ขัปปะ - ภาพสะท้อนของสังคมมนุษย์ที่มืดมน ผ่านสายตาของนักเขียนที่จบชีวิตตัวเองตอนอายุ 35 ปี

 

ขัปปะ - ภาพสะท้อนของสังคมมนุษย์ที่มืดมน ผ่านสายตาของนักเขียนที่จบชีวิตตัวเองตอนอายุ 35 ปี

ตัวเอกในเรื่องซึ่งก็ไม่ทราบว่าชื่ออะไร รู้แต่ว่าเป็นผู้ชาย เขาออกไปเดินป่าคนเดียวแล้วผลัดตกลงไปในหลุม ซึ่งข้างใต้นั้นเป็นดินแดนของ ขัปปะ สัตว์ประหลาดในนิทานพื้นบ้านของญี่ปุ่น เป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ ผิวลื่น หน้าตาคล้ายกบ แต่มีจะงอยปาก

ขัปปะในดินแดนแห่งนี้ใช้ชีวิตไม่ต่างจากสังคมมนุษย์ มีภาษาเป็นของตัวเอง มีสิ่งก่อสร้างสำหรับอาศัย ทุกตัวประกอบอาชีพต่าง ๆ ทั้งหมอ พ่อค้าแม่ค้า ทนายความ ศิลปินสาขาต่าง ๆ แต่ทัศนะคติความคิดของเหล่าขัปปะดูจะตรงกันข้างกับทัศนะคติของพวกเราที่เป็นมนุษย์ เช่นพวกขัปปะไม่เชื่อเรื่องความถูกต้อง ความยุติธรรมและศีลธรรม

เรื่องนี้เป็นเรื่องแนว Gulliver's Tale คือตัวเอกหลุดไปยังต่างแดน จะอ่านเอาสนุกก็ได้ เพราะเรื่องนี้ก็แฟนตาซีจ๋า ออกแนวนิทาน หรือจะอ่านเอาปรัชญา เรื่องนี้ก็มีแทรกให้เราครุ่นคิดเป็นระยะ เช่นการเกิดของขัปปะ จะถามความสมัครใจของทารถก่อนว่าอยากมาเกิดเป็นลูกของพ่อแม่คู่นี้ไหม ถ้าทารกเห็นว่าพ่อแม่ของตัวเองไม่น่าพร้อมก็เลือกที่จะไม่เกิดได้

หรือวิธีลดอัตราการว่างงานของสังคมขัปปะ เมื่อใดที่เครื่องจักรมาแทนที่แรงงาน และขัปปะต้องตกงาน คนงานเหล่านั้นจะถูกนำไปฆ่าเอาเนื้อ ทีนี้ก็ไม่มีคนว่างงานเหลือแล้ว มนุษย์เราอาจรับไม่ได้ แต่พวกขัปปะก็ย้อนมาว่า ทีมนุษย์ยังค้าขายพวกเดียวกันเลย บางครอบครัวขายลูกสาวให้ไปเป็น sex worker เรื่องแค่นี้อย่ามาทำเป็นรับไม่ได้

ถ้ามองในมุมมองปกติของมนุษย์ เราอาจเห็นว่ามุมมองของเหล่าขัปปะนั้นบิดเบี้ยว แต่หากไม่มองสังคมของเราแบบอุดมคติจนเกิดไป หลายเรื่องที่ขัปปะเห็นว่าปกติและเรารับไม่ได้ นั้นต้องยอมรับว่าบางส่วน บางที่ลับ ๆ ในสังคมของเรา มีเรื่องเหล่านั้นเกิดขึ้นจริง ๆ โลกของมนุษย์ไม่ได้ขาวสะอาด เผลอ ๆ โลกของขัปปะ คือภาพสะท้อนของโลกมนุษย์ที่ละหน้าฉากอันสวยงามที่ไป

คนเขียนเรื่องนี้คือ ริวโนะซุเกะ อะคุตะงาวะ เกิดเมื่อปี 1892 เขาฆ่าตัวตายไปในปี 1927 ด้วยวัยเพียง 35 ปีเท่านั้น โดยผลงานขัปปะชิ้นนี้ดขาใช้เวลาเขียนเพียง 2 สัปดาห์ ได้ตีพิมพ์ในนิตยสาร Kaizo ในปีเดียวกับที่เขาเสียชีวิต สำหรับอะคุตะงาวะสังคมขัปปะที่เขาเขียนถึงก็คือสังคมมนุษย์ที่มืดมนที่เขาอาศัยอยู่นั่นเอง

เรื่องนี้เป็นนิยายขนาดสั้น ยาวเพียง 138 หน้าเท่านั้น ผมเห็นออกมาวางขายนานแล้ว แต่ถึงยังไงตอนนี้ก็หาไม่ยาก เพราะเห็นพิมพ์ใหม่ มีวางขายที่ร้านคิโนะคุนิยะ ใครสนใจลองหามาอ่านได้ครับ