Izakaya Bottakuri อิซากายะนี้มีแต่รัก - อาหารเป็นมากกว่าแค่เรื่องคลายหิว เพราะช่วยประโลมชีวิตและปลอบจิตใจ

Izakaya Bottakuri อิซากายะนี้มีแต่รัก - อาหารเป็นมากกว่าแค่เรื่องคลายหิว เพราะช่วยประโลมชีวิตและปลอบจิตใจ

อิซากายะ คือร้านอาหารญี่ปุ่นที่ขายเหล้าพร้อมกับแกล้มในราคาไม่แพง เมนูที่ขายก็เป็นเมนูบ้าน ๆ ทำง่าย ๆ ต่อจานได้จำนวนไม่มาก ทำให้สามารถเพลิดเพลินกับอาหารได้หลายเมนู จะเรียกว่าเป็นบาร์สไตล์ญี่ปุ่นก็ได้

มิเนะ กับ คาโอรุ สองสาวพี่น้องที่รับช่วงต่อร้านอิซากายะต่อจากคุณพ่อของเธอที่เสียไป ร้านของพวกเธอมีชื่อว่า บตตากุริ ซึ่งมีความหมายว่าขูดเลือดขูดเนื้อ ถึงชื่อร้านจะฟังดูไม่ค่อยจรรโลงใจ แต่ร้านนี้ขายอาหารที่ทำด้วยใจในราคามิตรภาพ อีกทั้งสองสาวยังใช้อาหารและสุราชนิดต่าง ๆ ช่วยปลอบประโลมจิตใจของลูกค้าที่เผชิญความเหนื่อยล้าจากหน้าที่การงานและการใช้ชีวิต

พ่อของฉันที่เคยเป็นเจ้าของร้านนี้มักจะพูดอยู่เสมอว่า การที่เรารับเงินจากการเสิร์ฟอาหารที่ร้านไหน ๆ ก็มี ทำให้เราดูเหมือนพวกขูดเลือดขูดเนื้อ หรือที่เรียกว่า บตตากุริ แต่มิเนะ ถึงแม้มันจะเป็นสูตรอาหารทั่ว ๆ ไป แต่ก็ต้องปรุงอาหารทุกจานด้วยใจทั้งใจนะ เมื่อลูกทำแบบนั้นได้ ลูกค้าของเราจะไม่เสียดายเงินที่พวกเขาจ่ายเลย

ซีรีส์เรื่องนี้น่าจะเรียกว่าเป็นแนว slice of life นะครับ เราได้เห็นมิเนะผู้เป็นเจ้าของร้านอาหารไปจ่ายตลาด เลือกวัตถุดิบ เตรียมอาหาร ไปจนถึงเก็บร้าน ซีรีส์ดำเนินเรื่องราวโดยบทสนทนา ทุกตอนล้วนถ่ายทำอยู่ฉากเดียวคือในร้านบตตากุริ จะมีไปตลาดบ้าน สวนสาธารณะบ้างนิด ๆ หน่อย ๆ

แม้จะเป็นซีรีส์ทำอาหาร แต่เรื่องนี้ก็ใช่ว่าจะนำเสนอภาพการทำอาหารเพียงอย่างเดียว ในบทสนทนาของตัวละครล้วนแฝงปรัชญาชีวิตที่เกี่ยวข้องกับอาหารเอาไว้ อย่างเช่นตอนแรกสุดมีคุณลุงมาบ่นว่าเด็กสมัยนี้หนักไม่เอาเบาไม่สู้ มิเนะก็นำเสนอไข่ดองมิโซะ และแนะนำว่าเด็กสมัยนี้ก็เหมือนกับไข่แดงที่เปราะบาง ผู้ใหญ่ที่มีประสบการณ์ก็เหมือนกับมิโซะ ที่พอนำมาห่อหุ้มไข่แดงทิ้งไว้ จะทำให้ไข่แดงแข็งขึ้นและรสชาติอร่อยขึ้นมาได้

Izakaya Bottakuri อิซากายะนี้มีแต่รัก - อาหารเป็นมากกว่าแค่เรื่องคลายหิว เพราะช่วยประโลมชีวิตและปลอบจิตใจ

พูดถึงว่าทุกคนล้วนมีป้ายอาหารประจำตัว ไอ้ป้ายที่ว่าหมายถึงเมนูอาหารที่อยู่ในความทรงจำ กินเมื่อไหร่ก็จะหวนนึกถึงความทรงจำดี ๆ เช่นตัวละครหญิงสาวคนหนึ่งมาขอให้มิเนะทำผัดใบแครอทให้ ซึ่งสมัยก่อนบ้านเธอไม่ค่อยมีเงิน แม่จะนำเอาใบแครอทมาผัดกับน้ำมันงา แม้เป็นเมนูพื้น ๆ แต่กลับติดตรึงกลายเป็นความทรงจำดี ๆ ของผู้หญิงคนนี้

เรายังได้เห็นวิถีชีวิตการกินของคนญี่ปุ่นที่อิงกับฤดูกาล หนาว ๆ ก็กินโอเด้ง ร้อน ๆ ก็กินผักที่ช่วยเพิ่มความเย็นให้ร่างกายอย่างแตงกวา มีเทศกาลกินปลาไหล เทศกาลปาถั่ว ท้ายของแต่ละตอนจะมีช่วงแนะนำสุราประจำตอนที่นำสุราโอทอปของแต่ละท้องถิ่นมานำเสนอ และสอนทำเมนูประจำตอนที่ล้วนทำง่าย

เรียกว่าเรื่องนี้เป็นซีรีส์เยียวยาจิตใจ ฟีลกู๊ด เหมาะแก่การดูหลังจากกลับจากการทำงานและนั่งกินมื้อเย็น มีให้ดูใน Netflix ทั้งหมด 11 ตอน