเนิด เช่น ขนาดตัวที่ใหญ่ แต่นกมานาคินหางยาวกลับยึดติดการแข่งขันที่เป็นธรรม โดยให้ความสำคัญกับความทุ่มเทและความพยายาม
ถึกทน
โลกธรรมชาติประกอบด้วยสมดุลระหว่างผู้ล่าและผู้ถูกล่า การหลีกเลี่ยงที่จะถูกจู่โจมจึงเป็นไปได้ยาก แต่สิ่งมีชีวิตบางชนิดพยายามเอาตัวรอดด้วยการใช้ความถึกทนที่ต่อให้ถูกศัตรูจู่โจมก็ไม่เป็นอะไร
ถ้าพูดถึงความถึกทนต้องนึกถึงความแข็ง สิ่งมีชีวิตที่แข็งที่สุดหนีไม่พ้นสัตว์จำพวกหอย ในบรรดาสัตว์เหล่านั้นหอยฝาคู่ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดคือพวกที่อยู่ในวงศ์หอยมือเสือ เปลือกของมันสามารถใหญ่ได้ถึง 2 เมตร หอยมือเสือที่โตเต็มวัยแล้วจะไม่มีใครมาจู่โจมทั้งสิ้น แถมหอยชนิดนี้ยังอายุยืนถึง 100 ปี
ยังมีสัตว์อื่นที่นอกจากจะใช้ความแข็งในการป้องกันตัวเองก็ยังใช้โจมตีด้วย วอมแบต ได้ชื่อว่าเป็นสัตว์ที่ก้นแข็งที่สุดในโลก เมื่อมันถูกศัตรูอย่างควอลล์หรือแทสเมเนียนเดวิลจู่โจม มันจะเอาหัวมุดโพรงแล้วใช้ก้นตัวเองปิดปากโพรงไว้

เพียงเท่านี้ศัตรูส่วนใหญ่ก็จะยอมถอดใจ ทำให้วอมแบตสามารถปกป้องตัวเอง และลูกในโพรงได้ ในกรณีที่ศัตรูรุกล้ำเข้ามาในโพรงได้ วอมแบตจะค้อมตัวให้ต่ำ รอให้ศัตรูกระโจนเข้าใส่แล้วมันจะยกก้นขึ้นฟาดหัวศัตรูกับเพดานโพรง อานุภาพของมันรุนแรงมาก จนว่ากันว่าแถวโพรงของวอมแบตจะพบศพของควอลล์ในสภาพกะโหลกแตกกองอยู่บ่อย ๆ
นอกจากนี้ยังมีสัตว์หายากที่ขึ้นชื่อเรื่องความถึกทนอยู่อีก นั่นคือตัวนิ่ม อาวุธที่ทรงพลังที่สุดของมันคือเกล็ดแข็งที่ปกคลุมทั่วตัว เกล็ดนี้พัฒนามาจากเส้นขน ศัตรูของตัวนิ่มคือสัตว์กินเนื้อขนาดใหญ่ เช่น สิงโต เสือโคร่ง และเสือดาว เมื่อถูกจู่โจมตัวนิ่มจะม้วนตัวเป็นลูกบอล เมื่อทำแบบนี้ตัวนิ่มจะถึกทนต่อการถกทำร้ายมาก ต่อให้เป็นสัตว์กินเนื้อที่ดุร้ายแค่ไหนก็กัดไม่เข้า
นอกจากนี้ขณะที่ม้วนตัวเป็นลูกบอลอยู่ บางครั้งตัวนิ่มจะไล่ศัตรูด้วยการสะบัดหางใส่ เกล็ดของมันคมมาก จนเฉือนผิวหนังของศัตรูได้ แต่เกล็ดที่น่าอัศจรรย์นี้กลับนำภัยมาสู่ตัว เพราะมีการลักลอบจับตัวนิ่มไปขาย จนว่ากันว่ามันเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ถูกลักลอบขายมากที่สุดในโลก น่าเศร้าที่ศัตรูทางธรรมชาติอันดับ 1 ของตัวนิ่มคือมนุษย์
นิ่งสงบ
บางครั้งการผลีผลามอาจนำไปสู่ความผิดพลาดร้ายแรงได้ ในโลกธรรมชาติความผลีผลามถือเป็นทางลัดไปสู่ความตาย และมีสิ่งมีชีวิตไม่น้อยที่สามารถสงบนิ่งได้อย่างน่าทึ่ง เช่น เห็บ ที่ใช้ชีวิตอยู่บนต้นไม้ มันมองไม่เห็น และไม่ได้ยินเสียง มันรับรู้แสงสว่างได้ทางผิวหนังแค่นิดหน่อย และจะปีนไปยังปลายกิ่งไม้โดยอาศัยการรับรู้ความสว่างกับความมืด
จากนั้นมันจะรอให้สัตว์เดินผ่านมาใต้ต้นไม้ เห็บใช้การดมกลิ่นเพื่อรับรู้สารประกอบที่เรียกว่า “กรดบิวทิริก” ซึ่งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมปล่อยออกมา พอเห็บรู้สึกได้ถึงกรดบิวทิริก มันจะทิ้งตัวลงจากปลายกิ่งไม้ ถ้าโชคดีหล่นลงบนตัวสัตว์ มันก็จะซ่อนอยู่บนผิวหนังสัตว์แล้วดูดเลือด ถ้าพลาดมันก็จะกลับไปแก้ตัวใหม่ ทำไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะสำเร็จ
สัตว์ที่สงบนิ่งได้อย่างน่าทึ่งตัวต่อมาคือ นกกระสาปากพลั่ว มันเป็นนกขนาดใหญ่สูงถึง 1.2 เมตร เทคนิคล่าเหยื่อของมันคือการรออยู่นิ่งไม่ขยับเป็นเวลาหลาย ชม. ราวกับรูปปั้น เฝ้ารอให้ปลาเข้ามาใกล้แล้วจับกิน
โคอาลาก็เป็นสัตว์ที่ชอบอยู่นิ่ง ๆ มันเป็นสัตว์ที่ใช้เวลานอนหลับมากที่สุดคือ 22 ชม./วัน สาเหตุมาจากยูคาลิปตัสที่มันกินเป็นอาหารนั้นมีพิษ และมีสารอาหารอยู่เพียงเล็กน้อย มันต้องย่อยสลายพิษด้วยพลังงานอันน้อยนิดที่ได้จากใบยูคาลิปตัส จึงมีเวลาทำโน่นทำนี่ได้น้อย

ถ้าถามว่าทำไมโคอาลาถึงเลือกอาหารแบบนั้น คำตอบคือในช่วงที่ทะเลทรายขยายตัวในออสเตรเลีย พืชที่ถือกำเนิดขึ้นมาคือต้นยูคาลิปตัสที่มีพิษ และทนแล้ง บรรพบุรุษของโคอาลากินยูคาลิปตัสที่ไม่มีสัตว์ตัวไหนกินเลย จึงรอดชีวิตมาได้ถึงปัจจุบัน
หยุดไม่อยู่
พูดถึงความต้องการหลัก 3 อย่างของมนุษย์ก็จะมีเรื่อง อาหาร การพักผ่อน และความต้องการทางเพศ ในโลกของสัตว์ระดับของความต้องการทางเพศที่สูงก็เป็นกลยุทธหนึ่งในการเอาตัวรอด สัตว์ที่ขึ้นชื่อเรื่องนี้คือ กระต่าย สัตว์ที่อ่อนแอ และมักเป็นเหยื่อของนักล่าหลายชนิด กระต่ายตัวเมียสามารถผสมพันธุ์ได้ตลอดทั้งปี ด้วยความที่จะตกไข่อัตโนมัติเมื่อผสมพันธุ์ จึงแทบการันตีได้ว่าจะติดลูกแน่นอน

นอกจากนี้แม้ในท้องจะมีตัวอ่อนอยู่แล้ว แต่กระต่ายยังสามารถตั้งท้องเพิ่มได้อีก และถ้าเกิดเหตุที่ทำให้คิดว่าตอนนี้ไม่เหมาะกับการมีลูก เช่น ป่วย บาดเจ็บ หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ดี กระต่ายตัวเมียจะดูดซึมตัวอ่อนในท้องมาเป็นสารอาหาร
สัตว์ตัวต่อมาคือแมวน้ำช้างที่ตัวใหญ่ และมีจมูกยาว ตัวผู้ที่โตเต็มวัยนั้นแข็งแกร่งขนาดล่าฉลามได้ เรียกว่าแทบไม่มีศัตรูเลย แมวน้ำช้างตัวผู้จะมีฮาเร็มที่ประกอบด้วยตัวเมียอย่างน้อย 20 ตัว และมากสุดถึง 1,000 ตัว แน่นอนว่าตัวผู้ที่แข็งแกร่งเท่านั้นจึงจะมีฮาเร็มได้ แมวน้ำช้างเจ้าของฮาเร็มจะทำให้ตัวเมียเกือบ 50 ตัวตั้งท้องในฤดูผสมพันธุ์ ความต้องการทางเพศที่สูงลิบ อาจเป็นหนึ่งในคุณสมบัติของผู้แข็งแกร่งก็ได้
พึ่งพาผู้อื่น
ตามคำกล่าวที่ว่า “คนที่ไม่ทำงานก็จะไม่มีกิน” เราต้องกินเพื่อให้มีชีวิตอยู่รอด และต้องทำงานเพื่อให้มีกิน แต่ก็มีสิ่งมีชีวิตที่ไม่ต้องทำงาน และคอยแต่พึ่งพาผู้อื่นตลอดชีวิต ผึ้ง สัญลักษณ์ของแมลงที่ขยันขันแข็ง แต่ความจริงแล้วผึ้งตัวผู้ไม่ทำงานเลยตั้งแต่เกิดจนตาย มันจะรอให้ผึ้งงานที่ล้วนแต่เป็นตัวเมียหาอาหารมาให้

ถ้าอย่างนั้นผึ้งตัวผู้มีไว้ทำไม คำตอบคือเพื่อผสมพันธุ์กับนางพญา เมื่อผึ้งนางพญาตัวใหม่ในรังเติบโตขึ้นก็จะบินออกไปสร้างรังใหม่ ช่วงนั้นผึ้งตัวผู้จะบินตามผึ้งนางพญาไป และกำเนิดเป็นผึ้งฝูงใหม่ แต่ไม่ใช่ว่าผึ้งตัวผู้ทุกตัวจะได้ผสมพันธุ์กับนางพญา ผึ้งตัวผู้จะต่อสู้กัน โดยตัวที่แพ้ต้องออกจากรังไป จะกลับไปที่รังเดิมก็ไม่ได้เพราะจะถูกเหล่าผึ้งตัวเมียขับไล่ เพราะหาอาหารเองไม่ได้ สุดท้ายจึงอดตายอย่างอนาถ ส่วนผึ้งตัวผู้ที่ได้ผสมพันธุ์จะถูกนางพญาดึงอวัยวะสืบพันธุ์ออกมาระหว่างกำลังผสมพันธุ์ และช็อกตายไปทั้งอย่างนั้น
แต่สัตว์ที่พึ่งพาผู้อื่นยิ่งกว่านั้นคือ ปลาแองเกลอร์ ปลาแองเกลอร์ที่เราเคยเห็นกันคือตัวเมีย ปลาแองเกลอร์ตัวผู้มีขนาดเล็กมาก โดยตัวเมียมีขนาดราว 40 ซม. ขณะที่ตัวผู้มีขนาดราว 2 ซม. เท่านั้น และตัวผู้ไม่มีติ่งเนื้อเรืองแสงสำหรับล่อเหยื่อ อันเป็นสัญลักษณ์ของปลาแองเกลอร์
ปลาแองเกลอร์ตัวผู้ใช้ชีวิตโดยจะกัดเข้าที่ลำตัวของตัวเมีย เมื่อผ่านไปสักพักออกซิเจนจะถูกปล่อยออกมาจากปากของตัวผู้ แล้วเกิดการหลอมรวมกับตัวเมียในระดับเส้นเลือด ตัวผู้จะได้รับสารอาหารจากร่างกายของตัวเมีย แต่สมอง อวัยวะภายใน และตาจะเสื่อมถอย รวมทั้งหายใจน้อยลงไปเอง สุดท้ายตัวผู้จะกลายเป็นอัณฑะ ซึ่งใช้ในการผสมพันธุ์เพื่อวางไข่ต่อไป
สาเหตุที่ปลาแองเกลอร์ตัวผู้ใช้ชีวิตแบบนั้น เพราะใต้ทะเลลึกโอกาสที่จะเจอกับปลาแองเกลอร์ตัวเมียนั้นมีน้อยมาก เมื่อพบตัวเมียสักตัว ตัวผู้จะพยายามรักษาตัวเมียตัวนั้นเอาไว้ และสมมุติว่าปลาแองเกลอร์ตัวผู้ และตัวเมียมีขนาดเท่ากัน จะเกิดการแย่งชิงอาหารกัน ทำให้โอกาสในการผสมพันธุ์ลดลง ตัวผู้จึงวิวัฒนาการให้ตัวเองมีขนาดเล็กและแบ่งอาหารจากตัวเมีย แล้วใช้ชีวิตแบบให้ตัวเมียเลี้ยงดูแทน
อยู่อย่างพอเพียงและพึ่งพาตัวเอง
การอยู่อย่างพอเพียงและพึ่งพาตัวเอง อาจเป็นกลยุทธที่ยิ่งใหญ่ในการมีชีวิตรอด เอลิเซียคลอโรติกา เป็นทากทะเลชนิดหนึ่ง มันมีลำตัวสีเขียว มีจุดเด่นที่รูปลักษณ์ภายนอกเหมือนใบผักกาดแก้ว ทั้งที่มันเป็นสัตว์ แต่กลับสังเคราะห์แสงได้ แค่พลังงานที่ได้จากการสังเคราะห์แสงก็ช่วยให้ใช้ชีวิตอยู่ได้ 10 เดือนแล้ว
สิ่งมีชีวิตอีกชนิดที่พึ่งพาตัวเองคือมดตัดใบไม้ มันเป็นมดที่อาศัยอยู่ในทวีปอเมริกาใต้ ปกติมันจะตัดใบไม้แล้วลำเลียงไปที่รัง จากนั้นนำใบไม้มาใช้เพาะเห็ดราในรัง ไม่เพียงเท่านั้นมันยังทำปศุสัตว์โดยเลี้ยงเพลี้ยไว้ในรัง เมื่อเพลี้ยโตมันจะได้รับสารรสหวานที่เพลี้ยหลั่งออกมา

เรื่องน่าทึ่งคือในรังมดตัดใบไม้ 1 รัง มีประชากรมดราว 1 ล้าน – 8 ล้านตัว เมื่อเทียบกับมดทั่วไป และผึ้ง มดตัดใบไม้มีสังคมขั้นสูงที่พัฒนามากที่สุดในสังคมแมลง พวกมันบริหารจัดการรังโดยการแบ่งงานให้กับมดในรังกว่า 30 อย่าง เช่น ดูแลนางพญา ดูแลไข่ เลี้ยงตัวอ่อน รวบรวมอาหาร ซ่อมแซมรัง ปกป้องรัง เก็บเกี่ยวเห็ดที่เพาะไว้ เตรียมพื้นที่เพาะเห็ด เมื่อเทียบกับสังคมมนุษย์แล้ว บริษัทที่มีงานมากกว่า 30 อย่าง นั้นหาไม่ได้ง่าย ๆ
นอกจากนี้มดตัดใบไม้ยังแบ่งงานตามรูปร่าง และขนาดของมดแต่ละตัว โดยตัวใหญ่จะมีขนาดราว 4 ซม. ส่วนตัวเล็กจะมีขนาดราว 2-3 มม. ขนาดที่แตกต่างกันของพวกมันอาจเข้าใจผิดว่าเป็นมดคนละชนิดกัน การแบ่งงานอย่างสมเหตุสมผล การไม่เห็นประโยชน์ส่วนตนของมดตัดใบไม้ ถือเป็นรูปแบบการบริหารจัดการองค์กรที่ยังไม่มีองค์กรไหนทำได้
เกร็ดความรู้เกี่ยวกับสัตว์ที่เอามานำเสนอใน ep นี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่หยิบยกมาจากหนังสือ โลกแม่งโหดสัตว์ หนังสือแปลไทยโดยสำนักพิมพ์วีเลิร์น ราคา 230 บาท หนังสือนำเสนอความรู้ในรูปแบบของการ์ตูน อ่านง่าย ได้สาระ ใครสนใจอยากได้ความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับสัตว์ สามารถหาซื้อหนังสือเล่มนี้มาอ่านกันได้ครับ
สนใจหนังสือ โลกแม่งโหดสัตว์ (SURVIVE)
สามารถสั่งซื้อได้ที่ Shopee: https://s.shopee.co.th/AA096akuqu
ซื้อผ่านลิงค์เป็นการสนับสนุนช่องครับ
Leave a comment