ทักษะคุยเล่นของคนประสบความสำเร็จ - อย่าเป็นคนเก่งที่คุยไม่เป็น

ทักษะคุยเล่นของคนประสบความสำเร็จ - อย่าเป็นคนเก่งที่คุยไม่เป็น

เวลาได้ยินคำว่า "การคุยเล่น" คุณจะนึกถึงอะไรครับ นึกถึงการพูดคุยเรื่องไร้สาระอย่างสนุกสนานหรือเปล่าครับ? แต่หนังสือเล่มนี้จะมาเปลี่ยนความคิดคุณว่าการคุยเล่นไม่ใช่เรื่องไร้สาระ

ไอติมอ่าน ep นี้จะมาแนะนำเนื้อหาในหนังสือ "อย่าเป็นคนเก่งที่คุยไม่เป็น" ทักษะคุยเล่นของคนที่ประสบความสำเร็จระดับโลก เขียนโดยยาซุดะ ทาดาชิ วิทยากรด้านการสื่อสารทางธุรกิจ เขาเคยจัดอบรมให้บริษัทมาแล้วกว่า 1,700 แห่ง เคยให้คำแนะนำพนักงานระดับหัวหน้ามาแล้วกว่า 1,000 คน

ในหนังสือเล่มนี้ ผู้เขียนได้บอกว่า จริง ๆ แล้วการคุยเล่นเป็นเหมือนเวทมนตร์ที่ช่วยเสกความสัมพันธ์ และคุณภาพการทำงานของคุณให้เปลี่ยนไป หากคุณมีทักษะการคุยเล่นสูงขึ้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือ

  • ความรู้สึกที่คู่สนทนามีต่อตัวคุณจะเปลี่ยนไป
  • ทำงานได้ง่ายขึ้น ผลลัพธ์ดีขึ้นไปด้วย
  • คนที่คุณรู้สึกว่าคุยด้วยยากจะลดจำนวนลง จึงไม่ต้องกลุ้มใจเรื่องความสัมพันธ์กับคนอื่น
  • กล้าไปปรากฎตัวในทุกสถานที่ มีโอกาสทำความรู้จักกับคนที่น่าสนใจ
  • ไม่อดอยากยากจน เพราะชีวิตเต็มไปด้วยโอกาส สีหน้า และความรู้สึกสดชื่นแจ่มใส รู้สึกอิ่มเอมกับชีวิต

พูดง่าย ๆ คือ เมื่อคุณมีทักษะด้านการสื่อสารที่ดีก็จะเกิดผลดี ๆ ต่อชีวิตของคุณตามมาอย่างมหาศาล คุณอาจเคยเจอประสบการณ์ทำนองว่า เจอใครบางคนปุ๊บก็รู้สึกว่าเขาเป็นคนที่คุยด้วยแล้วรู้สึกดีจัง ในบรรดานักธุรกิจชั้นแนวหน้า, พนักงานขายที่มีลูกค้าประจำเยอะ และนักแสดงที่โด่งดัง หลายคนมีเทคนิคการเป็นที่ชื่นชอบของคนอื่น ซึ่งอาศัยการพูดคุยเพียงแค่ไม่กี่นาที

การคุยเล่นเปรียบเสมือนประตูสู่ความสัมพันธ์ต่าง ๆ เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้อีกฝ่ายยอมรับในตัวเรา ได้สานสัมพันธ์ให้แนบแน่นขึ้น หนังสือเล่มนี้ได้อธิบายเทคนิคในการพัฒนาทักษะการคุยเล่น โดยยกวิธีที่นำไปใช้ได้จริง เพื่อให้ทุกคนสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้


ในการพูดคุยกันเป็นครั้งแรก คู่สนทนาจะตัดสินว่าจะชื่นชอบหรือไว้ใจในตัวคุณไหม ตั้งแต่นาทีแรกที่เริ่มสนทนา คนที่มีทักษะการคุยเล่นชั้นแนวหน้าสามารถสร้างความรู้สึกดี ๆ ต่อคู่สนทนาของเขาได้ โดยมีงานวิจัยว่าคนเราจะประเมินอีกฝ่ายแบบคร่าว ๆ โดยใช้เวลาไม่เกิน 4 นาที เป็นเวลาที่เราจะประเมินอีกฝ่ายว่าเก่งหรือไม่เก่ง ไว้วางใจได้หรือไม่ได้ ชอบหรือไม่ชอบ

แล้วต้องทำยังไงจึงจะสร้างความประทับใจที่ดีได้ตั้งแต่นาทีแรก ผู้เขียนได้แนะนำเทคนิคการนำเสนอตัวเองในระดับที่พอเหมาะ ในที่นี้คือการถ่ายทอดความเป็นตัวเองให้อีกฝ่ายรู้

เวลาที่คุยเล่น คุณต้องไม่เล่าแต่เรื่องของตัวเองอยู่ฝ่ายเดียว เพราะจะทำให้อีกฝ่ายรู้สึกไม่ดีต่อตัวคุณ เขาจะคิดว่าคุณเป็นคนที่คิดถึงแต่ตัวเอง ในทางกลับกันคุณก็ไม่รู้ว่าอีกฝ่ายที่อยู่ตรงหน้าเป็นใคร และกำลังคิดอะไรอยู่ ดังนั้นการนำเสนอตัวเองในระดับที่พอเหมาะ จึงช่วยลดระยะห่างระหว่างกันได้อย่างรวดเร็ว

หลักการของเทคนิคคือ ไม่โอ้อวดตัวเอง และให้เล่าเรื่องผิดพลาดเล็ก ๆ น้อย ๆ ของตัวเอง ข้อควรระวังคือ ต้องไม่เล่าเรื่องผิดพลาดที่ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าคุณเป็นคนไม่เอาไหน รวมถึงไม่เล่าเรื่องที่อาจทำให้อีกฝ่ายรู้สึกรังเกียจ ตัวอย่างเรื่องผิดพลาดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ผู้เขียนยกมา เช่น

วันก่อนไม่นานมานี้ ผมเผลอดื่มหนักไปหน่อย พอกลับบ้านไปเลยโดนภรรยาบ่นใหญ่เลยครับ

สมัยเรียนมัธยมผมหุ่นผอมเพรียวเลยนะครับ เพราะเคยอยู่ชมรมฟุตบอล แต่ตอนนี้ไม่ได้เล่นฟุตบอลแล้ว เลยอ้วนขึ้นอย่างที่เห็นนี่แหละครับ

แค่คุยเล่นเพียงไม่กี่คำ ก็ช่วยสร้างบรรยากาศการสนทนาให้ครึกครื้น แถมการแทรกข้อมูลที่อีกฝ่ายอาจสนใจยังช่วยสร้างโอกาสในการต่อยอดการสนทนาต่อไปได้อีก คนชั้นแนวหน้าจะนำเสนอตัวเองอย่างเหมาะสม และมีเสน่ห์ที่สามารถมัดใจคนได้


ในการคุยเล่น เนื้อหาที่พูดถือเป็นสิ่งสำคัญ แต่วิธีการพูดก็สำคัญไม่แพ้กัน หากเล่าเรื่องราวดี ๆ หรือเรื่องที่น่าสนใจ แต่สื่อสารออกมาไม่ดี อีกฝ่ายอาจไม่เข้าใจหรือไม่สนใจเลยก็ได้ ผู้เขียนได้แนะนำเทคนิคการใช้คำเลียนเสียง ตัวอย่างคำเลียนเสียงก็เช่น "โครม" ฝนตกโครมลงมา

ถ้าคุณอยากเล่าว่า "พอออกมาจากสถานีรถไฟ ฝนก็ตกหนัก" ให้คุณใช้เทคนิคคำเลียนเสียงเปลี่ยนประโยคเดิมเป็น "พอออกมาจากสถานีรถไฟ ฝนก็ตกโครมลงมา" แบบนี้จะสามารถถ่ายทอดสภาพอากาศที่รุนแรงได้ชัดเจนขึ้น

คนที่เชี่ยวชาญในศิลปะการพูดจะใช้คำเลียนเสียง ควบคู่ไปกับท่าทางภาษากายที่สอดคล้องกับคำพูดนั้น เพื่อดึงให้ผู้ฟังรู้สึกเหมือนได้เข้าไปอยู่ในเหตุการณ์ที่เล่าด้วย


การคุยเล่นกับคนที่เพิ่งเจอกันครั้งแรกเป็นสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกประหม่า เพราะไม่รู้ว่าควรเลือกเรื่องอะไรมาคุยดี หากพูดเรื่องเบา ๆ การคุยกันก็จะไม่สนุก หากพูดเฉพาะเรื่องที่ตัวเองชอบหรือถนัดก็มีโอกาสสูงที่คู่สนทนาจะกร่อยเอาได้

ผู้เขียนได้แนะนำว่าในการพูดคุยกันเป็นครั้งแรก ควรเลือกหัวข้อสนทนาที่ไม่กระทบกับผู้อื่น เช่น สภาพอากาศ, เสื้อผ้า, สุขภาพ, ข่าวปัจจุบัน หรือเรื่องงาน การคุยเล่นของคนชั้นแนวหน้า ไม่ใช่การคุยด้วยเนื้อหาที่ซับซ้อน แต่เป็นการคุยเรื่องทั่วไป แล้วค้นหาจุดร่วมที่อีกฝ่ายสนใจด้วยเหมือนกัน จากนั้นค่อยลงลึกในเรื่องนั้น เพื่อกระชับความสัมพันธ์ ขั้นตอนเช่นนี้คือการพูดคุยกันอย่างเป็นธรรมชาติ

หัวข้อต้องห้ามที่ไม่ควรนำมาใช้พูดคุยคือเรื่องการเมือง และศาสนา เพราะสองเรื่องนี้เป็นแนวคิดส่วนตัว หากหยิบเรื่องการเมือง และศาสนามาพูดคุย การคุยเล่นอาจจะกลายเป็นการถกเถียงเอาได้ กฏเหล็กของการคุยเล่นคือ ต้องไม่นำไปสู่การถกเถียงกันอย่างเด็ดขาด

ส่วนเรื่องความรักหรือเรื่องใต้สะดือ ผู้เขียนแนะนำว่าถ้าเป็นไปได้อย่าพูดเรื่องพวกนี้ดีกว่า บางกรณีอาจคุยเรื่องพวกนี้แล้วอีกฝ่ายให้ความสนใจ และลดระยะห่างระหว่างกันลงไปได้ แต่ในทางกลับกัน หากอีกฝ่ายรู้สึกไม่ชอบก็อาจส่งผลกระทบร้ายแรงกลับมาได้ คุณจึงจำเป็นต้องมีทักษะการอ่านบรรยากาศ วิธีที่ปลอดภัยที่สุดคือการคุยเรื่องเบา ๆ ที่ไม่กระทบใคร


นอกจากทักษะการพูดแล้ว ทักษะการฟังก็สำคัญ หากคุยอยากเป็นคนที่คุยเก่ง ผู้เขียนแนะนำว่าในการพูดคุยกัน คุณควรแบ่งสัดส่วนให้ตัวเองเป็นฝ่ายพูดเพียง 20% และเปิดโอกาสให้อีกฝ่ายเป็นฝ่ายพูด 80%

หลักการในการเป็นผู้ฟังที่ดีคือ ให้มองตาคู่สนทนาอยู่ตลอดเวลา หากคุณไม่กล้าสบตาอีกฝ่าย ให้ใช้วิธีมองที่หว่างคิ้วแทน อย่างไรก็ตาม หากคุณจ้องอีกฝ่ายเขม็งราวกับกำลังวิเคราะห์อีกฝ่าย เขาอาจจะรู้สึกไม่ดีขึ้นมาได้ ทางที่ดีควรมองอีกฝ่ายด้วยสายตาอ่อนโยน และละสายตาไปทางอื่นบ้างเป็นครั้งคราว

ในระหว่างการสนทนาให้คุณคอยสังเกตความเร็ว และจังหวะการพูดของอีกฝ่าย หากอีกฝ่ายเป็นคนพูดเร็ว คุณจำเป็นต้องพยักหน้าถี่ ๆ ถ้าอีกฝ่ายพูดเนิบช้า ให้คุณพยักหน้านาน ๆ ทีก็พอ นอกจากนี้คุณควรพยักหน้าแรง ๆ ในเวลาที่อีกฝ่ายพูดเรื่องจริงจัง และไม่พยักหน้าเมื่ออีกฝ่ายพูดเรื่องไม่สำคัญ นี่คือหลักในการรักษาสมดุลครับ


คำถามเป็นสิ่งสำคัญในการต่อยอดการสนทนา ถ้าตั้งคำถามได้ดี การสนทนาก็จะลงลึกถึงรายละเอียดได้อย่างรวดเร็ว ผู้เขียนได้แนะนำเทคนิคการตั้งคำถามที่ช่วยต่อยอดการสนทนา และทำให้อีกฝ่ายรู้สึกดี เทคนิคนั้นคือการถามว่า "คุณทำอะไรเป็นพิเศษบ้างหรือเปล่า?" ตัวอย่างเช่นการสนทนาเรื่องสุขภาพ

หน้าหนาวปีนี้อากาศหนาวมากเลย พออุณหภูมิลดทีไร ผมก็มักจะป่วยง่าย คุณ... ดูแข็งแรงจังเลยนะครับ ทั้งที่ทำงานหนักขนาดนี้ ไม่ทราบว่าคุณทำอะไรเป็นพิเศษบ้างหรือเปล่าครับ?

อีกฝ่ายอาจตอบมาว่า

ก็ไม่ได้ทำอะไรเป็นพิเศษหรอกครับ แค่ออกกำลังกายเป็นประจำ และดูแลเรื่องอาหารการกินนิด ๆ หน่อย ๆ เท่านั้นเอง

ถ้ามีคนชมในเรื่องที่ตัวเองกำลังมุ่งมั่น หรือใส่ใจเป็นพิเศษ ไม่ว่าใครก็ดีใจ และอยากเล่าให้ฟังกันทั้งนั้น นอกจากนี้เมื่อถามไปว่า "คุณทำอะไรเป็นพิเศษบ้างหรือเปล่า?" ยังช่วยให้บทสนทนาขยายขอบเขตเนื้อหาออกไป จากตัวอย่างที่เริ่มต้นพูดเรื่องสภาพอากาศ อาจต่อยอดไปสู่การพูดคุยเรื่องตารางการออกกำลังกาย หรืออาหารสุขภาพที่อีกฝ่ายกิน

สิ่งสำคัญคือ ต้องรู้ประเด็นที่กระตุ้นความสนใจของอีกฝ่าย คนเราจะมีสีหน้าสดใส เมื่อพูดถึงเรื่องที่ชอบหรือสนใจ ดังนั้นลองสังเกตสีหน้าของอีกฝ่าย เมื่อพูดคำสำคัญบางอย่างออกมาดูนะครับ


ผู้เขียนบอกว่าคำถามที่ดีมีหลากหลาย ขึ้นอยู่กับแต่ละกรณี แต่คำถามแย่ ๆ มักมีรูปแบบตายตัว หนึ่งในคำถามแย่ ๆ คือ คำถามที่ถามหาเหตุผลว่า "ทำไมล่ะ?" สาเหตุที่ไม่ควรถามแบบนี้ เพราะมีความเป็นไปได้สูงที่จะทำให้การสนทนาหยุดชะงัก แต่ละคนมีระดับความรู้ที่ไม่เท่ากัน หากอีกฝ่ายมีความรู้ไม่มากพอที่จะตอบคำถามนั้น เขาจะรู้สึกลำบากใจ เกิดความกดดัน และอึดอัด ไม่รู้ว่าจะตอบคำถามนั้นยังไงดี

การคุยเล่นควรหลีกเลี่ยงการถามว่าทำไมล่ะ? แต่ถ้าคนที่คุณคุยด้วยมีความรู้หรือเป็นผู้เชี่ยวชาญ คุณจะชวนคุยเรื่องที่เขารู้แบบลงลึกก็ได้ ให้คำนึงอยู่เสมอว่าต้องเลือกใช้คำถามที่เหมาะสมกับอีกฝ่ายด้วย


ในระหว่างที่กำลังคุยเล่น บางครั้งอีกฝ่ายอาจพูดถึงเรื่องที่คุณไม่เชี่ยวชาญ หรือเรื่องที่คุณไม่รู้เลยแม้แต่น้อย ในเวลาแบบนี้อย่าแกล้งทำเป็นรู้หรือแกล้งทำเป็นเข้าใจ เพราะถ้าคุณยังฝืนคุยต่อทั้งที่ไม่รู้หรือไม่เข้าใจ อีกฝ่ายจะสามารถรับรู้ได้ และจะคิดว่าคุณเป็นคนที่ไม่ใส่ใจ ทำอะไรแบบขอไปที

ทางที่ดีเมื่อคุณไม่รู้ก็ให้ถามอีกฝ่ายไปตรง ๆ แต่การถามไปเลยว่า "ไม่ทราบว่า... คืออะไรเหรอครับ?" ก็อาจทำให้อีกฝ่ายมองว่าคุณเป็นคนมีความรู้น้อยเอาได้ ผู้เขียนได้แนะนำวิธีการตั้งคำถามในสถานการณ์เช่นนี้ว่า ให้เพิ่มการตีความหรือความเห็นของตัวเองลงไปในคำถามด้วย เช่น

ขอโทษด้วยนะครับที่ผมศึกษามาไม่มากพอ ไม่ทราบว่า... ที่คุณพูดถึงเมื่อสักครู่คืออะไรเหรอครับ มันคล้ายกับ... หรือเปล่า?

เมื่อใส่การตีความหรือความเห็นของตัวเองลงไปในคำถาม อีกฝ่ายจะรู้สึกว่าคุณกระตือรือร้น ตั้งใจฟัง และพยายามทำความเข้าใจ ส่งผลให้คุณมีภาพลักษณ์ที่ดีในสายตาของอีกฝ่าย


บางคนอาจสามารถลดระยะห่างกับอีกฝ่ายได้ตั้งแต่ตอนเจอกันครั้งแรก แต่พอเจอกันอีกครั้งกลับรู้สึกห่างเหิน วางตัวไม่ถูก และไม่สามารถพูดคุยอย่างกระตือรือร้นได้ ผู้เขียนได้แนะนำเทคนิคสำหรับพูดคุยตอนเจอกันครั้งถัดไปว่า ให้พูดถึงเรื่องที่เคยคุยตอนเจอกันครั้งแรก ตัวอย่างเช่น

คราวก่อนพอคุณแนะนำหนังเรื่อง 3 Idiots ผมเลยรีบไปดูใน Netflix มันเป็นหนังที่ดีมากจนผมตกใจ และไม่น่าเชื่อว่าหนังอินเดียก็คุณภาพเทียบเท่าหนังฮอลลีวูด ขอบคุณมากนะครับที่แนะนำ

การเจอกันครั้งถัดไปให้คุณเอ่ยถึงเรื่องที่อีกฝ่ายเคยบอก แล้วบอกเขาว่าคุณได้นำสิ่งที่เขาแนะนำไปทำอะไรต่อ รู้สึกอย่างไรหลังจากที่ได้ลองทำสิ่งนั้นแล้ว เทคนิคอีกอย่างที่แนะนำให้เสริมเข้าไปคือประโยคว่า "ไว้แนะนำผมอีกได้ไหมครับ?" การพูดแบบนี้เป็นการแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจ ว่าอยากสร้างความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนกับอีกฝ่าย ทำให้สามารถลดระยะห่างได้อย่างรวดเร็ว


การสื่อสารมีความยากตรงที่ไม่ได้มีรูปแบบตายตัว คุณต้องปรับเปลี่ยนวิธีเข้าหาคู่สนทนาให้เข้ากับเวลา และสถานการณ์ด้วย สิ่งที่ต้องพิจารณาให้รอบคอบคือ คู่สนทนาเป็นคนประเภทไหน ผู้เขียนได้แบ่งประเภทนิสัยแบบคร่าว ๆ ออกมาเป็นคน 5 ประเภทใหญ่ ๆ


1. คนประเภทเจ้านาย ที่พูดสิ่งที่อยากพูดแบบตรง ๆ

ผู้บริหารธุรกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม รวมถึงหัวหน้างานในบริษัท ส่วนมากมักเป็นคนประเภทนี้ โดยคนประเภทเจ้านายมักมีนิสัยแบบนี้

  • พูดเร็ว
  • ตั้งใจฟังเรื่องที่ตัวเองสนใจ
  • ชอบถามแทรกในระหว่างการสนทนา
  • สายตาคมกริบ เหมือนกำลังประเมินอีกฝ่ายอยู่
  • กอดอกขณะฟังคนอื่นพูด

ปกติแล้วคนประเภทนี้ไม่ชอบการพูดคุยเรื่องที่เปล่าประโยชน์ หากคุณเข้าหาคนประเภทนี้โดยการพูดคุยเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ คุณอาจถูกพวกเขามองว่า "คน ๆ นี้ความสามารถต่ำจัง" คนประเภทเจ้านายอยากฟังข้อสรุปที่ตรงประเด็น ดังนั้นคุณควรพูดถึงเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่ออีกฝ่าย หรือสิ่งดี ๆ ที่อีกฝ่ายจะได้รับ

เวลาต้องตอบคำถามก็ต้องตอบสิ่งที่อีกฝ่ายอยากรู้ไปตรง ๆ เช่น ถ้าเขาถามว่า "ทำ... ไม่ได้เหรอ?" คุณต้องตอบตรง ๆ ไปเลยว่าทำได้หรือไม่ได้ แล้วค่อยอธิบายเสริม เช่น "ทำได้ครับ ถ้าพูดให้ชัดคือ..."


2. คนประเภทคนดี ที่อ่อนโยนอย่างมาก

คนประเภทนี้จะยิ้มแย้มไปกับการคุยเล่นของคุณ และมีอารมณ์ร่วม ส่งผลให้คนประเภทนี้คุยเล่นด้วยง่าย โดยคนประเภทคนดีมักมีนิสัยแบบนี้

  • มีบุคลิกที่ทำให้รู้สึกดี
  • ฟังคนอื่นพูด พร้อมพยักหน้าเออออบ่อย ๆ
  • พูดเนิบ ๆ แสดงปฏิกิริยาตอบรับช้า
  • พูดค่อนข้างยาว พยายามอธิบายรายละเอียดอย่างครบถ้วน แต่ไม่บอกข้อสรุป
  • ไม่ใช่คำพูดเชิงปฏิเสธคู่สนทนา

คนประเภทนี้ส่วนใหญ่แล้วมักใจกว้าง ถึงแม้คู่สนทนาจะคุยเล่นไม่เก่ง แต่พวกเขาจะรับฟังด้วยความสนุกสนาน ในอีกทาง คนประเภทนี้ส่วนใหญ่มักตัดสินใจไม่ค่อยเก่ง ไม่พูดเข้าประเด็นสำคัญ หรือไม่ยอมให้คำตอบสักที ทั้งที่พูดคุยกันอยู่นานแล้ว

ในสถานการณ์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องงาน คนประเภทนี้เป็นคนที่คบหาด้วยง่าย แต่หากต้องคุยเรื่องงาน คุณต้องออกแรงเล็กน้อยเพื่อกระตุ้นให้พวกเขาตัดสินใจ คุณต้องมองหาจังหวะเหมาะ แล้วพูดเข้าประเด็นสำคัญ แต่อย่ารีบร้อน และเร่งรัดเกินไป อย่ากดดันหรือออกคำสั่ง ลองให้คำแนะนำในทำนองว่า "ผมคิดแบบนี้ คุณล่ะครับคิดว่ายังไง?" ทำให้เหมือนกับว่าคุณ และเขาร่วมคิดไปพร้อมกัน


3. คนประเภทนักวิเคราะห์ ที่พูดจาได้อย่างเฉียบคม

คนประเภทนี้มีจุดร่วมที่เหมือนกับคนประเภทเจ้านายตรงที่เรียกร้องข้อสรุป และชอบพูดตามหลักเหตุผล แต่จุดที่แตกต่างคือความสุขุม โดยคนประเภทนักวิเคราะห์มักมีนิสัยแบบนี้

  • ดูเป็นคนมีระเบียบ
  • ไม่ค่อยแสดงปฏิกิริยาตอบรับ มีท่าทีสงบนิ่ง
  • ตอบคำถามอย่างสุขุม
  • ถามในเรื่องที่ไม่กระจ่างซ้ำแล้วซ้ำเล่า
  • สนใจรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ

เวลาคุยเล่นกับคนที่พูดน้อย และมีสติปัญญาเฉียบแหลม พวกเขาอาจไม่แสดงท่าทีสนุกสนาน เวลาที่คุณกับพวกเขาเราจึงมักกังวล แต่ที่พวกเขาไม่แสดงท่าที ไม่ได้แปลว่าพวกเขาไม่สนใจเรื่องที่คุณพูดเสมอไป

คนประเภทนักวิเคราะห์มีความใฝ่รู้สูง หัวข้อที่นำมาคุยกับคนประเภทนี้ต้องไม่ใช่เรื่องตลกหรือเรื่องซุบซิบนินทา แต่ควรพูดเรื่องที่ช่วยเติมเต็มความอยากรู้อยากเห็นของพวกเขา

เคล็ดลับในการคุยกับคนประเภทนี้คือ ต้องพูดพร้อมกับเรียบเรียงเนื้อหาไปด้วย เช่น "เรื่องที่ผมจะพูดวันนี้มี 3 เรื่องครับ" "สรุปแล้วประเด็นสำคัญคือ..." หลักสำคัญคือ ต้องทำให้อีกฝ่ายรู้สึกถึงข้อดีของเรื่องที่คุณจะพูด


4. คนประเภทสดใสร่าเริง ที่มักชอบเข้าสังคม

คนประเภทนี้มีทักษะการเข้าสังคมสูง ชอบเรื่องสนุก ๆ และชอบติดต่อกับผู้คน จึงสนุกสนานไปกับการคุยเล่นได้ง่าย โดยคนประเภทสดใสร่าเริงมักมีนิสัยแบบนี้

  • พูดด้วยรอยยิ้ม และท่าทางดูสนุกสนาน
  • ทำให้การสนทนาครึกครื้น ด้วยการใช้อารมณ์ขันหรือการพูดล้อเล่น
  • มักรู้สึกขำกับเรื่องที่ตัวเองพูด แล้วหัวเราะออกมา
  • แสดงปฏิกิริยาตอบรับเกินจริง
  • ไม่ค่อยฟังสิ่งที่อีกฝ่ายพูด

คนประเภทสดใสร่าเริงมักไม่ได้คิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล ดังนั้นให้คุณคำนึงแค่การคุยเล่นให้สนุกสนาน ไม่ใช่การพูดเรื่องที่มีเนื้อหาสาระ วิธีคุยกับคนประเภทนี้คือ ตั้งใจฟังให้ดี จากนั้นก็แสดงปฏิกิริยาตอบรับบ้าง รวมถึงตั้งคำถามเพื่อให้การสนทนาดำเนินไปอย่างลื่นไหล

คนประเภทนี้มักเปลี่ยนหัวข้อสนทนาไปมาหรือพูดออกนอกเรื่อง ถ้าปล่อยไว้พวกเขาจะยิ่งพูดออกนอกเรื่องไปเรื่อย ๆ ถ้าอีกฝ่ายพูดออกนอกเรื่องไปไกล คุณต้องปรับทิศทางของการสนทนาในทำนองว่า "อ๊ะ พอพูดถึง... ผมขอย้อนกลับไปคุยเรื่องเมื่อกี้ต่อนะครับ"

ถึงยังไงคนประเภทสดใสร่าเริงก็ไม่ใช่คนที่ไม่ยอมรับฟังคนอื่น ในตอนท้ายของการสนทนา คุณสามารถถ่ายทอดสิ่งที่อยากบอกได้ แม้ก่อนหน้านั้นอีกฝ่ายจะพูดออกนอกเรื่องบ้างก็ไม่ต้องใส่ใจครับ โฟกัสไปกับบรรยากาศการคุยเล่นที่ดีก็พอ


5. คนประเภทขี้เกรงใจ ที่ไม่ค่อยแสดงความคิดเห็น

คนประเภทนี้ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยแสดงความคิดเห็นของตัวเอง และตัดสินใจไม่เก่ง โดยคนประเภทขี้เกรงใจมักมีนิสัยแบบนี้

  • ดูเป็นคนจิตใจดี มีภาพลักษณ์อ่อนโยน และนุ่มนวล
  • ฟังคู่สนทนาพูดพร้อมกับพยักหน้ารับรู้ไปด้วย
  • ไม่ค่อยแสดงความคิดเห็น คู่สนทนาจึงทำความเข้าใจความคิดหรือความรู้สึกได้ยาก
  • ไม่เรียกร้องสิทธิของตัวเอง จึงไม่ค่อยโดดเด่นในกลุ่ม

คนประเภทขี้เกรงใจไม่ชอบเรื่องที่อยู่เหนือความคาดหมาย พวกเขาอยากทำสิ่งต่าง ๆ อย่างมีอิสระ และตัดสินใจด้วยวิธีการของตัวเอง ดังนั้นการเข้าหาที่เร่งรัดเกินไปจึงอาจทำให้คนประเภทนี้ปิดใจได้

การจะเข้าหาคนประเภทนี้คุณต้องปรับตัวให้เข้ากับเขา หากอีกฝ่ายมีจังหวะการพูดที่ช้า คุณก็ต้องปรับการพูดของตัวเองให้ช้าลงด้วย หากอีกฝ่ายเงียบไป คุณสามารถปล่อยให้การสนทนาเกิดความเงียบเป็นพัก ๆ ได้ เพราะนั่นเป็นกระบวนการคิด และทำความเข้าใจของอีกฝ่าย


ในตอนท้ายผู้เขียนได้สรุปไว้ว่า การคุยเล่นคือจุดเริ่มต้นที่เชื่อมโยงคนกับคนเข้าด้วยกัน การคุยเล่นเล็ก ๆ น้อย ๆ จะก่อให้เกิดความรู้สึกร่วม และความเข้าใจที่ลึกซึ้ง จนกลายเป็นรากฐานของความสัมพันธ์ที่ไว้วางใจกันและกันในภายหลัง คนที่สามารถทำให้คนอื่นคิดว่า "คน ๆ นี้น่าจะไว้วางใจได้" คน ๆ นั้นจะไม่มีวันถูกทอดทิ้ง

จากประสบการณ์ที่ผ่านมาของผู้เขียน ทำให้เขารู้ว่าการคุยเล่นมีพลังยิ่งใหญ่ที่เปลี่ยนแปลงชีวิตได้ และนี่คือเนื้อหาโดยสรุปจากหนังสือ "อย่าเป็นคนเก่งที่คุยไม่เป็น" ทักษะคุยเล่นของคนที่ประสบความสำเร็จระดับโลก เขียนโดยยาซุดะ ทาดาชิ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์วีเลิร์น ราคา 220 บาท