ประชาธิปไตยมีดีอะไร? - ทำความเข้าใจประชาธิปไตยและการเมืองขั้นพื้นฐาน

ประชาธิปไตยมีดีอะไร? - ทำความเข้าใจประชาธิปไตยและการเมืองขั้นพื้นฐาน

ประชาธิปไตยคืออะไร? ทำไมปัญหารถติดของกรุงเทพฯ แก้ไม่ได้สักที? เราควรดีใจไหมถ้าทุกคนในประเทศได้เงินเดือนเท่ากัน? เราควรรักชาติไหม? ไอติมเล่า ep นี้จะพาเพื่อน ๆ มาหาคำตอบของคำถามเหล่านี้ครับ

นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2475 ที่ประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย นับจนถึงวันนี้ก็เป็นเวลา 90 กว่าปีแล้ว แต่พวกเราเข้าใจความหมายของคำว่าประชาธิปไตยกันดีมากแค่ไหน ไอติมเล่า ep นี้จะพาเพื่อน ๆ มาเข้าใจประชาธิปไตยในหลาย ๆ มิติ จากหนังสือ "Why so Democracy ประชาธิปไตยมีดีอะไร?" เขียนโดย คุณไอติม พริษฐ์ วัชรสินธุ ที่ปัจจุบันเป็น ส.ส. พรรคก้าวไกล


ประชาธิปไตยคืออะไร?

มาเริ่มกันที่ความหมายของคำว่าประชาธิปไตย ความหมายที่ได้ยินบ่อยที่สุดของคำนี้คือ ประชาธิปไตยเป็นกระบวนการตัดสินใจที่ทุกคนมีสิทธิมีเสียงเท่ากัน หรือมักได้ยินต่างชาติเรียกว่า one person one vote เลยเป็นเหตุผลว่าทำไมประชาธิปไตยกับการเลือกตั้งถึงอยู่คู่กันตลอด เพราะการเลือกตั้งเป็นวิธีที่เราใช้ในการนับเสียง เพื่อดูว่าบุคลากร, กฎหมาย หรือนโยบายไหนได้รับเสียงสนับสนุนมากกว่ากันจากเสียงข้างมาก

ไม่ว่าผลเลือกตั้งจะออกมาเป็นยังไง หลายคนมักมองว่าคำตอบที่ได้มาล้วนมีความเป็นประชาธิปไตย เพราะผ่านกระบวนการเลือกตั้งเรียบร้อยแล้ว แต่ผู้เขียนลองชวนให้เราคิดว่า ถ้าวันหนึ่งประเทศของเราจัดเลือกตั้งเพื่อโหวตว่า ประเทศเราควรเปลี่ยนการปกครองจากระบอบประชาธิปไตยมาเป็นระบอบเผด็จการ โดยไม่มีการเลือกตั้งอีกต่อไปไหม แล้วถ้าสมมุติว่าผลเลือกตั้งออกมาว่า คนในประเทศ 90% โหวตเห็นด้วยให้เปลี่ยนมาเป็นระบอบเผด็จการ คำตอบที่ได้นี้ยังมีความเป็นประชาธิปไตยอยู่หรือไม่?

หากเรามองในมุมที่ว่า ถ้าอะไรก็ตามที่ผ่านการเลือกตั้งมาแล้ว ล้วนมีความเป็นประชาธิปไตยโดยอัตโนมัติ คำตอบที่ได้ย่อมเป็นประชาธิปไตย แต่อีกมุมผลลัพธ์ของการเลือกตั้งที่นำไปสู่การเปลี่ยนการปกครองไปเป็นระบอบเผด็จการที่จะไม่มีการเลือกตั้งอีกต่อไป นั้นตรงข้ามอย่างสิ้นเชิงกับสิ่งที่เป็นประชาธิปไตย ท้ายสุดแล้วผู้เขียนให้ความเห็นว่า เราควรนิยามคำว่าประชาธิปไตยว่า เป็นระบอบการปกครองที่เคารพความเท่าเทียมกันของมนุษย์

ถ้าผลลัพธ์ของการเลือกตั้งนำไปสู่การไม่เคารพความเท่าเทียมของมนุษย์ หรือไม่ปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน เราคงเรียกผลลัพธ์นั้นว่าเป็นประชาธิปไตยไม่ได้ ประชาธิปไตยไม่ได้ขึ้นอยู่กับแค่กระบวนการที่นำมาใช้ในการตัดสินใจ แต่ขึ้นอยู่กับเนื้อหาสาระของผลลัพธ์ที่ได้ด้วย

ลองยกตัวอย่างเป็นครอบครัวหนึ่งที่ประกอบด้วยพ่อ, แม่ และลูก 3 คน โหวตกันว่าเย็นนี้จะกินอะไรดี ถ้าพ่อและลูก ๆ ทั้ง 3 โหวตว่าอยากกินสเต็ก แต่คุณแม่กินเจ ผลลัพธ์ของการโหวตครั้งนี้ก็ไม่อาจเรียกว่าเป็นประชาธิปไตยได้ เพราะเป็นการตัดสินใจที่ไม่เคารพความเชื่อของคุณแม่ สุดท้ายแล้วคุณแม่ก็จะไม่ได้กินอะไร และต้องทนหิวไปตลอดทั้งคืน

ประชาธิปไตยไม่ใช่เสียงข้างมากเป็นใหญ่ แต่เสียงทุกเสียงเป็นใหญ่ โดยหาทางออกที่คำนึงถึงความหลากหลาย สิทธิเสรีภาพในความเชื่อของทุกคน รวมถึงความต้องการของทุกฝ่าย ทางออกที่เป็นประชาธิปไตยที่สุดของสถานการณ์ตัวอย่างนี้ อาจเป็นการไปกินร้านสเต็กที่มีเมนู plant base พ่อและลูก ๆ ทั้ง 3 คนได้กินสเต็กอย่างที่อยากกิน และคุณแม่ก็สามารถเลือกกินเมนูที่ไม่มีเนื้อสัตว์ที่ร้านนี้ได้


วิวัฒนาการของประชาธิปไตย

กว่าจะมาเป็นประชาธิปไตยอย่างทุกวันนี้ ประชาธิปไตยก็ผ่านวิวัฒนาการมาหลายครั้ง และอนาคตประชาธิปไตยก็ยังต้องพัฒนารูปแบบ เพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ต่อไป

แนวคิดประชาธิปไตยเกิดขึ้นครั้งแรกโดยชาวกรีกโบราณ สมัยเมื่อหลายพันปีที่แล้ว ประชาธิปไตยในยุคนี้ถูกเรียกว่า "ประชาธิปไตยโดยตรง (Direct Democracy)" ซึ่งชาวกรีกโบราณเชื่อว่าพลเมืองทุกคนต้องมีสิทธิ์ลงเสียงในการตัดสินใจทุกประเด็นสาธารณะ เช่น จะขึ้นภาษีหรือไม่, จะยกทัพออกรบหรือไม่,  จะสร้างระบบอะไรในเมืองบ้าง เป็นต้น ด้วยเหตุนี้กรุงเอเธนส์จึงมีหอประชุมกลางที่เปิดให้พลเมืองทุกคนเข้ามาถกประเด็น และลงเสียงกันได้

เวลาผ่านไปประชาธิปไตยโดยตรงเริ่มเจอกับปัญหา ผู้คนเริ่มเบื่อกับการต้องเข้ามาประชุม ทำให้เสียเวลาทำมาหากิน แม้บางคนจะสนใจแค่บางเรื่อง แต่ต้องเข้าประชุมเรื่องที่ตัวเองไม่สนใจด้วย พอถึงเวลาต้องโหวตก็โหวตไปแบบส่ง ๆ ไม่ได้ศึกษาข้อเท็จจริง หรือไตร่ตรองให้รอบคอบก่อน จึงส่งผลให้เกิดความเสียงหายให้กับบ้านเมือง สุดท้ายกรุงเอเธนส์ไม่สามารถบริหารประเทศอย่างมีประสิทธิภาพได้ และโดนต่างชาติยึดอำนาจในที่สุด

ร่างวิวัฒนาการที่ 2 ของประชาธิปไตยเรียกว่า "ประชาธิปไตยแบบตัวแทน (Representative Democracy)" ซึ่งก็คือรูปแบบของประชาธิปไตยในทุกวันนี้ หลังจากกรุงเอเธนส์ล่มสลายไปกว่าพันปี ตั้งแต่ยุคประชาธิปไตยโดยตรง หลายประเทศในแถบตะวันตกตื่นตัวกับแนวทางประชาธิปไตยมากขึ้น แต่ไม่อยากเดินตามรอยกรุงเอเธนส์ นักคิดหลายคนเริ่มตั้งคำถามว่า "ถ้าทุกคนอยากมีสิทธิ์กำหนดทิศทางของประเทศ แต่ไม่มีเวลาศึกษาในทุกเรื่องหรือทุกประเด็น ทำไมเราไม่เลือกคนที่พร้อมจะมาทำงานแทนเราล่ะ?" แนวคิดนี้ทำให้เกิดอาชีพนักการเมือง

ประชาธิปไตยแบบตัวแทนมีแนวคิดว่าแทนที่ประชาชนทุกคนต้องเสียเวลาศึกษา และเข้าประชุมโหวตทุกข้อกฏหมาย ทุกนโยบาย เปลี่ยนมาเป็นเราเพียงแค่เลือกคนที่ไว้ใจมาทำหน้าที่ตรงนี้แทน แต่ประชาธิปไตยแบบตัวแทนก็มีข้อจำกัด เช่น ในเขตของเราสามารถมี ส.ส. ได้เพียงแค่ 1 คน แต่ผู้สมัครในเขตของเราอาจมีคนเก่งหลายคน และถนัดในด้านที่แตกต่างกัน แม้เราอยากได้ความสามารถของทั้ง 3 คนมาพัฒนาประเทศ แต่เราสามารถเลือก ส.ส. มาเป็นตัวแทนของเราได้เพียงแค่คนเดียวเท่านั้น

นอกจากนี้หาก ส.ส. ที่เราเลือกเข้าไปเป็นตัวแทน ทำหน้าที่ได้ไม่ดี หรือกลายเป็นงูเห่า เราไม่สามารถเปลี่ยนตัว ส.ส. คนใหม่ไปแทนได้ ต้องรอให้ครบวาระ 4 ปี แล้วให้มีการจัดเลือกตั้งใหม่เท่านั้น

ร่างวิวัฒนาการที่ 3 ของประชาธิปไตยเรียกว่า "ประชาธิปไตยแบบลื่นไหล (Liquid Democracy)" ซึ่งเป็นแนวคิดในการนำข้อดีของประชาธิปไตยทั้ง 2 ร่างมารวมกัน ทั้งข้อดีของประชาธิปไตยแบบโดยตรงที่เปิดพื้นที่ให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทุกเรื่องของรัฐ และข้อดีของประชาธิปไตยแบบตัวแทนที่ประหยัดเวลาของประชาชนในการหาข้อมูลก่อนมาร่วมตัดสินใจในทุกเรื่อง

ประชาธิปไตยแบบลื่นไหลมีหลักการว่า ทุกคนมีสิทธิ์ลงคะแนนในทุกเรื่องของรัฐ แต่หากเรื่องไหนเราไม่ถนัด อยากให้คนที่เชี่ยวชาญมากกว่ามาโหวตแทน เราก็สามารถส่งต่อ 1 คะแนนของเราให้คนนั้นเป็นกรณี ๆ ได้ ถ้าคนที่เราส่งต่อไม่ว่าง หรือต้องการส่งให้คนอื่น เขาก็สามารถส่ง 1 คะแนนของเขา และ 1 คะแนนของเราไปให้อีกคนได้

และหากเราเปลี่ยนใจอยากโหวตเองก็สามารถเรียก 1 คะแนนของเราที่เคยให้คนอื่นไปแล้วกลับคืนมาได้ทุกเมื่อ ประชาธิปไตยร่างที่ 3 นี้จะมาทลายข้อจำกัดเก่า ๆ หลายอย่าง โดยเราไม่ต้องถูกบังคับให้ไปลงความเห็นทุกเรื่องแบบประชาธิปไตยโดยตรง และไม่ถูกบังคับให้เลือกนักการเมืองไปเป็นตัวแทนเพียงแค่คนเดียว ประชาธิปไตยแบบลื่นไหลทำให้เราโหวตทุกเรื่องเองได้หมดถ้าต้องการ หรือหากอยากให้คนอื่นตัดสินใจแทนในบางเรื่อง หรือทุกเรื่องก็ทำได้เช่นกัน

ประชาธิปไตยแบบลื่นไหลอาจฟังดูนำมาใช้จริงได้ยาก แต่เทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่าง block-chain สามารถทำให้ระบบนี้เกิดขึ้นได้


ทำไมปัญหาของ กทม. ไม่อาจแก้ได้ที่ กทม.

ปัจจุบันประเทศไทยของเรามีผู้ว่าราชการที่มาจากการเลือกตั้งเพียงแค่ 2 แห่งเท่านั้น คือกรุงเทพและพัทยา ซึ่งพัทยาไม่นับว่าเป็นจังหวัด นอกเหนือจากนั้นผู้ว่าฯ ของแต่ละจังหวัดจะถูกแต่งตั้งโดยรัฐบาล ดังนั้นตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจึงเป็นตำแหน่งที่ถูกจับตามอง ได้รับความสนใจจากประชาชนและสื่ออยู่ตลอดเวลา แต่อำนาจของผู้ว่าฯ กทม. ในการจัดการไม่ได้สูงขนาดนั้น

ปัญหาของ กทม. ที่ถูกฝากความหวังให้ผู้ว่าฯ แก้ให้ได้คือ ปัญหารถติด แต่หากเข้าใจโครงสร้างการบริหารจะรู้เลยว่าปัญหารถติดในกรุงเทพ แม้จะได้ผู้ว่าฯ ที่เก่งและความคิดดีแค่ไหนก็ยากที่จะแก้ได้ เพราะผู้ว่าฯ กทม. ไม่มีอำนาจ

ถ้าผู้ว่าฯ กทม. ต้องการแก้ปัญหารถติดด้วยการคิดค่าใช้ถนนเหมือนที่กรุงลอนดอนหรือสิงคโปร์ทำ เราจำเป็นต้องติดกล้องตามถนนทุกสายในกรุงเทพฯ เพื่อตรวจดูว่ารถคันไหนใช้ถนนสายใดบ้าง แต่อำนาจในการติดตั้งกล้องตามถนนไม่ได้อยู่ในมือของผู้ว่าฯ แต่อยู่ในอำนาจของกระทรวงคมนาคมภายใต้รัฐบาล

ถ้าผู้ว่าฯ กทม. ต้องการแก้ปัญหารถจอดแช่ขวางถนนเลนซ้ายสุด อำนาจในการจับผู้กระทำผิดเป็นของตำรวจภายใต้การดูแลของรัฐบาล

ถ้าผู้ว่าฯ กทม. ต้องการเพิ่มเส้นทางเดินรถเมล์ เพื่อให้ประชาชนหันมาเดินทางโดยระบบขนส่งสาธารณะ อำนาจในการวางเส้นทางเดินรถเมล์เป็นของ ขสมก. ซึ่งอยู่ในการดูแลของกระทรวงคมนาคมภายใต้รัฐบาล

จากตัวอย่างจะเห็นได้ว่าอำนาจในการเปลี่ยนแปลงอยู่ในมือของรัฐบาลแทบทั้งสิ้น การที่ทุกภาคส่วนต้องรอการตัดสินใจจากรัฐบาล ทำให้การพัฒนาหรือการแก้ไขปัญหาเกิดความล่าช้า ดังนั้นเป็นเหตุผลว่าทำไมประเทศไทยต้องกระจายอำนาจให้ทั่วถึงทั้งประเทศ

หากเรามีการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นตัดสินใจได้เอง ข้อดีอย่างแรกเลยคือความรวดเร็ว แต่ละจังหวัดสามารถตัดสินใจ และดำเนินการต่าง ๆ ได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องรอการอนุมัติจากส่วนกลาง

ข้อดีต่อมาคือ คนในพื้นที่รู้ดีที่สุดว่าต้องการอะไร แต่ละพื้นที่มีความแตกต่าง และความต้องการที่ไม่เหมือนกัน การออกนโยบายเดียวแล้วใช้กับทุกจังหวัดจึงไม่ใช่ทางออก ทางที่ดีคือ ต้องออกนโยบายเฉพาะสำหรับแต่ละพื้นที่ โดยมาจากคนที่เข้าใจ และคลุกคลีกับพื้นที่นั้น ๆ

กลับมาที่ปัญหารถติดใน กทม. พื้นที่ถนนใน กทม. สามารถรองรับรถยนต์ได้วันละ 2 ล้านคัน แต่ปริมาณรถยนต์บนถนนกลับสูงถึงวันละ 5 ล้านคัน ตอนผู้เขียนลงพื้นที่หาเสียงในกรุงเทพฯ 1 ใน 2 ของคนที่ผู้เขียนเจอเป็นคนต่างจังหวัด ผู้เขียนถามคนเหล่านั้นว่า หากที่จังหวัดบ้านเกิดมีงานให้ทำแบบเดียวกัน ได้ค่าแรงเท่ากับที่กรุงเทพฯ พวกเขายังอยากเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ อยู่ไหม ทุกคนล้วนตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าถ้าเป็นอย่างนั้นจะทำงานอยู่ที่จังหวัดบ้านเกิด

ตรงนี้สะท้อนว่าปัญหารถติด, ฝุ่นควัน, ความแออัดของที่พักอาศัย ล้วนมาจากการที่กรุงเทพฯ รองรับประชากรเยอะเกินไป เนื่องจากผู้คนจำเป็นต้องย้ายเข้ามาในกรุงเทพฯ เพื่อโอกาสการงานที่ดีกว่า

ท้ายที่สุดหากเราอยากแก้ปัญหาของ กทม. เราต้องปรับโครงสร้างภาพรวม และกระจายอำนาจไปให้ทุกจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อกระจายความเจริญไปถึงทุกจังหวัด หรืออย่างน้อยก็ให้ถึงหัวเมืองของแต่ละภูมิภาค เพื่อให้คนไทยสามารถหางานดี ๆ ได้ใกล้บ้าน โดยไม่ต้องลำบากเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ


เราควรดีใจไหม ถ้าทุกคนในประเทศได้เงินเดือนเท่ากัน?

เป็นการยุติธรรมไหมที่ไม่ว่าใครจะทำอาชีพอะไรก็ได้เงินเดือนเท่ากัน แม้ว่าแต่ละอาชีพจะมีความยากง่ายไม่เท่ากัน แต่เราไม่สามารถพูดได้เต็มปากว่าอาชีพไหนสำคัญกว่าอาชีพอื่น ยกตัวอย่างเป็นข้าวกะเพราไก่ 1 จาน อะไรเป็นตัวตัดสินว่าใครสำคัญกว่ากัน ระหว่างชาวนาที่ปลูกข้าว ชาวไร่ที่ปลูกกะเพรา คนเลี้ยงไก่ คนขนส่งข้าวและไก่ หรือแม่ครัวที่ผัดกะเพรา ในห่วงโซ่ข้าวกะเพราไก่ คนอาชีพไหนสำคัญกว่ากัน

อันที่จริงไม่ต้องคิดให้เสียเวลา เพราะหากขาดคนใดคนหนึ่งไปก็ไม่มีข้าวกะเพราให้เรากิน คนส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า สังคมที่ยุติธรรมต้องเป็นสังคมที่เท่าเทียม แต่ความเท่าเทียมนั้นมีหลายรูปแบบ แล้วความเท่าเทียมแบบไหนยุติธรรมสำหรับเรา

ความเท่าเทียมรูปแบบหนึ่งมีชื่อว่า "ความเท่าเทียมทางผลลัพธ์ (Equality of Outcome)" หมายถึงการที่ทุกคนในสังคมมีรายได้เท่ากัน ไม่ว่าจะทำอาชีพอะไร อุดมการณ์คอมมิวนิสต์เล็งเห็นถึงคุณค่าของแนวคิดนี้ โดยมองว่าหน้าที่ของรัฐคือการวางแผนงานแต่ละประเภทที่ประเทศต้องการ และจัดคนไปทำหน้าที่เหล่านั้น โดยผลลัพธ์ที่ได้ไม่ว่าจะรายได้หรือผลผลิต จะถูกแบ่งปันอย่างเท่าเทียมให้แก่ทุกคน

แต่แน่ใจเหรอว่าความเท่าเทียมทางผลลัพธ์ คือความเท่าเทียมที่เราอยากเห็น แนวคิดนี้อาจนำมาสู่แรงจูงใจที่บิดเบี้ยวได้ ถ้าการทำงานหนักขึ้น แต่ไม่นำมาสู่รายได้ที่มากขึ้น เป็นธรรมดาที่เราจะขอไม่เหนื่อยเพิ่ม และเลือกทำเท่าที่จำเป็นก็พอ ถ้าอยากสร้างสังคมที่ทุกคนใช้ความสามารถของตัวเองอย่างเต็มศักยภาพ เราจำเป็นต้องให้ค่าตอบแทนทุกคนไม่เท่ากัน ใครทำงานหนักกว่า หรือทำได้ดีกว่าก็ได้ค่าตอบแทนที่เยอะกว่า

เหตุผลนี้นำมาซึ่งแนวคิด "ความเท่าเทียมทางโอกาส (Equality of Opportunity)" ซึ่งเป็นสังคมที่ไม่ได้ให้รายได้ทุกคนเท่ากัน แต่เปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถแข่งขันกัน เพื่อรายได้ที่สูงกว่าอย่างเท่าเทียมกัน ตามคติที่ว่า "ค่าของคน อยู่ที่ผลของงาน" โดยใครจะได้ดีหรือไม่ได้ดี ล้วนขึ้นอยู่กับการกระทำของตัวเขาเอง


เราควรรักชาติไหม?

การรักชาติเป็นอะไรที่คนไทยถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก คงไม่มีใครเถียงว่าการที่ใครคนหนึ่งทำอะไรที่เป็นประโยชน์ให้แก่ประเทศนั้นเป็นสิ่งที่น่ายกย่อง แต่คำว่ารักชาติก็ถูกนำไปใช้ในหลายบริบทที่แตกต่างกันไป การรักชาติแบบสร้างสรรค์ และเป็นประโยชน์ควรเป็นยังไง ก่อนที่จะตอบคำถามนี้ เราต้องมานิยามความหมายของคำว่า "ชาติ" และคำว่า "รัก" กันก่อน

ชาติ คืออะไร?

คำตอบที่ง่ายที่สุดคือ การบอกว่าชาติคือประเทศ การทำอะไรเพื่อประเทศ ๆ หนึ่ง ไม่ควรมีอะไรลึกซึ้ง หรือซับซ้อนไปกว่าการทำเพื่อคนในประเทศนั้น เพราะประเทศไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ถ้าไม่มีประชาชนรวมตัวกันเป็นประเทศ ดังนั้นการทำเพื่อชาติจึงเป็นการทำประโยชน์ให้คนหมู่มาก เช่น จับฆาตกรคนหนึ่งเข้าคุก ซึ่งเป็นการสร้างประโยชน์ให้คนหมู่มากรู้สึกปลอดภัย

สิ่งหนึ่งที่ควรคำนึงคือ ชาติกับรัฐบาลไม่ใช่สิ่งเดียวกัน รัฐเผด็จการมักเชื่อมโยง 2 สิ่งนี้เข้าด้วยกัน เพื่อตีตราคนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลว่าเป็นพวก ชังชาติ แต่จริง ๆ แล้วเราไม่จำเป็นต้องรักหรือเห็นด้วยกับรัฐบาล ถึงจะได้ชื่อว่าเป็นคนรักชาติ

ส่วนคำว่ารัก แต่ละคนมีวิธีแสดงความรักในรูปแบบของตัวเองแตกต่างกันไป การรักชาติก็สามารถทำได้หลายรูปแบบ ทั้งเป็นแพทย์อาสารักษาคนไข้ในชนบท, เป็นครูสอนเด็กด้อยโอกาสบนดอย หรือการเป็นอาสาสมัครกู้ภัย สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นการทำเพื่อชาติไม่ต่างกับการเกณฑ์ทหาร เราควรผลักดันให้ทุกคนมีจิตสาธารณะ และทำประโยชน์ให้กับประชาชนในแนวทางที่ตัวเองถนัด และชื่นชอบ