กัมพูชาพริบตาเดียว - เดินทางใกล้บ้าน เพื่อไปชมสิ่งก่อสร้างสุดยิ่งใหญ่จากฝีมือมนุษย์ในอดีต

กัมพูชาพริบตาเดียว - เดินทางใกล้บ้าน เพื่อไปชมสิ่งก่อสร้างสุดยิ่งใหญ่จากฝีมือมนุษย์ในอดีต

หลังจากชื่นชอบบันทึกการเดินทางที่เขียนโดยนิ้วกลมมาจาก นั่งรถไฟไปตู้เย็น และตามด้วย โตเกียวไม่มีขา ผมก็ตั้งใจว่าจะตามอ่านบันทึกการเดินทางของเขาให้หมด เล่มต่อไปจึงเลือก กัมพูชาพริบตาเดียว มาอ่าน เพราะเป็นประเทศใกล้บ้าน เคยเล็งไว้ว่าจะไปเที่ยว และขนาดของเล่มนี้ก็ไม่หนามาก น่าจะเหมาะกับเอามาอ่านคั่นเวลา

เล่มนี้คุณนิ้วกลมเดินทางไปกัมพูชาคนเดียว เพราะชวนเพื่อนไปด้วยไม่ได้สักคน อาจเพราะกัมพูชาอยู่ใกล้บ้านเราเกินไป สิ่งที่ประเทศนี้มีไม่น่าดึงดูดใจให้ออกเดินทางไปชมมากพอ การเดินทางครั้งนี้คุณนิ้วกลมเดินทางด้วยพาหนะทางบก นั่งรถทัวร์ไปที่ตลาดโรงเกลือ แล้วนั่งรถเมล์ข้ามชายแดน จากนั้นหารรถแท็กซี่เข้าไปยังเสียมราฐ

คุณนิ้วกลมบรรยายความทุรกันดารของถนนที่มุ่งไปยังเสียมราฐได้อย่างเห็นภาพ อ่านแล้วรู้สึกถึงอากาศร้อน ฝุ่นคุกรุ่น และความขรุขระของถนนที่โยกผู้โดยสารตลอดเวลา เล่มนี้เขียนประสบการณ์เมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว หวังว่าอีกไม่กี่ปีถ้าผมไปบ้าง การคมนาคมของกัมพูชาอาจจะดีกว่านี้

ผมได้ยินชื่อเสียงของนครวัดนครธมมาตั้งแต่เด็ก ในความคิดของผมมันคือสิ่งก่อสร้างด้วยหินที่พุพัง ไม่ได้ดึงดูดใจให้ถ่อไปดูด้วยตาตัวเองนัก แต่คิดว่าครั้งนึกก็อยากไปให้ check list มันสำเร็จ ไม่ได้วางแผนว่าจะไปเมื่อไหร่ดี ซึ่งพอได้อ่านบันทึกการเดินทางเล่มนี้ทำให้ผมอยากไปเยี่ยมนครวัดนครธมปีนี้ปีหน้าเลย

คุณนิ้วกลมบรรยายถึงปราสาทหินได้อย่างยิ่งใหญ่ จินตนาการถึงพลังที่เขาได้สัมผัสขณะได้เห็นสิ่งก่อสร้างนี้ และอยากไปสัมผัสพลังนั้นด้วยตาตัวเองบ้าง สำหรับคนยุคนั้นการขนหินก้อนใหญ่ ๆ จากที่หนึ่งมาอีกที่นั้นยากมาก ยุคสมัยที่ไม่มีเครื่องจักร เครื่องไม้เครื่องมือสำหรับขุดเจาะก็ไม่ได้ใช้ไฟฟ้าทุ่นแรงเหมือนสมัยนี้

คุณนิ้วกลมบรรยายถึงความอุตสาหะของแรงงาน ชวนให้คิดว่าพวกเขาเต็มใจมาสร้างปราสาทที่จะเป็นสุสานของกษัตริย์ในสมัยนั้นหรือไม่ หยาดเหงื่อแรงกายและน้ำตาหลั่งไหลจากคนเหล่านี้ไม่รู้กี่หมื่นกี่แสนลิตร เพื่อสร้างปราสาทสนองความต้องการป่าวประกาศความยิ่งใหญ่ของตัวเองของกษัตริย์ ซึ่งปราสาทเหล่านั้นก็แพ้ให้ลมฟ้าฝน แพ้ให้ธรรมชาติ จนความปราณีตสวยงามสึกหรอ ชีวิตคนหลายพันคนต้องมาทำอะไรเพื่อสิ่ง ๆ หนึ่งที่สุดท้ายก็สูญหายไปงั้นเหรอ พวกเขาไม่ถูกจดจำด้วยซ้ำ

เล่มนี้อ่านได้เรื่อย ๆ มีจุดที่ผมไม่ชอบอยู่บ้าง ตรงที่คุณนิ้วกลมตัดสินคนอื่น อย่างตอนที่มีฝรั่งสาวคนหนึ่งนั่งพักที่ปราสาท หลังจากเดินดูมาเหนื่อย ๆ คุณนิ้วกลมเห็นคนญี่ปุ่นบอกให้ฝรั่งสาวขยับได้ไหม มันบังวิวที่เขาจะถ่ายรูป แต่ฝรั่งสาวไม่ยอม คุณนิ้วกลมก็เขียนว่าเขาใจดำ ไม่มีน้ำใจ เรื่องเล็ก ๆ แค่ขยับที่นั่งให้คนอื่นมีความสุขจะทำให้เพื่อนมนุษย์ด้วยกันไม่ได้เหรอ

แต่หากมองอีกมุม ฝรั่งสาวเขาเหนื่อย เขามีสิทธินั่งตรงไหนก็ได้ ปราสาทมีมุมสวย ๆ ตั้งเยอะ หลังหนึ่งถ่ายได้พัน ๆ มุม ทำไมคนญี่ปุ่นคนนั้นต้องเจาะจงจะถ่ายมุมนี้ด้วย การมาแขวะคนอื่นบนงานเขียนของตัวเองผมว่าไม่น่ารัก

และไม่ชอบอีกจุดที่คิดแทนชาวบ้านที่โตนเลสาบ คุณนิ้วกลมบอกว่าสถานที่นี้เหม็นกลิ่นน้ำเน่า บรรยายชวนให้คิดถึงสลัม ซึ่งคนปกติถ้าเลือกได้คงไม่ยากมาอยู่ที่แบบนี้ คุณนิ้วกลมก็ถามเด็กแถวนั้นว่าคิดยังไงกับที่นี่ เด็กก็ตอบว่าชอบที่นี่ คุณนิ้วกลมก็บอกว่าเห็นไหมล่ะ อย่ามาคิดแทนคนโตนเลสาบสิว่าอยู่ที่นี่แล้วไม่มีความสุข แต่ผมมองว่าคนแถวนี้คงชินกับสภาพความเป็นอยู่ อะไรที่พัฒนาได้ทำไมจะไม่พัฒนามันล่ะ หมดยุคการ romanticize ความทุกข์ ความจนแล้ว บางคนอาจพอใจและมีความสุขกับปัจจุบัน แต่ถ้ามันยังสุขได้อีก ผมว่าก็ควรเรียกหาความสุขนั้นนะ

สรุปเป็นอีกเล่มที่อ่านได้เพลิน ๆ มีจุดที่ไม่ชอบบ้าง ซึ่งก็เป็นทัศนคติของคุณนิ้วกลมเมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว ถ้าเขากลับมาอ่านเล่มนี้อีกครั้งอาจอยากหยิกตัวเองก็ได้ แต่โดยรวมอ่านแล้วผลักดันให้อยากไปดูนครวัดนครธมด้วยตาตัวเองสักครั้งครับ