วิธีคิดของคนค่าตัวแพง - เทคนิคเลือกงานที่ใช่ของคนเก่งที่อยากเปลี่ยนงานเมื่อไหร่ก็ได้

วิธีคิดของคนค่าตัวแพง - เทคนิคเลือกงานที่ใช่ของคนเก่งที่อยากเปลี่ยนงานเมื่อไหร่ก็ได้

งานที่คุณทำอยู่ตอนนี้ใช่งานที่ทำให้อยากลืมตาตื่นขึ้นมาทุกเช้าหรือเปล่า? คนทำงานบางคนยังต้องใช้ชีวิตอยู่กับความกลัวและไม่มั่นคงตลอดชีวิต เพราะไม่กล้าเปลี่ยนงาน กลัวว่าไปที่ใหม่แล้วจะแย่กว่าเดิม ยุคนี้แนวคิดการทำงานที่เดียวที่เดิมไปตลอดชีวิตกลายเป็นสิ่งที่ใช้ไม่ได้อีกต่อไป เมื่อบริษัทปัจจุบันไม่สามารถเป็นที่พึ่งพาได้อีกต่อไป อาวุธที่ควรมีติดตัวไว้คือ "วิธีคิดในการเปลี่ยนงาน"

ไอติมอ่าน ep นี้จะมาสรุปเนื้อหาจากในหนังสือ "วิธีคิดของคนค่าตัวแพง" เขียนโดย คิตาโนะ ยุยหงะ ผู้เชี่ยวชาญที่ให้คำปรึกษาด้านธุรกิจ ในหนังสือเล่มนี้ผู้เขียนจะมาบอกข้อแตกต่างระหว่าง "คนที่อยากเปลี่ยนงานแต่ทำไม่ได้" กับ "คนที่อยากเปลี่ยนงานเมื่อไหร่ก็ทำได้ทันที" พร้อมบอกเทคนิคว่าต้องทำยังไงเราถึงจะมีกินมีใช้ไปตลอดชีวิต

ในหนังสือพูดถึง 4 ขั้นตอนที่จะรับรองการมีกินมีใช้ไปตลอดชีวิต ซึ่งได้แก่

  1. ประเมินมูลค่าตลาดของตัวเอง
  2. รู้อายุขัยของงานปัจจุบันที่ทำอยู่
  3. เบนเข็มไปยังตลาดที่เติบโต ก่อนจุดแข็งของคุณจะหมดอายุ
  4. มองให้ออกว่าบริษัทไหนดีที่สุดในตลาดที่เติบโต

เริ่มกันที่ขั้นตอนแรก "ประเมินมูลค่าตลาดของตัวเอง" ผู้เขียนอธิบายว่าเงินเดือนที่คุณได้รับเป็นเพราะคุณขายตัวเองเป็นสินค้าให้บริษัท การจ้างงานคือธุรกรรมอย่างหนึ่ง การจะเข้าใจมูลค่าตลาดได้ คุณต้องมองตัวเองเป็นสินค้าก่อน สำหรับคนที่มีมูลค่าตลาดอยู่ในระดับสูงจะได้รับอิสระในการนึกอยากเปลี่ยนงานตอนไหนก็ทำได้ และได้ทำงานที่ตัวเองอยากทำ

การวัดมูลค่าตลาดของตัวเองสามารถทำได้โดยให้คุณจินตนาการถึงกล่องที่มีด้านกว้างxยาวxสูง แล้วให้คุณเปลี่ยนด้านกว้าง, ยาว, สูง เป็นสินทรัพย์ด้านทักษะxสินทรัพย์ด้านคนxผลิตภาพของสายงาน หากกล่องในจินตนาการนี้ยิ่งใบใหญ่ แสดงว่ามูลค่าตลาดของคุณสูง

แล้วสินทรัพย์ด้านทักษะ, สินทรัพย์ด้านคน และผลิตภาพของสายงานหมายความว่าอะไร ผู้เขียนอธิบายว่า "สินทรัพย์ด้านทักษะ" คือ ทักษะความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงาน ยิ่งคุณมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านใดด้านหนึ่งเป็นพิเศษ หรือมีประสบการณ์ในการทำงานเกี่ยวกับด้านนั้นมาอย่างยาวนาน แสดงว่าคุณมีสินทรัพย์ด้านทักษะในระดับสูง

"สินทรัพย์ด้านคน" คือ คอนเน็คชัน ไม่ว่าสายงานไหนก็ล้วนมีคนที่ได้งานจากการถูกคนอื่นแนะนำให้ คนที่เข้าได้กับทุกคนและเป็นคนที่น่าเอ็นดู มักได้เปรียบในเรื่องนี้ ไม่ว่าเขาจะไปทำงานที่ไหนก็พร้อมมีคนคอยช่วยเหลือเขาอยู่เสมอ ผู้เขียนบอกว่าสินทรัพย์ด้านคนจะเพิ่มขึ้นตามอายุ เพราะยิ่งทำงานเราก็จะยิ่งรู้จักคนมากขึ้น สะสมมากขึ้นไปเรื่อย ๆ

ปัจจัยสุดท้าย "ผลิตภาพของสายงาน" คือ คนในสายงานนั้นสร้างผลกำไรต่อคนได้มากเท่าไหร่ แต่ละอุตสาหกรรมสร้างผลกำไรได้ไม่เท่ากัน ตัวอย่างเช่น คนที่ทำงานในสายการเงินอาจได้เงินเดือน 200,000 บาท ในขณะที่คนทำงานสายออร์แกไนซ์อาจได้เงินเดือน 20,000 บาท ซึ่งต่างกัน 10 เท่า แต่แน่นอนว่าในอุตสาหกรรมที่ทำกำไรได้สูง ไม่ว่าใครก็อยากเข้าไปทำงาน จึงมีการแข่งขันกันสูง

หากคุณมีทั้ง 3 ปัจจัยซึ่งได้แก่ สินทรัพย์ด้านทักษะ, สินทรัพย์ด้านคน และผลิตภาพของสายงาน ทั้งหมดนี้อยู่ในระดับสูง ก็หมายความว่าคุณมีมูลค่าตลาดสูง สามารถตั้งระดับเงินเดือนที่คาดหวังเอาไว้สูง ๆ ได้นั่นเองครับ


ขั้นตอนที่ 2 รู้อายุขัยของงานปัจจุบัน

ผู้เขียนบอกว่างานเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นและหายไปตามยุคสมัย อาชีพโปรแกรมเมอร์เมื่อ 100 ปีก่อนยังไม่มี หรือบริษัทเอเจนซีโฆษณาเกิดขึ้นตอนที่ยุคสื่อสิ่งพิมพ์เฟื่องฟู พอหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารทะยอยกันปิดตัว บริษัทเอเจนซีโฆษณาก็เริ่มปิดตัวตามไปด้วย ที่ยังเหลืออยู่ก็ปรับตัวกันขนานใหญ่ งานทุกงานเกิดขึ้นและหายไปเป็นวัฎจักรดังนี้

  1. งานเฉพาะกลุ่ม
  2. งานในกระแส
  3. งานทั่วไป
  4. งานหายไป

วัฎจักรอายุขัยของงานเริ่มต้นจาก "งานเฉพาะกลุ่ม" ซึ่งเป็นงานที่มีคนทำน้อย เลยหาใครมาแทนที่ไม่ได้ บริษัทจึงยอมจ่ายค่าตอบแทนสูง เพราะต้องการแย่งให้คนมาทำงานให้ แต่พอมีคนอื่นรู้ว่างานเฉพาะกลุ่มนี้รายได้ดีก็จะกระโจนเข้ามาทำงานนี้เยอะขึ้น งานเฉพาะกลุ่มจึงเปลี่ยนไปเป็น "งานในกระแส" กลายเป็นงานที่ใคร ๆ ก็ทำได้ บริษัทก็มีการปรับตัวโดยลดค่าจ้างลง เพราะหาคนมาทำแทนได้ง่ายขึ้น

พอคนเข้ามาในสายงานนั้นจนล้น งานในกระแสก็จะถูกลดความสำคัญลงจนกลายเป็น "งานทั่วไป" เมื่อบริษัทมีตัวเลือกมากขึ้น คนอยากทำงานล้นตลาดก็ไม่จำเป็นต้องให้ค่าจ้างสูงเพื่อจูงใจพนักงานอีกแล้ว และในบางครั้งเทคโนโลยีอาจพัฒนาจนงานเหล่านั้นอาจใช้เครื่องจักรทำแทนมนุษย์ได้ สุดท้ายงานจะเข้าสู่สถานะ "งานหายไป" ตัวอย่างเช่น งานขนของและจัดสต็อกในโกดัง ที่ปัจจุบันใช้หุ่นยนต์หรือเครื่องจักรมาทำแทนแล้ว การทำงานยังมีอยู่ แต่ส่วนที่ต้องใช้คนทำหายไป

ดังนั้นคุณควรรู้ว่างานปัจจุบันของคุณอยู่ตำแหน่งไหนในวัฎจักร สินทรัพย์ด้านทักษะที่คุณมีอยู่จะหมดอายุเมื่อไหร่ เมื่อคุณสามารถวิเคราะห์วัฎจักรอายุขัยของงานได้ คุณก็จะมองออกว่างานในอุตสาหกรรมไหนกำลังรุ่ง และสายงานนั้นต้องอาศัยทักษะอะไรที่คุณต้องไปเรียนรู้เพิ่มเติม


ขั้นตอนที่ 3 เบนเข็มไปยังตลาดที่เติบโตก่อนจุดแข็งของคุณจะหมดอายุ

ผู้เขียนบอกว่าสิ่งที่ไม่ควรทำเด็ดขาดในการเปลี่ยนงานคือ "การเลือกเข้าบริษัทที่ขายสินค้าและบริการเดิม ๆ แบบ 10 ปีก่อนให้กับลูกค้ากลุ่มเดิม ๆ" เพราะท่ามกลางโลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่ทุกวัน สินค้าแบบเดิมเมื่อ 10 ปีที่แล้วมีความเป็นไปได้ว่าตลาดกำลังอิ่มตัวแล้ว ถ้าคุณเลือกกระโดดเข้าไปทำก็เป็นได้แค่คนที่หาใครมาทำแทนก็ได้ คุณจะกลายเป็นสินค้าราคาตก เพราะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีรุ่นพี่ที่ทำงานนี้มาก่อนคุณแล้ว คุณจะเสียเปรียบด้านประสบการณ์

สิ่งที่คุณควรทำคือ "เล็งทิศทางไปยังบริษัทสตาร์ตอัป" ซึ่งบริษัทเหล่านี้มีแนวทางที่ชัดเจนคือตามกระแสโลก แม้บริษัทสตาร์ตอัปจะสู้บริษัทใหญ่ไม่ได้ในเรื่องเงินทุนหรือจำนวนคน แต่พวกเขาใช้วิธีสู้ด้วยการไหลไปกับกระแสโลก ในตลาดที่กำลังเติบโต มีบริษัทสตาร์ตอัปหลายแห่งที่กลายมาเป็นคู่แข่งสำคัญของบริษัทใหญ่

วิธีหาข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทเหล่านี้ คุณสามารถเสิร์ชหาโดยใช้คำว่า "สตาร์ตอัปสาย..." แล้วแต่ว่าคุณสนใจเบนเข็มไปทางสายงานไหน หรือจะค้นหาตามเว็บไซต์หางานก็ได้ จากนั้นให้คุณรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทต่าง ๆ ในสายงานเหล่านั้น แล้วดูว่าบริษัทไหนได้รับการระดมทุนมามาก หากบริษัทไหนมีเงินไหลเข้ามาเยอะ แสดงว่ากำลังอยู่ในตลาดที่กำลังเติบโต


ขั้นตอนที่ 4 วิธีมองให้ออกว่าบริษัทไหนเหมาะแก่การย้ายไปทำงาน

ผู้เขียนได้ให้ถามคำถาม 3 ข้อ สำหรับใช้ในการเลือกบริษัทสตาร์ตอัปดี ๆ เอาไว้ดังนี้

  1. คู่แข่งคือใคร
  2. ทีมงานปัจจุบันเก่งไหม
  3. ถูกประเมินต่ำกว่าบริษัทอื่นในสายงานเดียวกันไหม

อย่างแรกที่คุณควรรู้เกี่ยวกับบริษัทที่จะไปทำงานด้วยคือ "คู่แข่งของเขาคือใคร?" แล้วคู่แข่งเติบโตเหมือนกันไหม ในตลาดที่กำลังเติบโต จะมีบริษัทสตาร์ตอัปหลายแห่งเข้าสู่ตลาดเพื่อคว้าโอกาสเติบโต แต่ละบริษัทจึงมีการเติบโตในระดับเดียวกันซึ่งถือว่าเป็นแนวโน้มที่ดีว่าจะเป็นบริษัทที่น่าเข้าไปทำงานด้วย

ในอีกด้านหากบริษัทที่คุณเล็งไม่ค่อยมีคู่แข่ง หรือเริ่มไม่มีการเติบโตก็เป็นไปได้ว่าตลาดนั้นกำลังอิ่มตัว บริษัทที่เหลืออยู่ก็จะต่อสู้เพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งเค้กที่เหลืออยู่น้อยนิด

คำแนะนำข้อที่สองคือ "ให้ดูความสามารถของทีมปัจจุบัน" ตอนสัมภาษณ์หากคุณถามว่าพนักงานที่นี่เก่งกันไหม อีกฝ่ายต้องตอบว่าคนของตัวเองเก่งอยู่แล้ว ผู้เขียนจึงแนะนำให้ขอพบกับคนในแผนกที่จะทำงานด้วยในอนาคต ดูว่าพวกเขามีความมุ่งมั่น มั่นใจ และดูเป็นคนมีความสามารถไหม

คำแนะนำข้อที่สามคือ "บริษัทที่คุณเล็งถูกประเมินต่ำกว่าบริษัทอื่นในสายงานเดียวกันไหม?" คุณลองค้นหาข้อมูลดูว่าคนในอินเตอร์เน็ตพูดถึงบริษัทนั้นว่ายังไง เทียบกับบริษัทคู่แข่งเจ้าอื่น ๆ ว่าบริษัทไหนมีรีวิวเชิงบวกเชิงลบมากกว่ากัน


สำหรับคนที่รู้สึกว่าตัวเองอยู่กับที่ ไม่ก้าวหน้าไปไหนกับที่ทำงานที่เดิม แต่ก็ไม่กล้าเปลี่ยนงานเพราะคิดว่าตัวเองไม่เก่งหรือไม่รู้ว่าจริง ๆ แล้วตัวเองอยากทำอะไร ผู้เขียนได้ให้คำแนะนำว่าคนเราไม่จำเป็นต้องมี "สิ่งที่อยากทำจริง ๆ" เสมอไป แต่ทุกคนต่างมี "สิ่งที่พอจะอยากทำ" ด้วยกันทั้งนั้น ลองหาสิ่งที่คุณพอจะอยากทำด้วยเคล็ดลับ 2 ข้อนี้ดูครับ

  1. หาสิ่งที่คนอื่นบอกว่าคุณเก่งในเรื่องนั้น แม้คุณจะรู้สึกเฉย ๆ
  2. หาสิ่งที่ทำแล้วไม่รู้สึกเครียด


แน่นอนว่าการจะเปลี่ยนงานสักครั้งย่อมทำให้รู้สึกเครียด หลายคนอาจกังวลหรือกลัวว่าตัวเองจะเลือกผิดทาง ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ไม่อาจรู้ล่วงหน้าได้ แต่สิ่งที่จะพาไปสู่ความผิดพลาดคือการไม่ยอมตัดสินใจในเวลาที่ต้องตัดสินใจแล้วต่างหาก

และนี่คือเนื้อหาโดยสรุปจากหนังสือ "วิธีคิดของคนค่าตัวแพง" เอาจริงแล้วเนื้อหาในหนังสือมีน้อยมาก ผู้เขียนไม่ได้เขียนหนังสือเล่มนี้แบบหนังสือ how to ทั่วไป แต่เขียนแบบนิยายที่มีตัวละครดำเนินเนื้อเรื่อง มีสถานการณ์สมมุติ พร้อมกับแทรกแก่นของเนื้อหาเข้าไปในเรื่อง

ถ้าจะสรุปแก่นของเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ออกมา ก็น่าจะได้ประมาณที่ผมเอามาเล่าให้เพื่อน ๆ ฟังใน ep นี้ ถ้าเพื่อน ๆ คนไหนอยากหามาอ่านเพิ่มเติมก็สามารถหาซื้อหนังสือเล่มนี้มาอ่านได้ตามร้านหนังสือ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์อมรินทร์ฮาวทู ราคา 275 บาทครับ