กินกบตัวนั้นซะ - เทคนิคเลิกผัดวันประกันพรุ่ง ทำงานได้เสร็จไวขึ้น

กินกบตัวนั้นซะ - เทคนิคเลิกผัดวันประกันพรุ่ง ทำงานได้เสร็จไวขึ้น

คุณเป็นเหมือนกันไหม? มีสิ่งที่ต้องทำในชีวิตมากเกินไป แต่มีเวลาน้อยเกินไป ตอนที่พยายามดิ้นรนทำทุกอย่างให้ลุล่วง งานใหม่ ๆ ก็ประดังเข้ามาเป็นสึนามิ งานบางอย่างเลยเสร็จช้า หรืออาจถึงขั้นเสียงานไปเลยก็ได้ ผู้เขียนเปรียบเทียบงานเป็นกบ ใครไม่สะดวกอ่าน สามารถคลิกที่นี่เพื่อฟังแบบพอดแคสต์ได้ครับ

กฏข้อ 1 คือ "ถ้าคุณต้องกินกบ 2 ตัว ให้เลือกกินตัวที่น่าเกลียดที่สุดก่อน" หมายถึงถ้าคุณมีงานสำคัญรออยู่ 2 อย่าง ให้เลือกทำงานที่ใหญ่ ยาก และสำคัญที่สุดก่อน

กฏข้อที่ 2 "หากคุณต้องกินกบเป็น ๆ ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะนั่งจ้องมันนาน ๆ" หมายถึงให้ลงมือทำงานทันที เอาล่ะ! เรามาดูกันว่า 21 เคล็บลับในการบริหารเวลาขั้นเทพ นั้นมีอะไรบ้าง

1 - จัดโต๊ะ

การจัดโต๊ะที่ว่านี้ไม่ได้หมายถึงจัดโต๊ะทำงาน แต่หมายถึงจัดภาพให้หัวให้เป็นระเบียบและชัดเจน เพราะยิ่งเรามีความชัดเจนกับสิ่งที่ต้องการจะทำ เราจะเลิกผัดวันประกันพรุ่ง แล้วลงมือทำงานตรงหน้าให้สำเร็จลุล่วง

การผัดวันประกันพรุ่ง สาเหตุหลักมาจากความคลุมเครือ ความสับสน ความกำกวมว่าตัวเองกำลังพยายามทำอะไร ทำไปเพื่ออะไร ฉะนั้นถ้าไม่อยากผัดวันประกันพรุ่ง เราต้องทำให้เป้าหมายมีความชัดเจนขึ้นมาก่อน

มีสูตรอยู่ 7 ขั้นตอนในการนำไปใช้กำหนดเป้าหมาย จะเป็นเป้าหมายเรื่องงาน การออกกำลังการ การเรียน หรือเรื่องอะไรก็ได้

ตัดสินใจให้ชัดว่าคุณต้องการอะไร ซึ่งอาจจะตัดสินใจเอง หรือปรึกษากับหัวหน้าได้ เกี่ยวกับเป้าหมายและจุดประสงค์ของคุณ เพื่อที่จะเดินไปสู่ความเจริญก้าวหน้าได้ถูก อย่าก้มหน้าก้มตาทำงานที่ไม่ค่อยมีค่าไปวัน ๆ | สตีเฟน โคเวย์ กล่าวว่า "ก่อนที่คุณจะไต่บันไดแห่งความสำเร็จขึ้นไป จงแน่ใจเสียก่อนว่าบันไดนั้นพาดไปยังฝั่งที่ถูกต้อง"

เขียนมันออกมา เมื่อรู้เป้าหมายแล้วให้เขียนลงกระดาษให้ชัดเจนและจับต้องได้ เพราะเป้าหมายที่ไม่ได้เขียนออกมาจะเป็นเพียงความฝันและจินตนาการที่ไร้พลัง รังแต่จะสร้างความสับสน พาคุณหลงทางเอาได้

กำหนดเดดไลน์ ถ้าเป้าหมายของคุณไม่มีจุดเริ่มต้นและสิ้นสุด คุณก็จะผัดวันประกันพรุ่ง และทำอะไรไม่เสร็จเลยสักอย่าง

ระบุสิ่งที่ต้องทำเป็นข้อ ๆ เมื่อนึกอะไรใหม่ ๆ ออก ก็ทะยอยเขียนลงไป คุณจะได้เห็นภาพรวมของสิ่งที่ต้องทำ ได้มีเส้นทางให้ก้าวเดินไปข้างหน้า

วาดมายแมปปิ้ง นำสิ่งที่ต้องทำที่เขียนไว้เมื่อข้อที่แล้วมาเขียนเป็น มายแมปปิ้ง ว่าต้องทำอะไรก่อนหลัง อะไรต้องทำทันที อะไรเก็บไว้ทำทีหลังได้ เมื่อเราชำแหละมันให้เป็นงานชิ้นเล็กชิ้นน้อย ก็จะเห็นว่าการบรรลุเป้าหมายนั้นง่ายแค่ไหน

ลงมือทำทันที ทำอะไรสักอย่างก็ได้ เพราะการลงมือทำถือเป็นหัวใจสำคัญ

ตั้งใจแน่วแน่ว่าจะทำอะไรสักอย่างทุกวัน ทำให้เป็นกิจวัตร เช่น กำหนดจำนวนหน้าของหนังสือที่จะอ่านในแต่ละวัน จำนวนลูกค้าที่จะโทรหา จำนวนชั่วโมงการออกกำลังกาย จำนวนคำศัพท์ภาษาใหม่ ๆ ที่จะท่อง

การมีเป้าหมายเป็นลายลักษณ์อักษรจะจูงใจและปลุกเร้าให้คุณลงมือทำ และกำจัดการผัดวันประกันพรุ่งได้

2 - วางแผนแต่ละวันเอาไว้ล่วงหน้า

การรู้จักวางแผนให้ดีก่อนลงมือทำ คือตัวชี้วัดความสามารถของคุณ หากคุณมีแผนที่ดีและเริ่มลงมือทำ คุณก็จะพุ่งทะยานไปข้างหน้าได้ง่ายขึ้น

ขั้นแรกคุณควรทำรายการหลักที่รวบรวมทุกอย่างที่คุณอยากทำในอนาคต บันทึกทุกอย่างที่นึกออกลงไป

ขั้นสองทำรายการประจำเดือน ซึ่งควรทำตอนปลายเดือนเพื่อวางแผนสำหรับเดือนถัดไป โดยอาจย้ายงานจากรายการหลักมาใส่ก็ได้

ขั้นสามทำรายการประจำสัปดาห์ ซึ่งควรทำตอนปลายสัปดาห์เพื่อวางแผนสำหรับสัปดาห์ถัดไป

ขั้นสุดท้ายให้ย้ายงานจากรายการประจำเดือนและประจำสัปดาห์ มาใส่ในรายการประจำวันที่คุณต้องทำให้เสร็จในวันถัดไป เมื่อหมดวันให้ขีดฆ่างานที่เสร็จ จะช่วยให้เห็นความสำเร็จได้ชัดเจนขึ้น และทำให้คุณรู้สึกดีต่อตัวเอง หากมีงานที่ยังไม่เสร็จให้ใส่รวมไปในรายการประจำสันของวันพรุ่งนี้

3 - ใช้กฏ 80/20 กับทุกเรื่อง

ข้อนี้เป็นเรื่องของการจัดลำดับความสำคัญของงาน ถ้าเรามีงานต้องทำสิบอย่าง แต่ละอย่างใช้เวลาทำเท่า ๆ กัน มันจะมีงานแค่ 1 หรือ 2 อย่างเท่านั้นที่มีประโยชน์มากกว่างานอื่น ๆ 5-10 เท่า ให้เราเริ่มทำงานพวกนี้ก่อน

4 - คำนึงถึงผลลัพธ์ที่ตามมา

การคิดในระยะยาว ช่วยให้ตัดสินในระยะสั้นได้ดีขึ้น เพราะสิ่งสำคัญจะก่อให้เกิดผลลัพธ์ในระยะยาว ส่วนสิ่งไม่สำคัญแทบจะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบในระยะยาวเลย ดังนั้นก่อนเริ่มทำงานให้ถามตัวเองก่อนว่า "อะไรคือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการทำหรือไม่ทำงานนี้"

จุดมุ่งหมายในอนาคตกำหนดการกระทำในปัจจุบัน ยิ่งจุดมุ่งหมายในอนาคตคุณชัดเจนมากเท่าไหร่ คุณยิ่งเห็นสิ่งที่ต้องทำในปัจจุบันมากเท่านั้น เพื่อให้สอดคล้องกับสิ่งที่คุณอยากให้เกิดขึ้นจริง ๆ ในอนาคต

ถ้ามีงานไหนที่น่าจะก่อให้เกิดผลกระทบในแง่บวกให้จัดลำดับความสำคัญไว้สูงสุดแล้วลงมือทำทันที และถ้ามีงานไหนที่น่าจะก่อให้เกิดผลกระทบในแง่ลบหากไม่รีบทำให้เสร็จ ให้จัดลำดับความสำคัญไว้สูงสุดเช่นกัน

5 - ฝึกผัดวันประกันพรุ่งอย่างสร้างสรรค์

เราไม่มีทางทำงานทุกอย่างให้เสร็จได้ทั้งหมด เราต้องผัดวันประกันพรุ่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จงผัดผ่อนงานที่ไม่สำคัญและไม่ได้ส่งผลอะไรต่อชีวิตออกไปก่อน หรือไม่ก็จ้าง มอบหมายให้คนอื่นทำแทน หรือกำจัดมันทิ้งไปเลยได้ยิ่งดี

และเราควรรู้ว่างานอะไรที่พุ่งเข้ามาหานั้นสำคัญบ้าง ให้ปฏิเสธกับงานที่ไม่สำคัญไปเลย อย่างนุ่มนวลแต่หนักแน่น เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียเวลาให้ความสนใจกับมัน