ร้านหนังสือเลขที่ 84 ถนนแชริงครอสส์ - มิตรภาพผ่านทางจดหมายของลูกค้าและคนขายหนังสือ

หนังสือเล่มนี้เป็นเล่มเล็ก ๆ หนาเพียงแค่ 150 หน้าเท่านั้นเอง จะบอกว่าเป็นนิยายหรือความเรียงก็ยังไม่กล้าฟันธงแน่ชัด รูปแบบการดำเนินเรื่องเป็นการเขียนจดหมายโต้ตอบกันไปมา คุยกันเรื่องซื้อขายหนังสือ สารทุกข์สุขดิบทั่วไป ผมอ่านเจอมาว่าเล่มนี้เขียนจากประสบการณ์ส่วนตัวของคนเขียนด้วยนะ

เรื่องราวของ เฮเลน แฮฟฟ์ นักเขียนบทชาวอเมริกาที่สั่งซื้อหนังสือหายากจาก ร้านมาร์คส์ แอนด์ โค. ร้านหนังสือมือสองที่ตั้งอยู่ในอังกฤษ การเดินเรื่องเป็นการโต้ตอบกันผ่านทางจดหมายที่ดำเนินไปกว่า 20 ปี โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม ค.ศ.1949

ความสัมพันธ์ระหว่างเฮเลนกับร้านมาร์คส์ แอนด์ โค. ไม่ใช่เพียงแค่ลูกค้ากับเจ้าของร้านเท่านั้น เราได้เห็นมิตรภาพ ความเป็นห่วงเป็นใยผ่านทางตัวหนังสือ ช่วงเทศกาลต่าง ๆ ก็จะแลกเปลี่ยนของขวัญกัน

ในช่วงนั้นประเทศอังกฤษอยู่ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ประเทศแทบจะเรียกว่าย่อยยับจากผลของสงคราม ทำให้รัฐบาลต้องเร่งฟื้นฟูประเทศ เกิดกฎการแบ่งสรรอาหารขึ้น ประชาชนอังกฤษเผชิญหน้ากับการขาดแขลนอาหาร

เฮเลนรับทราบเรื่องนี้จึงส่งอาหารแห้ง อาหารกระป๋องต่าง ๆ มาช่วยจุนเจือสมาชิกร้านมาร์คส์ แอนด์ โค. ทำให้พนักงานที่ร้านรักเฮเลนมาก พากันเขียนจดหมายชักชวนให้เธอมาเที่ยวที่อังกฤษและแวะเยี่ยมที่ร้าน

ระหว่างบทสนทนา นอกเหนือจากการสั่งหนังสือและแสดงความเป็นห่วงเป็นใยให้กัน เรายังเห็นทั้ง 2 ฝ่ายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับหนังสือแก่กันและกัน ยอมรับเลยว่าผมไม่รู้จักหนังสือหรือหนังเขียนที่พวกเขาเอ่ยถึงเลย

หนังสือเล่มเล็กเล่มนี้ถือว่าเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ของโลกเล่มหนึ่ง เนื้อหาไม่ซีเรียส จะเรียกว่าแนว feel good ก็ได้อยู่เหมือนกัน แถมรูปแบบการนำเสนอผมก็ยังไม่เคยเห็นจากที่ไหน ใครสนใจอยากให้หามาลองอ่านครับ