The Tattooist of Auschwitz ช่างสักแห่งเอาช์วิทซ์ - ประวัติศาสตร์ที่คนกลุ่มหนึ่งถูกตีตราว่าไร้ค่า

The Tattooist of Auschwitz ช่างสักแห่งเอาช์วิทซ์ - ประวัติศาสตร์ที่คนกลุ่มหนึ่งถูกตีตราว่าไร้ค่า

ลาลี เป็นหนุ่มชาวยิว อาศัยอยู่อย่างสงบกับครอบครัวในสโลวาเกีย วันหนึ่งมีคำสั่งจากทางการให้หนึ่งครอบครัวส่งสมาชิกคนหนึ่งไปใช้แรงงานที่ค่าย ลาลีที่ยังหนุ่มแน่นเสียสละเป็นตัวแทนครอบครัวไปตามคำสั่งนี้ เขาถูกพาขนขึ้นรถไฟอย่างแออัดมาที่ค่ายกักกันเอาช์วิทซ์ของทหารเยอรมัน เมื่อทุกคนมาถึงก็ถูกสักหมายเลขลงบนแขน ที่นี่ทหารจะขานนักโทษด้วยหมายเลข ชื่อของพวกเขาไม่สำคัญอีกต่อไป

นักโทษที่ถูกเกณฑ์มาโดนใช้ให้ทำงานก่อสร้างอาคารที่พักอีกหลายหลัง เพื่อรองรับนักโทษชุดอื่น ๆ ที่จะตามมา ลาลีจับผลัดจับผลูได้มาทำหน้าที่ช่างสัก คอยตีตราหมายเลขให้นักโทษคนใหม่ที่เข้ามายังค่าย เขาไม่ชอบหน้าที่นี้ที่ต้องตีตราให้มนุษย์ด้วยกันเป็นสิ่งไร้ค่า แต่ถ้าอยากมีชีวิตอยู่ให้รอดจากนรกแห่งนี้ก็ต้องยอมทำหน้าที่

ลาลีอยู่ในค่ายได้เจอกับมิตรภาพจากนักโทษด้วยกัน มีความสนิทสนมแบบแปลก ๆ กับเจ้านายผู้บังคับบัญชา ได้ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์จากความทุกข์ และที่สำคัญเขายังได้พบรักในค่ายแห่งนี้อีกด้วย ทั้งสองมีกำลังใจอยู่รอดได้วันต่อวันเพราะหวังเอาไว้ว่าสักวันจะมีกองทัพมาปลดแอกค่ายนรกแห่งนี้ และทั้งสองจะได้รับอิสระภาพและได้ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน

ก่อนอ่านผมทำใจเอาไว้แล้วแหละว่าเรื่องที่เกี่ยวกับนาซีต้องหดหู่ มัวหมอง แต่อ่าน ๆ ไปพบว่าผิดคาดนะ หนังสือเล่มนี้ไม่ได้หดหู่ขนาดบีบคั้นหัวใจให้แหลกสลาย มันมีอยู่บ้างแหละไอ้อารมณ์หดหู่ตามประวัติศาสตร์ แต่เรื่องนี้กลับเล่าในมุมของตัวละครที่มีความหวังอย่างแรงกล้าว่าจะได้รับอิสระภาพ คนอ่านอย่างเราได้รับกำลังใจจากตัวละครอย่างมาก

หนังสือเล่มนี้เป็นนิยายที่มีเค้าโครงจากเรื่องจริงของ ลุดวิก ไอเซนเบิร์ก เกิดเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 1916 ที่เมืองคร็อมปาคี ประเทศสโลวาเกีย เขาถูกส่งตัวไปที่ค่ายเอาช์สวิทซ์ในวันที่ 23 เมษายน 1942 หมายเลยที่ถูกสักบนแขนคือ 32407

ฉากที่สะเทือนใจผมที่สุดคือฉากที่นักโทษซึ่งไม่รู้ชะตากรรมตัวเองถูกพาเข้ามายังค่ายเอาช์สวิทซ์ บนประตูรั้วเหล็กของค่ายสลักคำภาษาเยอรมันว่า ARBEIT MACHT FREI แปลว่า การทำงานนำมาซึ่งอิสรภาพ ซึ่งเป็นประโยคที่เราคนรุ่นหลังรู้อยู่แล้วว่าหลอกลวง นักโทษที่ค่ายในตอนนั้นคิดเพียงว่าขอให้มีงานทำและได้มีชีวิตรอดไปได้จากสงคราม โดยไม่รู้เลยว่าตนเองกำลังจะเป็นส่วนหนึ่งของคนที่ถูกพวกนาซีฆ่าจากประมาณ 12 ล้านคนในสงครามโลกครั้งที่ 2

The Tattooist of Auschwitz ช่างสักแห่งเอาช์วิทซ์ - ประวัติศาสตร์ที่คนกลุ่มหนึ่งถูกตีตราว่าไร้ค่า