I Called Him Necktie ผมเรียกเขาว่าเนคไท - หนังสือที่อ่านจบแล้วเหมือนไม่ได้อ่านอะไร

I Called Him Necktie ผมเรียกเขาว่าเนคไท - หนังสือที่อ่านจบแล้วเหมือนไม่ได้อ่านอะไร

ดูปกดูคำเปรย คนที่หยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาอ่านคงคิดว่าจะได้อ่านวรรณกรรมญี่ปุ่นเนื้อหาเรียบง่าย อ่านจบแล้วประทับใจ แต่ไม่ใช่เลย! ผมไม่อาจเรียกหนังสือเล่มนี้ว่าวรรณกรรมญี่ปุ่นได้ ถึงแม้ว่านักเขียนคือลูกครึ่งญี่ปุ่น-ออสเตรเลียก็ตาม

หนังสือเล่าอย่างเลื่อนลอยถึง ทากุชิ ฮิโระ ชายหนุ่มวัยยี่สิบ ที่เรียกตัวเองว่าเป็น ฮิกิโกะโมริ ซึ่งคือคนที่ต่อต้านสังคม หมกตัวเองอยู่แต่ในห้องทั้งวันทั้งคืนมานานกว่า 2 ปี จนวันหนึ่งนึกยังไงไม่รู้ ลากตัวเองมาที่สวนสาธารณะ จนได้พบกับ โอฮาระ เท็ทสุ พนักงานบริษัทวัยห้าสิบกว่าที่เพิ่งถูกไล่ออกจากงาน แต่แสร้งทำเป็นออกจากบ้านมาทำงานทุกวัน เพราะไม่กล้าบอกความจริงกับภรรยา

พวกเขามาเจอกันคนเริ่มสนิทกันและเริ่มเล่าเรื่องราวในอดีตของตัวเองให้กันและกันฟัง ฮิโระมีบาดแผลในใจที่เคยเพิกเฉยไม่ยื่นมือไปช่วยเหลือเพื่อนในวัยเด็กตอนกำลังถูกบูลลี่ จนกลายเป็นตราบาปกัดกินชีวิตเขามาถึงปัจจุบัน ส่วนเท็ทสุเสียใจกับการสูญเสียลูกชายพิการไป ตรงนี้งงเหมือนกันว่าตัวละครตัวนี้มาเสียใจได้ไง ทั้งที่บอกมาตลอดว่าตัวเขาเกลียดลูกคนนี้ ไม่เคยสนใจใยดี

ผมชอบวรรณกรรมญี่ปุ่นรองลงมาจากวรรณกรรมเยาวชน เพราะความเรียบง่ายที่สัมผัสได้ของเรื่องราว ตัวละครมีมิติ สมจริง สามารถพบเห็นได้ในชีวิตจริง มีความคิดซับซ้อนและลึกซึ้ง แต่เรื่องนี้กลับไม่มีองค์ประกอบเช่นนั้นเลย แม้รูปลักษณ์ของหนังสือจะหลอกคนอ่านว่าตัวมันคือวรรณกรรมญี่ปุ่น แต่เนื้อในฟ้องอย่างชัดเจนว่ามันไม่มีคุณสมบัติ

เริ่มจากตัวละครที่มีลักษณะนิสัยผิดเพี้ยน สุดโต่งเกินกว่าจะมีอยู่จริงบนโลกใบนี้ ความคิดของพวกเขาเหนือจริงไปหมด โคตรเซอร์เรียล การเล่าเรื่องที่ไม่ใช่เครื่องหมายคำพูดและใช้คำสรรพนามว่า ผม บรรยายทั้ง 2 ตัวละคร บางทีก็งงว่าตอนนี้กำลังอ่านพาร์ทตัวละครใด แถมหนังสือชอบเล่นภาษามากจนน่ารำคาญ ชอบใช้คำประมาณว่ามีอยู่แต่ก็ไม่มีอยู่, ทั้งแปลกและคุ้นเคย, การไม่ร้องไห้คือการร้องไห้, สิ่งที่เชื่อมโยงเราเข้าด้วยกันกลับแยกเราออกจากกัน คิดว่าเท่หรือไง?

สรุปง่ายคือผมอ่านเล่มนี้แล้วไม่ได้อะไร เนื้อเรื่องไม่ได้งดงาม ตัวละครเกินจริงยากจะสัมผัส เป็นเล่มที่น่าผิดหวังเล่มหนึ่ง