มนุษย์ค้นพบสิ่งใหม่ ๆ มากมายบนโลกใบนี้ เราเคยไปดวงจันทร์มาแล้ว แต่แทบไม่มีใครผจญภัยเข้าไปในท้องของตัวเอง ทั้งที่ท้องไส้ส่งผลต่อสุขภาพของเราอย่างมาก ท้องไส้สามารถบอกได้ว่าเรามีโอกาสเป็นโรคอะไรบ้าง ระบบภูมิคุ้มกันของเราเป็นยังไง หากเราดูแลรักษาท้องไส้ไม่ดี นอกจากจะเกิดโรคลำไส้แปรปรวน ท้องร่วง หรือมะเร็งลำไส้ใหญ่แล้ว ยังส่งผลให้เกิดโรคหัวใจ โรคซึมเศร้าและวิตกกังวลอีกด้วย
ไอติมเล่า ep นี้ จะมาสรุปเนื้อหาจากภาพยนตร์สารคดีจาก Netflix เรื่อง “แฮ็กสุขภาพ: ความลับของการกิน” สารคดีที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการกิน ดูแล้วทำให้เรารู้ว่าในท้องของเราเกิดอะไรขึ้นบ้าง และท้องของเราส่งผลต่อสุขภาพเราได้อย่างไร
หากนึกอยากดูแลสุขภาพขึ้นมา คำถามเหล่านี้อาจเกิดขึ้น เช่น อะไรคือสิ่งที่ดีต่อสุขภาพ? ทำไมการกินถึงทำให้เจ็บป่วย? ฉันต้องเปลี่ยนอะไรบ้างถ้าอยากสุขภาพดี? ทำไมการลดน้ำหนักถึงยากขนาดนี้? ฉันต้องซื้ออาหารเสริมราคาหลายพันต่อเดือนเหรอ? ซึ่งหากเราสังเกตระบบทางเดินอาหารของตัวเอง การตอบคำถามเหล่านี้จะง่ายขึ้น
เราคิดว่าระบบทางเดินอาหารเป็นแค่เครื่องผลิตอึ แต่ความจริงแล้วมันเป็นศูนย์กลางชีวิตของเราทั้งชีวิต โรคต่างๆ เช่น โรควิตกกังวล, โรคซึมเศร้า, โรคมะเร็ง, ภาวะออทิสติก หรือพาร์กินสัน ต่างก็เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหาร ปัจจุบันวงการแพทย์สามารถบอกได้ชัดเจนขึ้นว่าเราควรกินอะไร ระบบทางเดินอาหารมีความยืดหยุ่น มันเปลี่ยนไปตามรูปแบบการกินของเรา เมื่อเราตระหนักถึงเรื่องนี้แล้วปรับเปลี่ยนการกินของตัวเอง สุขภาพร่างกายของเราก็จะเปลี่ยนไป

ระบบทางเดินอาหารส่งผลต่อทั้งร่างกาย มันอาจส่งผลต่อสภาวะบางอย่างในสมองด้วยซ้ำ ดังนั้นระบบทางเดินอาหารจึงเป็นเหมือนสมองอันที่สองของเรา และสมองอันที่สองนี้มีเส้นประสาทมากกว่าที่มีอยู่ในไขสันหลังซะอีก ให้คิดว่าสมองกับทางเดินอาหารเป็นเพื่อนซี้กัน ถ้าอันหนึ่งเกิดรวนขึ้นมา อีกอันก็จะรวนไปด้วย
เรื่องที่น่าสนใจคือเราย่อยอาหารเองไม่ได้ เราต้องพึ่งพาจุลินทรีย์ในท้องถึงจะย่อยอาหารได้ตามที่ควรจะเป็น ซึ่งจุลินทรีย์เหล่านั้นหมายถึงไวรัส, แบคทีเรีย และยีสต์ ที่เรียกรวมกันว่า “ชุมชนจุลินทรีย์” หรือ Microbiome
คนส่วนใหญ่คิดว่าแบคทีเรียเป็นอันตราย แต่ที่จริงแล้วแบคทีเรีย 99% ไม่มีผลกระทบต่อเรา บางชนิดอาจให้ประโยชน์ด้วยซ้ำ แบคทีเรียบางชนิดช่วยเราย่อยอาหาร, ช่วยบรรเทาอาการอักเสบ แบคทีเรียดีจะช่วยฝึกระบบภูมิคุ้มกันของเราให้ต่อสู้กับแบคทีเรียร้ายที่อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ
บรรดาจุลินทรีย์เหล่านี้ยังช่วยผลิตสารเคมีที่เราผลิตเองไม่ได้ พวกมันส่งผลต่อฮอร์โมนของเรา และสามารถทำให้เรารู้สึกหิวหรืออิ่มได้ ดังนั้นการที่ใครคนหนึ่งจะอ้วนหรือผอม ปัจจัยหนึ่งอยู่ที่จุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหาร
เราคิดว่าอาหารที่เราเลือกกินขึ้นอยู่กับสมองของเราล้วน ๆ แต่บางครั้งมันอาจเป็นสัญญาณจากจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหารของเราที่ชักใยให้เรากินอาหารที่มันชอบ ทั้งที่เรารู้สึกขัดแยงอยู่ในใจ เพราะอาหารอันนั้นจะทำให้เราน้ำหนักขึ้น

ระดับความหิวและความถี่ที่เราอยากกินอาหาร อาจเกิดจากแบคทีเรียกลุ่มเล็ก ๆในลำไส้ที่บอกว่า “ฉันอยากกินเฟรนช์ฟรายจะแย่แล้ว” หรืออะไรทำนองนั้น ถ้าเรากินน้ำตาลเยอะ เราก็จะมีจุลินทรีย์ที่ชอบน้ำตาล ถ้าเรากินไขมันเยอะ เราก็จะมีจุลินทรีย์ที่ชอบไขมัน อาจเรียกได้ว่าของโปรดที่คุณชอบกิน อาจไม่ใช่ของโปรดของคุณจริง ๆ แต่เป็นของโปรดของจุลินทรีย์ที่อยู่ในท้องของคุณต่างหาก พวกมันบ่งการให้คุณอยากกินสิ่งนั้น อยากกินสิ่งนี้
ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา นักวิจัยพบว่าคนที่มีอาการคล้ายซึมเศร้า อาจเกิดจากการขาดแบคทีเรียในลำไส้ที่ผลิตสารเคมีที่ส่งผลต่อสมอง จึงทำให้ความรู้สึกเปลี่ยนไป จนนำไปสู่อาการคล้ายซึมเศร้าได้ นักวิจัยจึงได้นำจุลินทรีย์จากคนที่สุขภาพจิตดีไปปลูกถ่ายในหนู พบว่าหนูตัวนั้นมีความอยากรู้อยากเห็น ชอบอยู่ในที่ที่มีแสงสว่าง
แต่ถ้าปลูกถ่ายจุลินทรีย์จากคนที่เป็นโรคซึมเศร้า หนูตัวนั้นจะซุกตัวอยู่ในที่มืด เกิดความเครียด, วิตกกังวล และซึมเศร้า นอกจากจุลินทรีย์ในท้องของเราจะมีประโยชน์เรื่องช่วยย่อยอาหารแล้ว พวกมันยังช่วยรักษาสมดุลของเคมีในสมองของเราอีกด้วย
แล้วจุลินทรีย์เหล่านี้มาจากไหน? มนุษย์เราตอนอยู่ในท้องแม่ไม่ได้มีจุลินทรีย์ติดตัว แต่หลังจากเราเกิดมาแล้ว ผ่านทางช่องคลอดของแม่ ตัวเราจะสัมผัสกับแบคทีเรียที่มีอยู่ในช่องคลอดของแม่ นั่นสร้างให้เกิดชุมชนจุลินทรีย์ชุมชนแรกของเรา หลักจากนั้นเราจะได้รับจุลินทรีย์เพิ่มเข้ามาในร่างกายมากขึ้นจากสิ่งที่เราเอาเข้าปาก จากดินหญ้าที่เราจับ จากสถานที่ที่เราไป หรือจากสัตว์เลี้ยง เพราะอย่างนี้แต่ละคนจึงมีชุมชนจุลินทรีย์ที่มีลักษณะเฉพาะตัวไม่ซ้ำกับใคร เหมือนกับลายนิ้วมือที่แต่ละคนมีไม่เหมือนกัน

จุลินทรีย์ในท้องของเราต้องการไฟเบอร์จากผักผลไม้แค่วันละ 28-40 กรัม แต่คนทั่วไปกินไฟเบอร์แค่วันละ 15 กรัมเท่านั้น และมนุษย์เราทุกวันนี้มักกินอาหารแปรรูปที่ผ่านกรรมวิธีต่าง ๆ จนแทบไม่เหลือสารอาหารจากวัตถุดิบดั้งเดิมตามธรรมชาติ แถมยังเติมสารเคมีต่าง ๆ เข้าไป เช่น สารกันบูด, สารแต่งสี แต่งกลิ่น รวมถึงเติมน้ำตาลปริมาณมาก
หากเรากินอาหารแปรรูปซึ่งย่อยง่ายและย่อยไว ภายในระยะไม่กี่เซนติเมตรแรกของลำไส้เล็ก มันก็ถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดแล้ว ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในกระแสเลือดพุ่งสูง เซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายต้องดูดซึมมันอย่างรวดเร็ว ทำให้ร่างกายเกิดความตึงเครียด เพราะไม่รู้ว่าจะเอาน้ำตาลพวกนี้ไปไว้ที่ไหน ร่างกายเลยต้องส่งมันไปทุกที่
แต่หากเรากินผักที่มีไฟเบอร์สูง มันจะถูกย่อยและดูดซึมทีละนิด ทีละหน่อย จนเดินทางไปถึงลำไส้ใหญ่ และกลายเป็นแหล่งอาหารที่ดีของจุลินทรีย์ที่อยู่ที่นั่น
แล้วจะเกิดอะไรขึ้นถ้าเราได้รับไฟเบอร์ไม่เพียงพอสำหรับจุลินทรีย์ในลำไส้ คำตอบคือพวกมันจะเริ่มกินเมือกที่เคลือบสำไส้ของเราเป็นอาหาร พอพวกมันกินเมือกจนหมด แบคทีเรียจะสามารถเข้าไปในบริเวณที่มันไม่ควรเข้าไปในร่างกาย พวกมันจะถูกระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายขัดขวาง แบคทีเรียและระบบภูมิคุ้มกันจะสู้กัน จนทำให้อวัยวะภายในของเราอักเสบ และเป็นสาเหตุที่นำไปสู่โรคต่าง ๆ เช่น โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง หรือโรคลำไส้แปรปรวน
ถ้าเราเลิกกินอาหารบางประเภท จุลินทรีย์ของเราจะเปลี่ยนไปอย่างมาก เพราะมันมีชีวิตอยู่ไม่ได้ถ้าเราไม่ให้อาหารมัน ยิ่งเราทานอาหารที่หลากหลาย ชุมชนจุลินทรีย์ของเราก็ยิ่งอุดมสมบูรณ์ เราจะมีแบคทีเรียในลำไส้หลายชนิด ทำให้รับมือกับโรคภูมิแพ้ได้ดีขึ้น
ผู้เชี่ยวชาญเปรียบชุมชนจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหารว่าเป็นเหมือนกับป่า คุณจะปลูกต้นไม้ที่แข็งแรง 2-3 ต้น แล้วคาดหวังให้ทุกอย่างเปลี่ยนไปไม่ได้ ป่าต้องการสมดุลที่เหมาะสม ต้องมีทั้งต้นไม้ใหญ่ ต้นไม้เล็ก วัชพืช แสงสว่าง น้ำ และสารอาหารในดิน
เวลาเราอ่านข้อมูลโภชนาการที่ติดอยู่บนบรรจุภัณฑ์อาหาร เราจะคิดว่า “นี่คือปริมาณพลังงานที่เราทุกคนจะได้รับ ถ้าเรากินอาหารอย่างเดียวกันนี้” แต่นั่นไม่เป็นความจริง ถ้าเราเอาแอปเปิลที่เหมือนกันเป๊ะให้คน 3 คนกิน ร่างกายของแต่ละคนจะตอบสนองต่อแอปเปิลไม่เหมือนกัน พวกเขาจะย่อยและดูดซึมได้ไม่เท่ากัน ดึงสารอาหารไปใช้ได้ไม่เหมือนกัน ดึงพลังงานไปใช้ได้ไม่เท่ากัน
เราคิดมาตลอดว่าร่างกายคนจะอ้วนหรือผอมขึ้นอยู่กับแคลอรี ถ้าผมกับคุณกินอาหารแบบเดียวกัน สุดท้ายก็ควรจะได้ผลลัพธ์แบบเดียวกัน แต่มันไม่จริงเลย ระดับกลูโคสในเลือดหลังกินอาหารแต่ละคนขึ้นไม่เท่ากัน แม้จะกินอาหารอย่างเดียวกัน ซึ่งการดูดซึมนี่ต่างหากที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของน้ำหนักตัว
มีงานวิจัยที่ศึกษาฝาแฝด โดยที่แฝดคนหนึ่งเป็นโรคอ้วน ขณะที่อีกคนผอม นักวิจัยได้นำแบคทีเรียในลำไส้ของทั้งคู่ไปปลูกถ่ายในหนู ผลการทดลองพบว่าหนูที่ได้รับแบคทีเรียจากแฝดอ้วนมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นมากกว่าหนูที่ได้รับแบคทีเรียจากแฝดผอม แม้ว่าหนูทดลองทั้งสองตัวจะกินอาหารเหมือนกัน การทดลองนี้ช่วยให้เราเข้าใจว่าทำไมคนบางคนถึงลดน้ำหนักได้ยากกว่าคนอื่น มีบางคนที่น้ำหนักลงแล้วขึ้นจนหนักกว่าเดิม นักวิจัยคิดว่าจุลินทรีย์ในลำไส้อาจเป็นสาเหตุ

หากชุมชนจุลินทรีย์ในลำไส้ของคุณเสียหาย คุณอยากรักษามันด้วยอึไหม คุณจะว่ายังไงถ้าหมอบอกว่าอึคนอื่นอาจช่วยชีวิตคุณได้ โดยการปลูกถ่ายจุลินทรีย์ในอุจจาระ หรือเรียกสั้น ๆ ว่า FMT ซึ่งคือการนำอุจจาระของคนที่สุขภาพดีไปใส่ในร่างกายของคนที่มีปัญหาด้านสุขภาพ อาจใส่เข้าไปโดยการสวนทวารหนัก หรือรับประทานในรูปแบบของยาเม็ด
เวลาที่แบคทีเรียทำให้ผู้ป่วยเกิดลำไส้ใหญ่อักเสบและท้องร่วงอย่างรุนแรง หมอจะนำแบคทีเรียจากคนที่สุขภาพแข็งแรงไปพ่นในลำไส้ของผู้ป่วย เพื่อนำแบคทีเรียใหม่เข้าสู่ลำไส้ วิธีการนี้มีอัตราการรักษาหายสูงถึง 90%
แต่การทำ FMT ก็มีความเสี่ยง เพราะนอกจากเราจะได้รับแบคทีเรียดีแล้ว ก็อาจมีแบคทีเรียไม่ดีติดมาด้วย วิธีการนี้อาจถ่ายทอดแนวโน้มที่จะเป็นโรคต่าง ๆ จากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งได้ ผู้เชี่ยวชาญจึงไม่แนะนำให้ลองใช้วิธีนี้ด้วยตัวเอง เพราะเป็นการรักษาแบบหว่านแห
ที่จริงแล้วพวกเราทุกคนสามารถเป็นเภสัชกรให้ตัวเองได้ โดยการเลือกกินอาหารที่เหมาะสม สิ่งที่เรากินสามารถเปลี่ยนแปลงร่างกายของเราได้ อาหารที่เรากินวันนี้จะส่งผลต่อจุลินทรีย์ของเราภายใน 24 ชั่วโมง ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้กินพืชที่ไม่ซ้ำกันสัปดาห์ละ 20-30 ชนิด ให้คุณลองนึกถึงสิ่งที่คนรุ่นก่อนเขากินกัน เช่น ผัก ผลไม้ ถั่วเปลือกแข็ง เมล็ดธัญพืช หรือแม้แต่อาหารหมักดองที่เป็นแหล่งของโพรไบโอติก
โลกนี้ไม่ได้มีอาหารที่คุณกินแค่อย่างเดียวแล้วจะเปลี่ยนสุขภาพของคุณได้ คุณต้องกินอาหารที่หลากหลาย ลองกินแล้วสังเกตว่าตัวเองรู้สึกยังไง หลังร่างกายดูดซึมอาหารเหล่านั้นเข้าสู่กระแสเลือด เค้กหรือเฟรนช์ฟรายอาจเป็นของที่กินแล้วรู้สึกอร่อย แต่หลังจากกินเข้าไปแล้วเราจะรู้สึกง่วงหรือสมองเบลอ ส่วนอาหารที่มีข้าวและผัก อาจไม่ใช่ของที่กินแล้วหยุดไม่ได้ แต่มันจะให้พลังงานสม่ำเสมอกว่า ช่วยให้คุณไม่เพลียระหว่างวัน
ร่างกายของเราเป็นผู้เชี่ยวชาญและเราควรฟังมัน หากคุณกินอะไรแล้วท้องอืด, อาหารไม่ย่อย หรือท้องเสีย นั่นเป็นเหมือนข้อความจากท้องไส้ที่ส่งสัญญาณบอกถึงปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นตามมา ดังนั้นคุณควรใส่ใจฟังสิ่งที่มันบอก เมื่อท้องไส้ของคุณดี สุขภาพกายและสุขภาพจิตของคุณก็จะดีไปด้วย
และนี่คือเนื้อหาจากสารคดีเรื่อง แฮ็กสุขภาพ: ความลับของการกิน สารคดีที่ดูง่าย มีแอนนิเมชั่นประกอบการเล่าเรื่อง เนื้อหาสาระมีประโยชน์ ใครสนใจอยากรู้เนื้อหาเพิ่มเติม สามารถเข้าไปชมได้ทาง Netflix ความยาว 1 ชม. 19 นาที
Leave a comment