Mind Reader: จิตวิทยาอ่านใจคนขั้นสุด - ล้วงลึกเข้าไปในจิตใจคน ทุกที่ ทุกเวลา ทุกสถานการณ์

Mind Reader: จิตวิทยาอ่านใจคนขั้นสุด - ล้วงลึกเข้าไปในจิตใจคน ทุกที่ ทุกเวลา ทุกสถานการณ์

ใครที่เคยอ่านหนังสือแนวจิตวิทยามาบ้าง อาจเคยรู้มาว่าการที่ใครคนหนึ่งกอดอกและนั่งไขว่ห่างแสดงถึงการป้องกันตัวหรือแสดงออกว่าไม่เห็นด้วย แต่ก็ไม่จริงเสมอไปถ้าใครคนนั้นนั่งอยู่บนเก้าอี้ที่ไม่มีที่เท้าแขนและอากาศในห้องนั้นเย็น หรือการไม่ยอมสบตาเป็นสัญญาณของการหลอกลวงที่เราได้ยินกันมานาน แต่นักต้มตุ๋นมืออาชีพก็รู้หลักจิตวิทยาข้อนี้ เขาจึงกล้าสบตากับคุณ แม้ว่ากำลังโกหกอยู่ก็ตาม

การจะอ่านคนให้ออกคุณจำเป็นต้องมีกลยุทธ์ที่มีชั้นเชิงกว่านั้น ไอติมอ่าน ep นี้จะมาแนะนำเนื้อหาในหนังสือ "Mind Reader จิตวิทยาอ่านใจคนขั้นสุด" เขียนโดยเดวิด เจ ลีเบอร์แมน ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมมนุษย์

การที่จะค้นหาว่าใครคนหนึ่งกำลังคิดและรู้สึกยังไง สามารถสังเกตได้จากคำและโครงสร้างประโยคที่พวกเขาพูด ผู้เขียนยกตัวอย่างการใช้สรรพนามซึ่งมี 3 แบบ ได้แก่

  • สรรพนามบุรุษที่หนึ่งหรือผู้พูด ได้แก่ ฉันหรือพวกเรา
  • สรรพนามบุรุษที่สองหรือผู้ฟัง ได้แก่ คุณ
  • สรรพนามบุรุษที่สามหรือผู้ที่ถูกกล่าวถึง ได้แก่ เขาหรือเธอ

การเลือกใช้สรรพนามสามารถเผยให้เห็นว่าคน ๆ นั้นกำลังพยายามรักษาระยะห่างอยู่หรือไม่ คนที่กำลังโกหก จิตใต้สำนึกของพวกเขาจะพยายามเว้นระยะห่างจากคำโกหกของตัวเอง การเลี่ยงไม่ใช้สรรพนามแทนตัวเองเป็นการส่งสัญญาณว่าคน ๆ นั้นไม่อยากรับผิดชอบกับคำพูดของตัวเอง

ตัวอย่างเช่น ตำรวจจะรู้ได้ทันทีว่าคนที่มาแจ้งความว่ารถถูกขโมยพูดโกหก เพราะคนที่แจ้งความเท็จมักพูดถึงรถที่ถูกขโมยว่า "รถคันนั้น" แทนที่จะพูดว่า "รถของฉัน"

นอกจากนี้เรายังสามารถนำเทคนิคนี้มาใช้สังเกตบทสนทนาธรรมดาในชีวิตประจำวันได้ ตัวอย่างเช่น แจ๊คกับจิลล์ออกเดตกัน เมื่อเดินออกจากร้านอาหาร จิลล์ถามขึ้นว่า "เราจอดรถไว้ตรงไหนนะคะ" ทั้งที่รถเป็นของแจ๊ค แต่การที่จิลล์ใช้สรรพนามว่า "เรา" แสดงให้เห็นว่าจิลล์เริ่มคิดว่าตัวเองเป็นพวกเดียวกับแจ๊ค เธอเริ่มมีใจให้แจ๊คแล้ว แต่ถ้าจิลล์ถามว่า "คุณจอดรถไว้ตรงไหนคะ" จะแสดงออกนิด ๆ ถึงความแบ่งแยก


ในบทถัดมาผู้เขียนได้แนะนำเทคนิคการจับโกหก เทคนิคนั้นคือการกระตุ้นความเครียดทางอารมณ์เพื่อกดดันอีกฝ่ายเล็กน้อย โดยเราจะลองถามบางอย่างกับเขาโดยไม่ปรักปรำอีกฝ่ายตรง ๆ แต่พูดเป็นนัย ๆ ถึงพฤติกรรมที่อาจเป็นไปได้ ถ้าเขาดูไม่รู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับที่คุณพูด เขาอาจไม่ได้กำลังโกหกอะไร แต่ถ้าเขาร้อนตัว คุณก็รู้เลยว่าเขากำลังทำผิดเรื่องนั้นจริง ๆ

ตัวอย่างเช่น หัวหน้าฝ่ายขนส่งสงสัยว่าพนักงานขับรถคนหนึ่งแอบดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขณะปฏิบัติหน้าที่ อาจแกล้งทำเป็นถามได้ว่า

จอห์น ผมอยากขอคำแนะนำจากคุณหน่อย เพื่อนร่วมงานของผมสงสัยว่าลูกน้องของเขาแอบดื่มเหล้าขณะปฏิบัติหน้าที่ คุณพอจะแนะนำได้ไหมว่าเขาควรถามเรื่องนี้กับลูกน้องคนนั้นยังไง

ถ้าจอห์นไม่ได้แอบดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตอนปฏิบัติหน้าที่ เขาจะยินดีที่จะแสดงความเห็นออกมา แต่ถ้าเขาแอบดื่มจริง เขาจะเริ่มอึดอัด และอาจถามกลับมาว่า "มีใครมาบอกอะไรคุณเหรอ?" หรือ "ทำไมอยู่ ๆ คุณถึงมาถามผมเรื่องนี้?" ประโยคเหล่านี้บ่งบอกว่าเขามีความกังวลบางอย่าง

นอกจากนี้คุณสามารถจับผิดจากคำปฏิเสธของอีกฝ่ายได้ ตามปกติคำตอบที่แสดงถึงความจริงจะสั้นและตรงไปตรงมา เช่น "ไม่ ผมไม่ได้ทำ" แต่ถ้าตอบปฏิเสธทำนองว่า "คุณมาถามฉันอย่างนี้ทำไม ฉันไม่มีวันทำแบบนั้นหรอก" เป็นการแสดงพิรุธอย่างมาก เพราะคนที่กำลังโกหกเหล่านี้จะพยายามดึงตัวเองให้ห่างจากความผิดมากที่สุด จึงยากที่จะตอบปฏิเสธแบบตรงไปตรงมาได้และมักตอบมาอย่างคลุมเครือ

อีกเทคนิคที่เราจะจับโกหกคนที่ไม่บริสุทธิ์ใจได้เมื่อคน ๆ นั้นนิ่งไปกลางคัน เพราะเขาต้องการซื้อเวลาให้ตัวเองได้เตรียมคำตอบ ดังนั้นเขาอาจขอให้คุณทวนคำถาม พูดทวนกับตัวเอง หรือตอบคำถามด้วยคำถาม ยกตัวอย่างเช่น คุณกำลังสัมภาษณ์พี่เลี้ยงเด็กด้วยคำถามว่า "คุณเคยตีเด็กที่คุณดูแลไหม?" แล้วฝ่ายนั้นตอบมาว่า "คุณรู้ไหมคะ ฉันไม่เห็นด้วยกับเรื่องทำนองนี้เลย ฉันคิดว่ามันเป็นเรื่องที่ผิดศีลธรรมและน่าตำหนิ"  คำตอบในลักษณะนี้ให้คุณถือว่าเป็นสัญญาณของคำโกหกได้เลย

คนที่กำลังโกหกต้องใช้พลังงานเยอะมาก เพราะต้องคิดคำที่ยาวและยุ่งยาก คุณจึงต้องสังเกตว่าตอนที่เปลี่ยนหัวข้อสนทนา คน ๆ นั้นดูโล่งใจหรือเปล่า เขาอาจจะยิ้มออกมาหรือหัวเราะเขิน ๆ ยิ่งเขาเปลี่ยนอารมณ์เร็วเท่าไหร่ ยิ่งบ่งบอกว่าเขารู้สึกอึดอัดกับเรื่องที่คุยก่อนหน้านั้น

ปกติแล้วคนที่ถูกกล่าวหาในเรื่องที่แย่มากและเป็นผู้บริสทธิ์ เขาย่อมไม่พอใจที่ถูกกล่าวหา และอยากพูดคุยประเด็นนั้นให้มากขึ้น แต่คนที่มีความผิดจะต้องการเปลี่ยนเรื่องและอยากรีบจบการสนทนาหัวข้อนั้นให้เร็วที่สุด


ตอนที่บริษัทแอปเปิลวางจำหน่ายไอพอดเป็นครั้งแรกนั้นมาพร้อมกับฟังก์ชันสุ่มเพลง พอผ่านไปสักพักบริษัทได้เสียงตอบรับกลับมาว่าผู้ใช้งานเจอเพลงเดิมเล่นซ้ำต่อกันบ้าง บางเพลงถูกเวียนมาเล่นบ่อยกว่าเพลงอื่น ๆ หรือบางเพลงแทบไม่ถูกเอามาเล่น ทั้งที่การสุ่มของไอพอดเทียบได้กับการสุ่มหัวก้อยที่มีโอกาสออกหัวหรือก้อยเท่า ๆ กัน แต่บางครั้งเราก็อาจโยนออกหัวติดกันหลายครั้งได้ ในการสุ่มเพลงแต่ละครั้งของไอพอดก็เหมือนกันที่การสุ่มใหม่แต่ละครั้ง ทุกเพลงมีโอกาสถูกนำมาเล่นเท่า ๆ กัน บางเพลงอาจถูกสุ่มโดนซ้ำ ๆ ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติ

แต่ผู้ใช้งานกลับรู้สึกว่าความถูกต้องนี้มันผิดปกติ บริษัทแอปเปิลจึงเปลี่ยนอัลกอริทึมใหม่ให้ไอพอดสุ่มเพลงออกมาได้ตรงกับความรู้สึกของผู้ใช้งาน โดยการกระจายให้ทุกเพลงถูกนำมาเล่นในอัตราเท่านั้น ซึ่งนี่ไม่ใช่การสุ่มแบบจริง ๆ แต่เป็นการสุ่มแบบที่ผู้ใช้งานรู้สึกว่าควรจะเป็น

ผู้เขียนยกตัวอย่างการสุ่มเพลงของไอพอดเพื่อนำสู่หัวข้อของคนที่กำลังเสแสร้ง คนที่เสแสร้งต้องเลียนแบบลักษณะท่าทางและคำพูดที่ควรจะเป็น พวกเขาอาจเก็บอาการหรือแสดงออกถึงอารมณ์แบบเกินจริง

ตัวอย่างเช่น ตำรวจเอาภาพที่เกิดเหตุสุดสยองให้คน ๆ หนึ่งดู ส่วนใหญ่คนที่เกี่ยวข้องกับความผิดจริงจะแสดงอาการรังเกียจแบบออกนอกหน้าเกินกว่าปกติ เพราะพวกเขาเข้าใจว่าการแสดงท่าทีแบบนั้นคือสิ่งที่คนดีปกติทำกันเมื่อต้องดูภาพที่น่าเกลียดน่ากลัว

หรือสามีภรรยาคู่หนึ่งได้รับแจ้งว่าลูกสาววัยรุ่นของพวกเขาหายตัวไป พวกเขาจึงกระวนกระวายมากและเริ่มโทษตัวเองว่าไม่น่าปล่อยให้ลูกสาวไปบ้านเพื่อนเลย การกล่าวโทษตัวเองแบบนี้บ่งบอกว่าพวกเขาเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่คนที่ทำผิดจะไม่ออกตัวเพื่อรับผิด เพราะพวกเขาทำผิดอยู่แล้ว และให้ตายยังไงพวกเขาก็จะไม่แปะป้ายบอกว่าตัวเองทำผิด

คนที่เสแสร้งจะพยายามทำให้ทุกคนเห็นว่าเขาไม่ได้ใส่ใจ ทั้งที่จริงเขาเป็นห่วงมาก หรือเสแสร้งว่ากังวลใจ ทั้งที่จริง ๆ ไม่ได้สนใจเลย พวกเขาพยายามสร้างภาพปลอม ๆ เพื่อปิดบังความตั้งใจที่ซ่อนเร้นเอาไว้ คนที่เสแสร้งมักชดเชยสิ่งหนึ่งด้วยอีกสิ่งหนึ่งมากจนเกินไป

คนที่มีความภูมิใจในตัวเองสูงจะไม่แสดงให้โลกเห็นว่าตัวเองยอดเยี่ยมแค่ไหน แต่คนที่รู้สึกไม่มั่นคงอยู่ตลอดเวลาจะวางท่าอยู่เหนือคนอื่น จนกลายเป็นคนหยิ่งและอวดดี


บทต่อมาผู้เขียนพูดถึงเทคนิคการจับโกหกคนที่กำลังแต่งเรื่องหลอกเราอยู่ เมื่อบางคนเล่ารายละเอียดยิบย่อยของตัวเองมากเกินไป เป็นสัญญาณว่าเขากำลังหลอกลวง สาเหตุที่เขาใส่รายละเอียดมากเกินไปก็เพื่อบอกว่าสิ่งที่เขาทำนั้นมีแรงจูงใจที่มีเหตุผล ตัวอย่างเช่น

ผมตื่นนอนตอนเจ็ดโมงเช้า ไม่สิ อาจจะเกือบเจ็ดโมงห้านาที เพราะผมเหนื่อยมาก เลยอยากนอนต่ออีกสักนิด หลังจากนั้นผมก็ลงมาข้างล่างเพื่อกินอาหารเช้า เพราะคืนก่อนหน้านั้นผมไม่ค่อยได้กินอะไรเลยหิวมาก ผมทำไข่ดาวไปสอง ไม่สิ สาม ใช่ละ จำได้ละ ไข่สามฟองกับขนมปังปิ้งทาเนยอีกสองแผ่น

ข้อความดังกล่าวเต็มไปด้วยรายละเอียดที่ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ การที่เขาแจกแจงเวลาตื่นนอนแบบเป๊ะ ๆ เล่าว่ากินไข่ไปกี่ฟอง เพราะต้องการเสแสร้งว่าเขาเป็นคนที่ทำสิ่งต่าง ๆ อย่างเหมาะสม ไม่มีทางที่เขาจะทำผิด

นอกจากนี้คำบรรยายที่ชัดเจนและแม่นยำก็สื่อได้ว่าคนเล่ากำลังแต่งเรื่องโกหก หรือซักซ้อมคำพูดมาเป็นอย่างดี การเล่ารายละเอียดที่เขาไม่น่าจะนึกออกได้ง่าย ๆ อาจบอกได้ว่าเขาเตรียมคำตอบมาไว้แล้ว ตัวอย่างเช่น คน ๆ หนึ่งถูกถามว่าอยู่ที่ไหนตอนวันจันทร์เมื่อสองเดือนก่อน แล้วเธอตอบกลับมาว่า

ฉันไปทำงาน เลิกงานตอนห้าโมงครึ่ง กินมื้อค่ำที่ร้านอีสต์ไซด์ ไดเนอร์ จนถึงหนึ่งทุ่มสี่สิบห้า แล้วก็ตรงกลับบ้าน

หรือตำรวจสอบสวนผู้ต้องสงสัย แล้วเขาสามารถเล่าย้อนได้ทั้งหมดว่าเขาทำอะไรอยู่ที่ไหนในวันหนึ่งเมื่อสองปีก่อน แบบนี้แสดงว่ามีบางอย่างไม่ชอบมาพากลแล้ว คนเราส่วนใหญ่ยังจำไม่ได้ด้วยซ้ำว่าเมื่อวานกินอะไรเป็นอาหารเช้า


บทต่อมาผู้เขียนพูดถึงกลยุทธ์ที่นักต้มตุ๋นใช้หลอกคน ผมว่าบทนี้มีประโยชน์ สามารถนำมาใช้ป้องกันตัวและรู้ทันแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่กำลังระบายในบ้านเราอยู่ตอนนี้ได้ กลยุทธ์ของแก๊งต้มตุ๋นทำเป็นขั้นเป็นตอน ซึ่งมีดังนี้

  1. สร้างความน่าเชื่อถือ
  2. ทำให้สับสน
  3. เสริมความไว้วางใจ
  4. เล่าเรื่องราว


1. สร้างความน่าเชื่อถือ

เรื่องที่เล่าจะมีความน่าเชื่อถือ ก่อนอื่นตัวคนเล่าต้องดูน่าเชื่อถือก่อน ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมแก๊งต้มตุ๋นมักอ้างตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ, เจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือพนักงานธนาคาร เพราะเราถูกสอนมาตั้งแต่เด็กว่าต้องเชื่อฟังคนที่มีอำนาจเหนือกว่า เมื่อเราโตเป็นผู้ใหญ่ก็ยังเกรงกลัวคนที่มีอำนาจอยู่ เชื่อว่าพวกเขาจะไม่หาผลประโยชน์จากเรา เราจึงไม่ค่อยตั้งคำถามต่อสิ่งที่พวกเขาสั่ง


2. ทำให้สับสน

เวลาเราถูกทำให้ไขว้เขวหรืออยู่ภายใต้แรงกดดัน เรามีแนวโน้มจะเชื่อแม้คำพูดนั้นจะน่าสงสัย ไม่ว่าจะเป็นการที่แก๊งต้มตุ๋นกล่าวหาว่าคุณกำลังทำผิดกฎหมาย หลอกว่าคุณกำลังจะได้เงิน แก๊งต้มตุ๋นพยายามทำให้กระบวนการคิดของคุณหยุดชะงัก โดยการกระหน่ำความกลัวและความตื่นเต้นใส่คุณ ทำให้คุณไม่สามารถตัดสินใจอย่างมีเหตุผลได้


3. เสริมความไว้ใจ

แก๊งต้มตุ๋นจะรีบรัวข้อมูลเกี่ยวกับตัวคุณ เช่น ชื่อและนามสกุลจริงของคุณ หมายเลขบัตรประชาชน หรือภูมิลำเนาของคุณ เพราะข้อมูลจากเอกสารที่ดูเป็นทางการเหล่านี้ ทำให้คนเราไขว้เขวได้ง่ายว่าคนที่เรากำลังคุยด้วยอาจเป็นเจ้าหน้าที่ตัวจริง


4. เล่าเรื่องราว

ขั้นตอนนี้แก๊งต้มตุ๋นจะเล่าเรื่องราวต่าง ๆ นานา พร้อมกับเน้นย้ำความน่าเชื่อถือของตัวเอง และจะขู่ถึงผลที่ตามมา หากคุณไม่ยอมทำตามที่พวกเขาบอก ให้ระวังเป็นพิเศษหากพวกเขากดดันให้คุณรีบตัดสินใจ


มีคำกล่าวไว้ว่า "สิ่งที่นายเอพูดเกี่ยวกับนายบี บอกอะไรเกี่ยวกับนายเอได้มากกว่านายบี" มีผลวิจัยบอกว่าการมองโลกของคนเป็นกระจกสะท้อนจิตใต้สำนึกของคน ๆ นั้น ถ้าใครคนหนึ่งมองคนอื่นในแง่บวก ก็สะท้อนถึงภาวะทางอารมณ์ที่มั่นคงของเขา ขณะเดียวกันถ้าใครมองคนอื่นในแง่ลบ ใช้คำแง่ลบบรรยายถึงคนอื่น ก็บ่งบอกว่าเขาเป็นคนที่มีความทะนงตนสูง รวมถึงเป็นคนหลงตัวเอง

การมองคนในแง่บวกสัมพันธ์กับการมีความสุข ทำให้มีความทะนงตนน้อย จึงช่วยให้คุณสามารถพุ่งเป้าไปยังสิ่งดี ๆ ในตัวคนอื่นได้

ส่วนคนที่มีความทะนงตนสูง มีภาวะทางอารมณ์ที่แย่ จะยิ่งให้ร้ายโลกรอบตัวเพื่อชดเชยจุดอ่อนของตัวเอง และเพื่อรับมือกับความรู้สึกไม่มั่นคง เพราะฉะนั้นให้คุณรู้ไว้ว่าวิธีที่ใครก็ตามปฏิบัติต่อคุณเป็นกระจกสะท้อนภาวะทางอารมณ์ของเขาคนนั้น ไม่เกี่ยวกับตัวคุณเลย ปกติแล้วคนเราจะมอบความรักและความเคารพให้กับคนอื่น แต่ถ้าใครสักคนไม่รักแม้กระทั่งตัวเอง คุณก็ไม่สามารถคาดหวังความรักจากเขาได้

คนที่ทะนงตนสูงเมื่อเจอกับความจริงที่ขัดกับความเชื่อของตัวเอง ความทะนงตนจะเข้ามากระตุ้นกลไกการป้องกันตัวด้วยการบิดเบือนความจริง เพื่อปกป้องความเชื่อนั้นไว้ คุณเคยสงสัยไหมว่าทำไมบางคนถึงยึดติดในเรื่องที่ตัวเองเชื่อมากนัก ทั้งที่มีหลักฐานว่าเรื่องนั้นไม่เป็นความจริง นั่นเป็นเพราะคนประเภทนี้ต้องการเป็นฝ่ายถูกเท่านั้น พวกเขาไม่สามารถเป็นฝ่ายที่ด้อยกว่าได้ ไม่ยอมรับการเป็นคนผิด ดังนั้นคนที่มีความทะนงตนสูงจึงมักตำหนิคนอื่นมากกว่าตัวเอง

ตามหลักจิตวิทยาสิ่งไหนที่เราให้คุณค่าในตัวเองจะเป็นสิ่งที่เราให้คุณค่าให้คนอื่นเช่นกัน คนที่ตรงต่อเวลาเสมอจะให้คุณค่ากับคนที่ตรงต่อเวลาด้วยเช่นกัน คนที่ภูมิใจกับความแข็งแรงของร่างกายก็มักจะยอมรับคนที่ร่างกายแข็งแรงเหมือนกับตัวเอง คุณสามารถใช้หลักจิตวิทยาข้อนี้มองหาสิ่งที่คนรอบตัวคุณให้คุณค่าได้ครับ


บทต่อมาผู้เขียนพูดถึงจิตวิทยาของการเห็นคุณค่าในตัวเอง เรามักสับสนระหว่างการเห็นคุณค่าในตัวเอง หรือ self-esteem กับความมั่นใจในตัวเอง หรือ self-confident ที่จริงแล้วสองอย่างนี้ต่างกัน การแยกให้ออกเป็นเรื่องที่สำคัญ

ความมั่นใจในตัวเอง หรือ self-confident คือการรู้สึกว่าตัวเองมีความสามารถเพียงพอในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ขณะที่การเห็นคุณค่าในตัวเอง หรือ self-esteem คือการรู้ว่าตัวเองเป็นที่รัก เป็นที่ชื่นชอบ และคู่ควรที่จะได้รับสิ่งดี ๆ ในชีวิต

คนที่มีภาวะทางอารมณ์ที่ดีจะรู้สึกดีกับตัวเองและเห็นคุณค่าในตัวเอง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะมีความมั่นใจในตัวเอง เช่นบางคนอาจเป็นคนที่เห็นคุณค่าในตัวเองสูง แต่เล่นหมากรุกไม่เก่ง เขาอาจจะไม่ได้มั่นใจในฝีมือการเล่นหมากรุกของตัวเอง แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้เขารักตัวเองน้อยลง

ในอีกทาง คนที่มีความมั่นใจในตัวเองสูงก็ใช่ว่าจะเป็นคนที่เห็นคุณค่าในตัวเอง ตัวอย่างเช่น บางคนมีความคิดว่าฉันจะเป็นคนสำคัญก็ต่อเมื่อฉันเป็นคนสวยจึงพยายามพัฒนารูปลักษณ์ของตัวเอง หรือคิดว่าฉันจะมีค่าก็ต่อเมื่อฉันเป็นคนฉลาดจึงพยายามพัฒนาศักยภาพของตัวเองอยู่ตลอด การมองคุณค่าแบบนี้เกิดจากการเอาตัวเองไปสู้กับคนอื่น คอยเปรียบเทียบ ตัดสินและตำหนิตัวเอง เพื่อที่จะรู้สึกว่าตัวเองมีค่าพอที่จะได้รับความรัก


ผู้เขียนบอกว่าคนที่มีภาวะทางอารมณ์ที่ดี มักจะมีความสัมพันธ์ที่มีความสุขกับคนอื่น ในทางตรงกันข้าม คนที่ไม่สามารถเข้ากับใครได้ มักจะมีปัญหาทางอารมณ์บางอย่าง การที่เขาไม่มีความสุขในชีวิต มักมีสาเหตุมาจากความสัมพันธ์ที่ล้มเหลว

การยอมให้คนอื่นเข้ามาในพื้นที่ทางอารมณ์ของเรา และการที่เราเข้าไปในพื้นที่ทางอารมณ์ของคนอื่น นั้นต้องอาศัยการลดความเป็นตัวฉันและตัวเขาลง เมื่อทะลายตัวฉันและตัวเขาลงได้แล้วก็จะเกิดการสร้างความสัมพันธ์และกลายเป็นความผูกพัน

เมื่อเราอยากเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของใครสักคน เราจำเป็นต้องให้พื้นที่แก่เขา ถ้าใครคนหนึ่งหมกมุ่นกับเรื่องของตัวเองมากเกินไป ย่อมไม่เหลือพื้นที่ให้คนอื่น และจะไม่สามารถให้ความรักหรือรับความรักจากใครได้

ยิ่งเราเห็นคุณค่าในตัวเองมากเท่าไหร่ เรายิ่งรู้สึกครบถ้วนสมบูรณ์จนอยากแบ่งปันให้คนอื่น มีงานวิจัยแสดงให้เห็นว่าสมองของเราจะตื่นตัวและทำงานสูงขึ้น เมื่อเราเป็นผู้ให้ แต่หากเราเอาแต่รับอยู่ฝ่ายเดียว เราจะรู้สึกว่างเปล่าและถูกบีบให้ต้องเป็นผู้รับอย่างไม่จบสิ้น เพื่อพยายามเติมเต็มตัวเอง การเป็นผู้รับอย่างต่อเนื่องยิ่งทำให้รู้สึกว่าเราต้องพึ่งพาผู้อื่นมากขึ้น และเห็นคุณค่าในตัวเองน้อยลง

ทั้งหมดที่ผมเล่ามาเป็นเนื้อหาบางส่วนจากหนังสือ "Mind Reader จิตวิทยาอ่านใจคนขั้นสุด" ส่วนตัวผมว่าหนังสือเล่มนี้อ่านยาก ศัพท์เฉพาะทางเยอะ หลายหัวข้อเป็นเรื่องไกลตัว ดูไม่น่าได้เอามาใช้จริงในชีวิต และหลายเทคนิคในเล่มเป็นการสังเกตรูปแบบการใช้คำและการเรียงประโยค ซึ่งเป็นการเรียงประโยคแบบภาษาอังกฤษ หรือสังเกตจากหลักแกรมม่า ที่อ่านแล้วเอามาใช้กับภาษาไทยไม่ได้ เพราะประโยคที่หนังสือแปลมาเป็นภาษาไทย เป็นประโยคที่คนไทยไม่ใช้

สำหรับใครที่สนใจอยากอ่านเพิ่มเติม สามารถหามาอ่านได้ครับกับหนังสือ "Mind Reader จิตวิทยาอ่านใจคนขั้นสุด" เขียนโดยเดวิด เจ ลีเบอร์แมน ตีพิมพ์เป็นภาษาไทยโดยสำนักพิมพ์วีเลิร์น ราคา 270 บาท