การเงิน 101: เริ่มต้นนับหนึ่งสู่ชีวิตการเงินอุดมสุข - อยากเริ่มต้นศึกษาเรื่องการเงินต้องเริ่มยังไง?

การเงิน 101: เริ่มต้นนับหนึ่งสู่ชีวิตการเงินอุดมสุข - อยากเริ่มต้นศึกษาเรื่องการเงินต้องเริ่มยังไง?

ปฏิเสธไม่ได้ว่าโลกใบนี้ขับเคลื่อนด้วยเงิน เราทุกคนทำงานหาเงินเพื่อเอาเงินไปแลกปัจจัย 4 ที่จำเป็นในการดำรงชีวิต ทุกช่วงวัยของเราตั้งแต่เด็กไปจนถึงวัยเกษียณจำเป็นต้องใช้เงิน ทั้งที่เรื่องเงินสำคัญขนาดนี้ แต่กลับไม่ได้มีการสอนอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะในโรงเรียนหรือในมหาวิทยาลัย กว่าที่หลายคนจะตระหนักถึงความสำคัญของความรู้ทางการเงิน ก็เป็นตอนที่ไม่สามารถจ่ายหนี้ได้, รถโดนยึด หรือบ้านโดนยึดไปซะแล้ว อย่ารอให้ถึงวันนั้นดีกว่าครับ คุณสามารถเรียนรู้ความรู้ทางการเงินได้ตั้งแต่ตอนนี้เลย

ไอติมอ่าน ep นี้ จะมาแนะนำเนื้อหาในหนังสือ "Money 101 เริ่มต้นนับหนึ่งสู่ชีวิตการเงินอุดมสุข" เขียนโดยโค้ชหนุ่ม จักรพงษ์ เมษพันธุ์ หนังสือเล่มนี้เหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่สนใจปูพื้นทางความรู้ทางการเงินให้ตัวเอง เล่มนี้ขายมาอย่างยาวนาน พิมพ์ซ้ำมาแล้วหลายครั้ง

ผู้เขียนได้เริ่มต้นว่าความรู้ด้านการจัดการเงินขั้นพื้นฐานมีอยู่ 4 ข้อ คือ

  1. Earning รู้จักหารายได้เลี้ยงตัวเองได้เพียงพอ
  2. Spending สามารถจัดการค่าใช้จ่ายได้อย่างเหมาะสม
  3. Saving มีเงินเหลือออม สะสมไว้เพื่อวัตถุประสงค์ในวันข้างหน้า
  4. Investing มีความรู้การลงทุนต่อยอดเพื่อให้เงินงอกเงย

ทั้ง 4 ทักษะนี้ต้องมีให้ครบ จะขาดทักษะใดทักษะหนึ่งไปไม่ได้ เช่น ถ้าหาเงินเก่ง แต่ใช้ไม่เป็น แบบนี้แม้จะมีรายได้มากแค่ไหนก็ไม่มีประโยชน์ หรือบางคนหาเงินเก่ง รู้จักใช้อย่างประหยัด มีเงินเหลือสำหรับเก็บออม แต่พอเอาเงินไปลงทุนก็ขาดทุนทุกที แบบนี้ก็เสียของที่อุตส่าห์เก็บออมมา ดังนั้นจำเป็นต้องมีความรู้ด้านการจัดการเงินขั้นพื้นฐานให้ครบทั้ง 4 ข้อ จึงจะสมดุล


ผู้เขียนบอกว่าการเงินจะเป็นเรื่องง่าย หากคุณเข้าใจชีวิตของตัวเองก่อน หากพูดถึงเรื่องเงิน ทุกคนต้องคิดถึงความมั่งคั่งร่ำรวย แล้วถ้าถามแต่ละคนว่า นิยามคำว่ารวยของเขาคืออะไร เราน่าจะได้คำตอบที่ไม่ตรงกันเลยสักคน

บางคนแค่มีเงินพอกินพอใช้ไม่ขาดมือ มีเหลือเก็บสะสมบ้าง ไม่ต้องเดือดร้อนใคร แค่นี้ก็อาจจะรู้สึกว่ารวยแล้ว แต่บางคนอาจต้องมีเงิน 10 ล้าน, 100 ล้าน หรือมากกว่านั้น ถึงจะเรียกว่ารวยในแบบของเขาได้

ผู้เขียนแชร์ประสบการณ์ว่า เขาเคยตั้งเป้าหมายทางการเงินว่า "จะต้องมีเงินให้ได้ 100 ล้าน ภายใน 5 ปี" ถึงกับเขียนข้อความนี้แปะไว้หน้าประตูห้องนอน เอาไว้ย้ำเตือนตัวเองทุกวัน แต่วันหนึ่งแม่ของเขาพูดขึ้นมาลอย ๆ ว่า "จะเอาเงินไปทำอะไรตั้งเยอะแยะ"

คำพูดนั้นฟังดูเหมือนไม่มีอะไร แต่วันนั้นผู้เขียนอยากจะตอบคำถามนั้นของแม่ให้ได้ เลยหยิบกระดาษขึ้นมาเขียนสิ่งที่เขาจะทำเมื่อมีเงิน 100 ล้าน เขียนไปเขียนมาเขาก็ได้ทบทวนว่า สิ่งเหล่านั้นแม้ได้มาเขาก็ไม่ได้รู้สึกมีความสุขสักเท่าไหร่ ความสุขที่เขาต้องการไม่จำเป็นต้องใช้เงินมากขนาด 100 ล้าน ค่อย ๆ ทำ ค่อย ๆ สะสมไปก็สามารถมีได้ ไม่ต้องเอาเวลาชีวิตทั้งหมดไปหมกมุ่นกับการหาเงินเยอะ ๆ

หลังจากวันนั้นผู้เขียนตั้งโจทย์ทางการเงินจากโจทย์ของชีวิต ทำเรื่องเงินให้สอดคล้องกับชีวิตมากขึ้น ออกแบบเรื่องเงินตามไลฟ์สไตล์ของตัวเอง ไม่ดิ้นรนไปกับสิ่งที่เราไม่ได้ต้องการจริง ๆ ผู้เขียนบอกว่า คนเราต้องตั้งเป้าหมายชีวิตก่อน แล้วจึงตั้งเป้าหมายการเงิน ตั้งคำถามกับตัวเองว่าต้องการใช้ชีวิตแบบไหน แล้วค่อยมาดูว่าชีวิตแบบนั้นต้องใช้เงินมากน้อยแค่ไหน ที่เหลือก็แค่เรียนรู้ และลงมือทำเพื่อให้ได้ผลลัพธ์การเงินในแบบที่ต้องการ


ผู้เขียนบอกว่าหากอยากบริหารเงินให้ประสบความสำเร็จ คุณต้องรู้จัก 2 คำศัพท์ด้านการเงิน คำแรกคือคำว่า "สภาพคล่อง" และคำที่สองคือ "ความมั่งคั่ง"

เริ่มกันที่คำแรก “สภาพคล่อง หรือ Liquidity” คือสภาวะชีวิตที่มีกินมีใช้ และถ้าจะให้ดีต้องเหลือเก็บอย่างน้อย 10% ของรายได้ในแต่ละเดือน ถ้ามีไม่พอกิน หรือมีกินมีใช้แต่ไม่เหลือเก็บ หรือเหลือเก็บไม่ถึง 10% แบบนี้เรียกว่ายังไม่มีสภาพคล่อง อย่างนี้ต้องเร่งแก้ไขสภาพคล่องก่อน เพราะถ้ายังทำไม่ได้ ความมั่งคั่งก็ยังอยู่อีกไกล

คำที่สอง “ความมั่งคั่ง หรือ Wealth” คือสภาพคล่องที่สะสมในทรัพย์สินรูปแบบต่าง ๆ ความมั่งคั่งนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากการมีสภาพคล่องที่ดีอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ

ดังนั้นโจทย์แรกสำหรับคนที่อยากประสบความสำเร็จด้านการเงินคือ ต้องบริหารสภาพคล่องในแต่ละเดือนให้เป็นบวก ถ้าเดือนนี้เงินเหลือ เดือนหน้าเงินเหลือ กระแสเงินสดที่เหลือนี้จะสะสมมากพอให้คุณนำไปต่อยอดจนกลายเป็นความมั่งคั่งได้

ผู้เขียนได้ให้แนวทางการบริหารเงินให้มีสภาพคล่องไว้ 3 ข้อ ดังนี้ครับ

1. หักออมก่อนใช้จ่าย

เมื่อเงินเดือนเข้าบัญชีให้หักเงิน 10% เข้าบัญชีเงินออมก่อนเลย แต่สำหรับคนที่มีหนี้ต้องจ่ายเยอะ หรือมีภาระความรับผิดชอบเยอะ จะเริ่มหักสัก 5% ก่อนก็ได้ อาจจะดูน้อยไปสักนิด แต่พอเริ่มออมได้ต่อเนื่องก็จะรู้สึกดีต่อใจขึ้นมา รู้สึกว่ามันไม่ได้ยาก และอยากออมให้มากขึ้น


2. สะสมเศษเหรียญ

ทุกครั้งที่กลับบ้านผู้เขียนบอกว่าเขาจะเอาเหรียญในกระเป๋าสตางค์หยอดกระปุกออมสิน เงินแบบนี้ดูเหมือนจะไม่มาก แต่ถ้าเก็บทุกวัน ภายใน 2-3 เดือนเงินก็จะเต็มกระปุก หลายคนอาจต่อยอดแนวคิดนี้โดยการเก็บแบงก์ 50 บาท ถ้าได้มาแล้วจะไม่เอาไปใช้ สิ่งสำคัญของแนวคิดนี้คือ ขอให้เริ่มเก็บ จะวิธีไหนก็ดีทั้งนั้นครับ


3. จ่ายภาษีฟุ่มเฟือยให้ตัวเอง 10%

เวลาที่คุณจะใช้จ่ายไปกับสิ่งฟุ่มเฟือย ให้ตั้งกติกากับตัวเองว่า ต้องจ่ายเงินอีก 10% ของราคาของที่จะซื้อเข้าบัญชีเงินออม สมมุติว่าอยากกินกาแฟร้านหรู ราคาแก้วละ 200 บาท ก็ต้องหัก 20 บาทเข้าบัญชีเงินออมด้วย วิธีนี้ช่วยเตือนสติเวลาจะใช้จ่าย เพราะของฟุ่มเฟือยที่อยากได้จะมีราคาแพงขึ้นเล็กน้อย


เราได้รู้จัก 2 คำศัพท์ทางการเงินกันไปแล้ว นั่นคือ "สภาพคล่อง" และ "ความมั่งคั่ง" ต่อมาเรามารู้จักเครื่องมือที่ช่วยสะท้อนว่าการเงินของคุณเป็นอย่างไร เครื่องมือนั้นเรียกว่า "งบการเงินส่วนบุคคล" ซึ่งประกอบด้วย 2 งบการเงินย่อย ๆ คือ "งบรายรับ-รายจ่าย" และ "งบแสดงสถานะทางการเงิน"

งบรายรับ-รายจ่าย คือบันทึกเงินที่ไหลเข้าไหลออกของเรา ประกอบด้วยรายรับ, รายจ่าย, เงินออม และเงินคงเหลือ การบันทึกรายรับ-รายจ่าย ช่วยให้คุณเห็นว่าแต่ละเดือนคุณได้เงินจากช่องทางไหนบ้าง ใช้จ่ายไปกับอะไรบ้าง ออมไปเท่าไหร่ และท้ายเดือนเหลือเงินเท่าไหร่ หรือติดลบมากแค่ไหน

เงินคงเหลือในตอนท้ายเดือนนี้แหละที่บ่งบอกสภาพคล่องทางการเงินของคุณ ถ้าเงินคงเหลือไม่ติดลบก็ถือว่ามีสภาพคล่องทางการเงินที่ดี นอกจากนี้การบันทึกรายรับ-รายจ่ายยังช่วยให้คุณกลับมาทบทวนในตอนสิ้นเดือนได้ว่าใช้จ่ายได้สอดคล้อยกับที่ตั้งใจไว้ไหม มีรายจ่ายอะไรที่ไม่สำคัญ และสามารถตัดทิ้งในเดือนถัดไปได้ไหม

อีกงบหนึ่งคือ งบแสดงสถานะทางการเงิน โดยคำนวนจากทรัพย์สินทั้งหมดที่คุณมี ลบด้วยหนี้สินที่คุณติดค้างอยู่ทั้งหมด ถ้าคำนวนออกมาแล้วผลเป็นบวก ก็หมายความว่าสถานะทางการเงินของคุณอยู่ในเกณฑ์ที่ดี มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน แต่ถ้าคำนวนแล้วผลเป็นลบก็ต้องมาดูกันว่าหนี้ที่คุณติดค้างเป็นหนี้ดีหรือหนี้เสีย

งบแสดงสถานะทางการเงินควรจัดทำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อทบทวนสถานะทางการเงินของตัวเอง ตามหลักการบริหารเงินที่ดี ในแต่ละปีคนเราควรมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้น และหนี้สินลดลง หรือหากปีใดที่หนี้สินเพิ่มขึ้น ก็ควรมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกันเพื่อให้สอดคล้อง


ผู้เขียนบอกว่าเป้าหมายแรกของการออม ควรออมเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินให้ได้ก่อน ยังไม่ต้องคิดถึงการออมเพื่อนำเงินไปลงทุน เงินสำรองเผื่อฉุกเฉินมีไว้สำหรับปกป้องสภาพคล่อง เผื่ออนาคตที่ไม่แน่นอน เช่น ตกงานกระทันหัน หรือเจ็บป่วยเข้าโรงพยาบาล เงินสำรองเผื่อฉุกเฉินที่เหมาะสมคือ จำนวน 6 เท่าของรายจ่ายต่อเดือน

ถ้าคุณบันทึกรายรับรายจ่ายก็ง่ายเลย แค่หยิบตัวเลขรายจ่ายต่อเดือนมาคูณด้วย 6 ก็จะได้จำนวนเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินที่คุณต้องเก็บให้ถึง ถ้าใครมีเงินออมอยู่ก่อนหน้าแล้ว แต่ไม่เคยกันไว้สำหรับเป็นเงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน อันนี้ก็ง่ายเลย แค่กันเงินออกมาตามตัวเลขที่คำนวนได้ก็เป็นอันจบ

แต่ถ้ายังไม่เคยเก็บเงินเลย หรือมีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินไม่ถึง 6 เท่าของรายจ่ายต่อเดือน ให้หัก 10% จากรายได้ในแต่ละเดือนมาเป็นเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินไปก่อน และในระหว่างปีหากมีเงินก้อนเข้ามา เช่น เงินโบนัส ก็สามารถนำเข้ามาเติมลงเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินนี้ได้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายได้เร็วขึ้น

หลักสำคัญในการมีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินคือ เงินก้อนนี้ต้องพร้อมจ่ายสำหรับเหตุฉุกเฉินที่เข้ามาในชีวิตทันที ดังนั้นการเก็บเงินก้อนนี้ไว้ในรูปแบบทองคำ, หุ้น หรือกองทุนรวมควรลืมไปได้เลย เพราะแปลงกลับมาเป็นเงินสดยุ่งยาก อาจไม่ทันการณ์เมื่อมีเหตุฉุกเฉินต้องใช้เงินสดทันที

ที่น่าจะเหมาะสำหรับใช้เก็บเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินคือ

1. เงินฝาก จะออมทรัพย์หรือประจำก็ได้ รวมถึงเงินฝากสหกรณ์ออมทรัพย์ เพราะถอนได้ตลอดเวลา เงินต้นไม่หาย

2. กองทุนรวมตลาดหุ้นหรือกองทุนตราสารหนี้ พวกนี้สภาพคล่องใช้ได้ ถอนวันนี้พรุ่งนี้ได้เงิน และความเสี่ยงที่มูลค่าเงินจะลดลงก็ต่ำมาก เป็นช่องทางหนึ่งที่น่าสนใจ

3. สลากออมสิน เหมาะกับคนที่อยากเก็บออม และลุ้นโชคไปด้วย

ถึงตรงนี้หลายคนอาจห่วงว่ากว่าจะเก็บเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินได้ครบก็เสียโอกาสในการลงทุนเพื่อสร้างผลกำไร ผู้เขียนบอกว่าโอกาสในการลงทุนนั้นมีอยู่เสมอ ถ้าอยากลงทุนจริง ๆ ระหว่างเก็บเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินอยู่ ก็ให้แบ่งเวลาไปศึกษาหาความรู้เรื่องการลงทุน หรือจะเก็บเงินเพิ่มอีกก้อนสำหรับนำไปลงทุน ควบคู่กับเก็บเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินไปด้วยก็ได้ครับ


หลายคนน่าจะเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า "การไม่มีหนี้เป็นลาภอันประเสริฐ" แต่ผู้เขียนบอกว่าคำกล่าวนี้ก็ไม่ถูกต้องเสียทีเดียว เพราะไม่ใช่หนี้ทุกประเภทที่จะนำความจน และความทุกข์มาให้ โลกนี้ยังมีหนี้บางประเภทที่มีแล้วทำให้รวยขึ้น และมีความสุขมากขึ้นได้ด้วย ในทางการเงินสามารถแบ่งหนี้ออกได้ 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ "หนี้จน" และ "หนี้รวย" ครับ

หนี้จน หมายถึงหนี้ที่ก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายเพิ่ม ยิ่งมีมากยิ่งจนมาก ซึ่งก็แบ่งแยกย่อยได้อีก 2 กลุ่มคือ

1. หนี้บริโภค หมายถึงหนี้ที่เกิดจากการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ใช้จ่ายแล้วหมดไป ไม่ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่ม มักเป็นหนี้ที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน เช่น หนี้บัตรเครดิต, บัตรกดเงินสด, สินเชื่อส่วนบุคคล, หนี้ผ่อนสินค้า และหนี้นอกระบบ หนี้เหล่านี้สร้างภาระทางการเงินหนักมาก เพราะคิดดอกเบี้ยแพง

2. หนี้เพื่อการประกอบอาชีพ และปัจจัยพื้นฐาน หมายถึงหนี้ที่ก่อประโยชน์ในการประกอบอาชีพ และเป็นปัจจัยพื้นฐานตามความจำเป็นของแต่ละบุคคล เช่น หนี้บ้าน, หนี้รถ, หนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หนี้เหล่านี้เป็นหนี้จนที่ยอมรับได้ เพราะเป็นหนี้สำหรับสิ่งจำเป็น โดยต้องระวังไม่ให้หนี้กลุ่มนี้กระทบสภาพคล่อง


พูดเรื่องหนี้จนไปแล้ว มาพูดถึงอีกหนี้คือ หนี้รวย ซึ่งหมายถึงหนี้ที่สร้างรายได้เพิ่ม เป็นลักษณะของการกู้ยืมเงินเพื่อนำไปลงทุนในทรัพย์สินที่สร้างกระแสเงินสด ตัวอย่างเช่น หนี้กู้ซื้อบ้านสำหรับนำมาปล่อยเช่าซึ่งมีภาระผ่อนกับธนาคารอยู่ที่ 12,500 ต่อเดือน แต่บ้านหลังนั้นเก็บค่าเช่าจากคนที่มาเช่าได้ 22,000 บาทต่อเดือน เมื่อนำค่าเช่าที่เก็บได้มาหักค่างวดที่ผ่อนให้ธนาคาร จะมีกระแสเงินสดเข้ากระเป๋า 9,500 บาท ดังนั้นหนี้กู้ซื้อบ้านหลังนี้จึงเป็นหนี้รวยนั่นเองครับ

แต่การสร้างทรัพย์สินที่ให้กระแสเงินสดโดยใช้หนี้รวยนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะหากหาผู้เช่าไม่ได้ หรือเก็บค่าเช่าได้น้อยกว่าค่างวดที่ต้องผ่อนให้ธนาคาร บ้านหลังเดียวกันจากทรัพย์สินจะกลายเป็นหนี้สินที่สร้างภาระทางการเงิน จากทีแรกที่คิดว่ากำลังสร้างหนี้รวยก็กลายเป็นสร้างหนี้จนไปแทนครับ

ถึงตรงนี้คุณรู้แล้วว่าการมีหนี้รวยย่อมดีกว่าการมีหนี้จน ถ้างั้นทำไมคนส่วนใหญ่ถึงมีหนี้จนกันเยอะ ผู้เขียนสรุปจากประสบการณ์การให้คำปรึกษาคนมามากมาย พบว่าสาเหตุของการก่อหนี้จนของคนส่วนใหญ่มี 3 สาเหตุดังนี้


1. ใช้จ่ายเกินตัว

ผู้เขียนใช้คำว่าใช้จ่ายเกินตัว ไม่ใช่คำว่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ชีวิตคนเราใช้จ่ายฟุ่มเฟือยได้บ้างตามสมควร เพื่อเป็นการเติมเต็มความสุขให้ตัวเอง แต่การใช้จ่ายเกินตัวหมายถึง การใช้จ่ายในสภาวะที่ตัวเองไม่พร้อม ฟุ่มเฟือยในสิ่งที่ตัวเองไม่สามารถจ่ายได้ ใช้ชีวิตแบบจ่ายทีหลัง ผ่อนทุกอย่างที่ผ่อนได้ สร้างรายจ่ายจนเกินรายรับของตัวเอง


2. อุปถัมภ์เกินกำลัง

มีบางคนที่ต้องทำงานตัวคนเดียว หากเงินดูแลทั้งครอบครัว ส่งเงินให้พ่อแม่ ส่งน้องเรียน บางคนหนักถึงขั้นส่งเงินเลี้ยงหลาน ๆ ซึ่งเป็นลูกของพี่หรือน้องที่เอาลูกไปทิ้งให้พ่อแม่เลี้ยงแล้วไม่ยอมส่งเสีย แม้การช่วยเหลือคนในครอบครัวจะเป็นเรื่องดี และควรทำ แต่หากทำแล้วเกินกำลังจนต้องกู้หนี้ยืมสิน สุดท้ายแล้วจะทุกข์หนัก อีกประเด็นคือคนที่เอาแต่คอยรับเงินจะติดนิสัย ไม่ยอมหยิบจับทำงานอะไร เอาแต่รอคอยให้คุณยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือ


3. ลงทุนผิดพลาด

ผู้เขียนพบว่าช่วงหลังมีคนเป็นหนี้เพราะสาเหตุนี้มากขึ้น เพราะกระแสคลั่งความสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อย ทำให้หลายคนอยากหาช่องทางสร้างรายได้เพิ่ม หรือทำเงินให้งอกเงย แต่ด้วยความรู้ความสามารถด้านการลงทุนยังไม่มากพอ ทำให้หลายคนพลาด ไปจนถึงถูกมิจฉาชีพหลอกให้ลงทุน

ผู้เขียนสรุปเกี่ยวกับเรื่องหนี้ว่า อยากให้มองว่าหนี้หรือสินเชื่อเป็นแค่เครื่องมือทางการเงินรูปแบบหนึ่ง อยู่ที่ว่าเราจะใช้มันกับชีวิตเรายังไง หลังจากฟัง podcast นี้จบ คุณลองทบทวนดูหน่อยว่าหนี้ที่คุณมีเป็นหนี้จนหรือหนี้รวย


ในชีวิตจริงใช่ว่าทุกอย่างจะง่ายอย่างใจนึก แค่เหลือเงินเก็บสะสมไปเรื่อย ๆ ก็ถึงเป้าหมายความมั่งคั่ง แต่ระหว่างทางอาจมีเรื่องราวร้อยแปดที่กระทบความมั่งคั่งของเรา เช่น ตกงาน, เจ็บป่วย, ประสบอุบัติเหตุ หรืออาจเสียชีวิต เนื้อหาต่อไปในหนังสือพูดถึงการจัดการความเสี่ยงซึ่งมีแนวทางอยู่ 2 แบบ คือการป้องกัน และการวางแผนรับมือ

การป้องกันความเสี่ยงเน้นไปที่การหลีกเลี่ยง และลดโอกาสในการเกิดปัญหา หากไม่อยากเจ็บป่วยก็ต้องนอนพักผ่อนให้เพียงพอ, กินอาหารที่มีประโยชน์ และออกกำลังกาย หรือถ้าไม่อยากประสบอุบัติเหตุบนท้องถนนก็ต้องขับขี่อย่างระมัดระวัง รักษากฏจราจร หรือเมาไม่ขับเป็นต้น

ส่วนการวางแผนรับมือกับความเสี่ยง คือการเตรียมเครื่องมือทางการเงินให้พร้อม โดยมีแนวทางการรับมือกับความเสี่ยง 2 ทางคือ รับความเสี่ยงไว้เอง และการทำประกัน

การรับความเสี่ยงไว้เอง คือการประเมินผลกระทบไว้แล้วว่าถ้ามีอะไรเกิดขึ้น ตัวเองจะสามารถรับมือได้ไหว เช่น คุณอาจจะไม่เลือกทำประกันสุขภาพ แต่เตรียมเงินไว้แล้ว สำหรับจ่ายค่ารักษาพยาบาล หากเกิดเจ็บป่วยขึ้นมา

อีกแนวทางคือการทำประกัน ซึ่งแยกย่อยออกไปมากมาย ไม่ว่าจะเป็นประกันชีวิต, ประกันสุขภาพ, ประกันโรคร้ายแรง และประกันอุบัติเหตุ การซื้อประกันเป็นการนำเงินก้อนเล็กรักษาเงินก้อนใหญ่ จ่ายค่าเบี้ยในจำนวนไม่มาก เพื่อไม่ต้องจ่ายเงินก้อนใหญ่ หากต้องเข้าโรงพยาบาล


เมื่อการเงินของเราเริ่มเข้าที่เข้าทาง สภาพคล่องดี มีกิน มีใช้ มีเหลือเก็บสะสม มีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน และมีการจัดการกับความเสี่ยงทางการเงินไว้เรียบร้อยแล้ว ก็ถึงเวลาที่คุณต้องมาพิจารณาถึงการบริหารเงินเพื่อความมั่งคั่งแล้ว ผู้เขียนบอกว่าตัวเขาแบ่งเป้าหมายความมั่งคั่งออกเป็น 2 แบบคือ เกษียณเร็ว และเกษียณรวย

เกษียณเร็ว หมายถึงการสร้างทรัพย์สินเพื่อให้มีกระแสเงินสด หรือ passive income เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และมีอิสระทางการเงินก่อนถึงวัยเกษียณจากการทำงาน พูดอีกอย่างได้ว่าเป็นการเกษียณก่อนอายุ 60 ปีนั่นเอง

เกษียณรวย หมายถึงการทยอยออม และลงทุนระยะยาว เพื่อสะสมเงินไว้ให้เพียงพอสำหรับใช้จ่ายหลังเกษียณ ซึ่งเป็นช่วงที่หลายคนอยากพักผ่อน อยากหยุดทำงาน พูดอีกอย่างได้ว่ามีเงินใช้หลังเกษียณแม้ไม่ได้ทำงาน


ถ้าคุณอยากเกษียณเร็ว คุณต้องมีรายได้หลายทาง หารายได้เสริมควบคู่ไปกับรายได้ปัจจุบัน เน้นไปที่การพัฒนาทุนทางปัญญา เช่น ความรู้, ทักษะ, งานอดิเรก, ประสบการณ์, สายสัมพันธ์ หรือ connection และไอเดียให้เกิดเป็นคุณค่าที่สร้างรายได้ทางที่ 2 และ 3

นอกจากนี้ต้องนำเงินที่หามาได้ไปลงทุนเพื่อสร้างกระแสเงินสด หรือ passive income อาจจะเป็นการซื้อพันธบัตรกินดอกเบี้ย หรือซื้อหุ้นหรือกองทุนเพื่อกินเงินปันผล, ซื้ออสังหาริมทรัพย์มาปล่อยเช่า, สร้างธุรกิจขึ้นมาสักอย่าง แล้ววางระบบให้คนอื่นมาทำงานแทน จากนั้นเก็บกำไร, สร้างงานที่เป็นลิขสิทธิ์ เช่น งานเขียน, งานเพลง, วิดีโอบนยูทูป แล้วเก็บส่วนแบ่งจากค่าลิขสิทธิ์

ดอกเบี้ย, เงินปันผล, ค่าเช่า, กำไร และค่าลิขสิทธิ์ คือเงินสดที่ทรัพย์สินของเราหามาให้เราใช้ตลอดไป ตราบเท่าที่เรายังถือครองมันอยู่ ฟังแล้วอาจดูเหมือนไม่มีอะไรอยาก แต่ใช่ว่าจะสามารถทำได้ทุกคน


สำหรับการเกษียณรวยจะเน้นไปที่การทยอยสะสมความมั่งคั่งทีละเล็กละน้อย ลงทุนในเครื่องมือการเงินที่ไม่ซับซ้อน ไม่ต้องบริหารจัดการมากนัก เน้นวินัยในการออม และลงทุนอย่างสม่ำเสมอ พึ่งพาของผลตอบแทนแบบทบต้น ช่วยพาให้เงินสะสมของเราไปให้ถึงเป้าหมาย

ตัวอย่างเช่น นาย A อายุ 30 ปี ตั้งใจเก็บเงินทุกเดือน เดือนละ 1,000 บาท แล้วนำไปลงทุนในกองทุนที่ให้ผลตอบแทนแบบทบต้นเฉลี่ย 10% ต่อปี สะสมแบบนี้ไปเรื่อย ๆ เป็นเวลา 30 ปี ในตอนอายุ 60 ปี นาย A จะมีเงินเก็บสะสมทั้งสิ้น 2,260,488 บาท

ความเชื่อที่ว่าการเก็บเงินเกษียณเป็นเรื่องของคนใกล้เกษียณนั้นเป็นความคิดที่ผิด และเสี่ยงมาก เพราะถ้าคิดจะเก็บเงินช่วง 10 ปีสุดท้ายของการทำงาน เพื่อหวังให้ได้เงินจำนวน 2,260,488 บาท คุณต้องเก็บเงินเฉลี่ยตกเดือนละ 10,000 บาท เลยทีเดียว มากกว่ากันถึง 10 เท่า แถมระยะเวลาการลงทุนที่ไม่ยาว อาจเกิดความผันผวน ทำให้เงินเกษียณของคุณไปไม่ถึงเป้าหมาย

ดังนั้นการวางแผนเกษียณรวยที่ถูกต้อง และปลอดภัยคือ ควรวางแผนตั้งแต่วันแรกที่เริ่มทำงาน ช่องทางการสะสมเงินเกษียณแบบมีเงินสมทบก็อย่างเช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพสำหรับคนทำงานเป็นพนักงานบริษัท หรือกองทุนบำเหน็จบำนาญสำหรับคนเป็นข้าราชการ หรือจะเริ่มศึกษาการลงทุนเองผ่านกองทุนรวมก็เป็นอีกทางเลือกครับ


ทั้งหมดนี้คือพื้นฐานทางการเงินในหนังสือ "Money 101 เริ่มต้นนับหนึ่งสู่ชีวิตการเงินอุดมสุข" เขียนโดยโค้ชหนุ่ม จักรพงษ์ เมษพันธุ์ หนังสือสำหรับสร้างพื้นฐานความรู้ความเข้าใจด้านการเงิน เหมาะสำหรับผู้เริ่มต้น ผมแนะนำให้เพื่อน ๆ ลองหามาอ่านดูครับ เนื้อหาส่วนไหนที่อ่านแล้วเพื่อน ๆ สนใจเป็นพิเศษก็สามารถไปศึกษาต่อยอดเพิ่มเติมได้