Productivity Flow ภาวะลื่นไหล ทำอะไรก็ง่ายหมด - เปลี่ยนเรื่องยากให้เป็นง่าย ด้วยแนวคิด วิธีการ และเครื่องมือที่คุณทำตามได้

Productivity Flow ภาวะลื่นไหล ทำอะไรก็ง่ายหมด - เปลี่ยนเรื่องยากให้เป็นง่าย ด้วยแนวคิด วิธีการ และเครื่องมือที่คุณทำตามได้

ไอติมอ่าน ep นี้จะมาพูดถึงเนื้อหาในหนังสือ “Productivity Flow ภาวะลื่นไหล ทำอะไรก็ง่ายหมด” หนังสือที่เปรียบเสมือนคู่มือสำหรับผู้ที่อยากเริ่มต้นเพิ่มความ productive ให้ตัวเอง ในเล่มแนะนำแนวคิดและแนวทางที่สามารถนำไปทำตามได้ง่าย ๆ ก่อนอื่นมาเริ่มต้นรู้จักความหมายของคำว่า Productivity กันก่อนครับ

Productivity แปลตรงตัวเป็นภาษาไทยว่า ผลิตภาพ หรือการปรับปรุงกระบวนการผลิตให้เกิดประสิทธิภาพและได้ผลลัพธ์มากขึ้น เรามักได้ยินคำนี้บ่อย ๆ จากคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต หรือคนที่ก้าวหน้าในหน้าที่การงาน โดยคำว่า productivity ไม่ได้หมายถึงเรื่องการทำงานเพียงอย่างเดียว สำหรับบางคนอาจหมายถึงการโฟกัสในงาน เพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ที่เปลี่ยนโลกได้ บางคนอาจหมายถึงการเรียนรู้ พัฒนาตนเองให้เก่งกว่าเมื่อวาน บางคนอาจหมายถึงการได้เดินทางท่องเที่ยวไปยังสถานที่ต่าง ๆ ตามที่ลิสต์ไว้ บางคนอาจหมายถึงการจัดเวลาทำงานแบบมีเหลือเวลาสำหรับใช้กับคนในครอบครัว

Productivity หมายถึงแนวทางการใช้ชีวิตภายใต้ข้อจำกัดว่าใน 1 วัน คุณมีเวลา 24 ชม. คุณจะทำสิ่งต่าง ๆ ที่ตั้งใจในวันนี้ และต่อยอดไปสำหรับวันถัด ๆ ไปได้อย่างไร ในการที่จะทำให้ชีวิตของคุณ Productivity มากขึ้น ต้องมี 3 อย่างดังนี้

1. ต้องมีหลักการใช้ชีวิต

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการงาน การเงิน ครอบครัว งานอดิเรก หรืออะไรก็แล้วแต่ ควรต้องมีหลักการใช้ชีวิตที่จับต้องได้ ต้องรู้ว่าช่วงชีวิตจังหวะนี้อะไรสำคัญ การมีหลักการเหมือนกับการมีเข็มทิศที่จะพาคุณไปยังทิศทางที่คุณอยากไป


2. ต้องรู้วิธีการที่เหมาะสม

หากรู้ทิศทางที่ต้องการไปแล้ว ต้องรู้วิธีการที่เหมาะสมในการไปยังจุดนั้นด้วย เพราะหากคุณพยายามและตั้งใจมากแค่ไหน หากเลือกใช้วิธีการที่ไม่เหมาะสม การจะทำเป้าหมายให้สำเร็จก็เป็นเรื่องยาก


3.วินัย

ไม่ว่าจะเรียนรู้เทคนิคและวิธีการดี ๆ ไปมากแค่ไหน แต่หากคุณขาดวินัย ปล่อยตัวเองให้เป็นทาสของอารมณ์และความรู้สึกระยะสั้น ๆ ชีวิตของคุณก็ไม่มีทาง productive ขึ้น การมีวินัยกับการฝืนทำนั้นไม่เหมือนกัน ถ้าคุณทำให้กิจกรรมที่ต้องทำเป็นวินัยนั้นทำได้ง่าย ก็จะไม่มีความรู้สึกว่าต้องฝืนทำในสิ่งนั้น


การจะใช้ชีวิตได้อย่าง productive สิ่งสำคัญคือต้องมี Productive Flow ซึ่งนิยามของคำนี้คือ "การใช้ชีวิตได้อย่างลื่นไหล สามารถทำสิ่งต่าง ๆ ที่ต้องทำ และอยากทำได้โดยมีสิ่งรบกวนน้อย" ขั้นตอนการทำ productive flow แบ่งได้เป็น 5 ข้อ ดังนี้

  1. เขียน mission และ vision statement
  2. ตั้งเป้าหมายรายปี
  3. ซอยเป้าให้เล็กลง
  4. ลงมือทำในทุก ๆ วัน
  5. วัดผลและรีวิว

มาเจาะกันไปทีละข้อครับ เริ่มต้นที่

ข้อ 1. เขียน mission และ vision statement

personal mission statement คือ ประโยคหรือพารากราฟที่อธิบายว่าปัจจุบันนี้คุณต้องการทำอะไร เพื่ออะไร ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ได้ยกตัวอย่าง personal mission statement ของตัวเองเอาไว้ว่า

ฉันจะใช้ความรู้ ความสามารถ และความชอบเกี่ยวกับการบริหารจัดการ การตลาด และการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อสร้างประโยชน์ให้คนเป็นล้าน ๆ โดยที่ยังรักษาไลฟ์สไตล์และความสัมพันธ์ที่ดีเอาไว้

ส่วน personal vision statement คือ ประโยคหรือพารากราฟที่อธิบายสิ่งที่คุณอยากทำ หรืออยากเป็นในอนาคต นั่นหมายความว่าในตอนนี้คุณยังไปไม่ถึงจุดนั้น แต่เป็นสิ่งที่คุณปรารถนาจริง ๆ ในอนาคต ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ได้ยกตัวอย่าง personal vision statement ของตัวเองเอาไว้ว่า

ฉันอยากเป็นผู้ประกอบการและนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จ มีอิสรภาพด้านการเงินและเวลา สามารถเลือกที่จะทำหรือไม่ทำอะไรก็ได้

ความแตกต่างของ 2 อย่างนี้ คือ

personal mission statement เป็นประโยคแห่งปัจจุบัน พูดถึงสิ่งที่คุณจะทำเพื่อไปให้ถึง vision ของคุณในอนาคต
personal vision statement เป็นประโยคแห่งอนาคต พูดถึงสิ่งที่คุณต้องการจะเป็น

ข้อ 2. ตั้งเป้าหมายรายปี

หลังจากตั้ง personal mission statement และ personal vision statement แล้ว 2 อย่างนี้อาจดูจับต้องยากอยู่สักหน่อย โดยเฉพาะ personal vision ที่เป็นสิ่งที่คุณอยากให้เกิดขึ้นในอนาคตอีกหลายปีข้างหน้า สิ่งสำคัญในการเปลี่ยนความฝันให้กลายมาเป็นความจริงคือ เขียนสิ่งที่จับต้องได้ยากให้ออกมาอยู่บนกระดาษ เขียนมันออกมาว่าใน 1 ปีคุณอยากทำอะไรบ้าง


วิธีการเขียนเป้าหมายให้ได้ผลดีที่สุดคือการใช้หลัก S.M.A.R.T โดยที่

S = Specific

เป้าหมายต้องมีความเฉพาะเจาะจง เช่น แทนที่จะต้องเป้าหมายว่า "ฉันอยากเก่งภาษาอังกฤษ" ให้ตั้งเป้าว่า "ฉันจะไปสอบ IELTS เพื่อทดสอบทักษะภาษาอังกฤษ"

M = Measurable

เป้าหมายต้องวัดผลได้จริง ต่อเนื่องจากข้อที่แล้ว แทนที่จะตั้งเป้าว่าจะไปสอบ IELTS ก็ให้เพิ่มไปว่า "ฉันจะไปสอบ IELTS ให้ได้ 8 จากเต็ม 9"

A = Attainable

เป้าหมายต้องทำได้จริง ต่อเนื่องจากข้อที่แล้ว หากคุณเคยไปสอบ IELTS แล้วได้ 4 การจะสอบให้ได้ 8 ในครั้งต่อไปอาจยากเกิน ควรตั้งเป้าที่เป็นไปได้ เช่น "ฉันจะไปสอบ IELTS ให้ได้ 6"

R = Relevant

เป้าหมายต้องเกี่ยวข้องกับเป้าหมายระยะยาวของคุณ หากคุณอยากไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษในอีก 2-3 ปี การไปสอบ IELTS ก็เกี่ยวข้องกับเป้าหมายระยะยาวของคุณ

T = Time

เป้าหมายต้องมีกรอบเวลาที่ชัดเจน ต่อเนื่องจากข้อที่แล้ว เช่น "ฉันจะไปสอบ IELTS ให้ได้ 6 ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2566"


เป้าหมายในชีวิตมีได้หลายอย่าง เพราะชีวิตคนเรามีหลายมิติ คุณสามารถนำหลัก S.M.A.R.T ไปตั้งเป้าหมายกับเรื่องการงาน การเรียน การเงิน สุขภาพ ครอบครัว และงานอดิเรกได้

คำแนะนำในการตั้งเป้ารายปีคือให้คุณคำนึงด้วยว่าเป้าหมายที่ตั้งตอบโจทย์ personal mission ของคุณไหม และพาคุณเข้าใกล้ personal vision หรือเปล่า และหากคุณเพิ่งรู้เรื่องการตั้งเป้ารายปีในช่วงกลางปี คุณไม่จำเป็นต้องรอให้ถึงต้นปีหน้าเพื่อตั้งเป้ารายปี คุณสามารถตั้งเป้าให้เหมาะกับเวลาที่เหลืออยู่ของปีได้เลย


ข้อ 3. ซอยเป้าหมายให้เล็กลง

แม้คุณจะมีเป้าหมายที่ชัดเจน โดยอาศัยหลักการ S.M.A.R.T แต่การจะทำเป้าหมายให้สำเร็จไม่ใช่เรื่องง่าย สมมุติว่าเป้าหมายของคุณคือ จะวิ่งมาราธอนระยะ 42.195 กม. ให้ได้ภายในปีนี้ แต่ปัจจุบันเพียงวิ่งแค่ 1 กม. คุณก็หอบไม่ไหวแล้ว ระยะทางกว่า 42 กม. ช่างดูเป็นไปไม่ได้เลย

แต่หากคุณซอยเป้าหมายให้เล็กลง จนง่ายต่อการทำให้สำเร็จ การจะวิ่ง 42.195 กม. ได้นั้นต้องวิ่งให้ได้สักครึ่งหนึ่ง หรือ 21 กม. ให้ได้ก่อน และการจะวิ่งได้ 21 กม. ก็ต้องวิ่ง 10 กม. ให้ได้ก่อน และกว่าจะวิ่ง 10 กม.ได้ ก็ต้องผ่าน 5 กม. ให้ได้ก่อน และก่อนจะได้ 5 กม. อาจต้องวิ่งผ่าน 1 กม. แรกให้ได้เสียก่อน

การซอยเป้าหมายให้เล็กลง แล้วค่อยเริ่มพิชิตจากเป้าเล็ก ๆ นั้นง่าย และทำให้คุณมีกำลังใจในการพิชิตเป้าหมายที่ใหญ่ขึ้นต่อไป


ข้อ 4. ลงมือทำในทุก ๆ วัน

ถ้าไม่ลงมือทำ สิ่งที่คุณคิดหรือตั้งเป้าหมายไว้ก็ไม่เกิดขึ้นจริง คุณสามารถสร้าง Habit Tracker ขึ้นมาโดยสร้างตารางรายเดือน แล้วลิสต์กิจกรรมที่จะทำให้แต่ละวันลงไป เช่น ออกกำลังกาย 30 นาที อ่านหนังสือ นั่งสมาธิ หากคุณทำกิจกรรมใดเสร็จก็ขีดลงไปในวันนั้น การทำตารางและปริ้นต์มันออกมาจะทำให้คุณติดตามกิจกรรมที่ต้องทำในแต่ละวันได้


ข้อ 5. วัดผลและรีวิว

จากข้อ 1-4 เราได้ตั้งเป้าหมายและเริ่มลงมือทำแล้ว ขั้นตอนสุดท้ายคือการวัดผลและตกผลึกว่าสิ่งที่คุณทำไปนั้นสร้าง Productivity ได้มากแค่ไหน ตอบโจทย์ในสิ่งที่คุณต้องการในระยะยาวหรือไม่ โดยคุณควรวัดผลและรีวิวสัปดาห์ละครั้ง แล้วนำข้อผิดพลาดหรือสิ่งที่ได้เรียนรู้กลับไปปรับปรุงแก้ไข วนไปเป็นวงจรแบบนี้

สิ่งสำคัญที่คนอยากจะเพิ่ม Productivity ในการทำงานต้องเข้าใจคือ ไม่ใช่การพยายามคิดว่าจะทำยังไงให้ตัวเองมีเวลาในการทำงานมากขึ้น แต่เป็นการคิดว่าจะใช้เวลาที่มีอย่างจำกัด ทำงานออกมายังไงให้มีประสิทธิภาพ

ในพาร์ทที่ 2 ของหนังสือเล่มนี้ได้แนะนำการบริหารจัดการงาน ก่อนอื่นเลยเราต้องจัดความสำคัญของแต่ละงานที่มีอยู่ก่อน เพื่อให้เห็นความสำคัญของแต่ละงานด้วยเฟรมเวิร์คที่เรียกว่า Eisenhower Matrix ที่แบ่งงานออกเป็น 4 โซน ได้แก่

1. งานสำคัญและด่วน

งานรูปแบบนี้จะมีเดดไลน์ชัดเจน และเป็นงานที่มีความสำคัญต่อตัวคุณ ถ้าทำเสร็จจะได้ประโยชน์บางอย่าง หรือถ้าทำไม่เสร็จคุณอาจจะเดือดร้อน ถ้างานไหนอยู่ในโซนนี้ให้รีบลงมือทำ


2. งานสำคัญแต่ไม่ด่วน

งานรูปแบบนี้เป็นงานสำคัญ แต่รอได้ ไม่จำเป็นต้องทำให้เสร็จทันที เช่น การวางแผนของบริษัท การถามไถ่สารทุกข์สุขดิบของเพื่อนร่วมงาน ถ้างานไหนอยู่โซนนี้ ยังไม่ต้องรีบทำทันที แต่วางกำหนดการไว้ก่อน


3. งานไม่สำคัญแต่ด่วน

งานรูปแบบนี้เป็นงานที่ไม่สำคัญ แต่มีปัจจัยเรื่องเวลามาเกี่ยวข้อง คือรอไม่ได้ เช่น การตอบเมลลูกค้า การโพสต์คอนเทนท์ลงโซเชียลของบริษัทให้ตรงเวลา ถ้างานไหนอยู่โซนนี้ มอบหมายให้ทีมงานที่ไว้ใจได้ทำ


4. งานไม่สำคัญและไม่ด่วน

งานรูปแบบนี้เป็นงานที่ทั้งไม่สำคัญและไม่เร่งด่วน เช่น การตามอ่านกระแสในโซเชียล ถ้างานไหนอยู่ในโซนนี้ ให้โยนทิ้งไปได้เลย


งานแต่ละชนิดมีช่วงเวลาที่เหมาะสมในการลงมือทำไม่เหมือนกัน ในช่วงเช้าเป็นช่วงที่เพิ่งตื่นมาได้ไม่นาน ได้สะสมพลังงานมาอย่างเต็มที่ ช่วงเวลานี้จึงเหมาะสมสำหรับงานใช้ความคิด โดยมีผลวิจัยบอกว่าช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการตัดสินใจอะไรสักอย่าง คือช่วง 8 โมงเช้าถึงบ่ายโมง และช่วงเช้ายังเป็นช่วงที่เหมาะสำหรับจัดประชุมเพื่อระดมไอเดียสำหรับแก้ปัญหาต่าง ๆ เพราะเป็นช่วงที่ดีที่สุดในการซึมซับคำแนะนำของคนอื่น ดังนั้นช่วงเช้าจึงเหมาะสำหรับทำงานที่ใช้ความคิด พยายามอย่าเอางานง่าย ๆ มาไว้ในช่วงเช้า

ช่วงกลางวันเป็นช่วงที่หนังท้องตึงหนังตาก็หย่อน เพราะเพิ่งกินข้าวเที่ยงมา งานวิจัยพบว่าการตัดสินใจอะไรในช่วงบ่ายจะทำได้ไว แต่ความแม่นยำน้อยลง เพราะฉะนั้นในช่วงบ่ายให้โฟกัสไปที่การตัดสินใจเล็ก ๆ น้อย ๆ ทำงานชิ้นที่ไม่ยาก หรือใช้เวลาไม่เยอะจนเกินไป

ช่วงเวลาบ่ายแก่ ๆ จนถึงช่วงก่อนเลิกงาน เป็นช่วงที่เราใช้พลังไปในงานต่าง ๆ เยอะแล้ว จึงไม่ควรนัดประชุมเพื่อคุยงานที่ต้องตัดสินใจ เพราะการตัดสินใจจะออกมาไม่ดี มีงานวิจัยบอกว่าช่วงเวลาประมาณ 4-5 โมงเย็นเหมาะสำหรับโทรคุยเรื่องสำคัญหรือโทรหาลูกค้า เพราะเป็นช่วงที่คนพร้อมรับโทรศัพท์มากกว่าช่วงอื่น ๆ โดยส่วนใหญ่แล้วช่วงนี้เหมาะกับการสะสางงานชิ้นเล็กชิ้นน้อย หรือพูดคุยอัพเดทความคืบหน้าของงานกับเพื่อนร่วมงาน

คำว่า early bird เป็นคำสแลงที่ใช้เรียกคนที่ตื่นเช้าและมีพลังในช่วงเวลาการทำงานปกติ เหมือนเช่นนกที่ตื่นเช้า ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ของสังคม แต่มีคนอีกประมาณ 30% ที่เป็น night owl ซึ่งเป็นคำสแลงที่ใช้เรียกคนที่สมองแล่นในช่วงเย็น ๆ หรือกลางคืน

ถ้าคุณฟังคำแนะนำเมื่อกี้แล้วรู้สึกว่ามันไม่เข้าท่าและดูไม่เหมาะกับคุณก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะ early bird และ night owl มีช่วงเวลา productive คนละช่วง night owl สมองจะตื้อในตอนเช้า และเริ่มแล่นในช่วงเย็น ๆ หรือดึก ๆ แต่ถึงยังไงความ productive ก็เป็นไปตามแพตเทิร์นนี้คือ เริ่มต้นด้วยพลังงานที่สูง ช่วงกลาง ๆ พลังงานจะลดต่ำลง ก่อนจะกลับมาเพิ่มขึ้นอีกทีตอนใกล้เลิกงาน ไม่ว่าจะเป็น early bird หรือ night owl ก็สามารถเอาแพตเทิร์นนี้ไปเลือกทำกิจกรรมที่เหมาะสมกับเวลานั้น ๆ

หนึ่งในหลักการบริหารจัดการที่ได้รับการพูดถึงอยู่บ่อย ๆ คือ "Eat that Frog กินกบตัวนั้นซะ" ของ ไบรอัน เทรซี่ คำว่ากินกบในที่นี่ไม่ใช่ให้คุณไปกินกบจริง ๆ ไบรอันเพียงแค่เปรียบว่างานที่เราไม่อยากทำเปรียบเหมือนกบที่เราไม่อยากกิน

ไบรอันบอกว่าเราควรจะทำงานยากที่สุดและใช้เวลาเยอะเป็นอันดับแรก ๆ เพราะไม่ว่ายังไงคุณก็เลี่ยงมันไม่ได้ จะช้าหรือเร็วคุณก็ต้องทำมันอยู่ดี สู้ทำให้มันเสร็จเร็ว ๆ ไปเลยดีกว่า จะได้ไม่ต้องมามัวกังวลและมีเวลาไปทำงานอื่นต่อ

แต่บางวันคุณอาจตื่นนอนมาแล้วไม่สดชื่น อาจเพราะเมื่อคืนได้นอนน้อย เลยอาจไม่พร้อมที่จะกินกบ ผู้เขียนแนะนำว่าหากวันไหนเผชิญอาการแบบนี้ วันนั้นจะกินเค้กแทนก็ได้ โดยผู้เขียนเปรียบว่าเค้กคืองานง่าย ๆ ที่ทำแล้วเสร็จไว ทำแล้วเหมือนได้วอร์มอัพสมองและรู้สึกว่าวันนั้นได้ทำอะไรสำเร็จไปบ้าง ส่งผลให้อยากทำงานชิ้นต่อไป คราวนี้คุณก็สามารถกลับไปกินกบได้แล้ว

มีสุภาษิตจีนกล่าวไว้ว่า "แม้แต่หมึกที่เจือจางที่สุด ก็ยังทรงพลังกว่าความทรงจำที่แข็งแกร่งที่สุด" ในแต่ละวันสมองของเรามีเรื่องต้องคิด ต้องทำมากมาย พื้นที่สำหรับความจำระยะสั้นมีจำกัด โดยมีงานวิจัยบอกว่าสมองของคนเราสามารถจัดเก็บข้อมูลในระยะสั้นได้เพียง 5-9 เรื่องเท่านั้น ถ้าเกินกว่านี้อาจจะหลงลืมได้ ถ้าวันหนึ่งคุณมีหลายสิ่งที่ต้องทำก็ควรที่จะจด to do list ซึ่งในหนังสือผู้เขียนได้แนะนำแอพสำหรับจดบันทึกเอาไว้ดังนี้

1. Notion

แอพที่เป็นทั้งพื้นที่สำหรับจดโน้ต, จด to do list และเป็นดาต้าเบสส่วนตัว สามารถใส่รูปหรือวิดีโอเข้าไปได้ เรียกว่าเป็นแอพที่ all in one มีความยืดหยุ่นสูง แต่ข้อเสียของมันก็คือความยืดหยุ่นด้วยเหมือนกัน เพราะมันทำอะไรได้หลายอย่าง เลยอาจใช้งานยากสำหรับผู้ที่เริ่มหัดใช้


2. Todoist

แอพนี้ถูกออกแบบมาสำหรับการทำ to do list โดยเฉพาะ ดังนั้นฟีเจอร์สำหรับจดโน้ตหรือการทำดาต้าเบสจึงไม่มีในแอพนี้ หากใครที่ต้องการเพียงพื้นที่สำหรับการจด to do list แอพนี้ก็ถือว่าเพียงพอแล้ว


ปฏิเสธไม่ได้ว่าการประชุมคือส่วนหนึ่งของการทำงาน ถ้าใช้ประโยชน์จากการประชุมให้ดีก็จะสามารถทำให้งานต่าง ๆ ไหลลื่นไปอย่างไม่ติดขัด โดยการประชุมควรเป็นส่วนหนึ่งของงาน หากทำให้การประชุมเป็นงานหลักล่ะก็ จะมีโอกาสสูงที่ productivity ของคุณจะต่ำลง

ผู้เขียนได้ให้ความเห็นจากประสบการณ์ไว้ว่า เรื่องหรือปัญหาต่าง ๆ โดยส่วนใหญ่แล้วสามารถดำเนินการต่อได้โดยไม่ต้องอาศัยการประชุม หลายเรื่องจบได้ด้วยการโทรศัพท์คุยกัน หลายเรื่องจบได้ด้วยการส่งอีเมลแค่ฉบับเดียว ผู้เขียนได้ยกวิธีจาก Harvard Business Review ที่ช่วยให้เราตัดสินใจได้ว่าเรื่องไหนจำเป็นหรือไม่จำเป็นต้องมีการประชุม โดยมีทั้งหมด 4 ข้อดังนี้

1. คุณคิดเรื่องต่าง ๆ ได้อย่างถี่ถ้วนแล้วหรือยัง

ถ้าคุณยังไม่แน่ใจว่าเรื่องที่จะคุยคือเรื่องอะไร ปัญหาอะไรที่คุณเจออยู่ หรือความช่วยเหลือที่ต้องการคืออะไร อย่าเพิ่งนัดประชุม ให้เอาเวลามาคิดเรื่องต่าง ๆ ให้ถี่ถ้วนซะก่อน ไม่อย่างนั้นมีแนวโน้มว่าการประชุมจะไม่ก่อให้เกิดผลลัพธ์ใด ๆ


2. คุณต้องการความคิดเห็นจากคนอื่นเพื่อให้งานเดินหรือเปล่า

ถ้าคุณรู้อยู่แล้วว่าต้องทำอะไรบ้างเพื่อให้งานเสร็จ การนัดประชุมอาจไม่ใช่เรื่องจำเป็น สิ่งที่ควรทำคือเขียน to do list ออกมาว่าต้องทำอะไร


3. คุณต้องการการพูดคุยแบบทันทีทันใดเพื่อให้งานเดินหรือเปล่า

บางครั้งคุณอาจไม่ได้ต้องการความคิดเห็นหรือข้อสรุปแบบทันทีทันใด ตอนนี้หรือเดี๋ยวนี้ การได้รับคำตอบหรือความเห็นในวันพรุ่งนี้อาจไม่ได้มีความแตกต่างกันมาก สิ่งที่คุณควรทำคือส่งอีเมลคำถามทิ้งไว้ก่อน เพื่อให้ลูกค้าหรือเพื่อนร่วมทีมตอบกลับตอนพวกเขามีเวลาว่าง


4. การประชุมแบบนัดเจอกันต่อหน้าเป็นเรื่องจำเป็นหรือเปล่า

การคุยกันแบบตัวต่อตัว หรือ 2-way communication ไม่จำเป็นต้องเจอกันต่อหน้าเสมอไป การส่งข้อความไปถามผ่านแอปอย่าง LINE หรือ Facebook Messenger หรือโทรคุยกันอาจดีกว่า

หากคุณถามคำถามทั้ง 4 ข้อนี้แล้วพบว่าการประชุมยังจำเป็นอยู่ ก็ไม่จำเป็นต้องหลีกเลี่ยง ให้นัดประชุมกับทีมได้เลย พร้อมกับเตรียมตัวสำหรับการประชุมให้พร้อม


ถ้าหากในหนึ่งวันคุณเอาแต่ประชุมก็จะไม่มีเวลาสำหรับทำงาน ผู้เขียนได้แนะนำวิธีการ optimize การประชุม โดยการเข้าใจรูปแบบการประชุมแต่ละแบบ พร้อมกับเลือกใช้เวลาสำหรับการประชุมให้เหมาะสม ไม่ควรใช้เวลาน้อยเกินไปสำหรับการประชุมที่ต้องให้เวลา ไม่ควรใช้เวลามากไปสำหรับการประชุมที่ใช้เวลาไม่นานก็หาข้อสรุปได้

1. แบ่งเวลาประชุมให้ถี่เท่าที่จะทำได้

ในการประชุม สิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นคือการนัดเผื่อเวลา ไม่ว่าจะเผื่อเวลามาสาย เผื่อเวลามีเรื่องคุยเพิ่มเติม เผื่อเวลามีคนติดงาน เพราะยิ่งคุณเผื่อเวลาสำหรับการประชุมมากเท่าไหร่ ทุกคนก็จะเหลือเวลาสำหรับไปทำงานน้อยลงเท่านั้น การนัดประชุมเป็นเวลา 2 ชม. ควรจะเกิดขึ้นให้น้อย ซอยเวลาให้เหลือ 30 นาที หรือ 15 นาที เพราะหลายเรื่องไม่ต้องใช้เวลาประชุมนาน


2. จัดประเภทการประชุมให้เหมาะกับเวลา

ผู้เขียนได้แนะนำเวลาที่เหมาะสมสำหรับการประชุมรูปแบบต่าง ๆ โดยอาศัยประสบการณ์ส่วนตัว

หากเป็นการนัดประชุมเพื่อบอกแผนของบริษัทให้ทุกคนเข้าใจตรงกัน ควรใช้เวลาไม่เกิน 2 ชม.

หากประชุมเพื่อตัดสินใจเรื่องบางอย่าง หรือประชุมเพื่อระดมความเห็นจากหลาย ๆ ฝ่าย ควรใช้เวลาไม่เกิน 1 ชม. และแนะนำว่าอย่าประชุมเรื่องนี้ในตอนเย็นหรือใกล้เลิกงาน เพราะทุกคนที่เข้าประชุมอาจเหนื่อยแล้ว ทำให้ตัดสินใจได้แย่ลง

หากประชุมเพื่อรายงานผลประจำเดือน ควรใช้เวลาเพียง 1 ชม.

หากประชุมเพื่อ check-in ประจำสัปดาห์กับทีม ควรใช้เวลาเพียง 30 นาที

หากประชุมเพื่อ check-in ประจำวันกับทีม ควรใช้เวลาเพียง 15 นาที


คุณอาจเคยเข้าร่วมประชุมไปแบบงง ๆ ไม่รู้ว่าที่ประชุมจะคุยเรื่องอะไร และระหว่างการประชุมคุณก็ไม่สามารถให้ความเห็นอะไรได้เลย นั่นเป็นเพราะว่าการประชุมขาดการวาง agenda ซึ่ง agenda เป็นไกด์ไลน์ว่าการประชุมครั้งนี้มีเรื่องอะไรที่ต้องคุยบ้าง ต้องมีการตัดสินใจหรือเกิดผลลัพธ์อะไร หากก่อนการประชุมไม่ได้วาง agenda เอาไว้ก็มีแนวโน้มว่าการประชุมจะลากยาก ไม่ได้ข้อสรุป และอาจเบี่ยงเบนไปคุยเรื่องอื่น

ใน calendar จะมีช่องให้ใส่โน้ต ตอนที่คุณยิง calendar ให้ผู้เข้าร่วมประชุม คุณสามารถเขียน agenda ลงไปในช่องโน้ตได้ ทั้งคุณและผู้เข้าร่วมจะได้เห็นภาพและเข้าใจจุดประสงค์ของการประชุม จะได้เตรียมตัวมาก่อนการเข้าประชุม

ตัวอย่างการเขียน agenda สิ่งที่จะทำในการประชุมเรื่องงานอีเวนท์

  • ระดมไอเดียชื่องานอีเวนท์
  • ตัดสินใจเลือกชื่องานอีเวนท์
  • ลิสต์สิ่งที่ต้องทำและจัดหาผู้รับผิดชอบ

การเขียน agenda อาจใช้เวลามากสุดเพียงแค่ 5 นาที แต่สามารถประหยัดเวลาประชุมที่ยืดยาวไปเป็นชั่วโมงเลยก็ได้

บางครั้งเวลาที่ใช้ในการเดินทางไปประชุม อาจนานกว่าเวลาที่ใช้ประชุมก็เป็นได้ แถมประชุมเสร็จเดินทางกลับบ้านมาด้วยสภาพเหน็ดเหนื่อย ช่วงที่เกิดวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 การเจอหน้ากันตัวต่อตัวกลายเป็นเรื่องลำบาก และเหตุการณ์นี้ทำให้หลายคนเข้าใจมากขึ้นว่าต่อให้ไม่ได้เจอหน้ากันจริง ๆ เราก็ยังสามารถคุยเรื่องงานกันรู้เรื่อง

เทคโนโลยี video conference อย่าง Google Meet, Microsoft Team หรือ Zoom นอกจากจะช่วยให้เราประชุมทางไกลจากคนละที่ได้แล้ว ยังมีฟีเจอร์ที่การประชุมแบบเจอหน้ากันจริง ๆ ทำไม่ได้ด้วย ซึ่งช่วยให้การประชุมมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นไปอีก

ตัวอย่างฟีเจอร์เหล่านั้น เช่น การอัดการประชุม ที่เมื่อจบการประชุมเราสามารถส่งให้คนที่ไม่ได้เข้าร่วมมาฟังเนื้อหาย้อนหลังได้, การแบ่งห้องย่อย ที่เหมาะสำหรับการจัด workshop หรือแบ่งกลุ่มเพื่อ brainstorm จากนั้นค่อยกลับมาคุยกันต่อในกลุ่มใหญ่ หรือการทำโพล เพื่อใช้สอบถามความเห็นของผู้เข้าประชุมสำหรับกำหนดทิศทางหรือหาข้อสรุปอะไรบางอย่าง

แต่หากมีความจำเป็นต้องเจอหน้ากันจริง ๆ ก็อย่าปฏิเสธการเจอหน้ากัน การประชุมที่เจอหน้ากันยังไงก็ดีกว่าการประชุมออนไลน์ เช่น การเจอกับผู้บริหารของลูกค้า, การแนะนำตัวหรือแนะนำทีมเป็นครั้งแรก หรือการประชุมที่ไม่ได้เน้นแค่คุยงาน แต่เป็นการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน การเจอหน้ากันจริง ๆ ย่อมเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

หลายคนที่ตารางงานแน่นขนัดไปด้วยการนัดคุยงาน อาจเจอปัญหาการถามเวลาว่างกลับไปกลับมา บางวันบางเวลาที่คุณว่าง อีกฝ่ายอาจมีนัดแล้ว หรือวันที่อีกฝ่ายว่าง คุณกลับยุ่งมาก ๆ ปัจจุบันมีซอฟต์แวร์ที่ช่วยแก้ไขปัญหานี้ ซึ่งคือ Calendly เป็นซอฟต์แวร์ที่ใช้ทำตารางนัดซึ่งเป็นที่นิยมมากที่สุดในโลก ซอฟต์แวร์นี้จะเชื่อมต่อกับ calendar ของคุณ ไม่ว่าจะเป็น Google Calendar, Microsoft Calendar หรือ iCloud Calendar

สิ่งที่คุณต้องทำคือส่งลิงค์ Calendly ของคุณไปให้คนที่คุณจะนัดเวลาประชุมด้วย ฝ่ายนั้นสามารถเช็กดูได้ว่าเวลาไหนคุณว่างหรือไม่ว่าง เมื่อฝ่ายนั้นเช็กตารางเวลาของตัวเองกับของคุณว่าว่างตรงกันแล้ว ก็สามารถนัดประชุมกับคุณได้เลย ทั้งคุณและเขาจะได้อีเมลยืนยันเวลานัด และเวลานั้นของทั้งสองฝั่งก็จะถูกจองเวลาไว้ ในอนาคตคนอื่นก็จะมาจองเวลาทับช่วงนั้นไม่ได้อีก


การให้ฟีดแบคเป็นขั้นตอนสำคัญในการทำงานให้มีประสิทธิภาพ เพราะเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น หรือแนะนำข้อผิดพลาดให้เห็นแนวทางแก้ไข แต่บางคนอาจกลัวการให้ฟีดแบคแก่คนอื่น เพราะกลัวจะเป็นการทำให้เกิดการผิดใจกัน ผู้เขียนได้แนะนำการให้ฟีดแบคมา 3 รูปแบบ

1. SKS Model

โดย SKS นี้ย่อมาจาก

S - Stop: อะไรที่ควรต้องหยุดทำ ไม่อย่างนั้นจะส่งผลเสียต่อตัวเองหรือทีม

K - Keep: อะไรที่ดีแล้ว และควรทำต่อไป

S - Start: อะไรที่หากเริ่มทำแล้วจะส่งผลดีต่อตัวเองและทีม

ตัวอย่างการให้ฟีดแบคแบบ SKS Model เช่น

ผมแนะนำให้คุณหยุดเก็บงานไว้กับตัวเองเพียงคนเดียว เพราะเดี๋ยวคุณจะทำงานไม่ทัน ผมชื่นชมในความตั้งใจในการทำงานของคุณ และอยากให้คุณตั้งใจแบบนี้ต่อไป  ผมขอแนะนำว่าให้คุณลองมอบหมายงานที่ไม่ด่วนให้กับทีมมาช่วยทำ

2. McKinsey Feedback Model

การให้ฟีดแบควิธีนี้จะมีรูปแบบดังนี้

เมื่อคุณทำ... มันทำให้ผมรู้สึก... ในอนาคตผมแนะนำให้คุณ...

ตัวอย่างการให้ฟีดแบคแบบ McKinsey เช่น

เมื่อคุณทำโปรเจค A ไม่เสร็จตามกำหนด มันทำให้ผมรู้สึกไม่สบายใจว่าเราจะไม่สามารถส่งมอบงานที่ดีแก่ลูกค้าได้ ในอนาคตผมแนะนำให้คุณมาปรึกษากับผมตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อหาวิธีการแก้ไขกัน

3. The Stanford Method

การให้ฟีดแบควิธีนี้แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ I like, I wish, What if

I like คือ ฉันชอบอะไรที่คุณทำ

I wish คือ ฉันคาดหวังว่าอะไรจะเกิดขึ้น

What if คือ จะเกิดอะไรขึ้นถ้าคุณทำ...

ตัวอย่างการให้ฟีดแบคแบบ Stanford Method เช่น

ผมชอบที่คุณนำเสนองานได้อย่างมั่นใจในเช้านี้ แต่อยากให้คุณพูดช้าลงกว่านี้หน่อย ถ้าคุณใช้เวลาอธิบายแต่ละเนื้อหาให้นานอีกนิด ผมว่าจะช่วยให้ทุกคนเข้าใจเนื้อหาได้มากขึ้น

Productivity ไม่ได้ใช้ได้กับเรื่องการทำงานเพียงอย่างเดียว สามารถนำไปใช้กับการเรียนให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นได้ และการเรียนรู้ก็ไม่ได้จำกัดอยู่กับเพียงนักเรียนหรือนักศึกษา การเรียนรู้ไม่ได้มีอยู่แค่ไหนห้องเรียน มีความรู้ใหม่ ๆ เกิดขึ้นทุกวัน เรามารู้เทคนิคที่ทำให้เราเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพกันครับ

1. สรุปสิ่งที่เรียนรู้

จากหนังสือ The Power of Output ซึ่งเขียนโดยชิออน คาบาซาวะ ซึ่งเป็นจิตแพทย์ชาวญี่ปุ่นได้บอกไว้ว่า ถ้าคุณอยากให้สิ่งที่เรียนรู้ถูกจัดเก็บไว้ในสมอง ให้คุณตั้งเป้าหมายไว้แต่แรกเลยว่าเมื่อเรียนรู้จบจะสรุปเนื้อหาออกมา ซึ่งการสรุปเนื้อหาสามารถทำได้หลายวิธีทั้งเขียนออกมา โพสต์ลงโซเชียลเน็ตเวิร์ค หรืออัดเป็นคลิปวิดีโอ  ถ้าคุณตั้งเป้าหมายว่าจะสรุปเนื้อหาเวลาคุณเรียนรู้อะไรสักอย่าง คุณจะมีเรดาร์อยู่บนหัวที่จะทำหน้าที่จับประเด็นหลักในเนื้อหาเพื่อเอาไปทำคอนเทนต์ต่อ


2. สมัครทดสอบวัดระดับความรู้

งานชิ้นเดียวกัน ถ้าให้เวลาทำ 7 วัน คนก็จะทำให้เสร็จภายใน 7 วัน แต่ถ้าให้เวลา 24 ชม. คนก็จะทำเสร็จภายใน 24 ชม. เหมือนกัน ไม่มีอะไรเป็นตัวเร่งให้คุณทำสิ่งต่าง ๆ ได้ดีขึ้นเท่ากับเดดไลน์อีกแล้ว หากคุณอยากเรียนรู้อะไรสักอย่างแบบเข้มข้น ให้ลองสมัครทดสอบวัดระดับความรู้ เช่น หากอยากเก่งภาษาอังกฤษให้สมัครสอบ TOELF, IELTS หรือ TOEIC โดยเผื่อเวลาให้ตัวเองเรียนรู้ไม่นานเกินไปหรือสั้นเกินไป ยิ่งใกล้เดดไลน์วันสอบมากเท่าไหร่ คุณจะยิ่งมีกำลังใจที่จะเรียนรู้มากเท่านั้น


3. จดดีกว่าจำ

ถ้าคุณให้สมองจดจำ เวลาผ่านไป 2-3 วัน หรือ 1 สัปดาห์คุณอาจยังจำได้อยู่ แต่หากผ่านไป 1 เดือนหรือ 1 ปีคุณอาจจำเนื้อหาต่าง ๆ ไม่ได้แล้ว แต่หากคุณจดทุกอย่างที่เรียนรู้ไว้ แม้จะผ่านไปนานแค่ไหนคุณก็สามารถกลับมาอ่านสิ่งที่เรียนรู้ไว้ได้ตลอด ในยุคดิจิตอลคุณอาจชินกับการจดโน้ตลง Google Keep, OneNote หรือ Notion แต่การจดด้วยมือใส่ลงในกระดาษ เหมาะกับการเรียนรู้มากกว่าพิมพ์จากคีย์บอร์ดครับ


4. จดเป็นภาพ

90% ของข้อมูลที่ประมวลผลในสมองคือภาพ สมองคนเราใช้เวลาเพียง 13 มิลลิวินาทีในการประมวลผลภาพ และประมวลผลภาพเร็วกว่าข้อความ 60,000 เท่า จากสถิติบอกว่าคน 80% จำสิ่งที่ตัวเองเห็นได้, 20% จำสิ่งที่อ่านได้ และ 10% จำสิ่งที่ฟังได้ สถิติเหล่านี้บอกว่าภาพสำคัญต่อการจดจำมาก หากคุณอยากให้ตัวเองจำสิ่งที่เรียนรู้มาได้แม่นขึ้น ในโน้ตที่คุณจดลงกระดาษให้วาดรูปเสริมไปด้วย ไม่จำเป็นต้องวาดสวย เน้นวาดเป็นสัญลักษณ์ สามเหลี่ยม, สี่เหลี่ยม, วงกลม อยากหากวาดคน วาดเป็นคนก้างปลาได้


5. ลงมือทำ

การอ่านหรือฟังไม่ได้ช่วยให้คุณเรียนรู้ได้มากเท่ากับการลงมือทำ หากคุณดูคลิปสอนทำอาหาร แต่ไม่ลงมือลองปรุงเมนูนั้นขึ้นมาเอง คุณก็ไม่อาจทำอาหารให้อร่อยได้ หรือหากคุณดูคลิปสอนทำเว็บไซต์ แต่ไม่ลองเขียนเว็บไซต์ขึ้นมาเองบ้าง คุณก็ไม่มีทางมีเว็บไซต์เป็นของตัวเอง ถ้าคุณอยากทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ดีขึ้น การลงมือฝึกฝนเป็นสิ่งสำคัญครับ


6. สอนคนอื่น

วิธีการเรียนรู้ที่ดีที่สุดคือการสอน เพราะการสอนไม่ใช่เพียงการบอกเล่าเรื่องที่คุณรู้ แต่สิ่งสำคัญคือคุณต้องเรียบเรียงเนื้อหาที่คุณรู้ ถ่ายทอดออกมาให้เข้าใจง่ายและเหมาะสมกับผู้เรียน หากคุณคิดว่าตัวเองรู้ไม่มากพอ หรือคิดว่าพูดไม่รู้เรื่องเกินกว่าจะไปสอนใครได้ คุณเพียงแค่กลัวและคิดไปเองเท่านั้น คุณไม่ต้องเก่งระดับ 10 เพื่อสอนคนที่มีความรู้ระดับ 1 คุณมีความรู้เพียงระดับ 3-4 ก็สามารถสอนคนอื่นได้แล้ว เพราะถ้าเอาแต่คนระดับ 10 มาเป็นครู โลกนี้คงเต็มไปด้วยนักเรียน เพราะคนเก่งระดับ 10 หากยาก และคนเก่งระดับ 10 ที่สอนเป็นด้วยยิ่งหากยากเข้าไปอีก


ชีวิตคนเราไม่ได้มีแค่เรื่องงาน คนเราต้องแสวงหาความสุขด้านอื่นกันด้วย และจุดเริ่มต้นที่สำคัญมาก ๆ ของทุกความสุข เริ่มต้นมาจากสุขภาพที่ดี โดยสุขภาพนั้นหมายความถึงทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต ทั้งสองสิ่งนี้แยกออกจากกันไม่ได้ ถ้าคุณร่างกายแข็งแรง แต่จิตใจห่อเหี่ยว คุณก็ไม่มีแรงบันดาลใจจะนำร่างกายที่แข็งแรงไปหาความสุข หรือหากสุขภาพจิตคุณดีมาก แต่ร่างกายไม่แข็งแรง หรือมีอาการออฟฟิศซินโดรม สุดท้ายความเจ็บป่วยทางกายก็จะบั่นทอนกำลังใจคุณไปทีละน้อย ๆ

ผู้เขียนได้แชร์ประสบการณ์ว่าตัวเองไม่เคยสนใจเรื่องการตรวจเช็กร่างกาย แต่พออายุเลย 20 เป็นต้นมา โรคจากพันธุกรรมก็มาเยือน ซึ่งคือโรคเกาต์ ที่ผ่านมาร่างกายของผู้เขียนส่งสัญญาณเล็ก ๆ น้อย ๆ ออกมาเตือนตลอด แต่ผู้เขียนไม่ได้สนใจ เรียกว่าไม่เห็นโลงศพไม่หลั่งน้ำตา ผู้เขียนแนะนำให้ตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง อาจเสียเงินและเสียเวลาสัก 2-3 ชม. แต่ก็ช่วยรักษาเงินก้อนใหญ่และเวลามหาศาล หากเกิดป่วยหนักและต้องเข้าโรงพยาบาลไปรักษาตัว

องค์การอนามัยโลกเคยกล่าวไว้ว่า “There is no health, without mental health. ไม่มีสุขภาพที่ดีถ้าปราศจากสุขภาพจิตที่ดี” เมื่อเทียบกับสุขภาพกายแล้ว สุขภาพจิตดูแลยากกว่าเพราะมักไม่มีอะไรแสดงออกมาอย่างเด่นชัดว่าคุณกำลังมีปัญหา

คนที่ชอบพัฒนาตัวเองและทำตัวให้ productive อยู่ตลอดเวลามีโอกาสเจอความเครียดและความกดดันมากเป็นพิเศษ และหลายคนทำพลาดโดยการเก็บความเครียดนี้ไว้กับตัว เพราะคิดว่าความเครียดมาเป็นครั้งคราว พักไม่นานก็หากไป แต่สุขภาพจิตก็เหมือนสุขภาพกายที่ต้องการการดูแล ทุกคนมีโอกาสที่จะเป็นโรคที่เกี่ยวข้องทางจิตได้เหมือนกับเป็นโรคที่เกี่ยวข้องทางกาย

การไปปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตบำบัดไม่ควรมองว่าเป็นเรื่องแปลก ให้มองว่าเหมือนคุณไปหาหมอตอนเป็นแผล แตกต่างเพียงแค่แผลทางใจกับแผลทางกาย คุณไม่จำเป็นต้องรอให้ตัวเองถึงขั้นจิตตก แม้เครียดเพียงเล็กน้อยก็สามารถไปพบจิตแพทย์ได้ มีโรงพยาบาลหลายแห่งที่ให้บริการด้านสุขภาพจิต และประกันสังคมก็ครอบคลุมค่าใช้จ่ายด้านนี้ด้วย หรือหากคุณยังไม่สะดวกไปโรงพยาบาลก็สามารถใช้บริการ Ooca ซึ่งเป็นบริการปรึกษาจิตแพทย์ออนไลน์


พาร์ทที่กำลังจะเล่าต่อไปนี้เป็นพาร์ทที่ผมชอบที่สุดในหนังสือ เป็นเรื่องของคน 7 แบบที่ควรคบ และคน 7 แบบที่ควรหนีให้ห่าง พาร์ทนี้ชวนให้คิดถึงตัวเองว่ารอบตัวเรามีเหล่าคนที่ดีกับเราบ้างหรือยัง เราพยายามรักษาพวกเขาไว้ไหม แล้วคนที่ toxic เรายังจำเป็นต้องอยู่ใกล้พวกเขาหรือเปล่า มาเริ่มต้นที่คน 7 แบบที่ควรคบ

คน 7 แบบที่ควรคบ

1. คนที่ส่งต่อพลังบวก

ลองคิดดูว่ารอบตัวคุณมีคนที่ทำให้คุณรู้สึกสบายใจ กระปรี้กระเปร่า รู้สึกมีพลังทุกครั้งที่ได้เจอหรือคุยกันบ้างหรือเปล่า ถ้ามีให้เก็บคนแบบนี้ไว้ข้างกาย ไปพบเจอและพูดคุยกับพวกเขาให้บ่อยเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะคุณจะได้พลังบวกและสิ่งดี ๆ จากพวกเขา เมื่อคุณได้รับพลังบวกมาก็มีโอกาสที่คุณจะเป็นฝ่ายส่งต่อพลังบวกบ้าง


2. คนที่คุยถึงความฝัน โอกาส และอนาคต

ไม่ว่าจะพูดคุยกันถึงความฝันของคุณหรือของเขา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ดูยากหรือเพ้อฝัน แต่มันจะช่วยเปิดโลกให้กับคุณ ทำให้คุณเห็นภาพกว้างและแตกต่างไปจากเดิม และคุณอาจได้โอกาสในการต่อยอดในอนาคตอีกด้วย


3. คนที่มี Integrity

คำว่า integrity แปลเป็นไทยได้ว่า “การทำตัวถูกต้องตามคุณธรรมและจริยธรรม” โดย integrity ประกอบด้วยคุณสมบัติ 3 ข้อคือ 1) Honesty มีความซื่อสัตย์ ไม่คดโกง 2) Responsibility มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย และ 3) Accountability สามารถไว้เนื้อเชื่อใจได้ หากเกิดปัญหาจะจัดการเป็นอย่างดี คนที่มี integrity คุณควรคบไว้ เพราะเป็นคนที่ไว้ใจได้


4. คนที่จะ Be there ให้เรา

เวลามีปัญหาคุณมีคนที่ให้ไปปรึกษาได้ไหม คนแบบนี้เป็นคนประเภทที่ว่า “ถ้าไม่มีปัญหา ไม่ต้องมาหาก็ได้ แต่ถ้าเกิดอะไรขึ้นเราอยู่ตรงนี้เสมอ” คำแนะนำเพิ่มเติมคือคุณควรแวะเวียนไปหาคนแบบนี้ในเวลาปกติบ้าง ไม่อย่างนั้นคุณจะกลายเป็นคนส่งพลังลบให้พวกเขา คุยกันทีไรก็เอาแต่ปัญหาไปให้


5. คนที่จริงใจ

คนที่พูดอย่างที่คิด คิดอย่างที่พูด และหวังดีกับคุณ การมีคนที่จริงใจอยู่รอบตัว ทำให้คุณมีกำลังใจเพิ่มมากขึ้น ไม่เห็นผิดเป็นชอบ เหมือนมีกระจกส่องให้คุณเห็นพฤติกรรมของตัวเองอยู่เสมอ


6. คนที่เก่งกว่าคุณ

การคบหรือใช้เวลากับคนที่เก่งกว่า คุณเองก็จะเก่งขึ้นและดีขึ้นเช่นเดียวกัน คนเก่งที่ว่าคือคนที่เก่งกว่าคุณในเรื่องที่คุณอยากรู้ หรือมีประสบการณ์ผ่านร้อนผ่านหนาวมามากกว่าคุณ


7. คนที่ต้องการความช่วยเหลือจากคุณ

ไม่ใช่ต้องคบแต่คนที่เก่งกว่าคุณเท่านั้น บางทีคุณต้องคบคนที่ต้องการพึ่งพาหรือคำปรึกษาจากคุณ เพราะการได้เป็นฝ่ายช่วยทำให้ให้คุณรู้สึก fullfill รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าและมีประโยชน์ และในอนาคตบทบาทอาจสลับกัน คุณอาจเป็นฝ่ายต้องขอคำช่วยเหลือหรือคำปรึกษาจากเขาบ้างก็เป็นได้ ซึ่งคุณจะได้รับการช่วยเหลืออย่างเต็มใจ


คน 7 แบบที่ควรหนีให้ห่าง

1. คนที่โลกหมุนรอบตัวเอง

คนแบบนี้คิดว่าความคิดของตัวเองถูกต้องที่สุด ไม่เปิดใจรับฟัง ถ้าคุณใช้เวลากับคนประเภทนี้มาก ๆ เขาจะฉุดให้โลกของคุณหมุนตามโลกของเขา คุณต้องคอยปรับตัวให้เข้ากับเขาอยู่ร่ำไป โดยที่เขาไม่ปรับตัวเข้าหาคุณเลย


2. คนที่คิดลบ

เป็นคนที่มองสิ่งต่าง ๆ เป็นอุปสรรค เป็นปัญหา บ่นได้กับทุกเรื่อง บ่นกับทุกอย่าง บ่นกับทุกคน บ่นกับสิ่งเล็ก ๆ บ่นกับอากาศร้อน บ่นอาหารไม่อร่อย พลังลบเช่นนี้ส่งต่อกันได้ คุณต้องเลี่ยงคนแบบนี้ไว้ให้ห่าง และพยายามอย่าเป็นคนแบบนี้


3. คนที่หยิ่งผยอง

ในเวลาปกติความหยิ่งผยองหรือ ego ควรเก็บเอาไว้ในใจ ถ้าคุณเจอใครที่คิดว่าตัวเองรู้เยอะ เก่งที่สุด ทำถูกเสมอ คุณจะเหนื่อยหน่ายและเห็นคุณค่าในตัวเองน้อยลงได้ ทั้งนี้ทั้งนั้นหากใช้ ego ให้ถูกจังหวะก็เป็นเรื่องที่ดี ซึ่ง ego จะกลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า “ความมั่นใจ”


4. คนที่ไม่จริงใจ

คือคนที่ปากอย่างใจอย่าง คุณไม่มีทางรู้ว่าสิ่งที่เขาพูดกับสิ่งที่เขาทำนั้นส่งผลดีต่อคุณจริง ๆ หรือเปล่า การคบคนแบบนี้ทำให้คุณต้องระแวงอยู่ตลอดเวลา


5. คนที่นินทาว่าร้าย

คือคนที่ชอบมานินทาเรื่องของคนอื่นให้คุณฟัง โดยที่เรื่องนั้นไม่ส่งผลหรือเกี่ยวข้องกับชีวิตของเขาหรือคุณเลย และคนที่นินทาเรื่องคนอื่นได้ เขาก็เอาคุณไปนินทาให้คนอื่นฟังได้เหมือนกัน


6. คนที่เอาเปรียบ

คือคนที่ต้องการเอาในส่วนที่เขาไม่สมควรจะได้ หรือผลักภาระส่วนที่เขาต้องรับผิดชอบมาให้คุณ


7. คนที่โมโหร้าย ควบคุมตัวเองไม่ได้

EQ หรือความฉลาดด้านอารมณ์เป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนต้องบริหาร คุณควรหนีให้ห่างคนที่ชอบด่า ชอบพูดจาถากถาง คนที่อารมณ์โกรธมาเต็มตอนมีเรื่องกระทบกระทั่งแม้เพียงเล็กน้อย


บทสุดท้ายผู้เขียนพูดถึงการนำ productivity มาใช้กับการใช้ชีวิต การพยายามทำให้ตัวเอง productive ทำตัวเองให้ดีขึ้น เก่งขึ้น ทำงานได้มากขึ้น บางทีก็ทำให้รู้สึกเครียด เหมือนเหยียบคันเร่งอยู่ตลอดเวลา บทสุดท้ายผู้เขียนจึงให้ทิปในการผ่อนจังหวะชีวิตให้ช้าลง ชวนให้หันมาเข้าใจธรรมชาติและสัจธรรมของชีวิต ตัวอย่างเช่นการจ่ายเงินซื้อเวลา ระหว่างการขึ้นรถไฟฟ้าแล้วไปต่อรถเมล์ต่อวินมอเตอร์ไซค์ รวม ๆ แล้วอาจจ่ายถูกกว่านั่งรถแท็กซี่ต่อเดียวถึง แต่หากคุณนั่งแท็กซี่คุณจะประหยัดเวลาที่ต้องอยู่บนถนนไปถึง 1-2 ชม. เลย เวลาเป็นสิ่งที่มีค่ามากกว่าเงิน เพราะเวลาผ่านไปแล้วเอากลับคืนมาไม่ได้ แต่เงินจ่ายออกไปแล้วยังหาเข้ามาใหม่ได้

การมีเป้าหมายและพยายามไปให้ถึงเป้าหมายนั้นเป็นเรื่องที่ดี และระหว่างทางคุณควรเฉลิมฉลองให้กับความสำเร็จเล็ก ๆ น้อย ๆ บ้าง เพื่อให้มีกำลังใจเดินไปต่อได้ ตัวอย่างความสำเร็จเล็ก ๆ เช่น ปิดการขายได้สำเร็จ, ถูกเชิญให้ไปสัมภาษณ์งาน หรือออกกำลังกายได้ติดต่อกัน 7 วัน เป็นต้น การเฉลิมฉลองอาจจะเป็นการไปกินอาหารที่ตัวเองอยากกิน

กล้าที่จะพูด “ไม่” หรือ say no ให้บ่อยกว่าเดิม หากสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ใช่ และไม่ใช่เส้นทางที่คุณต้องการไป ซึ่งจะทำให้คุณ say yes ให้กับสิ่งที่ใช่หรือสิ่งที่คุณอยากทำได้มากขึ้น

อย่าพยายามทำให้ทุกคนพอใจ เอาเวลาไปแคร์กับคนที่คุณควรแคร์ และอย่าพยายามควบคุมสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ แม้แต่ตัวคุณเองก็อาจจะควบคุมตัวเองไม่ได้ในบางครั้ง ต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์บ้าง

ในความคิดเห็นของผม หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่ดีสำหรับคนที่ต้องการเริ่มต้นเพิ่มความ productive ให้ตัวเอง หนังสือแนะนำแนวคิดและแนวปฏิบัติให้นำไปทำตามได้ง่าย แนะนำเทคโนโลยีที่ช่วยให้จัดการด้านงานและชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ผู้เขียนเป็นคนที่อ่านหนังสือมาเยอะมาก ตลอดทั้งเล่มกล่าวถึงแนวคิดจากนักเขียนคนอื่นไว้เยอะมาก เป็นการแนะนำกลาย ๆ ว่าถ้าเราสนใจศึกษาแนวคิดเหล่านี้จะสามารถไปตามอ่านต่อได้จากไหน ผมแนะนำหนังสือเล่มนี้มากครับ เป็นหนังสือที่มีประโยชน์ อ่านง่าย เนื้อหากระชับ หนังสือ “Productivity Flow ภาวะลื่นไหล ทำอะไรก็ง่ายหมด” เขียนโดย สิทธินันท์ พลวิสุทธิ์ศักดิ์ หรือ คุณแบงค์ เจ้าของเว็บไซต์ content Shifu จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์อะไรเอ่ย ราคา 395 บาท