จิตวิทยาเชิงบวก - วิธีสร้างพื้นที่ปลอดภัยทางใจ ให้สนุกกับงานและสร้างสรรค์ได้อย่างเต็มที่

จิตวิทยาเชิงบวก - วิธีสร้างพื้นที่ปลอดภัยทางใจ ให้สนุกกับงานและสร้างสรรค์ได้อย่างเต็มที่

บริษัท Google ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ทำการสำรวจเพื่อหาว่า "ทีมที่มีประสิทธิภาพสูงสร้างขึ้นมาจากอะไร?" Google พบว่าจุดร่วมของทีมที่รวมพนักงานระดับหัวกะทิขององค์กรเอาไว้มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือ "ความปลอดภัยทางจิตใจ" หรือ psychological safety ซึ่งความปลอดภัยทางจิตใจนี้คือ สภาพแวดล้อมที่ช่วยคุ้มครองความผิดพลาดของทุกคนอย่างอบอุ่น แต่ละคนในทีมสามารถเป็นตัวของตัวเองได้อย่างสบายใจ และมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันซึ่งง่ายต่อการแสดงความคิดเห็น

ไอติมอ่าน ep นี้ จะมาสรุปเนื้อหาจากในหนังสือ "เมื่อที่ทำงานสบายใจ ใครก็ปล่อยพลังได้เต็มที่" เขียนโดย มัตซึมุระ อาริ นักจิตวิทยาชาวญี่ปุ่นที่ทำงานเพื่อสร้างความปลอดภัยทางจิตใจให้ผู้คนมากว่า 20 ปี หนังสือเล่มนี้เหมาะสำหรับหัวหน้างานหรือเจ้าของบริษัทที่อยากพัฒนาทีมของตัวเองให้แกร่งขึ้น

ในหนังสือได้พูดถึง 5 องค์ประกอบที่ช่วยสร้างความปลอดภัยทางจิตใจในที่ทำงาน ซึ่งหากพนักงานในองค์กรของคุณมีความปลอดภัยทางจิตใจ ก็จะสามารถเป็นตัวของตัวเอง และแสดงศักยภาพของตัวเองออกมาได้เต็มที่

ก่อนอื่นผมขอเล่าถึงจิตวิทยาเชิงบวกซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของหนังสือเล่มนี้ให้เพื่อน ๆ ฟังกันก่อนครับ จิตวิทยาเชิงบวกคือ สิ่งที่ทำให้เราใช้ชีวิตอย่างมีความสุข นักจิตวิทยาได้แบ่งระดับความสุขของคนเราตั้งแต่ -3 ไปจนถึง +3 ระดับ -3 คือสถานะที่เราไร้ความสุข, ระดับ 0 คือสถานะที่ชีวิตเราไม่มีปัญหา และระดับ +3 คือสถานะที่เรามีความสุข

ผู้ป่วยซึมเศร้าที่เข้ารับการรักษา จากเดิมที่ความสุขเคยอยู่ในระดับ -3 จิตแพทย์อาจรักษาจนดีขึ้นมาอยู่ในระดับ 0 ได้ และหากนำจิตวิทยาเชิงบวกมาใช้ ก็จะทำให้ผู้ป่วยคนนั้นมีความสุขในระดับ +3 ได้

จิตวิทยาเชิงบวกได้รับการศึกษาและวิจัย จนปัจจุบันก้าวหน้าไปมาก และถูกนำมาใช้กับในแวดวงธุรกิจ, การศึกษา และการพัฒนาตัวเอง การศึกษาจิตวิทยาเชิงบวกทำให้เราพบว่า ไม่ใช่ประสบความสำเร็จแล้วเราจะมีความสุขเสมอไป และเราต้องมีความสุขก่อนจึงจะสร้างผลงานได้มากขึ้นและประสบความสำเร็จได้ง่ายขึ้น

แล้วเราจะใช้จิตวิทยาเชิงบวกเพื่อเพิ่มความปลอดภัยทางจิตใจได้ยังไง ผู้เขียนได้สรุปแนวทางมาให้ทั้งหมด 5 ข้อ ได้แก่

  1. ความสัมพันธ์ สร้างความสัมพันธ์ที่เราจะยินดีกับการเติบโตและมีความสุขให้กันและกัน
  2. การรับรู้ความสามารถของตนเอง ถึงแม้จะยังไม่รู้ว่าจะทำได้ดีไหม แต่ก็กล้าที่จะลองทำดู
  3. ความเป็นอิสระ ตระหนักว่าตัวเราคือผู้กำหนดการกระทำของตัวเอง และเคารพความอิสระของคนอื่นด้วย
  4. เป้าหมายกับความหมาย ทำเป้าหมายและความหมายของสิ่งที่ทำอยู่ตอนนี้ให้ชัดเจน
  5. ความหลากหลาย ยินดีต้อนรับความแตกต่างของแต่ละคน และยอมรับความเป็นธรรมชาติ

องค์ประกอบทั้ง 5 อย่างนี้เป็นสิ่งที่ติดตัวทุกคนมาตั้งแต่เกิดอยู่แล้ว เพียงแค่หล่อเลี้ยงสิ่งที่เรามีอยู่แล้วโดยไม่ต้องฝืนก็พอ เรามาเริ่มลงรายละเอียดของแต่ละหัวข้อ โดยเริ่มกันที่หัวข้อแรกกันเลยครับ


องค์ประกอบที่ 1 ความสัมพันธ์

ความสัมพันธ์เป็นความต้องการพื้นฐานที่สำคัญที่สุด และเป็นรากฐานของความปลอดภัยทางจิตใจ ถ้าสร้างความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นมาได้ ความปลอดภัยทางจิตใจก็จะเพิ่มขึ้นทันตา

ความสัมพันธ์ที่ดี คือการที่ทุกคนเปิดเผยความเป็นตัวของตัวเองออกมาได้อย่างสบายใจ คนในทีมไม่เพียงแต่เปิดเผยจุดแข็งของตัวเองเท่านั้น แต่ยังกล้าเปิดเผยจุดอ่อนของตัวเองออกมาด้วย และคนในทีมสามารถพูดคุยกันได้ทุกเรื่อง

ในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีเพื่อสร้างความปลอดภัยทางจิตใจให้เกิดขึ้นในทีม มีสิ่งที่ต้องป้องกันเพื่อไม่ให้ความสุขของเราลดลงไปอยู่ในระดับ -3 ถึง 0 โดยสิ่งที่ต้องป้องกันมีอยู่ 4 อย่าง เรียกว่า "พิษ 4 ชนิดที่ทำลายความสัมพันธ์กับผู้อื่น" ซึ่งได้แก่

  1. การวิพากษ์วิจารณ์
  2. การดูถูก
  3. การหาข้ออ้างให้ตัวเอง
  4. การหลีกหนี

เริ่มต้นที่การวิพากษ์วิจารณ์ เราต้องไม่วิจารณ์ที่ตัวบุคคล ไม่ตำหนิที่ความสามารถ, บุคลิก หรือลักษณะนิสัยของคนอื่น แต่ให้เน้นที่การกระทำมากกว่า ตัวอย่างเช่นเมื่อเราตำหนิคนที่มาสายว่า

คุณ... มาสายเสมอเลยนะ

คำพูดที่ต้องระวังในการวิจารณ์คือคำว่า "เสมอเลย"  เพราะคำนี้มีความหมายว่า "เหมือนเดิม ไม่เคยเปลี่ยน" เป็นการวิจารณ์ที่บุคลิกของคนอื่นไปโดยปริยาย เพราะนิสัยไม่สามารถเปลี่ยนแปลงกันได้ในชั่วข้ามคืน ในขณะที่การกระทำเปลี่ยนแปลงกันได้ ดังนั้นแทนที่จะตำหนิอีกฝ่าย ให้หันมาเรียกร้องสิ่งที่อยากให้เขาทำ

พิษชนิดที่ 2 คือ การดูถูก ซึ่งหมายถึงการแสดงคำพูดหรือปฏิบัติต่อคนอื่นเหมือนคน ๆ นั้นต่ำต้อยกว่า รวมถึงการเยาะเย้ยถากถาง, เสียดสี, ยั่วยุ เช่น "อย่างนายน่ะทำไม่ได้หรอก"

ความสัมพันธ์ที่ทำให้เกิดความปลอดภัยทางจิตใจคือการเชื่อใจกันและกัน แต่การดูถูกเป็นการกระทำที่ตรงกันข้าม แทนที่จะดูถูกผู้อื่น เราควรหันมาเชื่อใจกัน แล้วพูดคุยกันว่าต้องทำยังไงจึงจะช่วยให้บรรลุเป้าหมายได้

พิษชนิดที่ 3 คือ การหาข้ออ้างให้ตัวเอง คือการแก้ตัวด้วยความคิดที่ว่า "ฉันไม่ผิด ปัญหาอยู่ที่เธอต่างหาก" องค์กรที่มีความปลอดภัยทางจิตใจต้องสร้างวัฒนธรรมที่ "คนเราสามารถผิดพลาดกันได้" ถ้าคุณทำให้ใครรู้สึกไม่สบายใจ ให้คุณเป็นฝ่ายขอโทษเขาก่อน

พิษชนิดสุดท้ายคือ การหลีกหนี หมายถึงการวิ่งหนีโอกาสที่จะได้คุยกันถึงปัญหา แม้อีกฝ่ายอยากจะพูดคุยกับคุณ แต่คุณกลับเมินเฉย การไม่เผชิญหน้ากับปัญหา คืออุปสรรคในการซ่อมแซมความสัมพันธ์กับผู้อื่น ซึ่งจะทำให้คุณกลายเป็นคนโดดเดี่ยว

ดังนั้นถ้าเป็นเรื่องที่สำคัญก็ต้องคุยกัน แม้จะต้องใช้ความกล้าหาญมากก็ตาม เพื่อความสุขของทุกฝ่าย เราต้องกล้าที่จะหันหน้ามาพูดคุยกัน


เราจะจัดการอารมณ์ด้านลบได้ยังไง?

เป็นเรื่องปกติที่บางครั้งเราจะแสดงอารมณ์ในแง่ลบออกมา บางครั้งการพูดถึงจิตวิทยาเชิงบวกก็ถูกเข้าใจผิดว่าต้องคิดบวกอยู่เสมอ แต่จริง ๆ แล้วจิตวิทยาเชิงบวกให้ความสำคัญกับความรู้สึกในแง่ลบว่ามีความหมาย เราสามารถรู้สึกถึงมันได้ หรือจะปลดปล่อยมันออกมาก็ได้ แต่ไม่จำเป็นต้องไปขยายมันให้ใหญ่ขึ้น และไม่ต้องพยายามทำเหมือนกับว่ามันไม่มีอยู่จริง

ดังนั้นการมีใครสักคนรับฟังด้วยความจริงใจ จะทำให้ความรู้สึกไม่ดีต่าง ๆ หายไป มนุษย์เกิดมาพร้อมกับความต้องการที่อยากให้คนอื่นเข้าใจ ตราบใดที่ยังไม่ได้รับการยอมรับ ก็จะยึดติดกับความรู้สึกนั้นและพอกพูนขึ้นเรื่อย ๆ


องค์ประกอบที่ 2 การรับรู้ความสามารถของตนเอง

เมื่อมีความปลอดภัยทางจิตใจ เราก็จะมีความกล้าหาญในการท้าทายกับสิ่งต่าง ๆ เราจะคิดว่า "ลองเสี่ยงดูสักหน่อยก็ไม่เห็นเป็นอะไรนี่" การรับรู้ความสามารถของตนเอง คือความคิดที่สร้างพลังในการลงมือทำ แม้จะรู้สึกไม่มั่นใจหรือกังวลอยู่ก็ตาม

หนึ่งในแนวคิดหล่อเลี้ยงความรู้สึกที่ว่า "ไม่รู้ว่าจะทำได้ไหม แต่จะลองทำดู" คือการคิดว่า "ความสามารถจะเติบโตได้ด้วยความพยายาม" เชื่อว่าความสามารถไม่ใช่พรสวรรค์ที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด แต่ความสามารถเกิดจากการพยายามลงมือทำต่อไป ถ้าพยายามก็จะทำได้ดีขึ้นทีละนิด

แต่หากเคยพยายามมาแล้ว 30 ครั้ง และล้มเหลวทั้งหมด 30 ครั้ง คนเราก็อาจจะหมดกำลังใจได้ แม้ความล้มเหลวจะไม่ใช่สิ่งที่ไม่ดี แต่การหาวิธีที่จะประสบความสำเร็จบ้างเป็นครั้งคราวก็สำคัญ

หากคุณมีเป้าหมายใหญ่ ให้ซอยเป้าหมายนั้นออกมาเป็นเป้าหมายย่อยว่าต้องทำอะไรบ้าง เพื่อที่จะไปถึงเป้าหมายนั้น จากนั้นลงมือทำเป้าหมายย่อยทีละก้าว เมื่อทำสำเร็จคุณจะรู้สึกชุ่มชื่นหัวใจ และรู้สึกว่าได้ขยับเข้าไปใกล้เป้าหมายใหญ่ทีละน้อย

ตัวอย่างเช่น นักเรียนคนหนึ่งตั้งเป้าว่าอยากทำคะแนนสอบให้ดีขึ้น ปัจจุบันเขาทำคะแนนสอบได้ 60/100 แทนที่จะตั้งเป้าว่าครั้งหน้าต้องได้คะแนน 100/100 เขาอาจตั้งเป้าว่าเอาให้ได้สัก 70/100 ก่อน พอคะแนนสอบครั้งต่อมาทำได้ 80/100 ก็จะรู้สึกว่าประสบความสำเร็จ ตัวเองมีความก้าวหน้า แต่ถ้าตั้งเป้าไปที่ 100/100 แต่ครั้งนี้สอบออกมาได้คะแนน 80/100 เขาก็จะรู้สึกว่าตัวเองล้มเหลว

การตั้งเป้าหมายไม่ให้สูงเกินไปและสะสมประสบการณ์แห่งความสำเร็จไปเรื่อย ๆ เป็นหนทางที่ดีกว่า เหมือนกับการฝึกขับรถ ถ้ามีคนมาบอกให้คุณที่ขับรถไม่เป็น ขับออกถนนใหญ่ตั้งแต่วันแรก คุณคงท้อใจและรู้สึกหมดหนทาง แต่ถ้าคุณมีเป้าหมายว่าวันแรกจะฝึกสตาร์ทรถและขับให้รถเลื่อนไปข้างหน้า วันที่สองค่อยฝึกเลี้ยว คุณจะรู้สึกปลอดภัยที่จะเรียนขับรถมากกว่า


องค์ประกอบที่ 3 ความเป็นอิสระ

ในแง่ของความหมาย ความเป็นอิสระหมายถึง การตัดสินใจทำอะไรด้วยกฏเกณฑ์ของตัวเอง เป็นการตัดสินใจด้วยตัวเองว่า "จะทำหรือไม่ทำอะไร" และถ้าทำ "จะทำยังไง" คำนี้มีความหมายคล้ายกับคำว่าเสรีภาพ

คนที่มีความเป็นอิสระสูง คือคนที่มองภาพรวมและกำหนดความคิดตัวเองว่าสิ่งไหนมีประโยชน์ต่อความสุขของตัวเองและผู้คนรอบข้าง จากนั้นเลือกลงมือทำด้วยตัวเอง และจากประสบการณ์ของผู้เขียน การทำงานกับคนที่ไม่มีความเป็นอิสระนั้นเป็นเรื่องยากมาก เพราะเมื่อบอกให้เขาช่วยงาน เขาจะขอให้เราตัดสินใจทุกอย่างให้

เรื่องนี้ต้องลงมือทำยังไงครับ

เกิดแบบนี้ขึ้นควรทำยังไงต่อไปดีครับ

แทนที่เราจะสบายมากขึ้น แต่กลับกลายเป็นว่ามีงานเพิ่มขึ้นแทน ในทางกลับกัน คนที่มีความเป็นอิสระหรือมีเสรีภาพสูง แม้เราไม่ต้องออกปากสั่ง เค้าก็จะกำหนดเป้าหมายด้วยตัวเอง คิดหาวิธีบรรลุเป้าหมายและนำเสนอสิ่งนั้นหรือลงมือทำเอง

หากคุณเป็นเจ้านายหรือหัวหน้าทีม อย่าใช้คำสั่งในการควบคุมคนอื่น เพราะจะส่งผลให้ความปลอดภัยทางจิตใจของคนในทีมต่ำลง ลูกทีมจะกลัวถูกทำโทษ จนทำให้จิตใจไม่สงบ ดังนั้นเราจึงไม่ควรควบคุมคนอื่น แต่ให้ความสำคัญกับดุลพินิจของแต่ละคน เวลาให้ทำอะไรก็อย่าปิดกั้นความคิดเห็นของเขา เพื่อรักษาความเป็นอิสระของอีกฝ่าย

ผู้เขียนเล่าว่าเธอมีทีมงานบางคนที่อยู่ต่างประเทศ เมื่อเธอต้องมอบหมายงานให้รับผิดชอบ เธอก็ให้เขาทำงานได้ตามต้องการในเวลาที่สะดวก เมื่อกำหนดงานที่ต้องทำและเวลาที่ต้องส่งแล้ว เธอจะปล่อยให้เขาเลือกวิธีจัดการเองโดยอิสระ เขาจะจัดการด้วยวิธีไหนและลงมือทำเมื่อไหร่ก็ได้ การสั่งงานแบบมีดุลพินิจอย่างนี้ จะทำให้แต่ละคนเป็นอิสระมากขึ้น

เวลาอยากให้ใครทำอะไรให้ หากกำหนดบทลงโทษสำหรับความผิดพลาด จะกลายเป็นว่าคุณกำลังควบคุมคน ๆ นั้น ตัวอย่างเช่น A พูดกับ B ว่า "ถ้าไม่ทำสิ่งนั้น ฉันจะลงโทษนาย" แปลว่า A กำลังควบคุมการกระทำของ B อยู่

วิธีนี้อาจจะได้ผลรวดเร็ว แต่เนื่องจาก B ลงมือทำด้วยความหวาดกลัวต่อบทลงโทษ ความสัมพันธ์ของทั้งคู่จึงอยู่ในสภาพที่ปราศจากความปลอดภัยทางจิตใจ B อาจเกิดความรู้สึกไม่ชอบ A ที่ทำตัวเป็นผู้ควบคุมขึ้นมา ไม่ว่าใครก็ต้องการความเป็นอิสระกันทั้งนั้น ดังนั้นวิธีนี้จึงไม่ใช่การรักษาความสัมพันธ์ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด

เมื่อไม่เกิดความสัมพันธ์ระหว่างกัน A ก็จะเริ่มหมดอิทธิพลต่อ B การวางบทลงโทษแบบเดิมจะไม่ได้ผลอีกต่อไป ดังนั้น A ต้องเพิ่มบทลงโทษมากขึ้นอีก แต่ก็สร้างผลลัพธ์ที่ดีไม่ได้อีกแล้ว จนสุดท้ายความสัมพันธ์ของทั้งคู่ก็ขาดสะบั้น


องค์ประกอบที่ 4 เป้าหมายกับความหมาย

คุณเคยนึกถึง "เป้าหมายกับความหมาย" ของสิ่งที่ตัวเองทำเป็นประจำบ้างหรือเปล่า เคยถามตัวเองด้วยคำถามเหล่านี้บ้างไหมครับ

ฉันทำสิ่งนี้เพื่ออะไร?

ฉันอยากไปอยู่จุดไหน?

ทำไมสิ่งนี้ถึงสำคัญ?

เมื่อไปถึงจุดนั้นแล้วจะมีอะไรดี ๆ รออยู่บ้าง?

คนส่วนใหญ่มักจะลืมถามคำถามเหล่านี้กับตัวเอง แต่คำถามเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญมากในการเพิ่มความปลอดภัยทางจิตใจ ลองนึกถึงความรู้สึกเวลาที่คุณขึ้นรถเมล์ แต่ไม่รู้ว่ารถจะแล่นไปที่ไหนดูสิ คงจะกังวลไม่น้อยเลย

เมื่อมีเป้าหมาย คนเราจะมีแรงจูงใจเพิ่มขึ้นเพื่อไปสู่จุดนั้น และหากมีสภาพแวดล้อมที่เคารพความเป็นอิสระในสิ่งที่เราอยากทำ เราก็จะยิ่งเกิดแรงบันดาลใจ

เป้าหมายกับความหมายนั้นมีอยู่ 3 ระดับ ระดับต่ำสุด คือการทำสิ่งที่ทำอยู่ตอนนี้โดยปราศจากเป้าหมายกับความหมายใด ๆ ระดับถัดมา คือการทำตามความคาดหวังของสังคมหรือคนอื่น และระดับสูงสุด คือการมีเป้าหมายกับความหมายอันเกิดจากค่านิยมของตัวเอง ถ้าเป้าหมายกับความหมายของคุณไม่ได้อยู่ในระดับสูงสุด ผู้เขียนแนะนำให้เริ่มหาเป้าหมายกับความหมายตั้งแต่ตอนนี้

เป้าหมายกับความหมายไม่จำกัดเฉพาะกับเรื่องงาน แต่รวมถึงเรื่องต่างๆในชีวิตประจำวันด้วย เช่น

ฉันจะจัดครัวให้เรียบร้อย เวลาแฟนมาทำอาหารจะได้สะดวกขึ้น

ข้าวของรกไปหมดจนทำให้ใช้งานไม่สะดวก ดังนั้นฉันจะจัดการทุกอย่างให้เรียบร้อย


องค์ประกอบที่ 5 ความหลากหลาย

ความหลากหลายเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกับความปลอดภัยทางจิตใจอย่างแนบแน่น ความหมายของความหลากหลายคือ การอยู่ร่วมกับสิ่งอื่นที่มีความแตกต่าง หรือการเป็นในแบบที่ตัวเองเป็น

หากเรามีสภาพแวดล้อมที่ยอมรับความแตกต่างได้ เราจะรู้สึกว่าไม่มีสิ่งไหนมาขัดขวางทั้งคำพูดและการกระทำของเรา ส่งผลให้ความปลอดภัยทางจิตใจเพิ่มขึ้น เมื่อความปลอดภัยทางจิตใจสูงขึ้น เราก็จะเป็นตัวของตัวเองได้ และยอมรับความหลากหลายได้ง่ายขึ้น ทั้งสองอย่างนี้มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน

ความหลากหลายที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตก็มีหลากหลายเช่น เชื้อชาติ, กลุ่มชาติพันธุ์, วัฒนธรรม, ภูมิภาค, เพศ, อายุ, ความทุพพลภาพ, โครงสร้างครอบครัว, สไตล์การทำงาน, ความคิด, ศาสนา, รสนิยมทางเพศ, ค่านิยมและการตีความสิ่งต่าง ๆ เป็นต้น

คนเรามักจะกลัวสิ่งที่เราไม่รู้จักในตอนแรก ดังนั้นสภาพแวดล้อมที่มีความหลากหลาย เมื่อเราเจอคนที่เรายังไม่เข้าใจ อาจทำให้ความปลอดภัยทางจิตใจลดฮวบลงในพริบตา แต่เมื่อพิจารณาในระยะยาว ความหลากหลายถือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญมากในการเพิ่มความปลอดภัยทางจิตใจ

มีการศึกษาปัจจัยที่ช่วยลดความเสี่ยงการเสียชีวิต พบว่าอันดับหนึ่งคือการได้รับการสนับสนุนทางสังคม ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงการเสียชีวิตได้มากกว่าการไม่สูบบุหรี่หรือการออกกำลังกายเสียอีก ซึ่งการสนับสนุนทางสังคม หมายถึงการมีปฏิสัมพันธ์อย่างใกล้ชิด และให้ความช่วยเหลือเมื่อมีใครเจอเรื่องทุกข์ร้อน ความหลากหลายส่งผลดีต่อสุขภาพของเรา ทำให้เรามีความสุข และช่วยให้เราสร้างผลงานได้มากขึ้นอีกด้วย


ทั้งหมดนี้คือ 5 องค์ประกอบเพื่อใช้เพิ่มความปลอดภัยทางจิตใจ สำหรับนำไปใช้ในที่ทำงาน เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เปิดกว้าง มอบความสบายใจให้แก่ทีม เพื่อให้ทุกคนปล่อยพลังได้อย่างเต็มที่

ผมอ่านจบแล้วคิดว่าหนังสือเล่มนี้เหมาะสำหรับคนเป็นหัวหน้าทีมหรือเจ้าของบริษัท เพราะหลักการในหนังสือต้องอาศัยอำนาจเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง ต้องเอาไปปรับให้เป็นนโยบายขององค์กร ซึ่งคนที่เป็นพนักงานระดับปฏิบัติการอ่านแล้วคงเอาไปใช้ได้ยาก

ใครสนใจอยากรู้เนื้อหาเพิ่มเติม สามารถหามาอ่านได้ครับกับหนังสือ "เมื่อทำงานสบายใจ ใครก็ปล่อยพลังได้เต็มที่" จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์อมรินทร์ฮาวทู ราคา 255 บาท