Seaspiracy: ใครทำร้ายทะเล - สารคดีสะท้อนอุตสาหกรรมการประมงที่ข้อมูลบางอย่างอาจยังไม่อัพเดต

Seaspiracy: ใครทำร้ายทะเล - สารคดีสะท้อนอุตสาหกรรมการประมงที่ข้อมูลบางอย่างอาจยังไม่อัพเดต

อาลี ผู้กำกับสารคดีเรื่องนี้ที่หลงไหลในโลมาและสัตว์ทะเลมาตั้งแต่เด็ก พอโตขึ้นเขาได้รับข้อมูลมากขึ้น ได้รู้ว่าอุตสาหกรรมการประมงที่ทำให้เรามีอาหารทะเลกินนี้ ได้บ่อนทำลายสมดุลธรรมชาติทางทะเลให้ผุพังไปอย่างรวดเร็ว เมื่อไหร่ที่มหาสมุทรไม่มีสิ่งมีชีวิตหลงเหลืออยู่ นั่นหมายความว่ามนุษย์ก็ไม่อาจมีชีวิตอยู่ได้เช่นกัน

หนังน่าจะใช้เวลาถ่ายทำหลายปี ค่อย ๆ หาข้อมูลไป พลางถ่ายสะสมไว้เรื่อย ๆ พอเอามาออกฉายในปัจจุบัน ข้อมูลที่ถ่ายทำไปตอนนั้นอาจจะเปลี่ยนไปแล้ว ปัญหาที่เคยมีถูกคลี่คลายไปแล้ว อย่างเช่นฉากมาเปิงโปงอุตสาหกรรมการประมงของไทย ที่ในหนังบอกว่าเป็นการใช้แรงงานเยี่ยงทาส ซึ่งข้อมูลตรงนี้เคยเป็นจริงเมื่อนานมาแล้ว ทำให้ไทยถูกใบเหลืองจากสหภาพยุโรปเมื่อปี พ.ศ. 2558 ส่งผลให้ถูกระงับสินค้าจากการประมงที่จะเข้าสู่ตลาดยุโรป ทำให้ชาวประมงรายเล็กในตอนนั้นสิ้นอาชีพไปเลย

Seaspiracy: ใครทำร้ายทะเล - สารคดีสะท้อนอุตสาหกรรมการประมงที่ข้อมูลบางอย่างอาจยังไม่อัพเดต

หลังจากถูกใบเหลืองไปนานถึง 4 ปี ไทยเราก็แก้ไขปัญหานี้ขนานใหญ่ มีการขึ้นทะเบียนเรือประมงลำใหญ่กว่า 11,000 ลำ มีการตรวจสอบเครื่องมือประมงประจำเรือ ติดตั้งระบบติดตามเรือด้วยดาวเทียม เพื่อป้องกันการเข้าไปทำประมงในพื้นที่อนุรักษ์ จนวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2562 สหภาพยุโรปเพิกถอนประเทศไทย จากกลุ่มประเทศที่ถูกเตือนทำการประมงที่ผิดกฎหมาย

ประเด็นแรงงานประมงทาสในไทย หนังนำเสนอโดยการตั้งกล้องสัมภาษณ์ชาวประมง ซึ่งได้เล่าถึงความโหดร้ายของอาชีพนี้ ซึ่งจุดนี้มีคนตั้งข้อสงสัยว่าผู้ให้สัมภาษณ์ทั้งหมดน่าสงสัยที่พูดไทยชัดเจน บางประโยคเหมือนท่องสคริปต์ อย่างที่เรารู้ว่าชาวประมงในอุตสาหกรรมนี้ของเรา จ้างแรงงานจากพม่าหรือกัมพูชาแทบทั้งหมด

Seaspiracy: ใครทำร้ายทะเล - สารคดีสะท้อนอุตสาหกรรมการประมงที่ข้อมูลบางอย่างอาจยังไม่อัพเดต

หนังยังนำเสนออีกว่าหากเรายังทำการประมงแบบไม่บันยะบันยังแบบนี้ ปลาจะหมดไปจากมหาสมุทรภายในปี ค.ศ. 2048 ซึ่งอ้างจากงานวิจัยอันโด่งดังของ Boris Worm แต่ 3 ปีต่อมา Boris ได้เขียนเปเปอร์ออกมาว่าเพื่อชี้ให้เห็นว่าสถานการณ์อาจจะไม่แย่อย่างที่คิด มีหลายพื้นที่ที่การประมงมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ เมื่อจัดการอย่างถูกต้อง

หนังไม่ได้นำเสนอวิธีการจัดการปัญหาด้านนี้ ซึ่งเหมือนนำเสนอข้อมูลเพียงด้านเดียว ทำให้ผู้ชมรู้สึกจนตรอก คิดว่าไม่มีทางแก้ไขได้ นอกจากงดบริโภคอาหารทะเล ทั้งที่อาหารทะเลคือแหล่งโปรตีนสูง ที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน้อยที่สุดแล้ว

ปลาทู ปลาโอ ปลาข้างเหลือง ปลาหางแข็ง ปลาอินทรี มีระยะเวลาวางไข่สั้นประมาณ 2-3 เดือน เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ภายใน 8-12 เดือน ออกไข่คราวละ 5 หมื่นถึงกว่าแสนฟอง จึงขยายพันธุ์และทดแทนประชากรได้อย่างรวดเร็ว

Seaspiracy: ใครทำร้ายทะเล - สารคดีสะท้อนอุตสาหกรรมการประมงที่ข้อมูลบางอย่างอาจยังไม่อัพเดต

หนังนำเสนอโดยใช้ข้อมูลทางสถิติ บางอย่างก็ทำให้เราอึ้งได้เหมือนกัน เช่นขยะพลาสติกที่เราได้ยินว่ากำลังจะล้นโลก แทบทั้งหมดเป็นพลาสติกจากอุปกรณ์ทางการประมง เช่น อวนหรือแห ขยะพลาสติกในชีวิตประจำวัน เช่น หลอดพลาสติก ถุงพลาสติก ถ้าเอาไปเทียบคือไม่เห็นฝุ่นเลย แต่จริง ๆ เราก็ควรลดขยะพลาสติกในชีวิตประจำวันอยู่ดีนะ

ถือเป็นหนังสารคดีที่ใส่ความโอเวอร์ดราม่า ไม่ได้ลงลึก นำเสนอข้อมูลด้านเดียว ต้องฟังหูไว้หู ดูจบแล้วต้องหาข้อมูลเสริม เพราะเรื่องพวกนี้โลกเรากำลังตระหนัก หลายอย่างเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นแล้ว ใครสนใจตามไปอ่านความจริงได้ที่ลิงค์ thaipublica.org ในบทความนั้นมีแนะนำสารคดีที่ลงลึกถึงประเด็นต่าง ๆ ด้วย เผื่อใครอยากได้ข้อมูลที่ตรบถ้วน