Ten Drugs: สิบยาเปลี่ยนโลก - ประวัติศาสตร์การค้นพบยาที่พลิกชิวิตคนทั้งโลก

Ten Drugs: สิบยาเปลี่ยนโลก - ประวัติศาสตร์การค้นพบยาที่พลิกชิวิตคนทั้งโลก

ยาเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่สำหรับการดำรงชีวิตของมนุษย์ ยาช่วยรักษาเราตั้งแต่อาการเจ็บป่วยเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างปวดหัวเป็นไข้ก็กินยาพาราเซตามอล ช่วยให้ผู้ป่วยเรื้อรังมีชีวิตอยู่ต่อไปได้อย่างยารักษาโรคเบาหวานหรือความดันโลหิตสูง ไปจนถึงช่วยชีวิตจากมะเร็ง ถ้าไม่มีการวิจัยยาใหม่ ๆ ขึ้นมา อายุขัยของมนุษย์คงไม่ยืนยาวอย่างทุกวันนี้แน่นอนครับ

ไอติมเล่า ep นี่จะมาเล่าประวัติศาสตร์การคิดค้นยาที่สำคัญ ๆ โดยเนื้อหาผมสรุปมาจากหนังสือ "Ten Drugs สิบยาเปลี่ยนโลก" เขียนโดย โทมัส เฮเกอร์ หนังสือเล่มนี้เล่าถึงการค้นพบยา ตั้งแต่สมัยโบราณหลายพันปีที่มนุษย์เริ่มใช้ฝิ่นเป็นยาแก้ปวด ไปจนถึงยารักษามะเร็งที่สามารถตรวจจับเซลล์มะเร็งได้อย่างแม่นยำ

เนื้อหาในเล่มค่อนข้างเยอะและละเอียด ผมขอเลือกเรื่องที่ผมเห็นว่าน่าสนใจมาเล่าให้เพื่อน ๆ ฟังนะครับ โดยยาที่ผมจะนำมาเล่ามีวัคซีน ยาที่ช่วยลดโอกาสการเสียชีวิตจากการติดเชื้อที่พัฒนาขึ้นมาจากการปลูกฝี, ยาคุมกำเนิด ที่ช่วงแรกของการคิดค้นถูกต่อต้านจากศาสนจักรอย่างหนัก เพราะการคุมกำเนิดถูกมองว่าเป็นเรื่องผิดบาป และยาไวอากร้า ที่ตอนแรกนักวิจัยไม่ได้ตั้งใจให้ออกมาเป็นยารักษาเซ็กซ์เสื่อม


วัคซีน

วัคซีนเป็นยาที่ช่วยป้องกันโรคติดเชื้อ มีบทบาทสำคัญในการลดการเสียชีวิตหากติดเชื้อไปแล้ว โดยวัคซีนผลิตมาจากเชื้อโรคที่ถูกทำให้อ่อนแอหรือทำให้ตายแล้ว นำมาฉีดเข้าไปในร่างกายเพื่อให้ร่างกายรู้จักเชื้อโรคนั้นและสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา เป็นเหมือนการซ้อมต่อสู้กับเชื้อโรคนั่นเอง พอเราเกิดติดเชื้อนั้นขึ้นมาจริง ๆ ร่างกายของเราจะได้รู้วิธีสู้ ทำให้อาการป่วยไม่รุนแรงมาก ซึ่งการค้นพบวัคซีนเป็นหนึ่งในความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของการแพทย์เลยทีเดียวครับ

เรื่องวัคซีนนี้เราเป็นหนี้บุญคุณผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้คิดค้น เธอชื่อแมรี่ มอนตากิว ชื่อเดิมก่อนแต่งงานคือ แมรี่ เพียร์พอนต์ เธอเกิดในชนชั้นสูงของอังกฤษในปลายศตวรรษที่ 17 ครอบครัวมีฐานะร่ำรวยและให้ความสำคัญกับการศึกษา บ้านของเธอมีห้องสมุดส่วนตัวที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ส่งผลให้เธอหลงไหลในหนังสือมาก พ่อของเธอรับราชการในรัฐสภา วัยเด็กเธอจึงโตมากับแขกของพ่อที่ล้วนแต่เป็นคนที่ฉลาดหลักแหลม

เลดี้แมรี่ได้รับการศึกษาสูงกว่าผู้หญิงทั่วไปในยุคนั้น ทำให้เธอเป็นคนหัวคิดก้าวหน้า มีความเด็ดเดี่ยว แถมเป็นคนสวยอีกต่างหาก เรียกว่าเป็นผู้หญิงครบเครื่องที่หายาก พ่อของเธอจึงสรรหาเจ้าบ่าวที่คู่ควรมาให้อย่างดี แต่เลดี้แมรี่ไม่ต้องการให้ใครมากำหนดว่าเธอต้องทำอะไร เธอขอเลือกเจ้าบ่าวเอง แล้วเธอก็ไปแต่งงานกับ เอ็ดเวิร์ดวอร์ตลีย์ มอนตากิว ข้าราชการผู้เป็นหลานของท่านเอิร์ล

การแต่งงานของเลดี้แมรี่เป็นเรื่องอื้อฉาวในสมัยนั้น เธอทำงานเป็นนักเขียน งานเขียนของเธอไปในแนวเสียดสีสังคมคนชนชั้นสูงระดับเดียวกับเธอ เพราะเธอเฟียสซะขนาดนี้ เลยได้รับการขนานนามว่าเป็นหนึ่งในผู้หญิงที่ฉลาดที่สุดในยุคนั้น ส่วนสามีก็เติบโตในวงการการเมือง มีลูกคนแรกด้วยกันเป็นลูกชายในปี 1713 ชีวิตครอบครัวของเธอดูไปได้ดี

แต่แล้วปีศาจลายจุดก็มาพรากคนที่เธอรักไปทีละคน เริ่มจากน้องชายของเธอก่อน ตอนนั้นเขาอายุเพียง 20 ปี คนนี้เป็นน้องชายที่เลดี้แมรี่รักเป็นพิเศษ เขาป่วยเป็นโรคฝีดาษ นอนติดเตียงอย่างทรมาน มีตุ่มหนองขึ้นตามตัวจนเสียโฉม และเสียชีวิตภายในไม่กี่สัปดาห์หลังติดเชื้อ

โรคฝีดาษ หรือ smallpox เป็นโรคที่พบได้ทั่วไปในสมัยนั้น แพร่ระบาดในผู้คนนับล้าน โดยชอบแพร่ในหมู่คนหนุ่มสาวมากกว่าคนสูงอายุ เมื่อติดเชื้อโรคตัวนี้ภายใน 1-2 วันแรกที่เกิดอาการ อาจเข้าใจผิดว่าเป็นไข้หวัดธรรมดาเอาได้ จากนั้นอาการจะแย่ลง หัวใจเต้นเร็ว มีไข้สูงมากจนทำให้ผู้ป่วยเหงื่อแตก ท้องผูก อาเจียน และหิวน้ำไม่หยุด หลังจากนั้นไม่กี่วันจะมีผื่นคันเล็ก ๆ สีชมพูขึ้นตามตัว แล้วมันจะใหญ่ขึ้น เข้มขึ้น จนกลายเป็นตุ่มหนองที่มีกลิ่นเหม็น บางคนอาจมีแค่ไม่กี่ตุ่ม ไปจนถึงบางคนอาจมีเป็นพันตุ่ม

ยุคนั้นไม่มีใครรู้ว่าต้องทำยังไง ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าอะไรเป็นสาเหตุของโรคฝีดาษนี้ สิ่งที่ทำได้มากสุดคือการทำให้ผู้ป่วยทรมานน้อยที่สุด แพทย์บางคนเชื่อว่าถ้าทำให้เหงื่อออกจะเป็นการขับพิษ จึงแนะนำให้ห่มผ้าห่มให้ผู้ป่วยหลาย ๆ ชั้น และจุดไฟให้ความร้อนไปด้วย

ผู้ป่วยที่เป็นโรคฝีดาษ หลังจากมีตุ่มหนองเกิดขึ้นจะมีชะตาอยู่ 2 ทาง คือ เสียชีวิต ซึ่งมีโอกาส 1 ใน 4 ที่จะเสียชีวิตด้วยโรคนี้ ส่วน 3 ใน 4 ที่เหลือ เมื่อเวลาผ่านไปร่างกายของผู้ป่วยจะกำจัดเชื้อโรคออกไปได้เอง อาการจะดีขึ้น ไข้ลดลง ตุ่มหนองเริ่มแห้งและตกสะเก็ด พอพักฟื้นหลาย ๆ วัน หรืออาจหลายสัปดาห์ก็กลับมาใช้ชีวิตได้เป็นปกติ แต่ร่างกายจะเต็มไปด้วยรอยแผลเป็นที่เกิดจากตุ่มฝี

โรคฝีดาษระบาดแบบนั้นอยู่หลายสิบปี แถมโรคนี้ติดต่อง่ายมาก แค่หายใจเอาสะเก็ดผิวหนังของคนป่วยเข้าไป จับโดนตุ่มหนอง หรือแค่จับเสื้อผ้าของคนป่วยก็สามารถติดโรคนี้ได้แล้ว ยุคนั้นถ้าเมืองไหนเริ่มมีคนป่วยเป็นโรคฝีดาษ คนเมืองนั้นต้องย้ายหนีไปอยู่ที่อื่น โรคฝีดาษในยุคนั้นน่ากลัวมาก มีเรื่องเล่าว่าเมื่อนักสำรวจชาวยุโรปออกเดินทางไปแอฟริกา ซึ่งเป็นดินแดนที่ไม่เคยมีใครเป็นโรคฝีดาษมาก่อน ผลคือนักสำรวจเหล่านั้นนำโรคนี้ไปด้วย แอฟริกาเกิดโรคฝีดาษระบาด และทำเอาเกือบล้างเผ่าพันธุ์ชาวเผ่าทั้งหมดในแอฟริกา

มีข้อสังเกตอย่างหนึ่งคือ หากใครที่เคยป่วยเป็นโรคฝีดาษ เมื่อหายแล้วจะไม่กลับไปเป็นซ้ำอีก คนที่รอดชีวิตจากโรคนี้มาได้จึงสามารถดูแลคนที่กำลังป่วยโรคฝีดาษได้แบบไม่ต้องกลัวว่าจะติดเชื้อซ้ำอีก แต่ก็ไม่มีใครรู้ว่าทำไมถึงเป็นแบบนั้น เรื่องนี้ถือเป็นความลึกลับอย่างหนึ่งในสมัยที่มีแต่ความลึกลับ

สองปีหลังจากน้องชายของเลดี้แมรี่เสียชีวิตจากโรคฝีดาษ ตัวเธอเริ่มมีไข้ จากนั้นก็เริ่มมีผื่นขึ้น แพทย์มองทีเดียวก็รู้เลยว่าเธอป่วยเป็นโรคอะไร อาการของเธอค่อนข้างรุนแรง แพทย์บอกสามีของเธอให้เตรียมใจเอาไว้หน่อย แต่หลังจากทรมานอยู่หลายสัปดาห์ เลดี้แมรี่รอดตายจากโรคฝีดาษมาได้ โรคนั้นกัดกินผิวหนังรอบดวงตา ทำให้เธอดูมีใบหน้าที่ดุ ผิวที่เคยเรียบก็กลายเป็นเต็มไปด้วยหลุมแผลเป็นจากฝี

หลังจากนั้นไม่นานสามีของเธอได้รับการแต่งตั้งเป็นทูตของพระราชา ต้องไปประจำการที่ประเทศแถบตะวันออกกลาง เลดี้แมรี่อยากรู้อยากเห็นว่าต่างประเทศจะเป็นยังไง เลยพาลูกชายตามสามีไปด้วย ตอนนั้นการเดินทางจากยุโรปไปประเทศตะวันออกใช้เวลาเป็นเดือน ๆ ระหว่างทางเลดี้แมรี่จดบันทึกถึงสิ่งที่เจอ บรรยายถึงพื้นที่ที่พวกเขาเดินทางผ่าน พอมาถึงเธอก็ไม่เอาแต่อยู่ในบ้าน แต่ออกไปเรียนรู้ทุกอย่างเกี่ยวกับโลกมุสลิม ไปสุงสิงกับหญิงสูงศักดิ์ของเมือง จนได้รับความไว้ใจให้เข้าไปร่วมใช้ห้องพักและห้องอาบน้ำ

เลดี้แมรี่มีโอกาสแช่น้ำกับหญิงมุสลิมเหล่านั้น เธอเห็นว่าผิวของคนเหล่านั้นเรียบเนียน ไม่มีใครมีแผลเป็นจากฝีดาษ ถึงแม้คนยุโรปจะมาเยือนที่นี่มากขึ้น แต่คนที่นี่ไม่ติดโรคฝีดาษเลย เลดี้แมรามารู้ว่าเนื่องจากผู้คนที่นี่มีการปลูกถ่ายฝี โดยกลุ่มหญิงสูงวัยจะทำหน้าที่นี้ คนที่นี่จะปลูกฝีกันช่วงเดือนกันยายน แต่ละปีจะมีคนมาปลูกฝีกันประมาณ 15-16 คน

เลดี้แมรี่ที่เจ็บใจกับโรคฝีดาษจึงสนใจการปลูกฝีเลยตามไปดูขั้นตอน การปลูกฝีเริ่มต้นที่แม่เฒ่าจะมาพร้อมกับกะลาที่มีหนองจากฝีของผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรง จากนั้นแม่เฒ่าจะเอาเข็มขูดที่แขนของคนที่จะปลูกฝี ขูดให้ลึกพอแค่มีเลือดออก แล้วใส่หนองเข้าไป จากนั้นปิดปากแผลด้วยเศษเปลือกหอย คนที่ปลูกฝีเสร็จแล้วจะแข็งแรงดีจนถึงวันที่ 8 จากนั้นพวกเขาจะเริ่มมีไข้ และต้องนอนพักบนเตียง 2-3 วัน ฝีที่ขึ้นมีแค่ไม่กี่จุด และจะไม่กลายเป็นแผลเป็น จากนั้นพวกเขาก็จะกลับมาแข็งแรงเหมือนเดิม ที่ผ่านมายังไม่เคยมีใครเสียชีวิตจากการปลูกฝีด้วยวิธีนี้

เลดี้แมรี่ทึ่งกับผลลัพธ์ของการปลูกฝี แพทย์ชาวยุโรปจำนวนหนึ่งก็ชอบวิธีการนี้ พวกเขาเคยเขียนจดหมายรายงานเรื่องนี้กลับไปที่ประเทศบ้านเกิด แต่ทางการไม่ได้สนใจ เพราะคิดว่าเป็นวิธีที่ป่าเถื่อน เลดี้แมรี่อยากพิสูจน์ให้ชาวยุโรปเห็นว่าวิธีนี้มันได้ผลจริง ๆ  จึงจะปลูกฝีให้ลูกชายของเธอ แต่เธอต้องแอบทำโดยไม่ให้สามีรู้ การปลูกฝีให้ลูกชายผ่านไปด้วยดี ลูกชายของเธอแสดงอาการป่วยแค่เล็กน้อย หลังจากนั้นก็หายดีและไม่กลับมาเป็นฝีดาษอีก

หลังจากครอบครัวของเลดี้แมรี่กลับลอนดอน เธอก็นำวิธีการปลูกฝีนี้ไปเผยแพร่ที่นั่น กลุ่มแพทย์ชาวอังกฤษแสดงท่าทางรังเกียจ กล่าวหาว่าเลดี้แมรี่เป็นสาวกของมุฮัมมัดจะมาสอนอะไรชาวคริสต์ผู้เจริญ บ้างก็เหยียดเพศว่าเป็นผู้หญิงจะมาสอนอะไรแพทย์ผู้ชายที่ร่ำเรียนมาแล้ว เลดี้แมรี่โน้มน้าวให้แพทย์ชาวอังกฤษนำวิธีปลูกฝีไปใช้ไม่สำเร็จ

จนในปี 1721 โรคฝีดาษระบาดที่ลอนดอนอีกครั้ง ตอนนั้นเลดี้แมรี่มีลูกสาวอายุได้ 3 ขวบ เธออยากปกป้องลูกสาวจากโรคระบาดนี้ จึงเรียกแพทย์ชาวสกอตมาปลูกฝีให้ พร้อมกับเชิญพยานมาสังเกตการณ์ เพื่อต้องการให้สาธารณชนรับรู้ถึงประสิทธิภาพของการปลูกฝี

การปลูกฝีให้ลูกสาวผ่านไปด้วยดี เนื่องจากเลดี้แมรี่ไม่มีอิทธิพลต่อแพทย์ จึงหันไปโน้มน้าวเพื่อนผู้หญิงในสังคมชนชั้นสูงด้วยกัน บางคนอยู่ในราชสำนัก อย่างเจ้าหญิงแคโรลีน เจ้าหญิงแห่งเวลส์ ซึ่งมีลูก 5 คนก็สนใจอยากปลูกฝีให้กับลูก ๆ แต่พอเธอไปขออนุญาตพระเจ้าจอร์จที่ 1 ซึ่งมีศักดิ์เป็นพ่อสามี เป็นปู่ของเด็ก ๆ พระองค์ก็ไม่ทรงอนุญาต เจ้าหญิงแคโรลีนจึงต้องพิสูจน์ว่าวิธีปลูกฝีจากต่างแดนนั้นปลอดภัย จึงรับอาสาสมัครนักโทษมาปลูกถ่ายฝี เพื่อแลกกับการได้รับพระราชทานอภัยโทษ

นักโทษชาย 3 คน หญิง 3 คน เข้ารับการปลูกฝีต่อหน้านักวิทยาศาสตร์และแพทย์หลายสิบคน และติดตามอาการต่ออย่างใกล้ชิด นักโทษ 5 คนเกิดฝีดาษแบบไม่รุนแรงตามที่คาดและหายไปเอง ส่วนอีกคนปลูกแล้วไม่แสดงอาการอะไรเลย คาดว่าน่าจะเคยเป็นฝีดาษมาแล้ว แต่แพทย์ยังอยากพิสูจน์ต่อถึงความปลอดภัย จึงจัดทดลองปลูกฝีอีกครั้งในเด็กกำพร้า 11 คน ผลก็ออกมาดีเช่นกัน

ช่วงนี้เป็นช่วงสำคัญทางประวัติศาสตร์ทางการแพทย์ การทดสอบในนักโทษและเด็กกำพร้าเป็นครั้งแรกของ "การทดสอบทางคลินิก" ซึ่งเป็นชื่อที่เราเรียกกันในทุกวันนี้ มันคือการทดสอบยาใหม่หรือวิธีการรักษาแบบใหม่ในคน เพื่อประเมินว่าปลอดภัยและมีประสิทธิภาพหรือไม่ การทดสอบทางคลินิกเป็นส่วนหนึ่งของการทดสอบยาทุกชนิดในปัจจุบัน ยาที่สั่งจ่ายทุกชนิดต้องผ่านการรับรองว่าปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในมนุษย์

หลังจากการปลูกฝีในนักโทษและเด็กกำพร้าได้ผลดี พระเจ้าจอร์จที่ 1 ทรงอนุญาตให้ปลูกฝีในธิดาองค์โต 2 พระองค์ ที่ไม่ยอมให้ปลูกในเด็กผู้ชาย เพราะกลัวว่าจะเสี่ยงต่อรัชทายาทสืบทอดบัลลังก์ การปลูกฝีให้ธิดา 2 พระองค์ผ่านไปด้วยดี ครั้งนี้ภาพลักษณ์ของการปลูกฝีดีขึ้นมาก เพราะราชสำนักพิสูจน์ให้เห็นเองเลย ชนชั้นสูงของอังกฤษก็กล้าปลูกฝีให้ลูกหลาน ทำให้ส่งแรงกระเพื่อมออกไปในวงกว้าง การปลูกฝีจึงเข้าถึงสาธารณชนมากขึ้น

การปลูกฝีขยายไปสู่อเมริกาและทั่วยุโรป ความตั้งใจของเลดี้แมรี่ได้รับชัยชนะ แต่การบุกเบิกของเธอมีคนรับรู้น้อยมาก คนทั่วโลกยกย่องเกียรตินี้ให้กับ เอ็ดเวิร์ด เจนเนอร์ ผู้ได้รับฉายาว่าบิดาแห่งวัคซีน เอ็ดเวิร์ดเชื่อว่าการให้วัคซีนด้วยฝีดาษวัว หรือ cowpox นั้นปลอดภัยกว่าการปลูกฝีแบบดั้งเดิม โดยเขาได้ศึกษาหญิงรีดนมวัวในชนบทที่บางครั้งพวกเธอก็ต้องรีดนมจากเต้านมวัวตัวที่มีตุ่มคล้ายฝีดาษ แต่จริง ๆ แล้วไม่อันตราย เรียกว่าฝีดาษวัว พอหญิงรีดนมจับโดนตุ่มนั้น มือของเธอก็จะมีผื่นขึ้น และหายไปเองในเวลาไม่กี่วัน หลังจากนั้นพวกเธอจะไม่มีวันเป็นฝีดาษอีก จึงสามารถรับหน้าที่เป็นพยาบาลดูแลคนในฟาร์มที่เป็นโรคฝีดาษ นี่เป็นที่มาของคำว่า "การให้วัคซีน" หรือ vaccination ที่มาจากคำว่า vacca ในภาษาละตินที่แปลว่าวัว

เอ็ดเวิร์ดได้ออกแบบงานทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการให้วัคซีน จนเป็นที่ยอมรับและมีชื่อเสียงไปทั่วโลก มีการประมาณกันว่าฝีดาษทำให้คนทั่วโลกเสียชีวิตไปถึง 300 ล้านคน การบุกเบิกของเลดี้แมรี่ที่ทำให้โลกรู้จักการปลูกฝีดาษ ทำให้คนป่วยที่จะแพร่เชื้อน้อยลงเรื่อย ๆ จนในปี 1980 องค์การอนามัยโลกได้ประกาศว่าโรคฝีดาษได้ถูกกวาดล้างจนหมดแล้ว และแนวคิดวัคซีนถูกนำมาใช้ป้องกันโรคอื่น ๆ เช่น โรคพิษสุนัขบ้า แอนแทรกซ์ หัด และโปลิโอ


ยาคุมกำเนิด

ยาคุมเนี่ยเป็นยาที่แปลก เพราะมันไม่ได้ช่วยบรรเทาอาการเจ็บป่วยหรือใช้รักษาโรค แต่การเกิดขึ้นของมันเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและจริยธรรมทางเพศของคนทั่วโลก แถมยังยกระดับชีวิตให้ผู้หญิงอีกด้วย โดยก่อนที่จะมียาคุม เซ็กซ์นั้นแทบจะมาพร้อมกับการตั้งท้องอย่างเลี่ยงไม่ได้

คนในสมัยโบราณก็พยายามหาวิธีคุมกำเนิดสารพัดวิธี เช่น ผู้หญิงในจีนจะดื่มสารที่มีตะกั่วและปรอทเพื่อคุมกำเนิด ซึ่งแน่นอนว่าทั้งสองสารนั้นเป็นอันตรายต่อร่างกาย หรือผู้หญิงในยุโรปยุคกลางจะห้อยเครื่องรางที่ทำมาจากกระดูกแมวไว้ที่ต้นขา เพื่อป้องกันไม่ให้ท้อง ผู้หญิงเหล่านี้ยังอยากใช้ชีวิตในวัยสาว เพราะหากตั้งท้องแล้วก็จะต้องรับผิดชอบในการมีครอบครัว ต้องอยู่แต่กับบ้าน ดูแลลูกและสามี

ในศตวรรษที่ 15 มีการเริ่มใช้ถุงยางอนามัยในผู้ชาย ซึ่งทำออกมาหลายแบบมาก ทั้งจากลำไส้แกะดอง หรือถุงผ้าลินิน แต่ก็ให้ผลลัพธ์ไม่แน่นอน จนช่วงปี 1930 มูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ในสหรัฐอเมริกาได้ใช้งบประมาณจำนวนมากเพื่อศึกษาชีวโมเลกุล ศึกษาเรื่องฮอร์โมนของร่างกาย ช่วงนั้นเรื่องฮอร์โมนเริ่มเป็นที่เข้าใจ ผู้คนรู้ว่าเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น ร่างกายมนุษย์จะเกิดการเปลี่ยนแปลง

ลุดวิก ฮาเบอร์แลนด์ นักสรีรวิทยาชาวออสเตรีย เป็นอีกคนที่ได้งบจากมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์เพื่อวิจัยด้านฮอร์โมน งานวิจัยของเขาบอกว่าเมื่อผู้หญิงคนหนึ่งตั้งท้อง เธอจะตั้งท้องซ้ำอีกไม่ได้จนกว่าจะคลอด เธอจะอยู่ในภาวะเป็นหมันชั่วคราว เพราะขณะที่ตั้งท้อง การตกไข่ของผู้หญิงจะหยุด ลุดวิกเลยทดลองนำเนื้อเยื่อส่วนหนึ่งของรังไข่ในสัตว์ที่ตั้งท้อง มาปลูกถ่ายในสัตว์ตัวเมียที่ไม่ได้ท้อง เนื้อเยื่อนั้นหลั่งฮอร์โมนที่ช่วยป้องกันการตกไข่ ทำให้สัตว์ทดลองตัวนั้นเป็นหมันชั่วคราวแบบไม่ต้องตั้งท้อง ลุดวิกเลยแยกฮอร์โมนนั้นออกมาทำเป็นยาคุม

แต่ลุดวิกมาก่อนกาลเร็วเกินไป งานวิจัยของเขาถูกวิจารณ์อย่างหนัก ถูกโจมตีว่ากล้าไปยุ่งกับการให้กำเนิดที่เป็นงานของพระเจ้าได้ยังไง หลังจากเผยแพร่งานวิจัยออกไปเพียงหนึ่งปี ลุดวิกก็ตัดสินใจจบชีวิตตัวเอง แต่ปัจจุบัน ลุดวิก ฮาเบอร์แลนด์ ได้รับการยกย่องว่าเป็น "คุณปู่แห่งยาคุมกำเนิด"

ไม่กี่ปีต่อมาหลังจากลุดวิกเสียชีวิต มีคนสานต่องานวิจัยของเขามากมาย นักวิจัยพบฮอร์โมนเพศ เช่น โพรเจสเทอโรน เทสโทสเทอโรน และเอสตราไดออล นอกจากนี้ยังเข้าใจว่าสเตียรอยด์ถูกผลิตขึ้นมาได้ยังไง ช่วงทศวรรษที่ 1930 ถูกเรียกว่าเป็นทศวรรษแห่งฮอร์โมนเพศ งานวิจัยด้านนี้กำลังก้าวหน้า แต่กลับเกิดสงครามโลกครั้งที่สองขึ้นมา ทำให้ทุนวิจัยที่ควรนำมาใช้ด้านวิจัยฮอร์โมนเพศถูกโอนไปวิจัยด้านการทหารแทน และหลังสงครามจบ มีคนตายไปหลายล้านคน สิ่งที่คนยุคนั้นให้ความสนใจคือการมีลูกขึ้นมาทดแทนประชากรที่เสียไป คนที่เกิดในยุคหลังสงครามจึงถูกเรียนว่า Baby Boomer ยุคหลังสงครามเป็นยุคที่คนยังไม่ให้ความสนใจเรื่องการคุมกำเนิด

จนปี 1944 เกรกอรี พินคัส และจางหมิงเจวี๋ย สองเพื่อนสนิทได้ทำการวิจัยเรื่องฮอร์โมนตกไข่ โดยได้รับทุนจาก มาร์กาเร็ต แซงเกอร์ ผู้ก่อตั้งสมาคมวางแผนครอบครัว (Planned Parenthood) ซึ่งสมาคมของเธอได้รับเงินสนับสนุนจาก แคเทอรีน แม็คคอร์มิก เพื่อนผู้เป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี และเป็นหนึ่งในผู้หญิงที่รวยที่สุดในโลก

มาร์กาเร็ตและแคเทอรีนในวัย 70 ปี เห็นว่าถึงเวลาที่โลกนี้ต้องมียาคุมกำเนิดได้แล้ว เพราะทั้งคู่ต้องการหยุดการทำแท้งเถื่อน อยากให้การคุมกำเนิดปลอดภัย และเข้าถึงง่าย พวกเธอคิดว่าคนที่ควรตัดสินใจว่าจะท้องเมื่อไหร่หรือไม่ท้องคือผู้หญิง ไม่ใช่ผู้ชาย ทั้งสองคนจึงติดต่อไปหาเกรกอรีและจางหมิงเจวี๋ย เพื่อให้ผลิตยาคุมออกมา

แต่ตอนนั้นที่สหรัฐอเมริกามีกฎหมายคอมสต๊อกที่ห้ามขายยาคุม การให้ยาคุมกำเนิดแก่ผู้หญิงหนึ่งเม็ด มีโทษปรับถึง 1,000 ดอลลาร์ หรือจำคุก 5 ปี และห้ามไม่ให้ทำการทดลองยาคุมกำเนิดในมนุษย์ในสหรัฐอเมริกา เกรกอรีจึงต้องไปทดสอบยาที่เปอร์โตริโกแทน

หลังจากปรับปรุงจนยาได้ผลดีเยี่ยม ยาคุมของเกรกอรีก็ได้วางจำหน่ายในสหรัฐอเมริกาในชื่อ "ยาอีโนวิด" และเพื่อเป็นการเลี่ยงกฎหมายคอมสต๊อก พวกเขาจึงระบุว่ายานี้เป็นยาช่วยปรับประจำเดือน จนในปี 1960 คณะกรรมการอาหารและยายอมให้ใช้ยาคุมกำเนิดในที่สุด จริง ๆ แล้วเดิมทีก็มีผู้หญิงใช้ยาคุมอยู่แล้วหลายแสนคน พอมีการยอมรับ ยาคุมก็มีคนใช้เพิ่มมากขึ้น จนในปี 1967 มีผู้หญิงกว่า 13 ล้านคนใช้ยาคุมกำเนิด

ยาคุมส่งผลกระทบต่อวัฒนธรรม ยาคุมทำให้หนุ่มสาวมีเพศสัมพันธ์กันได้แบบไม่มีพันธะผูกพันตามมา ยาคุมยังให้อำนาจแก่ผู้หญิงในการควบคุมว่าจะตั้งท้องเมื่อไหร่ ทำให้ผู้หญิงสามารถจัดการชีวิตด้านต่าง ๆ ได้ โดยเฉพาะเรื่องเรียน หลังจากยาคุมเป็นที่แพร่หลาย ในทศวรรษที่ 1970 มีจำนวนของผู้หญิงที่จบปริญญาโทเพิ่มขึ้น มีสัดส่วนผู้หญิงทำอาชีพทนายความเพิ่มขึ้นจาก 5% เป็น 30% และสัดส่วนจำนวนของผู้หญิงยังเพิ่มขึ้นในสาขาอาชีพอื่น เช่น ทันตแพทย์, สถาปนิก, วิศวะกร และนักเศรษฐศาสตร์

ผู้หญิงใช้ยาคุมกำเนิด เพื่อหลังจากมีเซ็กซ์แล้วจะได้กลับมาใช้ชีวิตได้สนุกเหมือนเดิม ส่วนผู้ชายมียาตัวหนึ่งที่ใช้เพื่อให้ตัวเองกลับมามีความสุขกับเซ็กซ์ได้อีกครั้ง ยาตัวที่ผมกำลังจะพูดถึงคือไวอากร้าครับ


ยาไวอากร้า

ตอนแรกนักวิจัยไม่ได้ตั้งใจให้ยานี้มีสรรพคุณสำหรับแก้อาการเซ็กซ์เสื่อมนะครับ เรื่องนี้เริ่มขึ้นในปี 1985 ศูนย์การวิจัยของไฟเซอร์ บริษัทวิจัยยายักษ์ใหญ่ของโลก กำลังพยายามคิดค้นยารักษาอาการเจ็บแน่นหน้าอก ซึ่งเกิดจากเลือดไปเลี้ยงหัวใจลดลง ทีมวิจัยของไฟเซอร์ต้องการยาที่ช่วยขยายหลอดเลือด ทำให้เลือดไหลผ่านดีขึ้น เพื่อบรรเทาอาการเจ็บแน่นหน้าอก

การวิจัยเป็นไปได้ยาก เพราะหลอดเลือดตอบสนองต่อสารเคมีหลายชนิด โดยสารเคมีสารหนึ่งจะไปกระตุ้นอีกสาร แล้วสารนั้นก็จะไปกระตุ้นอีกสาร เป็นอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ แต่ทีมวิจัยก็ไม่ท้อถ้าบริษัทไฟเซอร์ไม่ทิ้ง จนปี 1988 หลังจากทดลองสารเคมีมาหลายพันชนิด พวกเขาก็พบสารที่ดูใช้ได้ชื่อ UK-94280 ซึ่งออกฤทธิ์โดยหยุดการทำงานของเอนไซม์ที่ทำลายสารเคมีอีกตัวที่เกี่ยวข้องกับการคลายตัวของหลอดเลือด

พวกเขานำสารนี้ไปทดลองใช้กับกลุ่มตัวอย่าง ผลที่ออกมาไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง ยานี้มีผลข้างเขียงมากเกินไป ตั้งแต่อาการอาหารไม่ย่อย ไปจนถึงปวดศีรษะแบบรุนแรง แต่มีผลข้างเคียงอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ ในกลุ่มผู้ชายที่ได้รับยานี้ พวกเขาพบว่าอวัยวะเพศของตัวเองแข็งตัวไป 2-3 วันหลังจากได้รับยา พวกเขาบอกว่าอาการเจ็บแน่นหน้าอกไม่ดีขึ้นเลย แต่ชีวิตเซ็กซ์ของพวกเขากลับดีขึ้นมาก

ผู้บริหารของไฟเซอร์เห็นเรื่องนี้เป็นโอกาสทางธุรกิจ ช่วงยุค 1980 กลุ่มคนที่มีกำลังซื้อกลุ่มใหญ่ที่สุดคือคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์ที่กำลังแก่ตัว นอกจากโรคหัวใจ โรคไขข้ออักเสบ โรคไต หรือหัวล้านแล้ว อาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ผู้ชายรุ่นนี้กังวล บริษัทไฟเซอร์จึงไฟเขียวให้วิจัยยานี้ต่อ โดยไม่สนใจเรื่องช่วยลดอาการเจ็บแน่นหน้าอกแล้ว

การแข็งตัวขององคชาตเกิดขึ้นจากสาร CGMP ซึ่งเป็นสารที่ร่างกายผลิตขึ้นเพื่อคลายกล้ามเนื้อเรียบของหลอดเลือดแดง ทำให้เลือดเข้ามาสะสมในองคชาต จนขยายใหญ่และเกิดเป็นการแข็งตัว และแน่นอนว่าระบบนี้ต้องย้อนกลับได้ ไม่งั้นองคชาตแข็งแล้วก็จะแข็งตลอดไป หลังจากเสร็จภารกิจ ร่างกายจะสร้างเอนไซม์ที่มาสลาย CGMP เมื่อระดับ CGMP ลดลง องคชาตก็จะหดกลับมาอยู่ขนาดปกติ

ยาที่นักวิจัยของไฟเซอร์คิดค้นชื่อว่า ซิลเดนาฟิล ซึ่งออกฤทธิ์โดยหยุดการทำงานของเอนไซม์ที่จะมาสลาย CGMP ทำให้ระดับ CGMP สูงพอที่องคชาตจะแข็งตัวได้ต่อไป บริษัทไฟเซอร์พร้อมปล่อยยาตัวใหม่นี้ออกขายแล้ว แต่พวกเขาต้องคิดชื่อทางการค้าเจ๋ง ๆ ให้ยาตัวใหม่นี้เพื่อเหตุผลด้านการตลาด จนได้ชื่อไวอากร้า ที่มาจากคำว่า Vigor ที่แปลว่าความแข็งแรง และคำว่า Niangara ที่เป็นชื่อของน้ำตกที่ไหลอย่างไม่หยุด ไฟเซอร์จนทะเบียนยาชื่อไวอากร้าในปี 1996

วันที่ 4 พฤษภาคม 1998 นิตยสารไทม์ได้นำไวอากร้าขึ้นปก เป็นภาพการ์ตูนชายสูงวัยที่ในมือถือยาไวอากร้าและกำลังกอดสาวเปลือยผมบลอนด์ พร้อมพาดหัวว่า "ยาเม็ดเพื่อสมรรถภาพทางเพศ ใช่แล้ว ไวอากร้าได้ผล" ฝ่ายการตลาดของไฟเซอร์ยิ้มเลย ที่ได้พื้นที่สื่ออยู่บนนิตยสารระดับโลกแบบนี้

วันแรกที่ยาไวอากร้าวางจำหน่าย มีเรื่องเล่าว่าแพทย์คนหนึ่งมีคนไข้มาให้เขียนใบสั่งยานี้ให้ถึง 300 คน บริษัทประกันสุขภาพส่วนใหญ่เริ่มครอบคลุมค่าใช้จ่ายสำหรับยานี้ หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์เรียกปรากฎการณ์นี้ว่า "เป็นการเปิดตัวยาที่ประสบความสำเร็จที่สุดเท่าที่เคยมีมาในสหรัฐอเมริกา" หุ้นของไฟเซอร์เพิ่มขึ้นถึง 60%

ช่วงยุค 2000 ไวอากร้าขายดีมาก แม้ราคาจะสูงขึ้นก็ตาม ราคายาต่อเม็ดเพิ่มจาก 7 ดอลลาร์เมื่อตอนวางขายครั้งแรก มาเป็นเม็ดละ 50 ดอลลาร์ในปัจจุบัน ไวอากร้าเป็นที่นิยมมาก จนมีไวอากร้าเถื่อนออกมาวางขายในตลาดมืด ยาปลอมเหล่านี้ทำมาจากทุกอย่าง ตั้งแต่แป้ง ผงซักผ้า สารเบื่อหนู ไปจนถึงสีทาถนน

ไวอากร้าขายดีที่สุดในปี 2012 ด้วยยอดขายเกินกว่า 2 พันล้านดอลลาร์ จากนั้นยอดขายก็ลดลง เพราะอายุสิทธิบัตรยาหมดอายุ สิทธิบัตรยาใหม่ในสหรัฐอเมริกามีอายุ 20 ปีนับตั้งแต่วันที่บริษัทยื่นจดสิทธิบัตร พอหมดอายุบริษัทอื่นก็สามารถผลิตยาชนิดเดียวกันออกมาขายได้ เกิดเป็นการแข่งขันที่ทำให้ราคายาลดลง ทำให้บริษัทไฟเซอร์สูญเสียรายได้หลายพันล้านดอลลาร์จากที่เคยได้จากไวอากร้า

เรื่องนี้ทำให้เรารู้ว่ายาไม่ได้มีไว้สำหรับช่วยชีวิตผู้คนเท่านั้น แต่ผู้คนยังต้องการยาที่ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิต ไวอากร้าเป็นตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จในการตอบสนองความต้องการนั้น มันทำให้ผู้คนได้กลับมาสัมผัสประสบการณ์ความเป็นหนุ่มอีกครั้ง

นี่คือประวัติการค้นพบของยา 3 ชนิด จากทั้งหมด 10 ชนิด ที่ผมสรุปมาจากหนังสือ Ten Drugs สิบยาเปลี่ยนโลก หนังสือไม่ได้หนานะครับ มีจำนวนหน้าแค่ 276 หน้าเอง แต่เนื้อหาอัดแน่นมาก เล่าค่อนข้างละเอียด มีตัวละครเยอะ ศัพท์เฉพาะทางเยอะ สำนวนค่อนข้างวิชาการ อ่านยากนิดหนึ่งครับ ใครสนใจสามารถหาหนังสือเล่มนี้มาอ่านได้ ตีพิมพ์เป็นภาษาไทยโดยสำนักพิมพ์ Sophia ในเครืออมรินทร์บุ๊กส์ ราคา 265 บาท