Disneyland ทำอะไร ทำไมใครๆ ก็หลงรัก - ความลับของดิสนีย์แลนด์ที่ใช้ฝึกพนักงานมาแล้วกว่าหนึ่งแสนคน

Disneyland ทำอะไร ทำไมใครๆ ก็หลงรัก - ความลับของดิสนีย์แลนด์ที่ใช้ฝึกพนักงานมาแล้วกว่าหนึ่งแสนคน

หนังสือแนะนำ 50 เทคนิคในการนำมาปรับใช้กับตัวเอง ให้กลายเป็นคนที่คุยสนุก คนอื่นอยากเข้ามาหา มีความสุขกับการทำงานและการใช้ชีวิต

หนังสือเขียนโดยผู้ฝึกอบรมพนักงานของดิสนีย์แลนด์โตเกียว ผู้ที่ฝึกพนักงานมาแล้วกว่า 1 แสนคน ให้กลายเป็นพนักงานที่แขกผู้มาเยือนรักและอยากกลับมาเที่ยวที่ดิสนีย์แลนด์อีกครั้ง ใครไม่สะดวกอ่าน สามารถเปิดฟังแบบ podcast เพลิน ๆ ระหว่างทำอย่างอื่นไปได้ที่ลิงค์นี้ครับ สรุปหนังสือ - Disneyland ทำอะไร ทำไมใครๆ ก็หลงรัก

1 - ลองพูดเลียนเสียงมิกกี้ เมาส์

ในทางจิตวิทยาการใช้เสียงสูงจะทำให้รู้สึกดีและสบายใจ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือตอนที่ผู้ใหญ่คุยกับเด็กทารก ซึ่งเป็นการขึ้นเสียงสูงโดยอัตโนมัติ การพูดแบบนี้เกิดขึ้นในทุกภาษาทุกวัฒนธรรม

การที่สมัยเด็กเรามีความทรงจำที่ดีกับเสียงสูง ส่งผลให้เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ก็ยังคงรู้สึกสบายใจเมื่อได้ยินเสียงสูง ในทางกลับกันการใช้เสียงทุ้มต่ำเหมาะสำหรับการโนเมน้าวใจหรือสร้างความไว้วางใจ อย่างตอนที่ประชุมหรือนำเสนองาน การพูดช้า ๆ ด้วยเสียงทุ้มจะทำให้การพูดมีประสิทธิภาพมากขึ้น

2 - ค้นหาข้อดีของเพื่อนแล้วกล่าวชม

ที่ดิสนีย์แลนด์มีวัฒนธรรมกล่าวชมซึ่งกันและกัน เพื่อรักษาแรงจูงใจและความสุขในการทำงาน หัวหน้างานจะพกการ์ดสำหรับเขียนคำชมเมื่อเห็นเหตุการณ์ที่พนักงานบริการแขกได้อย่างยอดเยี่ยมก็จะเขียนคำชมส่งให้

พนักงานด้วยกันก็จะกล่าวชมเชยกันอย่างเป็นธรรมชาติด้วยคำทำนองว่า "ตอนนั้นคุณให้บริการแขกได้ดีมากเลยนะ" การยอมรับซึ่งกันและกันถือเป็นยาดีที่สุดในการเยียวยาพนักงานที่มีแรงจูงใจในการทำงานต่ำ หรือรู้สึกว่างานที่ทำซ้ำซากจำเจ

คุณสามารถปลูกฝังวัฒนธรรมการชมเชยกันและกันได้ โดยมองหาข้อดีจากเพื่อนร่วมงานแล้วกล่าวชม ไม่มีใครรู้สึกแย่เมื่อถูกชม แถมความสัมพันธ์กับคนอื่นยังดีขึ้นอีกด้วย

แต่การชมกับการยกยอปอปั้นนั้นต่างกัน ถ้าเราเอาแต่ชมแบบเกินจริงก็จะถูกมองว่าเราเป็นคนประจบสอพอ วิธีกล่าวชมที่ดีคือชมในสิ่งที่เห็นชัดเจนว่าอีกฝ่ายทำอะไรออกมาดี จุดไหนที่ทำออกมาแล้วยอดเยี่ยม

3 - แทนที่จะใส่ใจกับการพูด ให้ตั้งใจฟังเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า

บนโลกนี้มีคนที่ขึ้นชื่อว่ารับฟังเก่ง พวกเขาจะมีบุคลิกที่คุยด้วยง่าย ทำให้เรากล้าคุยด้วยอย่างเปิดใจ ที่สำคัญคือพวกเขามักเป็นที่ชื่นชอบบของคนส่วนใหญ่ บางคนอาจคิดว่าการรับฟังเก่งเป็นพรสวรรค์ แต่จริง ๆ แล้วสิ่งนี้ฝึกกันได้

โดยเริ่มได้จากสบตากับอีกฝ่าย พูดตอบรับเป็นระยะเพื่อแสดงว่าเรากำลังฟังอยู่ มีปฏิกิริยากับเรื่องที่อีกฝ่ายเล่า เช่น ตกใจ ยิ้ม เพื่อแสดงความรู้สึกร่วม ถ้าอีกฝ่ายพูดโดยคิดว่าอยากให้เราเห็นด้วย เราสามารถเออออไปด้วยได้ หรือทวนคำพูดอีกฝ่าย เช่น อีกฝ่ายพูดว่า "วันนี้เหนื่อยมาเลย" เราก็ตอบกลับไปว่า "งั้นเหรอ วันนี้เหนื่อยมากเลยสินะ"

4 - กล่าวทักทายแบบที่ทำให้อีกฝ่ายสามารถตอบกลับได้

การเป็นคนที่คุยด้วยสนุก คุณจำเป็นต้องตั้งคำถามที่สามารถสื่อสารได้สองทาง ซึ่งเรียกว่าคำถามแบบปลายเปิด ที่จะถามว่า อะไร? ใคร? เมื่อไร? ที่ไหน? ทำไม? และอย่างไร? คำถามปลายเปิดจะช่วยให้ต่อบทสนทนาง่ายขึ้น ในทางตรงกันข้ามการถามคำถามที่สามารถตอบได้เพียง ใช่กับไม่ใช่ จะเรียกว่าคำถามปลายปิด

เวลาติดต่อเรื่องงาน คุณควรใช้คำถามปลายปิด เพื่อให้ได้คำตอบที่ชัดเจนและตรงประเด็น แต่ในเรื่องอื่น ๆ ควรใช้คำถามปลายเปิดเท่าที่จะทำได้

เช่น ตอนเช้าแทนที่จะพูดว่าอรุณสวัสดิ์ ให้ทักว่า "เสื้อสวยจัง ซื้อจากร้านไหน?" ก็จะเกิดการสื่อสารสองทางที่ต่อยอดการสนทนาออกไปได้อย่างกว้างขวาง ความประทับใจของอีกฝ่ายต่อตัวเราก็จะเพิ่มขึ้น

5 - รับฟังคำแนะนำอย่างเปิดใจ

คนที่ยอมเปิดใจรับฟังคำแนะนำของคนอื่นคือคนที่จะก้าวหน้าได้อย่างรวดเร็ว หากหัวหน้าหรือเพื่อนร่วมงานสอนอะไรบางอย่าง นั่นแสดงว่าพวกเขาคาดหวังในตัวคุณ แม้บางครั้งจะเข้มงวดหรือถูกตำหนิบ้าง แต่คุณต้องไม่แสดงท่าทีต่อต้าน และต้องยอมรับว่าตัวเองยังมีข้อบกพร่องอยู่

และถ้าคุณคิดกับอีกฝ่ายทำนองว่า "รู้สึกขอบคุณที่กล่าวตักเตือน" หรือ "ดีใจจังที่มาบอกตรงๆ" คุณก็จะซึมซับคำแนะนำและกลายเป็นบุคคลที่สามารถเติบโตขึ้นได้อีกเรื่อยๆ

ท่าทีตอนถูกตำหนิเป็นสิ่งสะท้อนความรู้สึกของตัวคุณเอง ถ้าคุณแสดงท่าทีต่อต้านหรือโต้เถียง อีกฝ่ายก็จะคิดว่าแนะนำอะไรคุณไปก็คงไม่มีประโยชน์ และไม่แนะนำอะไรให้คุณอีก

เมื่อถูกชี้ให้เห็นข้อบกพร่องของตัวเอง ลองเปิดใจรับฟังแล้วพิจารณาสิ่งที่อีกฝ่ายบอกอย่างสุขุมรอบคอบ

6 - ตั้งคำถามกับงานที่ทำอยู่ตรงหน้าว่า "ทำไม" 3 ครั้ง

การค้นหาปัญหาของตัวเองแล้วทำการแก้ไข เป็นทักษะสำคัญมากในการทำงาน ถ้าอยากมีทักษะนี้ติดตัวต้องฝึกการวิเคราะห์ปัญหาที่เรียกว่า Why-Why Analysis คือให้พิจารณาเหตุการณ์หนึ่งโดยหาสาเหตุว่าทำไมถึงเป็นแบบนั้น พอได้คำตอบก็ต้องคำถามกับคำตอบนั้นอีกว่าทำไมถึงเป็นแบบนั้น ทำซำ้ไปเรื่อย ๆ จครบ 5 รอบ

งานประจำที่ทำทุกวันก็เหมือนกัน ถ้าคิดให้ลงลึกว่า "ทำไมถึงจำเป็นต้องทำงานนี้" คุณจะเข้าใจแก่นแท้ของงาน สามารถทำงานด้วยความเข้าใจ

การตั้งคำถามกับบางเรื่องถึง 5 ครั้งอาจจะยากไปสำหรับการเริ่มต้น ดังนั้นลองตั้งคำถามสัก 3 ครั้งดูก่อนก็ได้

7 - กินอาหาร ออกกำลังกาย และนอนหลับอย่างเพียงพอ

การมีสุขภาพที่ดี คือเงื่อนไขจำเป็นถ้าอยากเป็นที่ชื่นชอบของคนอื่น เพราะถ้าใต้ตาคล้ำ หน้าหมอง ผิวแห้งกร้าน ใบหน้าซีดเซียวก็จะทำให้เราดูไม่มีเสน่ห์

ช่วงวัย 20 ปลายจนถึง 30 ปี เป็นช่วงที่ชีวิตการทำงานจะยุ่งเป็นพิเศษ ในระหว่างนี้หากเจ็บป่วยก็จะกระทบกับงาน ต่อให้ฝืนก็ไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ และสีหน้าที่ย่ำแย่ตอนป่วยก็ส่งผลต่อภาพลักษณ์ที่ดูไม่ดีในสายตาคนอื่น

ดังนั้นเราควรรู้จักดูแลสุขภาพของตัวเอง โดยการกินอาหารให้สมดุล ออกกำลังกายและนอนหลับให้เพียงพอ สำหรับการออกกำลังกาย บางคนอาจคิดว่าแค่ทำงานก็เหนื่อยแล้ว ให้ลองหาเวลาระหว่างวันออกกำลังเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น ลงสถานีรถไฟก่อนถึงที่ทำงานหรือบ้านสัก 1 สถานีแล้วเดินต่อ ใช้บันไดแทนลิฟต์ ลุกไปเดินเล่น

สิ่งที่ช่วยฟื้นฟูความเหนื่อยล้าได้ดีที่สุดคือ การนอนหลับ โดยวันหนึ่งควรนอนให้ได้ 7-9 ชั่วโมง

8 - ระลึกไว้เสมอว่า "เวทมนตร์แห่งการใส่ใจ" จะช่วยให้ใช้ชีวิตได้อย่างสนุกสนาน

ในเวลาทำงาน คนที่สนุกกับงานจะเปล่งประกายมากที่สุด เมื่อสนุกกับงาน ความเครียดและความกังวลก็จะลดลง ส่งผลให้แต่ละวันมีความสุขมากขึ้น พูดอีกอย่างคือ สนุกกับการใช้ชีวิต

สิ่งที่ช่วยให้รู้สึกสนุกกับงานคือความสัมพันธ์กับผู้คนในที่ทำงาน ถ้ารอบตัวคุณมีคนที่ประทับใจในตัวคุณและคิดว่าอยากร่วมงานด้วยเพิ่มมากขึ้น สิ่งที่คุณอยากทำจะเป็นจริงได้มากขึ้น และคุณยังจะภูมิใจกับงานอีกด้วย

นอกจากนี้การร่วมแรงร่วมใจกันทำงานกับพรรคพวกที่รู้ใจ จนประสบความสำเร็จจะทำให้เกิดความรู้สึกยินดี และกลายเป็นพลังขับเคลื่อนการทำงานต่อไป

สิ่งที่หนังสือเล่มนี้แนะนำคือเคล็ดลับที่ช่วยกระชับความสัมพันธ์กับผู้คน นอกจากนี้เคล๊ดลับเหล่านี้ยังช่วยขัดเกลาจิตใจของเรา ช่วยให้เรานึกถึงความรู้สึกคนอื่น ลดอัตตา เลิกยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง แล้วจิตใจของคุณจะเริ่มเปล่งประกายจนคนรอบข้างสังเกตเห็น