สมองฉับไว สไตล์คนนอนดึก - วิธีเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้สูงขึ้น จากผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนดึก

สมองฉับไว สไตล์คนนอนดึก - วิธีเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้สูงขึ้น จากผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนดึก

คนส่วนใหญ่มองว่าการตื่นเช้าเป็นเรื่องที่ถูกต้อง อย่างไทยเราก็มีประโยคที่ว่า "นกที่ตื่นเช้า ย่อมจับหนอนได้ก่อน" เพราะอย่างนี้อาจทำให้คนนอนดึกรู้สึกผิด สมัยเป็นเด็กคงมีหลายคนที่โดนพ่อแม่ดุว่า "รีบไปนอนได้แล้ว" หรือ "รีบตื่นได้แล้ว" ทั้งที่มีหลายคนหัวแล่นในตอนกลางคืน รู้สึกผ่อนคลายในตอนกลางคืน และรู้สึกว่าเวลาที่เหลือของวันเป็นเวลาส่วนตัว

ไอติมอ่าน ep นี้ จะมาแนะนำหนังสือ สมองฉับไว สไตล์คนนอนดึก เขียนโดย ไซโต ทาคาชิ นักวิชาการชาวญี่ปุ่น นอกจากนี้ยังเป็นนักเขียน และผู้ประกาศข่าวในทีวี หนังสือเล่มนี้พูดถึงข้อดีของการนอนดึกจากประสบการณ์ของผู้เขียน และวิธีในการใช้ประโยชน์จากช่วงเวลาที่เงียบสงบและเป็นส่วนตัวนี้

ผู้เขียนเล่าชีวิตของตัวเองว่าเป็นคนที่เข้านอนตี 3 และตื่น 9 โมงเช้า ใช้เวลานอนวันละประมาณ 6 ชม. ซึ่งก็ไม่ได้มากกว่าคนทั่วไป และเขายังแบ่งเวลาอีก 18 ชม. ที่เหลือของวันออกเป็น 3 ส่วน เพื่อใช้ในการเขียนหนังสือ 3 เล่ม ผู้เขียนสนับสนุนว่าหากเป็นคนนอนดึกก็นอนดึกไปเถอะ ทิ้งการทำงานในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะกับตัวเอง แล้วเพิ่มผลงานในช่วงเวลาทองกันดีกว่า

หากเรานิยามว่าวิถีชีวิตแบบปกติคือ การตื่น 6 โมงเช้า กินอาหารเช้าแล้วเดินทางไปที่ทำงาน และเริ่มงานตอน 8 โมงเช้า ผู้เขียนบอกว่าหากเขาใช้วิถีชีวิตแบบนั้น เขาเดาได้เลยว่าตั้งแต่ 8 โมงเช้า - 10 โมงเช้า เขาคงทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันไม่ได้ เพราะสมองไม่แล่นในช่วงเวลานี้

คนนอนดึกแทนที่จะต้องปรับวิถีชีวิตให้เข้ากับคนอื่น ลองเปลี่ยนมาให้ความสำคัญกับช่วงเวลาทองที่ตัวเองใช้ความสามารถได้ดีที่สุดเพื่อสร้างผลลัพธ์ที่ยอดเยี่ยมดีกว่าครับ คนที่สร้างผลลัพธ์ในตอนเช้าได้ยาก ลองยอมรับว่าตัวเองเป็นพวกนอนดึก แล้วหันมาสร้างผลลัพธ์ตอนกลางคืนดูครับ เพราะสังคมยุคนี้ยืดหยุ่นและยอมรับแล้วว่า "ถ้ามีผลงาน จะทำงานที่ไหนเมื่อไหร่ก็ได้"


ผู้เขียนบอกว่า หากพูดถึงเรื่องการสร้างผลงาน หลายคนคาดหวังว่าจะได้เทคนิคถึงวิธีสร้าง output ที่มีคุณภาพ แต่หากละเลยไม่สร้าง input เลย การจะสร้างผลงานที่มีคุณภาพต่อไปเรื่อย ๆ ก็เป็นเรื่องยาก เหมือนรถยนต์ที่วิ่งอยู่ตลอด แต่ไม่แวะเติมน้ำมันเลย ในที่สุดรถยนต์ก็จะไม่สามารถวิ่งต่อไปได้ การสร้าง output ที่มีคุณภาพจำเป็นต้องเติมเชื้อเพลิงที่เรียกว่าความรู้ครับ

การอ่านหนังสือเรียกได้ว่าเป็นหนทางหลักในการหาความรู้ หากเทียบกับการดูทีวี ดูซีรีส์ หรือเล่นอินเตอร์เน็ต การอ่านหนังสือต้องใช้พลังงานมากกว่า หลายคนจึงไม่ถนัดอ่านหนังสือ แต่ถ้าฝึกอ่านหนังสือจนชิน ก็จะมีพื้นฐานในการใช้ชีวิตอย่างมีปัญญา ถึงเรื่องที่อ่านจะไม่ใช่ความรู้ที่นำไปใช้ได้เลย แต่การเพิ่มเติมความรู้ให้ตัวเองเป็นเรื่องสนุก และได้รู้สึกถึงความยินดีที่ตอนนี้มีชีวิตอยู่ในฐานะมนุษย์อีกด้วย

คุณไม่จำเป็นต้องอ่านเฉพาะหนังสือที่มีประโยชน์ต่อการทำงานโดยตรงเท่านั้นนะครับ ผู้เขียนบอกว่าการเล่าเรียนอย่างไม่มีเป้าหมายเป็นสิ่งสำคัญที่สุด หากคิดได้อย่างนี้ การอ่านหนังสือจะเป็นเรื่องสบาย ๆ และเคล็ดลับในการอ่านหนังสือให้สนุกคือ การจินตนาการว่าตัวเองกำลังฟังเรื่องเล่าอยู่ ให้คิดว่าหนังสือทุกเล่มคือเรื่องเล่าครับ

บางคนอาจคิดว่าตัวเองเหนื่อยจากการทำงานตอนกลางวันมาแล้ว ตอนกลางคืนก็อยากใช้เวลาเรื่อยเปื่อยไปกับการกินเหล้าหรือเล่นเกม ผู้เขียนบอกว่าจะเล่นเกมเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศบ้างก็ได้ แต่เราควรหมั่นเพิ่มพูนความรู้

คนที่ไม่มีความรู้และไม่ยอมอ่านหนังสือ ทั้งที่ตัวเองมีเวลาว่างเต็มที่ นับว่าปล่อยโอกาสดี ๆ ไปอย่างน่าเสียดาย การอ่านหนังสือเหมือนการถางพื้นที่เพื่อสร้างผืนดินสำหรับเพาะปลูกสิ่งต่าง ๆ ที่จะทำให้มนุษย์มีความเป็นมนุษย์มากขึ้น

ผู้เขียนได้ตั้งเป้าให้ตัวเองว่าจะอ่านหนังสือวันละหนึ่งเล่ม ฟังดูไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ผู้เขียนมีเคล็ดลับคือ "ไม่ต้องอ่านครบทุกบรรทัด แต่ขอให้จับประเด็นสำคัญได้ก็พอ" เพราะหนังสือส่วนใหญ่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ข้อมูล การอ่านเพื่อเก็บเฉพาะส่วนที่จำเป็นต่อตัวเองก็นับว่าเพียงพอแล้ว ส่วนไหนที่เข้าใจแล้วหรือนอกเรื่องจะอ่านข้ามก็ได้

ระหว่างคนที่อ่านหนังสือกับคนไม่อ่านหนังสือ วิธีการพูดจะต่างกันมาก อย่างแรกคือคลังศัพท์จะไม่เท่ากัน คนที่อ่านหนังสือเป็นประจำจะมีคำศัพท์เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นวิธีการพูดจะแสดงถึงความมีปัญญาโดยอัตโนมัติ และจังหวะการพูดก็จะเร็วขึ้นด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าอ่านหนังสือเยอะจะเก่งเรื่องการพูดด้วยภาษาเขียน ซึ่งมีความสละสลวย พูดง่าย ๆ คือคนที่อ่านหนังสือจะมีวิธีพูดที่น่าฟัง


ผู้เขียนบอกว่าตัวเขาขยันอ่านหนังสือก็จริง แต่พอคิดดูแล้วก็มี input อย่างอื่นนอกเหนือจากการอ่านหนังสือ ถ้าใครไม่ถนัดอ่านหนังสือจริง ๆ การดูทีวีก็เป็น input ที่ดีเหมือนกัน เพราะทีวีเป็นสื่อที่รายงานสถานการณ์ล่าสุด มีการเชิญผู้เชียวชาญจากหลายสาขามาให้ความรู้ในประเด็นต่าง ๆ ทั้งยังมีรายการเกี่ยวกับชีวิตของคนที่ประสบความสำเร็จว่าเขาฝ่าฟันอุปสรรคมายังไง มีรายการสารคดี รายการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ผู้เขียนมักดูรายการที่ตัวเองสนใจแบบย้อนหลัง โดยกดปุ่มเร่งความเร็ว 1.5 เท่า

นอกจากนี้การดูภาพยนตร์ก็เป็นวิธีที่ดีในการเพิ่ม input มีภาพยนตร์หลายเรื่องดัดแปลงมาจากนิยาย ใครที่ไม่ชอบอ่านหนังสือก็สามารถรับรู้แก่นของหนังสือจากภาพยนตร์เรื่องนั้นได้ และการดูภาพยนตร์นั้นช่วยเพิ่มประสบการณ์จากชีวิตของคนอื่น เป็นโลกอีกใบที่ต่างจากชีวิตของเรา ผู้เขียนดูภาพยนตร์ด้วยความเร็ว 1.5 เท่า ด้วยวิธีนี้เขาจึงสามารถดูภาพยนตร์ความยาว 2 ชม. จบได้ใน 1 ชม. ครึ่ง ตรงไหนที่รู้สึกว่าดีก็จะกลับมาดูด้วยความเร็วปกติ

ผู้เขียนยังได้แนะนำรายการวิทยุที่เขาชอบฟัง การได้ฟังดาราหรือคนดังคุยกันเรื่อยเปื่อยก็ช่วยให้เกิดไอเดียใหม่ ๆ ได้ สมัยนี้เราอาจเลือกมาฟัง podcast ได้ และ podcast เดี๋ยวนี้มีหลายหัวข้อที่น่าสนใจ บางช่องเจาะลึกเรื่องที่เราไม่เคยรู้มากก่อน ดังนั้นการฟัง podcast ก็เป็นอีกวิธีที่ช่วยเพิ่ม input ได้ครับ

การค้นหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ตก็เป็นวิธีเพิ่ม input ด้วยเหมือนกัน บทความต่าง ๆ บนเว็บไซต์มักแนะนำบทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องให้เราได้อ่านต่อ พออ่านไปเรื่อย ๆ เราก็จะได้รู้รายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องหนึ่งลึกซึ้งขึ้น

ในอินเตอร์เน็ตก็มีคนจำนวนมากมาเขียนรีวิวหนังสือ พออ่านรีวิวไปเยอะ ๆ เราจะอยากอ่านหนังสือเล่มนั้น เกิดแรงบันดาลใจในการใฝ่หาความรู้ และในบรรดารีวิวหนังสือเหล่านั้นจะมีรีวิวจากนักอ่านที่เชี่ยวชาญซ่อนอยู่

อย่างเช่นผู้เขียนอยากเริ่มต้นอ่านผลงานของ อกาธา คริสตี้ ซึ่งนักเขียนคนนี้มีผลงานเกือบ 100 เรื่อง จึงไม่รู้ว่าจะอ่านเล่มไหนก่อนดี พออ่านรีวิวก็จะเจอคนแนะนำผลงานคลาสสิกอย่างเช่น And Then There Were None หรือ Murder on the Orient Express แต่เรื่องที่ได้รับรีวิวดีที่สุดกลับเป็นเรื่อง Absent in the Spring ผู้เขียนจึงเริ่มต้นอ่านเล่มนี้เพราะเห็นว่ารีวิวดี


ผู้เขียนแนะนำวิธี input ความรู้จากสื่อต่าง ๆ ไปแล้ว ในบทถัดมาผู้เขียนได้แนะนำวิธีสร้าง output หรือวิธีสร้าง "ผลผลิตทางปัญญา" จากความรู้ที่เราได้มา ผลผลิตทางปัญญาถ้าพูดตรง ๆ ก็คือ "การออกไอเดีย" เพื่อผลิตผลงานอย่างรายงาน, บทความ หรือพรีเซนเทชั่น

ผู้เขียนบอกว่าตอนกลางคืนเป็นช่วงเวลาที่พลังจินตนาการกระพือปีก หลายไอเดียนึกออกในตอนกลางคืนแบบอยู่ ๆ ก็นึกขึ้นมาได้ ผู้เขียนจึงแนะนำให้วางสมุดจดไว้ข้างเตียง แต่ทุกวันนี้เขาใช้วิธีจดในสมาร์ทโฟนแล้ว วิธีจดโน้ตของผู้เขียนเป็นการจดเป็นคำ ๆ ลงไปทีละบรรทัด ไม่จำเป็นต้องเขียนให้เป็นเรื่องราว

ตอนกลางคืนเป็นเวลาที่เหมาะกับการคิดอะไรเรื่อยเปื่อย หรือเล่นกับความคิด ซึ่งตอนกลางวันไม่เหมาะกับการคิดเรื่อยเปื่อย เพราะตอนกลางวันงานที่เราทำมีลักษณะที่เราต้องนั่งทำงานบนโต๊ะ ต้องจดจ่อและต้องทำให้เสร็จ

ต่างกับตอนกลางคืนที่ไม่ต้องนั่งติดโต๊ะ แค่นอนกลิ้งไปมา คิดอะไรเล่น ๆ ก็เกิดไอเดียใหม่ ๆ ขึ้นมาในหัว ช่วงเวลานี้อย่าคิดถึงหรือกังวลเรื่องงาน ปัญหาเรื่องงานนั้นเอาไว้ค่อยปรึกษาและแก้ไขกับคนในบริษัทวันพรุ่งนี้ดีกว่า คิดวนไปวนมาคนเดียวตอนกลางคืนก็ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาหรอกครับ

พอโน้ตที่จดไว้เต็มไปด้วยไอเดียที่ผุดขึ้นมามากมาย ต่อไปก็เป็นการก่อรูปร่างให้ไอเดียเหล่านั้น โดยการสร้างแผนที่ไอเดีย หรือ mind map ในตอนที่กำลังทำ mind map จะเป็นการเชื่อมโยงข้อมูลหลากหลายที่กระจายเกลื่อนกลาดในสมองด้วย นี่คือการคิดให้ลึกซึ้งขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

ผู้เขียนแนะนำให้ลองเขียนบล็อกแนะนำภาพยนตร์ แนะนำหนังสือ หรือหัวข้ออื่น ๆ ที่สนใจ แล้วใส่ความคิดเห็นส่วนตัวลงไปด้วย บทความนั้นจะกลายเป็นสิ่งที่มีคุณค่าต่อสังคมต่อไปด้วย เดี๋ยวนี้โซเชียลมีเดียพัฒนาไปมาก เราจึงมีโอกาสแสดงฝีมือด้วยการเขียนลง Facebook ได้ แต่หลายคนเริ่มเขียนแล้วไม่ได้ใส่ใจความสม่ำเสมอ ไม่ใส่ในคุณภาพ เพราะคิดว่าเป็นแค่งานอดิเรก หรือเขียนไปแล้วไม่ได้เงิน ถ้าอยากเพิ่มพลังความคิด คุณต้องทิ้งความคิดดังกล่าวครับ

หากเริ่มเขียนไปได้จุดหนึ่ง หลายคนอาจเบื่อหรือหมดไอเดีย นึกไม่ออกว่าจะเขียนอะไรต่อไปดี เค้นยังไงก็นึกไม่ออก ปัญหานี้ผู้เขียนแนะนำว่าให้เขียนต่อไป อย่าล้มเลิก อย่างผู้เขียนก็ผ่านจุดนั้นมาแล้ว และเขียนหนังสือออกมาแล้วกว่า 500 เล่ม ใช้ปริมาณเข้าสู้ ผลงานมีคุณภาพ 70-80% ก็ถือว่าใช้ได้แล้ว แทนที่จะพยายามทำให้ถึง 100% การสร้างผลงานใหม่ระดับ 70-80% อย่างต่อเนื่อง จะทำให้พลังความคิดก้าวไกลกว่า

สตีเฟน คิง นักเขียนนิยายสยองขวัญเคยบอกไว้ว่า เวลาที่เขาจะลงมือเขียน เขาต้องปิดประตูห้องให้สนิท ไม่แตะโทรศัพท์เลย แล้วจดจ่ออยู่แต่กับงานเขียน ถ้าอยากมีสมาธิในตอนกลางคืนให้ขังตัวเองอยู่ในห้อง ไม่ยุ่งกับโซเชียลมีเดีย จะช่วยรักษา productivity ในตอนกลางคืนได้

ผู้เขียนแนะนำว่าในการสร้าง output ให้กำหนดเวลาไว้ไม่เกิน 2 ชม. เป็นอย่างมาก เพราะถ้าสนุกแล้วทำต่อไป 5-6 ชม. ก็จะพลอยไม่ได้นอน เราต้องรักษาเวลานอนให้เพียงพอด้วย ผู้เขียนจะใช้นาฬิกาตั้งเวลาไว้ 2 ชม. ระหว่างนั้นจะไม่หันไปมองนาฬิกา

ถ้างานที่ทำไม่มีกำหนดส่ง การสร้างผลงานก็จะไม่ค่อยคืบหน้า เพราะเราจะคิดว่า "จะทำให้เสร็จเมื่อไหร่ก็ได้" แล้วสุดท้ายก็จะทำแบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ ถ้าอยากทำงานให้ได้งานต้องเข้มงวดกับตัวเอง ด้วยการตั้งกำหนดส่งงาน หรือ deadline ครับ

ถ้าอยากฝึกความคิดให้ลองเปลี่ยนแปลงโลกแห่งความจริงด้วยจินตนาการ ให้ลองฝึกคิดว่า "ถ้าโลกไม่มีสิ่งนี้แล้วจะเป็นยังไง?" หรือ "ถ้ามีสิ่งนี้ชีวิตคงจะสะดวกขึ้น?" จะเริ่มฝึกด้วยการลองคิดว่า "ถ้าเปลี่ยนตัวเอกในหนังเรื่องนี้จากผู้ชายไปเป็นผู้หญิง เรื่องราวจะแตกต่างจากเดิมยังไง?" การเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขเพียงอย่างเดียว ทำให้เห็นโลกที่ต่างออกไปได้ การอยู่กับความคิดเรื่อยเปื่อยแบบนี้ก็น่าสนใจเหมือนกัน เพราะช่วยให้พลังความคิดของเราเพิ่มขึ้น

เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้มีประมาณนี้ครับ ส่วนตัวผมคิดว่าเล่มนี้อ่านง่าย ผู้เขียนอธิบายทีละหัวข้อโดยไม่ยาวมาก แต่อ่านจบแล้วผมว่าเนื้อหาสาระของหนังสือเล่มนี้น้อยไปหน่อย ไม่มีเคล็ดลับหรือเทคนิคอะไรที่รู้สึกว้าว น่าเอาไปใช้จัง

สำหรับเพื่อน ๆ ที่อยากอ่านเพิ่มเติม สามารถหาหนังสือเล่มนี้มาอ่านกันได้ "สมองฉับไว สไตล์คนนอนดึก" เขียนโดย ไซโต ทาคาชิ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Short Cut ราคา 225 บาท