คนที่ทำอะไรก็สำเร็จ ทำอะไร - เทคนิคทำทุกอย่างให้สำเร็จ จนเป็นเรื่องปกติ

คนที่ทำอะไรก็สำเร็จ ทำอะไร - เทคนิคทำทุกอย่างให้สำเร็จ จนเป็นเรื่องปกติ

คุณเคยมีประสบการณ์ประมาณนี้ไหมครับ "ตอนปีใหม่ตั้งเป้าหมายสิ่งที่จะทำไว้ดิบดี แต่ผ่านไปไม่กี่เดือนก็ล้มเลิกซะแล้ว" หรือ "พอแผนที่วางไว้ทำท่าจะไปได้ไม่ดีก็ท้อจนล้มเลิกกลางคัน" ไอติมอ่าน ep นี้จะมาแนะนำหนังสือ "คนที่ทำอะไรก็สำเร็จทำอะไร" เขียนโดย มิทานิ จุน ผู้ให้คำปรึกษาแก่หลายบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ของญี่ปุ่น ผู้เขียนบอกว่าหนังสือเล่มนี้จะช่วยบอกวิธีว่าทำยังไงคุณถึงจะบรรลุเป้าหมาย โดยมีเทคนิคง่าย ๆ เพียงแค่ 3 ข้อเท่านั้น ได้แก่

  1. ตั้งเป้าหมาย
  2. วางแผนลงมือทำ
  3. ลงมือทำตามแผน

เทคนิคในหนังสือเล่มนี้เรียบง่ายแบบนี้เลยครับ ในเล่มผู้เขียนได้อธิบายแต่ละเทคนิคอย่างละเอียด แถมยังยกตัวอย่างและเปรียบเทียบเก่ง ทำให้อ่านแล้วเห็นภาพง่ายขึ้นว่าจะประยุกต์เทคนิคในหนังสือไปใช้จริงได้ยังไง


เนื้อหาในบทแรกผู้เขียนพูดถึง "3 พื้นที่ของสภาพทางใจ" ตลอดเวลาของการทำหน้าที่ให้คำปรึกษาผู้คนมามากมาย ผู้เขียนสังเกตว่าคนที่ทำอะไรก็สำเร็จมีสิ่งหนึ่งที่พวกเขามีเหมือนกัน นั่นคือพวกเขาอยู่ใน "พื้นที่ยืดตัว (Stretch Zone)" และสนุกกับมันเสมอ

ก่อนพูดถึงพื้นที่ยืดตัว ผู้เขียนชวนเราไปรู้จัก "พื้นที่คุ้นชิน (Comfort Zone)" ซึ่งคือพื้นที่ที่มนุษย์รู้สึกปลอดภัยและสบายใจ ตัวอย่างของพื้นที่คุ้นชินก็เช่น

  • ตื่นไปทำงานเวลาเดิมทุกวัน
  • พอใจกับการทำงานที่ได้รับมอบหมาย
  • เลิกงานแล้วกลับบ้านที่อาศัยอยู่จนคุ้นเคย
  • ได้เงินเดือนเท่ากันทุกเดือน

ส่วนการก้าวออกมาจากพื้นที่คุ้นชินหนึ่งก้าวจะเรียกว่าพื้นที่ยืดตัว หรือคือพื้นที่ของการเรียนรู้ ตัวอย่างของพื้นที่ยืดตัวก็เช่น

  • ได้รับมอบหมายให้ทำโปรเจกต์ใหม่ที่ต้องทำงานด้วยวีธีแตกต่างจากเดิม
  • ต้องย้ายที่อยู่อาศัยและต้องปรับตัวใหม่
  • ได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้า

มนุษย์ส่วนใหญ่จะรู้สึกกดดันเมื่อต้องออกจากพื้นที่คุ้นชิน และก้าวเข้าสู่พื้นที่ยืดตัว และหากไปไกลกว่าพื้นที่ยืดตัวจะเรียกว่า "พื้นที่ตื่นตระหนก (Panic Zone)" ตัวอย่างของพื้นที่ตื่นตระหนกก็เช่น

  • ถูกไล่ออกจากบริษัท
  • ต้องย้ายไปอยู่ต่างประเทศที่ไม่เข้าใจภาษาอย่างกระทันหัน
  • ไม่สามารถทำงานต่อได้เพราะป่วยหรือบาดเจ็บ

เมื่อต้องก้าวเข้าไปในพื้นที่ตื่นตระหนก มนุษย์จะอยู่ในภาวะตื่นตระหนกตามชื่อ และไม่สามารถคิดได้อย่างทันท่วงทีว่าควรทำยังไงต่อ

ผู้เขียนยกเรื่อง 3 พื้นที่ของสภาพทางใจ เพราะอยากสื่อว่า เมื่อมนุษย์อยู่ในพื้นที่ยืดตัวจะมีประสิทธิภาพในการทำงานเพิ่มขึ้น และแสดงศักยภาพได้สูงกว่าตอนอยู่ในพื้นที่คุ้นชิน คุณคงเคยมีประสบการณ์ทำนองว่า เมื่อมีเวลาทำงานเหลือเฟือ ก็รู้สึกไม่อยากทำ แต่พอต้องทำงานที่จวนเจียนใกล้เวลาส่ง กลับมีสมาธิและทำสำเร็จไปได้ด้วยดีในระยะเวลาอันสั้น

คนที่ไม่เก่งเรื่องทำเป้าหมายให้สำเร็จ มักรู้สึกกังวลกับการตั้งเป้าหมายสูง ๆ ที่ไม่เคยทำมาก่อน หรือรู้สึกกดดันถ้าต้องลาออกจากงานที่ทำมานานหลายปี จึงลงเอยด้วยการใช้ชีวิตทุกวันวนเวียนอยู่ในพื้นที่คุ้นชิน

กลับกันคนที่ทำอะไรก็สำเร็จ มักจะตั้งเป้าหมายสูงกว่าเดิมโดยคิดว่า "จะทำสำเร็จได้ไหมนะ" แล้วก้าวไปอยู่ในพื้นที่ยืดตัว โดยวางแผนและลงมือทำเพื่อเป็นการแสดงศักยภาพของตัวเอง ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า คนที่ไม่เก่งเรื่องบรรลุเป้าหมายจะอยู่ในพื้นที่คุ้นชิน ส่วนคนที่ทำอะไรก็สำเร็จจะอยู่ในพื้นที่ยืดตัว

ที่น่าสนใจคือขอบเขตของพื้นที่คุ้นชินขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของแต่ละคน ยิ่งมีประสบการณ์กับสิ่งต่าง ๆ มากเท่าไหร่ก็จะมีพื้นที่คุ้นชินกว้างใหญ่มากขึ้นเท่านั้น หรือพูดง่าย ๆ คือ สิ่งที่เคยเป็นเรื่องยากในตอนแรกจะกลายเป็นเรื่องปกติเมื่อคุ้นชินกับมัน

ตัวอย่างเช่นการหัดขับรถยนต์ ครั้งแรกที่ขับลงถนนย่อมรู้สึกประหม่ามาก ๆ แต่พอเวลาผ่านไปก็สามารถขับรถได้โดยไม่รู้สึกเครียด การบรรลุเป้าหมายเองก็เช่นกัน หากเป้าหมายที่ตั้งไว้เป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายก็จะไม่หลุดออกจากพื้นที่คุ้นชิน โอกาสที่จะได้พัฒนาตัวเองก็ต่ำลง

ส่วนการตั้งเป้าหมายไว้สูงเกินไปจะเป็นการก้าวเข้าสู่พื้นที่ตื่นตระหนก ซึ่งทำให้ความคิดหยุดชะงักและไปไม่เป็น แต่หากตั้งเป้าหมายให้อยู่ในพื้นที่ยืดตัวซึ่งมีความกดดันในระดับที่พอเหมาะ ก็จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายจนคุ้นชินและกลายเป็นเรื่องปกติ จากนั้นก็ย่อมตั้งเป้าหมายที่สูงขึ้นไปอีกได้ แม้การอยู่ในพื้นที่ยืดตัวจะทำให้เหนื่อยบ้าง แต่ก็ช่วยให้เราก้าวหน้าเติบโตครับ


บทถัดไปผู้เขียนพูดถึงเทคนิค 3 ข้อที่ช่วยให้คุณสามารถบรรลุเป้าหมายได้สำเร็จ ซึ่งได้แก่

  1. ตั้งเป้าหมายโดยคิดบวก คิดว่าตัวเองสามารถทำได้ทุกเรื่อง
  2. วางแผนลงมือทำโดยคิดลบ วางแผนอย่างละเอียดรอบคอบ โดยคำนึงถึงเรื่องที่ไม่คาดคิด
  3. ลงมือทำตามแผนโดยคิดบวก เชื่อว่าตัวเองจะทำสำเร็จได้แน่นอน

เริ่มต้นที่เทคนิคแรก "การตั้งเป้าหมาย" ผู้เขียนบอกว่าจากประสบการณ์ที่เขาได้ช่วยให้คนบรรลุเป้าหมายมามากมายหลายคน เขาจับสังเกตได้ว่าคนที่ทำอะไรก็ไม่สำเร็จมักมีปัญหาเรื่องการตั้งเป้าหมาย ในทางกลับกันหากทำขั้นตอนนี้ได้ดี ตั้งเป้าหมายได้ถูกต้องก็เท่ากับว่าบรรลุเป้าหมายไป 80% แล้ว

สิ่งสำคัญคือ ไม่ว่ายังไงก็ต้องคิดบวก คิดว่าตัวเองทำได้ทุกเรื่อง คิดว่าตัวเองมีเวลาไม่จำกัด มีเงินไม่จำกัด มีพรสวรรค์ที่ไร้ขอบเขต โดยยังไม่ต้องคิดว่า "ต้องทำยังไง" ธรรมชาติของมนุษย์เมื่อเริ่มตั้งเป้าหมาย สมองจะไปให้ความสำคัญกับ "สิ่งที่ทำได้" มากกว่า "สิ่งที่อยากทำ"

ตัวอย่างเช่น หากคุณถามเด็ก ๆ ว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร คุณอาจได้คำตอบประมาณว่า "อยากเป็นนักฟุตบอลอันดับหนึ่งของโลก" "อยากเปิดร้านขนมหวาน" โดยที่พวกเขาไม่ได้คิดว่าต้องทำยังไงถึงจะได้เป็นนักฟุตบอล ต้องมีเงินมากแค่ไหนถึงจะเปิดร้านขนมหวานได้

ผู้เขียนได้ยกคำกล่าวว่า "คนที่ทำเรื่องใหม่ ๆ ได้สำเร็จคือคนที่เชื่อมั่นว่าตัวเองสามารถทำมันได้" หากด่วนตัดสินว่าทำได้หรือทำไม่ได้จากประสบการณ์ในอดีต คุณจะไม่สามารถทำสิ่งใหม่ ๆ หรือบรรลุเป้าหมายสูง ๆ ได้ เวลาพยายามทำอะไรสักอย่าง สิ่งสำคัญคือการเชื่อมั่นว่าความสามารถของมนุษย์ไร้ขีดจำกัด และหากพยายามด้วยความปรารถนาอย่างแรงกล้า ไม่ว่าเรื่องอะไรก็ทำสำเร็จได้ทั้งนั้นครับ

ในการตั้งเป้าหมายแม้จะสามารถทำด้วยตัวเองได้ แต่ผู้เขียนแนะนำว่าหากปรึกษาคนอื่นอย่างเพื่อนหรือรุ่นพี่ที่รู้จัก จะช่วยให้คุณสามารถตั้งเป้าหมายที่ดี น่าตื่นเต้น และน่าสนุกได้ โดยผู้เขียนได้บอกข้อดีของการตั้งเป้าหมายโดยปรึกษาคนอื่นไว้ 3 ข้อ ดังนี้ครับ

1. ทำให้รู้สึกตื่นเต้นและคิดบวก

สมองของมนุษย์จะรับรู้ถึงความสนุกเมื่อได้พูดคุยหรือทำกิจกรรมร่วมกับคนอื่น ดังนั้นการตั้งเป้าหมายร่วมกับใครสักคนจะทำให้ตื่นเต้นและสนุกได้ง่ายกว่าการคิดเองคนเดียว อีกทั้งยังช่วยให้คิดบวกมากขึ้นด้วย

การที่ต้องทำอะไรตัวคนเดียวโดยที่ไม่ได้พูดคุยกับใครเลยต่อเนื่องหลายวัน ส่งผลเสียต่อสภาพจิตใจเป็นอย่างมาก ตัวอย่างคืออาการคิดถึงบ้านของนักเรียนที่ไปเรียนต่างประเทศหรือย้ายไปทำงานในประเทศที่ไม่เข้าใจภาษา สาเหตุที่เหงาและคิดถึงบ้านเป็นเพราะไม่ได้พูดคุยสื่อสารกับคนอื่นนั่นเอง

ดังนั้นต่อให้จะมีเรื่องที่ไม่สบายใจ แต่ถ้าได้พูดให้ใครสักคนฟัง เราจะรู้สึกสบายใจขึ้น ต่อให้ยังแก้ปัญหานั้นไม่ได้ ถ้ามีคนคอยรับฟังก็จะคิดบวกในทำนองว่า "พรุ่งนี้จะลองใหม่อีกสักตั้ง" ที่เป็นเช่นนี้เพราะสมองรู้สึกว่าได้รับความรู้สึกร่วมจากคน ๆ นั้น ทำให้มีแรงจูงใจเพิ่มขึ้นนั่นเอง

2. ตระหนักถึงความเป็นไปได้ของตัวเอง

ว่ากันว่าเรื่องที่มนุษย์มักไม่เข้าใจมากที่สุดคือเรื่องของตัวเอง เรามักไม่รู้ข้อดีของตัวเองว่าคืออะไร และไม่รู้ว่าตัวเองเชี่ยวชาญเรื่องอะไร และยังไม่รู้อีกด้วยว่าตัวเองมีข้อเสียหรือข้อด้อยอะไร เพราะพอเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับตัวเอง เราจะเผลอคิดไปว่าเรื่องนั้นเป็นเรื่องปกติธรรมดา

ดังนั้นการมีคนอื่นมาบอก จึงทำให้เราเห็นตามไปด้วยได้ง่ายกว่าการบอกตัวเอง ตัวอย่างเช่น รุ่นพี่ที่คุณเคารพมาบอกคุณว่า "ฉันว่านายทำยอดขาย 1 ล้านบาทได้แน่นอน" แค่นี้แรงจูงใจก็จะเพิ่มขึ้น และกลายเป็นความตั้งใจแล้วครับ

3. ได้รับความร่วมมือในการบรรลุเป้าหมาย

หากคุณตั้งเป้าหมายไปพร้อมกับขอคำปรึกษาใครสักคน อีกฝ่ายจะให้ความร่วมมือเพื่อช่วยให้คุณบรรลุเป้าหมาย เพราะเมื่อมีใครสักคนมาขอคำปรึกษา คนเรามักจะรู้สึกว่าตัวเองได้รับความนับถือ และอยากให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่

ตัวอย่างเช่น คุณเป็นเซลส์ขายรถยนต์ แล้วไปปรึกษาเรื่องการตั้งเป้าหมายกับรุ่นพี่มหาวิทยาลัยที่นับถือ หลังจากนั้นรุ่นพี่ก็ได้แนะนำคนรู้จักของตัวเองที่กำลังจะซื้อรถให้คุณได้รู้จัก เพื่อช่วยเพิ่มยอดขายให้กับคุณ

สิ่งที่รุ่นพี่ทำเป็นปรากฏการณ์ทางจิตวิทยาที่เรียกว่า "การตอบแทนความชอบซึ่งกันและกัน" เมื่อมีคนอื่นมาขอความช่วยเหลือ สมองจะรู้สึกยินดีและพยายามตอบสนองต่อความคาดหวังของอีกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นเรื่องไหน

สิ่งสำคัญอีกอย่างในการตั้งเป้าหมายคือ ต้องปรึกษาให้ถูกคน เพราะถ้าปรึกษาไปแล้ว อีกฝ่ายแสดงความคิดเห็นเชิงลบหรือให้คำแนะนำแย่ ๆ จนไม่สามารถตั้งเป้าหมายที่ดีได้ ก็อาจจะส่งผลตรงข้ามกับสิ่งที่คิดไว้

ดังนั้นคนที่คุณควรไปปรึกษา ควรเป็นคนที่บรรลุเป้าหมายสูง ๆ  ได้อย่างต่อเนื่อง หรือคนที่เคยบรรลุเป้าหมายที่คล้ายกับเป้าหมายของคุณ เช่น ถ้าอยากลดน้ำหนักให้สำเร็จก็ควรปรึกษาคนที่ลดน้ำหนักได้สำเร็จมาแล้ว หรือปรึกษาเทรนเนอร์ที่เคยช่วยคนจำนวนมากลดน้ำหนักได้มาแล้ว


ผู้เขียนบอกว่า ความฝันทำให้เป็นจริงได้ยาก แต่เป้าหมายสามารถทำให้สำเร็จได้เลย นั่นเป็นเพราะว่าเป้าหมายมี 2 สิ่งที่ความฝันไม่มี ซึ่ง 2 สิ่งนั้นได้แก่

1. เป้าหมายคือสิ่งที่พิสูจน์ได้

เป้าหมายต้องเป็นสิ่งที่คนทั่วไปสามารถตัดสินได้ทันทีว่าสำเร็จหรือไม่สำเร็จ ตัวอย่างเช่น "อยากทำยอดขายประกันให้ได้ 30 ล้านบาท" หรือ "อยากเปิดสาขาเพิ่มอีก 10 สาขา" ทั้ง 2 ประโยคนี้คือเป้าหมาย เพราะสามารถพิสูจน์ได้ว่าสำเร็จหรือไม่ โดยวัดจากจำนวนยอดขายว่าถึง 30 ล้านบาทหรือยัง เปิดสาขาเพิ่มได้อีก 10 สาขาหรือยัง

ในทางกลับกันประโยคเหล่านี้ไม่ใช่เป้าหมาย ตัวอย่างเช่น "อยากเป็นร้านอาหารญี่ปุ่นอันดับหนึ่งในเชียงใหม่" หรือ "อยากเป็นบริษัทที่พนักงานทำงานด้วยแล้วมีความสุข" ด้วยความที่ไม่มีการระบุอย่างชัดเจนว่า "เป็นอันดับหนึ่งในเชียงใหม่" โดยวัดจากอะไร หรือความสุขของพนักงานคืออะไร คนทั่วไปจึงไม่สามารถตัดสินได้ว่าสำเร็จหรือไม่สำเร็จ

เพื่อเปลี่ยนให้ความฝันข้างต้นกลายเป็นเป้าหมาย เราจึงต้องเปลี่ยนมันให้กลายเป็นสิ่งที่สามารถพิสูจน์ได้ เช่น "อยากเป็นร้านอาหารญี่ปุ่นในเชียงใหม่ที่ได้คะแนนรีวิวเป็นอันดับหนึ่งในแอปวงใน" หรือ "อยากขึ้นเงินเดือนให้พนักงานมากกว่า 10% เพื่อเพิ่มความพึงพอใจของพนักงาน" แค่ปรับมาแบบนี้ก็สามารถเปลี่ยนความฝันให้กลายเป็นเป้าหมายที่พิสูจน์ได้แล้วครับ

2. เป้าหมายมีกรอบเวลาที่ชัดเจน

แม้จะคิดว่า "อยากลดน้ำหนักลง 5 กก. ให้ได้สักวันหนึ่ง" หรือ "สักวันต้องมีเงินเก็บครบ 1 แสนบาทให้ได้" แต่ถ้าไม่มีภาพในหัวที่ชัดเจนว่าต้องลงมือทำเมื่อไหร่ เราก็จะแพ้ให้กับ comfort zone ไม่อยากเริ่มต้นทำเป้าหมาย และผัดวันประกันพรุ่งไปเรื่อย ๆ

กลับกันถ้าคิดว่า "อยากลดน้ำหนักลง 3 กก. ให้ได้ใน 3 เดือน" หรือ "อยากมีเงินเก็บครบ 1 แสนบาทก่อนอายุครบ 25 ปี" ก็จะทำให้คุณเริ่มคิดโดยอัตโนมัติว่าต้องทำยังไงถึงจะบรรลุเป้าหมายนั้นได้


เมื่อตั้งเป้าหมายแล้วว่าจะประสบความสำเร็จเรื่องอะไรและภายในเมื่อไหร่ ต่อไปมายกระดับความเป็นไปได้ในการบรรลุเป้าหมายนั้นกันครับ วิธีการคือ เขียนรายชื่อคนที่จะร่วมยินดีไปกับคุณด้วย เมื่อคุณบรรลุเป้าหมายนั้นได้สำเร็จ และเขียนเหตุผลประกอบด้วยว่าทำไมคนเหล่านั้นถึงรู้สึกยินดีไปกับคุณด้วย

ผู้เขียนยกตัวอย่างเป้าหมายมาว่า "ทำสัญญาซื้อขายบ้านได้เป็นอันดับ 1 ในบริษัทของไตรมาสนี้" คนที่จะร่วมยินดีและเหตุผลที่รู้สึกยินดีมีดังนี้

  • หัวหน้าแผนก เหตุผลคือยินดีที่ภาพรวมของแผนกดีขึ้น และได้เห็นลูกน้องที่ดูแลมาตลอดเติบโต
  • ประธานบริษัท เหตุผลคือยินดีที่มีลูกค้าทำสัญญาเยอะ ผลประกอบการของบริษัทก็เยอะขึ้นตาม
  • ลูกค้า เหตุผลคือยินดีที่มีคนช่วยหาบ้านได้ตรงตามความต้องการ
  • ภรรยา เหตุผลคือยินดีที่สามีได้รับโบนัส

เป้าหมายที่มีหลายคนร่วมยินดีจะเพิ่มโอกาสในการประสบความสำเร็จมากกว่าเป้าหมายที่มีเพียงตัวเองยินดีแค่คนเดียวครับ นอกจากนี้มนุษย์เราจะพยายามมากขึ้นเมื่อต้องทำเพื่อใครสักคน เช่น คนที่แต่งงานแล้วมักคิดว่าจะทำให้ภรรยาหรือสามีมีความสุข คนที่มีลูกมักคิดว่าจะพยายามหารายได้เพิ่ม เพื่อส่งเสียให้ลูกมีการศึกษาและได้อยู่ในสังคมที่ดี

อาจมีบางคนที่พยายามเพราะอยากให้ตัวเองมีชีวิตที่ดี อยากขับรถหรู อยากอยู่บ้านหลังใหญ่ แน่นอนครับว่ากิเลสเป็นแรงจูงใจที่ดีอย่างหนึ่ง แต่กิเลสที่เกิดขึ้นเพื่อตัวเองคนเดียวก็มีขีดจำกัดของมัน เพราะเมื่อเวลารู้สึกทุกข์ คนเรามักยอมแพ้ให้กับเป้าหมายที่ทำเพื่อความสุขของตัวเองได้อย่างง่ายดาย เพราะไม่มีเหตุผลอื่นมาฉุดให้ทำต่อไป

อีกเหตุผลที่ควรตั้งเป้าหมายที่มีหลายคนร่วมยินดีคือ เป้าหมายนั้นจะได้รับความร่วมมือจากคนมากมาย ว่ากันว่าเหตุผลที่มนุษย์กลายเป็นสิ่งมีชีวิตที่สร้างความรุ่งเรืองมาจนถึงตอนนี้ได้เพราะ "ความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม" ซึ่งนำไปสู่ความช่วยเหลือและร่วมมือกันในเผ่าพันธุ์


ผู้เขียนได้เน้นย้ำว่าประเด็นสำคัญของการตั้งเป้าหมายคือ "นึกถึงเป้าหมายที่น่าตื่นเต้นโดยคิดบวก" ซึ่งมนุษย์มีความเป็นไปได้อย่างไร้ขีดจำกัด จึงควรตั้งเป้าหมายให้สูง โดยคำนึงถึงเรื่องที่อยากทำ ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้

แต่ไม่ได้หมายความว่ายิ่งตั้งเป้าหมายไว้สูง ๆ จะยิ่งดีนะครับ เพราะหากตั้งเป้าหมายไว้สูงเกินเอื้อม อาจทำให้คิดไปล่วงหน้าว่า "ไม่มีทางทำสำเร็จได้แน่ ๆ" พาลทำให้ศักยภาพในการลงมือทำลดลง พอศักยภาพลดก็ยิ่งเสียกำลังใจ เมื่อคนเราหลุดจากพื้นที่ยืดตัวเข้าไปสู่พื้นที่ตื่นตระหนัก ผลที่ตามมาคือความคิดหยุดชะงัก ทำให้ไม่เกิดการลงมือทำตามไปด้วย

แล้วตั้งเป้าหมายไว้สูงแค่ไหนถึงจะดีล่ะ ผู้เขียนได้แนะนำว่าให้ตีความยากออกมาเป็นตัวเลข สมมุติว่าคุณเป็นพนักงานขายที่ปกติทำยอดขายได้ไตรมาสละ 4 แสนบาท ในไตรมาสหน้าคุณอยากตั้งเป้าหมายที่ท้าทายตัวเองมากขึ้น

ให้คุณลองพิจารณาว่ายอดขายที่มากที่สุดหากทุ่มเทพยายามอย่างสุดความสามารถและอาศัยโชคช่วยจะอยู่ที่เท่าไหร่ สมมุติว่าอยู่ที่ 1 ล้านบาท ให้คุณตีเป้าหมายยอดขาย 1 ล้านบาทนี้เป็นความยากระดับ 100% เป้าหมายที่เหมาะสมที่ให้ความรู้สึกตื่นเต้นจะอยู่ที่ระดับ 70%-80% ในกรณีสมมุตินี้คุณอาจตั้งเป้าหมายยอดขายของไตรมาสหน้าไว้ที่ 7 แสนบาท


หลังจากตั้งเป้าหมายว่าจะประสบความสำเร็จเรื่องอะไรและภายในเมื่อไหร่เรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการวางแผนอย่างเป็นขั้นเป็นตอนครับ โดยใช้เทคนิคการคิดย้อนศรจากเป้าหมาย ซึ่งเทคนิคนี้มี 2 ขั้นตอนคือ แบ่งเป้าหมายย่อยหรือเรียกว่า Milestone และแจกแจงรายละเอียดหรือเรียกว่า Breakdown

สมมุติว่าคุณตั้งเป้าหมายอยากจะวิ่งมาราธอนให้สำเร็จในอีก 6 เดือนข้างหน้า ขั้นตอนในการแบ่งเป้าหมายย่อยหรือไมล์สโตนจะมองได้ว่า ฟูลมาราธอนมีระยะทาง 42.195 กม. ที่อยากทำได้ในอีก 6 เดือน ดังนั้นในเดือนที่ 5 ควรวิ่งให้ได้ 30 กม. ซึ่งการจะทำได้ในเดือนที่ 4 ควรวิ่งให้ได้ 20 กม. เดือนที่ 3 ควรวิ่งให้ได้ 15 กม. เดือนที่ 2 ควรวิ่งให้ได้ 10 กม. เดือนแรกควรวิ่งให้ได้ 5 กม. 

ข้อดีของการแบ่งเป้าหมายย่อยคือ เมื่อลงมือทำจนบรรลุไมล์สโตนที่ได้ตั้งไว้ เราจะรู้สึกดีจนมีความมุ่งมั่นอยากทำไมล์สโตนถัดไปให้สำเร็จด้วย

เมื่อตั้งไมล์สโตนแล้ว ถัดไปให้คุณจินตนาการว่าต้องทำยังไงถึงจะบรรลุไมล์สโตนแรกได้สำเร็จ โดยการเบรกดาวน์หรือแจกแจงรายละเอียดออกมาว่าสิ่งที่ต้องทำมีอะไรบ้าง ตัวอย่างการตั้งเป้าหมายลดน้ำหนักให้ได้ 5 กก. ใน 5 เดือน จะสามารถเบรกดาวน์รายการที่ต้องทำออกมาได้ดังนี้

  • จำกัดปริมาณคาร์โบไฮเดรต
  • ลดงานเลี้ยงสังสรรค์
  • ไม่กินอาหารหลังสามทุ่ม
  • วิ่งจ๊อกกิ่ง
  • ออกกำลังกายแบบเวทเทรนนิ่ง

เมื่อทำแบบนี้คุณจะเห็นภาพชัดเจนขึ้นว่าต้องลงมือทำอะไรบ้าง เพื่อให้เป้าหมายประสบความสำเร็จ ในกรณีที่คุณตั้งไมล์สโตนไว้ทุกเดือน ในเดือนแรกจะเบรกดาวน์สิ่งที่ต้องทำออกมาอย่างละเอียดเลยก็ได้ แต่สำหรับเดือนถัดไปยังไม่ต้องวางแผนลงมือทำละเอียดขนาดนั้น เพราะการจินตนาการถึงเรื่องในอนาคตนั้นไม่ง่าย และเมื่อลงมือทำตามแผนจริง ๆ ก็อาจเจออุปสรรค คุณจึงต้องทบทวนแผนลงมือทำในอนาคตอีกครั้ง

ผู้เขียนยังได้แนะนำอีกว่า นอกจากการเขียนสิ่งที่ต้องทำแล้ว ควรเขียนสิ่งที่จะไม่ทำออกมาด้วยครับ เช่น

  • จะเลิกดูซีรีส์ตอนค่ำแล้วเข้านอนเร็ว เพื่อจะได้ตื่นเช้ามาอ่านหนังสือเกี่ยวกับการเงิน
  • จะเดินทางโดยรถไฟไปพบลูกค้า แทนที่จะขับรถยนต์ไปเอง เพื่อจะได้มีเวลาอ่านหนังสือบนรถไฟ

การเขียนเรื่องที่จะไม่ทำจะมีประโยชน์ตอนที่คุณมีภาระหน้าที่หลายอย่างซ้อนทับกัน ทำให้คุณเลือกสิ่งที่สำคัญที่สุดมาทำก่อนได้ง่ายขึ้น

เมื่อคุณตั้งไมล์สโตนและเบรกดาวน์สิ่งที่ต้องทำออกมาแล้ว ขั้นตอนนี้ก็ใกล้เสร็จสมบูรณ์แล้วครับ เหลืออีกสิ่งที่คุณต้องทำคือ "การประกาศเป้าหมายของตัวเองแก่คนรอบข้าง" อาจมีบางคนคิดว่า "ไม่อยากให้คนอื่นรู้เป้าหมาย" หรือ "อยากประกาศตอนที่ทำเป้าหมายสำเร็จแล้ว"

ข้อดีอย่างหนึ่งของการประกาศเป้าหมายคือ สร้างแรงกดดันแง่บวกให้ตัวเอง เมื่อใกล้เดดไลน์แต่เป้าหมายยังไม่สำเร็จ คุณจะเกิดความกระตือรือร้นมากกว่าตอนอุบเงียบเป้าหมายไว้กับตัวเองแค่คนเดียว

ข้อดีอีกข้อคือ เมื่อประกาศเป้าหมายของตัวเองออกไป คนรอบข้างจะคอยให้กำลังใจและบางครั้งก็ให้ความช่วยเหลือ ตัวอย่างเช่น คุณตั้งเป้าหมายว่าจะลดน้ำหนักโดยการงดมื้อเย็น แต่ถ้าไม่บอกเป้าหมายนี้กับภรรยา เธอก็จะไม่รู้และทำอาหารเย็นไว้ให้คุณ พอคุณไม่กินภรรยาก็อาจเข้าใจผิดว่าอุตส่าห์ทำให้ทำไมเหลือทิ้งไว้ กลับกันถ้าคุณบอกภรรยาว่าคุณตั้งเป้าจะลดน้ำหนักโดยการงดมื้อเย็น ภรรยาอาจช่วยสนับสนุนโดยการทำอาหารมื้ออื่นเป็นเมนูลดน้ำหนักให้

อาจมีบางคนที่ไม่กล้าประกาศเป้าหมาย เพราะไม่อยากอับอายหากทำเป้าหมายไม่สำเร็จ แต่ถึงอย่างนั้นคนรอบตัวคุณก็ไม่มองว่าคุณแย่หรอกครับ ยิ่งระหว่างทางคุณเอาจริงเอาจังอย่างเต็มที่ แม้ไม่บรรลุเป้าหมาย แต่จะมีคนชื่นชมในความพยายามของคุณ


หลังจากตั้งเป้าหมายโดยคิดบวก และวางแผนลงมือทำโดยคิดลบแล้ว ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนสุดท้ายคือ การลงมือทำตามแผนโดยคิดบวก เชื่อมั่นว่าตัวเองจะประสบความสำเร็จแน่นอน

แม้จะลงมือทำตามแผน แต่บางครั้งผลลัพธ์อาจไม่เป็นอย่างที่คิด ทำให้จิตใจห่อเหี่ยวจนอยากยอมแพ้ ในบทนี้ผู้เขียนจึงแนะนำวิธีรักษาความคิดบวกให้อยู่กับตัวเรา และวิธีแก้ไขเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่ราบรื่นขึ้น

เคล็ดลับแรกในการเริ่มต้นลงมือทำเพื่อให้ประสบความสำเร็จคือ การทำสิ่งที่ง่ายที่สุดในแผนก่อน ตัวอย่างเช่น เป้าหมายวิ่งมาราธอนให้สำเร็จในอีก 6 เดือน สิ่งแรกที่ควรลงมือทำไม่ใช่การวิ่งจ๊อกกิ้งรอบบ้าน แต่เป็นการไปซื้อรองเท้าวิ่ง

เคล็ดลับที่ 2 ฝ่าฟันความล้มเหลวด้วยปริมาณมากกว่าคุณภาพ ถ้าลงมือทำตามแผนจะเป็นการค่อย ๆ สะสมความสำเร็จ ระหว่างทางอาจมีอุปสรรค คุณอาจกังวลว่าทำต่อไปอย่างนี้จะดีเหรอ วิธีรับมือกับความรู้สึกนี้ที่ดีที่สุดคือ "ไม่ว่ายังไงก็จงลงมือทำให้มากขึ้น" สิ่งที่ทำให้คุณไปไม่ถึงเป้าหมายคือการไม่ยอมลงมือทำต่างหากครับ


บางครั้งเมื่อลงมือทำตามแผนที่วางเอาไว้ แต่ไม่สามารถบรรลุไมล์สโตนได้ ผู้เขียนได้แนะนำให้กลับไปพิจารณาเป้าหมายดูอีกครั้ง โดยอาจจะต้องปรับเป้าหมายให้ลดลง ซึ่งการปรับลดเป้าหมายไม่ใช่ความล้มเหลวแต่อย่างใด ไม่ใช่ว่าคุณยอมแพ้ ไม่ใช่เรื่องที่น่าอับอาย

การแก้ไขเป้าหมายมีอยู่ 2 วิธีคือ การปรับลดตัวเลขเป้าหมาย และการขยายกรอบเวลาที่ต้องทำให้เสร็จออกไปอีก คนที่ประสบความสำเร็จไม่ใช่คนที่ทำทุกอย่างตามแผนได้อย่างราบรื่น แต่เป็นคนที่พบความผิดพลาดหลายครั้ง แล้วปรับปรุงแก้ไขต่างหากครับ

ผู้เขียนได้ทิ้งท้ายเอาไว้ว่า ช่วงเวลาที่มีความสุขมากที่สุดไม่ใช่ตอนที่บรรลุเป้าหมาย แต่เป็นตอนที่ตระหนักถึงความเป็นไปได้ของตัวเอง และรู้สึกตื่นเต้นเมื่อคิดเป้าหมายต่อไปต่างหาก

นอกจากเทคนิคในการบรรลุเป้าหมายสำหรับตัวเอง ในหนังสือเล่มนี้ยังได้แนะนำวิธีสำหรับหัวหน้าที่อยากช่วยพาลูกน้องบรรลุเป้าหมายให้สำเร็จ ใครสนใจสามารถตามไปอ่านได้ในหนังสือ "คนที่ทำอะไรก็สำเร็จทำอะไร" เขียนโดยมิทานิ จุน ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์วีเลิร์น ราคา 260 บาท