ยุคสมัยนี้ไม่ว่าใครก็อยากเป็นผู้ประกอบการ อยากเป็นเจ้าของกิจการ อยากเป็นเจ้านายตัวเอง แต่การไปให้ถึงจุดนั้นต้องเริ่มต้นจากอะไร ในหนังสือ Your Next Five Moves หรือชื่อภาษาไทย 5 ก้าว พลิกกระดานธุรกิจ ได้บอกวิธีคิดแบบผู้ประกอบการแบบก้าวต่อก้าว ตั้งแต่การรู้จักตัวเองให้ถ่องแท้, การสร้างทีมที่ไว้ใจได้, วิธีอ่านสถานการณ์ให้เด็ดขาด, วิธีเล่นเกมอำนาจและการวางยุทธศาสตร์
หนังสือเล่มนี้เขียนโดย Patrick Bet-David อดีตผู้ลี้ภัยสงครามจากอิหร่านมาอยู่อเมริกา เขามีโอกาสได้เรียนถึงแค่ชั้นมัธยมปลาย แต่ด้วยความที่เป็นคนใฝ่เรียนรู้และอยากสร้างธุรกิจของตัวเอง เขาขยันอ่านหนังสือเกี่ยวกับธุรกิจมากถึง 1,500 เล่ม และแบ่งปันสิ่งที่ได้เรียนรู้จากหนังสือเหล่านั้นในช่องยูทูปของตัวเองชื่อว่า Valuetainment ซึ่งปัจจุบันมีผู้ติดตามถึง 5.8 ล้านคน ทำให้เขามีโอกาสได้สัมภาษณ์นักธุรกิจระดับโลกมากมาย แพทริกได้กลั่นประสบการณ์จากคนเหล่านั้นและของตัวเองออกมาเป็นหนังสือเล่มนี้ หนังสือพูดถึง 5 ก้าวที่ผู้ประกอบการต้องทำตามลำดับ โดยทั้ง 5 ก้าวนั้นประกอบไปด้วย
- ก้าวที่ 1: รู้จักตัวเอง
- ก้าวที่ 2: ความสามารถในการให้เหตุผล
- ก้าวที่ 3: สร้างทีมที่ใช่
- ก้าวที่ 4: กลยุทธ์การขยายธุรกิจ
- ก้าวที่ 5: เล่นเกมอำนาจ

ทำไมถึงต้องเป็น 5 ก้าว ผู้เขียนได้ยกตัวอย่างของ แม็กนัส คาร์ลเซน อัจฉริยะแชมป์โลกหมากรุกชาวนอร์เวย์ผู้กลายเป็นปรมาจารย์ตั้งแต่อายุ 13 ปี เคล็ดลับแชมป์โลกของเขาคือการอ่านเกมล่วงหน้า 15 ตาว่าคู่ต่อสู้จะเดินหมากแบบไหน เขาฝึกเล่นหมากรุกอยู่ในหัวหลายต่อหลายครั้งก่อนมันจะเกิดขึ้นจริง ผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จและปรมาจารย์ด้านหมากรุกมีสิ่งที่เหมือนกันคือการมองการณ์ล่วงหน้า เมื่อคุณเดินหมากก้าวแรกไปแล้ว คุณต้องเตรียมพร้อมที่จะปล่อยหมากชุดต่อไปแบบไม่ให้ใครรับมือได้ แต่ในโลกธุรกิจคุณไม่จำเป็นต้องมองการณ์ไกลถึง 15 ก้าวเหมือนคาร์ลเซนหรอกครับ เพียงแค่ 5 ก้าวก็เพียงพอแล้ว เรามาดูกันว่าทั้ง 5 ก้าวในการพลิกกระดานธุรกิจนั้นมีอะไรบ้าง
ก้าวที่ 1: รู้จักตัวเอง
การรู้จักตัวเองเป็นพื้นฐานของการตัดสินใจทุกอย่าง ถ้าคุณไม่เข้าใจว่าสิ่งใดจูงใจคุณและคุณปรารถนาจะเป็นใคร มันจะยากมากในการสร้างเส้นทางที่ชัดเจนเพื่อไปสู่เป้าหมาย แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะรู้ว่าตัวเองต้องการอะไร หากคุณยังไม่มีคำตอบในตอนนี้ ให้ลองใคร่ครวญดูไป โดยหวังว่าสักวันหนึ่งจะได้คำตอบ
การรู้ว่าสิ่งใดสำคัญกับคุณที่สุดจะช่วยให้คุณวางกลยุทธ์ให้สอดคล้องและเหมาะสมกับความพร้อมใจของคุณครับ หากคุณอยากสร้างธุรกิจครอบครัวเล็ก ๆ คุณสามารถวางกลยุทธ์แบบสบาย ๆ ได้ แต่หากคุณอยากสร้างธุรกิจที่พลิกโฉมอุตสาหกรรม คุณต้องมีพร้อมไปด้วยเรื่องเล่าที่ใช่, ทีมที่ใช่, ข้อมูลที่ใช่ และกลยุทธ์ที่ใช่
การนำความเจ็บปวดในอดีตมาเป็นพลังก็ใช้ได้เช่นกัน คุณอาจเคยถูกดูหมิ่น เคยถูกเหยียดหยาม ช่วงเวลาที่คนเรารู้สึกไร้อำนาจ, โกรธเกรี้ยว หรือโศกเศร้า อารมณ์เหล่านี้จะดึงแรงผลักดันที่ลึกที่สุดในตัวเราออกมา ให้คุณใช้พลังนี้เปลี่ยนแปลงตัวเอง แล้วพุ่งเป้าไปเป็นบุคคลที่ตัวเองปรารถนาจะเป็น
ผู้เขียนบอกว่าสิ่งที่ขับเคลื่อนมนุษย์เรามีอยู่ 4 หมวด การรู้ว่าสิ่งใดมีพลังขับเคลื่อนตัวเรา จะช่วยให้เราค้นพบว่าสิ่งที่เราปรารถนาคืออะไร โดยสิ่งขับเคลื่อน 4 หมวดประกอบไปด้วย
- ความก้าวหน้า
- ปัจเจกภาพ
- ความบ้าคลั่ง
- เป้าหมายสูงสุด

สิ่งที่อยู่ในหมวดความก้าวหน้า เช่น การได้เลื่อนตำแหน่ง, การได้ทำภารกิจให้สมบูรณ์, การเสร็จงานตามกำหนดเวลา, การบรรลุเป้าหมายด้วยกันทั้งทีม
สิ่งที่อยู่ในหมวดปัจเจกภาพ เช่น วิถีชีวิต, การเป็นที่รู้จักและยอมรับ, ความมั่งคงปลอดภัย
สิ่งที่อยู่ในหมวดความบ้านคลั่ง เช่น การแข่งขัน, การได้ควบคุม, อำนาจชื่อเสียง, การได้พิสูจน์ว่าคนอื่นผิด, ความรู้สึกไม่อยากขายหน้า, ความปรารถนาที่จะเป็นคนเก่งที่สุด
สิ่งที่อยู่ในหมวดเป้าหมายสูงสุด เช่น การสร้างประวัติศาสตร์, การช่วยเหลือผู้อื่น, การสร้างความเปลี่ยนแปลง, การบรรลุศักยภาพและความหมายของชีวิต
เป็นเรื่องปกติที่คุณอาจมีสิ่งขับเคลื่อนหรือตัวกระตุ้นมากกว่า 1 ตัว และเป็นเรื่องปกติอีกเช่นกันที่ตัวกระตุ้นของคุณจะเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ลองใช้เวลาพิจารณาดูครับว่าสิ่งใดขับเคลื่อนหรือกระตุ้นคุณ
ผู้เขียนบอกว่าหากอยากสร้างชีวิตที่มั่งคง ไม่จำเป็นต้องลาออกมาเป็นเจ้าของกิจการก็ได้ คุณสามารถมีชีวิตที่มั่งคงโดยทำงานบริษัทได้ การทำธุรกิจเปรียบเสมือนการเล่นเกม คุณต้องเลือกเกมที่จะเล่น โดยต้องเป็นเกมที่คุณเล่นเก่งกว่าคู่แข่ง ดังนั้นการรู้จุดอ่อนและจุดแข็งของตัวเองจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก
มีคำศัพท์คำหนึ่งครับที่ผมเพิ่งรู้จักจากหนังสือเล่มนี้ คำนั้นคือคำว่า “ผู้ประกอบการภายใน” การเป็นผู้ประกอบการภายใน หมายถึงคุณยังทำงานในบริษัท แต่ทำหน้าที่เป็นตัวตั้งตัวตีในการสร้างหน่วยธุรกิจใหม่ขึ้นมาในบริษัท นำความคิดริเริ่มใหม่ ๆ เข้ามา แล้วตกลงค่าตอบแทนกับเจ้าของบริษัทว่าคุณต้องได้ผลประโยชน์เพิ่ม หากคุณสามารถช่วยให้บริษัทเติบโตได้ด้วยแผนการที่คุณคิด ผู้ประกอบการภายในไม่ได้คิดหรือทำอะไร ๆ เหมือนพนักงานทั่วไป แต่ต้องคิดและทำงานเหมือนเจ้าของกิจการ ทำทุกอย่างให้บริษัทอยู่รอด

แนวคิดผู้ประกอบการภายในได้รับการสนับสนุนจากบริษัทระดับโลกอย่างกูเกิล โดยกูเกิลมีนโยบาย “ไอเดีย 20%” นโยบายนี้สนับสนุนให้พนักงานใช้เวลา 20% ของการทำงานมาขบคิดหาไอเดียว่าพวกเขาจะสร้างโครงการอะไรใหม่ ๆ มาสร้างประโยชน์ให้กูเกิล โครงการที่เกิดขึ้นจากนโยบายนี้ เช่น Gmail และ Google Adsense
กูเกิลมีวิสัยทัศน์ที่ว่าพนักงานทุกคนสามารถไต่เต้าสู่ตำแหน่งผู้บริหารได้ โดยไม่ต้องเอาเงินเก็บของตัวเองมาลงทุน ไม่ต้องพยายามแบบหัวเดียวกระเทียมลีบ อดตาหลับขับตานอนให้เสียสุขภาพจิต เมื่อพนักงานมีไอเดียสร้างโครงการใหม่ ๆ ก็สามารถใช้ทรัพยากรที่บริษัทมีในการสร้างมันออกมา และยังได้ผลกำไรจากไอเดียของตัวเองอีกด้วย นี่คือแนวคิดการเป็นผู้ประกอบการภายในครับ
ก้าวที่ 2: ความสามารถในการให้เหตุผล
เราเผชิญหน้ากับปัญหาอยู่ทุกวันและตลอดทั้งวัน ชีวิตย่อมมีปัญหาเกิดขึ้นเสมอ และกุญแจสู่ความสำเร็จของนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จคือ “ความสามารถในการประมวลปัญหา” ซึ่งต้องทำในขณะที่จิตใจสงบนิ่ง มองปัญหาโดยยึดโยงกับตัวเอง ไม่รับบทเป็นเหยื่อแล้วกล่าวโทษคนอื่นหรือโทษสถานการณ์
นักประมวลปัญหาที่ดีจะใช้คำว่าฉัน แทนคำว่าพวกเขา, เธอ หรือมัน ตัวอย่างของคนที่ไม่รู้จักการประมวลปัญหา อาจพูดทำนองว่า
คนรุ่นมิลเลนเนียลมันขี้เกียจกันทุกคน เด็กพวกนี้ไม่มีจรรยาบรรณในการทำงานเอาซะเลย พวกเขาทำให้ธุรกิจของฉันลำบาก
แต่สถานการณ์เดียวกัน หากเป็นนักประมวลปัญหาที่ดีจะพูดออกมาว่า
ฉันบริหารคนรุ่นมิลเลนเนียลได้ไม่ดี ฉันจำเป็นต้องรู้ว่าจุดบอดของตัวเองอยู่ตรงไหน ฉันต้องเรียนรู้ที่จะเข้าใจพวกเขาให้มากขึ้น จะได้รู้ว่าอะไรจูงใจพวกเขา หรือไม่ฉันอาจจำเป็นต้องจ้างคนรุ่นอื่น ไม่ว่ายังไงก็ตาม มันเป็นหน้าที่ของฉันที่ต้องแก้ปํญหานี้
ผู้คนที่ผู้เขียนรู้จักซึ่งเป็นคนที่ช่ำชองด้านการประมวลปัญหา แม้จะมีลักษณะบุคลิกที่แตกต่างกันไป แต่พวกเขามีคุณลักษณะ 8 ข้อที่เหมือนกัน นั่นคือ
1. พวกเขาถามคำถามเยอะมาก การมีข้อมูลมากขึ้นจะนำไปสู่การตั้งสมมติฐานที่ดีขึ้น ว่าอะไรคือสาเหตุของเรื่องนี้ จะแก้ไขมันได้ยังไง จะป้องกันไม่ให้มันเกิดขึ้นอีกได้ยังไง
2. พวกเขาไม่สนใจว่าตนจะถูกหรือผิด พวกเขาสนใจแค่ความจริง อยากรับมือกับปัญหาแล้วก้าวต่อไป ไม่ใช้อีโก้ของตัวเองมาตัดสินใจ
3. พวกเขาไม่แก้ตัว ไม่มัวเสียเวลาและเปลืองพลังงานไปกับการหาว่าอะไรทำให้สิ่งต่าง ๆ พลิกผันไปหมด
4. พวกเขาชอบความท้าทาย สิ่งสำคัญลำดับแรกของพวกเขาคือการแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ถ้าคนอื่นมีหนทางที่ดีกว่า แม้จะต่างจากที่พวกเขาคิด พวกเขาจะรับฟัง
5. พวกเขากระหายใคร่รู้ คุณแก้ปัญหาโดยปราศจากข้อมูลความรู้ไม่ได้ นักประมวลปัญหาจะเรียนรู้เกี่ยวกับธุรกิจของตนและวิธีดำเนินงานเพิ่มเติมอยู่เสมอ พวกเขารักรายละเอียดเล็ก ๆ ที่สำคัญมากพอ ๆ กับไอเดียใหญ่ ๆ
6. พวกเขาป้องกันไม่ให้เกิดปัญหามากกว่าต้องคอยมาแก้ไขปัญหา คนที่ประมวลปัญหาได้ดีเลิศ ยังเป็นเลิศในการสังเกตเห็นปัญหา ก่อนที่มันจะบานปลายใหญ่โตได้อีกด้วย
7. พวกเขาเป็นนักเจรจาต่อรองชั้นยอด นักแก้ปัญหาผู้ไฝ่รู้จะใช้เหตุผลค้นหาทางเลือกที่ทุกฝ่ายชนะร่วมกัน
8. พวกเขาสนใจแก้ปัญหาอย่างถาวร มากกว่าแค่แก้ปัญหาเฉพาะหน้า

ผู้ประกอบการชั้นยอดไม่ได้มองปัญหาแค่ผิวเผิน แต่พยายามมองให้ลึกถึงแก่นของปัญหา คุณต้องตัดอารมณ์และอคติที่เกิดขึ้นในหัวตอนที่เจอปัญหาออกไป แล้วหาว่าอะไรคือความจริง อะไรที่ไม่ใช่ เมื่อคุณกำจัดปัญหาที่ไม่ใช่ปัญหาจริง ๆ ออกไปแล้ว ให้คุณเอาใจไปจดจ่อเพื่อระบุสาเหตุของปัญหา ให้เริ่มถามว่า “เพราะอะไร ๆ” ไปเรื่อย ๆ จนกว่าคุณจะตอบไม่ได้ เช่น
เราสูญเสียลูกค้าชั้นดีเพราะอะไร?
– เพราะสินค้าของคู่แข่งราคาถูกกว่า
แล้วเพราะอะไรถึงถูกกว่า?
– เพราะมันมีลูกเล่นต่าง ๆ น้อยกว่า
แล้วเพราะอะไรลูกเล่นถึงน้อยกว่า?
– เพราะลูกค้าส่วนใหญ่ไม่ได้ต้องการลูกเล่นทั้งหมดที่ผลิตภัณฑ์ของเรามี
อ๋อ! อย่างนี้นี่เอง งั้นเราก็ตัดลูกเล่นที่ลูกค้าไม่ได้ใช้ออก เพื่อให้ราคาสินค้าของเราถูกลง
ในฐานะผู้ประกอบการ คุณอาจรู้สึกว่ามีเรื่องให้ต้องตัดสินใจเป็นล้านแบบ แต่อันที่จริงมีสถานการณ์เพียง 2 แบบเท่านั้นที่คุณต้องตัดสินใจ นั่นคือเกมรุกและเกมรับ
เกมรุก คือโอกาสที่จะทำเงินหรือทำให้ธุรกิจ/หน้าที่การงานของคุณก้าวหน้า ทางเลือกในเกมรุกมักเกี่ยวกับการเติบโต เช่น การขยายกิจการ, การตลาดและการขาย เป็นต้น
เกมรับ คือการแก้ปัญหาเพื่อไม่ให้สูญเงินหรือธุรกิจถดถอย ในเกมรับมักเกี่ยวข้องกับเรื่องทางกฎหมาย เช่น การปฏิบัติตามระเบียบ ข้อบังคับและกฎเกณฑ์, การป้องกันตัวจากคู่แข่ง หรือจากภาวะตลาดหดตัว เป็นต้น
ทันทีที่คุณสามารถจัดหมวดได้ว่าปัญหาหรือโอกาสที่กำลังเผชิญนั้นเป็นเกมรุกหรือเกมรับ ปัญหาจะดูคุกคามน้อยลง คุณได้ติดป้ายชื่อให้มันแล้ว คุณได้เปลี่ยนสิ่งที่ดูน่ากลัวและไม่คุ้นเคย ไปเป็นสิ่งที่บริหารจัดการได้
ก้าวที่ 3: สร้างทีมที่ใช่
ไม่ว่าคุณจะทำงานสายไหน การประสบความสำเร็จหมายถึงการทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดี ไม่ว่าจะเป็นลูกค้า, พนักงาน, นักลงทุน, หุ้นส่วน หรือคู่ค้า คุณต้องไม่ให้อีโก้ของตัวเองมาบอกคุณว่าคุณทำทุกอย่างเองได้ตามลำพัง อย่าเหมาว่าการที่คุณประสบความสำเร็จมาด้วยตัวเองคนเดียวในอดีต แล้วคุณจะประสบความสำเร็จมากขึ้นด้วยตัวเองคนเดียวในอนาคต การคิดการใหญ่เพียงลำพังไม่ได้ช่วยให้งานสำเร็จ แต่คุณจำเป็นต้องมีทีมที่ใช่ เพื่อที่จะขยายธุรกิจได้จริง
การจะดึงคนเก่ง ๆ มาร่วมทีมเพื่อทำงานให้กับคุณ คุณจำเป็นต้องเสนอสวัสดิการที่ดึงดูดใจ ไม่อย่างนั้นพนักงานเก่ง ๆ จะลาออกไปหาสิ่งที่ดีกว่า ให้ถามตัวเองว่ายิ่งพนักงานคนไหนทำงานใกล้ชิดกับคุณ เขาคนนั้นยิ่งได้พบกับสิ่งที่ดีหรือเปล่า เขามีชีวิตที่ดีขึ้นไหม แทนที่จะเอาแต่หาว่าฉันจะได้ประโยชน์อะไรจากคนอื่น ผู้เขียนบอกว่าเขาใส่ใจว่าตัวเองสามารถให้อะไรแก่พนักงานได้บ้าง
บรรดาพนักงานที่คุณช่วยให้พวกเขาประสบความสำเร็จและมีชีวิตที่ดีขึ้น พวกเขาจะเป็นเหมือนประวัติผลงานของคุณ สิ่งนี้เองที่จะช่วยดึงดูดคนเก่ง ๆ อีกมากขึ้นให้มาร่วมงานกับคุณ

ในวงการมาเฟียจะมีตำแหน่งที่เรียกว่า “คอนซีเยเร (consigliere)” ซึ่งทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาสุดปราดเปรื่อง ในโลกธุรกิจ ผู้นำหลายคนก็มีคอนซีเยเรประจำตัว วอร์เรน บัฟเฟตต์ มี ชาร์ลี มังเกอร์, สตีฟ จ็อบส์ มี สตีฟ วอซเนียก, บิลเกตส์ มี พอล อัลเลน
ผู้นำที่มีประสิทธิภาพจะรายล้อมไปด้วยคนเก่งที่กล้าท้าทายพวกเขา ผู้นำเหล่านี้จ้างคนที่ฉลาดกว่าตัวเองในเรื่องที่พวกเขาไม่ถนัด ส่วนผู้นำที่ขาดความมั่นใจมักรู้สึกอุ่นใจกว่า หากมีคนใกล้ตัวเป็นพวก “ได้ครับพี่ ดีครับผม”
หากคุณได้เจอกับคนเก่งที่ทำงานให้คุณ และคุณอยากให้เขาทำงานกับคุณไปนาน ๆ ผู้เขียนได้แนะนำเทคนิคสร้างกุญแจมือทองคำ เพื่อมัดใจพนักงานมือทองเอาไว้ กลยุทธ์ของกุญแจมือทองคำคือ มอบหุ้นบริษัทให้แก่พนักงานมือทอง แต่คุณต้องแน่ใจก่อนว่าพนักงานคนนั้นสมควรได้รับหุ้นจากคุณจริง ๆ
อย่าเพิ่งรีบตัดสินพนักงานคนไหนเพียงผิวเผิน ตอนสัมภาษณ์และตอนเพิ่งเริ่มต้นทำงาน ไม่ว่าใครก็แสดงแต่ด้านที่ดีที่สุดออกมา คุณอย่าเพิ่งวางใจ รอให้เขาเอาชนะใจคุณได้ก่อน
สิ่งที่คุณต้องจดจำเพื่อมัดใจพนักงานมือทองเอาไว้ ได้แก่
- ผู้คนต้องการผลตอบแทนที่เหมาะสมกับความพยายามที่พวกเขาทุ่มเทไป
- พนักงานที่มีผลงานโดดเด่นย่อมปรารถนาจะมีส่วนร่วมในความสำเร็จของบริษัท
- ผู้คนอยากเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรที่สร้างผลดีต่อสังคม
- ผู้คนอยากรู้ว่าพวกเขามีโอกาสเติบโตได้ภายในบริษัท
- ผู้คนต้องการถูกประเมินอย่างชัดเจนโปร่งใสตามที่ได้ตกลงกันไว้ โดยไม่มีการเปลี่ยนกฎกติกาไปมา

เดล คาร์เนกี ผู้เขียนหนังสือ วิธีชนะมิตรและจูงใจคน ได้กล่าวไว้ว่า หากคุณชมเชยทักษะหรืออุปนิสัยอย่างหนึ่งของใครบางคนเป็นพิเศษ เขาคนนั้นจะแสดงสิ่งดังกล่าวออกมาให้เห็นบ่อยขึ้น และผู้เขียนได้แนะนำวิธีชมเชยคนอย่างมีประสิทธิภาพว่าให้ชมลับหลังคน ๆ นั้น
ตัวอย่างเช่น คุณชมพนักงาน A ให้พนักงาน B ฟังว่า “คุณ A นี่ดีนะ มอบหมายให้ทำอะไรก็ทำเสร็จตรงเวลาตลอด” จากนั้นพนักงาน B ก็จะไปเล่าให้เพื่อนร่วมงานฟังว่าได้ยินเจ้านายชมนาย A มาแบบนี้ ๆ แล้วพนักงานก็จะเล่าต่อ ๆ กันไป จนไปถึงหูพนักงาน A ในที่สุด วิธีนี้มีน้ำหนักมากกว่าการกล่าวชมกับเจ้าตัวไปตรง ๆ เพราะพนักงาน A ได้รู้ว่าคนอื่นรู้ว่าเจ้านายชมเขา
ผู้เขียนได้บอกไว้ในหนังสือว่าการแสดงให้คนเห็นว่าคุณใส่ใจจะช่วยดึงศักยภาพสูงสุดของพวกเขาออกมา ผลลัพธ์ที่ได้คือพวกเขาจะพึ่งพาได้มากขึ้น ส่งผลให้ทุกองค์ประกอบของธุรกิจขับเคลื่อนได้เร็วขึ้น ผู้เขียนได้แนะนำวิธีที่ผู้ประกอบการสามารถนำไปใช้สื่อสารกับทีมไว้ 9 วิธี ได้แก่
วิธีสื่อสารกับทีม วิธีที่ 1: บอกให้รู้ว่าเราต้องการคุณ
การมอบหมายความรับผิดชอบให้พนักงานคือวิธีหนึ่งที่แสดงให้พวกเขาเห็นว่าคุณต้องการพวกเขา บางคนจำเป็นต้องรู้สึกว่าตัวเองเป็นที่ต้องการ
วิธีสื่อสารกับทีม วิธีที่ 2: ให้การยอมรับ
การเจาะจงค้นหาว่าสิ่งใดขับเคลื่อนคน ๆ นั้นจะจูงใจให้เขาทำงาน โดยเฉพาะกับผู้ประกอบการภายในที่มุ่งหาการยอมรับ แม้บางคนอาจพูดว่า “ฉันไม่ได้ต้องการการยอมรับซะหน่อย” แต่คนที่บอกว่าไม่ต้องการนั้น อันที่จริงมักอยากได้การยอมรับเป็นสองเท่าเลยทีเดียว การปฏิเสธไปก่อนว่าพวกเขาไม่ต้องการการยอมรับ แท้จริงนั้นเพราะพวกเขากลัวว่าถ้าลงแรงพยายามไปแล้วอาจไม่ได้รับคำสรรเสริญอย่างที่หวัง
วิธีสื่อสารกับทีม วิธีที่ 3: รู้วิธีการยกย่องชมเชย
การยกย่องชมเชยผู้อื่นมีอยู่ 3 วิธี คุณจะรู้ว่าควรเลือกใช้วิธีไหนก็ต่อเมื่อคุณรู้จักคน ๆ นั้นเสียก่อน เพราะทุกคนมีสิ่งขับเคลื่อนที่แตกต่างกัน
วิธีแรกคือการชมต่อหน้าเจ้าตัว โดยเป็นการยกย่องชมเชยแบบเป็นส่วนตัว อาจเป็นระหว่างกินข้าวด้วยกัน, ระหว่างพูดคุยกันแบบสบาย ๆ หรืออาจทำโดยการส่งข้อความหรืออีเมลไปหา
วิธีที่สองคือการชมต่อหน้าสาธารณะ วิธีนี้ใช้ได้ผลดีกับคนที่ชอบเป็นจุดสนใจ คุณควรทำในที่ประชุมและให้ทุกคนในที่นั้นรับทราบถึงการทุ่มเททำงานหนักของคน ๆ นี้
วิธีสุดท้ายคือการชมลับหลัง ให้คุณชมเขาให้คนอื่นฟังยามที่เขาไม่อยู่ วิธีนี้ผมเล่าให้เพื่อน ๆ ฟังไปก่อนหน้านี้แล้ว ถ้าอยากให้กลยุทธ์นี้มีประสิทธิภาพ คุณต้องรู้จักพนักงานคนนั้นเป็นอย่างดีซะก่อน

วิธีสื่อสารกับทีม วิธีที่ 4: ทิศทางที่ชัดเจน
ทีมงานต้องการทิศทางที่ชัดเจนจากคุณ การพูดอะไรอย่าง “คุณลงมือได้เลย” เป็นการสั่งการที่ไร้ประสิทธิภาพ พนักงานต้องการให้คุณสั่งการแบบชัดเจน เช่น “จอห์น เราเข้าใจตรงกันใช่ไหมว่าคุณจะส่งรายชื่อและเบอร์โทรศัพท์ของผู้ขายสามรายให้ผมก่อน 16.45 น. วันนี้” นอกจากนี้คุณไม่ควรมอบหมายงานเกินสามอย่างให้พนักงานทำในคราวเดียว ไม่อย่างนั้นเขาจะรู้สึกว่าเริ่มรับมือไม่ไหว
วิธีสื่อสารกับทีม วิธีที่ 5: มอบวิสัยทัศน์
คนส่วนมากไม่มีวิสัยทัศน์ เพราะไม่ได้เป็นคนมองการณ์ไกลโดยธรรมชาติ ดังนั้นคุณต้องพูดถึงวิสัยทัศน์และอนาคต ผู้นำที่ยิ่งใหญ่ต้องขายฝันว่าเรากำลังจะมุ่งไปสู่จุดไหนและอะไรจะเกิดขึ้นบ้าง พนักงานจำเป็นต้องรู้ว่าผู้นำของพวกเขาจะพาพวกเขาไปในทิศทางที่ถูกต้อง คุณต้องวาดภาพอนาคตให้พนักงานเห็น ใช้อารมณ์ความรู้สึกของพวกเขาสร้างสรรค์ภาพว่าพวกเขากำลังทำงานเพื่ออะไร
วิธีสื่อสารกับทีม วิธีที่ 6: พูดคุยถึงความฝัน
ผู้คนอยากเห็นว่าการทำงานในวันนี้จะช่วยทำให้ฝันของพวกเขาเป็นจริงได้ยังไง หากคุณอยากสร้างแรงบันดาลใจแก่ผู้คน คุณต้องพูดถึงความฝันให้คนที่อยากได้ยินฟังอย่างต่อเนื่อง การพูดคุยกับพวกเขาด้วยหัวข้อนี้จะช่วยดึงศักยภาพสูงสุดของพวกเขาออกมา และทำให้เกิดความไว้ใจระหว่างกันในที่สุด
วิธีสื่อสารกับทีม วิธีที่ 7: ให้พนักงานมีส่วนร่วม
คุณควรถามความเห็นจากคนอื่นบ่อย ๆ ถามพวกเขาว่าพวกเขาคิดว่าคุณจำเป็นต้องทำอะไรเป็นอย่างต่อไป ผู้คนอยากมีส่วนร่วมในสิ่งที่คุณกำลังทำ และพวกเขาอยากมีคนรับฟัง แต่หากคุณถามไอเดียจากคนอื่น แต่กลับไม่เคยนำไปใช้เลย พวกเขาก็จะไม่อยากให้ไอเดียคุณอีกต่อไปแล้ว

วิธีสื่อสารกับทีม วิธีที่ 8: มอบความท้าทาย
ผู้นำที่ยิ่งใหญ่ท้าทายคนอื่นให้ก้าวข้ามความสำเร็จของตัวเอง ตัวอย่างเช่น “ผมว่าคุณอยากได้อะไรที่ใหญ่โตกว่านี้ หากคุณทำยอดขายได้เดือนละ 600,000 บาท ทำไมคุณจะทำเดือนละ 1,000,000 บาทไม่ได้ล่ะ คุณพอใจกับเงินแค่นี้แล้วเหรอ ทำไมเราไม่หวังให้สูงขึ้นอีกสักหน่อยล่ะ”
วิธีสื่อสารกับทีม วิธีที่ 9: การฟัง
ผู้คนมากมายชอบพูดเรื่องของตัวเองว่าพวกเขาผ่านอะไรมาบ้าง สำหรับซีอีโอใจร้อน การหยุดพูดแล้วฟังคนอื่นอาจไม่ใช่เรื่องง่าย แต่การฟังคือทักษะที่สำคัญ คุณจำเป็นต้องรับฟังและแสดงความสนใจจากใจจริง หากคุณไม่จริงใจ คนอื่นจะรู้ทันที
ก้าวที่ 4: กลยุทธ์การขยายธุรกิจ
ไม่ว่าธุรกิจของคุณจะอยู่ในระยะไหน คุณจำเป็นต้องมีแผนจัดหาแหล่งเงินทุน จะหาเงินทุนโดยการหยิบยืมจากครอบครัว, มองหานักลงทุนใจดีหรือที่เรียกว่า angel investor หรือจะกู้ยืมจากธนาคาร แต่ก่อนอื่นคุณต้องตอบคำถาม 10 ข้อนี้ ก่อนจะตัดสินใจทำการระดมทุนครับ
1. คุณควรระดมทุนจริงหรือ
บริษัทของคุณมาถึงจุดที่ต้องพิจารณาเรื่องการระดมทุนแล้ว หรือไอเดียของคุณเล็กพอที่จะใช้เงินของตัวเองและเริ่มลงมือได้เลยตั้งแต่วันนี้
2. หากระดมทุนไม่ได้ คุณจะปั้นไอเดียธุรกิจให้เป็นจริงได้ยังไง
หากคุณตอบคำถามนี้ได้ เหล่านักลงทุนจะสนใจธุรกิจของคุณ และบริษัทของคุณจะดูน่าลงทุนมากขึ้น หากคุณได้แสดงให้เห็นว่าคุณไม่ต้องการเงินทุน และบริษัทมีเสถียรภาพมั่นคงอยู่แล้ว
3. คุณจะใช้เงินที่ระดมทุนมายังไง
นักลงทุนอยากรู้ว่าคุณจะใช้เงินของพวกเขาไปกับอะไร คุณต้องทำให้พวกเขาเห็นว่าจะเปลี่ยนเงินสดให้กลายเป็นการเติบโตได้ยังไง เงินจะถูกใช้ไปเพื่อจ้างบุคลากรหลัก ใช้เพื่อเพิ่มกำลังการผลิต หรือใช้สำหรับจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา นักลงทุนต้องการเห็นแผนการใช้เงินของคุณ
4. ใครคือนักลงทุนในอุดมคติสำหรับคุณ
นักลงทุนคนนั้นคือคนที่จะเข้ามาช่วยบริหารหรือให้คำปรึกษาด้วยหรือเปล่า นอกจากเรื่องเงิน คุณต้องคิดด้วยว่าอยากมีความสัมพันธ์แบบไหนกับนักลงทุน คุณอยากได้คนที่สามารถแนะนำคุณให้รู้จักกับบุคคลต่าง ๆ เพื่อช่วยเพิ่มช่องทางการขายหรือเปล่า หรือคุณต้องการคนที่มีประสบการณ์เฉพาะด้านที่คุณไม่มีมาเป็นที่ปรึกษา
5. คุณต้องการควบคุมธุรกิจเองทั้งหมดหรือไม่
เมื่อคุณไปขอเงิน สิ่งที่ตามมาคือความคาดหวังมหาศาล ไม่มีใครให้เงินคุณโดยไม่เรียกร้องสิ่งตอบแทน คุณต้องเตรียมตัวให้พร้อมยอมรับว่าหากยังอยากมีอำนาจควบคุมกิจการเองทั้งหมด คุณก็จะได้เงินทุนน้อยหน่อย หรือหากยอมแบ่งหุ้นและมอบอำนาจควบคุมกิจการบางส่วนให้นักลงทุน คุณก็จะได้เงินทุนก้อนใหญ่ขึ้น

6. คุณอยากได้คนที่จะมาช่วยรับผิดชอบไหม
ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่ชอบให้ใครมาบอกให้ทำโน่นทำนี่ แต่นักลงทุนชอบทำแบบนี้ พวกเขาอยากทำงานกับผู้ประกอบการที่มีใจเปิดกว้าง และยินดีรับฟังคำแนะนำเกี่ยวกับธุรกิจของตน หากคุณมองว่าสิ่งนี้เป็นการก้าวก่าย ให้มองหาเงินทุนโดยการกู้ธนาคารแทน
7. คุณศึกษาเกี่ยวกับอุตสาหกรรมของตัวเองมากพอหรือยัง
อย่าทำให้นักลงทุนเสียเวลาด้วยการที่คุณไม่ทำการบ้าน คุณต้องรู้ว่าภาพรวมของอุตสาหกรรมของคุณเป็นยังไงก่อนจะออกไประดมเงินทุน มันแสดงให้นักลงทุนเห็นว่าคุณจริงจังและเตรียมพร้อมที่จะใช้เงินของพวกเขาอย่างชาญฉลาด
8. อะไรทำให้ธุรกิจของคุณแตกต่าง
นักลงทุนอยากรู้ว่าอะไรทำให้ธุรกิจของคุณโดดเด่นกว่าของคนอื่น คุณต้องวางตำแหน่งทางการตลาดของบริษัทเอาไว้ เพื่อให้มีข้อได้เปรียบที่เด่นชัด เมื่อแข่งขันอยู่ในตลาด
9. คุณคำนวณตัวเลขแล้วหรือยัง ว่ามูลค่าบริษัทของคุณคือเท่าไร
นักลงทุนคาดหวังว่าคุณจะคำนวณแผนในอนาคตเอาไว้ และมีตัวเลขที่สมเหตุสมผลมาสนับสนุนมูลค่าที่คุณประเมิน คุณต้องรู้จักบริษัทอื่น ๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกันที่สามารถนำมาเปรียบเทียบกับบริษัทของคุณได้ และใช้ตัวเปรียบเทียบเหล่านั้นมาเป็นตัวชี้วัดยอดขาย
10. คุณสร้างบริษัทขึ้นมาเพื่อขายต่อหรือเปล่า
คุณมีความคิดที่จะขายบริษัทออกไปเพื่อเอากำไรในอีก 5-7 ปีหรือเปล่า นักลงทุนบางรายไม่อยากลงทุนในธุรกิจที่สร้างมาเพื่อขายต่อ แต่ก็มีบางคนที่มองหาผลตอบแทนในระยะสั้น คุณต้องทำการบ้านเพื่อให้รู้ว่านักลงทุนที่จะไปหาเป็นคนแบบไหน
เมื่อได้เงินทุนมาแล้ว ต่อไปก็ต้องนำเงินเหล่านั้นมาทำให้บริษัทเติบโต โดยการเติบโตของธุรกิจมีอยู่ 2 ประเภท คือแบบเส้นตรงและแบบก้าวกระโดด แบบเส้นตรงคือการโตอย่างมั่นคงแต่ไม่หวือหวา แบบก้าวกระโดดคือกิจการเจริญเติบโตแบบก้าวหน้า ผู้เขียนได้สรุปภาระหน้าที่ความรับผิดชอบของเจ้าของกิจการออกมาเป็นกลยุทธ์ 4 ด้าน ได้แก่
- ระบบปฏิบัติงาน
- พัฒนาธุรกิจและยอดขาย
- นวัตกรรม
- พัฒนาความเป็นผู้นำ

กลยุทธ์ด้านที่ 1: ระบบปฏิบัติงาน
คือการกระชับระบบการทำงานให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น หน้าที่ส่วนนี้คือส่วนที่น่าตื่นเต้นน้อยที่สุด ถึงแม้มันจะไม่ทำให้ธุรกิจเติบโตแบบก้าวกระโดด แต่การปรับปรุงระบบปฏิบัติงานก็ช่วยให้คุณก้าวหน้าได้ ผู้เขียนบอกว่าการที่ธุรกิจพังเป็นเพราะเหตุผลข้อใดข้อหนึ่งในสองข้อนี้ คือเพราะมันโตเร็วเกินไปหรือไม่ก็เพราะมันไม่โตเลย การที่ธุรกิจโตไวเกินไปจนพัง นั่นเป็นเพราะคุณไม่มีระบบปฏิบัติงานไว้คอยรองรับการเติบโตของคุณ
กลยุทธ์ด้านที่ 2: พัฒนาธุรกิจและยอดขาย
คือการสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับผู้ค้าและหุ้นส่วนรายใหม่ ๆ ซึ่งจะช่วยให้การขายของคุณลื่นไหลขึ้น คุณสามารถสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์หรือ connection ได้ โดยการเข้าร่วมงานอีเวนต์หรืองานแฟร์ในอุตสาหกรรมเดียวกับคุณ การพัฒนาธุรกิจและยอดขายนั้นเป็นเส้นตรง คุณแค่ต้องปิดการขาย และค่อย ๆ ทำให้เงินในบัญชีของบริษัทงอกเงย
กลยุทธ์อีกสองด้านต่อไปนี้ เป็นกลยุทธ์ที่จะนำบริษัทของคุณไปสู่การเติบโตแบบก้าวกระโดด
กลยุทธ์ด้านที่ 3: นวัตกรรม
ในปี 1995 สายการบินคอนทิเนนทัลเปิดตัวโครงการจูงใจพนักงานคือ เดือนไหนที่บริษัทติดหนึ่งในห้าอันดับสายการบินที่เครื่องออกตรงเวลา พนักงานทุกคนจำนวน 35,000 คน จะได้รับเงินพิเศษเพิ่มคนละ 65 เหรียญ และกลยุทธ์นี้ได้ผลระดับพลิกชะตาบริษัทเลยทีเดียว อีกตัวอย่างคือในปี 2005 ช่วงที่ราคาน้ำมันอยู่ที่ประมาณ 3 เหรียญต่อแกลลอน บริษัทมิตซูบิชิออกโครงการจ่ายค่าน้ำมันให้ลูกค้าฟรีตลอดทั้งปี ทำให้ผู้คนต้องหันไปสนใจรถยนต์ของค่ายนี้ ทั้งที่มันคือการให้ส่วนลดรูปแบบหนึ่ง เพียงแต่เปลี่ยนจากการลดราคา มาเป็นค่าเติมน้ำมันให้ลูกค้าแทน ผู้เขียนเรียกกลยุทธ์ทางการตลาดเหล่านี้ว่าเป็นนวัตกรรม การออกกลยุทธ์อย่างถูกที่ถูกเวลาจะทำให้บริษัทของคุณโตได้อย่างมหาศาล คุณต้องวิเคราะห์ทุกอย่างที่คุณรู้เกี่ยวกับความต้องการของลูกค้า ขีดจำกัดของคู่แข่ง และจุดแข็งของคุณเอง เพื่อสร้างโครงการที่จะช่วยกระตุ้นให้รายได้เติบโตอย่างรวดเร็ว
กลยุทธ์ด้านที่ 4: พัฒนาความเป็นผู้นำ
การเติบโตแบบก้าวกระโดดขึ้นอยู่กับความสามารถของคุณในการพัฒนาคนอื่นให้กลายเป็นผู้นำที่เก่งกาจ ให้คุณกำหนดผู้นำคนต่อไปที่คุณตั้งใจจะปั้นเพื่อมอบหน้าที่ความรับผิดชอบที่สูงขึ้น ลองเขียนรายชื่อผู้นำคนใหม่มาสัก 3-5 คน จากนั้นประเมินพวกเขาถึงจุดแข็ง, จุดอ่อน, ทักษะการรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ, ความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ และดูว่าพวกเขาพึ่งพาได้มากแค่ไหน ในฐานะผู้นำองค์กร คุณต้องสร้างคนที่สามารถผลักดันธุรกิจด้วยตัวของเขาเองได้ ไม่ใช่แค่ทำตามที่คุณสั่ง

ก้าวที่ 5: เล่นเกมอำนาจ
ทุกธุรกิจล้วนมียักษ์ใหญ่ที่ครองส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุด ยักษ์นั้นมีเงินทุน, ประสบการณ์ และทรัพยากรต่าง ๆ มากกว่าคุณ แถมยักษ์ยังมีชื่อเสียงและแบรนด์ซึ่งเป็นที่รู้จัก เรียกได้ว่ายักษ์แกร่งกว่าคุณในทุก ๆ ด้าน หากคุณอยากมุ่งหน้าต่อกรกับยักษ์ คุณต้องเตรียมใจว่าต้องได้เจอกับอุปสรรคต่าง ๆ มากมาย โอกาสที่ธุรกิจเล็ก ๆ จะต่อกรกับยักษ์ใหญ่ในวงการได้นั้นมีน้อยมาก แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีเลย เพราะยิ่งยักษ์ประสบความสำเร็จมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีแนวโน้มว่ายักษ์จะเดินเกมธุรกิจแบบปลอดภัยไว้ก่อน ยักษ์ไม่ค่อยกล้าใช้วิธีทำการตลาดใหม่ ๆ เพราะยักษ์มีสิ่งที่ต้องเสียมากเกินไป จนไม่อยากเอาไปเสี่ยง วิธีการต่อไปนี้คือวิธีล้มยักษ์ที่ผู้เขียนได้บอกไว้
- รู้จุดอ่อนของคุณ ซึ่งจะทำให้คุณปราดเปรียวและสามารถพลิกแพลงปรับเปลี่ยนยามที่ต้องสู้กับยักษ์
- รู้จุดอ่อนของยักษ์ คุณจะโจมตีจุดแข็งของยักษ์ไม่ได้ ต้องหาจุดอ่อนแล้วใช้ประโยชน์จากจุดนั้น
- ช่ำชองสามเรื่องที่คุณทำได้ดีกว่ายักษ์ คุณต้องกำหนดว่าจะสู้ในตลาดยังไง ใช้จุดแข็งของคุณมาพัฒนาเป็นสามสิ่งที่ยักษ์ทำไม่ได้
- อย่าพยายามเป็นยักษ์ หากคุณศึกษาข้อมูลของยักษ์แล้วเลียนแบบตาม คุณก็เอาชนะไม่ได้ ต้องสู้ด้วยจุดแข็งของตัวเอง ไม่ใช่ของคนอื่น
- จับมือกับคู่แข่งที่มีศัตรูคนเดียวกับคุณ ยักษ์มักสร้างศัตรูไปทั่ว ให้ดูว่าศัตรูของยักษ์คนไหนที่คุณร่วมงานด้วยได้
- ปล่อยให้คู่แข่งรายอื่นทำให้ยักษ์ค่อย ๆ สูญเสียพลังงาน ยักษ์ต้องคอยป้องกันตัวจากศัตรูรอบทิศ ปล่อยให้คนอื่นดึงความสนใจของยักษ์ไป แล้วค่อยสู้ในจังหวะที่คุณได้เปรียบยักษ์

สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งในการทำธุรกิจคือการเจรจาต่อรอง คุณต้องรู้จักศิลปะแห่งการต่อรองเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ และรักษาผลประโยชน์ของบริษัทไม่ให้ถูกเอาเปรียบ เมื่อคุณต้องเข้าประชุมเพื่อเจรจาต่อรองอะไรสักอย่าง อย่าไปโดยไม่มีอาวุธ ผู้เขียนได้แนะนำอาวุธที่ชื่อว่า “7 ขั้นตอนสำคัญเพื่อเตรียมตัวสำหรับประชุม” ไว้เป็นแนวทางในการเตรียมตัวและวางแผนล่วงหน้าสำหรับการเจรจาต่อรอง
ขั้นตอนที่ 1: พิจารณาอีกฝ่าย
ก่อนการประชุมให้คุณประเมินว่าอีกฝ่ายน่าจะมีเรื่องไม่พอใจอะไรบ้าง ใครคือคนที่ทำเงินให้บริษัทของเขาได้มากที่สุด รวมทั้งฐานะของบริษัทคุณในสายตาของเขาว่าอยู่จุดไหน
ขั้นตอนที่ 2: คาดการณ์ว่าอีกฝ่ายจะพูดอะไร
ยิ่งคุณคาดการณ์ได้มากเท่าไรว่าอีกฝ่ายจะพูดอะไรและเพราะเหตุใด คุณก็จะยิ่งสร้างสรรค์เรื่องที่จะเล่าหรือข้อเรียกร้องที่คุณจะขอให้ดีขึ้นได้เท่านั้น
ขั้นตอนที่ 3: ร่างบทของสิ่งที่คุณต้องการพูด
ยิ่งฝึกฝนบ่อย คุณก็ยิ่งสื่อสารได้กระชับและตรงจุดมากขึ้น คุณจะเตรียมตัวยังไงก็ได้ บางคนชอบเขียนบทพูดออกมาทั้งหมด บางคนเขียนเฉพาะหัวข้อหลัก
ขั้นตอนที่ 4: ซักซ้อมการประชุมไว้หลาย ๆ ครั้งเพื่อเตรียมพร้อมรับปฏิกริยาโต้ตอบแบบต่าง ๆ
ขั้นตอนนี้ให้คุณรวบรวมทีมแล้วให้พวกเขารับบทเป็นผู้บริหารของอีกฝ่ายที่คุณจะไปประชุมด้วย เมื่อคุณซ้อมนำเสนอเสร็จ ให้ทีมของคุณที่สมมติตัวเองเป็นผู้บริหารถามคำถามต่าง ๆ เพื่อใช้สำหรับปรับแก้บทพูดและเตรียมพร้อมรับปฏิกิริยาโต้ตอบแบบต่าง ๆ ไว้
ขั้นตอนที่ 5: ขอให้ที่ปรึกษาที่ไว้ใจได้ช่วยชี้จุดบอดของคุณ
เรื่องนี้เราจัดการกันไปส่วนใหญ่แล้วในระหว่างการซักซ้อม แต่หากอยากยกระดับให้ดียิ่งขึ้นไปอีก ให้คุณขอความเห็นจากเพื่อนที่ไว้ใจได้ซึ่งอยู่นอกอุตสาหกรรมของคุณ เพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะไม่มีจุดบอดใด ๆ

ขั้นตอนที่ 6: วางจิตให้อยู่ในสภาวะดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ก่อนเข้าประชุม
ช่วงก่อนที่จะถึงเวลาประชุมนั้นสำคัญมาก ให้คุณไปถึงสถานที่ล่วงหน้าเพื่อจะได้มีเวลาพัก และไม่ต้องวิตกเรื่องการเดินทาง จะได้มีเวลาจัดเตรียมการแต่งตัว มีเวลากินอาหาร ทั้งหมดนี้มีส่วนทำให้จิตใจอยู่ในสภาวะที่ดีที่สุด
ขั้นตอนที่ 7: สร้างชื่อเสียงเรื่องการส่งมอบสินค้าหรือบริการที่ดีเกินความคาดหมาย
ทุกข้อที่กล่าวมาจะเปล่าประโยชน์หากคุณไม่ทำสิ่งที่คุณต้องทำ สิ่งเลวร้ายที่สุดสำหรับธุรกิจก็คือ การมีชื่อเสียว่าดีแต่พูด แล้วพอถึงเวลาก็ทำตามที่พูดเอาไว้ไม่ได้ หากคุณรับปากอะไรแล้ว ให้ทำออกมาให้ดีจนเกินความคาดหมายของอีกฝ่าย ซึ่งจะเป็นการสร้างความประทับใจและคนจะพูดกันไปแบบปากต่อปาก
เนื้อหาทั้งหมดในหนังสือจะมีประโยชน์ก็ต่อเมื่อคุณนำไปประยุกต์ใช้ ลองเขียน 5 ก้าวทางธุรกิจของคุณออกมา แล้วเดินหมากตามลำดับจะทำให้คุณได้เป็นผู้ชนะ ทั้งหมดที่ผมนำมาเล่าเป็นเพียงส่วนหนึ่งของหนังสือเท่านั้น ในเล่มยังมีรายละเอียดอีกเยอะ ผู้เขียนได้เล่าประสบการณ์ในการก่อตั้งธุรกิจขึ้นมาด้วยตัวเอง เริ่มตั้งแต่ตอนที่ล้มลุกคลุกคลาน มีภาคผนวกท้ายเล่มที่ทำให้คุณเข้าใจตัวเองมากขึ้น นอกจากนี้ผู้เขียนยังให้ลิสต์หนังสือน่าอ่าน สำหรับตามไปอ่านเพื่อหาความรู้เรื่องการทำธุรกิจเพิ่มเติมอีกด้วย ใครสนใจสามารถหาซื้อมาอ่านได้กับหนังสือ Your Next Five Moves: 5 ก้าวพลิกกระดานธุรกิจ ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์บุ๊คสเคป ราคา 395 บาท
สนใจหนังสือ 5 ก้าวพลิกกระดานธุรกิจ
สามารถสั่งซื้อได้ที่ Shopee: https://s.shopee.co.th/8UpY3xIslK
ซื้อผ่านลิงค์เป็นการสนับสนุนช่องครับ
Leave a comment