To Kill A Mockingbird ฆ่าม็อกกิ้งเบิร์ด - ไม่ผิดที่จะยิงนกบลูเจย์ แต่ฆ่านกม็อกกิ้งเบิร์ดเป็นบาป

To Kill A Mockingbird ฆ่าม็อกกิ้งเบิร์ด - ไม่ผิดที่จะยิงนกบลูเจย์ แต่ฆ่านกม็อกกิ้งเบิร์ดเป็นบาป

เรื่องราวดำเนินในช่วงปี ค.ศ. 1930 ในชนบทแห่งหนึ่งของรัฐแอละบามา "แอตติคัส ฟินช์" ทนายความที่ว่าความให้ชายผิวดำซึ่งถูกกล่าวหาในคดีข่มขืนหญิงสาวคนขาว โดยดำเนินเรื่องผ่านสายตาของเด็กหญิงอายุยังไม่ 9 ขวบดีที่ชื่อ "จีน หลุยส์ ฟินช์"

หนังสือสะท้อนถึงอคติที่คนขาวมีต่อคนดำ คนดำไม่สามารถตอบโต้อะไรได้นอกจากก้มหน้าให้พวกเขาตราหน้า และสะท้อนถึงความคิดแบบเหมารวมว่าคนทั้งตระกูลต้องมีนิสัยแบบเดียวกัน

ในเรื่องเปรียบเปรยคนกับนกด้วยประโยคประมาณว่า "ไม่ผิดที่จะยิงนกบลูเจย์ แต่ฆ่านกม็อกกิ้งเบิร์ดเป็นบาป" เพราะนกบลูเจย์ขโมยพืชและอาหารของคนจึงสมควรถูกลงโทษ ส่วนนกม็อกกิ้งเบิร์ดไม่ทำร้ายใคร ซ้ำยังร้องเพลงเพราะ ๆ ให้เราได้ฟังอีก ดังนั้นจะไปทำร้ายมันทำไม เหมือนกับคน ถ้าคน ๆ หนึ่งทำผิดกฎหมาย ไม่ว่าเขาจะมีสีผิวใดก็สำควรถูกลงโทษ แต่หากเขาเป็นผู้บริสุทธิ์ก็ไม่สมควรไปกล่าวหาหรือใส่ร้าย

หากฟังเรื่องราวคร่าว ๆ อาจคิดว่าหนังสือเรื่องนี้อ่านยากเพราะเล่าถึงประเด็นที่หนัก ทั้งเรื่องการเหยียดผิว อคติ ฯลฯ แต่กลับอ่านง่าย ด้วยภาษาเรียบง่ายแบบที่พบในวรรณกรรมเยาวชน การดำเนินเรื่องโดยผ่านสายตาของเด็กผู้หญิง ที่มีความคิดอ่านเกินวัย มองโลกสดใส ช่างชักช่างถามในประเด็นที่เราคาดไม่ถึง ตัวแอตติคัสเป็นแบบอย่างที่ดีในเรื่องการเลี้ยงลูกโดยใช้หลักเหตุและผล อ้างอิงความเป็นจริง ไม่โกหกเรื่องราวให้สดใสโดยการใส่ความแฟนตาซีฝังหัวลูก แต่เขามักพูดเสมอว่าตัวเองบกพร่องในหน้าที่ลูก

หนังสือก็ไม่ได้โลกสวยจนเกินไป เราได้เห็นทางออกอันน่าหดหู่ที่ผู้บริสุทธิ์เลือกให้กับตัวเอง มีตัวละครที่เลวมาตั้งแต่เกิด และตายไปโดยไม่ทันได้สำนึกอะไร สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่จะนำมาซึ่งสันติสุข เราเชื่อว่าน่าจะเป็น "ความเข้าใจในความแตกต่าง"

🐦 เป็นอีกหนึ่งเล่มที่อ่านง่าย ได้สาระประโยชน์กลับมาคิดทบทวน


เชิงอรรถ
ผู้เขียน - ฮาร์เปอร์ ลี
ผู้แปล - นาลันทา คุปต์
สำนักพิมพ์ - แพรวสำนักพิมพ์
พิมพ์ครั้งแรก - ตุลาคม 2559
ความยาว - ปกอ่อน 345 หน้า
คะแนน Goodreads - 4.26