สิ่งที่ไม่เปลี่ยน ในโลกที่เปลี่ยนแปลง - รู้ในสิ่งที่ไม่มีวันเปลี่ยน มีประโยชน์กว่าการพยายามทำนายอนาคต

สิ่งที่ไม่เปลี่ยน ในโลกที่เปลี่ยนแปลง - รู้ในสิ่งที่ไม่มีวันเปลี่ยน มีประโยชน์กว่าการพยายามทำนายอนาคต

เมื่อต้องวางแผนถึงอนาคต เรามักอยากรู้ว่า "เศรษฐกิจในปีหน้าจะเป็นยังไง?" หรือ "อีก 10 ปีข้างหน้าจะมีอะไรเปลี่ยนไปบ้าง?" แต่การทำนายอนาคตเป็นเรื่องยาก ดังนั้นเรามาตั้งคำถามใหม่ดีกว่าว่า "อะไรจะยังคงเหมือนเดิมในอีกสิบปีข้างหน้า?" การรู้ในสิ่งที่จะไม่มีวันเปลี่ยนแปลง มีประโยชน์มากกว่าการพยายามทำนายอนาคตที่ไม่แน่นอน

ไอติมอ่าน ep นี้จะมาแนะนำเนื้อหาจากหนังสือ "Same as Ever จิตวิทยาเอาชนะอนาคต" ของนักเขียน มอร์แกน เฮาเซล เจ้าของหนังสือขายดีอย่าง The Psychology of Money จิตวิทยาว่าด้วยเงิน

ในหนังสือเล่มนี้ ผู้เขียนได้แบ่งปันเรื่องเล่า 23 เรื่องซึ่งเกี่ยวกับชีวิต, พฤติกรรมมนุษย์ และธุรกิจที่จะยังคงเหมือนเดิม แม้เวลาจะเปลี่ยนไป การรู้ในสิ่งที่จะไม่มีวันเปลี่ยนในโลกที่เปลี่ยนแปลง จะทำให้คุณสามารถคิดเกี่ยวกับความเสี่ยง, โอกาส และแนวทางการใช้ชีวิตสำหรับอนาคตที่ไม่แน่นอนได้นั่นเองครับ

ผมสรุปเนื้อหามาให้เพื่อน ๆ 10 เรื่อง โดยเลือกเรื่องที่ผมเห็นว่ามีประโยชน์และอยากเอามาแชร์ต่อ มาเริ่มที่เรื่องแรกกันเลยครับ

ความเสี่ยงคือสิ่งที่เรามองไม่เห็น

เหตุการณ์ที่สร้างความเสียหายรุนแรง คือเหตุการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดขึ้น เพราะเมื่อไม่มีใครรู้ ก็ไม่มีใครเตรียมตัวรับมือ พอเกิดเหตุการณ์นั้นขึ้นจึงสร้างความเสียหายอย่างรุนแรง

ผู้เขียนยกตัวอย่างเหตุการณ์หนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าปัจจัยเล็ก ๆ ที่ถูกละเลยนั้นสามารถสร้างความเสียหายได้แค่ไหน ในเดือนพฤษภาคม ปี 1961 นาซ่าได้ทดสอบชุดนักบินอวกาศ โดยการส่ง วิกเตอร์ พราเธอร์ขึ้นบอลลูนไปแตะขอบอวกาศ

การทดสอบครั้งนั้นประสบความสำเร็จ ชุดนักบินอวกาศใช้งานสมบูรณ์แบบ ขณะที่พราเธอร์กลับลงสู่พื้นโลก เขาได้เปิดหน้ากากด้านหน้าของหมวกนักบินเพื่อสูดอากาศบริสุทธิ์ เขาลงสู่ทะเลตามแผน ซึ่งมีเฮลิคอปเตอร์มารอดึงตัวเขาขึ้นไป แต่มีเหตุผิดพลาดเล็กน้อย พราเธอร์สะดุดตกลงไปในทะเล ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะชุดนักบินกันน้ำและลอยน้ำได้ ทุกคนบนเฮลิคอปเตอร์ไม่ได้ตกใจอะไร แต่เพราะพราเธอร์เปิดหน้ากากขึ้น ทำให้น้ำทะเลทะลักเข้าไปในชุดนักบิน พราเธอร์จึงจมสู่ทะเล

การส่งคนขึ้นไปบนอวกาศต้องมีการวางแผนอย่างซับซ้อน คำนึงถึงทุกความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้น ทุกอย่างถูกกลั่นกรองจากคนทำงานระดับหัวกะทิหลายพันคน ทุกความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น นาซ่าได้ว่าแผนเอ แผนบี แผนซี รองรับไว้เสมอ แต่ถึงจะมีการวางแผนกันมากขนาดไหน การกระทำเล็ก ๆ น้อย ๆ เพียงอย่างเดียวที่ไม่มีใครคาดคิดก็อาจนำมาซึ่งหายนะได้

ลองนึกถึงเหตุการณ์ใหญ่ ๆ อย่าง โควิด, เหตุการณ์ 9/11 หรือสงครามรัสเซียกับยูเครน ลักษณะร่วมของเหตุการร์เหล่านี้ นอกจากความใหญ่โตแล้ว ยังน่าประหลาดใจที่ไม่มีใครรู้มาก่อน จนกระทั่งมันเกิดขึ้น

ในอนาคตมีเรื่องที่เราไม่รู้อีกเยอะมาก แม้เราจะพยายามทำนายว่ามันจะเกิดตอนไหน เราก็เดาไม่ถูกอยู่ดี ดังนั้นให้เตรียมรับมือกับความเสี่ยงอยู่เสมอ และตระหนักว่าแม้แต่แผนที่ดีที่สุดก็สามารถล้มเหลวได้


กฎแห่งความสุขข้อแรกคือคาดหวังให้น้อย

โลกของเรานี้ดีขึ้นทุก ๆ วัน ผู้คนร่ำรวยขึ้น เทคโนโลยีช่วยให้เราใช้ชีวิตได้สะดวกขึ้น และการแพทย์ช่วยชีวิตคนได้มากขึ้น แม้คุณภาพชีวิตของผู้คนจะดีขึ้นก็จริง แต่ความคาดหวังของผู้คนก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย หรืออาจแซงหน้าไปแล้วด้วยซ้ำ

มีคำกล่าวไว้ว่า "คนเรามักอยากมีความสุขมากกว่าคนอื่น แต่นั้นเป็นเรื่องยาก เพราะเรามักเชื่อว่าคนอื่นมีความสุขมากกว่าที่พวกเขามีจริง ๆ" และอีกคำกล่าวหนึ่งว่า "โลกไม่ได้ขับเคลื่อนด้วยความโลภ แต่มันขับเคลื่อนด้วยความอิจฉา"

ชาร์ลี มังเกอร์ นักลงทุนระดับตำนาน ผู้เป็นมือขาวของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ เคยตอบคำถาม "เคล็ดลับในการมีความสุขของคุณคืออะไร?" เอาไว้ว่า

"กฏข้อแรกของการมีความสุข คือคาดหวังให้น้อยลง ถ้าคุณมีความคาดหวังที่เกินจริง คุณจะไม่มีความสุขไปตลอดทั้งชีวิต คุณต้องมีความคาดหวังที่เป็นเหตุเป็นผล และยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิต ทั้งดีและร้าย ตามความเป็นจริงของมันโดยไม่ใช้อารมณ์"


เรื่องราวดีมีชัยเสมอ

โลกนี้มีข้อมูลข่าวสารมากเกินกว่าที่เราจะมานั่งไล่ดู เพื่อหาคำตอบที่มีเหตุผลและถูกต้องที่สุด ทุกคนไม่มีเวลาและใช้ความรู้สึกนำทาง เรื่องราวที่ดีที่กินใจจึงมีพลังดึงดูดมากกว่าข้อมูลที่ไร้อารมณ์

ทุกคนต่างรู้เรื่องการจมของเรือไททานิก ที่มีผู้เสียชีวิต 1,500 คน แต่แทบไม่มีใครพูดถึงการจมของเรือเอสเอสเกียงยา ในปี 1948 ที่มีผู้เสียชีวิต 4,000 คน หรือการจมของเรือเอ็มวีโดนาพาซ ที่มีผู้เสียชีวิต 4,345 คน ซึ่งเยอะกว่าเรือไททานิกเกือบ 3 เท่า

เหตุผลที่คนจดจำเรื่องราวของเรือไททานิกได้ เป็นเพราะความน่าสนใจในเรื่องราวของมัน ไม่ว่าจะเป็นบรรดาผู้โดยสารที่ร่ำรวยและมีชื่อเสียง การออกมาเล่าประสบการณ์ของผู้รอดชีวิต หรือภาพยนตร์ที่กำกับโดย เจมส์ คาเมรอน ซึ่งโด่งดังถล่มทลาย

เรื่องที่โน้มน้าวใจคนได้มากที่สุด คือเรื่องที่คนอยากจะเชื่ออยู่แล้ว หรือเรื่องที่ส่งเสริมสิ่งที่คนเคยสัมผัสมา เรื่องราวจะจับใจคนได้ เรื่องนั้นต้องไปสะกิดแผลคนที่อยากกำจัดมันทิ้ง หรือไปเพิ่มน้ำหนักให้กับความเชื่อที่คนอยากให้มันเป็นจริง

ยกตัวอย่างคนที่เล่าเรื่องราวเก่งคือ ยูวัล โนอาห์ ฮารารี นักเขียนชื่อดังที่ขายผลงานไปแล้วกว่า 28 ล้านเล่ม หนังสือสร้างชื่อของเขาคือ เซเปี้ยน ที่เล่าถึงประวัติของมนุษยชาติ หนังสือเล่มนี้ได้รับคำชื่นชมจากนักอ่านว่าเขียนสนุก เข้าใจง่าย

แต่นักวิชาการวิจารณ์ผลงานเล่มนี้ของเขาว่า ข้อมูลในเล่มไม่ใช่เรื่องใหม่ หนังสือเล่มนี้ไม่ก่อให้เกิดความรู้ใด ๆ และด้านของฮารารีผู้เป็นเจ้าของผลงานก็ออกมาบอกว่า มันไม่มีอะไรในหนังสือที่ใหม่เลย เขาไม่ใช่นักโบราณคดี ไม่ใช่นักวานรวิทยา ไม่ได้ทำงานวิจัย เขาทำแค่ศึกษาข้อมูลที่มีอยู่ทั่วไป แล้วนำเอามาเสนอในรูปแบบใหม่

ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่าคุณจะพูดเรื่องอะไร แต่อยู่ที่ว่าคุณจะพูดอย่างไรและจะนำเสนออย่างไรมากกว่า เล่าเรื่องได้ดีมีชัยเสมอ


ทุกอย่างมีเวลาของมัน

มีคนมากมายพยายามทำให้กระบวนการ ๆ หนึ่ง ดำเนินไปเร็วกว่าขีดจำกัดของมัน ตัวอย่างเช่น เมื่อคนเจอการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูง ก็มักจะมีคำถามว่า "จะทำให้มันสร้างผลตอบแทนเร็วขึ้นได้ไหม?" "จะทำให้มันใหญ่ขึ้นเป็น 2 เท่าได้ไหม?" "จะรีดสิ่งที่ต้องการออกมาจากมันได้เพิ่มขึ้นอีกหรือเปล่า?"

ตลอดเวลาที่ผ่านมา คนมักแสวงหาผลประโยชน์ด้วยการออกแรงมากเกินไป เร็วเกินไป หรือร้องขอมากเกินไป แต่สิ่งต่าง ๆ ล้วนมีขนาดและความเร็วตามธรรมชาติของมัน และมันจะเสียหายหากคุณพยายามผลักให้มันไปไกลกว่าขีดจำกัดเหล่านั้น

ผู้เขียนได้ยกตัวอย่างร้านสตาร์บัคส์ ที่ในปี 1994 สตาร์บัคส์มีสาขา 425 แห่ง ทีมผู้บริหารต้องการให้บริษัทเติบโตจึงสั่งให้เร่งขยายสาขา จนในปี 2007 สตาร์บัคส์มีสาขา 13,000 แห่ง การเร่งเปิดสาขาในตอนนั้นทำให้ทีมงานต้องเร่งตัดสินใจหลายอย่างตามไปด้วย ทำให้ประสบการณ์ที่ลูกค้าได้รับจืดจางลง จนปี 2008 สตาร์บัคส์ต้องปิดสาขาไปถึง 600 แห่ง ปลดพนักงาน 12,000 คน ราคาหุ้นตกไป 73%

สตาร์บัคส์มีขนาดที่เหมาะสมของมันอยู่ เช่นเดียวกับทุกบริษัท การผลักดันให้ขยายเกินกว่าขนาดดังกล่าว อาจทำให้มีรายได้เพิ่มในช่วงแรก แต่การควบคุมคุณภาพที่ไม่ทั่วถึง ทำให้ลูกค้าผิดหวัง และส่งผลเสียต่อรายได้ของบริษัทตามมา

อีกตัวอย่างผู้เขียนเล่าถึงต้นอ่อนของต้นไม้ในป่า ที่ส่วนใหญ่จะอยู่ใต้ร่มเงาของต้นไม้ใหญ่เป็นเวลาหลายสิบปี แสงแดดที่ส่องลงมาอย่างจำกัด ทำให้มันเติบโตขึ้นอย่างช้า ๆ ทำให้ต้นไม้เหล่านั้นมีเนื้อไม้ที่แข็งแรง

แต่หากคุณนำต้นไม้ไปปลูกในที่โล่ง แม้ต้นอ่อนของมันจะได้รับแสงแดดเต็มที่และเติบโตได้อย่างรวดเร็ว แต่การเติบโตที่รวดเร็วนั้น ทำให้ต้นไม้มีเนื้อที่โปร่งเบา เป็นแหล่งสะสมเชื้อราและเชื้อโรค ต้นไม้ต้นนั้นก็จะเน่าเร็ว

อะไรที่เร็วเกินไปหรือใหญ่เกินไปก็ใช่ว่าจะดี ทุกอย่างต้องให้เวลามันเติบโตอย่างเหมาะสม สิ่งที่สำคัญคือความอดทน


ข่าวดีต้องรออย่างเนินนาน แต่ข่าวร้ายเกิดขึ้นในข้ามคืน

สัจธรรมที่ใช้อธิบายหลายสิ่งหลายอย่างได้คือ เรื่องดีต้องใช้เวลา แต่เรื่องร้ายเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน วอร์เรน บัฟเฟตต์ เคยพูดไว้ว่า "ต้องใช้เวลา 20 ปี ในการสร้างชื่อเสียง แต่ใช้แค่ 5 นาทีในการทำลายมัน"

สิ่งที่สำคัญมักมาจากการสั่งสม และการสั่งสมต้องใช้เวลา คนจึงมองข้ามได้ง่าย ตัวอย่างเช่น ในปี 1955 มีชาวอเมริกันเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจกว่า 700,000 คน ต่อมาเทคโนโลยีทางการแพทย์พัฒนาขึ้น ทำให้ปัจจุบันอัตราผู้เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจลดลง 70% ที่ผ่านมาแพทย์สามารถช่วยชีวิตคนจากโรคนี้ได้ถึง 25 ล้านคน

แม้จำนวนจะมากขนาดนี้ แต่ตลอดมาแพทย์โรคหัวใจไม่ได้รับการสรรเสริญเลย เพราะการพัฒนาด้านการรักษานั้นช้าเกินกว่าที่ผู้คนจะสังเกตเห็น จำนวนคนที่เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจตั้งแต่ปี 1950-2014 ลดลงเฉลี่ย 1.5% ต่อปี เป็นตัวเลขที่ไม่สร้างความตื่นเต้นให้กับคนที่ได้เห็นเลย

ความก้าวหน้าต้องใช้เวลาเสมอ ซึ่งเนินนานกว่าที่ใครจะสังเกตว่ามันได้เกิดขึ้นแล้ว แต่กับเรื่องร้ายมันจะมาทันทีอย่างรวดเร็ว จนกลบทุกความสนใจของคุณ คุณไม่สามารถมองไปทางอื่นได้ ตัวอย่างเช่น โควิด-19 ที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีใครได้ยิน แต่พอมันเกิดขึ้น ชีวิตของคนทั้งโลกก็เปลี่ยนไปภายใน 30 วัน


ความเสียหายจากความสมบูรณ์แบบ

คนเรามักไม่อยากพลาดโอกาส คนเรามักอยากได้ประสิทธิภาพสูงสุด อยากประสบความสำเร็จให้มากที่สุด อยากให้ทุกอย่างที่ทำออกมาสมบูรณ์แบบที่สุด แต่โลกนี้ไม่มีอะไรที่สมบูรณ์แบบไปซะทุกด้าน เมื่อมีสิ่งหนึ่งที่โดดเด่น มักมีจุดอ่อนในอีกสิ่งเสมอ

ตัวอย่างเช่น ต้นไม้ที่สูงมาก ๆ จะได้รับแสงแดดอย่างเต็มที่ ทำให้มันเติบโตจนแผ่กิ่งก้านและออกใบมามากมาย แต่มันก็เสี่ยงที่จะถูกลมพัดจนโค่นมากขึ้นด้วย

คนจำนวนมากอยากมีชีวิตที่มีประสิทธิภาพ อยาก productive ทุกวินาที ไม่อยากให้เสียชั่วโมงการทำงานไปอย่างเปล่าประโยชน์ แต่บรรดาคนที่ประสบความสำเร็จจะตั้งใจเว้นเวลาว่างให้แทรกอยู่ในตารางงานของพวกเขา เพื่อที่จะพักแบบไม่ต้องทำอะไร

ถ้างานของคุณคือการใช้ความคิดสร้างสรรค์ หรือคิดแก้ปัญหายาก ๆ การใช้เวลาไปเดินเล่นในสวน หรือนั่งสบาย ๆ บนโซฟาอย่างไม่มีจุดหมาย ก็อาจเป็นช่วงเวลาที่มีค่าสำหรับคุณก็ได้ หลายครั้งมีคนคิดแก้ปัญหาเรื่องงานออกระหว่างที่ลาพักร้อน

สิ่งสำคัญคือต้องตระหนักว่า ยิ่งคุณพยายามสมบูรณ์แบบมากเท่าไหร่ คุณก็จะยิ่งเปราะบางมากขึ้นเท่านั้น การพยายามมากเกินไปอาจสิ้นเปลืองพลังงานไปเปล่า ๆ เอาเพียงแค่ดีพอก็พอแล้ว ไม่ต้องรีดเอาให้ถึง 100%


ความได้เปรียบมักไม่ยั่งยืน

สิ่งที่ยากกว่าการสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน คือการรักษาความได้เปรียบนั้นไว้ ผู้เขียนได้ยกตัวอย่างร้านเซียร์ส ร้านค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดในโลก ตั้งอยู่ในตึกที่สูงที่สุดในโลก และมีลูกจ้างมากที่สุดในโลก ธุรกิจค้าปลีกของร้านเซียร์สในช่วงยุค 70s-80s ดีมากจนสามารถขยายไปทำธุรกิจอื่นได้ เช่น การเงิน โดยเป็นเจ้าของบริษัท Allstate Insurance, บริษัทบัตรเครดิตชื่อ Discover, บริษัทนายหน้าค้าหุ้นชื่อ Dean Witter และบริษัทนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ชื่อ Coldwell Banker

แต่แล้วทุกอย่างก็พังทลายลง เมื่อความเลื่อมล้ำของรายได้ประชากรทิ้งห่างกันเกิน คนจนก็จนมาก ๆ คนรวยก็รวยสุด ๆ ซึ่งเป็นการผลักดันให้ผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้าที่ราคาถูกลง หรือสินค้าที่ราคาแพงไปเลย เซียร์สซึ่งขายสินค้าราคากลาง ๆ จึงยอดขายหดลง ขณะเดียวกันต้องแข่งกับ Walmart และ Target ซึ่งเป็นร้านที่ใหม่กว่าและกระตือรือร้นมากกว่า

ปลายยุค 2000s เซียร์สไม่เหลือความยิ่งใหญ่อีกต่อไป และเรื่องแบบนี้ไม่ได้เกิดกับเซียร์สเพียงเจ้าเดียว แต่มันเป็นปลายทางที่มักเกิดกับบริษัทที่เคยเป็นเจ้าตลาดทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น General Motors, Chrysler และ Kodak

ทำไมบริษัทที่เคยยิ่งใหญ่ระดับโลกถึงเสียความได้เปรียบในการแข่งขันไป ผู้เขียนได้สรุป 5 ปัจจัยที่ทำให้เกิดสถานการณ์แบบนั้นไว้ดังนี้ครับ

1. การทำถูกต้องจะทำให้คุณค่อย ๆ เกิดความมั่นใจว่าคุณไม่มีวันทำผิด ความสำเร็จจะทำให้คุณหยิ่งผยอง และความหยิ่งผยองคือจุดเริ่มต้นของหายนะ

2. ทักษะที่ทำให้คุณประสบความสำเร็จตอนบริษัทยังเล็ก อาจไม่ใช่ทักษะที่เหมาะเอามาใช้ตอนที่บริษัทเติบโต

3. ความย้อนแยงของคนทำงาน ซึ่งคนมักจะทำงานหนักเพื่อให้ประสบความสำเร็จ และเมื่อถึงจุดนั้นแล้วคนก็จะผ่อนคลายลง เพื่อให้สมกับความพยายามที่ได้ทำมา ทำให้ชะล่าใจ ไม่มีการระวังตัว ไม่ทันคู่แข่งและไม่ทันโลกที่เปลี่ยนแปลง

4. ทักษะที่มีค่าในยุคหนึ่ง อาจไม่มีค่าในอีกยุค คุณอาจทำงานหนักและระวังตัวอยู่ตลอด แต่พอถึงยุคที่คนไม่ให้ค่ากับทักษะที่คุณมี ทักษะนั้นก็จะสูญเปล่า

5. บางครั้งความสำเร็จเกิดจากการอยู่ถูกที่ถูกเวลา หรือจะเรียกว่าโชคก็ได้

บทเรียนจากเรื่องนี้คือ คุณไม่ต้องแปลกใจหากสิ่งหนึ่งที่เคยยิ่งใหญ่ในยุคหนึ่ง กลับหายไปในยุคถัดมา มันเป็นเรื่องธรรมดาที่สุด ดังนั้นจงวิ่งต่อไป ไม่มีความได้เปรียบใดในการแข่งขันที่จะอยู่ยืนยาวตลอดไป


แรงจูงใจคือสิ่งที่ทรงพลังที่สุดในโลก

ในสารคดีเกี่ยวกับเรื่องราวของ เอล ชาโป พ่อค้ายาเสพติดชาวเม็กซิโก มีการกล่าวถึงหมู่บ้านหนึ่งในเม็กซิโกที่เจ้าพ่อยาเสพติดผู้ชอบใช้ความรุนแรงคนนี้เป็นที่รักใคร่ของชาวบ้าน พวกเขายอมทำทุกอย่างเพื่อปกป้องชาโป โดยชาวบ้านคนหนึ่งกล่าวว่า ชาวบ้านที่นี่แทบไม่มีรายได้ เมื่อชาโปมาเยี่ยมและถามพวกเขาว่า “ชีวิตคุณเป็นยังไงบ้าง?” และได้รับคำตอบกลับมาว่า “ลูกสาวของผมกำลังจะแต่งงาน” จากนั้นชาโปจะบอกว่า “งั้นผมจัดการให้เอง” แล้วเขาจะเตรียมสถานที่ใหญ่โตไว้ให้ หาวงดนตรีมาเล่นในงาน มีอาหารและเหล้าพร้อม และชวนคนทั้งเมืองมาร่วมงาน พ่อของเจ้าสาวก็จะบอกทุกคนว่า ”งานนี้ เอล ชาโป เป็นเจ้าภาพให้“

การที่ชาวบ้านในหมู่บ้านนี้ชื่นชอบและสนับสนุนพ่อค้ายาเสพติด ไม่ใช่เพราะว่าชาวบ้านทุกคนเป็นคนชั่ว แต่เราจะเห็นได้ว่าคนดีที่ซื่อสัตย์และไม่คิดร้าย อาจสนับสนุนและให้ความร่วมมือกับพฤติกรรมที่ชั่วร้ายได้ หากมีแรงจูงใจที่มีค่าพอ แรงจูงใจอาจจะเป็นเงิน หรือเป็นในเชิงสังคม ที่คนหันมาหนุนหลังความชั่วเพราะเขาไม่อยากถูกกีดกันออกจากสังคม


ไม่มีเหตุผลที่จะทำให้เรื่องมันยาก

พฤติกรรมที่แปลกประหลาดอย่างหนึ่งของมนุษย์ คือการหลงไหลความซับซ้อน หรือสิ่งที่ต้องใช้ความคิดมาก ๆ และด้อยค่าสิ่งที่เรียบง่าย ในปี 2013 แฮโรลด์ วาร์มัส ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติในขณะนั้นได้กล่าวปาฐกถาถึงความยากลำบากของการต่อสู้กับโรคมะเร็งเอาไว้ว่า เรามุ่งเน้นการรักษาโรคมะเร็งมากจนเกินไป และสนใจการป้องกันไม่ให้ป่วยเป็นโรคมะเร็งน้อยกันเกินไป นอกจากต้องรักษาแล้ว สิ่งที่ควรทำก่อนคือการป้องกันไม่ให้เป็นมะเร็งตั้งแต่แรก

การป้องกันเป็นเรื่องน่าเบื่อ คนสนใจเรื่องที่เป็นวิทยาศาสตร์ และให้คุณค่ากับการวิจัยวิธีรักษามะเร็ง แต่คุณจะไม่ตายเพราะมะเร็ง ถ้าไม่สูบบุหรี่ตั้งแต่แรก สัจธรรมที่เรียบง่ายนี้ถูกมองข้าม เพราะมันดูไม่ค่อยได้ใช้ความคิดเท่าไหร่

แต่ธรรมชาติให้คุณค่ากับความเรียบง่าย วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตจะลดจำนวนอวัยวะลง แล้วเพิ่มประโยชน์ใช้สอยให้มัน กระดูกขากรรไกรหลายสิบชิ้น ถูกรวมเข้าด้วยกันจนเหลือแค่ 2 ชิ้น กะโหลกศีรษะที่เคยประกอบด้วยกระดูกชิ้นเล็ก ๆ หลายร้อยชิ้น ก็วิวัฒนาการจนเหลือไม่ถึง 30 ชิ้น

สตีเฟน คิง นักเขียนนิยายขายดีเคยเขียนเอาไว้ในหนังสือ On Writing ของเขาว่า ”หนังสือส่วนใหญ่เต็มไปด้วยเรื่องไร้สาระ ผมมองว่ายิ่งหนังสือบางเท่าไหร่ เรื่องไร้สาระก็ยิ่งน้อยลงเท่านั้น“

แล้วทำไมคนเราถึงชอบความซับซ้อนมากกว่าความเรียบง่าย นั่นเพราะความซับซ้อนทำให้เรารู้สึกว่ามีอะไรหลายอย่างให้เราได้ควบคุม แต่ความเรียบง่ายนั้นดูเหมือนเป็นการละเลย ดูไม่ได้ใช้ความรู้เท่าไหร่ ไม่มีเหตุผลอะไรที่เราจะให้ค่ากับความยุ่งยาก การพยายามทำอะไรให้ยุ่งยากเกินไปและหลงไหลในความซับซ้อนมากเกินไป อาจก่อให้เกิดผลเสียร้ายแรงแทน


แผลสดจะหาย แต่แผลเป็นจะคงอยู่

ถ้าขับรถผ่านเพนตากอน ในวอชิงตัน ดีซี เราจะไม่เห็นร่องรอยของเครื่องบินที่พุ่งชนกำแพงที่นั่นเมื่อวันที่ 11 กันยายน ปี 2001 เพราะความเสียหายที่มองเห็นได้ถูกซ่อมแซมให้กลับมาเหมือนเดิม

แต่หากขับต่อไปอีกเพียง 3 นาที จนถึงสนามบินแห่งชาติเรแกน เราจะพบแผลเป็นของเหตุการณ์ 9/11 อยู่ทุกหนทุกแห่ง ทั้งการถอดรองเท้า, ถอดเข็มขัด และถอดเสื้อตัวนอกออก ก่อนเข้าจุดสแกนอาวุธ รวมถึงทิ้งขวดน้ำที่ขนาดเกิน 100 มล. ทิ้ง

จากเหตุการณ์ 9/11 แม้ความเสียหายจะซ่อมแซมให้กลับมาได้ แต่มันได้ทิ้งแผลเป็นไว้ในใจผู้คน บทเรียนจากประสบการณ์สอนให้เราเลือกความปลอดภัยไว้ก่อน

ไม่เพียงแต่เหตุการณ์ก่อการร้ายที่สร้างแผลเป็นให้สังคม สงครามและภาวะเศรษฐกิจตกต่ำก็ทิ้งแผลเป็นไว้กับคนที่เคยเผชิญมันมา มีการศึกษาคนจำนวน 20,000 คน จาก 13 ประเทศที่เคยผ่านสงครามโลกครั้งที่ 2 พบว่าคนเหล่านี้มีโอกาสเป็นโรคเบาหวานมากกว่าปกติ 3% และมีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าปกติ 6% และเมื่อเทียบกับคนที่ไม่เคยผ่านสงคราม พวกเขาแต่งงานน้อยกว่า และมีความพึงพอใจกับชีวิตตัวเองเมื่อสูงอายุน้อยกว่า

เช่นเดียวกับคนไทยที่เคยผ่านวิกฤติต้มยำกุ้ง พวกเขามองเงินไม่เหมือนเดิมหลังจากนั้น พวกเขาเก็บออมมากขึ้น ก่อหนี้น้อยลง และระมัดระวังความเสี่ยงไปตลอดทั้งชีวิต พฤติกรรมเหล่านี้ คนรุ่นใหม่ที่ไม่เคยเจ็บจากวิกฤติต้มยำกุ้งย่อมไม่มีวันเข้าใจ เพราะไม่มีแผลเป็นจากเหตุการณ์นั้น

เมื่อแต่ละคนผ่านเรื่องราวมาไม่เหมือนกัน มีแผลเป็นคนละแผลกัน เมื่อมาคุยกันอาจไม่เข้าใจกัน และเกิดคำถามขึ้นมาว่า "ทำไมคุณไม่เห็นด้วยกับฉัน?" และนำไปสู่การโต้เถียงกันอย่างไม่จบสิ้น

ผู้เขียนแนะนำให้เปลี่ยนคำถามจาก "ทำไมคุณไม่เห็นด้วยกับฉัน?" มาเป็นคำถาม "คุณมีประสบการณ์อะไรที่ฉันไม่มี เลยทำให้คุณเชื่อแบบนั้น?" คำถามนี้ช่วยให้คุณยอมรับสิ่งที่คุณไม่รู้และสิ่งที่คุณไม่เคยเจอ


นี่คือบทเรียนของสิ่งที่จะไม่เปลี่ยนในโลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา จากหนังสือ "Same as Ever จิตวิทยาเอาชนะอนาคต" ใครสนใจอยากอ่านเพิ่มเติมทั้ง 23 เรื่อง สามารถหาซื้อเล่มนี้ได้ตามร้านหนังสือครับ หนังสือเขียนโดย มอร์แกน เฮาเซล ตีพิมพ์เป็นภาษาไทยโดยสำนักพิมพ์ Live Rich ราคา 299 บาท